เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 186 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

คำอธิบายโองการที่ 186 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

 

وَ إِذَا سأَلَك عِبَادِى عَنى فَإِنى قَرِيبٌ أُجِيب دَعْوَةَ الدَّاع إِذَا دَعَانِ فَلْيَستَجِيبُوا لى وَ لْيُؤْمِنُوا بى لَعَلَّهُمْ يَرْشدُونَ (186)

 

ความหมาย

186. เมื่อปวงบ่าวของฉันถามเจ้าเกี่ยวกับฉัน (จงตอบเถิดว่า) แท้จริงฉันอยู่ใกล้ชิด ฉันตอบรับคำวิงวอนขอของผู้วิงวอนเมื่อเขาวิงวอนต่อฉัน ดังนั้น ให้เขาตอบรับคำเชิญชวนของฉัน และศรัทธาต่อฉัน เพื่อพวกเขาจะได้อยู่ในหนทางที่ถูก (ไปถึงยังจุดหมาย)

คำวิงวอนโดยตรงระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า

สาเหตุของการประทานโองการ

มีผู้ถามท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดกับเราหรือ พวกเราจะได้กระซิบคำวิงวอนของพวกเราด้วยเสียงแผ่วเบา หรือว่าพระองค์ทรงอยู่ห่างไกลจากพวกเรา พวกเราจะได้วิงวอนด้วยเสียงดัง โองการข้างต้นจึงได้ประทานลงมา เพื่อตอบแก่พวกเขาว่า พระเจ้าทรงอยู่ใกล้ชิดกับปวงบ่าวทั้งหลาย

คำอธิบาย ดุอาอฺหรือคำวิงวอนคือ อาวุธ

สื่อประการหนึ่งที่เชื่อมต่อระหว่างปวงบ่าวกับพระผู้เป็นเจ้าคือ ดุอาอฺและคำวิงวอน โองการข้างต้นกล่าวกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ความพิเศษของโองการอยู่ที่ว่าโองการกล่าวถึง อาตมันบริสุทธิ์ของพระองค์ถึง 7 ครั้ง และทั้งเจ็ดครั้งพระองค์ทรงเชิญชวนให้มนุษย์ให้สร้างตนเองด้วยความสัมพันธ์สุดท้าย ความใกล้ชิด และความรักที่มีต่อพระองค์

อับดุลลอฮฺ บุตรของ ซินานกล่าวว่า ฉันได้ยินท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า จงกล่าวดุอาอฺให้มาก เนื่องจากดุอาอฺคือ การประทานของพระเจ้า และเป็นสื่อนำไปถึงยังทุก ๆ ความปรารถนาของตน ความโปรดปรานและความเมตตา ณ พระผู้อภิบาลไม่อาจเข้าถึงได้ นอกจากการดุอาอฺ และจงพึงสังวรไว้เถิดว่าทุก ๆ ประตูที่ได้วิงวอนได้ส่งผลถึงบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิต

ประเด็นสำคัญ

ปรัชญาของดุอาอฺและคำวิงวอน

บรรดาที่ไม่รู้จักแก่นแท้และวิญญาณของดุอาอฺ ตลอดจนผลของการอบรมสั่งสอนและจิตวิทยา มักจะมีข้อท้วงติงเกี่ยวกับดุอาอฺเสมอ บางครั้งพวกเขากล่าวว่า ดุอาอฺคือปัจจัยที่ทำให้ล้าหลังและทำให้มนุษย์เกียจคร้าน เนื่องจากประชาชนแทนที่จะขวนขวาย และพยายามในหน้าที่การงานของตน หรือใช้เครื่องมือที่มีความก้าวหน้า เพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่กลับยกมือขอดุอาอฺ

บางครั้งกล่าวว่า การดุอาอฺเป็นการก้าวก่ายภารกิจของพระเจ้า เนื่องจากพระองค์ทรงทราบดีว่า สมควรจะทำอย่างไร พระองค์ทรงรักปวงบ่าว ฉะนั้น พระองค์ทรงทราบดีว่าสิ่งใดสมควร และสิ่งใดไม่สมควรสำหรับมนุษย์ ดังนั้น เป็นเพราะเหตุอันใด ที่เราต้องดุอาอฺทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อทูนขอในสิ่งที่เราปรารถนา

บางครั้งพูดว่า การดุอาอฺไม่ขัดแย้งกับตำแหน่งของการนอบน้อม และความพึงพอใจต่อหน้าความประสงค์ของพระองค์ดอกหรือ

พวกเขากล่าวท้วงติงต่าง ๆ นานา ทั้งที่พวกเขาลืมเลือนผลทางด้านจิตวิทยา สังคม และการอบรมสั่งสอนด้านจิตวิญญาณ เนื่องจากเมื่อมนุษย์ต้องการสร้างเป้าหมายให้แข็งแกร่ง และขจัดความต้องการของตนจำเป็นต้องมีที่อิงอาศัย ดุอาอฺเปรียบเสมือนประทีปที่สว่างไสวในตัวมนุษย์

นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งกล่าวว่า การปราศจากคำวิงวอนของประชาชาติหนึ่ง เทียบเท่าความล่มจมของประชาชาตินั้น สังคมมีความต้องการในคำวิงวอนแต่สิ่งนั้นตนได้ทำลายจนหมดสิ้น ซึ่งปกติแล้วสังคมเช่นนี้จะไม่มีวันบริสุทธิ์จากความเสื่อมทรามและความหายนะเด็ดขาด

บรรดาที่เชื่อว่าดุอาอฺเป็นสิ่งทำให้มึนงง นั่นเป็นเพราะว่าไม่เข้าใจความหมายของดุอาอฺ เนื่องจากดุอาอฺไม่ได้หมายความว่าให้มนุษย์ถอดถอนตัวเองออกจากสื่อ หรือสาเหตุที่เป็นธรรมชาติ และแทนที่สิ่งเหล่านั้นด้วยดุอาอฺ แต่จุดประสงค์หมายถึง หลังจากพยายามถึงที่สุด และใช้สื่อทุกอย่างที่มีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือเราเข้าไปไม่ถึงเป้าหมาย หรือพบกับทางตัน ดังนั้น วิธีสุดท้ายเราจึงดุอาอฺกับพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้พระองค์ทรงช่วยเหลือในความสำเร็จ ซึ่งการพึ่งพิงพระเจ้าเป็นสาเหตุทำให้จิตวิญญาณ และความหวังของเรามีชีวิต และมีการขับเคลื่อน และจากการช่วยเหลือที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์ เราจึงดุอาอฺกับพระองค์ เพื่อคาดหวังกับพระองค์ ดังนั้น ดุอาอฺคือ เครื่องมือเฉพาะเจาะจงเมื่อมนุษย์พบกับทางตัน มิใช่ปัจจัยที่มาแทนที่ปัจจัยทางธรรมชาติ

อีกนัยหนึ่ง ดุอาอฺเป็นสื่อสร้างสรรค์ทำให้มนุษย์ได้สัมผัสกับความเมตตา และความดีงามของพระองค์มากยิ่งขึ้น แน่นอนว่า การขวนขวายพยายามเพื่อความสมบูรณ์ หรือการค้นหาความดีงามมากขึ้น ก็คือการยอมจำนนต่อกฎเกณฑ์แห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์ มิใช่สิ่งที่ขัดแย้ง

ดุอาอฺเป็นการแสดงความเคารพภักดี และการนอบน้อมของปวงบ่าว ซึ่งดุอาอฺนั่นเองทำให้มนุษย์มุ่งมั่นต่ออาตมันบริสุทธิ์ของพระองค์มากยิ่งขึ้น และเหมือนกับการแสดงความเคารพภักดีอื่น ๆ ที่ส่งผลด้านการอบรมสั่งสอน ดุอาอฺก็ให้ผลดังกล่าวเช่นกัน

ดุอาอฺมิได้เป็นการก้าวก่ายกิจการงานของพระเจ้าแต่อย่างใด อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ณ พระผู้อภิบาลมีตำแหน่งมากมาย ถ้าปราศจากดุอาอฺจะไม่มีวันไปถึงยังตำแหน่งเหล่านั้นได้[49]

ความหมายที่แทัจริงของดุอาอฺ

ดุอาอฺคือ การวิงวอนให้สาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่นอกอำนาจของมนุษย์ จากผู้ที่อำนาจของพระองค์ไม่มีทีสิ้นสุด และทุกการงานสำหรับพระองค์คือความง่ายดาย แต่การวิงวอนเหล่านี้ต้องไม่ออกมาจากปากเพียงอย่างเดียว แต่ต้องออกมาจากทุกส่วนของร่างกาย ลิ้นเป็นเพียงตัวแทนที่ถ่ายทอดความต้องการ และความรู้สึกต่าง ๆ จากส่วนที่เล็กที่สุดของมนุษย์ และอวัยวะทุกส่วนบนร่างกาย ดุอาอฺทำให้หัวใจและจิตวิญญาณของมนุษย์เข้าใกล้กับพระเจ้า อีกนัยหนึ่ง ความหมายของดุอาอฺก็คือ การพิจารณาไปยังแก่นแท้ของทุกสรรพสิ่ง ซึ่งสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ของธรรมชาติล้วนมาจากพระองค์ ในความเป็นจริงดุอาอฺคือ ความหยั่งรู้ ประเภทหนึ่ง เป็นการตื่นของจิตใจ ความคิด และการผูกสัมพันธ์กับพลังที่เร้นลับแห่งพระผู้ทรงสร้างสรรค์ ความดีงาม และความจำเริญทั้งหลาย ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า พระเจ้าไม่ทรงตอบรับดุอาอฺของผู้ลืมเลือน

เงื่อนไขการตอบรับดุอาอฺ

รายงานจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอิมามผู้บริสุทธิ์ กล่าวถึงเงื่อนไขของการตอบรับดุอาอฺว่า

1. ก่อนการกระทำทุกสิ่ง ต้องพยายามทำความสะอาดหัวใจและจิตวิญญาณ ต้องลุแก่โทษในความผิด ต้องปรับปรุงแก้ไขตนเอง และต้องเชื่อฟังบรรดาผู้นำแห่งพระเจ้า อิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า พวกท่านต้องไม่วิงวอนขอต่อพระเจ้า เว้นเสียแต่ว่า ต้องสรรเสริญ ยกย่องพระองค์เสียก่อน ประสาทพรแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และทายาทผู้บริสุทธิ์ ต้องลุแก่โทษในความผิด หลังจากนั้นจึงดุอาอฺ

2. ต้องหลีกเลี่ยงจากทรัพย์สินต้องห้าม การกดขี่ และการเอาเปรียบผู้อื่น ต้องไม่บริโภคอาหารที่ต้องห้าม ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า บุคคลที่ต้องการให้ดุอาอฺของตนถูกยอมรับ อาหารและปัจจัยที่หามาได้ต้องสะอาด

3. ต้องไม่หลีกเลี่ยงการต่อสู้กับความเสื่อมทราม หรือการเชิญชวนไปสู่สัจธรรม เนื่องจากถ้ากระทำเช่นนั้น เท่ากับเป็นการละเว้นการเชิญชวนไปสู่ความดี และการห้ามปรามความชั่วร้าย แน่นอนดุอาอฺของเขาจะไม่ถูกตอบรับ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ต้องเชิญชวนไปสู่ความดีงาม และห้ามปรามความชั่วร้าย ถ้าไม่เช่นนั้นพึงสังวรไว้เถิดว่า ความดีงามของสูเจ้าจะถูกควบคลุม และไม่ว่าจะดุอาอฺอย่างใดก็จะไม่ถูกตอบรับ

การปฏิบัติตามสัญญาของพระเจ้า

การศรัทธา การปฏิบัติคุณงามความดี และความซื่อสัตย์คือ เงื่อนไขสำคัญของการตอบรับดุอาอฺ เนื่องจากบุคคลที่ไม่รักษาคำมั่นสัญญา อย่าได้คาดหวังการตอบรับดุอาอฺจากพระผู้อภิบาล

มีผู้มาหาท่านอิมามอะลี (อ.) เพื่อรายงาน ดุอาอฺของตนที่ไม่ถูกตอบรับ และกล่าวว่า ทั้ง ๆ ที่พระเจ้าตรัสว่า พวกเจ้าจงวิงวอนต่อฉัน และฉันจะตอบรับคำวิงวอนของเจ้า แต่ทำไมเมื่อพวกเราดุอาอฺแล้ว พระองค์จึงไม่ทรงตอบรับ ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า หัวใจและความคิดของเจ้าทรยศต่อพระองค์ใน 8 ประการ ด้วยเหตุนี้ ดุอาอฺจึงไม่ถูกตอบรับ ซึ่ง 8 ประการดังกล่าวได้แก่

1. เจ้ารู้จักพระเจ้า แต่เจ้าไม่ยอมปฏิบัติตามสิทธิของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ การรู้จักของเจ้าจึงไม่ก่อประโยชน์

2. เจ้าศรัทธาศาสนทูตของพระองค์ แต่เจ้าแสดงตนฝ่าฝืนต่อแบบฉบับของท่าน ดังนั้น ร่องรอยความศรัทธาของเจ้าอยู่ ณ แห่งหนใด

3. เจ้าอ่านคัมภีร์ของพระองค์ แต่เจ้าไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพูดว่า พวกเราได้ยินและปฏิบัติตามแล้ว หลังจากนั้นพวกเจ้าฝ่าฝืน

4. พวกเจ้ากล่าวว่า พวกเราเกรงกลัวการลงโทษของพระเจ้า แต่พวกเจ้ากลับปฏิบัติตัวให้ใกล้ชิดกับการลงโทษของพระองค์

5. พวกเจ้ากล่าวว่า พวกเรามุ่งหวังรางวัลตอบแทนของพระองค์ แต่พวกเจ้ากลับทำตนให้ห่างไกลจากรางวัลเหล่านนั้น

6. พวกเจ้าบริโภคความโปรดปรานต่าง ๆ ของพระองค์ แต่พวกเจ้าอกตัญญูไม่ขอบคุณพระองค์

7. พระองค์กำชับว่าพวกเจ้าว่าอย่าเจริญรอยตามเท้าของมารร้าย แต่พวกเจ้ากลับวางแผนเป็นมิตรกับมาร พวกเจ้าอ้างว่าเป็นศัตรูกับมาร แต่ในทางปฏิบัติมิได้แสดงการฝ่าฝืน

8. พวกเจ้าเปิดเผยความบกพร่องและข้อตำหนิของคนอื่น ส่วนของตนเองปิดบังอย่างมิดชิด การกระทำเหล่านี้พวกเจ้ายังคาดหวังการตอบรับดุอาอฺ จากพระองค์อีกกระนั้นหรือ ขณะที่พวกเจ้าเป็นผู้ปิดประตูด้วยมือของตนเอง ดังนั้น พวกเจ้าจงสำรวมตนพระเจ้าเถิด จงปรับปรุงแก้ไขการกระทำของตนเอง และจงกำชับความดีห้ามปรามความชั่วเถิด เพื่อว่าดุอาอฺของพวกเจ้าจะได้ถูกตอบรับ

ฉะนั้น พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะตอบรับดุอาอฺของปวงบ่าว เป็นคำสัญญาที่มีเงื่อนไข มิใช่คำสัญญาทั่วไป ซึ่งเงื่อนไขคือ ให้มนุษย์ปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ให้ไว้แก่พระองค์ และยกเลิกข้อตกลงที่ไร้สาระ เมื่อนั้นดุอาอฺจะถูกตอบรับ

ซึ่งในความเป็นจริงดุอาอฺต้องอยู่คู่กับความพยายาม ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ผู้ดุอาอฺโดยปราศจากความเพียรพยายาม ประหนึ่งลูกศรที่ยิงออกไปอย่างไร้จุดหมาย[50]

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม