โองการที่ 104 ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
โองการที่ 104 ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
وَ لْتَكُن مِّنكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلى الخَْيرِ وَ يَأْمُرُونَ بِالمَْعْرُوفِ وَ يَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِ وَ أُولَئك هُمُ الْمُفْلِحُونَ (104)
ความหมาย
104. และต้องมีขึ้นในหมู่สูเจ้า คณะหนึ่งที่เชิญชวนไปสู่ความดี กำชับในเรื่องดีงาม และห้ามปรามเรื่องชั่วร้าย และพวกเขาเป็นผู้บรรลุความสำเร็จ
คำอธิบาย การเชิญชวนไปสู่สัจธรรมและต่อสู้กับความชั่ว
หลังจากสร้างความเป็นเอกภาพแล้ว โองการกล่าวถึงการกำชับความดี และห้ามปรามความชั่ว ซึ่งในความเป็นจริงเป็นการพิทักษ์สังคมและปกป้องประชาชาติ ดังจะเห็นว่าโองการข้างต้นได้กำชับมุสลิมทั้งหลาย ถึงหน้าที่สำคัญสองประการดังกล่าว
จากคำว่า มินกุมอุมมะติน (ในหมู่สูเจ้า) แสดงให้เห็นว่าหน้าที่การกำชับความดี และห้ามปรามความชั่ว มิใช่หน้าที่ของทุกคน แต่เป็นหน้าที่ของกลุ่มชนที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งมี 2 ลักษณะ ได้แก่ส่วนตัว หมายถึงบุคคลมีหน้าที่คอยดูแลการกระทำของคนอื่น
ส่วนอีกลักษณะหนึ่ง เป็นหน้าที่ของคณะกลุ่มชนหนึ่งที่ต้องร่วมมือกัน คอยระมัดระวังสังคมให้ห่างไกลจากความชั่วร้าย การกระทำทั้งสองลักษณะเป็นการต่อสู้กับความชั่ว และเป็นการเชิญชวนไปสู่ความดี ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอิสลาม และเป็นประเด็นสำคัญของอิสลาม มีโองการจำนวนมากมายกล่าวถึงประเด็นดังกล่าว
มะอ์รูฟ และมุนกิร หมายถึงอะไร
คำว่า มะอ์รูฟ ในเชิงภาษาหมายถึง การรู้จัก มาจากรากศัพท์ของคำว่า อะเราะฟะ ส่วนคำว่า มุนกิร หมายถึง การไม่รู้จัก หรือการปฏิเสธ มาจากคำว่า อินกอร สามารถกล่าวได้อีกลักษณะหนึ่งว่า มะอ์รูฟคือ การกระทำที่เป็นที่ยอมรับ ส่วนมุนกิรคือ การกระทำที่ไม่เป็นที่ยอมรับ บางคนคิดว่าการกระทำบางอย่าง ถ้าสติปัญญา และบทบัญญัติยอมรับได้ถือเป็นสิ่งดีงาม และในทางตรงกันข้ามถือเป็นสิ่งชั่วร้าย ซึ่งพวกเขานอกจากให้บทบัญญัติเป็นเกณฑ์ตรวจสอบแล้ว ยังได้ใช้สติปัญญาเป็นเกณฑ์ด้วย แต่เมื่อพิจารณาจะเห็นว่าความดี และความชั่วเป็นกฎเกณฑ์ทางบทบัญญัติ ฉะนั้น ไม่สมควรนำสติปัญญามาเป็นตัวกำหนดขอบเขตให้กับมัน เนื่องจากสติปัญญาของมนุษย์ อยู่ในสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และกลุ่มชนที่แตกต่างกัน ฉะนั้น จึงมีการตัดสินที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าบางสิ่งบางอย่างอาจเป็นสิ่งดีและมีความเหมาะสมสำหรับประชาชาติหนึ่ง แต่สิ่งนั้นอาจไม่ดีและไม่เหมาะสมกับอีกประชาชาติหนึ่งก็เป็นได้ ขณะที่เป็นที่ประจักษ์ว่าความแตกต่างทั้งหลาย ที่พาดพิงไปยังประชาชาติต่าง ๆ เป็นเพียงสิ่งสมมุติเท่านั้น แต่สำหรับพระเจ้าทรงมีกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ทุกสิ่งที่เป็นข้อบังคับและเป็นสิ่งดีงามทางบทบัญญัติ ถือว่าเป็น มะอ์รูฟ ส่วนทุกสิ่งที่เป็นข้อห้ามทางบทบัญญัติ ถือเป็น มุนกิร
การกำชับความดี และห้ามปรามความชั่วมีเงื่อนไขว่า ผู้ที่ทำหน้าที่กำชับความดี และห้ามปรามจำเป็นต้องรู้จักสิ่งดีและไม่ดี ตนต้องเป็นผู้ปฏิบัติสิ่งที่ตนกำชับ หรือห้ามปราม และต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรง
โองการที่กำลังกล่าวถึง หลังจากอธิบายถึงคณะหนึ่งจากบรรดามุสลิมที่ทำหน้าที่เชิญชวนประชาชนไปสู่ความดีงาม หรือห้ามปรามความชั่วแล้ว ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พวกเขาคือ ผู้บรรลุความสำเร็จ