เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 25 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 25 จากบทอัลบะกอเราะฮ์


وَ بَشرِ الَّذِينَ ءَامَنُوا وَ عَمِلُوا الصلِحَتِ أَنَّ لهَُمْ جَنَّتٍ تجْرِى مِن تحْتِهَا الاَنْهَرُ كلَّمَا رُزِقُوا مِنهَا مِن ‏ثَمَرَةٍ رِّزْقاً قَالُوا هَذَا الَّذِى رُزِقْنَا مِن قَبْلُ وَ أُتُوا بِهِ مُتَشبِهاً وَ لَهُمْ فِيهَا أَزْوَجٌ مُّطهَّرَةٌ وَ هُمْ فِيهَا خَلِدُونَ‎ ‎‎‎

 

ความหมาย

‎25. และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธา และประกอบความที่ดีทั้งหลายว่า แน่นอนสำหรับพวกเขาคือสวนสวรรค์หลากหลาย ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ณ เบื้องล่าง คราใดที่ได้ให้ผลไม้จากสวนนั้นเป็นเครื่องยังชีพแก่พวกเขา ‎พวกเขากล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ได้เคยให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่เรามาก่อน (แต่มันดีกว่ามาก) และพวกเขาถูกประทานให้คล้ายคลึงกัน (ดีและสวยงาม) และสำหรับพวกเขาในนั้นคือคู่ครองที่บริสุทธิ์ และพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป

คำอธิบาย

โองการก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงการลงโทษอย่างรุนแรงของบรรดากาฟิร และผู้ปฏิเสธอัลกุรอาน ส่วนโองการนี้ ‎กล่าวถึงรางวัลของมวลผู้ศรัทธา อันดับแรกกล่าวว่า และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธา และประกอบความที่ดีทั้งหลายว่า แน่นอนสำหรับพวกเขาคือสวนสวรรค์หลากหลาย ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ณ เบื้องล่าง

ทราบหรือเปล่าว่าสวนต่าง ๆ ที่ไม่มีน้ำไหลตลอดเวลา บางครั้งต้องอาศัยน้ำจากภายนอก เพื่อราดต้นไม้เหล่านั้น ซึ่งการกระทำเหล่านั้นไม่สามารถให้ผลผลิตที่แน่นอนได้ การให้ผลผลิตที่แน่นอนคือ สวนที่มีน้ำไหลเป็นประจำสม่ำเสมอ เป็นน้ำที่ไหลออกมาจากสวนชนิดที่ไม่มีวันขาด ความแห้งแล้งไม่อาจสร้างความเสื่อมเสียแก่สวนได้ ‎และนี่คือสวนแห่งสรวงสวรรค์

ดังนั้น นอกจากโองการจะกล่าวถึงผลไม้ต่าง ๆ ในสวนแล้ว ยังกล่าวอีกว่า คราใดที่ได้ให้ผลไม้จากสวนนั้นเป็นเครื่องยังชีพแก่พวกเขา พวกเขากล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ได้เคยให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่เรามาก่อน (แต่มันดีกว่ามาก)‎

นักอธิบายอัลกุรอาน อธิบายประโยคดังกล่าวแตกต่างกัน

บางคนกล่าวว่า จุดประสงค์ของความโปรดปรานเหล่านี้ เนื่องจากการกระทำที่ได้กระทำไว้บนโลกก่อนหน้านั้น ‎เหมือนกับเป็นการตระเตรียมไว้ก่อนหน้า

บางคนกล่าวว่า หมายถึงการให้ผลไม้สวรรค์แก่พวกเขาอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงกล่าวว่า นี่คือสิ่งที่ได้เคยให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่เรามาก่อน แต่เมื่อพวกเขารับประทานผลไม้ จะพบว่าเป็นรสชาติใหม่ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน เช่น ผลแอปเปิล หรือองุ่นที่เคยรับประทานบนโลกนี้ ทุกครั้งที่รับประทานจะมีรสชาติเหมือนเดิม แต่ผลไม้สวรรค์แม้ว่าภายนอกจะดูเหมือนกัน แต่เมื่อรับประทานจะพบว่าเป็นรสชาติใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งสิ่งนี้เป็นความพิเศษของโลกนั้นที่ไม่มีความซ้ำซาก

บางคนกล่าวว่า จุดประสงค์คือเมื่อพวกเขาเห็นผลไม้สวรรค์ พวกเขาได้เปรียบเทียบกับผลไม้บนโลก เพื่อระลึกถึงความจำที่ผ่านมา แต่เมื่อพวกเขารับประทานจึงรู้สึกว่าเป็นรสชาติใหม่ที่อร่อยกว่า

ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใดที่จะกล่าวว่า ประโยคข้างต้นมีความหมายตามที่นักอรรถาธิบายอัล- กุรอานอธิบายไว้ ‎เนื่องจากบางครั้งคำของอัลกุรอานก็ให้ความหมายในทำนองนี้

หลังจากนั้นกล่าวว่า ผลไม้ที่นำมาให้พวกเขาคล้ายคลึงกัน หมายถึงทั้งหมดดีและสวยงามเหมือนกันทั้งสิ้น ซึ่งไม่สามารถจำแนกได้เลยว่าชนิดใดดีกว่ากัน ประเภทใดมีความหอมมากกว่า หวานมากกว่า หรือน่าสนใจมากกว่า

สรุป ความโปรดปรานสุดท้ายแห่งสรวงสวรรค์ที่โองการกล่าวถึง คือคู่ครองที่บริสุทธิ์ กล่าวว่า และสำหรับพวกเขาในนั้นคือคู่ครองที่บริสุทธิ์ และพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป

สะอาดบริสุทธิ์จากความโสมมทั้งหลายบนโลก และสะอาดทั้งจิตวิญญาณ และร่างกาย

ประเด็นสำคัญ

ความศรัทธากับการกระทำ

โองการอัลกุรอานส่วนมากเมื่อกล่าวถึง ความศรัทธาและการกระทำ จะกล่าวเคียงคู่กัน ในลักษณะที่ว่าทั้งสองไม่อาจแยกออกจากกันได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น เนื่องจากทั้งสองคือความสมบูรณ์ของกันและกัน

ความศรัทธา ถ้าแฝงอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ แน่นอนจะสะท้อนให้เห็นทางการกระทำ ซึ่งจะทำให้การกระทำบริสุทธิ์ผุดผ่อง อีกนัยหนึ่งความศรัทธาเปรียบเสมือนดวงประทีปที่จุดสว่างอยู่ภายในจิตใจ และจะส่องแสงสว่างออกมาทางหน้าต่างของจิต ลักษณะเช่นนี้เรียกว่าดวงประทีปสว่างไสวด้วยความศรัทธาในจิตใจมนุษย์ ซึ่งจะฉายแสงผ่านดวงตา หู ลิ้น มือ และเท้าทำให้เห็นความสะอาดบริสุทธิ์ของเขาชัดเจนขึ้น

โดยแก่นแท้แล้วความศรัทธาคือรากเหง้า ส่วนการกระทำดีคือผลไม้ที่แตกออกมา ความหวานชื่นของผลไม้แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แข็งแรงของรากไม้ ความสมบูรณ์แข็งแรงของรากไม้ เป็นสาเหตุของการล่อเลี้ยงที่เป็นประโยชน์กับผลไม้ และให้การยึดเหนี่ยวที่แข็งแรงแก่ต้นไม้ บุคคลที่ไม่ศรัทธาบางครั้งก็ทำความดี แต่จะไม่เสมอไป จะกระทำเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น แน่นอนสิ่งที่เป็นหลักประกันของการทำความดีคือ ความศรัทธาที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ ซึ่งจะคอยกระตุ้นเตือนให้มนุษย์สำนึกในหน้าที่ของตนตลอดเวลา

คู่ครองที่บริสุทธิ์

สิ่งที่น่าสนใจตรงนี้คือ คุณสมบัติประการเดียวของคู่ครองในสรวงสวรรค์ที่โองการกล่าวถึงคือ ความสะอาดบริสุทธิ์ ‎ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่เป็นเงื่อนไขประการแรกของภรรยาคือ ความสะอาดบริสุทธิ์ ส่วนคุณสมบัติอื่น ‎ๆ ถือว่าเป็นรองที่อยู่ภายใต้คุณสมบัติดังกล่าว ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า

اِيَّاكُمْ وَ خَضْرَاءَ الدَّمْنِ قِيْلَ ياَ رَسُوْلَ اللهِ وَ مَا خَضْرَاءِ الدَّمْنِ ؟ قَالَ الْمَرْئَةِ الْحَسْنَاءُ فِى مَنْبَتِ السُّوْءِ‏

จงหลีกเลี่ยงพืชสีเขียวที่ขึ้นอยู่บนกองขยะ มีผู้ถามว่า โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ จุดประสงค์ของพืชดังกล่าวคืออะไร ท่านกล่าวว่า หมายถึงสตรีที่มีความสวยงามแต่เติบโตมาจากครอบครัวที่สกปรก

ความโปรดปรานทั้งที่เป็นวัตถุและจิตวิญญาณในสวรรค์

แม้ว่าโองการมากมายจะกล่าวถึงความโปรดปรานด้านวัตถุแห่งสรวงสวรรค์ แต่เคียงข้างความโปรดปรานเหล่านั้น ‎ได้กล่าวถึงความโปรดปรานด้านจิตวิญญาณที่มีความสำคัญมากกว่า เช่น โองการที่ 72 บท อัตเตาบะฮฺ กล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงสัญญา แก่ผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงว่า สำหรับพวกเขาคือสวนสวรรค์หลากหลาย ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ณ เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป มีที่พำนักที่สะอาดบริสุทธิ์ในสวรรค์อันสถาพร ซึ่งความพอพระทัยแห่งอัลลอฮ์สูงส่งและยิ่งใหญ่กว่า และนี่คือชัยชนะอันใหญ่หลวง

จากโองการจะเห็นว่าความพึงพอพระทัย และความปราโมทย์ของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นความโปรดปรานด้านจิตวิญญาณมีความยิ่งใหญ่มากกว่า

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม