โองการที่ 255 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
โองการที่ 255 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
اللّهُ لاَ إِلَهَ إِلاَّ هُوَ الْحَيُّ الْقَيُّومُ لاَ تَأْخُذُهُ سِنَةٌ وَلاَ نَوْمٌ لَّهُ مَا فِي السَّمَاوَاتِ وَمَا فِي الأَرْضِ مَن ذَا الَّذِي يَشْفَعُ عِنْدَهُ إِلاَّ بِإِذْنِهِ يَعْلَمُ مَا بَيْنَ أَيْدِيهِمْ وَمَا خَلْفَهُمْ وَلاَ يُحِيطُونَ بِشَيْءٍ مِّنْ عِلْمِهِ إِلاَّ بِمَا شَاء وَسِعَ كُرْسِيُّهُ السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضَ وَلاَ يَؤُودُهُ حِفْظُهُمَا وَهُوَ الْعَلِيُّ الْعَظِيمُ(255)
ความหมาย
255. อัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ผู้ทรงมีชีวิต ทรงดำรง (ด้วยอาตมันของพระองค์ ส่วนสรรพสิ่งอื่นดำรงอยู่ด้วยพระองค์) อยู่นิจกาล ความง่วง และการนอนหลับไม่ครอบงำพระองค์ (พระองค์มิทรงเผอเรอการบริบาลจักรวาลแม้เพียงเล็กน้อย) สรรพสิ่งทั้งในฟากฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดินเป็นของพระองค์ ใครเล่าจะให้ความอนุเคราะห์ ณ พระองค์ได้ เว้นแต่โดยอนุมัติของพระองค์ พระองค์ทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าพวกเขา และที่อยู่เบื้องหลังพวกเขา ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ถึงความรู้ของพระองค์ เว้นแต่บางส่วนที่พระองค์ประสงค์ (พระองค์ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง ความรู้ที่มีขอบเขตของคนอื่น อยู่ภายใต้ร่มเงาความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์) เก้าอี้ (อำนาจ) ของพระองค์แผ่ไพศาลทั่วชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน การพิทักษ์ทั้งสอง (ฟ้าและแผ่นดิน) ไม่เป็นที่เหนื่อยยากแก่พระองค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงยิ่งใหญ่
อายะตุลกุรซีย์ เป็นหนึ่งในโองการที่มีความสำคัญที่สุด
ความประเสริฐของอายะฮฺกุรซีย์ อุบัย บุตรของกะอับ รายงานว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ถามเขาว่า โองการอัลกุรอานโองการใดประเสริฐที่สุด ตอบว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ (อายะฮฺกุรซีย์) หลังจากนั้นท่านศาสดาเอามือมาแตะที่หน้าอกของฉัน และกล่าวว่า ความรู้จงสุมในอกของเจ้า ฉันขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของมุฮัมมัดอยู่ ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า โองการนี้ถูกกล่าวสรรเสริญพระองค์เสมอ ณ เบื้องล่างบัลลังก์ของพระองค์
อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า บุคคลใดอ่านอายะตุลกุรซีย์หนึ่งครั้ง พระเจ้าจะขจัดความไม่ดีทางโลก 1000 ชนิด และความไม่ดีแห่งโลกหน้า 1000ชนิดออกไปจากเขา ซึ่งความไม่ดีที่เบาที่สุดแห่งโลกคือ ความยากจนขัดสน และความไม่ดีแห่งโลกหน้าคือ การถูกลงโทษในหลุมฝังศพ
บางคนเชื่อว่า อายะตุลกุรซีย์ มีเพียงแค่โองการเดียว ซึ่งรายงานจำนวนมากกล่าวเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้พิจารณาคำว่า อายะตุลกุรซีย์ เพราะคำว่า อายะฮฺ เป็นเอกพจน์ ดังนั้น จึงครอบคลุมเฉพาะโองการเดียว แต่อย่างไรยังมีรายงานอื่น ๆ เช่น ในหนังสืออุซูล อัลกาฟีย์ (2/621) และตัฟซีรกุมมี (1/84) กล่าวว่า อายะฮฺกุรซีย์รวมสองโองการหลังจากนี้ด้วย ซึ่งสิ้นสุดที่คำว่า ฮุมฟีฮาคอลิดูน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานของอะลี บุตรอิบรอฮีม ในตัฟซีรกุมมีกล่าวว่า ท่านอิมามริฎอ (อ) กล่าวว่า อายะตุลกุรซีย์สิ้นสุดที่ ฮุมฟีฮาคอลิดูน
คำอธิบาย คุณลักษณะที่เป็นความสวยงามและความสง่า
อันดับแรกโองการเริ่มจากอาตมันบริสุทธิ์ของพระเจ้า ความเป็นเอกะ และพระนามอันไพรจิต กล่าวว่า อัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์
อัลลอฮฺ พระนานเฉพาะของพระเจ้า หมายถึงอาตมันของพระองค์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคุณสมบัติสมบูรณ์ สูงส่ง และสง่างาม พระองค์คือผู้ทรงอุบัติโลกและจักรวาล ดังนั้น จึงไม่มีสิ่งใดคู่ควร และเหมาะสมแก่การเคารพภักดี นอกจากพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ประโยคที่กล่าวว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ จึงเป็นประโยคที่มาเน้นคำว่า อัลลอฮฺ
ประโยคที่กล่าวว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ กับประโยคที่กล่าววา ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ เป็นประโยคที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย มีคุณค่า และเป็นกุญแจทองที่ไขไปสู่ความศรัทธา ประโยคดังกล่าวเริ่มต้นด้วยพระนามที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า สามารถกล่าวแบ่งออกเป็น 2ส่วนคือ ปฏิเสธ กับ การมีอยู่ ในส่วนแรกหมายถึงสิ่งสักการบูชาจอมปลอมทั้งหลาย เช่น รูปปั้น หรือมนุษย์ที่ทำตนเป็นพระเจ้าให้ผู้อื่นเคารพบูชา และภาคีเทียบเทียมพระเจ้า ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ในส่วนที่สองเป็นการพิสูจน์การมีอยู่จริงของพระเจ้า และแนะนำความเป็นเอกะของพระองค์ ซึ่งพระองค์เท่านั้นคู่ควรแก่การเคารพภักดี แน่นอน ตามความเป็นจริงแล้วบุคคลใดกล่าวประโยคนี้ออกมา หมายความว่า สรรพสิ่งทั้งหมดที่ถูกเคารพสักการะมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน หรือแม้แต่สิ่งที่จะถูกยกย่องขึ้นสักการะในอนาคต ถูกขจัดให้ห่างไกลจากพระองค์ คงเหลือแต่พระเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร ผู้ทรงเป็นหนึ่งเดียวนาม อัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์ครอบคลุมคุณลักษณะที่สูงส่ง และสง่างามทั้งหมด และพระองค์เท่านั้นที่คู่ควรต่อการเคารพภักดี
หลังจากอธิบายความเป็นหนึ่งเดียวแห่งอาตมันบริสุทธิ์ของพระเจ้าแล้ว โองการยังอธิบายถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ของพระองค์ไว้อีก 10ประการดังนี้
1. อัลฮัยยุ มาจากรากศัพท์ของคำว่า ฮะยาต หมายถึง ชีวิต หรือการดำรงชีวิต จัดเป็นคุณลักษณะประเภท มุชับบะฮะฮฺ หมายถึงบ่งบอกถึงความต่อเนืองเป็นนิจกาล แน่นอน ชีวิตของพระเจ้าเป็นแก่นแท้แห่งชีวิต หรือกล่าวได้ว่าเป็นชีวิตที่แท้จริง เนื่องจากชีวิตของพระองค์คืออาตมันของพระองค์ ที่ถูกผนวกด้วยความรู้และอำนาจของพระองค์ ต่างไปจากชีวิตของสรรพสิ่งถูกสร้างอื่นที่ไม่ใช่ชีวิตที่แท้จริง แต่เป็นสิ่งหนึ่งที่ครอบงำมาบนตัวเขา ดัวยเหตุนี้ เมื่อกาลเวลาผ่านไประยะหนึ่งเขาจึงตาย
แต่พระเจ้ามิได้เป็นเช่นนั้น อัลกุรอานโองการที่ 58 บทอัลฟุรกอน กล่าวว่า และเจ้าจงมอบหมายต่อพระผู้ทรงดำรงอยู่นิจกาล ไม่ตาย
อีกนัยหนึ่งชีวิตที่สมบูรณ์คือ ชีวิตที่มิได้ถูกผสมด้วยความตาย ด้วยเหตุนี้ ชีวิตที่แท้จริงคือชีวิตของพระองค์ ซึ่งดำรงอยู่นิจกาลตลอดไป ส่วนชีวิตของมนุษย์เป็นชีวิตที่ผสมผสานกับความตาย จึงไม่นับว่าเป็นชีวิตที่แท้จริง
การดำรงอยู่นิจกาลของพระเจ้าหมายถึงอะไร
ปกติแล้วสรรพสิ่งมีชีวิตหมายถึง สิ่งที่มีการเจริญเติบโต มีการกินอาหาร ผลิตสิ่งที่คล้ายเหมือน มีพลังดึงดูดและผลักไส หรือประสาทสัมผัสรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ แต่สำหรับชีวิตที่มีความหมายกว้าง และเป็นจริงหมายถึงชีวิตที่ถูกผนวกด้วยความรู้และอำนาจ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่มีความรู้และอำนาจที่ไม่มีที่สิ้นสุดจึงนับว่าเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ชีวิตของพระเจ้าผนวกด้วยความรู้และอำนาจของพระองค์ ซึ่งในความเป็นจริงความรู้และอำนาจคือ ปัจจัยจำแนกระหว่างสรรพสิ่งมีชีวิตกับไม่มีชีวิตออกจากกัน ส่วนการเจริญเติบโต การกิน และการผลิตสิ่งที่คล้ายเหมือน เป็นคุณสมบัติของสรรพสิ่งมีชีวิตไม่สมบูรณ์ มีขอบเขตจำกัด และขาดตกบกพร่องจึงอาศัยการกินอาหาร การผลิตสิ่งคล้ายเหมือน และการเคลื่อนไหวต่อเติมความสมบูรณ์ให้ชีวิตตน แต่สำหรับผู้ที่ชีวิตของเขาไม่ขาดตกบกพร่อง สิ่งเหล่านี้จะไม่ถูกกล่าวแก่เขา
2. อัลกอยยูม คำนี้หมายถึงผู้ที่ดำรงอยู่ด้วยตนเอง สรรพสิ่งอื่นดำรงอยู่ได้เนื่องด้วยการอิงอาศัยพระองค์ หมายถึงแก่นแท้ของการมีอยู่ของของพระองค์ไม่ต้องการ และไม่พึ่งพิงสิ่งอื่น ในทางกลับกันสรรพสิ่งอื่นต่างหากที่การมีอยู่ของพวกเขาต้องอิงอาศัย และต้องการ การมีอยู่ของพระองค์ ทุกสิ่งที่มีขึ้น และทุกสิ่งที่มีความสมบูรณ์ย่อมต้องมีร่องรอย และผลแห่งความสมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดได้รับประโยชน์จากความเมตตาของพระองค์ทั้งสิ้น มิเช่นนั้นแล้วสรรพสิ่งนั้นจะอยู่ในความไม่สมบูรณ์ตลอดไป
สิ่งที่ควรพิจารณาคือ คำว่าฮัยยุ เป็นคุณลักษณะของอาตมัน ส่วนคำว่า กอยยูม เป็นคุณลักษณะของการกระทำ จุดประสงค์ของคุณลักษณะที่เป็นการกระทำหมายถึง คุณลักษณะที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับสรรพสิ่งอื่นบนโลก เช่น พระผู้สร้าง ผู้ทรงประทานเครื่องยังชีพ ผู้ทรงประทานชีวิต ผู้ทรงชี้นำ และคุณลักษณะอื่นที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่สามารถประทานเครื่องยังชีพ ประทานชีวิต และประทานความตาย บรรดาคุณลักษณะเหล่านี้ทั้งหมดอยู่ภายใต้คุณลักษณะของฮัยยุ (การดำรงอยู่นิจกาล) หลังจากนั้นโองการกล่าวว่า ความง่วง และการนอนหลับไม่ครอบงำพระองค์
3. ซินะตุน หมายถึง ความง่วงนอน หรือการหลับที่ครอบงำเฉพาะดวงตา แต่ถ้าครอบงำไปบนหัวใจเรียกว่า เนามุน ประโยคดังกล่าวบ่งชี้ว่าความเมตตา ความการุณย์ และการบริบาลของพระองค์ดำรงอยู่ตลอดไป ไม่มีการตัดขาดแม้เพียงเล็กน้อย ดังนั้น ความง่วง และการนอนหลับไม่ครอบงำพระองค์ เป็นประโยคที่เน้นให้เห็นถึง ชีวิต และการดำรงอยู่นิจกาลของพระเจ้า เนื่องจากการดำรงอยู่สมบูรณ์ นั้นเพื่อการบริบาลภารกิจทั้งหลายบนโลก ซึ่งไม่มีการเผอเรอแม้เพียงเล็กน้อย ฉะนั้น ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ที่ไม่สามารถเข้าได้กับคุณลักษณะที่ดำรงอยู่นิจกาลของพระเจ้า ล้วนถูกปฏิเสธออกไปจากพระองค์ทั้งสิ้น แม้แต่ปัจจัยที่อ่อนแอที่สุด อันเป็นสาเหตุทำให้การบริบาลของพระองค์บกพร่อง เช่น ความง่วงนอนก็จะไม่มีในอาตมันบริสุทธิ์ของพระองค์
4. ผู้ทรงสิทธิ์สมบูรณ์ คือพระเจ้าโองการกล่าวว่า สรรพสิ่งทั้งในฟากฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดินเป็นของพระองค์ หมายถึงพระเจ้าคือผู้ทรงกรรมสิทธิ์ สรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้แต่เพียงผู้เดียว การเลือกสรรของสรรพสิ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์ พระองค์เท่านั้นที่สามารถใช้กรรมสิทธิ์ของพระองค์ได้ตามความประสงค์ และสรรพสิ่งทั้งหมดต่างยอมจำนนต่อพระองค์
การที่กล่าวว่า สรรพสิ่งทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ ส่งผลด้านการอบรมสั่งสอนที่สำคัญแก่มนุษย์ เนื่องจากเมื่อมนุษย์รู้ว่าสรรพสิ่งทั้งหมดที่ตนมีมิใช่ของตน แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า สิ่งเหล่านั้นจะอยู่ในครอบครองของตนเพียงระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้นมันจะกลับไปหาผู้ทรงกรรมสิทธิ์ดั้งเดิมของมัน แน่นอน การคิดได้เช่นนี้ จะไม่ทำให้มนุษย์หลงโลก จะไม่ฉ้อฉล ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น ไม่แสดงอำนาจบาดใหญ่ ไม่ดูถูก ไม่อิจฉา ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว และไม่ยากได้ของคนอื่น
5. โองการอธิบายว่า ใครเล่าจะให้ความอนุเคราะห์ ณ พระองค์ได้ เว้นแต่โดยอนุมัติของพระองค์ เป็นการถามในเชิงปฏิเสธว่า แน่นอนไม่มีผู้ใดกระทำเช่นนั้นได้เด็ดขาด เว้นเสียแต่ว่าต้องได้รับอนุญาตจากพระองค์ ในวันฟื้นคืนชีพคนบาปบางคนที่สามารถรับชะฟาอะฮฺได้ ณ พระองค์เขาจะได้รับชะฟาอะฮฺ แต่ผู้ที่ให้ชะฟาอะฮฺแก่พวกเขาล้วนได้รับอนุญาตจากพระองค์ทั้งสิ้น มิเช่นนั้น แม้แต่ท่านศาสดาก็ไม่มีสิทธิ์ให้ชะฟาอะฮฺคนอื่น พระองค์เท่านั้นที่กำหนดผู้ให้และผู้รับชะฟาอะฮฺ สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเมตตา และความการุณย์ของพระองค์ ที่มีต่อปวงบ่าว เจตนารมณ์ของพระองค์คือ ทรงประสงค์ขจัดการลงโทษให้พ้นจากคนบาป
ชะฟาอะฮฺ หมายถึง การช่วยเหลือ หรือการให้ความอนุเคราะห์ของผู้ที่แข็งแรงกว่าต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า เพื่อจะได้สามารถเติบโตและดำเนินไปสู่ความสำเร็จได้อย่างง่ายได้ ซึ่งโดยปกติคำนี้มักใช้กับคนที่กระทำบาป แต่ปกติแล้วคำนี้มีความหมายกว้างกว่านั้น ชะฟาอะฮฺ ต้องมีความสัมพันธ์กันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของผู้รับที่ต้องสร้างความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณระหว่างตนกับผู้ให้ เพื่อให้ตนเป็นผู้หนึ่งที่คู่ควรต่อการได้รับชะฟาอะฮฺ ซึ่งในความเป็นจริง ชะฟาอะฮฺจึงเป็นปัจจัยด้านการการอบรม มิใช่เป็นสื่อสำหรับการล้อเล่น หรือเพื่อการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในหน้าที่ จึงเป็นที่กระจ่างว่า ชะฟาอะฮฺไม่สามารถเป็นตัวแปรเปลี่ยนแปลงการบริหารของพระผู้อภิบาล ที่มีต่อผู้กระทำความผิด แต่ผู้กระทำความผิดต่างหากที่ต้องสร้างความสัมพันธ์ด้านจิตวิญญาณกับผู้ให้ชะฟาอะฮฺ ซึ่งนับว่าเป็นการเลี้ยงดูเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง เพื่อให้ตนคู่ควรต่อการอภัย หลังจากนั้นจึงจะได้รับชะฟาอะฮฺ
6.โองการอธิบายว่า พระองค์ทรงรอบรู้สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าพวกเขา และที่อยู่เบื้องหลังพวกเขา หมายถึงพระองค์ทรงรอบรู้เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งที่ผ่านมาแล้ว หรือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความรอบรู้ของพระองค์ไม่มีขอบเขตจำกัด ประโยคที่กล่าวว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าพวกเขา หมายถึงสิ่งที่มนุษย์เปิดเผยออกมา ส่วนประโยคที่กล่าว่า และที่อยู่เบื้องหลังพวกเขา หมายถึงสิ่งที่พวกเขาปิดบังเอาไว้ ดังนั้น ประโยคจึงหมายถึง พระเจ้าทรงรอบรู้ทุกสิ่งที่มนุษย์เปิดเผยและปิดบังเอาไว้ ดังที่โองการที่ 54 บทอัลอะฮฺซาบ กล่าวว่า หากพวกเจ้าเปิดเผย หรือปิดบังสิ่งใด แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ขณะเดียวกันไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ถึงความรู้ของพระองค์ได้ เว้นเสียแต่ว่าเพียงเล็กน้อยที่พระองค์ประสงค์ให้เขารู้เท่านั้น หมายถึงเป็นไปได้ที่พระองค์จะประทานความรู้ให้บุคคล เช่น บรรดาศาสดา หรือหมู่มวลมิตรของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ทั้งกาลเวลาและสถานที่อันกว้างไกลเป็นที่กระจ่างชัดสำหรับพระองค์
7. โองการอธิบายว่า ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ถึงความรู้ของพระองค์ เว้นแต่บางส่วนที่พระองค์ประสงค์ หมายถึงความรู้ทีมีขอบเขตจำกัดของคนอื่น ต้องอิงอาศัยความรู้ที่ไม่มีขอบเขตจำกัดของพระองค์
ประโยคข้างต้นเข้าใจได้ว่า ไม่มีมนุษย์คนใดบนโลกนี้จะมีความรู้ได้ เนื่องจากความรู้ของมนุษย์ล้วนมาจากพระองค์
8. กุรซีย์ หมายถึงอำนาจของพระองค์ ซึ่งครอบคลุมเหนือทั้งชั้นฟ้าและแผ่นดิน บางท่านกล่าวว่าหมายถึงเก้าอี้ ซึ่งจะอธิบายต่อไป แต่ไม่ว่ากุรซีย์จะให้ความหมายอย่างไร ความรอบรู้ของพระเจ้าในตำแหน่งของการกระทำ ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้อยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์ อันเป็นอำนาจอธิปไตยที่ดำรงตลอดไป
9. การพิทักษ์ทั้งสอง (ฟ้าและแผ่นดิน) ไม่เป็นที่เหนื่อยยากแก่พระองค์ ความเหนื่อยยาก และความลำบากเป็นภาระของสรรพสิ่งที่สามารถจินตนาการได้ มีความสามารถอยู่ในขอบเขตจำกัด และเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อใดที่ภารกิจเหล่านั้นเกินกำลังสามารถของตน พวกเขาจะเหนื่อยล้าและไร้ความสามารถในการปฏิบัติต่อไป กิจกรรมเหล่านี้ไม่สามารถคิดกับพระเจ้าได้เด็ดขาด ดังที่ทราบแล้วว่าความรู้ของพระองค์ไร้ขอบเขต อำนาจของพระองค์ก็ไร้ขอบเขตเช่นกัน เมื่ออำนาจของพระองค์ไร้ขอบเขต ความเหนื่อยจึงไม่สามารถครอบงำ และไม่มีความหมายสำหรับพระองค์ ด้วยเหตุนี้ การพิทักษ์ฟากฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน จึงไม่เป็นที่เหน็ดเหนื่อยสำหรับพระองค์ และที่สำคัญความคิดดังกล่าวไม่อาจเป็นไปได้สำหรับพระองค์
10. คุณลักษณะสุดท้ายที่กล่าว ณ ที่นี้คือ พระองค์เป็นผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ความยิ่งใหญ่ และความไร้ขอบเขตของพระองค์ เป็นสาเหตุทำให้ไม่มีความยุ่งยากในการปฏิบัติภารกิจของพระองค์ พระองค์ไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยต่อการบริบาลโลก และจักรวาล พระองค์ไม่ทรงพลั้งเผลอ ไม่ทรงลืมเลือน ความรอบรู้ของพระองค์ครอบคลุมเหนือทุกสรรพสิ่ง ความประเสริฐของพระองค์ที่มีเหนือทุกสรรพสิ่งเห็นได้อย่างชัดเจน เนื่องด้วยพระองค์ไม่ต้องการความช่วยเหลือ และไม่ทรงพึ่งพาสิ่งใด ขณะทีสรรพสิ่งทั้งหลายต้องพึ่งพาพระองค์
ประเด็นสำคัญ
1. คำสองคำมีความหมายคล้ายกันคือ อัรช์ และกุรซีย์ ซึ่งทั้งสองหมายถึง เตียง บัลลังก์ และเก้าอี้ แต่อัลกุรอานใช้คำทั้งสองในสองความหมายที่ต่างกัน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการใคร่ครวญอย่างละเอียดลออในการสร้างความเข้าใจต่อคำทั้งสอง ซึ่งคำว่า อัรช์ จะกล่าวอธิบายในโอกาสต่อไป สิ่งที่จะกล่าวตรงนี้คือคำว่า กุรซีย์
กุรซีย์ ในเชิงภาษาหมายถึง เตียง บัลลังก์ หรือแผ่นกระดาน ซึ่งคำนี้แตกต่างกับอัรช์ ตรงที่ว่า อัรช์ เป็นบัลลังก์ที่มีที่จับ และสูง ส่วนมากเป็นที่นั่งของผู้มีเกียรติยศสูงศักดิ์กว่า หรือเป็นที่ประทับของมหากษัตริย์ ส่วนกุรซีย์ เป็นเก้าอี้ธรรมดาที่ผู้ว่าการ หรือเจ้านาย หรือคุณครูนั่งบนนั้น
กุรซีย์ บางครั้งให้ความหมายว่าหมายถึง ความรู้ เช่น กล่าวว่า ฮุวะ มิน อะฮฺลิลกุรซีย์ หมายถึงเขาเป็นนักวิชาการทีมีความรู้ อัลกุรอานใช้คำว่ากุรซีย์สองครั้งกล่าวคือ ครั้งแรกหมายถึงเก้าอี้ หรือเตียงทั่วไป ส่วนครั้งที่สอง หมายถึงความเข้าใจพิเศษที่กำลังกล่าวถึงขณะนี้
ประการแรก หมายถึงเก้าอี้ธรรมดา ดังปรากฏในโองการที่ 34 บท ซ็อด กล่าวว่า แน่นอนเราได้ทดสอบสุลัยมาน และเราได้วางร่างหนึ่งไว้บนเก้าอี้ของเขา
ประการทีสอง หมายถึงความรู้ ดังปรากฏในโองการที่กำลังกล่าวถึง ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ถึงความรู้ของพระองค์ เว้นแต่บางส่วนที่พระองค์ประสงค์ (พระองค์ทรงรอบรู้ทุกสิ่ง ความรู้ที่มีขอบเขตของคนอื่น อยู่ภายใต้ร่มเงาความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของพระองค์) เก้าอี้ (อำนาจ) ของพระองค์แผ่ไพศาลทั่วชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน
จุดประสงค์ของเก้าอี้แห่งพระเจ้าหมายถึงอะไร
นักอรรถาธิบายอัลกุรอานฝ่ายอะฮฺลิซซุนนะฮฺบ้าง กล่าวว่ากุรซีย์ มีความหมายตามพจนานุกรมทั่วไป ซึ่งตัวของมันใหญ่เทียบเท่าความใหญ่ของท้องฟ้าและแผ่นดิน บ้างกล่าวว่ากุรซีย์กับอัรช์เหมือนกัน บ้างกล่าวว่าเป็นสองสิ่งที่มีความแตกต่างกัน บ้างกล่าวว่ากุรซีย์อยู่ต่ำกว่าอัรช์ และบ้างกล่าวว่ากุรซีย์อยู่ใต้พื้นดิน[51]
จุดประสงค์ของ กุรซีย์ หมายถึงความรู้ที่กว้างไพศาลของพระเจ้า ซึ่งครอบคลุมเหนือโลกและจักรวาล และความจริงนี้ได้รับการอธิบายไว้แตกต่างกัน เช่น มุลลาซ็อดรอ เชื่อว่า กุรซีย์ หมายถึงรูปลักษณ์ของจิตวิญญาณทั้งหมด อยู่ ณ สถานที่ซึ่งถูกกำหนด เหมือนกับอัรช์ หมายถึงรูปลักษณ์ของสติปัญญา อยู่ ณ ห้วงอวกาศ ตามความเชื่อของเขา อัรช์เป็นความสมบูรณ์ หมายถึงเป็นแหล่งแห่งความรอบรู้โดยรวมที่สมบูรณ์ของพระเจ้า และเป็นส่วนหนึ่งของอาตมัน ส่วนกุรซีย์ หมายถึงความรู้ที่โดยละเอียดของพระเจ้าเกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งหลาย บรรดานักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺส่วนใหญ่เชื่อว่า กุรซีย์ หมายถึงความรอบรู้ของพระเจ้า ดังที่จะเห็นได้จากรายงานของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.)
มีผู้ถามอิมามบากิร (อ.) ว่ากุรซีย์ และ อัรช์หมายถึงอะไร กล่าวว่า อัรช์ ด้านหนึ่งหมายถึง สรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหมด ส่วน กุรซีย์ หมายถึงที่พำนักของสรรพสิ่งถูกสร้าง อีกด้านหนึ่ง อัรช์ หมายถึง ความรู้ ที่พระเจ้าทรงประทานให้บรรดาศาสดา และผู้เป็นข้อพิสูจน์ของพระองค์ได้รับรู้ ส่วนกุรซีย์ หมายถึง ความรู้ เช่นกันแต่พระองค์มิทรงประทานให้ผู้ใดรับรู้
มีผู้ถามอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับอายะฮฺกุรซีย์ที่ กุรซีย์แผ่ไพศาล หมายถึงอะไร กล่าวว่า ความรู้ของพระเจ้า[52]
ดังนั้น จะเห็นว่าจุดประสงค์ของกุรซีย์ หมายถึงความรู้ของพระเจ้า ซึ่งนอกจากรายงานแล้ว โองการก็ยืนยันเช่นกันว่า กุรซีย์ หมายถึงความรู้ ดังจะเห็นได้จากประโยคก่อนหน้านั้นที่กล่าวว่า ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ถึงความรู้ของพระองค์ เว้นแต่บางส่วนที่พระองค์ประสงค์ ซึ่งโองการกล่าวถึงความรู้ของพระเจ้า หลังจากนั้นจึงกล่าวถึง กุรซีย์ ในประโยคถัดมาทันที อย่างน้อยที่สุดทั้งสองต้องมีความเหมาะสมซึ่งกันและกัน