เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 47-48 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


คำอธิบายโองการที่ 47-48 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

يَبَنى إِسرءِيلَ اذْكُرُوا نِعْمَتىَ الَّتى أَنْعَمْت عَلَيْكمْ وَ أَنى فَضلْتُكُمْ عَلى الْعَلَمِينَ

وَ اتَّقُوا يَوْماً ‏لا ‏تجْزِى نَفْسٌ عَن نَّفْس شيْئاً وَ لا يُقْبَلُ مِنهَا شفَعَةٌ وَ لا يُؤْخَذُ مِنهَا عَدْلٌ وَ لا هُمْ يُنصرُونَ‎

 

ความหมาย

‎47.วงศ์วานอิสรออีลเอ๋ย ! จงรำลึกถึงความโปรดปรานของฉัน ที่ฉันได้โปรดปรานแก่สูเจ้า และแท้จริงฉันได้ยกย่องสูเจ้าเหนือประชาชาติทั้งหลาย

‎48. และจงสำรวมต่อวันหนึ่ง ซึ่งไม่มีชีวิตใดถูกลงโทษแทนอีกชีวิตหนึ่งได้ และการขอความอนุเคราะห์จะไม่ถูกตอบรับ และการชดเชยแทนสิ่งนั้นก็จะไม่เป็นที่ถูกรับ และพวกเขาจะไม่ถูกช่วยเหลือ

คำอธิบาย

โองการนี้พระเจ้าตรัสถึงวงศ์วานอิสรออีลอีกครั้ง ทรงเตือนให้พวกเขารำลึกถึงความโปรดปรานที่ได้โปรดปรานแก่พวกเขา อันเป็นความโปรดปรานที่มากมาย เริ่มจากการชี้นำ ความศรัทธา และการช่วยเหลือให้รอดพ้นจากอำนาจของกษัตริย์ฟาโร สู่อิสรภาพของความเป็นมนุษย์

หลังจากนั้นจึงตรัสถึงความประเสริฐ และสถานภาพที่ดีกว่าของวงศ์วานอิสรออีลในสมัยของตน ‎ซึ่งถือว่าเป็นความโปรดปรานที่มีความสลักสำคัญอย่างยิ่ง โดยตรัสว่า ฉันได้โปรดปรานแก่สูเจ้า ‎และแท้จริงฉันได้ยกย่องสูเจ้าหนือประชาชาติทั้งหลาย

บางท่านอาจคิดว่า จุดประสงค์ของประโยคที่กล่าวว่า ฉันได้ยกย่องสูเจ้าเหนือประชาชาติทั้งหลาย ‎หมายถึงพวกบนีอิสรออีลมีความประเสริฐกว่ามนุษย์ทั้งโลกในทุกยุคทุกสมัย แต่เมื่อพิจารณาอัลกุรอานโองการอื่น สามารถเข้าใจได้ทันทีว่า จุดประสงค์ของการยกย่องให้เหนือกว่าประชาชาติอื่นนั้น หมายถึงประชาชาติร่วมสมัยที่อยู่ในสังคมเดียวกับตน ดังที่อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ ‎‎110 กล่าวว่า พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่ดียิ่ง ซึ่งถูกอุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ

บนีอิสรออีลในสมัยนั้นมิใช่ตัวแทนของชาวโลก ดังนั้น จุดประสงค์ของการเป็นตัวแทนตะวันออก ‎และตะวันตกพวกเขาเป็นผู้แต่งตั้งกันเอง ด้วยเหตุนี้ ความประเสริฐของพวกเขาที่มีต่อชาวโลกเมื่อเทียบกับประชาชาติในสังคมของตนเท่านั้น

โองการต่อมากล่าวถึงความไม่ถูกต้องของการคิดที่เป็นโมฆะของพวกยะฮูดีย์ เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าบรรพบุรุษของพวกเขาคือศาสดา และท่านจะให้ชะฟาอะฮ์แก่พวกเขาในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ ‎หรือพวกเขาคิดว่าสามารถไถ่โทษความผิดได้ด้วยการจ่ายค่าปรับ หรือค่าชดเชย เหมือนกับการติดสินบนที่สังคมทั่วไปบนโลกปฏิบัติกัน ตามความเป็นจริงแล้วโองการข้างต้นกล่าวถึงบทสรุปของสังคมโลก ที่พยายามช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้พ้นผิด โดยวิธีการต่าง ๆ อัลกุรอานจึงเน้นว่า ไม่มีชีวิตใดถูกลงโทษแทนอีกชีวิตหนึ่งได้ และการขอความอนุเคราะห์จะไม่ถูกตอบรับ ผู้ที่กระทำความผิดต้องถูกลงโทษ เมื่อพวกเขาคิดว่าวิธีการนี้เป็นไปไม่ได้ จึงได้วอนขอจากบุคคลอื่นให้ช่วยเหลือ และช่วยผ่อนปรนความผิดของพวกเขา และถ้าวิธีการนี้ไม่สำเร็จอีก พวกเขาก็คิดหาวิธีการด้วยการจ่ายค่าชดเชย เพื่อซื้อความอิสระให้กับตนเอง

พวกเขาสรรหาวิธีทางต่าง ๆ เพื่อหลีกหนีการลงโทษบนโลกนี้ แต่อัลกุรอานสำทับว่า หลักในการพิพากษาผู้กระทำความผิดในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ แตกต่างไปจากที่พวกเขาคิด หรือวิธีการที่โลกใช้อยู่ในปัจจุบัน วิธีการที่โลกใช้อยู่จะไม่ถูกนำไปใช้ในวันนั้นเด็ดขาด หนทางเดียวที่จะช่วยให้มนุษย์ปลอดภัยจากคำพิพากษาในวันนั้นคือ ความศรัทธาที่มั่นคง ความยำเกรงต่อการฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ และการวิงวอนขอความเมตตาจากพระองค์

อัลกุรอานกับปัญหาชะฟาอะฮ์

ชะฟาอะฮ์ ความหมายที่ถูกต้องนั้นเพื่อการรักษาความสมดุล และเป็นสื่อช่วยบุคคลกลับใจจากการทำความผิด ส่วนในความหมายที่เข้าใจผิดคือ ชะฟาอะฮ์เป็นสาเหตุบุคคลมีความกล้าในการทำบาป ‎เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเมื่อถึงเวลาก็จะมีผู้ให้ชะฟาอะฮ์ช่วยให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษ

คำว่า ชะฟาอะฮ์ มาจากรากศัพท์คำว่า ชะฟะอะ หมายถึงคู่ สิ่งที่เป็นคู่ หมายถึงบุคคลที่มีพื้นฐานความศรัทธา ความยำเกรง และมีการปฏิบัติตัวตามหลักการ แต่เมื่อวันนั้นมาถึงสิ่งที่กระทำไว้บกพร่อง ความการุณย์ของพระองค์ จะถูกเพิ่มเข้าที่พื้นฐาน และผลของการเข้าคู่หรือร่วมกับความการุณย์ของเหล่าบรรดามวลมิตรของพระเจ้า (เอาลิยาอ์) ‎ทำให้รอดพ้นจากการถูกกริ้วของพระเจ้า ‎ด้วยเหตุนี้ ชะฟาอะฮ์ จะได้แก่บุคคลที่เพียรพยายามแล้ว แต่ไปไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งต้องการพลังอำนาจหนึ่งให้อยู่เคียงข้าง เพื่อการรอดพ้นจากการถูกลงโทษ

โองการอัล-กุรอานที่เกี่ยวข้องกับชะฟาอะฮ์สามารถแบ่งได้ดังนี้

‎1. โองการที่ปฏิเสธเรื่องการชะฟาอะฮ์ เช่นกล่าวว่า วันนั้นไม่มีการค้า ไม่มีมิตร และไม่มีชะฟาอะฮ์ ‎‎[1]‎

‎2. โองการที่กล่าวว่า ชะฟาอะฮ์ เป็นของพระเจ้าเท่านั้น เช่น สำหรับพวกเจ้าไม่มีผู้คุ้มครอง และผู้ช่วยเหลืออื่นจากพระองค์[2]‎

‎3. โองการที่กล่าวว่า บุคคลอื่นจะให้ชะฟาอะฮ์ได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพระเจ้า เช่น ใครเล่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ณ พระองค์ได้ นอกจากด้วยอนุมัติของพระองค์เท่านั้น[3]‎

‎4. โองการที่กล่าวถึง บุคคลที่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์ ในวันนั้น เช่น กล่าวว่า

‎- และพวกเขาจะไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใด นอกจากผู้ที่พระองค์ทรงพอพระทัย[4]‎

‎- ไม่มีมิตรที่สนิทสนมสำหรับบรรดาผู้อธรรม และไม่มีผู้ช่วยเหลือคนใดที่จะถูกเชื่อฟัง[5]‎

เมื่อพิจารณาโองการข้างต้นจะเห็นว่า ชะฟาอะฮ์ มิใช่สิ่งที่ปราศจากเงื่อนไขแต่อย่างใด แต่ชะฟาอะฮ์ ต้องได้รับอนุญาตจากพระเจ้า ส่วนผู้ที่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์ ต้องอยู่ในเงื่อนไข ดังนั้น ถ้าบุคคลที่ไม่มีเงื่อนไขพอที่จะรับชะฟาอะฮ์ได้ ถึงแม้ว่าเป็นภรรยาของศาสดาก็ไม่มีสิทธิ์ได้ชะฟาอะฮ์ ‎เช่น ภรรยาของศาสดานูฮ์ และลูฏ เป็นต้น ‎เนื่องจากทั้งสองฝ่าฝืนคำสั่งของศาสดาจึงไม่มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์ อัลกุรอานกล่าวว่า นางทั้งสองอยู่ภายใต้การปกครองของบ่าวที่ดีจากปวงบ่าวของเรา แต่นางทั้งสองได้ทรยศต่อเขาทั้งสอง และความสัมพันธ์กับทั้งสอง ‎‎(ศาสดา) มิได้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด (เมื่ออยู่ต่อหน้าการลงโทษของอัลลอฮ์) จึงมีเสียงกล่าวขึ้นว่า เจ้าทั้งสองจงเข้าไปในไฟนรกพร้อมกับบรรดาผู้ที่เข้าไปในนั้น[6]‎

ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าชะฟาอะฮ์เป็นปัจจัยสร้างสรรค์กล่าวคือ สร้างความใกล้ชิดระหว่างบ่าวทั่วไปกับบรรดามวลมิตรของพระองค์ แต่ถ้าความเชื่อเรื่อง ชะฟาอะฮ์ เป็นสาเหตุของการทำบาป ดังเช่นพวกคริสต์เชื่อว่า ศาสดาอีซา ‎ได้เสียสละเพื่ออภัยในบาปของพวกเขา ดังนั้น สิ่งนี้ไม่อาจยอมรับได้

อาจมีผู้ถามว่า ชะฟาอะฮ์ของบรรดาเอาลิยาอ์ หมายถึง การเผชิญหน้ากับความประสงค์ของพระเจ้าใช่หรือไม่ และบุคคลที่อัลลอฮ์ประสงค์จะลงโทษ ชะฟาอะฮ์ของศาสดามิได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นดอกหรือ

ทั้งการลงโทษคนผิด และการอนุญาตให้ชะฟาอะฮ์ของบรรดามวลมิตรของพระองค์ ล้วนเป็นความประสงค์ของพระองค์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ชะฟาอะฮ์ ของมวลมิตรของพระองค์ จึงไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคขวางกั้นพระประสงค์ของพระองค์

ชะฟาอะฮ์ ของบรรดามวลมิตรของพระเจ้า มิได้มีความหมายว่าพวกเขามีความเมตตามากกว่าพระองค์ดอกหรือ ‎เนื่องจากพระเจ้าประสงค์จะลงโทษพวกเขา แต่บรรดามวลมิตรต้องการให้ชะฟาอะฮ์

ทั้งความเมตตาของบรรดามวลมิตรของพระองค์ และการให้อนุญาตใช้ประโยชน์ ล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงเป็นทั้งผู้ให้ความเมตตา และให้อนุญาตการชะฟาอะฮ์

ชะฟาอะฮ์ มิได้เป็นตัวเปลี่ยนแปลงพระประสงค์ของพระองค์ดอกหรือ?‎

พระประสงค์ ของพระเจ้าบนเงื่อนไขที่แตกต่างกัน มิได้จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน ดังนั้น พระประสงค์ของพระเจ้าคือ การลงโทษคนทำบาป แต่ถ้าเขาลุแก่โทษก็เท่ากับว่าถอดถอนความกริ้วของพระองค์ออกไปจากตน เนื่องจากคนทำบาปกับคนขอลุแก่โทษมีความแตกต่างกัน บุคคลที่มีความจงรักภักดี และมีเจตนาแน่วแน่ในการเชื่อฟังปฏิบัติตามบรรดามวลมิตรของพระองค์บนโลกนี้ ย่อมได้รับชะฟาอะฮ์ของท่านเหล่านั้น ส่วนบุคคลที่ฝ่าฝืนและเป็นศัตรูกับท่านย่อมไม่มีสิทธิ์ในชะฟาอะฮ์นั้น

ประเด็นสำคัญ

สาเหตุของการอภัยบาป บนโลกนี้มี 3 ประการ

‎1. ทำการขอลุแก่โทษด้วยความจริงใจ อัล-กุรอานกล่าวว่า นอกจากผู้ที่สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว ‎และปรับปรุงแก้ไข ‎และชี้แจงสิ่งที่ปกปิดไว้ ชนเหล่านี้ฉันจะอภัยโทษให้แก่พวกเขา และฉันคือผู้อภัยโทษ และเมตตาเสมอ[7]‎

‎2. ละเว้นการทำบาปใหญ่ต่าง ๆ อัล-กุรอานกล่าวว่า หากพวกเจ้าปลีกตัวออกจากบรรดาบาปใหญ่ ๆ ‎ของสิ่งที่พวกเจ้าถูกห้ามให้ละเว้น เราก็จะลบล้างบรรดาความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกเจ้า ออกจากพวกเจ้า[8]‎

‎3. การสร้างคุณงามความดีทั้งหลาย อัล-กุรอานกล่าว แท้จริงความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลาย นั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก[9]‎

ส่วนการอภัยความผิดในปรโลกหน้ามีอยู่หนทางเดียว นั่นคือ ชะฟาอะฮ์

ฮะดีษเกี่ยวกับชะฟาอะฮ์

รายงานทีแตกต่างกันจำนวนมากมายกล่าวถึงเรื่องชะฟาอะฮ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยที่ต่อเติมให้ความหมายของชะฟาอะฮ์สมบูรณ์ เช่น อิมามมูซา กาซิม (อ.) รายงานจากท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งกล่าวว่า ฉันได้ยินท่านศาสดากล่าวว่า ชะฟาอะฮ์ของฉัน เพื่อประชาชาติของฉันที่กระทำบาปใหญ่ ‎เนื่องจากชะฟาอะฮ์ โดยหลักการแล้ว เป็นปัจจัยสร้างสรรค์ เพราะมนุษย์ทุกคนที่ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ ‎‎(มะอฺซูม) ย่อมกระทำบาป และเพื่อมีส่วนร่วมหรือมีความเหมาะสมในการรับชะฟาอะฮ์จากผู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาศาสดา หรือบรรดามวลมิตรของพระองค์ จำเป็นต้องปฏิบัติตามการชี้นำ และการสั่งสอนเพื่อให้ตนใกล้ชิดกับพวกเขา เป็นการสร้างตนเพื่อให้มีคู่ควรกับชะฟาอะฮ์ ซึ่งพลังดึงดูดของชะฟาอะฮ์ จะเรียกร้องบุคคลที่ทำบาปให้เข้าสู่การปฏิบัติตามพระเจ้า และมวลมิตรของพระองค์ ‎แม้ว่าพระเจ้าทรงสามารถให้ชะฟาอะฮ์แก่ผู้ทำบาปโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสื่อก็ได้ ‎แต่อาจเป็นเพราะว่าปรัชญาของการกำหนดชะฟาอะฮ์อยู่ที่ พระเจ้าทรงประสงค์ให้วิธีการดังกล่าวเป็นสื่อทำให้ประชาชนมีความใกล้ชิดกับบรรดาศาสดา และหมู่มวลมิตรของพระองค์เพื่อง่ายต่อการชี้นำ

เงื่อนไขการสร้างชะฟาอะฮ์

ดังที่ทราบแล้วว่า ชะฟาอะฮ์ ในความหมายที่ถูกต้องนั้นมีเงื่อนไข และสาเหตุมากมาย บุคคลที่เชื่อเรื่องชะฟาอะฮ์ ‎จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างตนเองให้อยู่ในเงื่อนไขเหล่านั้น และออกห่างจากการทำบาป เช่น การกดขี่ หรือการตั้งภาคีอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากบาปเหล่านี้เป็นตัวทำลายความหวังชะฟาอะฮ์ให้เป็นสูญ และเพื่อไปให้ถึงยังตำแหน่งของผู้มีสิทธิ์รับชะฟาอะฮ์ ต้องสัญญากับพระเจ้าว่าจะกลับตัวกลับใจ หรืออย่างน้อยที่สุดอยู่ในระหว่างการกลับใจ ‎ขณะเดียวกันต้องหยุดยั้งการฝ่าฝืน การทำลายกฎเกณฑ์ของพระองค์ และมีศรัทธามั่นคงต่อพระองค์ พยายามให้ชีวิตชีวาแก่วันแห่งการฟื้นคืนชีพ เพื่อรอรับการตัดสินสำหรับตน และให้ความเคารพต่อกฎเกณฑ์ของพระองค์ เมื่อมนุษย์สามารถปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็ไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไปว่าชะฟาอะฮ์ในความหมายที่ถูกต้องนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการทำลายสภาพของคนทำบาป และปรับปรุงพวกเขา

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม