เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 41- 42- 43 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

 

وَ ءَامِنُوا بِمَا أَنزَلْت مُصدِّقاً لِّمَا مَعَكُمْ وَ لا تَكُونُوا أَوَّلَ كافِرِ بِهِ وَ لا تَشترُوا بِئَايَتى ثَمَناً قَلِيلاً وَ إِيَّىَ ‏فَاتَّقُونِ

وَ لا تَلْبِسوا الْحَقَّ بِالْبَطِلِ وَ تَكْتُمُوا الْحَقَّ وَ أَنتُمْ تَعْلَمُونَ

وَ أَقِيمُوا الصلَوةَ وَ ءَاتُوا ‏الزَّكَوةَ وَ ارْكَعُوا مَعَ الرَّكِعِينَ‎

 

 

ความหมาย

‎41 . สูเจ้าจงศรัทธาต่อสิ่งที่ฉันได้ประทานลงมา (อัลกุรอาน) เพื่อยืนยันสิ่งที่มีอยู่กับสูเจ้า และสูเจ้าจงอย่าเป็นคนแรกที่ฏิเสธสิ่งนั้น และจงอย่านำโองการทั้งหลายของฉันไปแลกเปลี่ยนด้วยราคาเพียงเล็กน้อย และเฉพาะฉันเท่านั้นที่สูเจ้าต้องสำรวมตน

‎42 . สูเจ้าจงอย่าเคล้า ความจริงด้วยความเท็จ และจงอย่าปิดบังความจริง ทั้งที่สูเจ้ารู้ดี

‎43 . สูเจ้าจงดำรงนมาซ จงจ่ายซะกาต (ทานบังคับ) และจงโค้งร่วมกับผู้โค้งทั้งหลาย (จงนมาซร่วมกัน)‎

สาเหตุของการประทานโองการ

อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า ฮัย บุตรของ อัคฏ็อบ บุตรของ วะกะอับ บุตรของ อัชรอฟ และยะฮูดีย์อีกกลุ่มหนึ่ง จะจัดงานเลี้ยงสำหรับพวกยะฮูดียฺด้วยกัน พวกเขาไม่ยอมเสียผลประโยชน์ไป แม้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากการเผยแผ่ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเปลี่ยนแปลงโองการต่าง ๆ ในคัมภีร์เตารอต ที่กล่าวเกี่ยวกับท่านศาสดา ‎และนี่คือการแลกเปลี่ยนโองการกับราคาอันเล็กน้อยที่ไร้ค่า ที่อัลกุรอานกล่าวถึง

คำอธิบาย การบูชาผลประโยชน์ของพวกยะฮูดีย์

อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์ที่รับรองคัมภีร์ที่อยู่ ณ พวกเจ้า หมายถึง คำเผยแผ่ สั่งสอน ซึ่งคัมภีร์เตารอตและบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้นได้ให้แก่ประชาชาติ และหลังจากนั้นเราจะประทานศาสดาที่มีคุณสมบัติดังกล่าวลงมาอีก ขณะนี้พวกเจ้าเห็นคุณสมบัติของศาสดา และคัมภีร์ที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งตรงตามคำสอนที่บันทึกอยู่ในคัมภีร์ของพวกเจ้า มีความสอดคล้องกัน และเพราะสาเหตุใดพวกเจ้าจึงปฏิเสธ

หลังจากนั้นกล่าวว่า และสูเจ้าจงอย่าเป็นผู้ปฏิเสธสิ่งนั้นเป็นคนแรก หมายถึงถ้าบรรดาผู้ตั้งภาคีอาหรับทั้งหลายปฏิเสธ สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด แต่สิ่งที่แปลกคือการปฏิเสธของพวกเจ้า เนื่องจากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเจ้า ได้แจ้งการปรากฏศาสดาที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไว้แล้ว และแทนที่จะเป็นผู้ศรัทธาคนแรก แต่กลับเป็นคนแรกที่ปฏิเสธ

แน่นอน บรรดายะฮูดีย์ส่วนใหญ่จะล้อเล่นกับหลักการของตนเอง ถ้าไม่มีการล้อเล่น พวกยะฮูดีย์จะศรัทธาก่อนผู้ใดทั้งหมด

คำสั่งที่ 3 กล่าวว่า สูเจ้าจงอย่านำโองการของข้าไปแลกเปลี่ยนกับราคาอันเล็กน้อย อันเป็นค่ำใช้จ่ายประจำปีที่หาค่าไม่ได้

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โองการของพระเจ้าไม่สามารถแลกกับสิ่งใดได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ประโยคดังกล่าวบ่งชี้ถึงยะฮูดีย์กลุ่มหนึ่งว่า พวกเขายอมละทิ้งคำสอนของคัมภีร์ เพื่อปกป้องผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย เมื่อพวกเขาเห็นว่ากำลังจะสูญเสียผลประโยชน์อันเล็กน้อยไป จึงยอมปฏิเสธคำเผยแผ่ของบรรดาศาสดา และยอมเปลี่ยนแปลงคำสอนของคัมภีร์

คำสั่งที่ 4 กล่าวว่า และเฉพาะความยุติธรรมของข้าเท่านั้น สูเจ้าจงยำเกรง แต่พวกเจ้าจงอย่ากลัวว่าปัจจัยยังชีพจะถูกตัด และจงอย่ากลัวว่าพวกยะฮูดีย์ที่มีอคติจะต่อต้านพวกเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงเกรงกลัวข้า หมายถึง จงกลัวที่จะฝ่าฝืนคำสั่งของข้า

คำสั่งที่ 5 กล่าวว่า พวกเจ้าจงอย่าคลุกเคล้าความจริงกับความเท็จเข้าด้วยกัน จนกระทั่งประชาชนสับสน และเข้าใจผิดพลาด อันเป็นสาเหตุนำไปสู่การหันเหออกจากความจริง

คำสั่งที่ 6 ปฏิเสธการปกปิดความจริง กล่าวว่า จงอย่าปกปิดความจริง ทั้งที่สูเจ้ารู้ดี

ทั้งการปกปิดความจริง หรือการคลุกเคล้าความจริงเข้ากับความเท็จ ล้วนเป็นบาปใหญ่ทั้งสิ้น ซึ่งบทสรุปของทั้งสองการกระทำเหมือนกัน ดังนั้น จงพูดความจริงออกมา แม้ว่าจะมีอันตรายหรือได้รับผลกระทบกระทั่งบ้างก็ตาม และจงอย่านำเอาความเท็จมาผสมผสานกับความจริงอย่างเด็ดขาด แม้ว่าผลประโยชน์ของท่านจะตกอยู่ในอันตรายก็ตาม

คำสั่งที่ 7 -8- 9 บ่งชี้ถึงเรื่องการนมาซร่วมกัน แต่รูปแบบของนมาซทั้งหมดเลือกกล่าวเฉพาะการโค้งเท่านั้น กล่าวว่า ‎พวกเจ้าจงโค้งพร้อมกับผู้โค้งทั้งหลาย การอธิบายเช่นนี้ อาจเป็นเพราะว่า นมาซของพวกยะฮูดีย์ ไม่มีการโค้ง แต่สำหรับนมาซของมุสลิม การโค้งเป็นหลักการประการหนึ่งของนมาซ จะขาดหรือหลงลืมไม่ได้เด็ดขาด

สิ่งที่สมควรพิจารณาตรงนี้คือ โองการไม่ได้กล่าวว่า จงนมาซ แต่กล่าวว่า สูเจ้าจงดำรงนมาซเถิด หมายถึง ไม่ใช่เฉพาะสูเจ้าเท่านั้นที่นมาซ แต่ท่านจะต้องปฏิบัติในลักษณะที่ว่าสังคมเห็นความสำคัญของนมาซ และทั้งหมดเข้าสู่นมาซด้วยความรักและหวงแหน

นักอรรถาธิบายบางท่านกล่าวว่า การใช้คำว่า (อะกีมู) บ่งบอกถึงว่า นมาซของท่านต้องมิใช่การรำลึกถึงพระองค์เท่านั้น ทว่าต้องทำให้สิ่งนั้นสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งสำคัญที่สุดของการรำลึกถึงคือ การมีสมาธิมั่นคง ณ พระองค์ตลอดเวลา และนมาซจะต้องส่งผลกับจิตวิญญาณของตน

ในความเป็นจริงคำสั่งสามประการสุดท้ายนี้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าประการแรกนั้น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพระผู้ทรงสร้าง จึงสั่งให้นมาซ หลังจากนั้นสั่งให้สร้างสัมพันธ์ภาพกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจึงสั่งให้ ‎บริจาคทาน (ซะกาต (ทานบังคับ)) และสุดท้ายให้ทุกคนร่วมมือกันบนหนทางของพระเจ้า

ประเด็นสำคัญ

อัลกุรอานรับรองคัมภีร์เตารอตและอิลญีนหรือไม่

โองการจำนวนมากมายกล่าวว่า อัลกุรอานรับรองคัมภีร์ก่อนหน้านั้น เช่น โองการที่ 89 - 101 บทบะกอเราะฮ์ ‎กล่าวว่า มุซ็อดดิกุน ลิมา มะอะฮุม (‎مُصَدِّقٌ لِّمَا مَعَهُمْ‎) หรือกล่าวว่า เราได้ให้คัมภีร์ลงมาแก่เจ้า ด้วยความจริง ในฐานะที่รับรองคัมภีร์ที่อยู่เบื้องหน้า (บทมาอิดะฮ์ โองการ 48)‎

โองการนี้เองที่บรรดานักปราชญ์ของยะฮูดีย์และคริสเตียน ยึดเอามาเป็นหลักฐานรับรองคัมภีร์เตารอต และอินญิลว่าไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า คัมภีร์เตารอตและอินญิล ในสมัยของศาสดาอิสลาม (ซ็อล ฯ) กับสมัยปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากอัลกุรอานรับรองความถูกต้องของคัมภีร์เอาไว้ตั้งแต่สมัยของท่านศาสดา

ขณะที่อัลกุรอาน ยืนยันว่า สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของท่านศาสดาอิสลามและศาสนาของท่าน มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ที่อยู่ในมือของยะฮูดียฺและคริสเตียนในสมัยนั้น ก็เพียงพอแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ความหมายของการรับรองคัมภีร์เตารอตและอินญีลของอัลกุรอาน หมายถึง คุณลักษณะ และความพิเศษต่าง ๆ ของท่านศาสดาและอัลกุรอานที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทั้งสอง ตรงกันอย่างสมบูรณ์ และมีความสอดคล้องกัน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม