เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

โองการที่ 256 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

โองการที่ 256 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์

 

لاَ إِكْرَاهَ فِي الدِّينِ قَد تَّبَيَّنَ الرُّشْدُ مِنَ الْغَيِّ فَمَنْ يَكْفُرْ بِالطَّاغُوتِ وَيُؤْمِن بِاللّهِ فَقَدِ اسْتَمْسَكَ بِالْعُرْوَةِ الْوُثْقَىَ لاَ انفِصَامَ لَهَا وَاللّهُ سَمِيعٌ عَلِيمٌ (256)

 

ความหมาย

 

256. ไม่มีการบังคับให้นับถือศาสนา (เนื่องจาก) แนวทางที่ถูกต้องและแนวทางที่ผิด เป็นที่ชัดแจ้งแล้ว ดังนั้น ผู้ใดปฏิเสธอัฎ-ฎอฆูต (เทวรูป ซาตานมารร้าย ผู้กดขี่ และผู้ละเมิด) และศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แน่นอน เขาได้ยึดมั่นห่วงอันมั่นคงที่ไม่มีการขาดสะบั้น อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้

 

สาเหตุของการประทานโองการ

 

มีชายคนหนึ่งนามว่า อบูฮะซีน เป็นชาวเมืองมะดีนะฮฺ มีบุตรชาย 2 คน สมัยนั้นมีพ่อค้าต่างเมืองนำสินค้ามาเข้ามาขายในมะดีนะฮฺ เมื่อพวกเขาพบกับเด็กหนุ่มทั้งสอง ได้ทำการเชิญชวนให้นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งสร้างความลำบากใจแก่ทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง อบูฮะซีน ผู้เป็นบิดานำเรื่องดังกล่าวไปบอกกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และขอร้องให้ท่านนำทั้งสองกลับมาสู่ศาสนาเดิม เขาถามท่านศาสดาว่า สามารถบังคับให้เขากลับมาสู่ศาสนาเดิมได้หรือไม่ โองการจึงถูกประทานลงมาว่า ไม่มีการบังคับให้นับถือศาสนา

 

คำอธิบาย ไม่มีการบังคับให้นับถือศาสนา

 

คำว่า รุชด์ ในเชิงภาษาหมายถึง การพบแนวทาง และการไปถึงยังความจริง ตรงข้ามกับคำว่า ฆัยยิ หมายถึง การเฉไฉออกไปจากแก่นแท้ และการห่างไกลจากความจริง

 

คำว่า ฏอฆูต หมายถึง การแสดงอำนาจบาดใหญ่ และการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ปกติผู้ที่เป็นฏอฆูต ทั้งหลายมักจะมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับผู้นับถือศาสนา หรือความคิดของผู้คน

 

ประโยคที่กล่าวว่า ไม่มีการบังคับให้นับถือศาสนา บ่งชี้ว่าบางครั้งผู้ที่ไม่มีความรู้มักขอร้องท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ให้บังคับผู้คนให้นับถือศาสนา หรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคน โองการข้างต้นจึงประทานลงมาเพื่ออธิบายความจริงแก่พวกเขาว่า ศาสนาและคำสอนมิสามารถใช้กำลังบีบบังคับให้ผู้อื่นศรัทธาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาที่มีเหตุผล และมีการแสดงปาฏิหาริย์เพื่อพิสูจน์ความจริงต่าง ๆ ความถูกต้องถูกจำแนกออกจากความหลงผิด ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนจึงไม่จำเป็นต้องใช้กำลัง หรือการบีบบังคับใด ๆ อิสลามไม่อนุญาตให้บิดา หรือผู้ปกครองบีบบังคับให้บุตรนับถือศาสนา หรือเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ดังนั้น หน้าที่ของคนอื่นเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงชัดเจนด้วยตัวเอง เพราะถ้าอนุญาตให้กระทำได้ บุคคลแรกที่มีสิทธิ์กระทำเช่นนั้นคือ บิดา แต่ไม่เคยปรากฏการอนุญาตทำนองนี้ในอิสลาม

 

แน่นอนมนุษย์มีเจตนารมณ์เสรีในการเลือกนับถือศาสนา เหตุผล และความเชื่อทางศาสนาไม่สามารถใช้กำลังบังคับขู่เข็ญให้ผู้อื่นศรัทธาได้ สิ่งที่แน่นอนคือ มนุษย์มีความอิสระในการเลือกนับถือศาสนา เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาไม่สามารถบังคับให้บุคคลอื่นเชื่อตามตนได้ บางครั้งเงื่อนไขทางสังคม กับสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย หรือไม่ให้โอกาสคิด ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีสิทธิ์บังคับให้บุคคลอื่นเชื่อ บางทีอาจมีปัจจัยอื่นที่เป็นผลกับเขาและทำให้เขาเปลี่ยนการเลือกสรร

 

อัลกุรอาน แจ้งถึงความจริงไว้ดังนี้ว่า แนวทางแห่งการชี้นำและความถูกต้อง ถูกจำแนกออกจากแนวทางที่หลงผิดไว้อย่างชัดเจน พร้อมกันนั้นพระองค์ยังได้ประทานศาสดาลงมาสั่งสอน เพื่อจัดลำดับความคิด และแนะนำศาสนาที่ถูกต้องให้แก่มนุษย์ บรรดาศาสดามีหน้าที่ต่อสู้กับผู้อธรรม ผู้ละเมิด และผู้ที่ขัดขวางแนวทางที่นำไปสู่ความสุขถาวร การต่อสู้ดังกล่าวอาจเป็นไปในรูปแบบของการเผยแผ่ หรือการทำสงคราม

 

บรรดาศาสดาจะไม่เผยแผ่คำสอนศาสนาด้วยการทำสงครามเด็ดขาด แต่ถ้าสงครามเกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของท่านที่ต้องยืนหยัดต่อสู้ เพื่อปกป้องแผ่นดินอิสลาม และชีวิตของบรรดามุสลิม

 

สุดท้ายของโองการกล่าวถึงคุณสมบัติสำคัญสองประการของพระเจ้าคือ อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้

 

หมายถึงทุกสิ่งที่พูดพระองค์ทรงได้ยิน ทุกสิ่งที่คิดพระองค์ทรงมองเห็น ฉะนั้น เป็นที่ชัดเจนสำหรับพระองค์ที่ว่าบุคคลใดมีศรัทธาแท้จริง และบุคคลใดหัวใจของเขาว่างเปล่าจากรัศมีของศรัทธา

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม