เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 183- 184- 185 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

คำอธิบายโองการที่ 183- 184- 185 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

 

يَأَيُّهَا الَّذِينَ ءَامَنُوا كُتِب عَلَيْكمُ الصيَامُ كَمَا كُتِب عَلى الَّذِينَ مِن قَبْلِكمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ (183) أَيَّاماً مَّعْدُودَت فَمَن كانَ مِنكُم مَّرِيضاً أَوْ عَلى سفَر فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّام أُخَرَ وَ عَلى الَّذِينَ يُطِيقُونَهُ فِدْيَةٌ طعَامُ مِسكِين فَمَن تَطوَّعَ خَيراً فَهُوَ خَيرٌ لَّهُ وَ أَن تَصومُوا خَيرٌ لَّكمْ إِن كُنتُمْ تَعْلَمُونَ (184) شهْرُ رَمَضانَ الَّذِى أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْءَانُ هُدًى لِّلنَّاسِ وَ بَيِّنَت مِّنَ الْهُدَى وَ الْفُرْقَانِ فَمَن شهِدَ مِنكُمُ الشهْرَ فَلْيَصمْهُ وَ مَن كانَ مَرِيضاً أَوْ عَلى سفَر فَعِدَّةٌ مِّنْ أَيَّام أُخَرَ يُرِيدُ اللَّهُ بِكمُ الْيُسرَ وَ لا يُرِيدُ بِكمُ الْعُسرَ وَ لِتُكمِلُوا الْعِدَّةَ وَ لِتُكبرُوا اللَّهَ عَلى مَا هَدَاكُمْ وَ لَعَلَّكمْ تَشكُرُونَ (185)

ความหมาย

183 . บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดได้ถูกำหนดสำหรับสูเจ้า ดังที่ได้ถูกกำหนดสำหรับบรรดาก่อนหน้าสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้สำรวมตนจากความชั่ว

184 .วันต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้ (ต้องถือศีลอด) ผู้ใดในหมู่สูเจ้าป่วย หรืออยู่ระหว่างเดินทาง ก็ให้ถือศีลอดในวันอื่น (ชดเชย) และสำหรับผู้ที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ (เช่น คนป่วย คนชรา) ต้องชดเชยด้วยการให้อาหารแก่ผู้ขัดสน และผู้ใดสมัครใจทำความดีย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับเขา และถ้าสูเจ้าถือศีลอดยิ่งดีกว่าสำหรับสูเจ้า หากสูเจ้ารู้

185 . เดือนเราะมะฏอนคือเดือนที่อัล-กุรอานได้ถูกประทานลงมา เพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษย์ เป็นหลักฐานอันแจ้งชัดแห่งทางนำ และเป็นข้อจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้น ผู้ใดในหมู่สูเจ้าอยู่ในเดือนนี้ต้องถือศีลอด และผู้ใดป่วย หรืออยู่ระหว่างการเดินทาง ก็ให้ถือศีลอด (ชดเชย) ในวันอื่น อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้สูเจ้ามีความสะดวก มิใช่ประสงค์ให้สูเจ้าลำบาก จุดประสงค์คือให้สูเจ้าถือศีลอดให้ครบถ้วน และเพื่อสูเจ้าจะได้แซ่ซร้องความเกรียงไกรของอัลลอฮฺ ที่พระองค์ได้นำทางสูเจ้า และเพื่อสูเจ้าจะได้ขอบคุณ

 

ศีลอดในเดือนเราะมะฎอนคือแหล่งของความสำรวม

คำอธิบาย

อัล-กุรอานกล่าวถึงบทบัญญัติสำคัญอีกหลายประการต่อจากเรื่องพินัยกรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การถือศีลอด อัล-กุรอานเน้นว่า การถือศีลอดเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการอบรมจิตวิญญาณ และความสำรวมตนจากบาปกรรมต่าง ๆ ในทุกที และทุกแนวความคิด เนื่องจากการถือศีลอดเป็นการตัดขาดความสุขทางวัตถุปัจจัยชั่วคราว และต้องเผชิญกับความยากลำบากของสภาพแวดล้อม และอุปสรรคต่าง ๆ รอบด้าน โองการข้างต้นกล่าวอธิบายในลีลาต่าง ๆ เพื่อต้องการให้จิตวิญญาณของมนุษย์น้อมรับหลักการดังกล่าว

อันดับแรกกล่าวด้วยการให้เกียรติว่า โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย หลังจากนั้นตรัสว่า ศีลอดไม่ใช่หลักการที่กำหนดสำหรับสูเจ้าเท่านั้น แต่เคยกำหนดสำหรับประชาชาติก่อนหน้าสูเจ้ามาแล้ว

หลังจากนั้นพระองค์ตรัสถึงปรัชญาของการถือศีลอดว่า มีผลลัพธ์มากมาย ซึ่งผล เหล่านั้นล้วนย้อนกลับไปหาสูเจ้าทั้งสิ้น อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า การที่พระองค์ตรัสว่า บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย บ่งบอกถึงการให้เกียรติ และความไพเราะของภาษา ทำให้ลืมความยากลำบากของการถือศีลอดจนหมดสิ้น[47]

โองการข้างต้นนอกจากอธิบายถึงหลักการของศีลอดแล้ว ยังกล่าวถึงคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับศีลอดอีกว่า วันต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้ (ต้องถือศีลอด) หมายความว่าพระองค์ไม่ได้บังคับให้มนุษย์ถือศีลอดทั้งปี หรือถือในช่วงที่จำเป็นและมีความสำคัญ แต่ศีลอดเป็นหลักการเล็กน้อยที่ทรงกำหนดแก่มนุษย์

ประการที่สอง นอกจากนี้พระองค์ยังให้โอกาสแก่บุคคลที่ไม่มีความสามารถในการถือศีลอดว่า ถ้าสูเจ้าไม่สบายหรืออยู่ระหว่างการเดินทาง การถือศีลอดเป็นเรื่องยุ่งยาก และสร้างความลำบากแก่สูเจ้า พระองค์ทรงยกเว้นให้โดยไม่ต้องถือศีลอดในช่วงนั้น แต่ให้สูเจ้าถือศีลอดชดเชยในวันอื่นที่มีความสะดวก

ประการที่สาม บุคคลที่ไม่มีความสามารถถือศีลอดได้ หรือการถือศีลอดเป็นเรืองที่ยากลำบากสำหรับพวกเขา เช่น คนชรา หรือคนป่วย บุคคลเหล่านี้การถือศีลอดไม่เป็นประโยชน์สำหรับเขา ก็ไม่จำเป็นต้องถือศีลอด แต่แทนที่การถือศีลอดให้จ่ายค่าปรับเป็นการชดเชย หรือให้อาหารแก่ผู้ขัดสนทั้งหลาย ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นผลดีสำหรับสูเจ้าอย่างยิ่ง

สุดท้ายโองการกล่าวว่า การถือศีลอดเป็นสิ่งดีสำหรับสูเจ้า ถ้าสูเจ้ารู้ถึงคุณประโยชน์ของมัน ปัจจุบันวงการแพทย์ต่างยอมรับว่า การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนตามหลักการอิสลาม เป็นสิ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพพลานามัยของคนเรา

ประโยคที่กล่าวว่า ยากลำบากหรือไร้ความสามารถ (ยุฏีกูนะฮู) ในโองการข้างต้นประกอบกับ คำสรรพนามในตอนท้ายประโยคย้อนกลับไปหา ศีลอด จึงหมายถึง สำหรับการถือศีลอดจำเป็นต้องใช้ความสามารถทั้งหมดที่มี หมายถึง ผู้ถือศีลอดต้องเผชิญกับความลำบากอย่างแน่นอน กรณีคนป่วย หรือคนชราที่ไม่มีวันรักษาหายได้จึงได้รับการยกเว้น เป็นกรณีพิเศษ และแทนที่การถือศีลอดให้จ่าย ฟิดยะฮฺ แทน หมายถึงจ่ายอาหารจำนวนหนึ่งแก่คนยากจนแทนการถือศีลอด

โองการถัดมากล่าวถึงกฎบัญญัติบางประการ ปรัชญาต่าง ๆ ของศีลอด หลังจากนั้นกล่าวถึงระเบียบของคนเดินทาง และคนป่วย การที่โองการกล่าวบทบัญญัติซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ต้องการบอกแก่บางคนที่คิดว่า การละศีลอดในกรณีที่มีความจำเป็น เป็นสิ่งไม่ดี ด้วยเหตุนี้ เวลาเดินทาง หรือป่วยพวกเขาก็ยังถือศีลอด ซึ่งคิดว่าการไม่ถือศีลอดเป็นสิ่งไม่ดี ดังนั้น อัล-กุรอาน จึงประทานลงมาเพื่ออธิบายกฎเกณฑ์แก่มุสลิมทั้งหลายให้เข้าใจว่า การถือศีลอดเป็นข้อบังคับสำหรับมุสลิมที่มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ และการไม่ถือศีลอดสำหรับคนป่วย หรือผู้เดินทางก็เป็นคำสั่งของพระเจ้าเช่นกัน ดังนั้น การฝ่าฝืนถือเป็นบาป

สุดท้ายของโองการกล่าวเน้นถึงปรัชญาของการถือศีลอดอีกครั้งหนึ่งว่า อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้สูเจ้ามีความสะดวก มิใช่ประสงค์ให้สูเจ้าลำบาก แม้ว่าการถือศีลอดภายนอกจะมองดูว่าเป็นสิ่งยากลำบาก และมีเงื่อนไขยุ่งยากพอสมควร แต่บั้นปลายสุดท้ายเป็นความสะดวกสบายสำหรับมนุษย์ ทั้งด้านจิตใจ และด้านร่างกาย สิ่งที่โองการต้องการกล่าวคือ บัญชาของพระเจ้าไม่เหมือนกับบัญชาของผู้กดขี่ทั้งหลาย ซึ่งจะเห็นว่ากรณีที่การปฏิบัติเป็นเรื่องยุ่งยาก พระองค์จะผ่อนปรนให้สะดวกสบายขึ้น ฉะนั้น การถือศีลอดแม้ว่าจะมีความสำคัญเพียงใด แต่สำหรับคนป่วย หรือคนเดินทาง หรือบุคคลที่ไร้ความสามารถ ต่างได้รับการยกเว้นทั้งสิ้น อัล-กุรอาน กล่าวเสริมว่า จุดประสงค์คือให้สูเจ้าถือศีลอดให้ครบถ้วน หมายถึงสำหรับบุคคลที่มีสุขภาพสมบูรณ์ เป็นข้อบังคับสำหรับพวกเขาที่ว่า ในหนึ่งปีต้องถือศีลอดเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในเดือนเราะมะฎอน ถ้าไม่สบาย หรือเดินทางไกล ไม่ต้องถือศีลอดแต่ให้ไปถือชดเชยในวันอื่นที่มีความสะดวก เพื่อให้เวลาที่กำหนดไว้สมบูรณ์ แม้แต่หญิงที่มีระดูได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนมาซชดเชย แต่ต้องถือศีลอดชดเชยที่ขาดไป

ประโยคสุดท้ายที่โองการกล่าวถึงคือ เพื่อสูเจ้าจะได้แซ่ซร้องความเกรียงไกรของอัลลอฮฺ ที่พระองค์ได้นำทางสูเจ้า และเพื่อสูเจ้าจะได้ขอบคุณ
ประเด็นสำคัญ

ผลการอบรม สังคม และอานามัยของศีลอด

ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของศีลอดคือ ทำให้จิตวิญญาณของมนุษย์อ่อนโยน จุดมุ่งหมายมั่นคง และควบคุมอารมณ์ความต้องการให้พอดีมีความสมดุล ผู้ที่ถือศีลอดต้องเผชิญกับความหิวกระหาย ความต้องการต่าง ๆ และความสุขทางกามรมย์ แต่เขาได้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตของตนไม่เหมือนกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เสพสุขอยู่บนทุ่งหญ้าเขียวขจี เขาสามารถควบคุมอารมณ์ฝ่ายต่ำของตนเองได้เป็นผลสำเร็จ ทว่าปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ของศีลอดก็คือ ผลที่มีต่อจิตวิญญาณและศีลธรรมของมนุษย์

ฉะนั้น ในความเป็นจริงจะเห็นว่าศีลอด เป็นปัจจัยสำคัญ ที่พัฒนามนุษย์ให้หลุดพ้นจากโลกของความเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปสู่มิติของความเป็นเทวทูต ดังประโยคที่กล่าวว่า เพื่อสูเจ้าจะได้สำรวมตนจากความชั่วรายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) กล่าวว่า ศีลอดคือ โล่ป้องกันไฟนรก ทั้งสองบ่งชี้ถึงประเด็นที่กำลังกล่าวถึง

ผลด้านสังคมของศีลอด

ไม่เป็นที่คลางแคลงใจสำหรับทุกคนว่า ศีลอดคือบทเรียนที่เท่าเทียมกันของสมาชิกทุกคนในสังคม อิมามซอดิก (อ.) กล่าวตอบ ฮิชาม บุตรของ ฮะกัม ที่ถามเกี่ยวกับการกำหนดการถือศีลอดว่า สาเหตุที่ศีลอดเป็นวาญิบ เนื่องจากพระเจ้าทรงปรารถนาให้บังเกิดความเท่าเทียมกันในหมู่ปวงบ่าวระหว่างคนรวยกับคนจน และให้คนรวยได้สัมผัสกับความหิวโหย เพื่อว่าเขาจะได้คืนสิทธิแก่คนยากจน เนื่องจากคนรวยไม่ว่าต้องการสิ่งใด สามารถจัดหาได้ทั้งสิ้น ดังนั้น พระเจ้าทรงปรารถนาให้บังเกิดความเท่าเทียมกันในหมู่ปวงบ่าว เพื่อให้คนรวยได้ลิ้มรสความหิวกระหาย จะได้เมตตาต่อคนยากจนที่หิวและกระหาย

ผลทางสุขภาพอานามัยของศีลอด

วงการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบัน และแผนโบราณได้พิสูจน์แล้วว่า การงดการกินการดื่มสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมาย เนื่องจากเป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ว่า ปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ คือ การบริโภคอาหารมากมายหลายชนิด พลังงานส่วนเกินที่ไม่ได้ถูกเผาไหม้จึงกลายเป็นไขมันส่วนเกิน เกาะตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือกลายเป็นไขมัน หรือน้ำตาลในเส้นเลือดเป็นแหล่งเพราะพันธ์ของเชื้อโรค และอาการป่วยไข้ทั้งหลาย วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ การงดการกินการดื่มที่มากเกินไป หรือถือศีลอด มิใช่การรับประทานยาลดความอ้วน ละลายไขมัน หรือการผ่าตัดเพื่อลอกไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย การถือศีลอด จะช่วยเผาไหม้ขยะที่เป็นส่วนเกิน ซึ่งร่างกายไม่ต้องการ ออกไปจากร่างกาย เท่ากับว่าทำความสะอาดร่างกายซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่งให้สะอาดหน้าอยู่อาศัย

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า จงถือศีลอดเพื่อร่างกายจะได้แข็งแรง

ศีลอดของชนก่อนหน้านี้

คัมภีร์เตารอตและอิลญิน กล่าวถึงการถือศีลอดในหมู่พวกยิว และคริสต์ และของประชาชาติอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นเมื่อยามที่เผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ คัมภีร์เตารอตกล่าวว่า ศาสดามูซา (อ.) ถือศีลอดนาน 40 วัน เช่นเดียวกันขณะที่วิงวอนขออภัย และขอความพึงพอพระทัยจากพระเจ้า บรรดายะฮูดีย์ในสมัยนั้นร่วมกันถือศีลอด และคัมภีร์อิลญิลกล่าวว่า ศาสดาอีซา (อ.) ถือศีลอดเป็นเวลา 40 วัน เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ เมื่ออัล-กุรอาน กล่าวว่า การถือศีลอดได้ถูกกำหนดสำหรับบรรดาก่อนหน้าสูเจ้ามิได้เป็นการลอย ๆ แต่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันให้เห็นอย่างมากมาย ในแหล่งอ้างอิงของศาสนาอื่น แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ตาม

ความพิเศษของเดือนเราะมะฎอน

การที่พระเจ้าทรงเลือกเดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งการถือศีลอด เนื่องจากโองการข้างต้นได้กล่าวถึงความพิเศษของเดือนนี้ไว้ว่า เป็นเดือนแห่งการประทานอัล-กุรอาน รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) กล่าวยืนยันว่า บรรดาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ของพระเจ้าทั้ง เตารอต อิลญิล ซะบูร ซุฮุบ และอัล-กุรอาน ล้วนถูกประทานในเดือนนี้ทั้งสิ้น

อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า คัมภีร์เตารอตถูกประทานลงมาในวันที่ 6 เดือนเราะมะฎอน อิลญิลถูกประทานลงมาในวันที่ 12 ซะบูรถูกประทานลงมาในวันที่ 18 และอัล-กุรอานถูกประทานลงมาในค่ำคืนแห่งเกียรติยศ ลัยละตุลก็อดร์ [48]

ฉะนั้นจะเห็นว่าเดือนเราะมะฎอนคือ เดือนแห่งการประทานคัมภีร์ต่าง ๆ แห่งฟากฟ้า เดือนแห่งการอบรมสั่งสอน ซึ่งการอบรมสั่งสอนของศีลอดจำเป็นอย่างยิ่งต้องศึกษารายละเอียด อันลึกซึ้งเพื่อปลดเปลื้องร่างกายและจิตวิญญาณที่สกปรกโสมมให้สะอาดบริสุทธิ์จากบาปกรรมต่าง ๆ

กฎเกณฑ์ที่ว่าต้องไม่ลำบาก

โองการข้างต้นกล่าวว่า อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้สูเจ้ามีความสะดวก มิใช่ประสงค์ให้สูเจ้าลำบาก ต้องการกล่าวถึงปัญหาการถือศีลอด ประโยชน์ การป่วยไข้ และกฎเกณฑ์ของการเดินทาง กฎเกณฑ์ที่ว่าต้องไม่ลำบาก กล่าวว่า พื้นฐานของบัญญัติในอิสลามคือ ต้องไม่ยุ่งยาก มีความสะดวกสบายในการปฏิบัติ และที่ใดก็ตามถ้าเห็นว่าการปฏิบัติเป็นเรื่องยุ่งยาก และมีความยากลำบาก กฎเกณฑ์นั้นจะถูกถอดถอนชั่วคราว ดังที่บรรดาปวงปราชญ์กล่าวว่า ถ้าวุฎูอฺเป็นเรื่องยุ่งยาก ให้แทนที่ด้วยการตะยัมมุม หรือถ้ายืนนมาซมีความลำบากอย่างยิ่งให้นั่งนมาซแทน

โองการที่ 78 บท อัลฮัจญฺ กล่าวว่า พระองค์ทรงคัดเลือกพวกเจ้า และพระองค์มิได้ทรงทำให้ศาสนาเป็นเรื่องลำบากสำหรับเจ้า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ฉันได้รับการแต่งตั้งเพื่อศาสนาที่สะดวกและง่ายดาย เป็นการบ่งชี้ถึงประเด็นที่กำลังกล่าวถึง

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม