โองการที่ 273 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
โองการที่ 273 ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์
لِلفُقَرَاءِ الَّذِينَ أُحْصِرُوا فى سبِيلِ اللَّهِ لا يَستَطِيعُونَ ضرْباً فى الأَرْضِ يحْسبُهُمُ الْجَاهِلُ أَغْنِيَاءَ مِنَ التَّعَفُّفِ تَعْرِفُهُم بِسِيمَهُمْ لا يَسئَلُونَ النَّاس إِلْحَافاً وَ مَا تُنفِقُوا مِنْ خَير فَإِنَّ اللَّهَ بِهِ عَلِيمٌ (273 )
ความหมาย
273. (การบริจาคของท่าน ต้องเฉพาะ) สำหรับผู้ยากจนที่ถูกจำกัดตัวอยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ (พวกเขาใส่ใจในศาสนา ถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิด เข้าร่วมสงคราม ไม่อนุญาตให้ประกอบอาชีพ) พวกเขาไม่สามารถสัญจรไปตามแผ่นดินได้ (เพื่อหารายได้) พวกไม่รู้คิดว่า พวกเขาเป็นผู้มั่งมี เนื่องจากความสงบเสงี่ยม แต่เจ้ารู้จักพวกเขาได้ที่เครื่องหมายของพวกเขา พวกเขาไม่วอนขออย่างเซ้าซี้จากผู้คน และความดีอันใดที่สูเจ้าบริจาค แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้ในสิ่งนั้น
สาเหตุของการประทานโองการ
อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า โองการนี้ลงให้กับสาวกซอฟฟะฮฺ ซึ่งมีทั้งสิ้น 400 คน เป็นมุสลิมที่อยู่บริเวณรอบ ๆ มะดีนะฮฺ และมาจากมักกะฮฺบางส่วน พวกเขาไม่มีที่อยู่อาศัยแน่นอน ด้วยเหตุนี้ จึงเอามัสญิดนบีเป็นที่พักอาศัย แต่เนื่องจากว่าการพักอาศัยของพวกเขาไม่เหมาะสมกับเกียรติยศของมัสญิด จึงมีคำสั่งให้ย้ายออกจากมัสญิดไปยัง ซอฟฟะฮฺ ซึ่งมีความกว้างขวางกว่ามัสญิด โองการจึงประทานลงมากำชับผู้คนว่า มุสลิมกลุ่มนี้เป็นพี่น้องของเจ้าจงอย่างละเลยการช่วยเหลือพวกเขา
คำอธิบาย ประการบริจาคที่ดีที่สุด
แม้ว่าสามารถบริจาคให้บุคคลนอกศาสนาได้ก็ตาม แต่ดีกว่าให้ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ใกล้ตัว หรืออยู่ในความดูแลของตน หรือเป็นบุคคลที่มีเกียรติในฐานะผู้ศรัทธา โองการข้างต้นจึงกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จำเป็นต้องบริจาคให้ ได้แก่บุคคลที่ยากจนทรัพย์สิน ซึ่งความยากจนของเขาเกิดจากการออกสงครามในหนทางของพระเจ้า หรือเตรียมพร้อมเพื่อสงครามตลอดเวลา จนทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างอื่นเพื่อหารายได้ ในสมัยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีมุสลิมกลุ่มหนึ่งเตรียมพร้อมเพื่อปกป้องอิสลามตลอดเวลา และออกสงครามก่อนใครอื่น เช่น สาวกของซอฟฟะฮฺ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 400 คน เนื่องจากพวกเขาเตรียมพร้อมทำสงคราม จึงไม่สามารถประกอบอาชีพ หรือเดินทางไปหารายได้จากที่อื่นได้ พวกเขาแม้ว่าเป็นผู้ยากจนมีความขัดสน แต่ขณะเดียวกันเป็นผู้มีเกียรติ มีจิตใจที่สูงส่ง ไม่เคยแสดงตนว่าเป็นผู้ขัดสนและยากได้ทรัพย์ปัจจัยของคนอื่น
สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักพวกเขา มักจะคิดว่าพวกเขาร่ำรวย เนื่องจากเกียรติยศและจิตใจที่สูงส่งของพวกเขา
พวกเขาจะไม่วอนขอทรัพย์สินของผู้อื่นอย่างเซ้าซี้ เนืองด้วย พวกเขาไม่ต้องการทรัพย์ของผู้อื่นจะให้วอนขอได้อย่างไร นั่นหมายความว่าพวกเขามิใช่ผู้ขัดสนเหมือนกับผู้ขัดสนทั่วไป
อัลกุรอานแนะนำว่า สัญลักษณ์ของพวกเขาคือ มีร่องรอยแห่งศรัทธาและมีจิตใจที่สูงส่ง ดังที่บางโองการอธิบายว่า เครื่องหมายของพวกเขาอยู่บนใบหน้าของพวกเขาเนื่องจากร่องรอยแห่งก้มกราบ (บทอัล-ฟัตฮฺ โองการที่ 29)
ตามโองการที่กล่าวมาบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มชนที่มีความเหมาะ และสมควรได้รับการบริจาคมากที่สุด บรรดาผู้ร่ำรวยเมื่อพบเห็นคนจนที่มีเกียรติยศเช่นนี้สมควรรีบบริจาคให้กับพวกเขา สุดท้ายโองการกล่าวสนับสนุนให้ปวงชนบริจาคทรัพย์สินของตนว่า ความดีอันใดที่สูเจ้าบริจาค แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้ในสิ่งนั้นหมายถึงอย่าคิดว่าการบริจาคของสูเจ้าจะสูญเปล่า หรือถูกละเลย แต่สิ่งที่สูเจ้ากระทำเป็นสิ่งมีคุณค่ายิ่ง ณ พระผู้อภิบาล
ไม่อนุญาต (ฮะรอม) ให้วอนขอผู้อื่นทั้งที่ตนไม่ต้องการ
การกระทำที่จัดว่าเป็นหนึ่งในบาปใหญ่คือ การขอจากผู้อื่นทั้งที่ตนมิใช่ผู้ขัดสน ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การบริจาคให้ผู้ร่ำรวยเป็นบาป