โองการที่ 257 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
โองการที่ 257 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
اللّهُ وَلِيُّ الَّذِينَ آمَنُواْ يُخْرِجُهُم مِّنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّوُرِ وَالَّذِينَ كَفَرُواْ أَوْلِيَآؤُهُمُ الطَّاغُوتُ يُخْرِجُونَهُم مِّنَ النُّورِ إِلَى الظُّلُمَاتِ أُوْلَئِكَ أَصْحَابُ النَّارِ هُمْ فِيهَا خَالِدُونَ (257)
ความหมาย
257. อัลลอฮฺทรงเป็นผู้คุ้มครองบรรดาผู้ศรัทธา ทรงนำพวกเขาออกจากาความมืดมิดไปสู่ความสว่าง แต่บรรดาผู้ปฏิเสธ ผู้คุ้มครองของพวกเขาคือ อัฎ-ฎอฆูต พวกมันนำพวกเขาออกจากความสว่างไปสู่ความมืดมิด พวกเขาคือชาวนรก และพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป
คำอธิบาย รัศมีของศรัทธาความมืดมิดของผู้ปฏิเสธ
คำว่า วะลีย์ ตามรากศัพท์หมายถึง ความใกล้ชิด การไม่แยกจากกัน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกผู้คุ้มครอง ผู้นำ ผู้ปกครอง ผู้คอยปกป้องดูแลว่าวะลีย์ มิตรและเพื่อนสนิทก็เรียกว่าวะลีย์เช่นกัน แต่คำว่าวะลีย์ในโองการข้างต้นให้ความหมายแรก ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า อัลลอฮฺทรงเป็นผู้คุ้มครองบรรดาผู้ศรัทธา ทรงนำพวกเขาออกจากาความมืดมิดไปสู่ความสว่าง
การชี้นำผู้ศรัทธาให้ออกจากความมืดมิดไปสู่ความสว่างไสวคือผลลัพธ์ของความพยายาม แต่สิ่งที่สำคัญคือขั้นตอนของการชี้นำ และความศรัทธาที่ถูกต้อง เพราะมิได้หมายความว่าบุคคลใดศรัทธาแล้วจะประสบความสำเร็จ ในการใกล้ชิดกับพระเจ้า แน่นอนเขาต้องการการชี้นำจากพระเจ้าทุกขั้นตอน ทุกย่างก้าว และในทุกกิจการงาน
หลังจากนั้นโองการกล่าวว่า แต่บรรดาผู้ปฏิเสธ ผู้คุ้มครองของพวกเขาคือ อัฎ-ฎอฆูต พวกมันนำพวกเขาออกจากความสว่างไปสู่ความมืดมิด
ประเด็นสำคัญ
1. การเปรียบเทียบความศรัทธากับการปฏิเสธ ประหนึ่งแสงสว่างและความมืดมิด เป็นการเปรียบเทียบที่เป็นจริงที่สุด เนื่องจากแสงสว่างคือ แหล่งที่ให้ความมั่นคงแก่ชีวิตทั้งความโปรดปราน ความจำเริญ การเติบโต ความสมบูรณ์ การเคลื่อนไหว และอื่น ๆ ต่างต้องอาศัยแสงสว่างทั้งสิ้น แสงสว่างยังให้ความสงบแก่จิตใจ เป็นตัวสร้างความมั่นใจ สร้างความรู้ และให้สัญลักษณ์เครื่องหมายต่าง ๆ ขณะความมืดมิดเป็นสัญลักษณ์ของความตาย การนิ่งเงียบ ความง่วงนอน และความโง่เขลา และความมืดสร้างความหวาดกลัวให้มนุษย์ ความศรัทธาและการปฏิเสธก็อยู่ในลักษณะเดียวกันกับแสงสว่างและความมืด
2. โองการนี้และอีกหลายโองการเมื่อกล่าวถึงความมืดจะใช้คำที่เป็นพหูพจน์ (ซุลุมาต) ส่วนแสงสว่างจะใช้คำที่เป็นเอกพจน์ (นูร) แสดงให้เห็นว่าแนวทางที่ถูกต้องไม่แตกเป็นสอง ไม่มีสอง และไม่แยกจากกันตั้งแต่ต้นจนจบจะมีความเป็นเอกภาพและเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น
3.อาจเป็นไปได้ที่จะกล่าวว่าการปฏิเสธ ไม่มีแสงสว่างที่จะนำพาออกจากความมืด แต่ความศรัทธาเป็นแสงสว่างที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน
4. โองการกล่าวว่า พระเจ้าทรงแนะนำตัวเองว่าเป็นผู้คุ้มครองผู้ศรัทธา ขณะที่คำว่า วะลีย์ มีหลายความหมาย ซึ่งบางครั้งให้ความหมายว่าผู้คุ้มครอง หรือผู้ถูกเคารพภักดี ถ้าวะลีย์ให้ความหมายเช่นนี้ นั่นหมายความว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้คุ้มครองผู้ศรัทธาเท่านั้น มิใช่ของทุกคน
ความหมายอื่นของวะลีย์คือ ผู้ปกครอง ซึ่งในความหมายนี้สามารถใช้กับพระเจ้า ศาสดา และบรรดอิมามผู้บริสุทธิ์ได้ บรรดาอิมามผู้เป็นผู้ปกครองมวลผู้ศรัทธาทั้งหลาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ศรัทธาที่ต้องไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของพวกเขา ดังที่อัลกุรอาน กล่าวว่า แท้จริงผู้ปกครองของพวกเจ้าคือ อัลลอฮฺ และเราะซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธาที่ดำรงนมาซ และจ่ายซะกาตและขณะก้มคารวะ (รุกูอ์) (บทอัลมาอิดะฮฺ โองการที่ 55)
นักอรรถาธิบายอัลกุรอานส่วนใหญ่กล่าวว่า จุดประสงค์ของมุอฺมิน ที่นมาซ และบริจาคทานขณะก้มคารวะ คือ ท่านอิมามอะลี (อ.)