เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 109-110 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


คำอธิบายโองการที่ 109-110 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

وَدَّ كثِيرٌ مِّنْ أَهْلِ الْكِتَبِ لَوْ يَرُدُّونَكُم مِّن بَعْدِ إِيمَنِكُمْ كُفَّاراً حَسداً مِّنْ عِندِ أَنفُسِهِم مِّن بَعْدِ مَا تَبَينَ لَهُمُ الْحَقُّ فَاعْفُوا وَ اصفَحُوا حَتى يَأْتىَ اللَّهُ بِأَمْرِهِ إِنَّ اللَّهَ عَلى كلِّ شىْء قَدِيرٌ (109) وَ أَقِيمُوا الصلَوةَ وَ ءَاتُوا الزَّكَوةَ وَ مَا تُقَدِّمُوا لأَنفُسِكم مِّنْ خَير تجِدُوهُ عِندَ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيرٌ (110)

ความหมาย

109. ส่วนมากจากหมู่ชาวคัมภีร์ เนื่องจากความอิจฉาริษยาจากตัวพวกเขาเอง ใคร่ที่จะให้สูเจ้ากลับใจเป็นผู้ปฏิเสธหลังจากการศรัทธาของสูเจ้า หลังจากสัจธรรมได้ประจักษ์แก่พวกเขาแล้ว ดังนั้น จงอภัยและจงยกโทษพวกเขา จนกว่าอัลลอฮฺ จะประทานบัญชา (การสงคราม) ของพระองค์ลงมา แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่ง

110. จงดำรงนมาซ และจงบริจาคซะกาต (ทานบังคับ) และจงประกอบความดีงามได้ไว้ล่วงหน้าเพื่อตัวสูเจ้า และสูเจ้าจะพบมัน ที่อัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงเห็นสิ่งที่สูเจ้าปฏิบัติ

คำอธิบาย ความริษยาที่น่ารังเกียจ

อัล-กุรอานโองการนี้ได้สั่งบรรดามุสลิมว่า เมือต้องเผชิญหน้ากับพวกที่ริษยา หรือพวกที่พยายามทำให้พวกเจ้าหลงทาง จงอภัยแก่พวกเขา และจงยกโทษให้พวกเขา จนกว่าพระเจ้าจะมีบัญชามายังพวกเจ้า ถ้าหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวต้องการเน้นย้ำแก่บรรดามุสลิมทั้งหลายว่า เมื่อต้องเผชิญกับการโฆษณาชวนเชื่อ และการบีบคั้นของบรรดาศัตรู บนเงื่อนไขเช่นนั้นสูเจ้าจงให้อภัยเป็นอาวุธ และจงสร้างตนเองและสังคมอิสลาม พร้อมกับรอบัญชาจากพระเจ้า

จุดประสงค์ของ บัญชา ในโองการดังกล่าวคือ การญิฮาด หรือสงครามศาสนา ซึ่งจนถึงบัดนั้นยังมิได้ถูกประทานลงมา บางที่อาจเป็นเพราะว่าขณะนั้นมุสลิมยังไม่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านกับคำสั่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ส่วนมากจึงเชื่อว่าบัญญัติของโองการนี้ถูกยกเลิกโดยโองการญิฮาด ซึ่งจะกล่าวอธิบายต่อไป

โองการถัดมา กล่าวถึง 2คำบัญชาแห่งการสร้างสรรค์ ที่ถูกประทานลงมาแก่บรรดาผู้ศรัทธา ประการแรก เกี่ยวกับนมาซ ซึ่งถือว่าเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ส่วนอีกประการหนึ่ง เกี่ยวกับซะกาต (ทานบังคับ) ซึ่งถือว่าเป็นรหัสแห่งการประสานสังคมให้มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน และทั้งสองคำบัญชาถือว่าจำเป็นอย่างยิ่งต่อชัยชนะที่มีเหนือศัตรู อัล-กุรอาน กล่าวว่า จงดำรงนมาซ และจงบริจาคซะกาต (ทานบังคับ) และจงพัฒนาร่างกายและจิตวิญญาณให้มีความแข็งแรงด้วยสื่อทั้งสอง

หลังจากนั้นเสริมว่า สูเจ้าจงอย่าคิดว่าความดีงามต่าง ๆ ที่กระทำไว้ หรือทรัพย์สินที่บริจาคบนหนทางของพระเจ้าจะสูญเปล่า มิได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่เป็นคุณงามความดีทั้งหลายที่สูเจ้ากระทำ และส่งไปล่วงหน้า สูเจ้าจะได้พบความดีเหล่านั้น ณ อัลลอฮฺ และพระองค์เท่านั้นที่ทรงรอบรู้ และทรงมองเห็นสิ่งที่สูเจ้ากระทำ และทรงรู้ดีว่าการงานใดบ้างที่สูเจ้ากระทำเพื่อพระองค์ หรือเพื่อสิ่งอื่น

ประเด็นสำคัญ

1. ประโยคที่กล่าวว่า วัซฟะฮู (وَاصفَحُوا ) มาจากรากศัพท์ของคำว่า เซาะฟะฮะ หมายถึง เชิงเขา หรือส่วนแบนของดาบ หรือหน้า โดยปกติแล้วประโยคนี้หมายถึง การกลับ หรือการยกเลิกความคิด ประกอบกับเครื่องหมายในประโยคที่ว่า จงอภัยพวกเขา ทำให้รู้ว่าการเมินหน้าออก มิได้เกิดจากความโกรธ หรือการไม่ศรัทธา
การกล่าวเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า มุสลิมในเวลานั้นมีอำนาจ และมีบารมีพอที่จะไม่อภัยแก่พวกเขา อีกทั้งยังสามารถเผชิญหน้ากับศัตรูได้อีกต่างหาก แต่ที่ประวิงเวลาไว้เพื่อต้องการจำแนกว่า บุคคลใดสามารถปรับปรุงแก้ไขได้บ้าง อันดับแรกจึงสั่งว่า จงอภัยและยกโทษแก่พวกเขา อีกนัยหนึ่งต้องการกล่าวว่า เมื่ออยู่ต่อหน้าศัตรู ไม่สมควรใช้ความรุนแรง แต่จงใช้มารยาทที่ดีของอิสลามเข้าแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากการอภัยและการยกโทษให้แก่พวกเขา ถ้าการอภัยไม่สัมฤทธิ์ผล จึงค่อยใช้ความรุนแรงในลำดับต่อมา

2. ประโยคที่กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่ง อาจเป็นไปได้ที่ต้องการบ่งชี้ว่า ในเวลานั้นพระเจ้าทรงสามารถทำให้พวกเจ้ามีชัยชนะเหนือศัตรูได้ โดยวิธีการที่ไม่เป็นธรรมชาติ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์ และโลกแห่งการสร้างสรรค์ การกระทำทุกอย่างจึงต้องค่อยเป็นค่อยไปตามขั้นตอน

3. ประโยคที่กล่าวว่า เนื่องจากความอิจฉาริษยาจากตัวพวกเขาเอง อุดมคติของพวกเขาคือ ความอิจฉาริษยาที่เกิดจากตัวเอง ในบางครั้งความริษยาอาจเป็นเป้าหมาย และให้สีสันแก่ศาสนาของตน แต่ความริษยาที่พวกเขามีบ่งบอกให้เห็นว่าไม่มีแม้แต่สีสันดังกล่าว ทว่าเป็นเรื่องส่วนตัวเสียมากว่า

ขณะที่อัล-กุรอาน กล่าวถึงความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของยะฮูดียฺ และคริสต์ ได้กล่าวถึงมาตรฐานความสุข ของโลกหน้าว่า อยู่ที่การยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้า

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม