เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

โองการที่ 139, 140, 141,142, 143 ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

โองการที่ 139, 140, 141,142, 143 ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน

 

وَ لا تَهِنُوا وَ لا تحْزَنُوا وَ أَنتُمُ الاَعْلَوْنَ إِن كُنتُم مُّؤْمِنِينَ (139)إِن يَمْسسكُمْ قَرْحٌ فَقَدْ مَس الْقَوْمَ قَرْحٌ مِّثْلُهُ وَ تِلْك الاَيَّامُ نُدَاوِلُهَا بَينَ النَّاسِ وَ لِيَعْلَمَ اللَّهُ الَّذِينَ ءَامَنُوا وَ يَتَّخِذَ مِنكُمْ شهَدَاءَ وَ اللَّهُ لا يحِب الظلِمِينَ (140)وَ لِيُمَحِّص اللَّهُ الَّذِينَ ءَامَنُوا وَ يَمْحَقَ الْكَفِرِينَ (141) أَمْ حَسِبْتُمْ أَن تَدْخُلُوا الْجَنَّةَ وَ لَمَّا يَعْلَمِ اللَّهُ الَّذِينَ جَهَدُوا مِنكُمْ وَ يَعْلَمَ الصبرِينَ (142) وَ لَقَدْ كُنتُمْ تَمَنَّوْنَ الْمَوْت مِن قَبْلِ أَن تَلْقَوْهُ فَقَدْ رَأَيْتُمُوهُ وَ أَنتُمْ تَنظرُونَ(143)

 

ความหมาย

 

139. จงอย่าท้อถอย และจงอย่าเสียใจ สูเจ้าจะเหนือกว่า ถ้าสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา

 

140. ถ้าสูเจ้าได้ประสบบาดแผล (ในสงครามอุฮุด) แน่นอน บาดแผลเยี่ยงนั้น ก็ประสบแก่ชนกลุ่มนั้น (ในสงครามบะดัร) และวันทั้งหลายเหล่านี้ (วันที่มีชัยชนะหรือปราชัย) เราได้หมุนเวียนในระหว่างมนุษย์ เพื่อจะได้รู้จักบรรดาผู้ศรัทธา และอัลลอฮฺ ทรงรับผู้พลีชีวิตในสงครามจากในหมู่สูเจ้า และอัลลอฮฺ ไม่ทรงรักผู้อธรรม

 

141. เพื่อที่อัลลอฮฺ จะทรงขัดเกลาบรรดาผู้ศรัทธาให้บริสุทธิ์ และทรงขจัดพวกปฏิเสธให้หมดไป

 

142. หรือว่าสูเจ้าคิดว่า สูเจ้าจะได้เข้าสวรรค์ ขณะที่อัลลอฮฺ ยังมิได้ระบุบรรดาผู้ดิ้นรนต่อสู้ในหมู่สูเจ้า และบรรดาผู้อดทน

 

143. แน่นอนสูเจ้าปรารถนาความตาย (พลีในหนทางพระเจ้า) ก่อนที่สูเจ้าจะเผชิญมัน บัดนี้ สูเจ้าเห็นด้วยตาแล้ว ขณะที่สูเจ้ามองดูอยู่ (แต่ไม่พร้อมที่จะตาย ช่างแตกต่างกันเสียเหลือเกินระหว่างคำพูดกับการกระทำ)

 

สาเหตุของการประทานดองการ

 

โองการข้างต้นกล่าวถึงสงครามอุฮุดตามที่โองการก่อนหน้านี้เคยกล่าวไปบ้างแล้ว ประหนึ่งเป็นการกล่าวในเชิงวิเคราะห์ถึงการเกิด ผล และปัจจัยที่ก่อให้เกิดสงครามซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญยิ่งสำหรับมวลมุสลิม ขณะเดียวกันเป็นสื่อสำหรับการยอมจำนน และเป็นการสนับสนุนจิตวิญญาณของมุสลิม ดังที่กล่าวไปแล้วว่าความพ่ายแพ้ของสงครามเกิดจาก การฝ่าฝืนคำสั่ง การไม่มีระเบียบวินัยของทหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบ สงครามดังกล่าวเป็นสาเหตุให้ ฮัมซะฮฺ ลุงของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ชะฮีด และในคืนนั้นท่านศาสดาพร้อมกับสาวกได้เข้าไปในสมรภูมิรบเพื่อตามหาบรรดาผู้พลีชีพในสงคราม ท่านนั่งให้เกียรติศพของผู้พลีแต่ละคน ร้องไห้ และขออภัยโทษแก่พวกเขา หลังจากนั้นท่านฝังร่างของชะฮีดไว้ในหุบเขาอุฮุด ในช่วงเวลานั้นมทหารฝ่ายมุสลิมต้องการขวัญและกำลังใจอย่างยิ่ง โองการข้างต้นจึงประทานลงมา

 

คำอธิบาย ผลสงครามอุฮุด

 

โองการแรกกล่าวเตือนสติบรรดามุสลิมว่า อย่าแสดงความอ่อนแอให้ศัตรูเห็น เพียงแค่ปราชัยในสงคราม อย่าแสดงความทุกข์ระทม อย่าหมดหวังที่จะพิชิตศัตรู เนื่องจากเมื่อใดที่เจ้าแสดงความอ่อนแอออกมา ศัตรูจะฉวยโอกาสข่มเหงเจ้าทันที ขณะเดียวกันต้องนำความปราชัยมาเป็นบทเรียน สำหรับแก้ไขจุดที่อ่อนแอที่เป็นบ่อเกิดความปราชัย และจงเตรียมพร้อมเพื่อชัยชนะอันใกล้นี้

 

คำว่า ตะฮินู มาจากคำว่า วะฮะนะ หมายถึง การท้อถอย หรือความอ่อนแอประเภทหนึ่ง ซึ่งอาจเกิดกับร่างกาย หรือจิตใจก็ได้

 

ประโยคที่กล่าวว่า สูเจ้าจะเหนือกว่า ถ้าสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา เป็นประโยคที่มีความหมายอย่างยิ่ง หมายถึง ความปราชัยของเจ้าในความเป็นจริงก็คือ การปล่อยให้ความศรัทธาหลุดลอยมือไป ถ้าสูเจ้าเชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้าและศาสดา แน่นอน สูเจ้าจะไม่ปราชัยเด็ดขาด และจะไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แต่ไม่ต้องเสียใจ ถ้าสูเจ้ายังมั่นคงอยู่บนความศรัทธา สูเจ้าจะได้รับชัยชนะอย่างแน่นอน การปราชัยเพียงครั้งเดียวมิได้หมายความว่าจะปราชัยตลอดไป

 

คำว่า ก็อรฮุน หมายถึง บาดแผลบนร่างกายที่เกิดจากอุบัติเหตุ หรือสาเหตุอื่นภายนอก โองการข้างต้นให้บทเรียนเพื่อไปถึงชัยชนะแก่บรรดามุสลิมว่า จงอย่าคิดว่าตนเองด้อยกว่าศัตรู ในสงครามบะดัรพวกเขาปราชัยต่อเจ้าอย่างราบคาบ เขาสูญเสียทหารไปถึง 70 คน และได้รับบาดเจ็บสาหัสมากมาย ส่วนสงครามนี้ความพ่ายแพ้เกิดจากการลืมเลือน ถึงแม้ว่าภายนอกเจ้าจะพ่ายแพ้ แต่จงอย่ายอมแพ้อย่างสิ้นเชิง จงเตรียมตัวไว้เพื่อสงครามครั้งต่อไป ดังนั้น พวกเจ้าจะโศกเศร้าไปทำไม

 

ประโยคถัดมา กล่าวถึงแบบฉบับหนึ่งของพระเจ้า ซึ่งตลอดอายุขัยของมนุษย์จะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ทั้งดีและไม่ดี ไม่มีสิ่งใดแน่นอน ชัยชนะ ความพ่ายแพ้ อำนาจ ความยิ่งใหญ่ และการไร้ความสามารถ ทั้งหมดเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ล่มสลายทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ อย่าให้ความพ่ายแพ้เพียงครั้งเดียว เป็นสาเหตุทำให้เกิดความอ่อนแอและพ่ายแพ้ตลอดไป แต่จงวิเคราะห์หาสาเหตุของการพ่ายแพ้ และเปลี่ยนเป็นชัยชนะให้จงได้

 

หลังจากนั้นโองการกล่าวถึง ผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เพื่อจะได้รู้จักบรรดาผู้ศรัทธา ปกติแล้วประชาชาติใดก็ตาม ถ้าไม่พลีในหนทางที่มีเป้าหมายศักดิ์สิทธิ์ จะถือว่าเป็นประชาชาติที่ไม่มีเกียรติ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามได้พลีทั้งตัวเองและสายเลือดในรุ่นต่อไปจะได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่

 

บางที่อาจกล่าวได้ว่าจุดประสงค์ของ ชุฮะดาอ์ ในที่นี้ยืนยันให้เห็นว่า พระเจ้าทรงปรารถนาคำยืนยันจากเจ้า ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า พวกเจ้าฝ่าฝืนได้อย่างไร ซึ่งการฝ่าฝืนของเจ้าเป็นสาเหตุนำไปสู่ความพ่ายแพ้ และคำยืนยันของเจ้าคือบทเรียนสำหรับอนาคต

 

โองการถัดมากล่าวถึงผลสรุปอันเป็นธรรมชาติอีกประการหนึ่ง ของความปราชัยในสงครามอุฮุดว่า เป็นปัจจัยที่เผยให้เห็น จุดที่อ่อนแอ และข้อบกพร่องต่าง ๆ ของประชาชาติ ซึ่งเป็นสื่อที่มีผลต่อการขจัดข้อบกพร่องต่อไปในอนาคต อัล-กุรอาน กล่าวว่า พระเจ้าประสงค์ที่จะคัดเลือกกลุ่มชนที่ศรัทธา จากสงคราม และประสงค์ที่จะแสดงจุดอ่อนแอของพวกเขาแก่เขา

 

คำว่า ลิยุมะฮิเซาะ มาจากคำว่า ตัมฮีซ หมายถึง การชำระ ขจัด ความสะอาดของสิ่งหนึ่งจากข้อตำหนิ และความบกพร่องทั้งหลาย พวกเขาจำเป็นขัดเกลา และปลดเปลื้องตนเองให้เป็นผู้บริสุทธิ์เพื่อชัยชนะในวันข้างหน้า ดังที่อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า การทำลายความความเลวร้าย และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะทำให้ชีวิตที่แท้จริงของบุคคลเด่นชัดขึ้นมา และคงเหลือไว้ซึ่งสภาพชีวิตจริง

 

คำว่า ยัมฮะเกาะ มาจากคำว่า มะฮะเกาะ หมายถึง การลดน้อยไปที่ละน้อยของสิ่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ คืนสุดท้ายของดวงเดือนจึงเรียกว่า มาฮาก หมายถึง แสงสว่างของดวงจันทน์ จะค่อย ๆ เลือนหายไปและเหลือน้อยที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงแสงจันทน์มิได้เลือนหายไปไหน เพียงแค่จุดโคจรระหว่างมันกับพระอาทิตย์เพิ่มมากขึ้น แสงของมันจึงดูเหมือนว่าเลือนหายไป ประหนึ่งความเปล่งบานของพวกปฏิเสธ และพวกตั้งภาคีทั้งหลาย เมื่อทำการกลั่นกลองความเป็นมุสลิมในตัวเขาก็จะเลือนหายไป

 

โองการถัดมาอาศัยเหตุการณ์ในสงครามอุฮุด ปรับปรุงความผิดพลาดด้านความคิดของมุสลิม กล่าวว่า หรือว่าสูเจ้าคิดว่า สูเจ้าจะได้เข้าสวรรค์ ทั้งที่มิได้ต่อสู้ดิ้นรนในหนทางของพระเจ้า หรือสูเจ้าคิดว่า เพียงแค่ขึ้นชื่อว่าเป็นมุสลิม หรือมีความเชื่อแต่ปราศจากการปฏิบัติ ก็จะได้เข้าสวรรค์แล้วกระนั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นที่เจ้าคิดก็จะเป็นเรื่องง่ายดายยิ่ง แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นที่สูเจ้าคิด ถ้าความเชื่อที่แท้จริงยังมิได้นำไปสู่การปฏิบัติ จะไม่มีบุคคลใดได้รับประโยชน์อันบรมสุขแม้แต่เล็กน้อย ตรงนี้จึงจำเป็นต้องกลั่นกรองบุคคล ที่เป็นนักต่อสู้ดิ้นรน และเป็นผู้มีความอดทนออกจากบุคคลที่ไร้ค่า หลังจากสงครามบะดัร และการพลีชีพอันทรงเกียรติผ่านพ้นไป มุสลิมกลุ่มหนึ่งนั่งพรรณนา และปรารถนาที่จะพลีอุทิศชีวิตในหนทางของพระเจ้า พวกเขากล่าวเสมอว่า โอ้พระเจ้า ไฉนเกียรติยศแห่งสนามรบจึงไม่บังเกิดกับพวกเรา เป็นเรื่องธรรมดาที่ในหมู่ของพวกเขามีผู้กล่าวด้วยความจริงใจ มุสา และผู้เสแสร้ง หรือผู้ที่ไม่รู้จักตนเอง แต่เวลาผ่านไปไม่นานนัก สงครามที่โหดร้ายแห่งอุฮุดก็เกิดขึ้น บรรดานักต่อสู้ที่แท้จริงได้แสดงธาตุแท้ของตนให้เห็น พวกเขาต่อสู้ด้วยความอดทนอดกลั้นอย่างเด็ดเดี่ยว สมศักดิ์ศรีของชายชาติทหาร และได้ลิ้มรสชะฮีดสมปรารถนาดังที่ตนตั้งใจไว้ ส่วนบุคคลที่มุสา และเสแสร้งเมื่อเห็นร่องรอยความปราชัยในกองทัพมุสลิม พวกเขาต่างวิ่งหนีกลัวว่าจะถูกฆ่าตายในสงคราม โองการข้างต้นจึงประทานลงมาเพื่อประณามพวกเขาว่า แน่นอนสูเจ้าปรารถนาความตาย (พลีในหนทางพระเจ้า) ก่อนที่สูเจ้าจะเผชิญมัน บัดนี้ สูเจ้าเห็นด้วยตาแล้ว ขณะที่สูเจ้ามองดูอยู่ (แต่ไม่พร้อมที่จะตาย ช่างแตกต่างกันเสียเหลือเกินระหว่างคำพูดกับการกระทำ)

 

วิเคราะห์สาเหตุความปราชัยในสงครามอุฮุด

 

โองการข้างต้นสาธยายถึงสาเหตุของความพ่ายแพ้ในสงคราม ซึ่งมีปัจจัยสำคัญหลายประการ เป็นความเสียใจที่แฝงไว้ด้วยบทเรียน

 

1.การเข้าใจผิดพลาดสำหรับมุสลิมใหม่ พวกเขาคิดว่าความศรัทธาเพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอแล้วสำหรับการพิชิตข้าศึก ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงคิดว่า พระเจ้าจะประทานพลังเร้นลับคอยสนับสนุน และช่วยเหลือในทุกสมรภูมิ จึงลืมที่จะจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพียงพอ และการวางแผนที่ดี

 

2. ความไม่มีระเบียบวินัยของเหล่าทหาร และการฝ่าฝืนคำสั่งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในฐานะของผู้บัญชาการ ที่สั่งให้ประจำการ ณ ฐานที่มั่นแต่พวกเขากลับละทิ้ง และวิ่งกรูกันลงมาเพื่อแย่งชิงทรัพย์สิน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม