เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 3-4-5 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 3-4-5 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 


‎ ‎الَّذِينَ يُؤْمِنُونَ بِالْغَيْبِ وَ يُقِيمُونَ الصلَوةَ وَ ممَّا رَزَقْنَهُمْ يُنفِقُونَ 

وَ الَّذِينَ يُؤْمِنُونَ بمَا أُنزِلَ إِلَيْك وَ مَا أُنزِلَ مِن ‏قَبْلِك وَ بِالاَخِرَةِ هُمْ يُوقِنُونَ

  أُولَئك عَلى هُدًى مِّن رَّبِّهِمْ وَ أُولَئك هُمُ الْمُفْلِحُونَ‎

 

ความหมาย :‎

‎3.บรรดาผู้ศรัทธาในสิ่งเร้นลับ และดำรงนมาซ และบริจาคบางส่วนในสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา

‎4.และบรรดาผู้ศรัทธาสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้า และพวกเขาเชื่อมั่นในโลกหน้า

‎5. พวกเหล่านี้อยู่บนทางนำจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเหล่านี้เป็นผู้บรรลุผล

คำอธิบาย :ผลของความยำเกรงที่มีต่อจิตวิญญาณและร่างกาย

อัลกุรอานได้แบ่งประชาชาติที่อยู่เสมอคำสอนของอิสลาม ออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้

‎1. มุตตะกีน (ผู้มีความยำเกรง) เป็นกลุ่มชนที่ยอมรับคำสอนอิสลามทุกอย่าง

‎2. กาฟิร (ผู้ปฏิเสธ) เป็นกลุ่มชนที่ตรงกันข้ามกับชนกลุ่มแรก พวกเขาได้ประกาศยืนยันการเป็นผู้ปฏิเสธเมื่ออยู่ต่อหน้าอิสลามทั้งคำพูดและการกระทำ

‎3.มุนาฟิกีน (ผู้กลับกลอก) หรือพวกสองหน้าเมื่ออยู่กับมุสลิมพวกเขาจะแสดงตนเป็นมุสลิม และเมื่ออยู่กับพวกปฏิเสธพวกเขาจะแสดงความปฏิเสธและเป็นปรปักษ์กับอิสลาม แน่นอนโฉมหน้าที่แท้จริงของพวกเขาคือ ผู้ปฏิเสธแต่แสดงตนเป็นผู้มุสลิม และมิต้องสงสัยว่าคนกลุ่มนี้เป็นอันตรายต่ออิสลามมากกว่าผู้ปฏิเสธที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่า อัลกุรอานเผชิญหน้ากับพวกกลับกลอกอย่างรุนแรง

คุณสมบัติพิเศษ 5 ประการของผู้ยำเกรงเมื่อพิจารณาจากความศรัทธา และการกระทำ

‎1. มีความศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ อัลกุรอานกล่าวว่า ศรัทธาในสิ่งเร้นลับ ซึ่งสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผยเป็นสองสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม โลกที่เปิดเผยหมายถึงโลกที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ส่วนโลกแห่งความเร้นลับ หมายถึงสิ่งที่พ้นญาณวิสัยและอยู่เหนือความรู้สึก ในเชิงภาษาหมายถึง สิ่งปิดบังซ่อนเร้น ด้วยเหตุนี้โลกที่อยู่เหนือความรู้สึกจึงเรียกว่าเป็นโลกแห่งความเร้นลับ อัลกุรอานกล่าวว่า พระองค์ผู้ทรงรอบรู้สิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผยพระองค์คือผู้ทรงกรุณาปรานีผู้ทรงเมตตาเสมอ [1]‎

 

มีความเชื่อมั่นว่าการมีอยู่ของมวลสรรพสิ่งทั้งหลายได้ถูกสร้างขึ้นโดยพระผู้ทรงสร้างโลก ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงเกรียงไกร พระองค์ทรงเป็นแรกเริ่มและนิรันดร พระองค์ไม่ทรงสูญสิ้นหรือดับสลาย ทว่าพระองค์ครอบคลุมเหนือโลกและจักรวาลที่แผ่ไพศาล การศรัทธาต่อสิ่งที่เร้นลับเป็นความแตกต่างประการแรกระหว่างผู้ที่เป็นมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม เนื่องจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมส่วนใหญ่จะยอมรับและศรัทธาต่อสิ่งที่ตนสามารถสัมผัสได้ โลกและกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติไม่ได้ถูกอุบัติขึ้นโดยพระผู้สร้างแต่อย่างใด หลังจากความตายแล้วทุกอย่างก็ถือว่าจบสิ้น ร่างกายและอวัยวะทุกส่วนจะเน่าเปื่อยผุสลายสลายกลายเป็นดินซึ่งเป็นกฎทางธรรมชาติ และมนุษย์จะไม่มีการดำรงชีวิตอีกต่อไปสำคัญไปกว่านั้นมนุษย์กับสัตว์ไม่มีแตกต่างกัน ความประพฤติทางสังคมไม่เหมือนกัน แน่นอนสิ่งเหล่านี้ต่างกับผู้ที่ศรัทธาในสิ่งที่เร้นลับพ้นญาณวิสัยของมนุษย์เพราะพวกเขาจะมีการระมัดระวังต่อการกระทำ และความประพฤติมากขึ้น

‎2. มีความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า
คุณสมบัติอีกประการหนึ่งของผู้ที่มีความยำเกรงคือ จะดำรงนมาซเสมอ เนื่องจากเชื่อว่านมาซคือรหัสแห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า สำหรับบุคคลที่มีความศรัทธาต่อสิ่งพ้นญาณวิสัย จะพยายามสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างตนกับพระผู้อภิบาลและรักษาไว้อย่างดี เขาจะไม่ยอมนอบน้อมต่อพระเจ้าจอมปลอมหรือยอมจำนนต่อผู้กดขี่ ดังนั้น ผู้ที่พยามยามสร้างสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้าอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง รำลึกและสารภาพความในใจต่อพระองค์ความคิดและการกระทำของเขาจึงเป็นของพระองค์ และเพื่อพระองค์

‎3. มีความสัมพันธ์กับมนุษย์
บรรดาผู้ยำเกรงนอกจากจะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและต่อเนื่องกับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พวกเขายังมีความสัมพันธ์กับสิ่งถูกสร้างของพระองค์ อัลกุรอานจึงกล่าวถึงคุณสมบัติของพวกเขาว่าความโปรดปรานทั้งหลายที่พระองค์ประทานให้ พวกเขาได้บริจาคไปบนหนทางของพระองค์ สิ่งที่น่าสังเกตคือ อัลกุรอานไม่ได้กล่าวว่า พวกเขาได้บริจาคทรัพย์สินของพวกเขา ทว่ากล่าวว่า พวกเขาได้บริจาคสิ่งที่เราประทานให้ ฉะนั้น จะเห็นว่าการบริจาคครอบคลุมทั้งความโปรดปรานที่เป็นวัตถุและจิตใจ

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าผู้ที่มีความยำเกรงนั้นไม่ได้บริจาคเฉพาะทรัพย์สินภายนอก ทว่าความรู้ ความสามารถ ‎สติปัญญา พละกำลังทั้งทางร่างกายและจิตใจตลอดจนสถานภาพทางสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือทุกสิ่งที่เป็นทรัพย์ของตนได้บริจาคไปบนหนทางของพระผู้เป็นเจ้า โดยไม่ได้มุ่งหวังการตอบแทน ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้อธิบายประโยค พวกเขาได้บริจาคสิ่งที่เราประทานให้ ว่าพวกเขาได้บริจาคกระทั่งความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาแก่ผู้ที่มีความต้องการ[2]‎
โดยทั่วไปเข้าใจว่าการบริจาคนั้นเฉพาะแค่เรื่องทรัพย์สินอย่างเดียว แต่เมื่อพิจารณาอะดีซข้างต้นจะพบว่าการบริจาคไม่ได้เจาะจงแค่เรื่องทรัพย์สิน ทว่าท่านอิมามได้อธิบายว่าครอบคลุมแม้กระทั่งเรื่องของความรู้และศีลธรรม

 

‎4. มีความศรัทธาต่อบรรดาศาสดาและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระองค์
ผู้ที่มีความยำเกรงศรัทธาต่อบรรดาศาสดาและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระองค์ อัลกุรอานกล่าวว่า และพวกเขาคือผู้ศรัทธาสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้า และพวกเขาเชื่อมั่นในโลกหน้า แน่นอนว่าความศรัทธาต่อคำสอนของบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้น ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความคิดและการกระทำของตนเมื่อต้องการปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาองค์สุดท้ายผู้มาประกาศความสมบูรณ์ของศาสนา เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นสาเหตุทำให้เป็นผู้ล้าหลัง

 

‎5. มีความศรัทธาในปรโลก
ผู้ที่มีความยำเกรงทุกคนศรัทธาต่อปรโลกซึ่งถือว่าเป็นจุดสุดท้ายของความศรัทธา อัลกุรอานกล่าวว่า และพวกเขาเชื่อมั่นในปรโลก หมายความว่าพวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร้สาระหรือไร้จุดหมาย พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่อความสมบูรณ์ความตายไม่ใช่ขั้นสุดท้ายของความเป็นมนุษย์ ผู้มีความยำเกรงเชื่อว่าความยุติธรรมขั้นสมบูรณ์สูงสุดของพระผู้เป็นเจ้าคือความหวัง และเป็นการรอคอยสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน พวกเขาเชื่อว่าการกระทำทุกอย่างของมนุษย์บนโลกนี้ต้องได้รับการตรวจสอบ ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ได้ทำให้จิตใจของพวกเขาเกิดความสงบมั่น ไม่มีแรงบีบบังคับในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีความกังวลต่อความทุกข์ยากทว่าเขากล้าที่จะเผชิญหน้ากับมันอย่างเข็มแข็ง มีความเชื่อมั่นว่าการกระทำทุกอย่างของมนุษย์ แม้เพียงเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นความดีหรือความเลวย่อมได้รับการตอบแทนและการลงโทษ และเมื่อมนุษย์ตายจากโลกนี้ไปแล้วจะเดินทางไปสู่โลกทีมีความกว้างใหญ่กว่า ณ ที่นั้นไม่มีการกดขี่หรือการเอาเปรียบแต่อย่างใด ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากความเมตตาและความการุณย์ของพระองค์

ศรัทธาต่อปรโลกนั้นหมายถึงการทำลายกำแพงขวางกั้นของโลกวัตถุ เพื่อเข้าไปสู่โลกที่มีความสมบูรณ์และสูงส่งมากกว่า ซึ่งโลกนี้เป็นเพียงเรือกสวนและสถานที่อบรมสั่งสอนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกหน้า การดำรงชีวิตอยู่บนโลกนี้ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายทว่าเป็นเพียงปฐมบทเพื่อไปสู่ปรโลก ความศรัทธาที่มีต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการอบรมมนุษย์ สิ่งนี้ได้ให้เป้าหมายและความกล้าหาญแก่เขา บนพื้นฐานความเชื่อดังกล่าวได้ทำให้เกียรติยศของความเป็นมนุษย์บนโลกนี้มีความสูงส่ง เนื่องจากว่าเป้าหมายในการดำรงชีวิตของเขาคือพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็นองค์ปฐมบทในการเริ่มต้นชีวิตเพื่อชีวิตที่เป็นนิรันดร ดังนั้น ความเชื่อมั่นต่อปรโลกและวันแห่งการฟื้นคืนชีพจะทำให้มนุษย์สามารถควบคุมจิตใจให้ออกห่างจากการกระบาปมากยิ่งขึ้น และเมื่อมีศรัทธามั่นคงแข็งแรงมากเท่าใด การกระทำความผิดบาปก็จะลดน้อยลงมากเท่านั้น

 

บทเรียนจากโองการ

‎1. รากฐานที่สำคัญสำหรับโลกทัศน์แห่งพระผู้เป็นเจ้าคือ การมีอยู่บางอย่างไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยการสัมผัส ‎‎(เชื่อมั่นในสิ่งที่เร้นลับ)‎

‎2. หลังจากจากศรัทธาแล้ว การกระทำที่สำคัญที่สุดคือ การดำรงนมาซและจ่ายซะกาต (ทานบังคับ)‎

‎3. การบริจาคนั้นควรอยู่ในระดับพอดีไม่มากหรือน้อยจนเกินไปกล่าวว่า คำว่ามินในโองการหมายถึง บางส่วน ‎หมายถึงจงบริจาคบางส่วนในสิ่งที่เราได้ประทานลงมา

‎4.การบริจาคไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่ทรัพย์สินเท่านั้น ทว่าทุกสิ่งที่พระองค์ได้ประทานให้ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ‎เกียรติยศ หรือทรัพย์สิน ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า สิ่งที่เราได้สอนให้จงบริจาคแก่สังคม

‎5. สิ่งที่บริจาคต้องเป็นสิ่งอนุมัติ (ฮะลาล) เนื่องจากอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงประทานสิ่งที่อนุมัติแก่มนุษย์ กล่าวว่า ‎บางส่วนในสิ่งที่เราประทานมา

‎6.จำเป็นต้องศรัทธาต่อบรรดาศาสดาและคัมภีร์ทั้งหมดที่ถูกประทานลงมา เนื่องจากทั้งหมดถูกประทานลงมาให้ปฏิบัติหน้าที่เดียวกันกล่าวว่า จงศรัทธาต่อสิ่งที่เราได้ประทานมาก่อนหน้าเจ้า

‎7. ความยำเกรงที่แท้จริงจะปราศความเชื่อในปรโลกไม่ได้เด็ดขาดกล่าวว่า และพวกเขาเชื่อมั่นในปรโลก

‎8. ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เป็นศาสดาองค์สุดท้าย เนื่องจากอัลกุรอานกล่าวว่า มินก็อบลิกุม (ก่อนหน้าเจ้า) โดยไม่กล่าวต่อว่า มินบะอ์ดิกุม (หลังจากเจ้า)‎

 

อ้างอิง

1.บทอัลฮัชร์ โองการ 22

2.มัจญ์มะอุลบะยาน นูรุซซะเกาะลัยน์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม