เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 28-29 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 28-29 จากบทอัลบะกอเราะฮ์


كَيْف تَكْفُرُونَ بِاللَّهِ وَ كنتُمْ أَمْوَتاً فَأَحْيَكُمْ ثُمَّ يُمِيتُكُمْ ثُمَّ يحْيِيكُمْ ثُمَّ إِلَيْهِ تُرْجَعُونَ

 هُوَ الَّذِى خَلَقَ لَكُم ‏مَّا فى الأَرْضِ جَمِيعاً ثُمَّ استَوَى إِلى السمَاءِ فَسوَّاهُنَّ سبْعَ سمَوَت وَ هُوَ بِكلِّ شىْء عَلِيمٌ‎

 

ความหมาย

‎28. สูเจ้าจะปฏิเสธอัลลอฮ์ได้อย่างไร ขณะที่สูเจ้าปราศจากชีวิต แล้วพระองค์ทรงให้สูเจ้ามีชีวิต หลังจากนั้นพระองค์จะทรงให้สูเจ้าตาย แล้วจะทรงให้สูเจ้ามีชีวิตอีก และสูเจ้าจะถูกนำกลับไปสู่พระองค์

‎29. พระองค์คือผู้ทรงบันดาลสรรพสิ่งทั้งมวล ณ แผ่นดินสำหรับสูเจ้า หลังจากนั้นทรงมุ่งสู่ฟากฟ้า และพระองค์ทรงลำดับขึ้นเป็นเจ็ดชั้นฟ้า และพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง

คำอธิบาย ชีวิตคือความโปรดปรานที่เร้นลับ

อัลกุรอาน 2 โองการข้างต้น กล่าวถึงความโปรดปรานของพระเจ้า และความมหัศจรรย์ในการสร้าง สรรค์ ซึ่งชี้นำมนุษย์ไปสู่การรู้จัก พระผู้อภิบาลผู้ทรงยิ่งใหญ่ โดยอ้างอิงเหตุผลการรู้จักพระเจ้า ไปที่โองการที่ 21และ 22 ของบทนี้

อัลกุรอาน ณ ที่นี้พิสูจน์การมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า โดยเริ่มจากประเด็นที่ไม่มีผู้ใดสามารถปฏิเสธได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวคือ ชีวิตกับการดำรงชีพ

อัลกุรอาน เตือนมนุษย์ว่า ก่อนหน้านี้พวกเจ้าไม่ได้แตกต่างไปจากก้อนหิน ท่อนไม้ สรรพสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายที่ตายแล้ว เจ้าไม่มีท่าทีว่าจะมีชีวิตขึ้นมาได้ แต่ขณะนี้พวกเจ้ามีชีวิต มีอวัยวะ มีกลไกลต่าง ๆ ในการทำงาน มีความรู้สึก และรับรู้ได้ ไม่มีสิ่งใดบนโลกนี้ที่จะยุ่งยาก และสลับซับซ้อนเหมือนกับชีวิต และการดำรงชีพ เนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านความรู้ และธรรมชาตินั้นมนุษย์สามารถค้นพบได้ตัวเอง ดังที่ประจักษ์ว่าปัจจุบันมีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายบนโลกนี้ แต่ปัญหาหนึ่งที่มนุษย์ไม่สามารถค้นพบได้คือ ชีวิต ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นความสลับซับซ้อน นักวิชาการจำนวนหลายร้อยล้านคนพยายามศึกษาเกี่ยวกับชีวิต แต่จนกระทั่งปัจจุบันไม่มีผู้ใดเข้าใจได้ว่าชีวิตคืออะไร

เป็นไปได้ไหมที่ไม่มีบุคคลใดสามารถนำเอาปรากฏการอันสูงส่ง ที่แฝงเร้นด้วยความละเอียดอ่อน ซึ่งต้องอาศัยความรู้และพลังอำนาจ ไปสัมพันธ์กับธรรมชาติ ซึ่งตัวมันเป็นสิ่งไรัชีวิต ณ จุดนี้เองเราจึงกล่าวว่าชีวิตของโลกซึ่งเป็นธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ เป็นเหตุผลที่ดีที่สุดต่อการพิสูจน์การมีอยู่จริงของพระเจ้า ดังนั้น การรำลึกถึงความโปรดปราน จึงเป็นสาเหตุทำให้ระลึกถึงเหตุผลที่ชัดเจนอีกประการหนึ่ง อันได้แก่ ความตาย อัลกุรอานกล่าวว่า หลังจากนั้นพระองค์จะทรงให้สูเจ้าตาย

แน่นอนผู้ทรงให้ชีวิตก็คือ ผู้ทรงให้ความตาย อัลกุรอานโองการที่ 2 บท อัล มุลก์ กล่าวว่า พระผู้ทรงให้ความตายและชีวิต จะทดสอบพวกเจ้าว่า ผู้ใดบ้างในหมู่พวกเจ้าที่มีผลงานดียิ่ง และพระองค์เป็นผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงให้อภัยเสมอ

อัลกุรอานหลังจากกล่าวถึงเหตุผลอันชัดแจ้งถึงการมีอยู่ของพระเจ้าแล้ว กล่าวถึงเรื่องการฟื้นคืนชีพ (มะอาด) หรือการมีชีวิตอีกครั้งหลังจากความตาย กล่าวว่า แล้วจะทรงให้สูเจ้ามีชีวิตอีก

แน่นอนว่าการมีชีวิตอีกครั้งหลังจากความตายไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าพิจารณาถึงเหตุผลประการแรกกล่าวคือ การให้ชีวิตแก่สรรพสิ่งที่ไร้ชีวิต ฉะนั้น การยอมรับการมีชีวิตอีกครั้งหลังจากผุสลายไปแล้ว มิใช่เพียงแค่ไม่มีปัญหาเท่านั้น ทว่ายังง่ายกว่าตอนแรกเสียด้วยซ้ำ (แม้ว่าความง่ายดาย หรือความยุ่งยากจะไม่เป็นปัญหาสำหรับสภาวะการมีอยู่ที่ไร้ขอบเขตจำกัดก็ตาม)‎

ตอนท้ายโองการกล่าวว่า และสูเจ้าจะถูกนำกลับไปสู่พระองค์ จุดประสงค์ของการกลับไปยังพระผู้อภิบาลหมายถึง ‎การกลับไปยังความโปรดปรานของพระองค์ กล่าวคือ ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และวันแห่งการสอบสวน เป็นวันแห่งการย้อนกลับไปยังความโปรดปรานของพระองค์

อาจเป็นไปได้ที่ว่า จุดประสงค์คือ สรรพสิ่งทั้งมวลกำลังดำเนินไปสู่ความสมบูรณ์ โดยเริ่มต้นจากการไม่มีหรือสูญ ‎ไปสู่การไม่มีที่สิ้นสุดอันได้แก่ อาตมันบริสุทธิ์ของพระผู้ทรงอภิบาล ด้วยเหตุนี้ ความตาย จึงมิใช่เป็นการยุติความสมบูรณ์ ในวันแห่งการสอบสวนมนุษย์จะกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ในระดับที่สูงกว่าและดำเนินสู่ความสมบูรณ์ของตนต่อไป

ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นอย่างชัดเจนว่า มนุษย์ และคุณค่าของเขาเมื่อเทียบกับการมีอยู่ของสรรพสิ่งอื่นบนหน้าแผ่นดินแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงได้บทสรุปว่า มนุษย์นี้เองที่พระผู้เป็นเจ้าบรรจงสร้างพวกเขาขึ้นมาด้วยความประณีต ‎เพื่อพระบัญชาที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณค่า พระองค์ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งขึ้นมาเพื่อมนุษย์ และมนุษย์คิดบ้างหรือไม่ว่าพระองค์ทรงสร้างพวกเขาขึ้นมาเพื่อสิ่งใด แน่นอน มนุษย์คือ สรรพสิ่งที่สูงส่งที่สุดบนจักรวาลที่กว้างไพศาล และเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่สุด
คำว่า อิซตะวา ( ‎استوى‎ ) มาจากรากศัพท์ของคำว่า อิซตะวา ( ‎استوا‎) หมายถึง การครอบครอง หรือการควบคุมสมบูรณ์ การมีอำนาจเหนือสรรพสิ่งถูกสร้าง การบริบาล ส่วนคำว่า ซุมมะ ในประโยคที่กล่าวว่า

‎(‎ثُمَّ استَوَى إِلى السمَاءِ‎) มิได้ให้ความหมายว่า ล่าช้าแห่งกาลเวลา ทว่าสามารถกล่าวได้ว่า เป็นการล่าช้าในการอธิบาย และการกล่าวถึงความสัตย์จริงหลังจากนั้น

ประเด็นสำคัญ

การเวียนว่ายตายเกิดกับการกลับมาของวิญญาณ

โองการข้างต้น ปฏิเสธเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการเวียนว่ายตายเกิดเชื่อว่าหลังจากตายไปแล้วมนุษย์จะกลับมาเกิดและมีชีวิตใหม่อีกครั้งบนโลกนี้ เพียงแต่วิญญาณของเขาจะสถิตบนร่างใหม่ และเริ่มชีวิตใหม่บนโลกนี้ ซึ่งเรื่องนี้อาจเกิดซ้ำกันหลายครั้ง เรียกว่าการเวียนว่ายตายเกิดหรือการกลับมาใหม่ของวิญญาณ

โองการข้างต้นกล่าวว่า หลังจากตายไปแล้ว ไม่ได้มีชีวิตมากกว่าหนึ่ง แน่นอนชีวิตนั้นคือ ชีวิตหลังการฟื้นคืนชีพ ‎หรือชีวิตหลังการจบสิ้นของโลก หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่ามนุษย์ทุกคนมีสองชีวิตและสองความตาย กล่าวคือ ตอนแรกเจ้านั้นตาย หมายถึงในโลกของการมีอยู่เจ้าเป็นสิ่งไร้ชีวิต หลังจากนั้นพระเจ้าได้ให้เจ้ามีชีวิต และให้เจ้าตาย ‎และให้เจ้ามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งถูกต้อง มนุษย์จะต้องมีชีวิตและความตายมากกว่าสองครั้ง

ดัวยเหตุนี้ ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด หรือบางครั้งเรียกอีกอย่างว่า การกลับมาของวิญญาณ ซึ่งในทัศนะของอัล-กุรอานถือว่าโมฆะ

ท้องฟ้าเจ็ดชั้น

คำว่า ซะมาอฺ ในเชิงภาษาหมายถึงด้านบน แต่ในความเข้าใจนั้นมีองค์ประกอบหลายประการเข่น

บางครั้ง กล่าวถึงด้านบนที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไป อัล-กุรอานโองการที่ 24 บทอิบรอฮีมกล่าวว่า อุปมาคำพูดที่ดีดั่งต้นไม้ที่ดี รากของมันฝังแน่นลึกมั่นคง และกิ่งก้านของมันชูขึ้นไปในท้องฟ้า

บางครั้ง กล่าวถึงพื้นที่ ๆ ที่ห่างไกลพื้นดินออกไปเป็นเขตแดนของกลุ่มเมฆทั้งหลาย อัล-กุรอาน บทก็อฟ โองการที่ ‎‎9 กล่าวว่า และเราได้ให้น้ำฝนหลั่งลงมาจากฟากฟ้าเป็นที่จำเริญ

บางครั้ง กล่าวถึงชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก เช่น บทอัมบิยาอฺ โองการที่ 32 กล่าวว่า และเราได้ทำให้ชั้นฟ้าเป็นหลังคา ถูกรักษาไว้ไม่ให้หล่นลงมา

บางครั้ง กล่าวถึงไอที่ลอยอยู่ด้านบน เช่น บทฟุซซิลัต โองการที่ 11 กล่าวว่า แล้วพระองค์ทรงมุ่งสู่ฟากฟ้าขณะที่มันเป็นไอหมอก

จุดประสงค์ของท้องฟ้า 7 ชั้น หมายถึงอะไร มีคำอธิบายที่แตกต่างกัน

‎1. บางคนกล่าวว่า ท้องฟ้าเจ็ดชั้น หมายถึงกลุ่มดาวนพเคราะห์ ทั้ง 7 (ดาวพุธ ศุกร์ โลก อังคาร เสาร์ เนปจูน และพลูโต) ซึ่งตามความเชื่อของนักวิชาการกล่าวว่า ระบบสุริยะจักรวาลก็ถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวนพเคราะห์เหมือนกัน

‎2. บางคนกล่าว่า หมายถึงชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก ซึ่งมีความแตกต่างกันในลักษณะที่ซ้อนกันอยู่เป็นชั้น

‎3. บางคนกล่าวว่า จำนวน 7 ในที่นี้ไม่ใช่จำนวนเฉพาะ แต่หมายถึงจำนวนที่บ่งบอกถึงความมากมาย ดังนั้นคำว่า 7 ‎ในที่นี้ จึงไม่ได้หมายถึงจำนวนเจ็ด มาตรว่านำมหาสมุทรทั้งหมดมารวมกันก็ไม่สามารถอธิบายความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์ได้ ด้วยเหตุนี้ คำว่าท้องฟ้าทั้งเจ็ดจึงบ่งบอกถึงท้องฟ้าจำนวนมากมาย ที่อยู่เหนือขึ้นไป มิได้หมายถึงจำนวนที่เฉพาะเจาะจง

‎4. บางคนกล่าว่า จากความหมายของโองการสรุปได้ว่า ทั้งหมดที่เราเห็นอยู่ไม่ว่าจะเป็นระบบสุริย จักรวาล กลุ่มดาวฤกษ์ หรือดาวนพเคราะห์ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของท้องฟ้าชั้นแรกเท่านั้น ซึ่งยังมีอีก 6 โลกที่นอกเหนือไปจากท้องฟ้าที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอยู่เหนือความรู้และสื่อของความรู้ในปัจจุบัน โลกทั้งเจ็ดหรือเรียกอีกอย่างว่าท้องฟ้า 7 ‎ชั้น เหตุผลที่ยืนยันคำกล่าวอ้างดังกล่าวคือ อัล-กุรอานบท ฟุซซิลัต โองการที่ 12 กล่าวว่า ดังนั้นพระองค์ทรงสร้างให้สำเร็จเป็นชั้นฟ้าเจ็ดชั้นในระยะเวลา 2 วัน และทรงกำหนดหน้าที่ในทุกชั้นฟ้า และทรงประดับท้องฟ้าแห่งโลกนี้ด้วยดวงดาวทั้งหลาย และทรงคุ้มกัน ( ให้พ้นจากชัยฏอน ) นั่นคือ การกำหนดแห่งพระผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงรอบรู้

แต่ที่กล่าวว่ามีท้องฟ้าอีก 6 ชั้น ยังเป็นที่คลางแคลงอยู่ อาจเป็นไปได้ว่าในวันข้างหน้าวิชาการอาจค้นหาสิ่งเหล่านี้ได้ ด้วยเหตุนี้ วิชาการที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์เมื่อก้าวหน้าไปมากเท่าใด ก็ยิ่งพบกับความอัศจรรย์ใหม่ ๆ ในการสร้างของพระองค์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม