โองการที่ 253 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
โองการที่ 253 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
تِلْكَ الرُّسُلُ فَضَّلْنَا بَعْضَهُمْ عَلَى بَعْضٍ مِّنْهُم مَّن كَلَّمَ اللّهُ وَرَفَعَ بَعْضَهُمْ دَرَجَاتٍ وَآتَيْنَا عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ الْبَيِّنَاتِ وَأَيَّدْنَاهُ بِرُوحِ الْقُدُسِ وَلَوْ شَاء اللّهُ مَا اقْتَتَلَ الَّذِينَ مِن بَعْدِهِم مِّن بَعْدِ مَا جَاءتْهُمُ الْبَيِّنَاتُ وَلَكِنِ اخْتَلَفُواْ فَمِنْهُم مَّنْ آمَنَ وَمِنْهُم مَّن كَفَرَ وَلَوْ شَاء اللّهُ مَا اقْتَتَلُواْ وَلَكِنَّ اللّهَ يَفْعَلُ مَا يُرِيدُ (253)
ความหมาย
253. บรรดาเราะซูลเหล่านี้ เราได้ยกย่องบางคนเหนือกว่าอีกบางคน บางคนในหมู่พวกเขาอัลลอฮฺได้ตรัสกับเขา และทรงยกย่องบางคนในหมู่พวกเขาหลายฐานันดร และเราได้ประทานหลักฐานอันชัดแจ้งแก่อีซาบุตรของมัรยัม และเราได้เสริมพลังเขาด้วยวิญญาณบริสุทธิ์ (แต่ฐานันดร และความประเสริฐของบรรดาศาสดามิได้เป็นอุปสรรคต่อความแตกแยกของประชาชาติ) และมาตรอัลลอฮฺทรงประสงค์ บรรดาชนหลังจากพวกเขา คงจะไม่ต่อสู้กัน หลังจากที่มีหลักฐานต่าง ๆ อันชัดเจนมายังพวกเขา (พระเจ้ามิได้บังคับประชาชาติ ทรงให้อิสระในการเลือกหนทางแห่งความสุขนิรันดรสำหรับตน) แต่พวกเขาขัดแย้งกัน ซึ่งบางคนในหมู่พวกเขาศรัทธา และมีบางคนปฏิเสธ และถ้าอัลลอฮฺทรงประสงค์ พวกเขาคงจะไม่ต่อสู้กัน แต่อัลลอฮฺทรงกระทำที่พระองค์ทรงประสงค์
คำอธิบาย บทบาทศาสดาต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์
คำว่า ติลกะ เป็นการบ่งชี้ถึงสิ่งของที่อยู่ห่างไกล ซึ่งการอธิบายทำนองนี้บางครั้ง เป็นการให้เกียรติสถานภาพ และตำแหน่งของบางคน เช่น ในโองการที่กล่าวถึง แสดงว่าตำแหน่งและสถานภาพของศาสดาอยู่สูงเกินกว่าที่จะแตะต้องได้
จุดประสงค์ของรุซูลในโองการ หมายถึงบรรดาศาสดาทั้งหมด เนื่องจากคำ ๆ นี้ ในเชิงของภาษาอาหรับถือว่าเป็น ญัมมะฮัลลี เนื่องจากอลีฟและลามที่ผนวกในคำ ซึ่งบ่งบอกชี้ถึงภาครวมของศาสดาทั้งหมด
ประโยคที่กล่าวว่า เราได้ยกย่องบางคนเหนือกว่าอีกบางคน นั้นหมายความว่าบรรดาศาสดา อยู่ในฐานะของศาสนทูต และผู้ถือสาส์นเหมือนกัน แต่มีฐานันดรไม่เหมือนกัน
หลังจากนั้นโองการอธิบายถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของศาสดาบางองค์ เช่น บางคนในหมู่พวกเขาอัลลอฮฺได้ตรัสกับเขา จุดประสงค์คือ ศาสดามูซา (อ.) ซึ่งได้รับฉายานามว่า กะลีมุลลอฮฺ (ดำรัสแห่งพระเจ้า)
อาจเป็นไปได้ว่าจุดประสงค์หมายถึงท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และการตรัสของพระเจ้าในที่นี้ หมายถึงการตรัสของพระองค์แก่ท่านศาสดาในค่ำมิอฺรอจญฺ ซึ่งดำรัสนั้นคือ วะฮฺยู ดั่งกล่าวในบทอัชชูรอ โองการที่ 51 ว่า และไม่เป็นการบังควรแก่มนุษย์คนใด ที่จะให้อัลลอฮฺตรัสแก่เขาเว้นแต่โดยทาง วะฮียฺ คำว่าตะกัลลุม (พูด) ในที่นี้มีความหมายครอบคลุมทั่วไป
หลังจากนั้นโองการกล่าวว่า ทรงยกย่องบางคนในหมู่พวกเขาหลายฐานันดร ซึ่งตัวอย่างทีสมบูรณ์คือ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในฐานะของบรมศาสดา ศาสดาองค์สุดท้าย ศาสนาของท่านเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นศาสนาสุดท้ายแห่งฟากฟ้า ดังนั้น บุคคลที่นำศาสนาสมบูรณ์มาเผยแผ่ ตัวของท่านต้องเป็นมนุษย์ผู้มีความสมบูรณ์ ดังโองการที่ 41 บทอันนิซาอ์ กล่าวว่า ในวันฟื้นคืนชีพพระเจ้าจะให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นพยานรับรองบรรดาศาสดาก่อนหน้านั้น ขณะที่ศาสดาทุกองค์ต่างรับรองประชาชาติของท่าน อัลกุรอาน กล่าวว่า แล้วอย่างไรเล่า เมื่อเรานำพยานคนหนึ่งจากแต่ละประชาชาติมา และเราให้เจ้าเป็นพยานต่อชนเหล่านี้
หลังจากนั้นอัลกุรอานก ล่าวถึงความประเสริฐของศาสดาอีซา (อ.) ว่า เราได้ประทานหลักฐานอันชัดแจ้งแก่อีซาบุตรของมัรยัม และเราได้เสริมพลังเขาด้วยวิญญาณบริสุทธิ์
คำว่า หลักฐานอันชัดแจ้ง บ่งชี้ถึง ความมหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่ศาสดาได้นำมา เช่น การชุบชีวิตคนตายให้ฟื้น การรักษาคนป่วยที่ไม่มีวันรักษาให้หายได้ การนำคำสอนที่สูงส่งมาเผยแผ่
ส่วนจุดประสงค์ของดวงวิญญาณบริสุทธิ์ หมายถึงผู้นำวะฮฺยูของพระเจ้ามาประทานแก่ศาสดา ซึ่งได้แก่ญิบรออีล หรือหมายถึงพลังจิตวิญญาณอันสูงส่งที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งมีอยู่ในบรรดาหมู่มวลมิตรของพระเจ้าในภาวะที่แตกต่างกัน ตอนท้ายของโองการกล่าวถึงสถานภาพของประชาชาติ และความขัดแย้งต่อสู้กันระหว่างพวกเขา ภายหลังจากศาสดาจากไป อัลกุรอานกล่าวว่า มาตรอัลลอฮฺทรงประสงค์ บรรดาชนหลังจากพวกเขา คงจะไม่ต่อสู้กัน หลังจากที่มีหลักฐานต่าง ๆ อันชัดเจนมายังพวกเขา
หมายถึงถ้าพระเจ้าทรงประสงค์สามารถใช้อำนาจของพระองค์ บังคับให้เขาทำสงครามหรือไม่ก็ได้ แต่พระองค์จะมิทำเช่นนั้น เนื่องจากพระองค์ได้ให้เจตนารมณ์เสรีแก่มนุษย์ในการตัดสินใจกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง
แต่พวกเขาใช้ความเสรีไปในทางที่ผิด และติดตามความขัดแย้งและการนองเลือด ซึ่งในความเป็นจริงความขัดแย้งเหล่านั้นมิได้เกิดจากบุคคลที่ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง แต่เกิดจากบุคคลที่มิได้ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ฉะนั้น อัลกุรอานจึงกล่าวว่า ซึ่งบางคนในหมู่พวกเขาศรัทธา และมีบางคนปฏิเสธ
อัลกุรอาน เน้นว่าการงานเช่นนั้นเป็นเรื่องง่ายสำหรับพระเจ้า และถ้าพระองค์ใช้อำนาจบังคับเพื่อห้ามมิให้เขาต่อสู้ย่อมทำได้ และพวกเขาจะไม่ต่อสู้กัน แต่พระองค์มิทรงกระทำเช่นนั้น เนื่องจากพระองค์กระทำที่พระองค์ประสงค์ มิต้องสงสัยว่ากลุ่มชนที่อิสระย่อมได้รับผลสรุปที่เลวร้าย ถ้านำความอิสระไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม ความอิสระคือ ความสำคัญที่สุดในการนำมนุษย์ไปพบกับความสมบูรณ์ โดยหลักการแล้วความสมบูรณ์ที่เกิดจากการบังคับ ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความสมบูรณ์ ดังนั้น จะเห็นว่าปัญหาความเชื่อเกี่ยวกับการบังคับเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้อยู่บนความอิสระ ซึ่งบางกลุ่มศรัทธาต่อพระองค์ และบางกลุ่มไม่ศรัทธา