เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 21-22 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 21-22 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 


يَأَيهَا النَّاس اعْبُدُوا رَبَّكُمُ الَّذِى خَلَقَكُمْ وَ الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

الَّذِى جَعَلَ لَكُمُ الأَرْض فِرَشاً ‏وَ السمَاءَ بِنَاءً وَ أَنزَلَ مِنَ السمَاءِ مَاءً فَأَخْرَجَ بِهِ مِنَ الثَّمَرَتِ رِزْقاً لَّكُمْ فَلا تجْعَلُوا للَّهِ أَندَاداً وَ أَنتُمْ ‏تَعْلَمُونَ‎

 

 

ความหมาย

‎21.โอ้มนุษย์เอ๋ย จงเคารพภักดีพระผู้อภิบาลของสูเจ้า ผู้ทรงบังเกิดพวกเจ้า และบรรดาผู้ที่มาก่อนสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้ยำเกรง

‎22. ผู้ทรงทำแผ่นดินเป็นที่นอนสำหรับสูเจ้า และชั้นฟ้าเป็นหลังคา และทรงหลั่งน้ำลงจากฟากฟ้า แล้วได้ทรงให้งอกออกมาโดยนำนั้น ซึ่งผลไม้ต่าง ๆ เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพสำหรับสูเจ้า ดังนั้น จงอย่าตั้งสิ่งใดเทียบเคียงอัลลอฮ์ ‎ขณะที่สูเจ้ารู้อยู่

คำอธิบาย จงเคารพภักดีพระเจ้าเยี่ยงนี้

โองการข้างต้น พระผู้เป็นเจ้าทรงกล่าวถึงคน 3 กลุ่มคือ ผู้ยำเกรง ผู้ปฏิเสธ และผู้กลับกลอก ตรัสว่าเฉพาะผู้ยำเกรงเท่านั้นจะได้รับทางนำจากพระองค์ และจะได้รับการชี้นำจากอัลกุรอาน ส่วนผู้ปฏิเสธหัวใจของพวกเขาจะถูกปิดผนึกด้วยความโง่เขลา และความไม่รู้ เนื่องจากการกระทำของพวกเขา สายตาของพวกเขาจึงถูกปิดกั้นด้วยม่านแห่งความหลงลืม และความสำนึกในการจำแนกแยกแยะจะถูกถอดถอนออกไปจากพวกเขา ส่วนบรรดาพวกกลับกลอกจิตใจของพวกเขาจะไม่สบายมีโรคร้าย และเนื่องจากการกระทำชั่ว อาการป่วยของพวกเขาจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ส่วนโองการต่อไปนี้ เมื่ออธิบายถึงความต่างของแนวทางแล้ว จะย้ำเน้นว่าแนวทางแห่งความผาสุก และความปลอดภัยเป็นของกลุ่มชนที่มีความยำเกรงอย่างแท้จริง ดังที่อธิบายว่า

‎1. อัลกุรอานได้ใช้คำว่า ยาอัยยุฮันนาซ (โอ้มนุษย์เอ๋ย) ประมาณ 20 ครั้ง บ่งบอกว่าอัลกุรอานมิได้เป็นคัมภีร์ที่เฉพาะเจาะจงสำหรับชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทว่าเป็นคัมภีร์สำหรับประชาชาติทั้งปวง ซึ่งทำหน้าที่เชิญชวนมนุษย์ไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว และต่อสู้กับการตั้งภาคีทุกประเภท ที่หันเหออกจากความเคารพภักดีในความเป็นเอกะพระองค์

‎2. เพื่อกระตุ้นเตือนมนุษย์ให้ขอบคุณ และเรียกร้องไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว ซึ่งถือว่าเป็นความโปรดปรานที่สำคัญที่สุด เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลานุภาพ วิทยปัญญา ความเมตตาทั้งโดยรวมและที่เฉพาะเจาะจงของพระองค์ ผู้ทรงสร้างมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกจากดิน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้และเดชานุภาพที่ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นความโปรดปรานที่การคำนวณนับมิอาจเปรียบเทียบได้ ปรากฏบนชีวิตและร่างกายของมนุษย์ทุกคน ซึ่งไม่สามารถกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้มาจากบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ทรงรอบรู้ และทรงอำนาจยิ่ง ด้วยเหตุนี้ การรำลึกถึงความโปรดปรานดังกล่าว เป็นเหตุผลที่บ่งบอกถึงการรู้จักพระองค์ และเป็นพลังที่กระตุ้นไปสู่การขอบคุณ และการแสดงความเคารพภักดี

‎3. ผลลัพธ์จากการเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียวคือ ความยำเกรงและการหลีกห่างจากการทำความผิด ฉะนั้น ไม่ว่ามนุษย์จะแสดงความเคารพภักดีต่อพระองค์หรือไม่ ก็จะไม่มีสิ่งใดลดหายไปจากความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ในความเป็นจริงการแสดงความเคารพภักดีก็คือ การหล่อเลี้ยงความยำเกรงให้เจริญเติบโต ความยำเกรงคือความรู้สึกรับผิดชอบในหน้าที่ การปลูกฝังจิตวิญญาณให้อ่อนโยน และเป็นเครื่องตรวจสอบบุคลิกภาพของมนุษย์

‎4. ประโยคที่กล่าวว่า อัลละซีนะมินก็อบลิกุม (บรรดาผู้ที่มาก่อนสูเจ้า) ต้องการบอกว่าถ้าหากสูเจ้าอ้างการเคารพสักการะเทวรูปต่าง ๆ เป็นแบบฉบับของบรรพชนแล้วละก็ อัลลอฮ์ (ซ.บ..) ก็คือผู้บังเกิดเจ้าและบรรพชนก่อนหน้าสูเจ้า ทรงเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ และผู้ทรงอภิบาลสูเจ้าและชนก่อนหน้าสูเจ้า ด้วยเหตุนี้ การเคารพสักการะเทวรูปไม่ว่าจะมาจากเจ้า หรือชนก่อนหน้าเจ้าถือว่าเป็นการหลงผิดทั้งสิ้น

แผ่นดินและท้องฟ้าคือความโปรดปราน

โองการต่อมากล่าวถึงความโปรดปรานอีกประการหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า ทีควรค่าแก่การขอบคุณ ประการแรกพระองค์ตรัสถึงการสร้างพื้นว่า ผู้ทรงทำแผ่นดินเป็นที่นอนสำหรับสูเจ้า และชั้นฟ้าเป็นหลังคา และทรงหลั่งน้ำลงจากฟากฟ้า แล้วได้ทรงให้งอกออกมาโดยนำนั้น ซึ่งผลไม้ต่าง ๆ เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพสำหรับสูเจ้า ดังนั้น จงอย่าตั้งสิ่งใดเทียบเคียงอัลลอฮ์ ขณะที่สูเจ้ารู้อยู่

คำว่า อันดาดัน เป็นพหูพจน์ของคำว่า นิดดุน หมายถึง การส่วนร่วม การคล้ายเหมือน แน่นอนว่าการคล้ายเหมือนนั้นมีอยู่ในการแสดงความเคารพสักการะต่อ เทวรูป นี้มิได้หมายความว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง

หนึ่งในความโปรดปรานสำคัญที่ อัลกุรอาน กล่าวถึง ณ ที่นี้คือ แรงดึงดูด พลังดังกล่าวเป็นปัจจัยอนุญาตให้มีการเคลื่อนไหว พักผ่อน สร้างที่อยู่อาศัย จัดสรรเรือกสวนไร่นา และปัจจัยยังชีพอื่น ๆ และอีกหนึ่งในความโปรดปรานที่สำคัญคือ แรงดึงดูดโน้มถ่วง มนุษย์เคยคิดบ้างไหมว่าถ้าไม่มีแรงดึงดูดโน้มถ่วงจะเป็นอย่างไร แน่นอนเพียงชั่วพริบตาเดียว สรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ภูเขา และอื่น ๆ ก็จะหลุดและปลิวไปในอวกาศตามแรงหมุนของโลก

การที่อัลกุรอานใช้คำว่า (‎فراش‎ ) ฟิรอชัน หมายถึง การพักผ่อน หลับนอน เป็นการใช้คำที่มีความสวยงามอย่างยิ่ง ‎เพราะคำว่า ฟิรอชัน ไม่ได้หมายถึงความสงบ หรือการพักผ่อนเพียงอย่างเดียว ทว่ามีความหมายรวมไปถึงความอบอุ่น และความนุ่มนวลที่พอดีลงตัว ท่านอิมามอะลี ซัยนุลอาบิดีน (อ.) กล่าวอธิบายว่า

อัลลอฮ์ (ซ.บ..) ทรงสร้างพื้นผิวโลกให้เข้ากับธรรมชาติของมนุษย์ และมีความเหมาะสมกับร่างกาย พระองค์มิได้สร้างให้ร้อนมากเกินไปจนเผาไหม้ทุกสิ่ง หรือสร้างให้เย็นมากเกินไปจนกลายเป็นน้ำแข็ง หรือสร้างให้มีกลิ่นหอมมากเกินไป จนกระทั่งกลิ่นที่รุนแรงเป็นอันตรายต่อระบบประสาทและสมองของเจ้า หรือมิได้สร้างให้มีกลิ่นเหม็นอันเป็นสาเหตุทำให้สรรพสิ่งทั้งหลายไม่สามารถดำรงอยู่ได้ มิได้สร้างให้เหลวเหมือนผิวน้ำเพื่อสรรรพสิ่งจะได้ไม่จมน้ำตาย และมิได้สร้างให้แข็งจนเกินไปเพื่อพวกเจ้าจะได้สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ และฝังศพที่เน่าเปื่อยที่ส่งกลิ่นเหม็นและสร้างความอุจจาด แน่นอนพระองค์ทรงสร้างเช่นนี้ เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับพวกเจ้า‎[27]หลังจากนั้นพระองคทรงอธิบายถึง ความโปรดปรานแห่งฟากฟ้าโดยกล่าวว่า และทรงสร้างชั้นฟ้าเป็นหลังคา ‎ที่อยู่เหนือศีรษะ คำว่า (‎سماء‎ ) ซะมาอฺ ตามที่โองการกล่าว หมายถึงชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งถือว่าเป็นเปลือกที่ห่อหุ้มโลกเอาไว้ นักวิชาการกล่าวว่า ถ้าไม่มีชั้นบรรยากาศที่หนาทึบหลายร้อยกิโลเมตรเหมือนหลังคาครอบคลุมอยู่ ชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกอื่น ๆ ก็คงจะไม่มีความสงบสุข เนื่องจากต้องคอยระวังเศษหินและของแข็งที่ล่วงมาจากดาวดวงอื่น

จากสิ่งที่กล่าวมาทำให้รู้ว่า ความหมายประการหนึ่งของคำว่า ซะมาอฺ คือชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกอยู่ ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวถึงสีท้องฟ้าแก่ มุฟัฎฎอลว่า โอ้ มุฟัฎฎอลเจ้าลองมองท้องฟ้าดูซิ เจ้าจะเห็นว่าพระเจ้าทรงสร้างมันให้เป็นสีฟ้า เพราะสีฟ้าเป็นสีที่เข้ากับสายตาได้ดีที่สุด และเมื่อมองไปยังท้องฟ้าสายตาจะรู้สึกเข็มแข็งขึ้น[28]‎

ปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าสีฟ้าของท้องฟ้าไม่ใช่สิ่งใดนอกจากชั้นบรรยากาศที่แผ่กระจายปกคลุมอยู่ ด้วยเหตุนี้ ‎จุดประสงค์ของคำว่า ซะมาอฺ ในฮะดีซจึงหมายถึงชั้นบรรยากาศที่แผ่ปกคลุมผิวโลกนั่นเอง

ประโยคที่กล่าวว่า และทรงหลั่งน้ำลงจากฟากฟ้า ได้สนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ว่า จุดประสงค์ของคำว่า ซะมาอฺ ในที่นี้หมายถึง ชั้นบรรยากาศ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ฝนนั้นเกิดจากการรวมตัวของก้อนเมฆ และเมฆเกิดจากไอน้ำที่ระเหยขึ้นไปจากผิวโลก และกระจายเป็นชั้นบรรยากาศที่ปกคลุมผิวโลกอีกทีหนึ่ง

อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) กล่าวอธิบายโองการดังกล่าว เกี่ยวกับฝนตกว่า อัลลอฮ์ (ซ.บ..) ทรงหลั่งน้ำฝนลงมาจากฟากฟ้า ทำให้บริเวณที่อยู่สูงกว่าบริเวณอื่น ยอดเขา และแอ่งน้ำเปียกชุ่ม และโอบอุ้มน้ำไว้ หากมิเช่นนั้นน้ำจะท่วมพื้นโลกทั้งหมด ทรงหลั่งน้ำฝนเป็นเม็ดเล็ก ๆ และนิ่ม ลงบนพื้นดินอย่างต่อเนื่อง บางครั้งแลเห็นเป็นสายฝน และบางครั้งก็เป็นเม็ดฝนที่เล็กกว่า เพื่อให้ซึมลงพื้นดินและมีความชุ่มอย่างสมบูรณ์ แต่พระองค์จะไม่เทฝนลงมาทีเดียวจนทำให้พื้นดิน ต้นไม้ และเรือกสวนไร่นาของเจ้าต้องได้รับความเสียหาย

หลังจากนั้น อัลกุรอาน กล่าวถึงพืชและผลไม้ต่าง ๆ ที่งอกเงยจากความจำเริญของน้ำฝน ยังประโยชน์แก่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย กล่าวว่า แล้วได้ทรงให้งอกออกมาโดยน้ำนั้น ซึ่งผลไม้ต่าง ๆ เพื่อเป็นปัจจัยยังชีพสำหรับสูเจ้า

จะสังเกตเห็นว่าสิ่งนี้ ด้านหนึ่งเป็นความเมตตา และความโปรดปรานที่แผ่ไพศาลของพระเจ้า ที่เฉพาะเจาะจงต่อปวงข้าทาสทั้งหลาย ส่วนอีกด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงเดชานุภาพของพระองค์ ที่ทรงสร้างพืช ผัก ผลไม้ และเมล็ดพันธ์ต่าง ๆ ให้มีสีสันแตกต่างกันมากมาย เพื่อเป็นอาหารแก่มนุษย์และสัตว์ จากน้ำฝนที่ใสบริสุทธิ์ และสิ่งนี้ถือเป็นเหตุผลสมบูรณ์ที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ หลังจากพระองค์แสดงเหตุผลถึงการมีอยู่ของพระองค์แล้ว ตรัสทันทีว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สูเจ้าจงอย่าตั้งสิ่งใดเทียบเคียงอัลลอฮ์ ขณะที่สูเจ้ารู้

สูเจ้าทั้งหลายต่างรู้ดีว่าเทวรูปต่าง ๆ ที่เจ้าประดิษฐ์ขึ้นมา ไม่สามารถสร้างเจ้าให้มีขึ้นมาได้ ไม่สามารถให้ปัจจัยยังชีพ คุ้มครอง ความรัก และไม่สามารถให้คุณหรือให้โทษแก่เจ้าได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น สูเจ้านำเอาสิ่งเหล่านั้นมาเทียบเคียงกับข้าได้อย่างไร

ประเด็นสำคัญ

การเคารพสักการะเทวรูปในรูปแบบต่าง ๆ

ณ ที่นี้สิ่งที่ต้องการกล่าวคือ การตั้งภาคีกับพระเจ้า ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การประดิษฐ์เทวรูปทั้งจากหิน หรือไม้ หรือสิ่งที่สูงยิ่งไปกว่านั้น การจำลองมนุษย์ เช่น อีซา (อ.) ว่าเป็นหนึ่งในพระเจ้าทั้งสาม ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ทว่ามีความหมายที่กว้าง และครอบคลุมมากกว่านี้ในลักษณะที่ซ่อนเร้น อีกนัยหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ได้ถูกจัดวางเทียบเท่าพระเจ้า และจัดให้มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิต ถือเป็นการตั้งภาคีประเภทหนึ่ง

ในยุคแรกของอิสลามประชาชนในสมัยนั้นได้พูดกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เช่นนี้ว่า มาชาอัลลอฮ์ วะ ชิอฺตะ ทุกสิ่งที่อัลลอฮ์และท่านต้องการ ท่านศาสดากล่าวตอบพวกเขาว่า พวกท่านนำฉันไปเทียบเคียงกับพระเจ้าและให้อยู่ในระดับเดียวกับพระองค์กระนั้นหรือ

อิมามซอดิก (อ.) กล่าวอธิบายโองการที่ 106 ซูเราะฮฺ ยูซุฟว่า ผู้คนส่วนมากมิได้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ นอกจากพวกเขาได้ตั้งภาคี ว่าสิ่งนี้ได้บ่งชี้ถึงการตั้งภาคีชนิดเบา เหมือนกับการกล่าวกับอีกคนว่า ถ้าหากไม่มีเธอ ฉันต้องพินาศแน่นอน หรือชีวิตของฉันต้องล่มจม[1]‎

 

อ้างอิง

1.ซะฟีนะตุลบิฮาร เล่ม 1 หน้า 697

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม