โองการที่ 272 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
โองการที่ 272 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
لَّيْسَ عَلَيْكَ هُدَاهُمْ وَلَكِنَّ اللّهَ يَهْدِي مَن يَشَاء وَمَا تُنفِقُواْ مِنْ خَيْرٍ فَلأنفُسِكُمْ وَمَا تُنفِقُونَ إِلاَّ ابْتِغَاء وَجْهِ اللّهِ وَمَا تُنفِقُواْ مِنْ خَيْرٍ يُوَفَّ إِلَيْكُمْ وَأَنتُمْ لاَ تُظْلَمُونَ (272)
ความหมาย
272. การชี้นำพวกเขา (ในลักษณะขู่บังคับ) ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้า (ดังนั้น การละเว้นการบริจาคแก่ผู้ปฏิเสธ เพื่อบังคับให้รับอิสลามจึงไม่ถูกต้อง) แต่ว่าอัลลอฮฺ ทรงชี้นำผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ (ที่ทรงรู้ว่าเหมาะสม) ความดี (และทรัพย์สิน) อันใดที่สูเจ้าบริจาค ก็เพื่อตัวสูเจ้า และจงอย่าบริจาค เว้นแต่เพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ และความดีอันใดที่สูเจ้าบริจาค พระองค์จะตอบแทนโดยครบถ้วนต่อสูเจ้า และสูเจ้าจะไม่ถูกอยุติธรรมง
สาเหตุของการประทานโองการ
อิบนิอับบาซ กล่าวว่า บรรดามุสลิมไม่พร้อมที่จะบริจาคทรัพย์แก่ผู้ที่มิใช่มุสลิม โองการจึงประทานลงมา เพื่ออนุญาตให้พวกเขาบริจาคเมื่อถึงคราวจำเป็น
คำอธิบาย การบริจาคแก่บุคคลที่มิใช่มุสลิม
โองการกล่าวถึงการอนุญาตให้บริจาคแก่บุคคลที่มิได้เป็นมุสลิม หมายถึงไม่สมควรละเว้นการบริจาคแก่บุคคลนอกศาสนา ที่อยู่ในภาวะคับขันเพื่อเปิดโอกาสให้เขาเลือกศาสนาอิสลาม บางทีอาจได้รับทางนำจากพระเจ้า โองการกล่าวแก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า สูเจ้าไม่มีสิทธิ์บังให้ผู้อื่นยอมรับทางนำ เนื่องจากการชี้นำอยู่ในอำนาจของพระเจ้า ซึ่งพระองค์จะชี้นำผู้ที่พระองค์ประสงค์ ดังนั้น สูเจ้าต้องไม่ละเลยการบริจาคแก่บุคคลนอกศาสนา ด้วยเหตุนี้การละเว้นการบริจาค เพื่อบังคับให้พวกเขายอมรับอิสลามเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง คำพูดดังกล่าวแม้ว่าจะตรัสกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แต่มีความหมายครอบคลุมบรรดามุสลิมทั้งหมด
การชี้นำของพระเจ้า (ฮิดายะฮฺ) แบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้ ถ้าจุดประสงค์ หมายถึงการชี้นำทั่วไป ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ที่เป็นมุสลิมและมิใช่มุสลิม แต่ถ้าหมายถึง การได้รับทางนำ การชี้นำประเภทนี้เจาะจงเฉพาะผู้ศรัทธาอย่างเดียว เนื่องจากพระเจ้าทรงชี้นำผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ซึ่งพระประสงค์ของพระองค์มีเงื่อนไขว่า บุคคลนั้นต้องสร้างสรรค์ความศรัทธา และความสำรวมในระดับที่มีความเหมาะสม จึงจะได้รับทางนำนั้น
บางครั้งเป็นการชี้นำแบบตักวีนีย์ หมายถึงพระเจ้าทรงสร้างปัจจัยที่พัฒนาไปสู่ความก้าวหน้า และความสมบูรณ์ไว้ในสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ สัตว์ และพืช ตลอดจนสรรพสิ่งที่ไม่มีชีวิต เพื่อให้สรรพสิ่งเหล่านั้นพัฒนาตนไปสู่ความสมบูรณ์ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการชี้นำไปตามกฎเกณฑ์แห่งการสร้างสรรค์
บางครั้งเป็นการชี้นำแบบตัชรีอีย์ หมายถึงการชี้นำโดยผ่านบุคคล อาศัยการเรียนการสอน กฎเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ ระบบปกครองที่ยุติธรรม และการตักเตือนที่ดี ซึ่งการชี้นำประเภทนี้ผ่านท่านศาสดา บรรดาอิมาม และมวลมิตรที่เป็นกัลญาณชน
จากโองการเข้าใจได้ว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีหน้าที่นำสาส์นมาเผยแผ่ แต่ท่านไม่มีหน้าที่บังคับให้บุคคลอื่นศรัทธา หรือยอมรับอิสลาม
อย่างไรก็ตามโองการสั่งห้ามท่านศาสดา และบรรดามุสลิมมิให้ละเลยการบริจาค แก่บรรดาผู้ปฏิเสธเพื่อบังคับให้เขายอมรับอิสลาม แม้ว่าโองการตรัสกับท่านศาสดา แต่ว่ามีความหมายครอบคลุมมุสลิมทุกยุคทุกสมัย และจากความหมายของโองการได้บทสรุป 3 ประการดังต่อไปนี้
1. ทุกการบริจาคและการกระทำความดี ผลประโยชน์ของมันย้อนกลับมาหาผู้กระทำเสมอ ดังนั้น ถ้าสังคมไม่ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนย่อมก่อให้เกิดการแบ่งชั้นวรรณะ และพร้อมที่จะระเบิดขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ อีกด้านหนึ่งความหิวและกระหายอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย และการนองเลือด ซึ่งผู้อาจเดือดร้อนคือคนมีฐานะในสังคม ฉะนั้น การบริจาคจึงเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองเบื้องแรก และสร้างความสงบแก่สังคม
2 . เป็นการเตือนสติว่า มุสลิมที่แท้จริงเมื่อบริจาค จะกระทำเพื่อพระเจ้าเท่านั้น เขาจะไม่โอ้อวด หรือกระทำเพื่อชื่อเสียงของตน ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วมุสลิมต้องไม่กระทำเพื่อสิ่งอื่น เว้นเสียแต่เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ ดังที่กล่าวว่า จงอย่าบริจาค เว้นแต่เพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ
จุดประสงค์คำว่า วัจฮิลลาฮฺ หมายถึง อาตมันของพระเจ้า การที่อัลกุรอาน กล่าวเช่นนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดมากกว่า ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ดังนั้น ขณะที่บริจาคเขาจึ่งไม่มีสิ่งอื่นในจิตใจ มิได้กระทำเพื่อสวรรค์หรือนรก เว้นแต่เพื่อพระเจ้า
3. ทุกการบริจาคที่สูเจ้าบริจาคออกไป ในวันสุดท้ายพระเจ้าจะทรงคืนกลับอย่างครบสมบูรณ์ โดยไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง สิทธิของสูเจ้าจะมิถูกทำลายแม้เพียงเล็กน้อย