เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

‎ คำอธิบายโองการที่ 34- 35- 36 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


คำอธิบายโองการที่ 34- 35- 36 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

وَ إِذْ قُلْنَا لِلْمَلَئكَةِ اسجُدُوا لاَدَمَ فَسجَدُوا إِلا إِبْلِيس أَبى وَ استَكْبرَ وَ كانَ مِنَ الْكَفِرِينَ (34) وَ قُلْنَا يَئَادَمُ ‏اسكُنْ أَنت وَ زَوْجُك الجَْنَّةَ وَ ُكلا مِنْهَا رَغَداً حَيْث شِئْتُمَا وَ لا تَقْرَبَا هَذِهِ الشجَرَةَ فَتَكُونَا مِنَ الظلِمِينَ ‏‏(35) فَأَزَلَّهُمَا الشيْطنُ عَنهَا فَأَخْرَجَهُمَا مِمَّا كانَا فِيهِ وَ قُلْنَا اهْبِطوا بَعْضكمْ لِبَعْض عَدُوُّ وَ لَكمْ فى ‏الأَرْضِ مُستَقَرُّ وَ مَتَعٌ إِلى حِين‎ (‎‏36‏‎)‎

ความหมาย

‎34. และจงรำลึก ขณะที่เราได้กล่าวแก่มลาอิกะฮ์ว่า พวกเจ้าจงซุญูดต่ออาดัม ดังนั้นพวกเขาได้ซุญูด นอกจากอิบลีซ ‎มันปฏิเสธ และโอหัง (เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่ง) จึงกลายเป็นผู้ปฏิเสธ (กาฟิร)‎

‎35. และเราได้กล่าว่า โอ้ อาดัม เจ้าและคู่ครองของเจ้าจงพำนักอยู่ในสวรรค์นี้ และเจ้าทั้งสองจงกินจากที่นั้น อย่างอุดมตามที่เจ้าทั้งสองปรารถนา และเจ้าทั้งสองจงอย่าเข้าใกล้ต้นไม้นี้ มิฉะนั้นเจ้าทั้งสองจะกลายเป็นผู้อธรรม

‎36. แต่ชัยฎอนได้ทำให้ทั้งสองเพลี่ยงพล้ำไปจากที่นั้น แล้วได้ทำให้ทั้งสองออกจากที่เคยอยู่ และเราได้กล่าวว่า ‎ทั้งหมดต้องลงไปสู่พื้นดิน ขณะที่บางส่วนเป็นศัตรูกับอีกบางส่วน และสำหรับสูเจ้า ณ แผ่นดินนั้นมีที่พำนัก และสิ่งอำนวยประโยชน์ชั่วเวลาหนึ่ง

คำอธิบาย อาดัมกับสวรรค์

อัลกุรอาน โองการก่อนหน้านี้กล่าวถึงฐานันดรและความสูงศักดิ์ของมนุษย์ ส่วนโองการที่จะกล่าวต่อไปนี้อธิบายในอีกลักษณะหนึ่ง

แม้ว่าตอนเริ่มต้นโองการ จะเห็นว่าโองการกล่าวถึงปัญหาการซุญูดต่ออาดัม ซึ่งมีขึ้นหลังจากการทดสอบมวลมลาอิกะฮ์ และการสอนนามอันไพจิตร แต่เมื่อพิจารณาโองการอื่นประกอบจะเห็นว่าประเด็นดังกล่าว เกิดขึ้นทันทีหลังจากการสร้างมนุษย์สมบูรณ์แล้ว และก่อนที่จะมีการทดสอบมลาอิกะฮ์

อัลกุรอาน บทอัลฮิจร์ โองการที่ 29 กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อข้าทำให้เขามีรูปร่างสมส่วน ข้าจึงเป่าวิญญาณข้าเข้าไปในตัวเขา ดังนั้น พวกเจ้าจงก้มลงซุญูดต่อเขา

เหตุผลสำหรับคำกล่าวอ้างอีกประการหนึ่งคือ คำสั่งให้ซุญูด เกิดขึ้นหลังจากการรู้จักตำแหน่งอาดัมแล้ว ซึ่งไม่เป็นเกียรติยศอันใดแก่มลาอิกะฮ์อีกต่อไป เนืองจากในเวลานั้นตำแหน่งของอาดัมเป็นที่เปิดเผยสำหรับมลาอิกะฮฺทุกองค์

อย่างไรก็ตาม โองการข้างต้นเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันถึงเกียรติยศ ความสูงศักดิ์ และตำแหน่งอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์หลังการสร้างเสร็จสมบูรณ์ อันเป็นสาเหตุทำให้มวลมลาอิกะฮ์ทั้งหมดยอมศิโรราบ แน่นอนสำหรับบุคคลที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ และเป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน มีความสามารถสมบูรณ์ ‎และอบรมบุตรหลานให้มีตำแหน่งสูงส่ง เฉกเช่น บรรดาศาสดาทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศาสดามุฮัมมัด ‎และตัวแทนของท่าน ถือว่า คู่ควรต่อการให้ความเคารพยกย่องในทุกรูปแบบ

ประเด็นสำคัญ

เพราะเหตุใดอิบลีซจึงฝ่าฝืน

คำว่า ชัยฏอน ในเชิงภาษาอาหรับ จัดว่าเป็นคำนามของประเภท (อิซมุลญินซ์) ซึ่งรวมซาตานตนแรก และซาตานทั้งหมด ส่วนคำว่า อิบลีซ เป็นนามเฉพาะที่บ่งบอกถึง ซาตานมารร้ายที่แสดงความยโสต่ออาดัม อัลกุรอานกล่าวว่า ‎ซาตานมารร้ายตนนี้ไม่ได้จัดอยู่ในประเภทของมลาอิกะฮ์ เพียงแต่อยู่ในแถวเดียวกับมลาอิกะฮ์เท่านั้น เป็นซาตานที่จัดอยู่ในประเภทของญิน เป็นสิ่งถูกสร้างประเภทวัตถุ วิสัยทัศน์ของซาตานต่อการแสดงตนฝ่าฝืนคือ ความยโสโอหัง และอคติอย่างรุนแรงที่ครอบงำความคิด ซาตานคิดว่าตนวิเศษกว่าอาดัม และสาเหตุของการปฏิเสธคือ การไม่ยอมรับคำสั่งของพระเจ้า

ประโยคที่กล่าวว่า กานะมินัลกาฟิรีน (เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ปฏิเสธ) บ่งบอกว่า ก่อนที่จะมีคำสั่งให้ซุญูดอาดัม ‎ซาตานหลงตนเอง คิดว่าตน และการแสดงความเคารพภักดีของตนดี และวิเศษกว่าบรรดามลาอิกะฮ์ทั้งหลาย ‎ซาตานปลูกฝังความอวดดี และความยโสโอหังไว้ในความคิดของตนตลอดเวลา อาจเป็นไปได้ซาตานบอกกับตนเองว่า ถ้ามีคำสั่งให้ซุญูดอาดัม ฉันจะไม่ทำอย่างแน่นอน เนื่องจากประโยคที่กล่าวว่า และฉันรู้ดียิ่งสิ่งที่สูเจ้าเปิดเผย ‎และสิ่งที่สูเจ้าปิดบัง บ่งบอกถึงความหมายดังกล่าวอย่างชัดเจน ตัฟซีร กุมมี ตอนอธิบายโองการดังกล่าว รายงานว่าท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) อธิบายไว้เช่นนี้เหมือนกัน

ซุญูดนั้นเพื่อพระเจ้าหรืออาดัม

ไม่เป็นที่สงสัยว่า ซัจญ์ดะฮ์ในความหมายของการแสดงความเคารพภักดีนั้น เพื่อพระเจ้ามิได้หมายถึงสิ่งอื่น ด้วยเหตุนี้ไม่มีความคลางแคลงใจว่า การซุญูดของมลาอิกะฮ์ มิใช่เป็นการเคารพภักดีต่ออาดัม ทว่าเป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ อีกด้านหนึ่งเนื่องจากอาดัมเป็นสิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐ ประกอบกับซุญูดตรงนั้นหมายถึง การแสดงความนอบน้อม เนื่องจากความสมบูรณ์ของจิตวิญญาณของอาดัม และความสมบูรณ์ของศาสดาท่านอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศาดามุฮัมมัด และวงศ์วานผู้บริสุทธิ์ของท่านที่อยู่ ณ ไขสันหลังของอาดัม ทำให้คู่ควรต่อการแสดงความเคารพนับถือ

ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า การซัจญฺดะฮฺของมลาอิกะฮ์ ด้านหนึ่งเป็นการแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า อีกด้านหนึ่งเป็นการให้เกียติ และแสดงความนอบน้อมต่ออาดัมเนื่องจากพวกเราอยู่ ณ ไขสันหลังของอาดัม

สวรรค์ของอาดัมอยู่ ณ ที่ใด

สิ่งควรพิจารณาคือ สวรรค์ของอาดัม มิใช่สวรรค์ในปรโลก อันเป็นพันธะสัญญาของผู้ประพฤติคุณงามความดีทั้งหลาย แต่เป็นสวนที่เต็มไปด้วยความโปรดปราน ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ ๆ มีความเขียวขจีบนโลกนี้

เนื่องจาก สวรรค์ที่เป็นพันธสัญญาในวันแห่งการฟื้นชีพ เป็นความโปรดปรานที่เป็นอมตะนิรันดร โองการอัล-กุรอานหลายโองการกล่าวถึงความเป็นอมตะ และการพำนักในที่นั้นตลอดไป โดยไม่มีการออกจากสวรรค์เด็ดขาด

ประการที่สอง อิบลิซเป็นบ่าวที่สกปรก ปราศจากความศรัทธา จะไม่มีวันได้เข้าสวรรค์เด็ดขาด ณ ที่นั้นไม่มีเสียงยุแหย่ของซาตานมารร้าย ไม่มีการฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า

ประการที่สาม รายงานจากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) จำนวนมากมายกล่าวถึงสิ่งนี้ มีผู้ถามอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับสวรรค์ของอาดัม อิมาม กล่าวว่า เป็นสวนหนึ่งจากสวนทั้งหลายบนโลกนี้ มีแสงแดด แสงเดือนส่องสว่าง ถ้าเป็นสวรรค์นิรันดร อาดัมจะไม่ถูกขับออกจากที่นั้นเด็ดขาด

จากประเด็นนี้ทำให้รู้ว่า จุดประสงค์ของการลงมาของอาดัม เป็นการลงของตำแหน่ง มิใช่สถานที่ หมายถึงจากตำแหน่งที่มีเกียรติ และจากสวนสวรรค์ที่เขียวขจีมายังโลก

บางคนกล่าวว่า สวรรค์ของอาดัมเป็นฟ้าชั้นหนึ่ง มิใช่สวรรค์อมตะนิรันดรกาล ซึ่งรายงานอะดีซบางบทกล่าวถึงสวรรค์ที่อยู่ในฟ้าชั้นหนึ่ง ซึ่งความหมายของริวายะฮ์บ่งบอกถึงตำแหน่ง เบื้องบน มิใช่สถานที่

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานจำนวนมากบ่งบอกว่า สวรรค์นั้นมิใช่สวรรค์อมตะนิรันดรกาล เนื่องจากสวรรค์ดังกล่าว ‎เป็นจุดสมบูรณ์สุดท้ายของมนุษย์ ส่วนสวรรค์ของอาดัมเป็นจุดเริ่มต้นความสมบูรณ์ เป็นปฐมบทของการกระทำ ‎และแผนการต่าง ๆ

ความผิดของอาดัมคืออะไร

จากโองการสามารถเข้าใจได้ว่าอาดัมอยู่ในตำแหน่งที่สูงส่ง ในทัศนะของการรู้จัก และความยำเกรง ดังนั้น สิ่งที่คัมภีร์เตารอตอธิบายไว้คือ พระเจ้าทรงห้ามอาดัมจากต้นไม้แห่งวิชาการ ความเข้าใจในความดีและชั่ว จึงเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เนื่องจากพระเจ้าเป็นผู้ประทานความรู้แก่อาดัม อาดัมคือตัวแทนของพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน เป็นครูของมวลมลาอิกะฮ์ เป็นที่ซุญูดของมลาอิกะฮ์แห่งพระเจ้า และนี่คืออาดัมกับความพิเศษของท่าน แน่นอนอาดัมจะไม่ทำบาปเด็ดขาด นอกจากนั้นอาดัมเป็นศาสนทูตแห่งพระเจ้า ศาสนทูตทุกท่านสะอาดบริสุทธิ์จากความผิด ฉะนั้น สิ่งที่เกิดจากอาดัมคืออะไร

‎1. สิ่งที่อาดัมได้กระทำคือ การละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า (ตัรกุ เอาลา) หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความผิดที่สัมพันธ์ไปถึง มิใช่ตัวตนของความผิด หมายถึง ความผิดที่บุคคลใดกระทำถือเป็นบาปทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องถูกลงโทษ เช่น การตั้งภาคีกับพระเจ้า ‎การปฏิเสธ การอธรรม หรือการฉ้อโกง ส่วนความผิดที่สัมพันธ์ไปถึง หมายถึงการกระทำบางอย่างเป็นมุบาฮฺ (ไม่แตกต่างว่าจะทำหรือไม่ทำ) หรือมุซตะฮับ ซึ่งถือว่าไม่อยู่ในเกียรติยศของบุรุษผู้มีความยิ่งใหญ่ เช่น บรรดาศาสดา ‎ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงจากการกระทำดังกล่าว โดยกระทำสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ถือว่าเป็นการละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า เช่น นมาซของพวกเรา ซึ่งบางครั้งจิตใจก็สงบมั่น และบางครั้งก็ฟุ้งซ่านเป็นความเหมาะสมสำหรับเกียรติยศของเรา แน่นอนนมาซเช่นนี้ ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิมามอะลี ‎‎(อ.) เด็ดขาด นมาซของท่านต้องอยู่บนพื้นฐานของความสงบมั่น ณ พระเจ้า ถ้านอกเหนือจากนี้ไม่ถือว่าทำบาป แต่ได้ละทิ้งสิ่งที่ดีกว่า อาดัมเช่นกัน ดีกว่าถ้าท่านไม่กินผลไม้จากต้นนั้น แม้ว่าจะไม่ได้ห้ามเอาไว้ แต่เป็นสิ่งน่าเกลียดสำหรับท่าน

‎2. การห้ามของพระเจ้า ณ ที่นั้น เป็นการห้ามเพื่อแนะนำ (นะฮีย์อิรชาด) เหมือนกับคำสั่งของแพทย์ที่สั่งว่า อย่ากินอาหารนั้น เนื่องจากจะทำให้ป่วยไข้ พระเจ้าเช่นกันตรัสกับอาดัมว่า ถ้าเจ้ากินผลไม้จากต้นที่ห้ามไว้จะต้องออกจากที่นี่ และจะต้องเผชิญกับความยากลำบาก ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าอาดัมไม่ได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า ทว่าฝ่าฝืนการห้ามเพื่อชี้นำ

‎3. สวรรค์ของอาดัม ไม่ใช่สถานที่ปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นช่วงหนึ่งของการทดสอบ และการเตรียมตัวของอาดัมเพื่อมายังโลกนี้ ซึ่งการห้ามในที่นั้นเพื่อการทดสอบอย่างเดียว

จุดประสงค์ของชัยฏอนในอัลกุรอานคืออะไร

คำว่า ชัยฏอน มาจากคำว่า ชะฏะนะ (‎شطن‎) และคำว่า ชาฏิน หมายถึง ความชั่ว หรือความต่ำทราม ซึ่งชัยฏอนเป็นสิ่งมีอยู่บนความคลางแคลงและความสงสัย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ญิน หรือสิ่งมีชีวิตอื่น และให้ความหมายว่า ‎วิญญาณของความชั่วร้าย และการออกห่างจากสัจธรรมความจริง ซึ่งความหมายทั้งหมดที่กล่าวมาในมุมมองหนึ่งมีความหมายร่วมกัน

คำว่า ชัยฏอน เป็นคำนามทั่วไป (อิซมุลญินซ์) ขณะที่อิบลีซเป็นนามเฉพาะ อีกนัยหนึ่ง ชัยฏอนเป็นสรรพสิ่งหนึ่ง ที่ทำให้หลงทาง ทรยศ คลางแคลง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือมิใช่มนุษย์ ส่วนอิบลีซ เป็นชื่อของชัยฏอนที่หลอกอาดัม ‎ปัจจุบันอยู่ท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลาย

ชัยฏอน ในอัลกุรอาน แนะนำว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่ชอบกลั่นแกล้ง และเป็นอันตราย เป็นสรรพสิ่งที่ออกนอกแนวทางของสัจธรรม อยู่ในจุดของการกลั่นแกล้งสรรพสิ่งอื่น และพยายามหาบริวาร พยายามสร้างความแตกแยก และก่อความเสียหาย ดังอัลกุรอานบทมาอิดะฮ์ โองการที่ 91 กล่าวว่า ที่จริงชัยฏอนนั้นเพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรู การเกลียดชังกันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนันเท่านั้น และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และนมาซ

อีกด้านหนึ่ง ชัยฏอนมิได้ใช้สำหรับสิ่งที่เฉพาะเจาะจง ทว่ามนุษย์ที่กระทำความชั่ว ก่อความเสียหายก็ถูกเรียกว่าชัยฏอนเช่นกัน อัลกุรอาน บทอันอาม โองการที่ 112 กล่าวว่า และในทำนองนั้นแหละ เราได้ให้มีศัตรูขึ้นแก่ศาสดาทุกคนคือ บรรดาชัยฏอนมนุษย์ และญิน โดยที่บางส่วนของพวกเขาจะกระซิบกระซาบแก่อีกบางส่วน

นอกเหนือจากนี้ บางครั้งคำว่า ชัยฏอน หมายถึงตัวเชื้อโรคทั้งหลาย อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า จงอย่ากินหรือดื่มทางส่วนที่แตกร้าว หรือด้ามภาชนะ เนื่องจากชัยฏอนจะอาศัยอยู่ทางด้ามหรือรอยแตกร้าว

จากจุดนี้เป็นที่ชัดเจนว่า ชัยฏอน มีความหมายที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออิบลีซ พลพรรค และผู้ช่วยเหลือ ส่วนอีกด้านหนึ่งหมายถึงคนชั่ว ที่ก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน ผู้ที่ทำให้หลงทาง และอีกความหมายหนึ่งหมายถึง ‎เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ

พระเจ้าสร้างชัยฏอน (อิบลีซ) มาเพื่ออะไร

เป็นที่ยอมรับว่า ชัยฏอนเป็นสิ่งมีอยู่ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่เพราะเหตุใดพระเจ้าจึงสร้างชัยฏอนขึ้นมา ปรัชญาของการมีชัยฏอนคืออะไร
ประการแรก พระเจ้ามิได้สร้างชัยฏอนที่ก่อความเสียหายขึ้นมา ด้วยเหตุผลที่ว่าก่อนการสร้างอาดัมหลายปีชัยฏอนอยู่ในระดับเดียวกับมลาอิกะฮฺ บนธรรมชาติของความสะอาด ต่อมาเมื่อมีเสรีภาพมากขึ้นชัยฏอนนำเสรีภาพไปใช้ในทางที่ผิดปลูกฝังความยโสโอหัง จึงได้หันเหออกจากอ้อมอกของความสะอาดที่ทรงสร้างขึ้นมา บนความต้องการของตนเอง

ประการที่สอง บนพื้นฐานของการสร้างสรรค์การมีอยู่ของชัยฏอน มิได้เป็นอันตรายกับกลุ่มชนที่มีความศรัทธา ‎หรือกลุ่มชนที่ถวิลหาสัจธรรมความจริงแต่อย่างใด ทว่าชัยฏอนคือสื่อที่ทำให้พวกเขามีความก้าวหน้า และบังเกิดความสมบูรณ์ แม้ว่าจะเจริญเติบโตท่ามกลางความแตกต่างที่ตรงกันข้ามก็ตาม

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม