เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

โองการที่ 134, 135, 136 ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

โองการที่ 134, 135, 136 ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน

 

الَّذِينَ يُنفِقُونَ فى السرَّاءِ وَ الضرَّاءِ وَ الْكظِمِينَ الْغَيْظ وَ الْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ وَ اللَّهُ يحِب الْمُحْسِنِينَ (134)وَ الَّذِينَ إِذَا فَعَلُوا فَحِشةً أَوْ ظلَمُوا أَنفُسهُمْ ذَكَرُوا اللَّهَ فَاستَغْفَرُوا لِذُنُوبِهِمْ وَ مَن يَغْفِرُ الذُّنُوب إِلا اللَّهُ وَ لَمْ يُصرُّوا عَلى مَا فَعَلُوا وَ هُمْ يَعْلَمُونَ (135)أُولَئك جَزَاؤُهُم مَّغْفِرَةٌ مِّن رَّبِّهِمْ وَ جَنَّتٌ تجْرِى مِن تحْتِهَا الاَنهَرُ خَلِدِينَ فِيهَا وَ نِعْمَ أَجْرُ الْعَمِلِينَ (136)

 

ความหมาย

 

134. บรรดาผู้บริจาคในยามผาสุกและยามคับแค้น บรรดาผู้ข่มโทสะของตน และบรรดาผู้อภัยแก่มนุษย์และอัลลอฮฺ ทรงรักผู้กระทำการดี

 

135. บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วร้าย หรืออยุติธรรมต่อตัวเอง พวกเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ แล้วขออภัยโทษสำหรับความผิดของพวกเขา และผู้ใดเล่าอภัยความผิดทั้งหลายนอกจากอัลลอฮฺ และพวกเขาไม่ดื้อรั้นปฏิบัติความผิด โดยพวกเขารู้ดี

 

136. การตอบแทนของพวกเขาคือ การอภัยโทษจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และสรวงสวรรค์หลากหลาย ณ เบื้องล่างมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน เป็นผู้พำนักในนั้นตลอดไป และช่างดีเสียนี่กระไรรางวัลของผู้ทำงาน

 

คำอธิบาย โฉมหน้าของผู้สำรวมตนจากความชั่ว

 

ตอนท้ายของโองการที่ผ่านมากล่าวถึงผู้สำรวมตนจากความชั่ว พระเจ้าทรงเตรียมสวรรค์ไว้สำหรับพวกเขาส่วนโองการนี้แนะนำผู้สำรวมตนจากความชั่ว ซึ่งมีคุณลักษณ์ 6 ประการ ดังต่อไปนี้

 

1. บรรดาผู้สำรวมตน จะบริจาคทั้งในยามผาสุก ยามคับแค้น และยามโทสะ หมายถึงผู้ที่มีความสำรวมตนจะบริจาคสิ่งที่ตนมีอยู่ในหนทางของพระเจ้า ไม่ว่าเขาจะยากจนหรือร่ำรวยก็ตาม และจำนวนบริจาคไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขา สิ่งจำเป็นคือ จิตวิญญาณที่คิดบริจาค ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาพใดเขาก็คิดบริจาคเสมอ อัล-กุรอาน บท อัฏเฏาะลาก โองการที่ 7 กล่าวว่า ผู้มีฐานะร่ำรวย บริจาคตามฐานะของเขา ส่วนผู้ที่มีฐานะคับแค้น ก็ให้บริจาคตามที่อัลลอฮฺทรงประทานมาให้แก่เขา สิ่งที่ควรพิจารณาคือ การบริจาคในโองการนี้ตรงกันข้ามกับการกินดอกเบี้ย

 

2. บรรดาผู้สำรวมตน จะข่มโทสะของตน หมายถึงยามโกรธ เขาจะระงับอารมณ์ และรักษาความสมดุลแก่จิตใจ เนื่องจากเขาทราบดีว่าความโกรธคือ บ่อเกิดความผิดพลาด บาปกรรม และการกระทำที่ไม่ดีต่าง ๆ ฉะนั้น เวลาโกรธเขาจึงควบคุมอารมณ์ด้วยความอดกลั้น

 

3.บรรดาผู้สำรวมตน จะอภัยแก่มนุษย์ เนื่องจากจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ และสงสารเมื่อเห็นคนอื่นทำความผิด ไม่ต้องการให้เขาได้รับโทษทัณฑ์จากพระผู้เป็นเจ้า เขาจึงอภัยในความผิดพลาดดุจดังเช่นที่พระเจ้าทรงอภัยแก่เขาเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในการช่วยเหลือที่ดีที่สุด

 

4. บรรดาผู้สำรวมตน นอกจากจะควบคุมอารมณ์ยามโกรธ อภัยในความผิดพลาดของศัตรูแล้ว เขายังกระทำดีกับศัตรูอีกต่างหาก เนื่องจากพระเจ้าทรงรักผู้กระทำความดี ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีจิตใจสูงส่ง เพราะยามโกรธ เขาก็ระงับความโกรธ เมื่อผู้อื่นกระทำไม่ดีกับเขา ๆ ก็อภัยและกระทำดีด้วย เช่น อิมามซัจญาด (อ.) ประพฤติกับทาสของท่าน เมื่อเขาทำผิด อิมามมิได้ไม่โกรธเขาเพียงอย่างเดียว แต่ท่านได้อภัยแก่เขา และยังปล่อยให้เขาเป็นอิสระในหนทางของพระเจ้าอีกต่างหาก

 

5. เมื่อเขาทำความผิดทั้งในที่ลับและที่แจ้ง เช่น การผิดประเวณี หรือการกระทำความผิดอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงเท่ากับกดขี่ตนเอง เมื่อสำนึกผิดเขาจึงขอการอภัยจากพระเจ้า และอัล-กุรอาน เน้นให้เห็นแก่นแท้ความจริงประการหนึ่งกล่าวคือ ไม่มีผู้ใดอภัยความผิดแก่มนุษย์ได้ นอกจากพระเจ้า นั่นหมายถึงว่า นอกจากพระองค์แล้วไม่มีบุคคลใดมีอำนาจอภัยบาปของปวงบ่าวได้ ซึ่งหลักการของอิสลามประเด็นนี้ ต่างไปจากหลักการของศาสนาอื่น ๆ ฉะนั้น เฉพาะพระเจ้าเท่านั้นที่มนุษย์ต้องขอความช่วยเหลือ และการอภัยความผิด

 

6. เมื่อกระทำความผิด พวกเขาจะเสียใจอย่างยิ่ง สำนึกผิด และไม่หันกลับไปกระทำสิ่งเหล่านั้นอีก เขาจะพยายามหลีกเลี่ยงความผิดตลอดเสมอ

 

หลังจากที่โองการแนะนำคุณสมบัติของผู้สำรวมตนทั้ง 6 ประการแล้ว กล่าวอีกว่ารางวัลของพวกเขาคือ การอภัยจากพระผู้อภิบาล และสรวงสวรรค์ที่มีธารน้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักในนั้นตลอดไป

 

อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า การดื้อรั้นกระทำความผิดหมายถึง มนุษย์กระทำความผิด ต่อมาสำนึกผิด และลุแก่โทษ แต่เมื่อทำความผิดแล้ว ไม่เคยคิดถึงเรื่องการลุแก่โทษ อย่างนี้ เรียกว่าการดื้อรั้นในการกระทำความผิด

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม