เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 23-24 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 23-24 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 


وَ إِن كنتُمْ فى رَيْب مِّمَّا نَزَّلْنَا عَلى عَبْدِنَا فَأْتُوا بِسورَة مِّن مِّثْلِهِ وَ ادْعُوا شهَدَاءَكُم مِّن دُونِ اللَّهِ إِن كُنتُمْ ‏صدِقِينَ

 فَإِن لَّمْ تَفْعَلُوا وَ لَن تَفْعَلُوا فَاتَّقُوا النَّارَ الَّتى وَقُودُهَا النَّاس وَ الحِْجَارَةُ أُعِدَّت ‏لِلْكَفِرِينَ‎‎

 

ความหมาย :‎

‎23. และถ้าสูเจ้ายังอยู่ในความแคลงใจจากสิ่งที่เราได้ประทานลงมาแก่บ่าวของเรา ดังนั้น จงนำมาสักซูเราะฮฺ (บท) ‎หนึ่งเยี่ยงนั้น และจงเชิญชวนพยานของสูเจ้านอกเหนือจากอัลลอฮ์ ถ้าสูเจ้าเป็นผู้สัตย์จริง

‎24. ดังนั้น ถ้าสูเจ้าไม่ทำ และสูเจ้าจะทำไม่ได้ ก็จงระวังไฟนรก ซึ่งเชื้อเพลิงของมันเป็น มนุษย์ (คนบาป) และหิน ‎‎(รูปปั้น) ได้ถูกเตรียมไว้สำหรับพวกปฏิเสธ

คำอธิบาย : อัลกุรอานเป็นความมหัศจรรย์อันอมตะ

โองการก่อนหน้านี้กล่าวถึงความหน้าไหว้หลังหลอก และการปฏิเสธว่า บางครั้งเป็นเพราะว่าพวกเขามิได้รับรู้ถึงสภาวะการเป็นศาสดา และอภินิหารของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โองการทีกำลังกล่าวถึงนี้ต้องการอธิบายถึงความมหัศจรรย์ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมหัศจรรย์ของ อัลกุรอาน เพื่อขจัดความคลางแคลงใจทั้งหลายที่มีต่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)‎

คำว่า ชุฮะดา ในที่นี้ได้บ่งชี้ถึงพยานที่ร่วมมือกันปฏิเสธสภาวะการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ซ็อล) ประโยคที่กล่าวว่า พยานอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮ์ บ่งชี้ว่าแม้ว่ามนุษย์ทั้งหมด นอกเหนือจากอัลลอฮ์ รวมกัน และประดิษฐ์อัลกุรอาน ขึ้นมาสัก 1 บท ที่เหมือนกับบทต่าง ๆ ของ อัลกุรอาน แน่นอนพวกเขาไร้ความสามารถ และจะไม่มีวันมีความสามารถเช่นนั้นเด็ดขาด

ด้วยเหตุนี้ อัลกุรอานจึงท้าทายผู้ปฏิเสธทั้งหมดให้มาต่อสู้กับอัลกุรอาน และท้าทายพวกเขาให้ประดิษฐ์สิ่งที่คล้ายเหมือนกับ อัลกุรอานขึ้นมา ทั้งที่รู้ว่ามนุษย์ไร้ความสามารถ แต่ต้องการให้คำท้าทายนี้เป็นเหตุผลที่แสดงให้ว่าสิ่งนี้เป็นวะฮ์ยูแห่งฟากฟ้า ที่ถูกนำมาประกาศสั่งสอนโดยศาสดาของพระองค์

คำท้าทายและการเชิญชวนมาสู่การต่อสู้ สิ่งจำเป็นที่สุดคือ การมีเหตุผล และความมั่นใจแน่นอนที่จะสามารถโค่นล้มศัตรูได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องสามารถปราบศัตรูให้อยู่หมัด เพื่อศัตรูจะได้ใช้พลังทั้งหมดที่มีอยู่ทำการต่อสู้ และหลังจากไร้ความสามารถแล้ว จะได้รู้ว่าปรากฏการณ์ที่ตนกำลังเผชิญอยู่นั้นมิใช่ของมนุษย์ แต่เป็นพระดำรัสของพระเจ้า

ด้วยเหตุนี้ โองการต่อมาจึงใช้นิยามที่แตกต่างกันกล่าวถึงความสำคัญของประเด็นนี้ ตรัสว่า ถ้าสูเจ้าไม่ทำ และสูเจ้าจะทำไม่ได้ ก็จงระวังไฟนรก ซึ่งเชื้อเพลิงของมันเป็น มนุษย์ (คนบาป) และหิน (รูปปั้น) ได้ถูกเตรียมไว้สำหรับพวกปฏิเสธ

คำว่า (‎وَقُود‎) วะกูดุ หมายถึงเชื้อเพลิง หรือสิ่งที่สามารถติดไฟได้ เช่น ถ่าน หรือฟืนเป็นต้น ไม่ได้หมายถึงสิ่งติดไฟ ‎เช่น ไม้ขีด หรือหินเหล็กไฟสมัยโบราณ

แหล่งกำเนิดไฟนรกมาจากภายในของมนุษย์ ซึ่งทำให้หินเหล็กไฟลุกโชติช่วง ถ้าหากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าสสารทุกอย่างบนโลกนี้ ภายในของมันคือแหล่งกำเนิดไฟที่ยิ่งใหญ่ การเข้าใจความหมายดังกล่าวมิใช่เรื่องยุ่งยาก อัลกุรอานโองการที่ 6/7 บท อัลฮุมะซะฮฺ กล่าวว่า คือ ไฟของอัลลอฮ์ที่ถูกจุดให้ลุกโชน ไฟซึ่งลุกออกมาจากหัวใจ และจะลุกไหม้คลุมหัวใจทั้งหลาย และจะไหม้จากด้านในสู่ด้านนอก ต่างไปจากไฟบนโลกนี้ที่ลุกไหม้จากด้านนอกไปสู่ด้านใน

ประเด็นสำคัญ

ทำไมบรรดาศาสดาจึงต้องอาศัยการแสดงอภินิหารด้วย

เป็นที่ประจักษ์ว่าการเลือกสรรผู้มาดำรงตำแหน่งศาสดา เป็นการเลือกสรรที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งพระองค์จะมอบให้ผู้สะอาดบริสุทธิ์บางคนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ามีผู้คนมากมายกล่าวอ้างด้วยความมดเท็จว่าตนเป็นศาสดา และใช้ประโยชน์จากคำกล่าวอ้างนั้น

ประชาชนไม่สามารถยอมรับคำกล่าวอ้างทั้งหมดเหล่านั้นได้ เนื่องจากจะทำให้เกิดความยุ่งยากลำบาก แล้วยังจะทำให้ศาสนาของพระเจ้าเป็นเพียงภาพลักษณ์ที่แสดงออกมาชั่วขณะหนึ่ง หรือถ้าไม่ยอมรับสิ่งใดเลยก็จะส่งผลให้เป็นผู้หลงทาง และล้าหลัง

ดังนั้น เหตุผลหลักของการแต่งตั้งบรรดาศาสนทูต จึงจำเป็นต้องมีสัญลักษณ์บ่งบอก เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ความจริงของพวกเขา ฉะนั้น โดยหลักการแล้วศาสดาทุกองค์จำเป็นต้องมีอภินิหาร เพื่อยืนยันความสัตย์จริงในการเป็นศาสดา

จากคำว่า อภินิหาร (มุอ์ญิซะฮ์) เป็นที่ชัดเจนว่าบรรดาศาสดาต้องมีอำนาจทำสิ่งที่พ้นญาณวิสัย และอยู่เหนืออำนาจของมนุษย์โดยทั่วไป ซึ่งพวกเขาไร้ความสามารถกระทำในสิ่งเหล่านั้นได้

อัลกุรอานคือความมหัศจรรย์อันเป็นอมตะของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)‎

บรรดาอภินิหารที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แสดง อัลกุรอานคือสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด ในการยืนยันถึงความสัตย์จริงของท่าน เนื่องจากอัลกุรอานคือ หลักฐานที่มีชีวิตยืนยันถึงความสัตย์จริงของท่าน เป็นอภินิหารที่ยิ่งใหญ่ อัลกุรอานเป็นความมหัศจรรย์ที่พูดได้ เป็นอมตะ เป็นสากล และมีจิตวิญญาณ

บรรดาศาสดาก่อนหน้านี้ต่างได้แสดงอภินิหารกันทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าอภินิหารของท่านไม่อาจพูดได้ ซึ่งศาสดาท่านต่อมาจะเป็นผู้ทำให้สิ่งเหล่านั้นสมบูรณ์ ต่างไปจากอัลกุรอานซึ่งถือว่าเป็นอภินิหารที่เป็นอัมตะ ไม่ต้องการผู้แนะนำ อัลกุรอานเชิญชวนให้มนุษย์ทั้งหลายมาสู่ และท้าทายผู้ปฏิเสธให้มาต่อสู้กับตน ทำการตัดสิน และออกจากสนามรบด้วยชัยชนะ ด้วยเหตุนี้ แม้กาลเวลาจะผ่านไปหลายศตวรรษ นับตั้งแต่ท่านศาสดาได้สิ้นชีพลง แต่เหมือนกับว่ายังอยู่ในสมัยของท่าน อัลกุรอานยังคงท้าทายประชาชาติอยู่เสมอ ทั้งด้านศาสนา ความมหัศจรรย์ ตัวบทกฎหมาย หลักฐานแห่งตัวบทกฎหมาย วิชาการอันสูงส่งของอัลกุรอาน โลกทัศน์ด้านสังคมศาสตร์ กฎหมายและธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุดในการดำเนินชีวิต ประวัติศาสตร์ ทางนำสำหรับมนุษยชาติ ทำนองเดียวกันด้านสำนวนโวหาร ความสวยงามด้านวรรณกรรมที่เจริญสูงสุด ซึ่งจนถึงปัจจุบันมนุษย์ไม่สามารถประดิษฐ์คัมภีร์ที่คล้าย ‎หรืออยู่ในระดับเดียวกันกับอัลกุรอานได้

ความเป็นอมตะอันสากลของ อัลกุรอาน

อัลกุรอาน ทำลายพรมแดนทั้งเวลาและสถานที่ ดังเช่นที่อัลกุรอานได้ปรากฏภาพลักษณ์ท่ามกลางสังคมที่มืดมนของอาหรับเมื่อ 1400 กว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังคงปรากฏภาพนั้นแก่พวกเรา อัลกุรอานไม่ได้รับอิทธิพลของสภาพแวดล้อม สีสันแห่งกาลเวลาและสถานที่ ยังคงความโดดเด่นของตน และก้าวไปบนโลกด้วยความมั่นใจ ‎แน่นอนว่าศาสนาที่มีความเป็นสากลและเป็นอมตะ ย่อมต้องการหลักฐานที่เป็นสัจธรรมความจริง เป็นสากล และมีความเป็นอมตะด้วยเช่นกัน

ส่วนความมหัศจรรย์ด้านจิตวิญญาณ ดังจะเห็นว่าอภินิหารที่บรรดาศาสดาก่อนหน้านั้นได้แสดงไว้เพื่อยืนยันความถูกต้องในสิ่งที่ตนได้กล่าว ส่วนใหญ่เป็นอภินิหารด้านร่างกาย เช่น การรักษาคนเจ็บป่วยที่ไม่มีทางรักษาให้หาย ‎การทำให้คนตายฟื้นคืนชีพ การสนทนาของทารกที่อยู่ในเปล และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดสามารถมองเห็นด้วยตา และได้ยินด้วยหู ส่วนพจนารถของอัลกุรอาน ซึ่งผนวกเข้าด้วยคำธรรมดา แต่สามารถมีอิทธิพลในส่วนลึกของจิตใจ ทำให้จิตวิญญาณของเขาเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ และความดีงาม ยกย่องและให้เกียรติสติปัญญาเสมอภาคกับตน เป็นความมหัศจรรย์เดียวที่เกี่ยวข้องกับชีวิต สติปัญญา และจิตวิญญาณของมนุษย์ แน่นอนความมหัศจรรย์เช่นนี้ย่อมดีกว่าความมหัศจรรย์ด้านร่างกาย

อัลกุรอานเชิญชวนให้มนุษย์เผชิญหน้ากับตน

อัลกุรอานหลายบทเชิญชวนให้มนุษย์เผชิญหน้ากับตน เช่น

‎1. อัลกุรอาน บทอัล-อิสรออ์ โองที่ 88 กล่าวว่า จงกล่าวเถิด มุฮัมมัด แน่นอนหากมนุษย์ และญินรวมกันที่จะนำมาเช่นอัลกุรอาน พวกเขาไม่อาจนำมาเช่นนั้นได้ และแม้ว่าบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้ช่วยเหลือแก่อีกบางคนก็ตาม

‎2. อัลกุรอาน บทฮูด โองที่ 13 กล่าวว่า หรือพวกเขากล่าวว่า เขา (มุฮัมมัด) ได้ปลอมแปลงอัลกุรอานขึ้นมา (มุฮัมมัด) ‎จงกล่าวเถิด ดังนั้น พวกท่านจงนำมาสักสิบบทที่ถูกปลอมแปลงขึ้นให้ได้อย่างอัลกรุอาน และพวกท่านจงเรียกผู้ที่มีความสามารถในหมู่พวกท่านอื่นจากอัลลอฮ์ (ให้มาช่วย) ถ้าพวกท่านเป็นพวกสัตย์จริง (แต่ถ้าพวกเขาไม่รับคำเชิญพึงสังวรไว้เถิดว่า โองการเหล่านี้มาจากพระเจ้า)‎

‎3. อัลกุรอาน บทยูนุส โองที่ 38 กล่าวว่า หรือพวกเขากล่าว่า เขา (มุฮัมมัด) เป็นผู้ปั้นแต่งขึ้น จงกล่าวเถิด พวกท่านจงนำกลับมาสักบทหนึ่งเยี่ยงนั้น และจงเรียกร้องผู้ที่พวกท่านสามารถนำมาได้ นอกจากอัลลอฮ์ หากพวกท่านเป็นผู้สัตย์จริง

อัลกุรอาน ท้าทายด้วยความมั่นใจอย่างตรงไปตรงมา ต่อประชาชาติทุกคนที่มีความคลางแคลงใจในอัลกุรอาน ให้มาเผชิญหน้ากับตน มิใช่เชิญชวนเพียงอย่างเดียว ทว่าสนับสนุนในเชิงของการท้าทายอีกต่างหาก เช่น กล่าวว่า พวกท่านจงนำสิ่งที่ถูกปลอมแปลงเยึ่ยงอัลกรุอานมาแสดง ถ้าพวกท่านเป็นพวกสัตย์จริง หรือกล่าวว่า พวกท่านจงนำกลับมาสักบทหนึ่งเยี่ยงนั้น หากท่านเป็นพวกสัตย์จริง

ประโยคที่กล่าวว่า และจงเรียกผู้ที่มีความสามารถอื่น นอกจากอัลลอฮ์มา หมายถึงนอกจากอัลลอฮ์แล้ว ใครก็ได้จงเชิญชวนมา ถึงแม้ว่ามนุษย์และญินจะรวมกัน หรือผู้คนทั้งโลกจะร่วมมือกัน ก็ไม่สามารถทำได้โดยเด็ดขาด ดังนั้น ‎จงระวังไฟนรก ซึ่งเชื้อเพลิงของมันเป็น มนุษย์ (คนบาป) และหิน (รูปปั้น)‎

ประโยคที่กล่าวว่า ถ้าเจ้าไม่ทำ และจะไม่มีวันทำได้เด็ดขาด เป็นการกระตุ้นเตือนพร้อมกับท้าทายอย่างรุนแรง ซึ่งการเผชิญหน้าดังกล่าว มิใช่เป็นการเผชิญหน้าทางด้านสำนวนโวหารภาษาอาหรับ หรือด้านศาสนาเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โองการมิได้จำกัดอยู่แค่กาลเวลา และสถานที่อันเฉพาะเจาะจง ทว่าท้าทายประชาชาติทั้งหมด และทุกองค์สำนักคิดให้มาเผชิญหน้ากับอัลกุรอานโดยไม่มีการละเว้น และยังคงท้าทายอยู่จนถึงทุกวันนี้

จะนำสิ่งที่คล้ายเหมือนอัลกุรอานจากที่ใด

ถ้าหากพิจารณาประวัติศาสตร์อย่างละเอียดถี่ถ้วน จะสามารถคลี่คลายความสงสัยได้อย่างแท้จริง เนื่องจากภายในประเทศอิสลามทั้งในสมัยของท่านศาสดาและหลังจากนั้น หรือแม้กระทั่งในมักกะฮฺและมะดีนะฮ์ จะมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ และยูดายที่มีอคติอยู่เต็มไปหมด ชนเหล่านี้คอยโอกาสที่จะสร้างความอ่อนแอให้กับอิสลามอยู่ตลอดเวลา และจะหยิบฉวยโอกาสทุกเมื่อ นอกจากชนพวกนี้แล้วยังมีมุสลิมไม่จริงใจ ซึ่งอัลกุรอานเรียกชนพวกนี้ว่า มุนาฟิกีน (พวกหน้าไหว้หลังหลอก) แฝงตัวอยู่ในสังคมอีกเป็นจำนวนมาก ทำหน้าที่เป็นสายลับสืบข้อมูลให้กับเจ้านายเหนือหัวของพวกเขา ดังนั้น จะเห็นว่าทั้งพวกนอกศาสนาและพวกมุนาฟิกีนต่างจ้องมองหาจุดอ่อนของอิสลาม สิ่งใดก็ตามเป็นความเสื่อมเสียของอิสลามแล้วละก็ พวกเขาจะประโคมข่าวและโฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่หยุดหย่อน ฉะนั้น ถ้าพวกเขาพบจุดอ่อนหรือความบกพร่องของอัลกุรอาน พวกเขาจะไม่มีวันนิ่งเฉยอย่างเด็ดขาด ‎จะทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายเกียรติของอัลกุรอานให้สูญสิ้นไป

ดังนั้น จะเห็นว่าเพียงแค่สงสัยว่าเขาผู้นั้นต่อต้านอัลกุรอาน เขาจะถูกเสนอตัวให้เป็นผู้เผชิญหน้ากับ อัลกุรอานทันที ประวัติศาสตร์บันทึกนามเหล่านั้นเอาไว้ เช่น อับดุลลอฮ์ บุตรของ มุกอฟฟะอ์ เขาได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า อัดดุรเราะฮ์ อัลยะตีมะฮ์ โดยกล่าวอ้างว่าเป็นหนังสือวิจารณ์อัลกุรอาน

หนังสือดังกล่าวอยู่ในมือของเรา และถูกตีพิมพ์แล้วหลายครั้ง เมื่อพิจารณาหนังสือแล้ว จะเห็นว่าแม้เพียงจุดเล็ก ๆ ‎หนังสือเล่มดังกล่าว ก็ไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงประเด็นที่กำลังสนทนาอยู่ แต่เป็นเพราะเหตุใดจึงได้กล่าวพาดพิงไปถึงเขาว่าเป็นผู้วิจารณ์อัลกุรอาน

มุตะนับบา (อะฮ์มัด บุตรของ ฮุเซน กูฟีย์) นักกวีชื่อดัง ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อ้างตนว่าเป็นศาสดา ขณะที่มีเครื่องหมายจำนวนหมายยืนยันถึงคำกล่าวอ้างของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรำพันถึงความทุกข์ยากของครอบครัวของเขา มิได้เกี่ยวข้องกับอัลกุรอานแต่อย่างใด

อบุลอะลาอ์ เช่นกันถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้วิจารณ์อัลกุรอาน จริงอยู่แม้ว่าเขาจะพูดจาเสียดสีอิสลามอยู่บ้าง แต่ไม่เคยเรียกร้องว่าจะเผชิญหน้ากับอัลกุรอาน ทว่าเขากล่าวยกย่องความยิ่งใหญ่ของอัลกุรอานด้วยประโยคที่สวยหรูเสียด้วยซ้ำ

ส่วน มุซัยละมะฮ์ กัซซาบ ชาวยะมามะฮ์ เป็นหนึ่งในผู้เรียกร้องการเผชิญหน้ากับอัลกุรอาน เขาแต่งบางประโยคภาษาอาหรับและอ้างว่าสิ่งนั้นเป็นโองการ เช่น บางประโยคที่เรียนแบบ บทซาริยาตว่า

وَ الْمُبَذِّرَاتِ بَذْرًا وَ الْحَاصِدًاتِ حَصْدًا وَ الذَّارِيَاتِ قُمْحًا وَ الطَّاحِناَتِ طَحْناً وَ الْعَاجِناَتِ عَجْناً وَ ‏الْخَابِزَاتِ خُبْزًا وَالثاَّرِدَاتِ ثَرْدًا وَ اللاَّقِمَاتِ لُقْمًا اِهَالَةً وَ سَمْنًا‎ .‎

หมายถึง ขอสาบานต่อหมู่บ้านและเกษตรกรรม สาบานต่อผู้อยู่ห่างไกล สาบานต่อผู้แยกข้าวสาลีออกจากนา สาบานต่อผู้ทำแป้ง สาบานต่อผู้ทำขนนปัง สาบานต่อผู้คลางแคลง สาบานต่อผู้กินคำใหญ่ และคำที่อ่อนนิ่ม

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม