โองการที่ 98, 99, 100, 101ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
โองการที่ 98, 99, 100, 101ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
قُلْ يَأَهْلَ الْكِتَبِ لِمَ تَكْفُرُونَ بِئَايَتِ اللَّهِ وَ اللَّهُ شهِيدٌ عَلى مَا تَعْمَلُونَ (98) قُلْ يَأَهْلَ الْكِتَبِ لِمَ تَصدُّونَ عَن سبِيلِ اللَّهِ مَنْ ءَامَنَ تَبْغُونهَا عِوَجاً وَ أَنتُمْ شهَدَاءُ وَ مَا اللَّهُ بِغَفِلٍ عَمَّا تَعْمَلُونَ (99)يَأَيهَا الَّذِينَ ءَامَنُوا إِن تُطِيعُوا فَرِيقاً مِّنَ الَّذِينَ أُوتُوا الْكِتَب يَرُدُّوكُم بَعْدَ إِيمَنِكُمْ كَفِرِينَ(100) وَ كَيْف تَكْفُرُونَ وَ أَنتُمْ تُتْلى عَلَيْكُمْ ءَايَت اللَّهِ وَ فِيكمْ رَسولُهُ وَ مَن يَعْتَصِم بِاللَّهِ فَقَدْ هُدِى إِلى صرَطٍ مُّستَقِيمٍ (101)
ความหมาย
98. จงกล่าวเถิด โอ้ชาวคัมภีร์เอ๋ย ไฉนพวกท่านจึงปฏิเสธสัญลักษณ์ทั้งหลายของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงเป็นพยานที่พวกท่านปฏิบัติ
99. จงกล่าวเถิด โอ้ชาวคัมภีร์เอ๋ย ไฉนท่านจึงกีดกันผู้ศรัทธา จากทางของอัลลอฮฺ โดยหวังที่จะให้ทางบิดเบือน ขณะที่พวกท่านเป็นพยานอยู่ และอัลลอฮฺ ไม่เฉยเมยต่อที่พวกท่านกระทำ
100. โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย หากสูเจ้าเชื่อฟังปฏิบัติตามกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด จากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ พวกเขาจะกลับสูเจ้าเป็นผู้ปฏิเสธอีกครั้ง หลังจากการศรัทธา
101. และสูเจ้าจะปฏิเสธได้อย่างไร ทั้งๆ ที่โองการทั้งหลายของอัลลอฮฺ ได้ถูกอ่านแก่สูเจ้า และศาสดาของพระองค์อยู่ในหมู่สูเจ้า (ดังนั้น จงยึดมั่นในอัลลอฮฺ) และผู้ใดยืดมั่นในอัลลอฮฺ แน่นอนเขาได้ถูกชี้นำสู่ทางอันเที่ยงตรง
สาเหตุของการประทานโองการ
สาเหตุของการประทานโองการนี้กับอีกสามโองการถัดไป กล่าวไว้ในตำราทั้งจากผ่านซุนนีย์ และชีอะฮฺ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ มียะฮูดีย์คนหนึ่งชื่อชาซ บุตรของเกซ เป็นชายชราที่ดื้อรั้น และมีจิตใจมืดบอดสนิท วันหนึ่งเขาเดินผ่านมุสลิมที่นั่งอยู่กลุ่มหนึ่ง ในกลุ่มนั้นมีชนจากเผ่าอะเวซ และคัซร็อจญ์ทั้งสองเผ่าทะเลาะวิวาทกันมาอย่างช้านาน แต่วันนี้พวกเขาได้รวมกัน เขาพูดกับตัวเองว่า ถ้าเขารวมตัวกันโดยมีมุฮัมมัดเป็นหัวหน้า ต่อไปคงไมียะฮูดีย์หลงเหลือบนโลกนี้อีก หรือไม่ก็ตกอยู่ในอันตราย เขาจึงสั่งให้เด็กหนุ่มยะฮูดีย์คนหนึ่งเข้าไปร่วมสังเกตการในกลุ่ม และพยายามกล่าวถึง บะฆอซ ซึ่งเป็นสถานที่สงครามระหว่างสองเผ่า ให้มากเพื่อเตือนความจำของพวกเขา
แผนการของเขาได้ผล เมื่อมุสลิมเหล่านั้นได้ยินจึงเกิดบันดาลโทสะขึ้นมาอีก สิ่งที่เขาตกลงกันถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ไฟแห่งความโกรธแค้นที่เพิ่งจะดับไปเมื่อวันวาน มันกำลังจะประทุขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
ข่าวการขัดแย้งของพวกเขาได้ล่วงเลยไปถึงท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านจึงรีบเร่งไปหาพวกเขาพร้อมกับพวกมุฮาญิรีนกลุ่มหนึ่ง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) พยายามปรับความเข้าใจพวกเขา ให้มีความสามัคคีกันเหมือนเดิม มุสลิมกลุ่มหนึ่งเมื่อได้ยินคำพูดที่สร้างสงบแก่จิตใจ พวกเขายอมวางอาวุธ และเข้าใจว่านี่คือแผนการของศัตรูอิสลาม พวกเขาจึงกลับเป็นมิตรกันอีกครั้ง และละทิ้งความอคติ เวลานั้นอัล-กุรอาน 4 โองการ ถูกประทานลงมา 2 โองการแรก กล่าวถึงพฤติกรรมของพวกยะฮูดีย์ ส่วน 2 โองการหลังกล่าวเตือนสติบรรดามุสลิม
คำอธิบาย การฝ่าฝืนของพวกดื้อดึง
โองการแรกกล่าวถึงชาวคัมภีร์ ซึ่งจุดประสงค์ของชาวคัมภีร์ในโองการนี้หมายถึง ยะฮูดีย์ พระเจ้าทรงบัญชาแก่ศาสดาของพระองค์ว่า ให้ถามพวกเขาซิว่า เพราะเหตุใดพวกเขาจึงปฏิเสธสัญลักษณ์ทั้งหลายของพระเจ้า ขณะที่พวกเขาทราบเป็นอย่างดีว่า พระเจ้าทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเขากระทำ
จุดประสงค์ของ อายาต ของพระเจ้า ในโองการนี้ และในคัมภีร์เตารอต หมายถึง สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หรืออาจหมายถึงโองการ และความอัศจรรย์ที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่ท่านศาสดา ซึ่งอธิบายถึงสัจธรรมความจริง
โองการถัดมากล่าวตำหนิพวกเขาว่า ถ้าพวกเจ้าไม่พร้อมที่จะยอมรับความจริง ทำไมพวกเจ้าต้องพยายามทำให้ผู้อื่นหลงทางด้วย และกีดกันพวกเขาออกจากความจริง ขณะที่พวกเจ้าเป็นชนกลุ่มแรกที่กล่าวตอบรับคำเชิญชวนของพระเจ้า เนื่องจากคัมภีร์เตารอตได้แจ้งการปรากฏของศาสดามุฮัมมัดไว้ และพวกเจ้ายืนยันสิ่งนั้น
ด้วยเหตุนี้ ไฉนพวกเจ้าจึงลืมพันธะสัญญา และหยุแหย่บุคคลอื่นให้ออกห่างจากสัจธรรมและพระเจ้า ซึ่งนอกจากพวกเจ้าจะหลงทางแล้วยังต้องรับผิดการหลงทางของบุคคลอื่นอีกหรือ
สุดท้าย โองการคาดโทษพวกเขาว่า พระเจ้าไม่ทรงเฉยเมยต่อการปฏิบัติของพวกเจ้า การที่พระองค์ตรัสเช่นนี้ ต้องการบอกว่า ปกติแล้วพวกยะฮูดีย์ เมื่อต้องการดำเนินเนินแผนการชั่วร้ายของตน มักกระทำอย่างลับ ๆ โดยไม่มีผู้ล่วงรู้ในแผนการ แต่จะเกิดผลอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ จึงตรัสว่า บางที่อาจมีบางกลุ่มชนเฉยเมย หรืออยู่ภายใต้อิทธิพล และแผนการของพวกเจ้า แต่พระเจ้าทรงรอบรู้ในความเร้นลับเหล่านั้น ไม่ทรงเฉยเมย และทรงรอการลงโทษพวกเจ้า
โองการถัดมา พระเจ้าตรัสกับบรรดามุสลิมที่ลืมเลือน ทรงเตือนสติพวกเขาว่า ถ้าหากสูเจ้าเชื่อฟังปฏิบัติตามกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด จากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ ให้อนุญาตพวกเขามีอิทธิพล และคำหยุแหย่พวกเจ้า ในไม่ช้าพวกเขาจะขุดรากถอนโคนความศรัทธาของสู้เจ้า เนืองจากอันดับแรก พวกเขาจุดไฟแห่งการเป็นศัตรูในหมู่พวกเจ้า ให้พวกเจ้าเป็นศัตรูต่อกัน จนในที่สุดพวกเจ้าถอนตัวออกจากอิสลาม
จากสิ่งที่กล่าวมาเข้าใจได้ทันที่ว่า ประโยคที่กล่าวว่า พวกเขาจะกลับสูเจ้าเป็นผู้ปฏิเสธอีกครั้ง หลังจากการศรัทธา จุดประสงค์ของ การปฏิเสธในโองการ บ่งบอกถึงการปฏิเสธที่แท้จริง หรืออาจหมายถึงศัตรูในยุคสมัยที่โฉดเขลา ซึ่งเป็นผู้ปฏิเสธที่แท้จริงของอิสลาม
โองการสุดท้าย ถามผู้ศรัทธาด้วยความแปลกใจว่า สูเจ้าจะปฏิเสธได้อย่างไร ทั้งๆ ที่โองการทั้งหลายของอัลลอฮฺ ได้ถูกอ่านแก่สูเจ้า และศาสดาของพระองค์อยู่ในหมู่สูเจ้า
ด้วยเหตุนี้ ถ้าบุคคลอื่นหลงทาง ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด แต่ถ้าประชาชาติของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หลงทางเป็นสิ่งที่ประหลาดอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกเขาอยู่กับเหตุผล และสัมผัสกับวะฮฺยู จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหลงทาง แต่ถ้ามีบางคนหลงทางนั่นเป็นเพราะว่า จิตวิญญาณของเขามีความต้อง พวกเขาจึงต้องถูกหลงโทษอย่างรุนแรง