เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 180- 181- 182 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

คำอธิบายโองการที่  180- 181- 182 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

 

كُتِب عَلَيْكُمْ إِذَا حَضرَ أَحَدَكُمُ الْمَوْت إِن تَرَك خَيراً الْوَصِيَّةُ لِلْوَلِدَيْنِ وَ الأَقْرَبِينَ بِالْمَعْرُوفِ حَقاًّ عَلى الْمُتَّقِينَ (180) فَمَن بَدَّلَهُ بَعْدَ مَا سمِعَهُ فَإِنَّمَا إِثْمُهُ عَلى الَّذِينَ يُبَدِّلُونَهُ إِنَّ اللَّهَ سمِيعٌ عَلِيمٌ (181) فَمَنْ خَاف مِن مُّوص جَنَفاً أَوْ إِثْماً فَأَصلَحَ بَيْنهُمْ فَلا إِثْمَ عَلَيْهِ إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَّحِيمٌ (182)

 

ความหมาย

180. ได้ถูกกำหนดสำหรับสูเจ้า เมื่อความตายได้กร่ำกรายมายังคนหนึ่งคนใดในหมู่สูเจ้า ถ้าเขาทิ้งสมบัติไว้การทำพินัยกรรมแก่ผู้บิดามารดา และบรรดาญาติสนิทโดยชอบธรรม เป็นหน้าที่แก่บรรดาผู้สำรวมตน

181. ถ้าผู้ใดเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมหลังจากเขาได้ยินมัน บาปจะตกแก่ผู้เปลี่ยนแปลงพินัยกรรมเท่านั้น แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงได้ยิน ทรงรอบรู้

182 . แต่ผู้ใดเกรงว่า ผู้ทำพินัยกรรมมีความไม่เป็นธรรมหรือทำผิด ก็ให้ประนีประนอมกันในระหว่างพวกเขา แล้วไม่มีบาปแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺ เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ

 

การสนับสนุนให้เขียนพินัยกรรมและปฏิบัติตาม

คำอธิบาย พินัยกรรมที่ดี

โองการต่อไปนี้กล่าวถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติ โดยถือว่าเป็นบัญญัติที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ตามหลักการอิสลามถือว่าทรัพย์สินที่พึงหามาได้อย่างถูกต้องตามหลักการ และใช้ไปเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม เป็นทรัพย์ที่มีความประเสริฐและมีสิริมงคลอย่างยิ่ง และต้องการบอกว่าแนวความคิดที่กล่าวว่า ตัวของทรัพย์เป็นสิ่งไม่ดีนั้นไม่ถูกต้อง

ขณะเดียวกันการกล่าวเช่นนี้ ต้องการบอกถึงความประณีตของทรัพย์สมบัติที่ถูกต้องตามศาสนบัญญัติ เนื่องจากทรัพย์ที่สั่งสมไว้บนความไม่ถูกต้อง และได้ละทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอดไม่มีความดีงาม แต่ทว่าแฝงไว้ด้วยความเลวร้าย และความอับโชค

รายงานบางบทกล่าวว่า คำว่า ค็อยรุน ตามที่โองการกล่าวถึง หมายความว่าทรัพย์สมบัติที่คู่ควรแก่การพิจารณา ดังนั้น ถ้าเป็นสมบัติเพียงเล็กน้อยก็ไม่จำเป็นต้องเขียนพินัยกรรม แต่ให้แบ่งไปตามเงื่อนไขของการแบ่งมรดกตามที่อัล-กุรอานกำหนด

ประโยคที่กล่าวว่า เมื่อความตายได้กร่ำกรายมายังคนหนึ่งคนใดในหมู่สูเจ้า ต้องการอธิบายถึงช่วงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิตจำเป็นต้องเขียนพินัยกรรม ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่มีเวลาเขียนอีกต่อไป แต่เป็นการดีกว่าถ้าคนเราจะเขียนพินัยกรรมก่อน ขณะที่ตนยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ ซึ่งรายงานจากบรรดาอิมาม (อ.) กล่าวว่า การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง

อัล-กุรอานวางเงื่อนไขโดยใช้คำว่า มะอฺรูฟ ตามโองการข้างต้น ต้องการบอกว่า พินัยกรรมต้องเป็นสิ่งที่สติปัญญายอมรับได้ เนื่องจากคำนี้หมายถึง ชอบธรรม หรือการรู้จัก ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนทรัพย์ หรือชื่อที่ระบุในพินัยกรรม และอื่น ๆ ต้องเป็นสิ่งที่สติปัญญายอมรับ และถือว่านั้นเป็นสิ่งดี มิใช่เป็นการแบ่งชั้นวรรณะ หรือเป็นสาเหตุให้ทายาทวิวาท หรือหลงทางออกไปจากความถูกต้อง และความยุติธรรม

โองการถัดมากล่าวว่าเมื่อพินัยกรรมมีคุณสมบัติพร้อมตามที่กล่าวมา ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้เกียรติและมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมจึงเป็นสิ่งต้องห้ามและฮะรอม บางทีโองการข้างต้นต้องการบอกว่า ผู้ที่เปิดพินัยกรรม หรือผู้ที่ต้องปฏิบัติตามพินัยกรรมกระทำสิ่งที่ขัดแย้งกับพินัยกรรม ไม่เป็นสาเหตุทำลายผลรางวัลของผู้เขียนพินัยกรรม ผู้เขียนได้รับรางวัลของตนแล้ว บาปกรรมตกแก่ผู้ที่เปลี่ยนแปลงพินัยกรรมทั้งวิธีการ จำนวน หรือเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

หรือวัตถุประสงค์อาจหมายถึง ถ้าผู้ปฏิบัติกระทำสิ่งที่ขัดแย้งกับพินัยกรรม หมายถึงมอบทรัพย์สมบัติแก่ผู้ไม่มีสิทธิ์รับสมบัติเหล่านั้น บาปกรรมมิได้ตกแก่ผู้เขียน แต่ตกแก่ผู้ประพฤติผิดพินัยกรรม เนื่องจากกระทำสิ่งที่ขัดแย้ง

โองการถัดมากล่าวถึงคำว่า ญะนะฟุน ซึ่งอยู่บนรูปของ กะนะฟุน หมายถึง การหันเหออกไปจากความจริงยังด้านใดด้านหนึ่ง ต้องการบอกว่า การไม่ชอบธรรมเกิดขึ้นบนความไม่รู้ของผู้เขียนพินัยกรรม ส่วนคำว่า อิซมัน บ่งบอกถึงความผิดโดยตั้งใจ

และบทบัญญัติของอิสลามเกี่ยวกับพินัยกรรม กล่าวอย่างชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมไม่ว่ากรณีใด ๆ และไม่ว่าจะมากหรือน้อยล้วนเป็นบาปทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามทุก ๆ ตัวบทกฎหมายย่อมมีการละเว้น ด้วยเหตุนี้ การยกเว้นจึงเป็นผลในกรณีที่พินัยกรรมเขียนไม่ถูกต้อง หรือไม่มีความเหมาะสมแต่อย่างใดทั้งสิ้น ตรงนี้ตัวแทนจึงมีสิทธิเปลี่ยนพินัยกรรมตามความเหมาะสมตามศาสนบัญญัติ แต่ถ้าผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ให้แจ้งข่าวถึงความผิดพลาด เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเสียชีวิตไปแล้วตัวแทนเท่านั้นที่มีสิทธิในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ในทัศนะของกฎหมายอิสลามแยกเป็นประเด็นดังนี้

1. ถ้าพินัยกรรมระบุทรัพย์สินเกิน 1 ใน 3 ของทรัพย์ทั้งหมด เนื่องจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิมาม (อ.) กล่าวว่าพินัยกรรมต้องกำหนดทรัพย์ไม่เกิน 1 ใน 3 ถ้ามากเกินจากนั้นไม่อนุญาต

2. ถ้าพินัยกรรมแสดงการกดขี่ หรือกระทำสิ่งที่ผิดพลาด เช่น กำหนดว่าทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้ใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนองค์กรที่ก่อความเสียหาย หรือพินัยกรรมที่ละเว้นสิ่งวาญิบ

3. พินัยกรรมเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท หรือสร้างความเสื่อมเสีย หรือต้องนองเลือด ดังนั้น กรณีเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขภายใต้ทัศนะของนักปราชญ์ หรือผู้ปกครองตามหลักการอิสลาม

ประเด็นสำคัญ

ปรัชญาของการเขียนพินัยกรรม

ตามเงื่อนไขของมรดกมีเครือญาติเพียงกลุ่มเดียวที่มีสิทธิได้รับมรดก ขณะที่พี่น้องคนอื่น ๆ หรือบางที่อาจเป็นเพื่อนฝูง หรือคนรู้จัก หรือคนใกล้ชิดคนอื่น ๆ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการเงิน

หรือผู้มีสิทธิรับมรดกบางที่จำนวนมรดกที่ได้รับอาจไม่เพียงพอกับความต้องการ ด้วยเหตุนี้ นอกจากมรดกแล้วยังมีกฎเกณฑ์ของพินัยกรรมเคียงคู่กับมรดก ซึ่งกฎดังกล่าวอนุญาตให้มุสลิมมีสิทธิ์ตัดสินใจ 1 ใน 3 ของทรัพย์ของตนหลังจากเสียชีวิตแล้ว

นอกเหนือจากนี้แล้ว บางที่บุคคลนั้นต้องการทำความดีในช่วงที่มีชีวิต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ สติปัญญาเองยอมรับว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดหลังเสียชีวิตไปแล้วสมควรทำให้กับเขา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญส่งเสริมให้มีการเขียนพินัยกรรมตามหลักการอิสลาม

รายงานจำนวนมากมายเน้นเรื่องการเขียนพินัยกรรมเอาไว้ เช่น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ถ้าหากมุสลิมตายไปโดยไม่ได้เขียนพินัยกรรม ถือว่าตายอย่างผู้โง่เขลา [46]

ความเป็นธรรมของพินัยกรรม

รายงานอิสลามจำนวนมากมายเน้นเรื่องความยุติธรรม และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อย่างฉ้อฉล และอย่ากดขี่ข่มเหง หรืออย่าสร้างความเสียหายในพินัยกรรมเด็ดขาด นั่นหมายถึงว่าพินัยกรรมเป็นสิ่งที่ดี การไม่ใส่ใจต่อพินัยกรรมย่อมได้รับการตำหนิ และเป็นบาปใหญ่ อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า บุคคลที่ให้ความเป็นธรรมในพินัยกรรม ประหนึ่งว่าเขาได้ใช้จ่ายทรัพย์สินในหนทางของพระเจ้าขณะที่ยังมีชีวิต ส่วนบุคคลที่ไม่ใส่ใจต่อพินัยกรรม ในวันฟื้นคืนชีพ พระเจ้าจะถอดถอนความเมตตาออกจากเขา

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม