เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 78-79 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


คำอธิบายโองการที่ 78-79 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

وَ مِنهُمْ أُمِّيُّونَ لا يَعْلَمُونَ الْكِتَب إِلا أَمَانىَّ وَ إِنْ هُمْ إِلا يَظنُّونَ (78)فَوَيْلٌ لِّلَّذِينَ يَكْتُبُونَ الْكِتَب بِأَيْدِيهِمْ ثُمَّ يَقُولُونَ هَذَا مِنْ عِندِ اللَّهِ لِيَشترُوا بِهِ ثَمَناً قَلِيلاً فَوَيْلٌ لَّهُم مِّمَّا كَتَبَت أَيْدِيهِمْ وَ وَيْلٌ لَّهُم مِّمَّا يَكْسِبُونَ (79)

ความหมาย

78.และในหมู่พวกเขา มีผู้อ่านเขียนไม่เป็น พวกเขาไม่รู้คัมภีร์ นอกจากความเพ้อฝันต่าง ๆ และพวกเขาหาได้มีอะไรไม่ นอกจากจะนึกเดาเท่านั้น

79. ดังนั้น ความวิบัติจงมีแด่ผู้เขียนคัมภีร์ขึ้นด้วยมือของตนเอง แล้วกล่าวว่า นี่มาจากอัลลอฮฺ เพื่อที่พวกเขาจะได้นำไปขายด้วยราคาเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ความวิบัติจงมีพวกเขา ตามที่มือของพวกเขาได้เขียน และความวิบัติจงมีแด่พวกเขา ตามที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้

สาเหตุการประทานอัล-กุรอาน

นักวิชาการยะฮูดียฺเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่กล่าวไว้ในคัมภีร์เตารอต สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนี้ เนื่องจากพวกเขาต้องาการรักษาสถานภาพและผลประโยชน์ของตน ซึ่งประชาชนทั่วไปนำมาให้พวกเขาทุกปี

ครั้นเมื่อท่านมุฮัมมัดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสดา ซึ่งบรรดาคุณสมบัติต่าง ๆ ของท่าน ตรงกับที่กล่าวไว้ในเตารอต ทำให้พวกเขาเกิดความหวาดกลัวว่า ถ้าความจริงเหล่านี้เป็นที่เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป ผลประโยชน์ของพวกเขาจะตกอยู่ในอันตราย ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติที่แท้จริงในคัมภีร์เตารอตให้เป็นอย่างอื่น หรือตรงกันข้ามกับความจริง

บรรดายะฮูดียฺทั่ว ๆ ไปเคยได้ยินคุณสมบัติของท่านศาสดามาก่อนแล้ว จากบรรดาผู้รู้ พวกเขาจึงถามผู้รู้ของพวกเขาว่า เขามิใช่ศาสดาพยากรณ์ดังที่กล่าวไว้ในเตารอต ตามที่พวกท่านเคยแจ้งแก่พวกเราดอกหรือ แต่บรรดาผู้รู้เหล่านั้นได้อ่านโองการเตารอตที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงแล้วแก่พวกเขา เพื่อเป็นข้อยุติ

คำอธิบาย แผนการของยิว เพื่อการใช้ประโยชน์จากประชาชานทั่วไป

โองการต่อไปนี้อธิบายถึงการฝ่าฝืนของพวกยะฮูดียฺในอีกลักษณะหนึ่ง และโองการแบ่งพวกยะฮูดียฺออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ ประชาชนทั่ว ๆ ไป กับนักวิชาการที่มากด้วยเล่ห์เพทุบาย กล่าวว่า และในหมู่พวกเขา มีผู้อ่านเขียนไม่เป็น พวกเขาไม่รู้คัมภีร์ นอกจากความเพ้อฝันต่าง ๆ และพวกเขาหาได้มีอะไรไม่ นอกจากจะนึกเดาเท่านั้น

คำว่า อุมมียูน เป็นพหูพจน์ของคำว่า อุมมี หมายถึง ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่เป็นเขียนไม่ได้ กล่าวคือ คงสภาพเดิมทุกประการตั้งแต่คลอดออกจากครรภ์ของมารดา ไม่เคยไปโรงเรียน และไม่เคยเห็นคุณครู หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นเพราะว่ามารดาของเด็กเหล่านั้น ต้องการให้บุตรของตนโง่เขลาเหมือนกับตนเอง จึงไม่ยอมแยกบุตรออกไปจากตน และไม่ยอมให้เรียนหนังสือ

คำว่า อะมันนี เป็นพหูพจน์ของคำว่า อัมนียะฮฺ หมายถึง ความเพ้อฝัน หรือความหวัง อาจเป็นไปได้ว่าโองการต้องการกล่าวถึง คำตักเตือนต่าง ๆ และความพิเศษของการจินตนาการ ซึ่งพวกยะฮูดียฺถือว่าเป็นเกียรติสำหรับตน จึงกล่าวว่า พวกเราเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นมิตรแท้ของพระองค์ หรือบางครั้งกล่าวว่า ไฟนรกไม่มีวันเผาไหม้พวกเรานอกจากเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายโองการกล่าวว่า พวกเขาหาได้มีอะไรไม่ นอกจากจะนึกเดาเท่านั้น เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่ปฏิบัติตามการจินตนาการหรือการคาดเดา ย่อมมีพื้นฐาน และความเข้าใจศาสนาไม่ถูกต้อง

มีชายคนหนึ่งถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า ประชาชนชาวยะฮูดียฺ รับรู้ข้อมูลคำสอนศาสนาผ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือบรรดาผู้รู้และนักปราชญ์เท่านั้น เพราะเหตุใดพระเจ้าจึงประณามพวกเขาในฐานะของผู้ปฏิบัติตามผู้รู้..

อิมาม (อ.) กล่าวว่า ระหว่างประชาชนทั่วไปของเรากับพวกยะฮูดียฺ ด้านหนึ่งแตกต่างกัน ส่วนอีกด้านหนึ่งคล้ายกัน ด้านที่คล้ายกันคือ พระเจ้าทรงประณามประชาชาติของเรา เหมือนดั่งที่ประณามประชาชาติยะฮูดียฺ ส่วนด้านที่ต่างกันคือ ประชาชาติยะฮูดียฺ ต่างรู้จักบรรดาผู้รู้ของตนอย่างท่องแท้ พวกเขาทราบดีว่าผู้รู้ของเขาโกหก ติดสินบน เปลี่ยนแปลงบทบัญญัติของพระเจ้า พวกเขารู้จักความจริงเหล่านี้ด้วยธรรมชาติของตนเอง บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน ไม่อนุญาตให้ยอมรับคำพูดของพวกเขาที่กล่าวเกี่ยวกับพระเจ้า ไม่ให้ยอมรับคำสาบานของเขาเกี่ยวกับบรรดาศาสดา ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าจึงประณามพวกเขา แต่ประชาชาติของเราไม่ได้ปฏิบัติตามผู้รู้เช่นนี้ เนื่องจากถ้าพวกเขารู้ว่าผู้รู้ของเขาเป็นผู้ฝ่าฝืนอย่างชัดแจ้ง มีอคติ มีความอิจฉาริษยา มีความลุ่มหลงโลก กินทรัพย์สินที่ฮะรอม ประชาชาติของเราจะไม่ปฏิบัติตามเขาอย่างเด็ดขาด

อิมามฮะซัน อัซการียฺ (อ.) กล่าวว่า บรรดาผู้รู้ที่ขัดเกลาจิตวิญญาณของตน ปกป้องศาสนา ไม่ปฏิบัติตามอารมณ์ และปฏิบัติตามบัญชาของพระเจ้า ดังนั้น ประชาชนต้องปฏิบัติตามเขา

เป็นที่ชัดเจนว่า รายงานของท่านอิมามฮะซัน อัซการีย์ (อ.) ไม่ได้กำหนดว่าให้ปฏิบัติตามผู้รู้เฉพาะเรื่องบทบัญญัติเพียงอย่างเดียว หรือเยี่ยงคนตาบอด ทว่าจุดประสงค์คือ ให้ปฏิบัติตามผู้รู้เพื่อไขว่คว้าหาความรู้ และความมั่นใจในหลักศาสนาและหลักความเชื่อ เนื่องจากรายงานเกี่ยวกับการรู้จักศาสดา เป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา และเป็นหลักการของศาสนา ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติตาม
โองการที่ 80,81,82

وَ قَالُوا لَن تَمَسنَا النَّارُ إِلا أَيَّاماً مَّعْدُودَةً قُلْ أَ تخَذْتمْ عِندَ اللَّهِ عَهْداً فَلَن يخْلِف اللَّهُ عَهْدَهُ أَمْ تَقُولُونَ عَلى اللَّهِ مَا لا تَعْلَمُونَ (80) بَلى مَن كَسب سيِّئَةً وَ أَحَطت بِهِ خَطِيئَتُهُ فَأُولَئك أَصحَب النَّارِ هُمْ فِيهَا خَلِدُونَ (81) وَ الَّذِينَ ءَامَنُوا وَ عَمِلُوا الصلِحَتِ أُولَئك أَصحَب الْجَنَّةِ هُمْ فِيهَا خَلِدُونَ (82)

ความหมาย

80. พวกเขากล่าวว่า ไฟนรกจะไม่ต้องเราเลย นอกจากวันที่ถูกนับไว้ จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) พวกท่านได้รับสัญญาจากอัลลอฮฺ กระนั้นหรือ ดังนั้น อัลลอฮฺจะไม่ทรงบิดพลิ้วสัญญาของพระองค์ หรือพวกท่านกล่าวร้ายต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่พวกท่านไม่รู้

81 . หามิได้ ผู้ใดที่ขวนขวายการชั่ว และความผิดของเขาห้อมล้อมเขาไว้ ดังนั้น ชนเหล่านี้คือชาวนรก พวกเขาจะพำนักในนั้นตลอดไป

82 . และบรรดาผู้ศรัทธา และประกอบการดีทั้งหลาย ชนเหล่านี้คือชาวสวรรค์ พวกเขาจะพำนักในนั้นตลอดไป

คำอธิบาย แสดงตนเป็นผู้สูงส่งแต่คงไว้ซึ่งความว่างเปล่า

อัล-กุรอาน กล่าวถึงคำพูดที่ไร้แก่นสารของพวกยะฮูดียฺ พวกเขาแสดงความอวดดี และคิดว่าตนเป็นประชาชาติที่ดีที่สุดที่ได้รับการเลือกสรรแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาหลงทาง อัล-กุรอานได้ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นชาตินิยมของพวกเขามิได้นำพาสิ่งที่ดีงามมาสู่พวกเขา คำกล่าวอ้างว่าไฟนรกจะไม่ต้องพวกเขา เว้นเสียแต่ว่าไม่กี่วันที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น หลังจากนั้นพวกเขาจะเข้าสู่สวรรค์และพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่บ่งชี้ถึงความเห็นแก่ตัว และความเป็นชาตินิยมของพวกเขา แต่ทว่าคำกล่าวอ้างถึงความพิเศษของเขา ไม่สอดคล้องกับความจริง และตรรกะแต่อย่างใด เนื่องจาก ณ พระผู้เป็นเจ้ามนุษย์ไม่มีความแตกต่างกัน ในเรื่องของการพิพากษาลงโทษ หรือตอบแทนรางวัลความดี อย่างไรก็ตามโองการข้างต้นพิสูจน์ให้เห็นว่า ความคิดของพวกเขาไม่ถูกต้อง และกล่าวว่า คำพูดของพวกเจ้าเป็นไปได้ใน 2 ประเด็น กล่าวคือ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าได้สัญญาพิเศษกับพระเจ้า ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้สัญญา โกหก และใส่ร้ายพระองค์

พระเจ้าหลังจากพิพากษาความคิดเหล่านี้แล้ว ทรงอธิบายกฎโดยรวมที่เป็นตรรกะในทุกด้านว่า บุคคลใดก็ตามทำให้ตนเองต้องหลงทาง หรือหันเหออกจากความจริง หรือผันแปรตนไปสู่ความชั่ว จะต้องถูกลงโทษแน่นอน ความเข้าใจที่ว่า บาปกรรมห้อมล้อมพวกเขา หมายถึง มนุษย์ได้นำพาตัวเองจมดิ่งลงสู่บาป จนกลายเป็นสถานที่ขุมขังสำหรับตนซึ่งไม่มีทางออกอีกต่อไป ฉะนั้น ผู้ฝ่าฝืนบัญญัติของพระองค์ต้องได้รับการลงโทษอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ตรัสว่า ผู้ใดที่ขวนขวายการชั่ว และความผิดของเขาห้อมล้อมเขาไว้ ดังนั้น ชนเหล่านี้คือชาวนรก พวกเขาจะพำนักในนั้นตลอดไป

ส่วนผู้ศรัทธาที่มีความสำรวมตนจากบาปกรรม พระองค์ชี้แจงถึงกฎเกณฑ์ทั่ว ๆ ไปไว้เช่นกัน ซึ่งกล่าวไว้ในโองการต่อไปว่า และบรรดาผู้ศรัทธา และประกอบการดีทั้งหลาย ชนเหล่านี้คือชาวสวรรค์ พวกเขาจะพำนักในนั้นตลอดไป

ประเด็นสำคัญ

การขวนขวายการชั่ว

คำว่า กะซะบะ และ อิกติซาบ หมายถึง การทำให้สิ่งหนึ่งเกิดขึ้นตามความประสงค์ และเจตนารมณ์เสรีของตน ด้วยเหตุนี้ ประโยคที่กล่าวว่า ผู้ใดที่ขวนขวายการชั่ว บ่งบอกว่าบุคคลนั้นกระทำบาปด้วยความรู้ หรือโดยเจตนารมณ์เสรีของตน ส่วนการกล่าวว่า กะซะบะ อาจเป็นเพราะว่าคนบาปในด้านหนึ่งคิดว่าการทำบาปเป็นประโยชน์กับตน หรือการละเว้นสิ่งนั้น เป็นอันตราย หรืออานเกิดผลเสียกับตน บุคคลเหล่านี้คือ กลุ่มชนที่ขายชีวิตในโลกหน้าของตนด้วยชีวิตทางโลก ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีการลดหย่อนโทษเด็ดขาด

บาปกรรมที่ห้อมล้อมหมายถึงอะไร

คำว่า เคาะฏีอะฮฺ ส่วนมากแล้วให้ความหมายว่า ความผิด หรือบาปที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่โองการที่กำลังกล่าวถึงให้ความหมายว่า บาปใหญ่ หรือผลที่เกิดจากบาป แล้วส่งผลครอบงำจิตวิญญาณของมนุษย์ ความเข้าใจที่ว่า บาปกรรมห้อมล้อมมนุษย์ หมายถึง มนุษย์ได้นำพาตัวเองจมดิ่งลงสู่บาป จนกลายเป็นสถานที่ขุมขังสำหรับตนซึ่งไม่มีทางออกอีกต่อไป บาปใหญ่หรือบาปเล็ก คือการเริ่มต้นการกระทำหนึ่ง หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสภาพ ประกอบกับกระทำอย่างต่อเนื่อง หรือกระทำบ่อยครั้งจนเป็นความเคยชิน เมื่อความผิดขึ้นสูงถึงขีดสุด เท่ากับจิตวิญญาณของเขาถูกย้อมด้วยสีสันของบาปกรรม เวลานั้นบาปคือชีวิต และเมื่อถึงเวลานั้นคำตักเตือน และคำแนะนำต่าง ๆ จะไม่มีผลอีกต่อไป

ยะฮูดียฺและความเป็นชาตินิยม

ความเป็นชาตินิยมของชาวยิวนั้นมีมาตั้งแต่อดีต ตราบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นแหล่งแพร่พันธ์ความชั่วร้ายทั้งหลายทั่วโลก ความเพ้อฝันว่าตนเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด จึงได้เข่นฆ่าผู้คนจำนวนมากมาย แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่ อาชญากร และความโหดเหี้ยมอำมหิตครอบงำจิตวิญญาณของพวกเขาตลอดเรื่อยมา และไม่มีวันจืดจางลงเด็ดขาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำเนิดจากแหล่งเดียวกันคือ ความเป็นชาตินิยม และหลังจากอธิบายถึงกฎเกณฑ์โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว พระองค์ตรัสถึงคนบาป และผู้ที่บิดพลิ้วสัญญาชาวยิวทั้งหลาย
โองการที่ 83,84,85,86

وَ إِذْ أَخَذْنَا مِيثَقَ بَنى إِسرءِيلَ لا تَعْبُدُونَ إِلا اللَّهَ وَ بِالْوَلِدَيْنِ إِحْساناً وَ ذِى الْقُرْبى وَ الْيَتَمَى وَ الْمَسكينِ وَ قُولُوا لِلنَّاسِ حُسناً وَ أَقِيمُوا الصلَوةَ وَ ءَاتُوا الزَّكوةَ ثمَّ تَوَلَّيْتُمْ إِلا قَلِيلاً مِّنكمْ وَ أَنتُم مُّعْرِضونَ (83) وَ إِذْ أَخَذْنَا مِيثَقَكُمْ لا تَسفِكُونَ دِمَاءَكُمْ وَ لا تخْرِجُونَ أَنفُسكُم مِّن دِيَرِكُمْ ثمَّ أَقْرَرْتمْ وَ أَنتُمْ تَشهَدُونَ (84) ثُمَّ أَنتُمْ هَؤُلاءِ تَقْتُلُونَ أَنفُسكُمْ وَ تخْرِجُونَ فَرِيقاً مِّنكُم مِّن دِيَرِهِمْ تَظهَرُونَ عَلَيْهِم بِالاثْمِ وَ الْعُدْوَنِ وَ إِن يَأْتُوكُمْ أُسرَى تُفَدُوهُمْ وَ هُوَ محَرَّمٌ عَلَيْكمْ إِخْرَاجُهُمْ أَ فَتُؤْمِنُونَ بِبَعْضِ الْكِتَبِ وَ تَكْفُرُونَ بِبَعْض فَمَا جَزَاءُ مَن يَفْعَلُ ذَلِك مِنكمْ إِلا خِزْىٌ فى الْحَيَوةِ الدُّنْيَا وَ يَوْمَ الْقِيَمَةِ يُرَدُّونَ إِلى أَشدِّ الْعَذَابِ وَ مَا اللَّهُ بِغَفِل عَمَّا تَعْمَلُونَ (85) أُولَئك الَّذِينَ اشترَوُا الْحَيَوةَ الدُّنْيَا بِالاَخِرَةِ فَلا يخَفَّف عَنهُمُ الْعَذَاب وَ لا هُمْ يُنصرُونَ (86)

ความหมาย

83. และจงรำลึกถึง เมื่อเราได้เอาคำมั่นสัญญาจากวงศ์วานอิสรออีลว่า สูเจ้าต้องไม่เคารพภักดีผู้ใน เว้นแต่อัลลอฮฺ และจงทำดีต่อบิดามารดา ญาติสนิท เด็กกำพร้า และผู้ขัดสน และจงสนทนากับผู้คนโดยดี และจงดำรงนมาซ บริจาคทานบังคับ (แม้ว่าจะสัญญาแล้ว) แต่สูเจ้าได้หันหลังกลับ เว้นแต่ส่วนน้อยในหมู่สูเจ้า และสูเจ้าเป็นผู้หันเห

84. และจงรำลึกถึง เมื่อเราได้เอาคำมั่นสัญญาจากสูเจ้า สูเจ้าต้องไม่หลั่งเลือดของพวกของเจ้า และต้องไม่ขับไล่พวกของสูเจ้าออกจากเคหะสถานของสูเจ้า แล้วสูเจ้าได้รับรอง และ (ตามสัญญา) สูเจ้าเป็นพยาน

85. หลังจากนั้น สูเจ้าเข่นฆ่าพวกของสูเจ้า และขับไล่บางพวกในหมู่สูเจ้าออกจากเคหะสถานของพวกเขา สูเจ้าต่างร่วมมือกันพิชิตพวกเขา (ทั้งหมดเป็นการทรยศสัญญาที่ให้ไว้กับพระเจ้า) ด้วยบาป และการเป็นศัตรู และถ้าพวกเขามาในฐานะเชลยยังสูเจ้าเพื่อไถ่ตัว สูเจ้าให้อิสรภาพแก่พวกเขา ขณะที่การขับไล่พวกเขาออกไป เป็นที่ห้ามแก่สูเจ้า สูเจ้าจะศรัทธาเพียงบางส่วนของคัมภีร์ และปฏิเสธอีกบางส่วนกระนั้นหรือ ดังนั้น ไม่มีการตอบแทนอันใดแก่ผู้กระทำเช่นนั้น ในหมู่สูเจ้า นอกจากความอัปยศอดสูในชีวิตทางโลกนี้ และในวันฟื้นคืนชีพ พวกเขาจะถูกนำกลับไปสู่การลงโทษอันสาหัสยิ่ง และอัลลอฮฺ มิใช่ผู้ทรงเฉยเมยในสิ่งที่สูเจ้ากระทำ

86. เหล่านี้ คือ ผู้ที่ซื้อชีวิตทางโลกนี้ ด้วยชีวิตแห่งโลกหน้า ดังนั้น การลงโทษของพวกเขาจึงไม่ได้รับการลดหย่อน และพวกเขาจะไม่ถูกช่วยเหลือ

คำอธิบาย การบิดพลิ้วสัญญา

โองการก่อนหน้านี้กล่าวถึงสัญญาของพวกบนีอิสรอีล และไม่ได้อธิบายรายละเอียด ส่วนโองการต่อไปนี้ พระเจ้าตรัสถึงข้อสัญญาต่าง ๆ ที่ได้เอาจากบนีอิสรออีล ซึ่งสัญญาเหล่านั้น ส่วนใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของหลักการ และเป็นบทบัญญัติของศาสนาแห่งฟากฟ้า เนื่องจากว่าบรรดาศาสนาเหล่านั้น ต่างกล่าวถึงข้อสัญญา และบัญญัติเหล่านี้ไว้ทั้งสิ้น

โองการนี้กล่าวประณามการกระทำของพวกยะฮูดียฺ อย่างรุนแรง เนื่องจากพวกเขาบิดพลิ้วสัญญา และพระเจ้าทรงทำให้พวกเขาอัปยศอดสูในชีวิตทางโลกนี้ และได้รับการลงโทษอย่างรุนแรงในโลกหน้า

ตามความเป็นจริง พระเจ้าทรงอธิบายถึงวิสัยทัศน์ของพวกยิวไว้อย่างชัดเจนว่า พวกเขามิได้ติดตามสิ่งอื่นใด นอกจากทรัพย์สิน และชีวิตที่สะดวกสบายบนโลกนี้เท่านั้น พวกเขาจะยึดมั่นกฎหมายอย่างแข็งขัน ถ้ากฎหมายนั้น เอื้ออำนวยประโยชน์แก่พวกเขา และจะปฏิเสธกฎหมายทุกประเภท ที่สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของตน ด้วยเหตุนี้ โทษทัณฑ์ของพวกเขาจึงไม่ได้รับลดหย่อนแต่อย่างใด และไม่มีผู้ใดสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้

ประเด็นสำคัญ

การแบ่งแยกบทบัญญัติของพระเจ้า และวิสัยทัศน์

ดังกล่าวไปแล้วว่า อัล-กุรอานประณามการกระทำของพวกยิวอย่างรุนแรง ในฐานะที่พวกเขาแบ่งแยกบทบัญญัติของพระเจ้า และต่อต้านสิ่งเหล่านั้น พระองค์กล่าวคาดโทษพวกเขาไว้ว่าจะต้องได้รับการลงโทษอันแสนสาหัส เนื่องจากพวกเขาเลือกปฏิบัติเฉพาะบทบัญญัติเล็ก ๆ ส่วนบทบัญญัติใหญ่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่น บัญญัติที่ห้ามการหลั่งเลือด การขับไล่บุคคลอื่นออกจากเคหะสถาน พวกเขาฝ่าฝืนและปฏิบัติในทางตรงกันข้าม ดังนั้น ตามความเป็นจริงแล้วพวกเขาเลือกปฏิบัติเฉพาะบัญญัติที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง หรือสามารถปกป้องผลประโยชน์ของตนได้ การปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามบัญชาของพระเจ้า เนื่องจากเป้าหมายมิได้เป็นไปเพื่อพระเจ้า ทว่าเพื่อปกป้องผลประโยชน์เท่านั้น

อีกนัยหนึ่ง ผลของความศรัทธา และการยอมจำนนจะปรากฏชัดเจน เมื่อเขาให้ความเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายที่ขัดกับผลประโยชน์ของตน เนื่องจากการปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ปกป้องผลประโยชน์ของมนุษย์ ไม่ถือว่าเป็นเกียรติยศ และมิได้บ่งบอกว่าตนเป็นผู้มีความศรัทธามั่นคง ด้วยเหตุนี้ การจำแนกผู้ศรัทธาออกจากพวกหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิกีน) จะใช้วิธีการดังกล่าว ฉะนั้น จะเห็นว่าผู้ศรัทธายอมจำนนต่อบทบัญญัติของพระเจ้าทั้งหมด ส่วนพวกหน้าไหว้หลังหลอกจะเลือกปฏิบัติ และจะแบ่งบทบัญญัติเหล่านั้น อัล-กุรอานก ล่าวว่า บทสรุปของการกระทำเช่นนี้คือ ความอัปยศอดสูในชีวิตทางโลกนี้

แน่นอนว่าบทบัญญัติที่กล่าวมา มิได้เจาะจงเฉพาะพวกบนีอิสรออีลเท่านั้น แต่กล่าวไว้สำหรับประชาชาติทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์แล้วสำหรับมุสลิมในปัจจุบัน และเราเห็นแล้วว่าพวกที่แบ่งแยกบทบัญญัติของพระเจ้าประสบความหายนะอย่างเช่นไรบ้าง ช่างเป็นความอดสูเสียเหลือเกิน

โครงการสำหรับการคงอยู่ของประชาชาติ

โองการข้างต้น แม้ว่าจะกล่าวถึงพวกบนีอิสรออีลก็ตาม แต่เป็นกฎเกณฑ์สำหรับประชาชาติทั้งหลาย โองการกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้ประชาชาติดำรงอยู่ และกล่าวถึงรหัสแห่งความพ่ายแพ้

1. การดำรงอยู่ของประชาชาติหนึ่ง จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ นำตนไปสัมพันธ์กับจุดกำเนิดพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และขบวนการของพลังทั้งหลายต่างอาศัยแหล่งพลังนั้นที่เดียว และไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด ต้องเรียกร้องขอความช่วยเหลื่อเฉพาะจากแหล่งพลังนั้นอย่างเดียว ซึ่งได้แก่พระเจ้า พระองค์ทรงอยู่นิรันดร ไม่มีการดับสลาย และสูญสิ้น

2. อีกด้านหนึ่ง สำหรับการดำรงอยู่ตลอดไปของประชาชาติหนึ่งขึ้นอยู่กับความเป็นเอกภาพ และความสามัคคีระหว่างประชาชาติ และสิ่งนี้จะเป็นไปได้ เมื่อทุกคนให้ความเคารพต่อบิดามารดามากกว่าที่ทั้งสองรักและ ถนอมตน ลำดับต่อมาให้ความรักและให้เกียรติต่อเครือญาติสนิท ทำดีกับเพื่อนร่วมสังคมเพื่อว่าแต่ละคนจะได้เป็นบันไดก้าวไปสู่ด้านบนให้แก่กันและกัน โดยเฉพาะการช่วยเหลือจุนเจือผู้ที่อ่อนแอกว่า เพื่อว่าชีวิตของพวกเขาจะได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของความปลอดภัย

3. ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชาติหนึ่งต้องพบกับความล่มสลายคือ การแบ่งแยก หรือเลือกปฏิบัติบทบัญญัติตามเจตนารมณ์เสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์แก่ตน ส่วนบทบัญญัติที่เป็นประโยชน์กับสังคมส่วนรวม ไม่เอาใจใส่และละเว้นการปฏิบัติ

ฉะนั้น สิ่งที่กล่าวมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความก้าวหน้า หรือความล้าหลัง และความสูญสลายของสังคม

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม