โองการที่ 270,271 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
โองการที่ 270,271 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
وَ مَا أَنفَقْتُم مِّن نَّفَقَة أَوْ نَذَرْتُم مِّن نَّذْر فَإِنَّ اللَّهَ يَعْلَمُهُ وَ مَا لِلظلِمِينَ مِنْ أَنصار(270)إِن تُبْدُوا الصدَقَتِ فَنِعِمَّا هِىَ وَ إِن تُخْفُوهَا وَ تُؤْتُوهَا الْفُقَرَاءَ فَهُوَ خَيرٌ لَّكمْ وَ يُكَفِّرُ عَنكم مِّن سيِّئَاتِكمْ وَ اللَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ خَبِيرٌ(271)
ความหมาย
270. และสิ่งใดที่สูเจ้าบริจาคไป หรือ (ทรัพย์สิน) ที่สูเจ้าบนไว้ (เพื่อบริจาคในหนทางพระเจ้า) แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงรู้มัน และสำหรับผู้อธรรมนั้นไม่มีผู้ช่วยเหลือ
271. ถ้าสูเจ้าเปิดเผยกุศลทานย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าสูเจ้าปกปิดและบริจาคแก่บรรดาผู้ขัดสน สิ่งนี้ย่อมดีกว่าสำหรับสูเจ้า และพระองค์ทรงปกปิดบาปบางส่วนของสูเจ้า (เมื่อบริจาคในหนทางของพระเจ้า ย่อมได้รับการอภัย) และอัลลอฮฺ ทรงตระหนักในสิ่งที่สูเจ้ากระทำ
คำอธิบาย บริจาคอย่างไร
โองการที่ผ่านมากล่าวถึงการเลือกสรรสิ่งดีเพื่อบริจาค พร้อมกับความบริสุทธิ์ใจ ส่วนสองโองการต่อไปนี้กล่าวถึง วิธีการบริจาคและการรอบรู้ของพระเจ้า ดังนั้น สิ่งบริจาคไม่ว่ามากหรือน้อย ดีหรือเลว สรรหามาด้วยวิธีการอนุมัติหรือไม่ บริจาคด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือโอ้อวด หรือด้วยการลำเลิกบุญคุณและเราะราน หรือปราศจากสิ่งเหล่านี้ เป็นทรัพย์สินที่พระเจ้าบัญชาให้บริจาค หรือเนื่องจากสูเจ้าบนไว้จึงเป็นข้อบังคับสำหรับสูเจ้า ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตามพระเจ้าทรงตระหนักดีถึงรายละเอียดปลีกย่อยเหล่านั้น และทรงมอบรางวัลตอบแทนตามความเหมาะสมของการะกระทำ
สุดท้ายโองการกล่าวว่า และสำหรับผู้อธรรมนั้นไม่มีผู้ช่วยเหลือ ผู้อธรรมในที่นี้หมายถึง คนร่ำรวยที่ตระหนี่ถี่เหนียวในการบริจาค หรือกระทำด้วยความโอ้อวด ลำเลิกบุญคุณ และเราะรานผู้คน พระเจ้าจะไม่ทรงช่วยเหลือพวกเขา และการบริจาคของพวกเขาไม่อาจช่วยเหลือพวกเขาได้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า หรืออาจหมายถึง ผู้ที่ละทิ้งการบริจาคแก่ผู้ขัดสนซึ่งเป็นการกดขี่บุคคลเหล่านั้น กดขี่ตนเอง และสังคม หรือบุคคลที่ไม่ถือว่าการบริจาคเป็นสิ่งดีงามสำหรับตน เนื่องจากคำว่า อธรรม มีความหมายครอบคลุมกว้าง หมายถึงการกระทำไม่ถูกที่ของตน ซึ่งทั้งสามความหมายมิได้ขัดแย้งกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้อธรรมจะไม่มีผู้ช่วยเหลือในโลกนี้ และจะไม่ได้ชะฟาอะฮฺในโลกหน้า ทั้งสองเป็นคุณสมบัติของผู้อธรรม
โองการถัดมากล่าวถึง การปิดบังหรือการเปิดเผยในการบริจาค ซึ่งแฝงไว้ด้วยคำถามที่พวกเขาถามท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เสมอว่า การบริจาคอย่างเปิดเผย กับการบริจาคปิดบังอย่างใดดีกว่ากัน โองการข้างต้นจึงถูกประทานลงมาเพื่อตอบคำถามแก่พวกเขา และเน้นว่าการบริจาคทั้งสองเป็นที่ยอมรับ โองการจึงกล่าวว่า ถ้าสูเจ้าเปิดเผยกุศลทานย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าสูเจ้าปกปิดและบริจาคแก่บรรดาผู้ขัดสน สิ่งนี้ย่อมดีกว่าสำหรับสูเจ้า
แน่นอน การบริจาคทั้งสองประเภทมีความดีงามอยู่ในตัว การบริจาคที่เปิดเผยมีส่วนดีคือ เป็นการเชิญชวนและสนับสนุนบุคคลที่พบเห็นให้มีความสนใจต่อการบริจาค ส่วนการบริจาคที่ไม่เปิดเผยมีส่วนดีมากกว่า นั่นคือการหลีกเลี่ยงจากการโอ้อวด ซึ่งมุ่งหวังความใกล้ชิดเพียงอย่างเดียว
แม้ว่าโองการจะยอมรับการบริจาคทั้งสองประเภทก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าการบริจาคที่ไม่เปิดเผยนั้นดีกว่า เนื่องจากโองการใช้คำว่า ค็อย ซึ่งหมายถึงดีกว่า แน่นอนเป็นที่ทราบดีว่าคำ ๆ นี้ส่วนมากจะใช้เพื่อเปรียบเทียบของสองสิ่งว่าสิ่งใดดีกว่ากัน
โองการกล่าวสนับสนุนบรรดาผู้บริจาคทั้งหลายว่า สำหรับการกระทำความดีของสูเจ้า พระเจ้าทรงปิดบังและทรงอภัยบาปบางส่วนของสูเจ้า โองการกล่าวว่า บาปบางส่วนของเจ้า บ่งบอกว่าผลของการบริจาคจะลบล้างบาปบาปส่วน มิใช่ทั้งหมด เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเคยชินกับการทำบาป และจะได้ไม่คิดว่าถ้าตนทำบาปสามารถลบล้างได้ด้วยการบริจาค ซึ่งในความเป็นจริงบาปกรรมของมนุษย์มีการตรวจสอบโดยละเอียด และพระเจ้าทรงตระหนักดีสิ่งที่มนุษย์กระทำ
รายงานจำนวนมากทั้งฝ่ายชีอะฮฺและซุนนีย์กล่าวว่า การบริจาคทำให้บาปถูกลบล้าง เช่น รายงานที่กล่าวว่า การบริจาคเป็นสาเหตุให้พระเจ้าทรงกลืนความกริ้ว ประหนึ่งน้ำที่ดับเปลวไฟ และบาปกรรมของมนุษย์ถูกลบล้าง