เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 7 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 7 จากบทอัลบะกอเราะฮ์


خَتَمَ اللَّهُ عَلى قُلُوبِهِمْ وَ عَلى سمْعِهِمْ وَ عَلى أَبْصرِهِمْ غِشوَةٌ وَ لَهُمْ عَذَابٌ عَظِيمٌ‎

 

ความหมาย :‎

อัลลอฮ์ได้ทรงประทับตราบนหัวใจของพวกเขา และบนหูของพวกเขา และบนตาของพวกเขามีสิ่งปิดกั้น และสำหรับพวกเขาคือการลงโทษอันมหันต์

 

คำอธิบาย :‎

โองการนี้ได้ชี้ถึงความอคติและการล้อเล่น โดยกล่าวว่าพวกเขาหลงอยู่บนการปฏิเสธและความอคติ จนกระทั่งไม่รู้จักการแยกแยะ และอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงลงตราประทับบนหัวใจ หู และตาของพวกเขาเพื่อเป็นการตอกย้ำ อัลกุรอานกล่าวว่า อัลลอฮ์ได้ทรงประทับตราบนหัวใจของพวกเขา และบนหูของพวกเขา และบนตาของพวกเขามีสิ่งปิดกั้น ด้วยเหตุนี้เองผลสรุปการงานของพวกเขาคือ การลงโทษอันแสนสาหัสเพื่อเป็นการตอบแทนความดื้อด้านและอวดดีของพวกเขา อัลกุรอานกล่าวว่า สำหรับพวกเขาคือการลงโทษอันมหันต์ คนพวกนี้มีตา มีหู และมีสติปัญญาเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป เพียงแต่ว่าอวัยวะเหล่านั้นไม่สามารถมองเห็น หรือได้ยิน หรือคิดได้เนื่องจากว่าการกระทำที่ชั่วร้าย ความอคติและจิตใจที่คับแคบได้ปิดกั้นพวกเขาทำให้ไม่สามารถมองเห็นความสัตย์จริงได้

แน่นอนถ้าบุคคลใดยังไม่ได้ปฏิบัติตนถึงขั้นนี้ เขาสามารถได้รับการชี้นำได้แม้ว่าเขาจะอยู่ท่ามกลางการหลงทางก็ตาม แต่เมื่อใดก็ถ้าตามความรู้สึกแห่งการแยกแยะสิ่งถูกผิดได้อันตรธานไปจากเขา ถึงเวลานั้นไม่มีบุคคลสามารถช่วยเหลือเขาได้อีกต่อไป เนื่องจากเขาไม่มีพลังแห่งการรู้จักแยกแยะและแน่นอนว่าเขาต้องได้รับการลงโทษอันแสนสาหัส

 

ประเด็นสำคัญ

‎1. การปฏิเสธอำนาจการจำแนกแยกแยะมิใช่เหตุผลของการบังคับหรือ

โองการข้างต้นยืนยันว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงลงตราประทับบนจิตใจและปิดกั้นสายตาของพวกเขา ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่บนการปฏิเสธตลอดไป การกระทำเช่นนี้มิใช่การบังคับดอกหรือ

อัลกุรอาน ตอบว่า เนื่องจากพวกเขาได้ล้อเล่นกับสัจธรรม แสดงความยโสโอหัง เอารัดเอาเปรียบคนอื่นยืนกรานบนการปฏิเสธและปฏิบัติตามอารมณ์ของตน การกระทำเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้พลังแห่งการจำแนกแยกแยะต้องอันตรธานไปจากเขา อัลกุรอานได้อธิบายว่าเพราะเหตุใดอัลลอฮ์ (ซ.บ.) จึงลงตราประทับบนหัวใจของพวกเขาโดยกล่าวว่า แล้วเราจึงกริ้วและสาปแช่งพวกเขา เพราะพวกเขาทำลายสัญญาของพวกเขา และปฏิเสธโองการต่าง ๆ ‎ของอัลลอฮ์ ฆ่าบรรดาศาสดาโดยปราศจากความเป็นธรรม และการที่พวกเขากล่าวว่า หัวใจของเรามีเปลือกหุ้มอยู่หามิได้ อัลลอฮ์ทรงประทับตราบนหัวใจของพวกเขาต่างหาก เนื่องจากการเป็นผู้ปฏิเสธของพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ศรัทธา นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[1] อีกโองการหนึ่งกล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงประทับบนทุก ๆ หัวใจของผู้จองหองหยิ่งยโส[2] ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงหลงทาง หลังจากนั้นอัลลอฮ์ (ซ.บ.) จึงตีตราประทับลงบนหัวใจ หู และสายตาของพวกเขา พลังแห่งการจำแนกแยกแยะก็ได้อันตรธานไปจากพวกเขาอันเป็นมูลเหตุที่เกิดจากสาเหตุของความหยิ่งยโส

การปฏิเสธ ความยโสโอหัง การกดขี่ การปฏิบัติตามอารมณ์ และการล้อเล่นกับความจริง สิ่งเหล่านี้ในความเป็นจริงแล้วคือการกระทำของมนุษย์ที่เกิดจากความอคติ ส่วนการกระทำที่ตรงกันข้ามถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในโลกของการสร้างสรรค์หมายถึง บุคคลที่มีความสะอาด มีความยำเกรง และเป็นบุคคลที่มีความซื่อตรง อัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะเพิ่มพูนและทรงทำให้พลังแห่งการจำแนกมีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น ทรงประทานการรับรู้ การมองเห็น และวิสัยทัศน์พิเศษแก่เขา อัลกุรอาน กล่าวว่า บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากพวกเจ้ายำเกรงอัลลอฮ์ พระองค์จะประทานพลังแห่งการจำแนกความจริงและความเท็จแก่พวกเจ้า[3] ดังนั้น จะเห็นว่าพระองค์ไม่ได้ถอดถอนอำนาจแห่งการจำแนกไปจากมนุษย์ ทว่าการที่เขาไม่สามารถจำแนกสิ่งถูกผิดได้มันเกี่ยวข้องกับการกระทำและความประพฤติของมนุษย์

 

2.ถ้าหากพวกเขาไม่สามารถชี้นำได้คำเชิญชวนของศาสดาจะมีประโยชน์อะไร

สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือ การตอบแทนและการลงโทษจากพระผู้อภิบาลเกี่ยวข้องกับการกระทำและความประพฤติของมนุษย์แค่เพียงการคิดที่ไม่ดีไม่อาจนำตัวเขามาลงโทษได้ ฉะนั้น อันดับแรกเป็นหน้าที่ของศาสดาที่ต้องประกาศเชิญชวนพวกเขาไปสู่สัจธรรมเสียก่อน หลังจากนั้นถ้าเขาไม่ยอมรับ ไม่รู้จักการแยกแยะ และไม่ยกระดับจิตใจของตนถึงเวลานั้นต้องถูกลงโทษ ดังนั้น การตอบแทนผลรางวัลและการลงโทษต้องเกิดขึ้นภายหลังการกระทำแน่นอน เพียงแค่การตัดสินใจ หรือการเตรียมพร้อมความคิดและจิตใจเพื่อกระทำความดีหรือบาปไม่เพียงพอแก่ตอบแทนหรือการลงโทษ

3.การตีตราประทับบนหัวใจ

อัล-กุรอานโองการข้างต้นและอีกหลายโองการได้อธิบายการถอดถอนพลังแห่งการจำแนก และการรับรู้ที่แท้จริงไปจากมนุษย์จะใช้คำว่า การตีตราประทับ (เคาะตะมะ) และบางครั้งจะใช้คำว่า (เฏาะบะอะ) หรือคำว่า (รัยน์) ซึ่งความหมายนี้ได้รับอิทธิพลมาจากประเพณีและการปฏิบัติของคนส่วนใหญ่ ที่เมื่อเขาต้องการบรรจุสิ่งของลงในกระสอบ หรือในซองที่เตรียมไว้พิเศษ หรือนำจดหมายใส่ซองและเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นขโมยของ หรือแกะจดหมายออกอ่านจะมีการผูกหรือปิดซองจดหมายอย่างดี หลังจากนั้นจะตีคลั่งหรือลงตราประทับ วันนี้ก็เช่นเดียวกันจะเห็นว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขจะประทับตาจดหมายทุกฉบับ เพื่อป้องกันการสูญหายหรือการทุจริต การกระทำเช่นนี้ในภาษาอาหรับจะใช้คำว่า (เคาะตะมะ) แน่นอนการใช้ความหมายเช่นนี้กับบุคคลที่ไม่มีความศรัทธาหรือล้อเล่น เป็นผลมาจากการกระทำบาปมากมายจนไม่อาจยอมรับการชี้นำได้ ความอคติและความยโสในจิตใจของพวกเขามันได้ถูกฝังแน่น เหมือนกับสิ่งของที่บรรจุอยู่ในกล่องหรือในกระสอบที่มีการประทับตราตีคลั่งเพื่อป้องกันการทุจริต ถ้าใช้กับจิตใจมนุษย์เรียกว่าเป็นการประทับตา (เคาะตะมะ)

คำว่า (เฏาะบะอะ) ในเชิงภาษามีความหมายคล้ายกับคำว่า (เคาะตะมะ) หมายถึง การประทับตาลงบนสิ่งหนึ่ง ส่วนคำว่า (รัยน์) หมายถึง สนิม ฝุ่นละออง หรือคราบไคลที่สกปรกที่มักจับอยู่บนสิ่งของที่มีค่า ซึ่งอัล-กุรอาน มักใช้คำนี้กับบุคคลที่กระทำบาปมากมาย จนจิตใจของเขาไม่อาจยอมรับความจริงหรือสิ่งที่ดีได้ อัล-กุรอาน กล่าวว่า สิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้นั้นได้เป็นสนิมบนหัวใจของพวกเขา[14]

สิ่งที่สำคัญคือมนุษย์ต้องระมัดระวังจิตใจและความประพฤติของตน ไม่ให้ทำบาปหรือออกห่างจากการกลับตัวกลับใจและกระทำความดี จนกระทั่งกลายเป็นสนิมที่ฝังแน่นอยู่บนจิตใจชนิดที่ไม่มีวันลบออก ท่านอิมาม มุฮัมมัดบากิร (อ.) กล่าวว่า ไม่มีผู้ใดเป็นผู้ศรัทธานอกเสียจากว่าจะมีจุดขาวสะอาดที่เจิดจรัสปรากฏบนจิตใจ เมื่อกระทำบาปจุดขาวนั้นจะเปลี่ยนเป็นจุดสีดำ และเมื่อเขาลุแก่โทษจุดสีดำนั้นจะเลือนหายไป แต่ถ้าเขาทำบาปอย่างต่อเนื่องจุดดำนั้นจะขยายตัวไปเรื่อย ๆ และเมื่อจุดสีขาวถูกครอบคลุมด้วยสีดำจนหมดสิ้น เจ้าของหัวใจเช่นนี้จะไม่มีวันย้อนกลับไปสู่ความดีและความผาสุกได้อีก และนี่คือความหมายที่พระองค์ตรัสว่า สิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้นั้นได้เป็นสนิมบนหัวใจของพวกเขา[5]

4. จุดประสงค์ของคำว่าจิตใจ (ก็อลบุน) ในอัลกุรอาน

ทำไมอัล-กุรอานถึงเรียกความสัตย์จริงว่าหัวใจ ขณะที่ทราบกันดีว่าหัวใจไม่ใช่ศูนย์รวมของความรู้สึก แต่มีหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

ตำตอบคือคำว่าหัวใจในอัลกุรอานนั้นมีหลายความหมาย เช่น

1.บางครั้งหมายถึง สติปัญญาและการรับรู้ อัลกุรอาน กล่าวว่า แท้จริงในนั้นย่อมเป็นข้อตักเตือนแก่ผู้มีหัวใจ [6]

2. บางครั้งหมายถึง วิญญาณ อัลกุรอาน กล่าวว่า เมื่อพวกเขายกทัพมายังพวกเจ้า ทั้งด้านบนของพวกเจ้า และด้านล่างของพวกเจ้า และเมื่อนัยน์ตาได้เหลือกลานและวิญญาณได้มาจุกอยู่ที่ลำคอ พวกเจ้าคิดไม่ดีต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับอัลลอฮ์[7]

3.บางครั้งหมายถึง ศูนย์รวมแห่งความรัก อัลกุรอาน กล่าวว่า ฉันจะโยนความหวาดกลัวเข้าไปในหัวใจของบรรดาผู้ที่ปฏิเสธ[8]

หมายเหตุ โดยปกติมนุษย์จะมีศูนย์กลางอันเป็นแหล่งพลังอยู่ 2 ที่กล่าวคือ

- ศูนย์กลางของความรู้สึกได้แก่ สมองและปราสาท ดังนั้นเมื่อมีเรื่องที่ต้องคิดสมองของเราจะสั่งการให้คิดพิจารณาและทำการวิเคราะห์เหตุการณ์เหล่านั้นไปตามขั้นตอน แม้ว่าสมองจะเป็นเพียงสื่อเล็ก ๆ ที่คอยถ่ายทอดความรูสึกต่าง ๆ ให้กับวิญญาณก็ตาม

- ศูนย์กลางของความรักและความผูกพันได้แก่หัวใจ ซึ่งเป็นก้อนเนื้อเล็กเท่ากับกำปั้นอยู่ทางซีกซ้ายของทรวงอก ความรักและความผูกพัน โกรธเกลียด เสียใจ ความดีใจ ความร่าเริง และความสุขปิติยินดีต่าง ๆ ล้วนเกิดที่ใจทั้งสิ้น จริงอยู่แม้ว่าศูนย์กลางที่แท้จริงของความรู้สึก ความรักและความผูกพันจะอยู่ที่จิตวิญญาณก็ตาม แต่การแสดงออกทางร่างกายของสิ่งเหล่านั้นไม่เหมือนกัน เช่น ความรู้และความเข้าใจจะถูกเปิดเผยและถูกถ่ายทอดออกมาทางสมอง ขณะที่ความผูกพัน เช่น ความรัก โกรธเกลียด ความกลัว ความสงบ ความร่าเริง และความเศร้าโศกจะปรากฏออกมาทางจิตใจ ซึ่งช่วงเวลาที่สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นจะมีความรู้สึกที่ใจเป็นอันดับแรก

ดังนั้นถ้าอัลกุรอานกล่าวถึงเรื่องความรักและความผูกพันซึ่งเกี่ยวข้องกับจิตใจละก็ หมายถึงใจที่กำลังกล่าวถึง แต่ถ้ากล่าวในเชิงของความคิดแต่เกี่ยวข้องกับจิตใจนั่นหมายถึงสติปัญญา ดังเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว

5. ทำไมคำว่า ( قَلْبٌ ، بَصَرٌ ) จะถูกกล่าวในรูปของพหูพจน์แต่เมื่อกล่าวถึงคำว่า (سَمْعٌ) จะเป็นเอกพจน์

ถ้าสังเกตจะพบคำว่า (سَمْعٌ ) นั้นทุกที่ในอัล-กุรอานจะถูกใช้ในรุปของเอกพจน์เสมอ ส่วนคำว่า (قَلْبٌ ، بَصَرٌ) บางครั้งจะถูกใช้ในรูปของเอกพจน์ และบางครั้งจะเป็นพหูพจน์ (قُلُوْبٌ، اَبْصَارٌ) เช่น

وَخَتَمَ عَلَى سَمْعِهِ وَقَلْبِهِ وَجَعَلَ عَلَى بَصَرِهِ غِشَاوَةً

ทรงประทับตราบนการฟังของเขา และหัวใจของเขา และทรงทำให้มีสิ่งบดบังดวงตาของเขา [9]

ท่านมัรฮูมเชคฏูซีย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ใช้อัลกุรอานใช้คำว่า ซัมอุน ในรูปของเอกพจน์นั้นอาจเป็นเพราะหนึ่งในสองของเหตุผลต่อไปนี้

1.เนื่องจากบางครั้งคำว่า ซัมอุน จะมาในรูปของอิซมิญัมอฺ (หมายถึงลักษณะนามที่เป็นพหูพจน์) ตามหลักไวยากรณ์ของภาษาอาหรับลักษณะนามที่เป็นพหูพจน์ จะให้ความหมายเป็นพหูพจน์อย่างเดียวและไม่ต้องการคำที่เป็นพหูพจน์อีกต่อไปเพราะให้ความหมายเป็นพหูพจน์อยู่แล้ว

2.บางครั้งคำว่า ซัมอุน อาจให้ความหมายเป็นมัซดาร (รากของคำ) ก็ได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีตามหลักภาษาอาหรับนั้น มัซดาร อาจบ่งบอกถึงสิ่งที่มีจำน้อยหรือมากก็ได้ ดังนั้น จึงไม่ต้องการคำที่เป็นพหูพจน์อีกต่อไป

นอกจากนี้แล้วการรับรู้ความรู้สึกด้วยจิตใจ และการมองเห็นด้วยตานั้นสามารถรับรู้ได้โดยไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งความแตกต่างนี้เองจะเห็นว่าบางครั้งคำทั้งสองจึงถูกใช้ในรูปของพหูพจน์ ส่วนคำว่า ซัมอุน นั้นจะถูกใช้เป็นเอกพจน์เสมอเนื่องจากว่าคลื่นเสียงที่คนเราสามารถรับฟังได้มีขอบเขตจำกัด ต่างไปจากแสงสว่างและสีสันที่มองเห็นมีจำนวนเป็นล้านหรือมากกว่านั้น

 

อ้างอิง

1.บทอันนิซาอ์ โองการ 155
2.บทอัลมุอ์มิน โองการ 35
3.บทอัลอันฟาล โองการ 29
4.บทอัลมุฏ็อฟฟิฟีน โองการ 14
5.อุศูลกาฟี เล่ม 2 หมวด อัซซุนูบ (บาปต่างๆ) ฮะดีษ 20 หน้า 209
6.บทก็อฟ โองการ 37
7.บทอัลอะฮ์ซาบ โองการ 10
8.บทอัลอันฟาล โองการ 12

9.บทอัลญาซียะฮ์ โองการ 23

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม