เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 26 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 26 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 


ِانَّ اللَّهَ لا يَستَحْىِ أَن يَضرِب مَثَلاً مَّا بَعُوضةً فَمَا فَوْقَهَا فَأَمَّا الَّذِينَ ءَامَنُوا فَيَعْلَمُونَ أَنَّهُ الْحَقُّ مِن ‏رَّبِّهِمْ وَ أَمَّا الَّذِينَ كفَرُوا فَيَقُولُونَ مَا ذَا أَرَادَ اللَّهُ بِهَذَا مَثَلاً يُضِلُّ بِهِ كثِيراً وَ يَهْدِى بِهِ كَثِيراً وَ مَا يُضِلُّ ‏بِهِ إِلا الْفَسِقِينَ‎

 

ความหมาย

‎26. แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงละอายที่จะเปรียบอุทาหรณ์ใด ๆ จะเป็นยุงหรือสิ่งที่เล็กยิ่งกว่านั้น ฉะนั้น ส่วนบรรดาผู้ศรัทธาพวกเขารู้ดีว่า แท้จริงมันคือสัจธรรมจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และส่วนบรรดาผู้ปฏิเสธพวกเขากล่าวว่า ‎อัลลอฮฺทรงประสงค์สิ่งใดจากอุทาหรณ์นี้ พระองค์ทรงปล่อยให้คนส่วนมากหลงโดยอุทาหรณ์นั้น และทรงนำทางแก่คนส่วนมากโดยอุทาหรณ์นั้น แต่พระองค์ไม่ทรงปล่อยให้ผู้ใดหลงโดยอุทาหรณ์นั้น เว้นแต่ผู้ฝ่าฝืน

 

สาเหตุของการประทาน

นักอรรถาธิบายอัลกุรอานส่วนใหญ่ รายงานจากอิบนิอับบาซถึงสาเหตุของการประทานโองการว่า บรรดาพวกกลับกลอก (มุนาฟิก) มีความคลางแคลง ดังตัวอย่างที่กล่าวว่า อุทาหรณ์ของพวกเขา อุปมาประหนึ่งผู้ที่จุดไฟขึ้น.....อุปมาประหนึ่งสายฝนที่หลั่งลงมาจากฟากฟ้า พวกเขามีความคลางแคลงใจในการเป็นวะฮ์ยูของอัล-กุรอาน ขณะนั้นโองการดังกล่าวได้ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นคำตอบแก่พวกเขา

บางคนกล่าวว่า เมื่อโองการอุปมา เหมือนกับยุง แมงมุมหรือสิ่งที่เล็กยิ่งกว่านั้นถูกประทานลงมา บรรดาผู้ตั้งภาคีทั้งหลายได้หาข้อแอบอ้าง และล้อเลียนท่านศาสดาว่า อุปมาเหมือนยุงหรือแมงมุมเช่นนี้ จะเป็นวะฮ์ยูแห่งฟากฟ้าได้อย่างไร หลังจากนั้นโองการข้างต้นจึงประทานลงมาเพื่อเป็นคำตอบแก่พวกเขา

คำอธิบาย อัลลอฮ์ทรงยกตัวอย่างด้วยหรือ

ตัวอย่างเป็นเพียงสื่อที่แสดงให้เห็นรูปร่างของความเป็นจริง เนื่องจากบางครั้งผู้พูดอยู่ในตำแหน่งของการทำให้ขายหน้า เสียเกียรติ หรืบรรยายความอ่อนแอของผู้กล่าวอ้างภาษา สำนวนและโวหาร เพื่อแสดงความอ่อนแอของพวกเขา จึงเลือกสิ่งที่ง่ายที่สุดเพื่อเป็นตัวอย่าง ตัวอย่างในโองการที่ 73 บทอัลฮัจญ์ กล่าวว่า โอ้มนุษย์เอ๋ย ! อุทาหรณ์หนึ่งถูกยกมากล่าวไว้แล้ว ดังนั้น พวกเจ้าจงฟังให้ดี แท้จริงบรรดาที่พวกเจ้าวิงวอนขอความช่วยเหลืออื่นจากอัลลอฮ์ ‎เหล่านั้นไม่สามารถจะให้บังเกิดแม้แต่แมลงวันสักตัวหนึ่ง หากว่าพวกเขาจะรวมหัวกันเพื่อการนั้นก็ตาม และถ้าแมลงวันพาสิ่งใดหนีไปจากพวกเขา พวกเขาก็ไม่สามารถจะเอามันกลับคืนมาได้จากแมลงวัน ทั้งผู้ขอและผู้ถูกขออ่อนแอแท้ยิ่ง

หากพิจารณาจะพบว่าไม่มีตัวอย่างใดดีไปกว่าแมลงวัน เพื่อให้มองเห็นภาพความอ่อนแอ และไร้ความสามารถของพวกเขาชัดเจนยิ่งขึ้น

หรือการเปรียบเทียบบรรดาพวกที่ประดิษฐ์รูปปั้นเพื่อสักการบูชา ว่าเหมือนกับแมงมุม เนื่องจากบ้านที่อ่อนแอที่สุดบนโลกนี้คือ บ้านของแมงมุม ดังโองการที่ 41 บทอังกะบูต กล่าวว่า อุปมาบรรดาผู้ที่ยึดเอาอื่นจากอัลลอฮฺ เป็นผู้คุ้มครองอุปไมยดั่งแมงมุมที่ชักใยทำรัง แท้จริงรังที่บอบบางที่สุดคือ รังของแมงมุม หากพวกเขารู้

จุดประสงค์ของประโยคที่ว่า ที่เล็กยิ่งกว่านั้น (‎فما فوقها‎) หมายถึง ยุง หรือสิ่งที่เล็กกว่า นักอรรถาธิบายได้อธิบายไว้ 2 ลักษณะดังนี้

บางคนกล่าวว่า จุดประสงค์ของที่เล็กยิ่งกว่า หรือสูงกว่า เนื่องจากสถานภาพดังกล่าว เป็นการอธิบายสถานภาพที่เล็กยิ่งกว่า และดีกว่า เหมือนกับเวลาที่พูดว่า ทำไมคุณถึงต้องลำบากมากเลยแค่เงินเพียงบาทเดียว ไม่อายหรือ เขาตอบว่า ไม่อายหรอกฉันพร้อมที่จะลำบากยิ่งกว่านี้อีกเสียด้วยซ้ำ แม้เพียงแค่สลึงเดียวก็ตาม

บางคนกล่าวว่า จุดประสงค์ของที่เล็กยิ่งกว่า หรือสูงกว่า หมายถึง อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงอธิบายทั้งสิ่งที่เล็กและใหญ่กว่าตามความเหมาะสมของกาลเวลา แต่คำอธิบายแรกนั้นเหมาะสมมากกว่า

ประเด็นสำคัญ

การให้ความสำคัญต่อตัวอย่างในการอธิบายความจริง

ตัวอย่างที่มีความเหมาะสม ถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงทีไม่อาจปฏิเสธได้ ถึงการอธิบายความจริงให้เป็นที่กระจ่าง และบังเกิดความประทับใจ

บางครั้งการกล่าวถึงตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียวที่เหมาะสม ทำให้หนทางที่จะเข้าใกล้ความจริงชัดเจนมากยิ่งขึ้น ‎ประหนึ่งว่าอุปสรรคต่าง ๆ ค่อยเลือนหายไป ไม่ต้องยุ่งยากทั้งผู้พูดและผู้ฟังต่อการอธิบายในเชิงปรัชญา

สิ่งที่สำคัญ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อส่วนรวมสำหรับประเด็นปัญหาที่มีความยุ่งยาก ไม่มีสิ่งใดมีความเหมาะสมเกินไปกว่าการยกตัวอย่างประกอบ อิทธิพลของตัวอย่างสามารถหยุดความคิด และทำให้บางคนที่ชอบหาข้ออ้างไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้

ด้วยเหตุนี้เอง อัลกุรอานจึงยกตัวอย่างประกอบมากมาย เมือกล่าวกับประชาชาติ ซึ่งแต่ละตัวอย่างมีผลต่อกันและกัน เนื่องจากอัลกุรอานเป็นคัมภีร์สำหรับทุกหมู่ชนในระดับความคิดที่แตกต่างกัน เป็นคัมภีร์ที่เป็นที่สิ้นสุดของสำนวนและโวหารทั้งหลาย

ทำไมอัลกุรอานจึงยกตัวอย่างยุง

แม้ว่าบรรดาพวกปฏิเสธ จะพยายามเยอะเย้ยถึงตัวอย่างยุง หรือแมลงวันที่อัล-กุรอานกล่าวถึง และทำการท้วงติงอัลกุรอานในรูปแบบต่าง ๆ ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงถ้าหากพวกเขาพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม และใคร่ครวญถึงสัตว์ที่มีขนาดเล็ก พวกเขาจะเข้าใจโครงสร้างและความละเอียดอ่อนของโลกทันที สติปัญญาของเขาจะพบกับความตื่นเต้น

อิมามซอดิก (อ.) กล่าวถึงการสร้างสัตว์ที่เล็กเหล่านี้ว่า พระเจ้าทรงยกตัวอย่างยุง หรือถ้าพิจารณาด้านสรีระแล้วเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมาก แต่ถ้าพิจารณาโครงสร้างของสรีระ ยุงมีอวัยะทุกส่วนที่เหมือนกับสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง ‎นอกจากนั้นแล้วยุงยังมีปีก และมีหมาดคอยดูดเลือดที่ช้างไม่มี สิ่งเหล่านี้ยังไม่ท้าทายสติปัญญาของมนุษย์อีกหรือ

พระเจ้าทรงประสงค์ที่จะอธิบายความมหัศจรรย์ แห่งการสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่แก่มวลผู้ศรัทธา เพื่อให้พวกเขาได้ใตร่ตรองถึงสรรพสิ่งที่อ่อนแอ ซึ่งพระองค์ทรงนำไปไปเปรียบเทียบกับสัตว์ที่มีความแข็งแรง เช่น ช้าง เพื่อให้มนุษย์คิดถึงความยิ่งใหญ่แห่งการสร้างสรรค์

อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า แม้ว่าสรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกจะร่วมมือกัน พวกเขาก็ไม่สามารถสร้างได้แม้ยุงสักตัวหนึ่ง ทว่าสติปัญญาของพวกเขาต้องพบกับความตื่นเต้น และความเหนื่อยล้า ในความเร้นลับ และพลังความสามารถของการสร้างสัตว์เหล่านี้ ในที่สุดหลังจากได้พยายาม พวกเขาก็พบกับความพ่ายแพ้ และสารภาพว่า ‎พวกเราไร้ความสามารถแม้การสร้างยุงสักตัวหนึ่ง

การชี้นำและการทำให้หลงทางของพระเจ้า

การชี้นำและการหลงทางในอัลกุรอาน มิได้หมายถึง การบังคับในการเลือกสรรสิ่งถูกหรือสิ่งผิด ทว่าแหล่งกำเนิดของการชี้นำและการหลงทาง ขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์เป็นหลัก เนื่องจากทุกการกระทำที่มนุษย์ได้กระทำ ‎ย่อมมีผลที่เฉพาะตัว ถ้าเป็นความดีงามผลก็ออกมาดี การได้รับทางนำไปสู่พระเจ้า และการกระทำของเขาก็ย่อมดีขึ้นไปตามลำดับ อัล-กุรอาน โองการที่ 29 บท อัลอัมฟาล กล่าวว่า บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากพวกเจ้ายำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์จะประทานสิ่งจำแนกระหว่างความจริงและความเท็จแก่พวกเจ้า และทรงลบล้างบรรดาความผิดของพวกเจ้าออกจากพวกเจ้า า และทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้า

ถ้าสูเจ้าคอยติดตามความชั่ว หัวใจของเจ้าก็จะมีแต่ความมืดบอดและมือมนยิ่งนัก อีกทั้งจะนำพาพวกเจ้าไปสู่การทำบาปมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดสูเจ้าก็จะกลายเป็นผู้ปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า อัลกุรอาน โองการที่ 10 บทอัรรูม กล่าวว่า แล้วบั้นปลายของบรรดาผู้กระทำความชั่วก็คือความชั่ว ถึงขั้นที่ว่าพวกเขาจะปฏิเสธต่อสัญญาณทั้งหลายของอัลลอฮ์ ‎และพวกเขาเย้ยหยันมัน

ด้วยเหตุนี้ การเลือกแนวทางที่ดีหรือไม่ดีอันดับแรกอยู่ในการเลือกสรรของเรา ซึ่งความจริงประการนี้สติปัญญาของมนุษย์ทุกคนต่างยอมรับ หลังจากนั้นต้องรอคอยผลแห่งการกระทำที่ได้ก่อขึ้น

สรุป การชี้นำและการหลงทางในอัลกุรอาน มิได้หมายถึงการบังคับให้เลือกแนวทางที่ดีหรือไม่ดี ทว่าการชี้นำหมายถึง การเก็บรวมรวมสื่อที่นำไปสู่ความผาสุก ส่วนการหลงทาง หมายถึง การทำลายสื่อในการช่วยเหลือให้พบกับความสุข โดยที่ไม่ได้มีการบีบบังคับแต่อย่างใด

จุดประสงค์ของคำว่า ฟาซีกีน หมายถึง บุคคลที่ออกนอกแนวทางของความเป็นบ่าว และการไม่แสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า เนื่องจากคำว่า ฟะซะเกาะ ในเชิงภาษาหมายถึง เม็ดอินทผลัมได้ออกมาข้างนอกผลอินทผลัม ต่อมาคำ ๆ นี้มีความหมายกว้างขึ้น จึงถูกนำมาใช้กับบุคคลที่ออกนอกแนวทางการเคารพภักดีต่อพระเจ้า

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม