เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 30-31-32-33 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 30-31-32-33 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 


وَ إِذْ قَالَ رَبُّك لِلْمَلَئكَةِ إِنى جَاعِلٌ فى الأَرْضِ خَلِيفَةً قَالُوا أَ تجْعَلُ فِيهَا مَن يُفْسِدُ فِيهَا وَ يَسفِك الدِّمَاءَ وَ ‏نحْنُ نُسبِّحُ بحَمْدِك وَ نُقَدِّس لَك قَالَ إِنى أَعْلَمُ مَا لا تَعْلَمُونَ 

وَ عَلَّمَ ءَادَمَ الأَسمَاءَ كلَّهَا ثُمَّ عَرَضهُمْ ‏عَلى الْمَلَئكَةِ فَقَالَ أَنبِئُونى بِأَسمَاءِ هَؤُلاءِ إِن كُنتُمْ صدِقِينَ 

قَالُوا سبْحَنَك لا عِلْمَ لَنَا إِلا مَا عَلَّمْتَنَا إِنَّك ‏أَنت الْعَلِيمُ الحَْكِيمُ ‏
‏ قَالَ يَئَادَمُ أَنبِئْهُم بِأَسمَائهِمْ فَلَمَّا أَنبَأَهُم بِأَسمَائهِمْ قَالَ أَ لَمْ أَقُل لَّكُمْ إِنى أَعْلَمُ غَيْب السمَوَتِ وَ الأَرْضِ وَ ‏أَعْلَمُ مَا تُبْدُونَ وَ مَا كُنتُمْ تَكْتُمُونَ

ความหมาย

‎30. จงรำลึกเมื่อพระผู้อภิบาลของเจ้าตรัสแก่มลาอิกะฮ์ว่า แท้จริงฉันจะตั้งผู้ปกครองคนหนึ่ง ณ แผ่นดิน บรรดามลาอิกะฮ์ต่างทูลว่า พระองค์จะทรงตั้งผู้ก่อการเสียหายขึ้นและหลั่งเลือด ณ แผ่นดินกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พวกเราถวายสดุดี ด้วยการสรรเสริญพระองค์ และเทิดทูนความบริสุทธิ์แด่พระองค์ พระองค์ตรัสว่า แท้จริงฉันรู้ดีในสิ่งที่สูเจ้าไม่รู้

‎31. และพระองค์ได้ทรงสอนนามทั้งหลาย (วิชาการเกี่ยวกับความเร้นลับในการสร้าง และการตั้งชื่อสรรพสิ่ง) แก่อาดัม หลังจากนั้นทรงเสนอสิ่งเหล่านั้นแก่มลาอิกะฮ์ และตรัสว่า จงบอกชื่อสิ่งเหล่านั้นแก่ฉัน ถ้าสูเจ้าเป็นผู้พูดจริง

‎32. พวกเขาทูลว่า มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ เราไม่มีความรู้ใดนอกจากที่พระองค์ได้ทรงสอนเรา แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ

‎33. พระองค์ตรัสว่า โอ้อาดัม จงบอกชื่อของสิ่งเหล่านั้นแก่พวกเขา ดังนั้น เมื่ออาดัมได้บอกชื่อสิ่งเหล่านั้นแก่พวกเขา พระองค์ตรัสว่า ฉันไม่ได้บอกแก่สูเจ้าดอกหรือว่า แท้จริงฉันรู้ดียิ่ง ซึ่งสิ่งเร้นลับแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และฉันรู้ดียิ่งสิ่งที่สูเจ้าเปิดเผย และสิ่งที่สูเจ้าปิดบัง

คำอธิบาย มนุษย์คือตัวแทนพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน

โองการก่อนหน้านี้กล่าวถึงความโปรดปรานทั้งหลายที่พระเจ้าทรงสร้างเพื่อมนุษย์ ส่วนโองการต่อไปนี้พระองค์ตรัสถึงความเป็นผู้นำและการเป็นตัวของมนุษย์ เนื่องจากจิตวิญญาณที่สูงส่งเขาจึงมีความเหมาะสมกับความโปรดปรานนั้น

โองการต่อไปนี้พระเจ้าต้องการอธิบายการสร้างอาดัม (มนุษย์คนแรก) ซึ่งจากโองการที่ 30 - 39 เป็นต้นไปพระองค์ตรัสถึงประเด็นสำคัญหลัก 3 ประการดังต่อไปนี้

‎1. พระผู้อภิบาล ทรงแจ้งข่าวเรื่องตัวแทนและการเป็นผู้นำของมนุษย์บนหน้าแผ่นดิน แก่บรรดามลาอิกะฮ์

‎2. ทรงมีบัญชาแก่มวลมลาอิกะฮ์ให้แสดงความนอบน้อมต่อความยิ่งใหญ่ของมนุษย์คนแรก

‎3. ทรงอธิบายถึงสภาพการดำรงชีวิตของอาดัม ณ สวรรค์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาดัม อันเป็นสาเหตุทำให้อาดัมต้องออกจากสวรรค์แห่งนั้น หลังจากนั้นทรงอธิบายถึงการกลับตัวกลับใจ และการดำเนินชีวิตของท่านกับบุตรหลานบนหน้าแผ่นดิน

โองการแรกที่กำลังกล่าวถึง อันดับแรกกล่าวว่า พระประสงค์ของพระเจ้าคือ ทรงประสงค์เพื่อการสร้างสิ่งมีชีวิต ให้เป็นตัวแทนของพระองค์ขึ้นบนโลก โดยให้มีคุณสมบัติคล้ายพระองค์ มีฐานันดรที่สูงกว่ามวลมลาอิกะฮฺ และทรงปรารถนาให้ความโปรดปรานทั้งมวลของพระองค์ ทั้งในฟากฟ้า แผ่นดิน และพื้นน้ำอยู่ในอำนาจของเขา

ดังนั้น บุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติต่างไปจากมนุษย์ทั่วไป เช่น สติปัญญา จิตใต้สำนึก การรับรู้ และความสามารถที่เป็นพิเศษเหนือคนอื่น เพื่อจะได้รับหน้าที่ชี้นำมวลสรรพสิ่งอื่นบนหน้าแผ่นดิน

ด้วยเหตุนี้ อันดับแรกพระองค์ตรัสว่า แท้จริงฉันจะตั้งผู้ปกครองคนหนึ่ง ณ แผ่นดิน

เคาะลิฟะฮฺ หมายถึง ตัวแทน ดังที่นักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับว่าจุดประสงค์ของ เคาะลิฟะตุลลอฮฺ คือตัวแทนของพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน เนื่องจากข้อท้วงติงที่มลาอิกะฮ์ได้ทักท้วงพระเจ้า พระองค์จะทรงตั้งผู้ก่อการเสียหายขึ้นและหลั่งเลือด ณ แผ่นดินกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พวกเราถวายสดุดี ด้วยการสรรเสริญพระองค์ และเทิดทูนความบริสุทธิ์แด่พระองค์ ซึ่งเป็นประโยคที่เข้ากันกับความหมายที่กล่าว เนื่องจากตัวแทนของพระเจ้าจะไม่ก่อความเสียหายเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงประสงค์จะสร้างตัวแทนขึ้นหน้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้มีความเกียรติยศเหนือคนอื่น และมีความเหมาะสมกับการเป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน

อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่าบรรดามลาอิกะฮ์ จึงรู้ว่าสถานภาพของอาดัม ซึ่งเขาและลูกหลานของเขามีความเหมาะสม ‎และมีความประเสริฐกว่าในการเป็นตัวแทน เป็นเหตุผล และเป็นข้อพิสูจน์ของพระองค์ สำหรับมวลสรรพสิ่งบนหน้าแผ่นดิน

หลังจากนั้น กล่าวว่า บรรดามลาอิกะฮ์ได้ทูลถามเพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับความจริงนั้น มิใช่เป็นการทักท้วง ‎โองการเน้นว่า พระองค์จะทรงตั้งผู้ก่อการเสียหายขึ้นและหลั่งเลือด ณ แผ่นดินกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พวกเราถวายสดุดี ด้วยการสรรเสริญพระองค์ และเทิดทูนความบริสุทธิ์แด่พระองค์ แต่พระเจ้าทรงตอบข้อสงสัยของพวกเขาอย่างฉับพลันว่า ฉันรู้ดีในสิ่งที่สูเจ้าไม่รู้

บรรดามลาอิกะฮ์ คิดว่าถ้าเป้าหมายของพระองค์ในการตั้งตัวแทนคือ การแสดงความเคารพภักดี พวกเราก็ปฏิบัติอยู่แล้ว และทำได้ดีอีกต่างหาก พวกเราพร้อมที่จะสลายเนื่องจากการเคารพภักดีต่อพระองค์ และพวกเรามีความเหมาะสมในการเป็นเคาะลิฟะฮฺมากกว่าคนอื่น แต่สิ่งที่มลาอิกะฮ์คิดไม่ถึงคือ การแสดงความเคารพภักดีของพวกเขาปราศจากกิเลศตัณหา โหมะ โทสะ และโลภะ และความต้องการทั้งปวง ต่างไปจากการแสดงความเคารพภักดีของมนุษย์ที่มีทั้งอารมณ์ ความต้องการ และความโทสะคอยควบคุม อีกทั้งซาตานมารร้ายคอยยุแหย่รอบด้าน ดังนั้น ‎การแสดงความเคารพภักดีของสองสรรพสิ่งจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

บรรดามลาอิกะฮ์ ไม่เคยทราบว่าจากเชื้อสายของศาสดาอาดัม จะมีศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ เช่น ท่านมุฮัมมัด อิบรอฮีม นูฮฺ มูซา (อ.)อีซา และอิมามผู้บริสุทธิ์แห่งอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ตลอดจนปวงบ่าวที่เป็นกัลยาณชน ชะฮีด บุรุษ และสตรี ซึ่ง่ทั้งหมดเหล่านี่ล้วนเป็นผู้จงรักภักดี และเจริญรอยตามแนวทางของพระเจ้า และปวงบ่าวที่บางครั้ง ความคิดของเขาเพียง 1 ชั่วโมง เท่ากับการแสดงความเคารพภักดีของมลาอิกะฮ์ 1 ปี

มลาอิกะฮ์กับการทดสอบ

ศาสดาอาดัม (อ.) มีความสามารถพิเศษที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า สำหรับการรับรู้ความจริง และพระองค์ได้แสดงความสมารถพิเศษนั้นให้เป็นรูปธรรม ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า วิชาการเกี่ยวกับความเร้นลับในการสร้าง และการตั้งชื่อสรรพสิ่งทั้งหมด ได้ถูกสอนแก่อาดัม แน่นอนว่า การรับรู้วิชาการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่สำหรับอาดัม

อิมามซอดิก (อ.) อธิบายโองการว่า จุดประสงค์คือ พื้นดิน ภูเขา มหาสมุทร แม่น้ำ ลำคลอง สรรพสิ่งทั้งมวลบนโลกนี้ หลังจากนั้น อิมามมองไปที่พรมที่ปูอยู่ใต้เท้าและกล่าวว่า แม้กระทั่งพรมก็เป็นหนึ่งในความรู้ที่พระเจ้าทรงสอนต่ออาดัม

ด้วยเหตุนี้ ความรู้เรื่องนามต่าง ๆ ของสรรพสิ่ง ไม่เหมือนกับความรู้เกี่ยวกับคำ หรือคำพูด ทว่าสิ่งนั้นเกี่ยวข้องกับปรัชญา ความเร้นลับ สถานภาพ และคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของสรรพสิ่งเหล่านั้น ซึ่งพระเจ้าทรงสอนให้อาดัมรู้ เพื่อว่าจะได้ใช้ประโยชน์ในการสร้างความสมบูรณ์ให้กับตน ทั้งด้านวัตถุและจิตวิญญาณ

ทำนองเดียวกัน พระเจ้าทรงประทานความสามารถในการตั้งชื่อสรรพสิ่งทั้งหลายแก่อาดัม เพื่อจะได้สามารถตั้งชื่อสรรพสิ่งเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ ปัจจุบันถ้าศึกษาข้อมูลด้านนี้จะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์มีล้วนได้รับมาจากตำรา หรือการจดบันทึกของชนก่อนหน้านั้น การทำเช่นนี้ก็เพื่อการตั้งชื่อสรรพสิ่งทั้งหลาย มิเช่นนั้นแล้วไม่มีความจำเป็นอันใด ที่ความรู้ของคนสมัยก่อนจะต้องถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลัง

หลังจากนั้นพระเจ้าตรัสแก่มวลมลาอิกะฮ์ว่า ถ้าพวกเจ้าพูดจริง จงบอกชื่อสรรพสิ่งที่พวกเจ้าเห็นต่อข้าเถิด อธิบายถึงความเร้นลับ และขั้นตอนการเกิดของสิ่งเหล่านั้นแก่ข้าซิ หากมลาอิกะฮฺไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น พวกเขาจึงไม่ผ่านการทดสอบ สุดท้ายพวกเขาทูลต่อพระเจ้าว่า มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ เราไม่มีความรู้ใด ๆ นอกจากที่พระองค์ได้ทรงสอนเรา แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ

ถ้าหากเราถามพระองค์เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น เนื่องจากพวกเราไม่รู้ เราไม่เคยอ่านที่ใดมาก่อน พวกเราไม่เคยรับรู้ถึงวิทยปัญญาของอาดัม ซึ่งเป็นความพิเศษที่มีอยู่เหนือพวกเรา เป็นความชอบธรรมแล้วที่อาดัม มีสิทธิเป็นเคาะลิฟะฮฺของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน แน่นอนถ้าหากโลกนี้ปราศจากอาดัมจะปราศจากความสมบูรณ์ทันที

ณ บัดนี้อาดัมได้แสดงวิชาการของตนต่อหน้ามวลมลาอิกะฮ์ ท่านเริ่มอธิบายนามของมวลสรรพสิ่ง และความเร้นลับของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เหล่ามลาอิกะฮฺยอมรับในความรู้ที่กว้างขวางของอาดัม และเป็นที่เปิดเผยสำหรับพวกเขาว่า เฉพาะอาดัมเท่านั้น ที่มีความเหมาะสมในการเป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน

ประโยคที่กล่าวว่า และฉันรู้ดียิ่งสิ่งที่สูเจ้าเปิดเผย และสิ่งที่สูเจ้าปิดบัง บ่งบอกว่าบรรดามลาอิกะฮ์รู้เฉพาะสิ่งที่ตนเปิดเผยออกมาเท่านั้น บางคนกล่าวว่า ประโยคนี้บ่งบอกถึง ความยโสโอหังของมารร้ายซาตาน ซึ่งในวันนั้นอยู่แถวเดียวกันกับมลาอิกะฮ์ ซาตานตัดสินใจว่าเขาจะไม่ยอมนอบน้อมแก่อาดัมอย่างเด็ดขาด

พระเจ้าสอนความรู้แก่อาดัมได้อย่างไร

สิ่งที่ควรพิจารณาถึงคือ การสอน ณ ที่นี้เป็นตักวีนีย์ หมายถึงเป็นภารกิจของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว พระองค์ทรงนำความรอบรู้สอดใส่ไว้ในอาดัม หลังจากช่วงเวลาหนึ่งได้ทำให้สิ่งนั้นเป็นความเชื่อ นอกจากนั้นการใช้คำว่า ตะอฺลีม ‎ในอัล-กุรอานเป็นการตะอฺลีมในลักษณะตักวีนียฺ บางโองการกล่าวว่า (‎علمه البيان‎)พระเจ้าทรงสอนการอธิบายแก่มนุษย์ เป็นที่แน่นอนว่า การสอนพระเจ้าทรงประทานไว้ในการสร้างของพระองค์ และสิ่งนั้นคือความสามารถและความพิเศษแห่งธรรมชาติ ที่พระองค์ทรงมอบแด่มนุษย์ เพื่อว่าเขาจะได้สามารถพูดได้

อีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ มลาอิกะฮ์เป็นสิ่งถูกสร้างพิเศษของพระองค์ ซึ่งไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะเรียนรู้วิชาการเหล่านั้น พระองค์ทรงสร้างมลาอิกะฮฺเพื่อเป้าหมายและวัตถุประสงค์อื่น มิใช่วัตถุประสงค์ดังกล่าว ‎ด้วยเหตุนี้ มวลมลาอิกะฮ์หลังจากถูกทดสอบแล้ว จึงได้ประจักษ์ความจริง และยอมรับ แต่อาจเป็นไปได้ว่า ตอนแรกมลาอิกะฮฺอาจคิดว่าพวกตนมีความพร้อมสำหรับเป้าหมายดังกล่าว แต่หลังจากทดสอบแล้ว ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างมลาอิกะฮฺกับอาดัมอย่างเชัดเจน

ถ้าหากจุดประสงค์ของ ความรู้เกี่ยวกับนามอันประเสริฐหมายถึง ความเร้นลับในการสร้างสรรค์แล้วทำไมคำสรรพนาม (ฮุม) ในประโยค (‎ثم عرضهم‎)และประโยคที่กล่าวว่า (‎اسمائهم‎)หรือ ( ‎هؤ لاء‎)ซึ่งคำสรรพนามเหล่านี้จะใช้กับสิ่งที่มีสติปัญญา แต่กลับถูกนำมาใช้ในที่นี้

ตอบว่า ไม่ใช่เสมอไปที่คำสรรพนามตามกล่าวข้างต้นต้องใช้กับสิ่งมีสติปัญญา ทว่าบางครั้งใช้ได้ทั้งสิ่งที่มีสติปัญญาและไม่มีสติปัญญา และบางครั้งใช้กับสิ่งที่ไม่มีสติเพียงอย่างเดียว เช่น ศาสดายูซุฟกล่าวถึงดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โอ้พ่อจ๋า! แท้จริงฉันฝันเห็นดวงดาวสิบเอ็ดดวง ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ฉันฝันเห็นพวกมันซุญูดต่อฉัน (ยูซุฟ 4)‎

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม