เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทอัลบะเกาะเราะฮ์ (โองการที่ 1-5)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทอัลบะเกาะเราะฮ์ (โองการที่ 1-5)


ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ ถูกประทานลงมาที่นครมะดีนะฮ์ มีทั้งสิ้น 286 โองการ เป็นบทที่ใหญ่ที่สุดในคัมภีร์อัลกุรอาน และความครอบคลุมของบทนี้ ถ้าพิจารณาจากด้านความศรัทธาจะเห็นว่า ได้กล่าวถึงประเด็นความรู้ (ทั้งด้านการเคารพภักดี สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ)  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้

 สิ่งที่บทอัลบะเกาะเราะฮ์กล่าวถึง
ความเป็นเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า และการรู้จักพระองค์  โดยการศึกษาเรื่องความเร้นลับใน    การสร้าง
การฟื้นคืนชีพ (มะอาด) และการดำรงชีวิตภายหลังความตาย  เช่น เรื่องราวของท่านศาสดา      อิบรอฮีม (อ.) และการกลับมามีชีวิตอีกครั้งของนกเหล่านั้น
ความหัศจรรย์ของอัลกุรอาน
การอธิบายละเอียดถึงเรื่องราวของพวกยะฮูดี และพวกกลับกลอกเมื่ออยู่ต่อหน้ามุสลิม
กล่าวถึงชีวประวัติของบรรดาศาสดาผู้ยิ่งใหญ่แห่งพระผู้เป็นเจ้า
กล่าวถึงบทบัญญัติต่าง ๆ ของอิสลาม (อะฮ์กาม)  เช่น การนมาซ ถือศีลอด การญิฮาด การบำเพ็ญฮัจญ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กล่าวถึง การใช้จ่ายในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า การลงโทษ และเรื่องการกินการดื่มตามหลักการของอิสลาม
ความประเสริฐของบทอัลบะเกาะเราะฮ์
ตำราอ้างอิงทางวิชาการอิสลามได้กล่าวถึงความประเสริฐของบทนี้ไว้มากมาย  เช่น มัรฮูมเฏาะบัรซีย์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือม้จญ์มะอุลบะยาน ของท่านโดยรายงานมาจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า  มีผู้ถามท่านว่า “อัลกุรอานบทใดดีที่สุด”  ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ตอบว่า  “บทอัลบะเกาะเราะฮ์”  แล้วท่านจึงได้ถามต่ออีกว่า  “และโองการใดที่ประเสริฐที่สุด”  ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ตอบว่า  “อายะตุลกุรซีย์” [1]

 ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) รายงานจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) โดยกล่าว่า : “บุคคลใดอ่าน 4 โองการแรกของบทบะเกาะเราะฮ์  อายะตุลกุรซีย์กับอีก 2 โองการต่อจากนั้น  และอ่าน 3 โองการสุดท้ายของบทนี้  เขาจะไม่อับโชคในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน ชัยฏอนจะออกห่าง และเขาจะไม่ลืมอัลกุรอาน [2]

 

ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
(الم ( 1   :  ความหมาย  :  อะลีฟ ลาม มีม

คำอธิบาย :  ในบทนี้อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงเริ่มต้นด้วยอักษรย่อ เรียกว่า “ฮุรุฟมุก็อฏเฏาะอะฮฺ”  หมายถึง อักษรที่ไม่ติดกัน แยกจากกัน และไม่อาจสื่อความหมายได้  ซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของคำในอัลกุรอานที่มีความหมายเร้นลับ  อักษรเหล่านี้ได้บ่งบอกว่า คัมภีร์แห่งฟากฟ้านี้มีความสำคัญและยิ่งใหญ่  ซึ่งได้สร้างความมหัศจรรย์ใจให้แก่บรรดานักปราชญ์ นักพูด นักกวี ในยุคนั้นทั้งที่เป็นอาหรับและไม่ใช่อาหรับ  ทำให้พวกเขาไร้ความสามารถที่สรรหาถ้อยคำประพันธ์ใดให้เหมือนดังเช่นอัลกุรอาน

ท่านอิมามซัยนุลอาบีดีน (อ.) ได้กล่าวว่า :  พวกกุเรช และยะฮูดีย์ ได้โกหกใส่อัลกุรอานโดยกล่าวว่า  อัลกุรอานเป็นมายากล  แล้วว่าเจ้า (ท่านศาสดา ศ็อลฯ) เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง  และอ้างว่ามาจาก      อัลลอฮ์   ดังนั้น อัลลอฮ์ (ซบ.) จึงตรัสว่า “อะลีฟ ลาม มีม และคัมภีร์เล่มนั้น หมายถึง โอ้ มุฮัมมัด คัมภีร์ที่ฉันประทานให้เจ้า  มาจากอักษรย่อเหล่านี้ (อะลีฟ ลาม มีม) ซึ่งเหมือนกับพยัญชนะของพวกท่าน  ดังนั้น พวกเจ้าจงนำมาให้เหมือนกับอัลกุรอาน  ถ้าหากเจ้าเป็นผู้สัตย์จริง”

(2) ذَٰلِكَ الْكِتَابُ لَا رَيْبَ ۛ فِيهِ ۛ هُدًى لِّلْمُتَّقِينَ
ความหมาย :  “คัมภีร์นี้ไม่มีข้อคลางแคลงในนั้น เป็นทางนำสำหรับผู้ยำเกรง”

คำอธิบาย :
โองการนี้ได้บ่งชี้ว่า อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ประทานคัมภีร์แก่ศาสดาของพระองค์  และสัญญาว่า คัมภีร์ดังกล่าวได้ประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำแก่มวงมนุษยชาติ  เป็นสมบัติของกลุ่มชนที่เรียกร้องหาทางนำ  และไม่มีความคลางแคลงใจสำหรับกลุ่มชนที่ถวิลหาความสัตย์จริง  ในขณะที่พระองค์ได้ปฏิบัติตามสัญญาของพระองค์

โฆษณา

REPORT THIS ADความเป็นส่วนตัว
การที่พระองค์ตรัสว่า ไม่มีข้อคลางแคลงใจใด ๆ ในนั้น มิได้เป็นเพียงคำกล่าวอ้าง  ทว่าเป็นความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้  ความยิ่งใหญ่ของอัลกุรอาน ความมั่นคงแข็งแรง ความลุ่มลึกในความหมาย และอรรถรสในเชิงภาษาและลีลาของมัน ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อัลกุรอานนั้นไม่มีข้อคลางแคลงใจ

* ไม่มีข้อคลางแคลงใจนั้น หมายถึงอะไร??
หมายถึง ไม่เป็นที่สงสัยว่า อัลกุรอานนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า  เนื่องจากเรื่องราวที่ปรากฏในอัลกุรอานไม่มีข้อคลางแคลงใจใด ๆ หลงเหลืออยู่  แต่ถ้ายังมีแสดงให้เห็นว่า บุคคลนั้นมีจิตใจอคติที่คิดมุ่งร้าย

อัลกุรอาน จึงได้กล่าว่า  “แล้วในการสงสัยของพวกเขานั้นเอง พวกเขาจึงลังเลใจ”

* การชี้ทางนำ (ฮิดายะฮ์) หมายถึงอะไร??
คำว่า “ฮิดายะฮ์”  ในอัลกุรอานมี 2 ความหมาย ดังนี้

ฮิดายะฮ์ตักวีนีย์  หมายถึง การชี้นำมวลสรรพสิ่งทั้งหลายโดยพระผู้อภิบาล  เนื่องจากพระองค์ คือผู้ทรงสร้างสรรทุกสรรพสิ่ง  และทรงเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ครอบคลุมจักรวาล  อัล-    กุรอานกล่าวว่า “พระผู้อภิบาลของเรา คือ ผู้ทรงประทานทุกอย่างแก่สิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง แล้วทรงชี้นำ [3]
ฮิดายะฮ์ตัชรีอีย์  คือ การชี้นำโดยผ่านบรรดาศาสดาและคัมภีร์ต่าง ๆ ของพระองค์  ซึ่งมวลมนุษย์ได้เจริญเติบโตไปพบกับความสมบูรณ์ได้ ด้วยกับการอบรมสั่งสอนของบรรดาศาสดาเหล่านั้น  อัลกุรอานกล่าวว่า  “และเราได้แต่งตั้งเขาให้เป็นอิมาม ชี้นำไปตามคำสั่งของเรา” [4]

* ทำไมการชี้นำของอัลกุรอานจึงเป็นพิเศษเฉพาะแต่ผู้ที่ยำเกรง??
เป็นที่แน่ชัดว่า อัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อชี้นำมวลมนุษยชาติ  แต่ทำไมโองการนี้จึงได้กล่าวว่า “เป็นทางนำสำหรับผู้ยำเกรง”  เท่านั้น

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากว่าถ้าหากบุคคลใดไม่มีความยำเกรงในระดับหนึ่ง (ยอมรับในพระผู้เป็นเจ้า และสิ่งที่เข้ากับสติปัญญา และธรรมชาติของมนุษย์) แล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะได้รับประโยชน์จากคัมภีร์แห่งฟากฟ้า และการเชิญชวนของบรรดาศาสดา

โดยทั่วไปบุคคลที่ไม่มีอีมาน (ศรัทธา) นั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท  กล่าวคือ บางคนเป็นผู้ไม่มีศรัทธา แต่พยายามศึกษาหาความจริง  เรียกว่า เป็นผู้มีความยำเกรงอยู่บ้างเล็กน้อย  ดังนั้น เมื่อพบความจริงเมื่อใดเขาก็สามารถยอมรับได้  ส่วนบางคนนอกจากไม่มีศรัทธาแล้ว ยังเป็นมีอคติเอาแต่ใจตนเอง ถือเอาอารมณ์ของตนเป็นใหญ่  คนจำพวกนี้ นอกจากจะไม่ศึกษาหาความจริงแล้ว  ที่ใดก็ตามมีการพูดถึงความจริง เขาจะพยายามขัดขวางและทำลายให้สิ้นซาก  ดังนั้น บนพื้นแผ่นดินถ้าหายังมีมนุษย์เช่นนี้อยู่  แน่นอน การยอมรับความจริง และการชี้นำก็จะไม่เกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้เอง อัลกุรอานจึงกล่าวว่า “เป็นทางนำสำหรับผู้ยำเกรง”

(3)  الَّذِينَ يُؤْمِنُونَ بِالْغَيْبِ وَيُقِيمُونَ الصَّلَاةَ وَمِمَّا رَزَقْنَاهُمْ يُنفِقُونَ
(4)  وَالَّذِينَ يُؤْمِنُونَ بِمَا أُنزِلَ إِلَيْكَ وَمَا أُنزِلَ مِن قَبْلِكَ وَبِالْآخِرَةِ هُمْ يُوقِنُونَ
(5)  أُولَٰئِكَ عَلَىٰ هُدًى مِّن رَّبِّهِمْ ۖ وَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ
ความหมาย :
(3)  คือ บรรดาผู้ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ และดำรงนมาซ  และบริจาคบางส่วนที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา

(4)  และบรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้า และพวกเขาเชื่อมั่นในโลกหน้า

(5)  พวกเขาเหล่านี้ อยู่บนทางนำจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเขาเหล่านี้เป็นผู้ที่บรรลุผล

คำอธิบาย :
ผลของความยำเกรงที่มีต่อจิตวิญญาณและร่างกาย  อัลกุรอานจึงได้แบ่งประชาชาติที่อยู่ในคำสอนของอิสลาม ออกเป็น 3 กลุ่ม  ดังนี้

มุตตะกีน (ผู้มีความยำเกรง) เป็นกลุ่มชนที่ยอมรับคำสอนของอิสลามทุกอย่าง
กาฟิร (ผู้ปฏิเสธ) เป็นกลุ่มชนที่ตรงกันข้ามกับชนกลุ่มแรก  พวกเขาได้ประกาศยืนยันการเป็นผู้ปฏิเสธ เมื่ออยู่ต่อหน้ามุสลิมทั้งคำพูดและการกระทำ
มุนาฟิกีน (ผู้กลับกลอก) หรือพวกสองหน้า  เมื่ออยู่กับมุสลิม พวกเขาจะแสดงตนเป็นมุสลิม  และเมื่อยู่กับพวกปฏิเสธ พวกเขาจะแสดงความปฏิเสธและเป็นปรปักษ์กับอิสลาม  แน่นอนโฉมหน้าที่แท้จริงของพวกเขา คือ ผู้ปฏิเสธ แต่แสดงตนเป็นมุสลิม  และมิต้องสงสัยว่า คนกลุ่มนี้เป็นอันตรายต่ออิสลาม มากกว่าผู้ปฏิเสธที่แท้จริง  ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าอัลกุรอานได้เผชิญกับพวกกลับกลอกอย่างรุนแรง
คุณสมบัติของผู้ยำเกรง
ผู้ยำเกรงนั้น เเมื่อพิจารณาจากความศรัทธาและการกระทำของเขาแล้ว มีด้วยกัน 5 ประการ  คือ

1.  ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ
อัลกุรอานกล่าวว่า “ศรัทธาในสิ่งเร้นลับ”  ซึ่งสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผยนั้น เป็นสองสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม  โลกที่เปิดเผย หมายถึง โลกที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า  ส่วนโลกที่เร้นลับ หมายถึง สิ่งที่พ้นญาณวิสัยและอยู่เหนือความรู้สึก  ในเชิงภาษาหมายถึง สิ่งปิดบังซ่อนเร้น  ด้วยเหตุนี้ โลกที่อยู่เหนือความรู้สึกจึงเรียกว่า เป็นโลกแห่งความเร้นลับ  อัลกุรอาน ได้กล่าวว่า  “พระองค์ทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย  พระองค์คือผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ”  [5]

ผู้ยำเกรง เขามีความเชื่อมั่นว่า การมีอยู่ของมวลสรรพสิ่งทั้งหลายได้ถูกสร้างขึ้นโดยพระผู้ทรงสร้างโลก  ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงเกรียงไกร  พระองค์ทรงเป็นแรกเริ่มและนิรันดร  พระองค์ไม่ทรงสูญสิ้นหรือดับสลาย  ทว่าพระองค์ครอบคลุมเหนือโลกและจักรวาลที่แผ่ไพศาล  การศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับเป็นความแตกต่างประการแรก ระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม  เนื่องจากผู้ที่มิใช่มุสลิมส่วนใหญ่จะยอมรับศรัทธาต่อสิ่งที่ตนสามารถสัมผัสได้  พวกเขาเชื่อว่า โลกและกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติไม่ได้ถูกอุบัติขึ้นโดยพระผู้สร้างแต่อย่างใด  หลังจากความตายแล้วทุกอย่างก็ถือว่าจบสิ้น  ร่างกายและอวัยวะทุกส่วนจะเน่าเปื่อยผุสลายกลายเป็นดิน ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ  และมนุษย์จะไม่มีการดำรงชีวิตอีกต่อไป
2.  สัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า
คุณสมบัติอีกประการหนึ่งของผู้ที่มีความยำเกรง คือ จะดำรงนมาซเสมอ  เนื่องจากเชื่อว่านมาซคือรหัสแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า สำหรับบุคคลที่มีความศรัทธาต่อสิ่งพ้นญาณวิสัย จะพยายามสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างตนกับพระผู้อภิบาลและรักษาไว้อย่างดี  เขาจะไม่ยอมนอบน้อมต่อ     พระเจ้าจอมปลอมหรือยอมจำนนต่อผู้กดขี่  ดังนั้น ผู้ที่พยามยามสร้างสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง  รำลึกและสารภาพความในใจต่อพระองค์  ความคิดและการกระทำของเขาจึงเป็นของพระองค์ และเพื่อพระองค์

 

3.  สัมพันธ์กับมนุษย์
บรรดาผู้ยำเกรงนอกจากจะมีความสัมพันธ์ ที่แนบแน่นและต่อเนื่องกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว  พวกเขายังมีความสัมพันธ์กับสิ่งถูกสร้างของพระองค์  อัล-กุรอานจึงกล่าวถึงคุณสมบัติของพวกเขาว่า ความโปรดปรานทั้งหลายที่พระองค์ประทานให้  พวกเขาได้บริจาคไปบนหนทางของพระองค์ สิ่งที่น่าสังเกต คือ อัล-กุรอานไม่ได้กล่าวว่า พวกเขาได้บริจาคทรัพย์สินของพวกเขา  ทว่ากล่าวว่า พวกเขาได้บริจาคสิ่งที่เราประทานให้  ฉะนั้น จะเห็นว่าการบริจาคครอบคลุม ทั้งความโปรดปรานที่เป็นวัตถุและจิตใจ

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าผู้ที่มีความยำเกรงนั้น ไม่ได้บริจาคเฉพาะทรัพย์สินภายนอก  ทว่าความรู้ ความสามารถ สติปัญญา พละกำลังทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนสถานภาพทางสังคม  หรืออีกนัยหนึ่งคือทุกสิ่งที่เป็นทรัพย์ของตนได้บริจาคไปบนหนทางของพระผู้เป็นเจ้า  โดยไม่ได้มุ่งหวังการตอบแทน  ท่าน อิมามซอดิก (อ.) ได้อธิบายประโยค “พวกเขาได้บริจาคสิ่งที่เราประทานให้”  ว่าพวกเขาได้บริจาคกระทั่งความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาแก่ผู้ที่มีความต้องการ [6]

โดยทั่วไปเข้าใจว่า การบริจาคนั้นเฉพาะแค่เรื่องทรัพย์สินอย่างเดียว  แต่เมื่อพิจารณาฮะดีษข้างต้นจะพบว่า การบริจาคไม่ได้เจาะจงแค่เรื่องทรัพย์สิน ทว่าท่านอิมาม (อ.) ได้อธิบายว่า ครอบคลุมแม้กระทั่งเรื่องของความรู้และศีลธรรม

4.  ศรัทธาต่อบรรดาศาสดาและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระองค์
ผู้ที่มีความยำเกรงศรัทธาต่อบรรดาศาสดา และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระองค์  อัล-กุรอานกล่าวว่า  และพวกเขาคือ ผู้ศรัทธาสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้า และพวกเขาเชื่อมั่นในโลกหน้า   แน่นอนว่า ความศรัทธาต่อคำสอนของบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้น ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความคิดและการกระทำของตน  เมื่อต้องการปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาองค์สุดท้าย ผู้มาประกาศความสมบูรณ์ของศาสนา  เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นสาเหตุทำให้เป็นผู้ล้าหลัง

5.  ศรัทธาในปรโลก
ผู้ที่มีความยำเกรงทุกคนศรัทธาต่อปรโลกซึ่งถือว่าเป็นจุดสุดท้ายของความศรัทธา อัล-กุรอานกล่าวว่า และพวกเขาเชื่อมั่นในปรโลก  หมายความว่า พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร้สาระหรือไร้จุดหมาย  พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อความสมบูรณ์  ความตายไม่ใช่ขั้นสุดท้ายของความเป็นมนุษย์  ผู้มีความยำเกรงเชื่อว่า ความยุติธรรมขั้นสมบูรณ์สูงสุดของพระผู้เป็นเจ้าคือความหวัง  และเป็นการรอคอยสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน  พวกเขาเชื่อว่าการกระทำทุกอย่างของมนุษย์บนโลกนี้ ต้องได้รับการตรวจสอบ  ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ได้ทำให้จิตใจของพวกเขาเกิดความสงบมั่น  ไม่มีแรงบีบบังคับในการปฏิบัติหน้าที่  ไม่มีความกังวลต่อความทุกข์ยาก  ทว่าเขากล้าที่จะเผชิญหน้ากับมันอย่างเข็มแข็ง มีความเชื่อมั่นว่าการกระทำทุกอย่างของมนุษย์ แม้เพียงเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นความดีหรือความเลว ย่อมได้รับการตอบแทนและการลงโทษ  และเมื่อมนุษย์ตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะเดินทางไปสู่โลกที่มีความกว้างใหญ่กว่า ณ ที่นั้นไม่มีการกดขี่ หรือการเอาเปรียบแต่อย่างใด  ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากความเมตตาและความการุณย์ของพระองค์

ศรัทธาต่อปรโลกนั้น หมายถึง การทำลายกำแพงขวางกั้นของโลกวัตถุ  เพื่อเข้าไปสู่โลกที่มีความสมบูรณ์และสูงส่งมากกว่า  ซึ่งโลกนี้เป็นเพียงเรือกสวนและสถานที่อบรมสั่งสอน  เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกหน้า  การดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย ทว่าเป็นเพียงปฐมบทเพื่อไปสู่ปรโลก  ความศรัทธาที่มีต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการอบรมมนุษย์  สิ่งนี้ได้ให้เป้าหมายและความกล้าหาญแก่เขา  บนพื้นฐานความเชื่อดังกล่าว ได้ทำให้เกียรติยศของความเป็นมนุษย์บนโลกนี้มีความสูงส่ง  เนื่องจากว่าเป้าหมายในการดำรงชีวิตของเขาคือพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นองค์ปฐมบท ในการเริ่มต้นชีวิตเพื่อชีวิตที่เป็นนิรันดร  ดังนั้น ความเชื่อมั่นต่อปรโลกและวันแห่งการฟื้นคืนชีพ จะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมจิตใจให้ออกห่างจากการกระบาปมากยิ่งขึ้น  และเมื่อมีศรัทธามั่นคงแข็งแรงมากเท่าใด การกระทำความผิดบาปก็จะลดน้อยลงมากเท่านั้น

——————————-

[๑] นูรุซ ซะเกาะลัยนฺ เล่ม 1 หน้าที่ 26

[๒] นูรุซ ซะเกาะลัยนฺ เล่ม 1 หน้าที่ 26

[3] ฏอฮา / 50

[4] อัล-อัมบิยาอ์ /73

[5] ฮัชรฺ / 22

[6] มัจมะอุล บะยาน, นูรุซซะเกาะลัยนฺ ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

ที่มา : http://quran.al-shia.org/th/tafsir/

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม