โองการที่ 111, 112 ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
โองการที่ 111, 112 ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
لَن يَضرُّوكمْ إِلا أَذًى وَ إِن يُقَتِلُوكُمْ يُوَلُّوكُمُ الاَدْبَارَ ثُمَّ لا يُنصرُونَ (111)ضرِبَت عَلَيهِمُ الذِّلَّةُ أَيْنَ مَا ثُقِفُوا إِلا بحَبْلٍ مِّنَ اللَّهِ وَ حَبْلٍ مِّنَ النَّاسِ وَ بَاءُو بِغَضبٍ مِّنَ اللَّهِ وَ ضرِبَت عَلَيهِمُ الْمَسكَنَةُ ذَلِك بِأَنَّهُمْ كانُوا يَكْفُرُونَ بِئَايَتِ اللَّهِ وَ يَقْتُلُونَ الاَنبِيَاءَ بِغَيرِ حَقٍّ ذَلِك بِمَا عَصوا وَّ كانُوا يَعْتَدُونَ (112)
ความหมาย
111. พวกเขา (ยะฮูดีย์) ไม่สามารถทำอันร้ายสูเจ้าได้เด็ดขาด นอกจากการเราะรานเท่านั้น และหากพวกเขาต่อสู้สูเจ้า พวกเขาจะหันหลัง (พ่ายแพ้) ต่อสูเจ้า ดังนั้น ไม่มีผู้ใดช่วยเหลือพวกเขา
112. ความอัปยศจะถูกฟาดลงบนพวกเขา ทุกหนที่พวกเขาถูกพบ เว้นแต่ความสัมพันธ์ที่มีต่ออัลลอฮฺ และความสัมพันธ์ที่มีต่อมนุษย์ พวกเขาเลือกพำนักอยู่ในความกริ้วของอัลลอฮฺ ความขัดสนก็จะถูกกระหน่ำลงบนพวกเขา เป็นเพราะว่าพวกเขาปฏิเสธโองการต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ และสังหารบรรดาศาสนทูตโดยอยุติธรรม เหล่านี้เป็นเพราะพวกเขากระทำบาป และละเมิดเสมอ
สาเหตุของการประทานโองการ
เมื่อยะฮูดีย์ที่มีความคิดบางคน เช่น อับดุลลอฮฺ บุตรของสลาม และสหายของเขาได้ละทิ้งศาสนาเดิม โดยหันมายอมรับศาสนาอิสลาม มีผู้นำยะฮูดีย์หลายคนได้มาพบพวกเขา และตำหนิพวกเขาอย่างรุนแรง พร้อมทั้งขู่อาฆาต พวกเขาถามว่า เพราะเหตุใดเจ้าจึงละทิ้งศาสนาของบรรพบุรุษและยอมรับอิสลาม โองการข้างต้นจึงประทานลงมาเพื่อปลอบใจ และแจ้งแก่บรรดามุสลิมทั้งหลาย
คำอธิบาย
โองการนี้กล่าวถึงบรรดามุสลิมที่ได้รับการเราะรานจากผู้ปฏิเสธซึ่งเป็นชนเผ่าเดียวกัน สาเหตุที่ถูกเราะรานเนื่องจากพวกเขายอมรับอิสลาม แต่พระเจ้าทรงแจ้งพวกมุสลิมว่าไม่ต้องกลัว พวกเขาไม่สามารถทำอันตรายเจ้าได้ คำพูดของพวกเขาไม่มีแก่นสาร และมันจะมลายหายไป โองการทั้งสองได้ยื่นข้อเสนอพร้อมทั้งแจ้งข่าวสำคัญ ซึ่งทั้งหมดเคยปฏิบัติในสมัยที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่
1. ชาวคัมภีร์ ไม่สามารถทำร้ายมุสลิมได้ เว้นเสียแต่เป็นการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ
2. ทุกครั้งที่ทำสงคราม พวกเขาจะพ่ายแพ้ และมุสลิมเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ แต่มีผู้ใดช่วยเหลือพวกเขา
3.พวกเขาไม่มีความมั่นคง ความอัปยศจะฟาดลงบนพวกเขาในทุกที่ ๆ พบเห็น เว้นเสียแต่พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงความคิด และยอมรับแนวทางของพระเจ้า หรือสร้างสัมพันธ์ภาพกับคนอื่น
พันธะสัญญา 3 ประการ เกิดขึ้นในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยะฮูดีย์ ฮิญาซ (เผ่ากุรีเซาะฮฺ เผ่านะฎีร เผ่ากัยนะกออ์ ยะฮูดีย์จากค็อยบัร และจากเผ่าอัลมุซเฏาะลิก หลังจากที่พวกเขาได้เคลื่อนไหวต่อต้านอิสลามอย่างหนัก และเผชิญหน้ากันในสงครามต่าง ๆ ในที่สุดพวกเขาพ่ายแพ้อย่างยับเยิน
คำว่า ซุกิฟู มาจากรากศัพท์คำว่า ซะเกาะฟะ หมายถึง การได้รับสิ่งหนึ่งด้วยการกระหน่ำ หรือฟาดลงมา หรือทุกสิ่งทีมนุษย์ได้รับมาด้วยการหวดอย่างแรง ประโยคข้างต้นกล่าวว่า ทุกหนที่พวกเขาถูกพบ จะถูกกระหน่ำด้วยความอัปยศ
คำว่า บาอู หมายถึง การย้อนกลับ จุดประสงค์ของโองการต้องการบ่งชี้ให้เห็นการได้รับสิทธิอันสมควรต่อการกระทำ หมายถึงยะฮูดีย์กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า พวกเขาจึงสมควรได้รับการลงโทษจากพระเจ้า ความโกรธกริ้วจากพระองค์ ประหนึ่งพวกเขาเลือกพำนักอยู่ในความกริ้วของอัลลอฮฺ
คำว่า มัซกะนัต หมายถึง ความเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเดือดร้อนอย่างรุนแรง ซึ่งยากที่จะช่วยเหลือให้รอดพ้นสภาพนั้น คำนี้มาจากรากศัพท์คำว่า ซุกูนัต เนื่องจากบุคคลที่เดือดร้อน ส่วนมากจะเป็นผู้ที่อ่อนแอ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ถ้า มีซกีน เพียงคำเดียวหมายถึง ผู้ขัดสนยากจน ซึ่งมิได้ขัดสนทรัพย์สินอย่างเดียว แต่เป็นความขัดสนทีผสมผสานกับความอ่อนแอ และไร้ความสามารถ บางคนเชื่อว่าความแตกต่างระหว่างคำว่า มัซกะนัต กับ ซิลลัต อยู่ที่ว่า ซิลลัต เป็นความตกต่ำที่บุคคลอื่นได้ก่อให้แก่ตน จนเป็นเหตุให้ตนเดือดร้อนและตกต่ำ ส่วนมัซกะนัต เป็นความเดือดร้อนที่ตนเป็นผู้ก่อ ด้วยเหตุนี้ ประโยคข้างจึงกล่าวว่า ยะฮูดีย์ ที่ฝ่าฝืน อันดับแรกผู้อื่นสร้างความเดือดร้อนแก่พวกเขา จนกระทั่งต้องเผชิญกับความกริ้วของพระเจ้า หลังจากนั้นได้กลายเป็นความอ่อนแอของตัวตน แม้ว่าจะมีปัจจัยอำนวยความสะดวกมากมาย แต่พวกเขาก็ยังรู้สึกว่าพวกตนถูกเหยียดหยาม จึงแสดงการฝ่าฝืนและดื้อดึงต่อไป
สุดท้ายโองการกล่าวถึงเหตุผลที่ยะฮูดีย์ตกต่ำว่า ถ้าพวกเขาได้รับความเดือดร้อน มิใช่เป็นเพราะเชื้อชาติหรือเผ่าพันธุ์ แต่เป็นเพราะการกระทำชั่วของพวกเขาโดยเริ่มตั้งแต่ ปฏิเสธโองการต่าง ๆ ของพระเจ้า สังหารบรรดาศาสดาและผู้นำของพระเจ้าอย่างอยุติธรรม กระทำบาปต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กดขี่ และล่วงละเมิดสิทธิ และผลประโยชน์ของบุคคลอื่น ฉะนั้น ถ้าพวกเขาอัปยศก็เป็นเพราะว่าบาปกรรมที่พวกเขาก่อขึ้น กับการล่วงละเมิดสิทธิ