เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 6 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


คำอธิบายโองการที่ 6 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

أُولَئك عَلى هُدًى مِّن رَّبِّهِمْ وَ أُولَئك هُمُ الْمُفْلِحُونَ

 

ความหมาย :

พวกเหล่านี้อยู่บนทางนำจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเหล่านี้เป็นผู้บรรลุผล

คำอธิบาย :

โองการสุดท้ายได้สรุปการกระทำของผู้ศรัทธาที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่ามีคุณสมบัติ 5 ประการดังนี้ว่า พวกเขาอยู่บนทางนำของพระผู้อภิบาลและพวกเขาเป็นผู้ ซึ่งตามความเป็นจริงการชี้นำและการเป็นผู้บรรลุของพวกเขาได้รับหลักประกันมาจากพระผู้อภิบาล ฉะนั้น การที่กล่าวว่า จากพระผู้อภิบาลของพวกเขา ก็เพื่อต้องการจะบ่งชี้ถึงสิ่งนี้ อีกนัยหนึ่งผลรางวัลของผู้ที่มีความยำเกรงที่ศรัทธาต่อสิ่งเร้นลับ ดำรงนมาซ บริจาคทาน และเชื่อมั่นต่อปรโลกพวกเขาคือผู้ที่ได้รับความสำเร็จ ซึ่งพวกเขาจะได้พบกับจุดสูงสุดแห่งความผาสุก เนื่องจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นมาเพื่อมนุษย์ อัลกุรอานกล่าวว่า พระองค์คือผู้ทรงบันดาลสรรพสิ่งทั้งมวล ณ แผ่นดินสำหรับสูเจ้า[1] ฉันไม่ได้สร้างญินและมนุษย์และญินมาเพื่ออื่นใด นอกเสียจากเพื่อการเคารพภักดีฉัน[2] การเคารพภักดีก็เพื่อไปสู่ตำแหน่งของผู้ยำเกรง ดังกุรอานกล่าวว่า จงเคารพภักดีพระผู้อภิบาลของสูเจ้า ผู้ทรงบังเกิดพวกเจ้า และบรรดาผู้ที่มาก่อนสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้ยำเกรง[3] และการพัฒนาตนให้เป็นผู้ยำเกรงก็เพื่อให้เป็นผู้บรรลุและประสบความสำเร็จ อัลกุรอานกล่าวว่า จงยำเกรงอัลลอฮฺเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ[4]

การที่อัลกุรอานกล่าวว่า (عَلى هُدًى مِّن رَّبِّهِمْ) หมายถึง อยู่บนทางนำจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา บ่งบอกว่าการชี้นำของพระผู้เป็นเจ้าเสมือนพาหนะที่มนุษย์ใช้โดยสาร และพาหนะนั้นเองได้นำพามนุษย์ไปสู่ความสำเร็จและความผาสุก เพราะโดยปรกติคำว่า (عَلىَ) จะถูกนำไปใช้ในที่ ๆ มีความหมายครอบคลุมและอยู่เบื้องบนเสมอ ขณะที่คำว่า (هُدًى) ถูกใช้ในลักษณะที่ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของการชี้นำที่มาจากพระผู้อภิบาลที่ครอบคลุมสถานภาพของพวกเขา

และการที่กล่าวว่า (هم المفلحون) ในวิชาอิลมุมะอานีกล่าวว่า การพูดเช่นนี้เป็นเหตุผลที่เจาะจงเป็นพิเศษสำหรับสิ่งนั้น หมายถึงแนวทางที่ทำให้ชนกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จได้คือการแสวงหาคุณสมบัติ 5 ประการข้างต้น ซึ่งคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้พวกเขามีส่วนร่วมและได้รับการชี้นำจากพระองค์

ประเด็นสำคัญ

1. ความต่อเนื่องบนหนทางของความศรัทธาและการกระทำ

ถ้าสังเกตจะเห็นว่าโองการข้างต้นได้ใช้กิริยาในรูปของปัจจุบันกาล ซึ่งโดยปกติแล้วกิริยาดังกล่าวจะใช้เพื่อความต่อเนื่องของภารกิจ เช่น

(يُؤْمِنُونَ بِالْغَيْبِ وَ يُقِيمُونَ الصلَوةَ ، يُنفِقُونَ، وَ بِالاَخِرَةِ هُمْ يُوقِنُونَ )

การใช้เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้ที่มีความยำเกรง และผู้ศรัทธาที่ประสบความสำเร็จเป็นกลุ่มชนที่มีการปฏิบัติตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งเป็นการปฏิบัติตนอย่างต่อเนื่อง

2. แก่นแท้ของความยำเกรงคืออะไร

ตักวาตามรากศัพท์เดิมหมายถึงการดูแล หรือการระมัดระวังตัวเอง หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงพลังด้านในที่คอยระมัดระวังและควบคุมมนุษย์ พร้อมกับปกป้องเขาไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความยโสโอหัง และกิเลสความต้องการต่าง ๆ ในความเป็นจริงตักวาเสมือนเบรกที่แข็งแรงคอยห้ามมนุษย์ไม่ให้กระทำบาป และคอยปกป้องเขาให้ปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ ฉะนั้น ถ้าหากพิจารณาอีกด้านหนึ่งตักวาก็คือความเชื่อมั่นต่อวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการสิ้นโลก) อัลกุรอานจึงกล่าวว่า พวกเขาเชื่อมั่นในปรโลก ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าท่านอิมามอะลี (อ.) จึงเปรียบตักวาเสมือนกำบังที่แข็งแรงสำหรับมนุษย์เมื่ออยู่ท่ามกลางอันตรายของความผิดบาปกล่าวว่า โอ้ปวงบ่าวทั้งหลายพึงสังวรไว้เถิดว่าแท้จริงตักวานั้นเปรียบเสมือนกำบังที่ปลอดภัยแข็งแรง

ท่านอิมามกล่าวอีกว่า แท้จริงตักวาและความยำเกรงต่ออัลลอฮ์คือ กุญแจที่ไขประตูทุกบานที่ปิดสนิท ที่สำรองเพื่อวันแห่งการตัดสิน เป็นสาเหตุให้เป็นอิสระจากการตัดขาดจากชัยฏอน และช่วยให้รอดพ้นจากความหายนะทั้งหลาย

บทเรียนจากโองการ

ผู้ที่ประสบความสำเร็จได้แก่บุคคลที่

1.เมื่อสังคมเกิดความเสียหายพวกเขาจะทำการปรับปรุงแก้ไข เชิญชวนไปสู่ความดีและห้ามปรามความชั่ว (บทอาลิอิมรอน โองการ104)

2.พวกเขาจะปกป้องศาสดาแห่งอัลลอฮ์ (บทอัลอะอ์รอฟ โองการ157)

3.พวกเขาจะออกห่างจากความตระหนี่ถี่เหนียว (บทอัลฮัชร์ โองการ 9)

4.ในวันกิยามะฮ์ ตราชั่งแห่งความดีงามจะหนักกว่าความชั่ว (บทอัลอะอ์รอฟ โองการ 8)

5.การที่จะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องมีการขัดเกลา ต้องยกระดับจิตใจ ต้องต่อสู้ดิ้นรน ต้องมีความนอบน้อมในนมาซ ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่ไร้สาระทั้งหลาย ต้องบริจาคทาน ต้องรักษาความบริสุทธิ์ของตน ต้องรักษาความหนุ่มสาว ต้องรักษาของฝากของคนอื่น ต้องรักษาสัญญา ต้องนมาซเสมอสิ่งเหล่าเป็นความจำเป็น

6. การชี้นำที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้าเป็นหลักประกันที่แท้จริงสำหรับผู้ศรัทธา

7.ความศรัทธา และความยำเกรงเป็นสื่อที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จ และบรรลุสู่เป้าหมาย

إِنَّ الَّذِينَ كَفَرُوا سوَاءٌ عَلَيْهِمْ ءَ أَنذَرْتَهُمْ أَمْ لَمْ تُنذِرْهُمْ لا يُؤْمِنُونَ

6. แท้จริง บรรดาผู้ปฏิเสธย่อมเท่าเทียมกันแก่พวกเขา ไม่ว่าเจ้าจะตักเตือนพวกเขาหรือไม่ตักเตือนพวกเขาก็ตาม พวกเขาไม่ศรัทธา

คำอธิบาย

ชนกลุ่มที่ 2 ได้ปฏิเสธและพวกที่ชอบการล้อเล่น

ชนกลุ่มนี้เป็นพวกที่อยู่ตรงกันข้ามกับผู้ศรัทธาและผู้ยำเกรง คุณสมบัติต่าง ๆ ของพวกเขาโองการที่กำลังกล่าวถึงและโองการถัดไปได้อธิบายไว้อย่างกว้าง ซึ่งโองการที่กำลังกล่าวถึงอธิบายว่า และผู้ปฏิเสธนั้นไม่แตกต่างกันสำหรับพวกเขา (ในการปฏิเสธ ไร้มีความศรัทธา และชอบล้อเล่น) ไม่ว่าเจ้าจะตักเตือนพวกเขาหรือไม่ตักเตือนก็ตาม พวกเขาจะไม่มีศรัทธาแน่นอน

ชนกลุ่มนี้แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางการหลงทางที่ลำบากแสนเข็ญ และแม้ว่าความจริงจะปรากฏแก่พวกเขาแล้วก็ตามพวกเขาก็ไม่พร้อมที่จะยอมรับ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วจิตวิญญาณของพวกเขาต่างหากที่ไม่พร้อมที่จะยอมรับและปฏิบัติตามความจริง


อ้างอิง

1.บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการ 29
2.บทอัซซารียาต โองการ 56
3.บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการ 21
4.บทอัลมาอิดะฮ์ โองการ 100

 

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม