โองการที่ 116, 117 ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน
โองการที่ 116, 117 ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน
إِنَّ الَّذِينَ كَفَرُوا لَن تُغْنىَ عَنْهُمْ أَمْوَلُهُمْ وَ لا أَوْلَدُهُم مِّنَ اللَّهِ شيْئاً وَ أُولَئك أَصحَب النَّارِ هُمْ فِيهَا خَلِدُونَ (116)مَثَلُ مَا يُنفِقُونَ فى هَذِهِ الْحَيَوةِ الدُّنْيَا كمَثَلِ رِيحٍ فِيهَا صرُّ أَصابَت حَرْث قَوْمٍ ظلَمُوا أَنفُسهُمْ فَأَهْلَكتْهُ وَ مَا لَمَهُمُ اللَّهُ وَ لَكِنْ أَنفُسهُمْ يَظلِمُونَ (117)
ความหมาย
116. แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธ สมบัติของพวกเขา และลูก ๆ ของพวกเขา จะไม่ช่วยพวกเขาให้พ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺ และพวกเขาคือชาวนรก พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป
117. อุปมาสิ่งที่พวกเขาบริจาคไปในชีวิตของโลกนี้ ประหนึ่งอุปมัยของลมที่เผาไหม้ กระหน่ำพืชผลของชนกลุ่มหนึ่งที่อธรรมตัวเอง แล้วได้ทำลายพืชผลนั้น อัลลอฮฺ ไม่ทรงอธรรมพวกเขา แต่ว่าพวกเขาอธรรมตัวเอง
คำอธิบาย
กลุ่มชนที่มีความประพฤติตรงกันข้ามกับบรรดาผู้ศรัทธาคือ กลุ่มชนที่ไม่มีศรัทธาและกดขี่ ซึ่งอธิบายไว้ในสองโองการต่อไปนี้ เนื่องจากในวันแห่งการฟื้นคืนชีพการงานที่ดี เจตนาบริสุทธิ์ และความศรัทธาที่แท้จริงเท่านั้นทีมีค่า ทรัพย์สินทางโลกทีสั่งสมไว้มิได้เป็นประโยชน์ หรือให้การช่วยเหลือตนได้แต่อย่างใด อัล-กุรอาน บทชุอฺอะรอ โองการที่ 89 กล่าวว่า วันที่ทรัพย์สมบัติและลูกหลานจะไม่อำนวยประโยชน์อันใด เว้นแต่ผู้มาหาอัลลอฮฺ ด้วยหัวใจ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
โองการกล่าวถึงทรัพย์สมบัติและลูกหลานเท่านั้น ที่เป็นวัตถุปัจจัยทางโลก เนื่องจากสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับวัตถุปัจจัยทางโลกคือ ลูกหลานและทรัพย์สมบัติส่วนสิ่งอื่นเกิดขึ้นจากสองสิ่งนี้
อัล-กุรอาน กล่าวว่า ความพิเศษของสมบัติ อำนาจ และลูกหลาน ณ พระเจ้าไม่อาจนับว่าเป็นความพิเศษได้ การอิงอาศัยสิ่งเหล่านั้นเป็นความผิดพลาด เว้นเสียแต่ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ศรัทธา มีเจตนาบริสุทธิ์ และประพฤติแต่สิ่งดีงาม หากมิเช่นนั้นแล้วผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติจำนวนมากมาย ล้วนเป็นสหายของไฟนรกทั้งสิ้น
โองการถัดมากล่าวถึงการแลกเปลี่ยน การให้ และการบริจาคทั้งหลาย ล้วนกลายเป็นสิ่งโอ้อวดสำหรับพวกเขา อัล-กุรอาน กล่าวว่า อุปมาสิ่งที่พวกเขาบริจาคไปในชีวิตของโลกนี้ ประหนึ่งอุปมัยของลมที่เผาไหม้ กระหน่ำพืชผลของชนกลุ่มหนึ่งที่อธรรมตัวเอง แล้วได้ทำลายพืชผลนั้น
คำว่า ซิร หรืออิซรอร หมายถึง การปิดสิ่งหนึ่งด้วยความรุนแรง ในโองการนี้หมายถึง ความรุนแรงของกระแสลม ซึ่งอาจเป็นลมพายุ หรือลมร้อนที่เผาไหม้ หรือลมที่หนาวเย็นจัด
อัล-กุรอาน เปรียบเทียบการบริจาคของผู้ปฏิเสธว่า ประหนึ่งลมร้อนที่แผดเผาไหม้ หรือเลวร้ายไปกว่านั้นเป็นลมที่หนาวเย็นจัดแห้งแล้ง ฉะนั้น การบริจาคถ้ามีความบริสุทธิ์ใจจะถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะสามารถแก้ปัญหาสังคม และยังส่งผลด้านจริยธรรมที่ลึกซึ้งของผู้บริจาคให้ดำรงอยู่อีกต่างหาก
ส่วนบุคคลที่ไม่ศรัทธา แน่นอนเขาไม่มีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องในการบริจาค ซึ่งบางครั้งอาจกระทำไปเพราะต้องการโอ้อวด ประหนึ่งลมที่ร้อนระอุ แผดเผาเรือกสวนไร่นาให้ไหม้พินาศ
จากสิ่งที่กล่าวมาเข้าใจได้ว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสองสิ่ง ๆ หนึ่งเป็นการบริจาคที่ไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลา และไม่มีความเหมาะสม อีกประการหนึ่งเป็นการเปรียบเทียบ วิสัยทัศน์ของผู้บริจาค ประหนึ่งกระแสลมร้อนที่แผดเผา