เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

‎ คำอธิบายโองการที่ 44- 45- 46 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 ‎
คำอธิบายโองการที่ 44- 45- 46 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

 

أَ تَأْمُرُونَ النَّاس بِالْبرِّ وَ تَنسوْنَ أَنفُسكُمْ وَ أَنتُمْ تَتْلُونَ الْكِتَب أَ فَلا تَعْقِلُونَ

وَ استَعِينُوا بِالصبرِ وَ ‏الصلَوةِ وَ إِنهَا لَكَبِيرَةٌ إِلا عَلى الخَْشِعِينَ

الَّذِينَ يَظنُّونَ أَنهُم مُّلَقُوا رَبهِمْ وَ أَنهُمْ إِلَيْهِ رَجِعُونَ‎

 

ความหมาย

‎44.สูเจ้ากำชับมนุษย์ให้กระทำความดี (เชิญให้ศรัทธาท่านศาสดา ซึ่งคุณลักษณะกล่าวไว้ในเตารอต) แต่สูเจ้าลืมตัวเองกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่สูเจ้าอ่านคัมภีร์ (แห่งฟากฟ้า) แล้วสูเจ้าไม่ใช้ปัญญาอีกหรือ

‎45. และสูเจ้าจงขอการช่วยเหลือด้วยความอดทน และการนมาซ แท้จริงนมาซเป็นเรื่องหนักมาก เว้นแต่ผู้ที่นอบน้อมถ่อมตน

‎46. ผู้ตระหนักชัดว่า แน่นอนพวกเขาจะพบพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเขาจะกลับไปยังพระองค์

คำอธิบายกำชับความดีแก่ผู้อื่นแต่ตนเองกับลืม

บรรดาผู้รู้และนักปราชญ์ยะฮูดีย์ ก่อนการแต่งตั้งศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ให้เป็นศาสดา พวกเขาเชิญชวนให้มีศรัทธาต่อท่าน และบางคนกำชับเครือญาติของตนที่ยอมรับอิสลามว่า จงยืนหยัดและมั่นคงต่อความศรัทธาของตนต่อไป ส่วนตนเองไม่ศรัทธา เช่น เรื่องราวของ ฟัครุลอิสลาม ผู้เขียนหนังสือชื่อ อะนีซุ อัล อิอ์ลาม ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในบาทหลวงชาวคริสต์คนหนึ่ง เข้าศึกษาคำสอนศาสนาจากบาทหลวงชาวคริสตร์ด้วยกันจนกระทั่งจบ เขากลายเป็นบาทหลวงที่มีชื่อเสียงและได้รับเกียรติอย่างสูง ในคำนำหนังสือเขากล่าวถึงอิสลามไว้อย่างน่าสนใจว่า....‎หลังจากที่ฉันได้ออกเผยแผ่คำสอน ด้วยความยากลำบากในหมู่ชาวคริสต์ด้วยกัน ตามเมืองต่าง ๆ จนกระทั่งมีชื่อเสียงและได้รับการยกย่อง ในด้านความยำเกรงฉันจัดอยู่ในระดับแนวหน้า นิกายคาทอลิคทั้งจากผู้ปกครองและไม่ใช่ผู้ปกครอง หากมีคำถามจะต้องย้อนกลับไปหาบาทหลวงคนดังกล่าว ฉันศึกษานิกายต่าง ๆ ของศาสนาคริสตร์กับเขาอยู่ระยะหนึ่ง เขามีลูกศิษย์มากมาย แต่ในหมู่สานุศิษย์ด้วยกัน เขาเอ็นดูฉันเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่น วันหนึ่งนักบวชได้มาหาลูกศิษย์ของเขา และหมกมุ่นอยู่กับการวิพาก ซึ่งหัวข้อวิพากนั้นเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ฟารุ ‎เกาะลีฏอ ในภาษาซีเรียและกรีกโบราณ การวิพากของพวกเขาดำเนินไปอย่างเอาจริงเอาจัง ฉันเล่าเหตุการณ์วิพากอย่างละเอียดให้อาจารย์ฟัง อาจารย์ถามฉันว่า แล้วเธอเลือกทัศนะของใคร ฉันตอบว่า ฉันเลือกทัศนะของนักอรรถาธิบายคนหนึ่ง

อาจารย์ กล่าวกับฉันว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ทัศนะที่ถูกต้องไม่ใช่ทัศนะเหล่านี้ ฉันขอร้องให้อาจารย์อธิบายทัศนะที่ถูกต้อง ซึ่งฉันสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายว่าจะไม่ทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงเด็ดขาด

อาจารย์ กล่าวว่า คำที่บาทหลวงกำลังวิพากกันนั้น เป็นนามของศาสดาชาวมุสลิม ซึ่งหมายถึง อะฮฺมัด หรือมุฮัมมัด ‎หลังจากนั้น อาจารย์บอกให้ฉันไปเปิดหีบใบหนึ่งแล้วหยิบหนังสือออกมา ฉันนำหนังสือมาให้ท่าน ปรากฏว่าหนังสือ 2 เล่มดังกล่าวเป็นภาษากรีก และภาษาซีเรียโบราณ (Syriac)ก่อนการปรากฎของศาสดาในอิสลาม ทั้งสองบันทึกอยู่บนหนังสัตว์ และหนังสือทั้งสองเล่มแปลคำว่า ฟารุ เกาะลีฏอ ว่าหมายถึง อะฮ์มัด หรือ มุฮัมมัด หลังจากนั้นอาจารย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนการมาของศาสดาอิสลาม บาทหลวงชาวคริสตร์ทั้งหลายไม่เคยขัดแย้งกัน ทั้งหมดเห็นพร้องต้องกันว่า คำ ๆ นี้ หมายถึง อะฮ์มัด หรือ มุฮัมมัด แต่หลังจากมุฮัมมัดปรากฏตัวแล้ว เพื่อรักษาสถานภาพและชื่อเสียงจอมปลอมของตน พวกเขาจึงเปลี่ยนความหมายเป็นอย่างอื่น แน่นอนสิ่งนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของเจ้าของอินญิลอย่างแน่นอน

ฉันถามว่า ท่านมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับศาสนาคริสต์

ตอบว่า เนื่องจากการปรากฏตัวของอิสลาม ศาสนาคริสต์จึงถูกยกเลิกไป อาจารย์กล่าวคำนี้ ซ้ำถึงสามครั้งด้วยกัน

ฉันถามว่า ปัจจุบันนี้ แนวทางแห่งการช่วยเหลือ และแนวทางแห่งสัจธรรมคืออะไร

ตอบว่า อิสลาม และการปฏิบัติตามมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)‎

ฉันถามว่า การปฏิบัติตามมุฮัมมัดถือว่าเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือหรือ

ตอบว่า  วัลลอฮิ ถึง 3 ครั้ง หลังจากนั้นอาจารย์ร้องไห้ และฉันก็ร้องไห้ อาจารย์กล่าวเสริมว่า ถ้าเจ้าต้องการโลกหน้า และต้องการความช่วยเหลือ เจ้าต้องเลือกศาสนาที่เที่ยงธรรมเท่านั้น ฉันจะขอดุอาอ์ให้เจ้า และในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ เจ้าช่วยเป็นพยานด้วยว่า จิตวิญญาณด้านในของฉันเป็นมุสลิม และเป็นผู้หนึ่งที่ปฏิบัติมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ)‎

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่า อัลกุรอานประณามการกระทำของพวกเขา โดยกล่าวว่า สูเจ้ากำชับมนุษย์ให้กระทำความดี ‎‎(เชิญให้ศรัทธาท่านศาสดา ซึ่งคุณลักษณะกล่าวไว้ในเตารอต) แต่สูเจ้าลืมตัวเองกระนั้นหรือ ทั้ง ๆที่สูเจ้าอ่านคัมภีร์ ‎‎(แห่งฟากฟ้า) แล้วสูเจ้าไม่ใช้ปัญญาอีกหรือ

โดยหลักการแล้วให้เผยแผ่ และเชิญชวนประชาชนด้วยการกระทำมากกว่าคำพูด อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า จงเชิญชวนประชาชนให้ทำความดีด้วยการกระทำ มิใช้ด้วยลิ้น[1]‎

บรรดานักปราชญ์ของยะฮูดียฺนั้นกลัวว่า ถ้ายอมรับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อำนาจ บารมี และเกียรติยศจอมปลอมจะหลุดลอยไปจากเขา และประชาชนชาวยะฮูดีย์จะไม่เชื่อฟังพวกเขาอีก ด้วยเหตุนี้ คุณสมบัติต่าง ๆ ของท่านศาสดาที่บันทึกอยู่ในเตารอต พวกเขาจึงเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

ความอดทนและความสัมพันธ์กับพระเจ้า

อัล-กุรอานต้องการสอนให้มนุษย์รู้จักความอดทนอดกลั้น รู้จักการควบคุมอารมณ์ ไม่ปฏิบัติตามความต้องการของจิตใจ และสามารถถอดถอนตำแหน่ง และเกียรติยศจอมปลอมออกจากตนได้ สำหรับความก้าวหน้า และชัยชนะต่ออุปสรรคปัญหาจำเป็นต้องมีพื้นฐานสำคัญ 2 ประการดังนี้ กล่าวคือ ประการหนึ่งจัดว่าเป็นกองกำลังสำคัญภายใน ‎และอีกประการหนึ่งเป็นสถานที่อิงอาศัยที่มั่นคงแข็งแรงภายนอก โองการข้างต้นกล่าวถึงฐานอำนาจอันเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งของมนุษย์เอาไว้ ได้แก่ ความอดทน และ นมาซ

ความอดทน หมายถึง สภาพของการยืนหยัดอย่างมั่นคง โดยไม่ท้อถอยเมื่อเผชิญกับอุปสรรคปัญหานานาประการ ‎ส่วนนมาซเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อที่ดีที่สุด ระหว่างพระเจ้ากับปวงบ่าวซึ่งถือว่าเป็นฐานกำลังที่แข็งแรงที่สุดสำหรับมนุษย์

แม้คำว่า ศอบัร (อดทน) ตามรายงานจำนวนมากมายจะกล่าวว่าหมายถึง ศีลอด ก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเจาะจงเฉพาะศีลอดเพียงอย่างเดียว ทว่าการกล่าวถึงศีลอดในฐานะของตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องจากการแสดงความเคารพภักดีดังกล่าว จะทำให้จิตใจและความศรัทธามีความมั่นคงแข็งแรง และทำให้สติปัญญาสามารถควบคุมอารมณ์ฝ่ายต่ำไว้ได้อย่างดี

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ทุกครั้งเมื่อเผชิญกับอุปสรรคปัญหา และทำให้ฉันไม่สบายใจ ฉันจะนมาซและถือศีลอด[2]‎

รายงานกล่าวว่า เมื่ออิมามอะลี (อ.) เผชิญกับปัญหาสำคัญ ท่านจะนมาซ และหลังจากนั้นจะอ่านโองการ ‎‎(‎وَاسْتَعِينُواْ بِالصَّبْرِ وَالصَّلوةِ‎) และสูเจ้าจงขอการช่วยเหลือด้วยความอดทน และการนมาซ
อิมามซอดิก (อ.) เมื่อมีความทุกข์ หรือเศร้าโศกกับปัญหาทางโลก ท่านจะวุฎูอ์ และไปมัสญิดเพื่อ นมาซ และอ่านดุอาอ์ เนื่องจากพระเจ้าตรัสว่า สูเจ้าจงขอการช่วยเหลือด้วยความอดทน และการนมาซ

นมาซจะนำมนุษย์ไปสู่พลังอำนาจที่ไม่มีวันสูญสลาย และจะทำให้ปัญหาทุกอย่างง่ายดายสำหรับตนเอง ซึ่งความรู้สึกนั้นเองเป็นสาเหตุทำให้ มนุษย์มีความอดทน และใจเย็นมากขึ้น แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหา และเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ก็ตาม

โองการสุดท้ายที่กล่าวถึง ณ ที่นี้ แนะนำบุคคลที่มีความนอบน้อมและมีสัมมาสมาธิว่า พวกเขาตระหนักชัดว่า ‎แน่นอนพวกเขาจะพบพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเขาจะกลับไปยังพระองค์

คำว่า ยะซอนนูน มาจากคำว่า ซอนนะ บางครั้งหมายถึง การคาดคิด การคาดการล่วงหน้า และบางครั้งหมายถึง ‎ความมั่นใจ (ยะกีน) แน่นอนสิ่งที่อัลกุรอานกล่าวถึงคือ ความศรัทธาและความมั่นใจ เนื่องจากการได้พบกับพระผู้อภิบาล และการย้อนกลับไปหาพระองค์ จะทำให้ความนอบน้อม ความยำเกรงในพระเจ้า การรับผิดชอบต่อหน้าที่ ‎ที่อยู่ในจิตใจของเขามีชีวิตชีวาขึ้นมา และสิ่งนี้เป็นผลที่เกิดจากการสั่งสมความศรัทธาที่มีต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ‎หมายถึงวันนั้นมนุษย์ทุกคนจะอยู่พร้อมหน้ากัน ณ สนามตัดสิน เพื่อรอคำพิพากษาจากพระผู้เป็นเจ้าไปตามผลบุญและผลกรรมของตนที่ก่อไว้

ประเด็นสำคัญ

การพบกับพระเจ้าหมายถึงอะไร

คำว่า ละกออุลลอฮ์ ( การพบกับพระเจ้า ) ถูกกล่าวซ้ำหลายครั้งในอัล-กุรอาน ซึ่งทั้งหมดมีความหมายเหมือนกันคือ ‎การปรากฏตัวในสนามแห่งการตัดสิน (กิยามะฮ์) แน่นอนจุดประสงค์ของ ละกอ หมายถึงการพบกับพระเจ้า เป็นการพบด้วยความรู้สึก ไม่เหมือนกับการพบกันของคนสองคน เนื่องจากพระเจ้าไม่มีเรือนร่าง ไม่มีสีสัน และไม่มีสถานที่จำกัดเพื่อว่าสายตาทั่วไปจะได้มองเห็นพระองค์ ทว่าจุดประสงค์ของการพบพระเจ้า ณ ที่นี้หมายถึง การได้เห็นร่องรอยแห่งอำนาจของพระองค์ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ รางวัล การลงโทษ และความโปรดปรานของพระองค์ หรือหมายถึงการเห็นของจิตด้านใน เนื่องจากบางครั้งมนุษย์พัฒนาไปถึงยังจุดที่ว่า สามารถมองเห็นพระเจ้าด้วยตาใจ โดยไม่มีความคลางแคลง หรือความสงสัยใด ๆ หลงเหลืออีก

สภาพดังกล่าวอาจเกิดจาก ร่องรอยของความบริสุทธิ์ ความยำเกรง การแสดงความเคารพภักดี และการขัดเกลาจิตใจของมนุษย์บางกลุ่มบนโลกนี้ เช่น สาวกคนหนึ่งของท่านอิมามอะลี (อ.) ชื่อ ซะอ์ลับ ยะมานีย์ เขาถามอิมามว่า ท่านเคยเห็นพระผู้อภิบาลของท่านหรือไม่

อิมาม (อ.) ตอบว่า จะให้ฉันแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า ที่มองไม่เห็นกระนั้นหรือ

เขาขอให้อิมามอธิบายเพิ่มเติม อิมาม (อ.) กล่าวว่า สายตาทั่วไปไม่สามารถมองเห็นพระองค์ได้ สิ่งที่มองเห็นพระองค์คือ รัศมีแห่งความศรัทธาที่ปรากฏบนหัวใจของทุกคน[3]‎

การมองเห็นด้วยจิตด้านในนี้ ในวันกิยามะฮ์จะปรากฏกับมนุษย์ทุกคน เนื่องจากร่องรอยแห่งความยิ่งใหญ่ และพลังอำนาจของพระเจ้าในวันนั้นจะปรากฏชัดเจน แม้แต่บุคคลที่มีจิตใจมืดบอด หรือจิตใจเป็นโรคในวันนั้นเขาจะมีศรัทธามั่นคง แต่เป็นความศรัทธาที่ไร้ความหมาย ไม่ก่อประโยชน์อันใดอีกต่อไป

 

อ้างอิง

[1]ซะฟีนะตุลบิฮาร คำว่า อะมัล

[2]มัจญ์มะอุลบะยาน
[3]นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ฮิกมะฮ์ 179
 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม