จอมอหังการของโลก หมายถึงอะไร?
จอมอหังการของโลก หมายถึงอะไร?
ความหมายของคำว่าจอมอหังการของโลกคืออะไร และทำไมเราจะต้องต่อสู้กับมัน? เพื่อที่จะตอบคำถามข้อนี้ จำเป็นที่จะต้องรับรู้และเข้าใจประเด็นต่างๆ อย่างเช่น ความหมายของคำว่า อหังการ (อิสติกบาร) เป้าหมายและลักษณะเฉพาะต่างๆ ของมัน และเหตุผลต่างๆ ในเชิงสติปัญญาและทางบทบัญญัติของศาสนา ด้วยเหตุนี้เราจะอธิบายประเด็นเหล่านี้โดยสังเขป
ความหมายของคำว่า อหังการ (อิสติกบาร)
" อหังการ (อิสติกบาร) คือการที่คนเราแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ก้าวร้าวด้วยการถือว่าตนเองสำคัญ และแสดงออกในสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิ์หน้าที่ของตนและไม่คู่ควรสำหรับตน ...”
คัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวถึงบรรดาจอมอหังการและพวกใช้อำนาจบาตรใหญ่ไว้ในจุดตรงข้ามกับบรรดาผู้อ่อนแอ เพื่อต้องการที่จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงประเด็นที่ว่า ความอหังการและความก้าวร้าวของพวกเขานั้น เกิดจากการมีพละกำลังทางร่างกายและอำนาจทางด้านทรัพย์สินและการเงินของพวกเขา และในอีกที่หนึ่ง ได้กล่าวถึงบรรดาจอมอหังการ (มุสตักบิรีน) ไว้ในจุดตรงข้ามกับบรรดาผู้ถูกกดขี่ (มุสตัฎอะฟีน) (1)
ตามคำจำกัดความข้างต้น อหังการ (อิสติกบาร) จึงเป็นลักษณะด้านในซึ่งสามารถส่งผลและแสดงภาพฉายต่างๆ ออกมาในสังคม ความหลงตนและการไม่รู้ถึงขอบเขตจำกัดของตัวเองในการแสดงออกต่อพระเจ้าและต่อประชาชน การสร้างความอ่อนแอและการกดขี่ประชาชน คือส่วนหนึ่งจากลักษณะด้านในที่ผู้อหังการจะกำหนดจุดยืนและท่าทีต่างๆ ของตนเองด้วยสิ่งดังกล่าว
ดั่งที่คัมภีร์อัลกุรอาน ได้กล่าวถึงความดื้อดึงของอิบลีส (หัวหน้ามารร้าย) และการละเมิดพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าของมันไว้เช่นนี้ว่า
وَإِذْ قُلْنَا لِلْمَلَائِكَةِ اسْجُدُوا لِآَدَمَفَسَجَدُوا إِلَّا إِبْلِيسَ أَبَى وَاسْتَكْبَرَ وَكَانَ مِنَ الْكَافِرِينَ
“และจงรำลึกถึง ขณะที่เราได้กล่าวแก่มะลาอิกะฮ์ (มวลหมู่ทวยเทพ) ว่า พวกเจ้าจงซุญูด (ก้มกราบ) ต่ออาดัมเถิด แล้วพวกเขาก็ซุญูด นอกจากอิบลีสที่ปฏิเสธ (ที่จะซุญูดต่ออาดัม) และได้แสดงความโอหัง และมันจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา” (2)
ในสำนวนทางวิชาการอิสลาม คำว่า “อิสติกบาร” (ความอหังการและการถือตนว่าสำคัญ) มักจะถูกกล่าวถึงควบคู่กับคำว่า “ซุลม์” (ความอธรรม การกดขี่) และ "ฏอฆูต" (ทรราช ผู้ละเมิด) จอมอหังการ (อิสติกบาร) หรือลัทธิจักรวรรดินิยม จากมุมมองของวัฒนธรรมทางการเมืองของอิสลามนั้น คือลักษณะหนึ่งของการปกครอง การครอบงำ การล่าอาณานิคมและแสวงหาผลประโยชน์ทางด้านวัฒนธรรม ทางด้านการเมืองและด้านเศรษฐกิจ โดยกลุ่มคนจำนวนน้อยที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ การข่มขู่และแสวงหาผลประโยชน์จากมวลมหาประชาชนที่ด้อยกว่าและเป็นผู้อ่อนแอ
การกระทำดังกล่าวนี้อาจจะกระทำจากภายใน โดยอาศัยกลุ่มเผด็จการและพวกทรราชกลุ่มหนึ่งที่ทำการปกครองเหนือประชาชนผู้ถูกกดขี่ ที่อยู่ภายใต้การครอบงำของตน พวกเขาจะทำให้ประชาชนเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้การบีบครั้นและการกดขี่ของตน และทำนองเดียวกันนี้อาจจะกระทำในระดับประเทศ กล่าวคือ รัฐบาลหนึ่งหรือประเทศหนึ่งจะเข้าไปล่าผลประโยชน์และสร้างความอ่อนแอให้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนของมัน ก็คือการใช้นโยบายต่างๆ เยี่ยงนักล่าอาณานิคมและลัทธิจักรวรรดินิยมของบรรดามหาอำนาจตะวันตกและตะวันออกในโลก (3)
ปัจจุบันนี้วัฒนธรรมทางการเมืองของโลกจะมีการใช้รูปคำ อย่างเช่น คำว่า "ลัทธิล่าอาณานิคม" และ "ลัทธิจักรวรรดินิยม" ในการสื่อถึงความหมายข้างต้นด้วยเช่นเดียวกัน
ลักษณะต่างๆ ของมหาอำนาจจอมอหังการ
การแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง
โดยทั่วไปแล้วพื้นฐานที่มาของความอธรรมและการกดขี่ทั้งมวลของมนุษย์นั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากการมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ และประเด็นดังกล่าวนี้จะมีอยู่ในระดับที่สูงในหมู่มหาอำนาจจอมอหังการ พวกเขาจะให้ความสำคัญเพียงสิ่งเดียว นั่นคือผลประโยชน์ทางด้านวัตถุและด้านแห่งความเป็นสัตว์ของพวกเขา ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง เมื่อผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขาตกอยู่ในภัยคุกคาม พวกเขาก็พร้อมที่จะมองข้ามผ่านประชาชนของประเทศของตน และพลีเพื่อนพ้อง บรรดาพันธมิตรและสมุนรับใช้ของพวกเขา เพื่อรักษาผลประโยชน์ต่างๆ ของพวกเขาเอาไว้
การสวาปามและการครอบงำโลก
การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีอยู่ทั่วทุกมุมของโลกนั้น เป็นหนึ่งในคุณสมบัติเฉพาะของบรรดาประเทศจักรวรรดินิยมจอมอหังการทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้การแสวงหาอำนาจการครอบงำโลกและเข้าครอบครองทรัพยากรของชาติอื่นๆ การฉกชิงเส้นเลือดต่างๆ ที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจของโลก จึงเป็นส่วนหนึ่งจากลักษณะเฉพาะที่สามารถพบเห็นได้ในหมู่มหาอำนาจจอมอหังการทั้งมวล
การทำให้ผู้ถูกกดขี่อยู่ในสภาพที่หล้าหลัง และยับยั้งพวกเขาจากความก้าวหน้าที่แท้จริง
หนึ่งในแนวทางหลักและสำคัญของมหาอำนาจจอมอหังการของโลก ในการรักษาอำนาจครอบงำและความเหนือกว่าของตนที่มีเหนือโลก และการดำรงความอยู่รอดของชีวิตของตนเอาไว้ นั่นก็คือ การสกัดกั้นความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาในประเทศต่างๆ ที่อ่อนแอ มหาอำนาจจอมอหังการจะไม่ลดละและเพิกเฉยในทิศทางนี้ ในการที่จะดำเนินการทุกวิถีทาง อย่างเช่นการดึงดูดชนชั้นหัวกระทิของประเทศโลกที่สามหรือประเทศกำลังพัฒนา การทำลายแผนงานต่างๆ ของประเทศเหล่านั้น การใช้มาตรการคว่ำบาตรและข้อจำกัดต่างๆ ระหว่างประเทศ ด้วยข้ออ้างและเหตุผลต่างๆ นานา
ความวิตกกังวลและความกลัวที่มีอยู่ภายใน
มหาอำนาจจอมอหังการมีความพยายามตลอดเวลาที่จะละเมิดสิทธิต่างๆ ของผู้อื่น และโดยพื้นฐานแล้วตนเองจะเติบโตและมีอำนาจอยู่ได้ด้วยกับการละเมิดสิทธิต่างๆ ของผู้อื่น มหาอำนาจจอมอหังการนั้น จะใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดกลัวและความวิตกกังวลตลอดเวลา และหวาดหวั่นจากการล้างแค้นจากประเทศที่อยู่ภายใต้การครอบงำของตน ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขามีความพยายามอย่างไม่หยุดหย่อนในแต่ละวัน ที่จะได้รับผลผลประโยชน์และทรัพยากรของประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น การนอนหลับอย่างสุขสบายได้ถูกฉกชิงไปจากดวงตาของมหาอำนาจจอมอหังการอย่างสิ้นเชิง และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ความวุ่นวายใจและความวิตกกังวลจะคงคู่อยู่กับบรรดาประเทศมหาอำนาจตลอดเวลา (4)
มหาอำนาจจอมอหังการของโลก จะใช้ประโยชน์จากปัจจัยและวิธีการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันชั่วร้ายของตน ตัวอย่างเช่น การสร้างความขัดแย้งและความแตกแยกให้เกิดขึ้นในระหว่างประชาชนของประเทศที่อ่อนแอ การส่งเสริมความเสื่อมทรามต่างๆ ทางด้านศีลธรรม การมอมเมาประชาชน โดยเฉพาะบรรดาเยาวชนผู้เป็นอนาคตของสังคม การขับขุมกำลังที่มีประสิทธิภาพ มีความมุ่งมั่นและทุ่มเทเสียสละในการพัฒนาประเทศให้ออกไปอยู่ชายขอบ และการใช้งานบุคลากรภายในประเทศนั้นๆ ที่มีความผูกพันอยู่กับพวกเขาและบรรดาปัญญาชน ที่คลั่งไคล้ตะวันตก
เหตุผลของความจำเป็นในการต่อสู้กับมหาอำนาจจอมอหังการ
มุสลิมทุกคนและทุกรัฐอิสลาม บนพื้นฐานของตรรกะและคำสอนต่างๆ ทางศาสนานั้น มีหน้าที่ที่จะต้องจัดการและยืนหยัดต่อต้านความอธรรม การกดขี่และอำนาจจอมอหังการของโลก
ในแง่ของเหตุผลทางสติปัญญา ไม่อาจที่จะกล่าวอ้างถึงคุณค่าและเกียรติศักดิ์ศรีสำหรับ “การมีชีวิตอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้อื่น" ได้เลย เพราะ "คุณค่าของชีวิตนั้นอยู่ที่ความมีเสรีภาพและอิสระภาพ" (5)
ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ได้กล่าวย้ำว่า "สิ่งนี้ไม่ตรงกับตรรกะใดๆ เลยที่ว่า ประชากรจำนวนสามสิบล้านคน จะต้องอยู่ภายใต้การบีบครั้นตลอดไป และประชากรกลุ่มนี้จะต้องทำงานตลอดไป ในขณะที่คนกลุ่มอื่นจะคอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแห่งการทำงานของพวกเขา" เนื่องจากว่า "การดำเนินชีวิตที่ไร้อิสรภาพ (และประชาชนของชาติหนึ่ง) ต้องทำงานอย่างเหนื่อยยากแสนเข็ญ เพื่อให้บรรดาศัตรูได้รับประโยชน์นั้น สิ่งนี้ไม่ใช่การดำเนินชีวิต" (6)
ในมุมมองทางด้านบทบัญญัติของศาสนาก็เช่นเดียวกัน ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและคำรายงาน (ริวายะฮ์) จำนวนมากถือว่าบรรดาผู้อ่อนแอ (มุสตัฎอะฟีน) หมายถึงผู้ที่ตกอยู่ภายใต้การกดขี่และการรุกรานของพวกอหังการ พวกเขามีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องและต่อสู้กับบรรดาจอมอหังการเหล่านั้น และคัมภีร์อัลกุรอานได้ตำหนิและจะเอาโทษผู้ที่เพิกเฉยและไม่ใส่ใจในการปกป้องบรรดาผู้อ่อนแอผู้ถูกกดขี่ พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า
وَقَاتِلُوا فِي سَبِيلِ اللَّهِ الَّذِينَ يُقَاتِلُونَكُمْ وَلَا تَعْتَدُوا إِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ الْمُعْتَدِينَ
"และพวกเจ้าจงต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ ต่อบรรดาผู้ที่รบพุ่งกับพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงรักบรรดาผู้รุกราน" (7)
وَاقْتُلُوهُمْ حَيْثُ ثَقِفْتُمُوهُمْ وَأَخْرِجُوهُم مِّنْ حَيْثُ أَخْرَجُوكُمْ وَالْفِتْنَةُ أَشَدُّ مِنَ الْقَتْلِ
"และพวกเจ้าจงประหัตประหารพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา และจงขับไล่พวกเขาออกจากที่ที่พวกเขาได้ขับไล่พวกเจ้าออก และการก่อวิกฤตความวุ่นวายนั้น ร้ายแรงยิงกว่าการฆ่า" (8)
وَمَا لَكُمْ لَا تُقَاتِلُونَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَالْمُسْتَضْعَفِينَ مِنَ الرِّجَالِ وَالنِّسَاءِ وَالْوِلْدَانِ الَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا أَخْرِجْنَا مِنْ هَٰذِهِ الْقَرْيَةِ الظَّالِمِ أَهْلُهَا وَاجْعَلْ لَنَا مِنْ لَدُنْكَ وَلِيًّا وَاجْعَلْ لَنَا مِنْ لَدُنْكَ نَصِيرًا
"และมีเหตุอันใดเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ ที่พวกเจ้าไม่สู้รบในทางของอัลลอฮ์ ทั้งๆ ที่บรรดาผู้อ่อนแอ ซึ่งมีทั้งชายและหญิงและเด็กๆ ต่างกล่าวกันว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าฯ โปรดนำเหล่าข้าฯ ออกไปจากเมืองนี้ ซึ่งชาวเมืองเป็นผู้ข่มเหงรังแก และโปรดแต่งตั้งผู้คุ้มครองคนหนึ่งแก่เหล่าข้าฯ จาก ณ พระองค์ และโปรดบันดาลผู้ช่วยเหลือคนหนึ่งแก่เหล่าข้าฯ จาก ณ พระองค์ด้วยเถิด" (9)
บนพื้นฐานดังกล่าวนี้เองรัฐธรรมนูญของ “สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน” จึงถือว่าความผาสุกของประชาชนในทั่วทุกสังคมของมนุษยชาติ คืออุดมคติของตน และถือว่าเอกราช เสรีภาพและการปกครองอันเป็นสัจธรรมและมีความยุติธรรมนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทั้งหมดของโลก และในเวลาเดียวกัน การยับยั้งตนและการปฏิเสธการแทรกแซงทุกรูปแบบในกิจการภายในของชาติอื่นๆ และสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านยังให้การสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องความถูกต้องชอบธรรม การปกป้องสิทธิของบรรดาผู้อ่อนแอและผู้ถูกกดขี่จากบรรดามหาอำนาจจอมอหังการในทั่วทุกจุดของโลก (10)
อย่างไรก็ตาม รากฐานของการเกิดการปฏิวัติอิสลาม ก็เพื่อการปลดปล่อยตนเองออกจากแอกของลัทธิจักรวรรดินิยมและการพิทักษ์รักษามัน เช่นเดียวกันนั้น การสนองตอบเป้าหมายและผลประโยชน์ต่างๆ ของประเทศนั้น จำเป็นต้องสืบสานการต่อสู้นี้ต่อไป การปฏิบัติตามคำสอนต่างๆ ของศาสนาอิสลาม คือการตัดสินของสติปัญญา ตรรกะและรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นตัวกำหนดบังคับให้เรายืนหยัดสืบสานการต่อสู้กับมหาอำนาจจอมอหังการแห่งโลกต่อไป จวบจนกว่าจะได้รับชัยชนะขั้นสุดท้าย เพื่อปกป้องเกียรติศักดิ์ศรี เอกราชและการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ต่างๆ ของประเทศของตน
ทำนองเดียวกันนี้ เพื่อบรรลุสู่ความก้าวหน้าและการพัฒนาในทุกๆ ด้าน รวมทั้งการปกป้องสิทธิต่างๆ ของบรรดาผู้ถูกกดขี่และผู้อ่อนแอของโลก เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า วัตถุประสงค์ของการต่อต้านและต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมนั้น ไม่ใช่แค่เพียงการต่อสู้ทางด้านการทหารเพียงเท่านั้น แต้ทว่าสิ่งที่เน้นย้ำมากที่สุดคือการต่อสู้ทางด้านวัฒนธรรม ความพยายามในการสร้างความตื่นตัว การพัฒนาเพื่อยกระดับความเข้าใจและจิตสำนึกทางด้านการเมืองของบรรดาประชาชนที่ถูกกดขี่ของโลก ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ได้กล่าวว่า "หากประชาชนของชาติหนึ่งต้องการที่จะยืนบนเท้าของตนเอง ก็เป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรกที่พวกเขาจะต้องตื่นตัว" (11)
ในตอนท้ายของบทความนี้ เพื่อให้สัมผัสกับเนื้อหาได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราจะขออธิบายถึงประเด็นต่างๆ ในกรณีเกี่ยวกับสาเหตุที่อิหร่านได้ต่อสู้กับอเมริกาในฐานะที่เป็นหัวหน้าของจักรวรรดินิยมของโลก
การพิจารณาพื้นฐานการก่อตัวของนโยบายต่างประเทศของอเมริกา ที่มีต่อประเทศอื่นๆ
บนพื้นฐานแนวคิดของลัทธิวัตถุนิยมของประเทศตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกานั้น การสนองตอบผลประโยชน์ต่างๆ ของชาติและการได้รับมาซึ่งผลกำไรที่มากกว่า คือหลักการที่สำคัญที่สุดที่ปกคลุมอยู่เหนือนโยบายต่างประเทศของพวกเขา เพื่อที่จะบรรลุสิ่งดังกล่าว การดำเนินการทุกรูปแบบของการปฏิบัติการ แม้จะผิดจรรยาบรรณและขัดกับหลักศีลธรรมก็ถือเป็นที่อนุญาตและเป็นที่น่าพอใจ ด้วยเหตุนี้เองผลประโยชน์ต่างๆ ของชาติของพวกเขาจะไม่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากหนทางการพึ่งพาประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศโลกที่สาม และการสกัดกั้นไม่ให้ประเทศเหล่านี้ได้รับเอกราช ความเป็นอิสระและความพอเพียงด้วยการพึ่งพาตนเอง ด้วยกับการกระทำเช่นนี้ สององค์ประกอบพื้นฐานของกงล้อเศรษฐกิจและตลาดการลงทุนของพวกเขา หมายถึงการได้มาซึ่งวัตถุดิบต่างๆ ในราคาถูก
ในอีกด้านหนึ่ง การมีตลาดในการบริโภคสินค้าต่างๆ อันเป็นผลิตผลของตนเอง อีกด้านหนึ่งก็จะถูกจัดเตรียมและถูกรักษาไว้ ด้วยเหตุนี้จึงพบได้ว่า กลุ่มประเทศโลกที่สามหรือในสำนวนที่สวยหรูคือกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนานั้น โดยส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและด้านอื่นๆ อยู่กับอเมริกา แม้จะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของอารยธรรมของตนและมีทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่อุดมสมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็ยังคงถูกจัดอยู่ในหมู่ประเทศที่ยังไม่พัฒนาและพึ่งพิงอยู่กับตะวันตก และแม้จะมีก็เพียงไม่กี่ประเทศที่มีความสามารถปลดปล่อยตัวเองให้รอดพ้นจากสนามศึกนี้ และนำพาตัวเองเข้าสู่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นั่นเป็นผลมาจากความทุ่มเทและความอุตสาห์พยายามและการพึ่งพาตนเอง ไม่ใช่พึ่งพาตะวันตกและอเมริกา และผลก็คือเพื่อที่จะสนองตอบผลประโยชน์ต่างๆ การรักษาและแผ่ขยายความเป็นเจ้าโลกและการครอบงำของตนในประเทศต่างๆ ของโลก การทำให้บรรลุความเป็นจริงในการสร้างอาณานิคมโลกภายใต้อาณัติของตนเองนั้น อเมริกาจะไม่ลังเลที่จะดำเนินการใดๆ ในทุกรูปแบบ ในทิศทางที่จะสร้างความล้าหลังให้กับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา และการสกัดกั้นความเจริญก้าวหน้าของประเทศเหล่านั้น
การพิจารณาวิธีการปฏิบัติและการดำเนินการต่างๆ ของอเมริกาต่อประเทศอิหร่านทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
การพิจารณาถึงการดำเนินการต่างๆ อย่างเป็นปฏิปักษ์ของรัฐบาลอเมริกาที่มีต่อชาติอิหร่านนับจากอดีตอันไกลโพ้นจวบจนถึงปัจจุบัน จะพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงการที่อเมริกาพยายามสกัดกั้นและหยุดยั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศของเรา ในเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร วิทยาศาสตร์ และอื่นๆ บางส่วนจากตัวอย่างของความเป็นปฏิปักษ์เหล่านี้ ได้แก่
(ก) การสร้างรัฐประหารในวันที่ 28 โมร์ดอด 1332 (18 สิงหาคม ค.ศ. 1953) และการโค่นล้มรัฐบาลของประชาชนและชอบด้วยกฎหมายของ ดร.มุศ็อดดิก การนำเสนอแผนการปฏิวัติสีขาวและการยอมจำนนต่อระบอบการปกครองที่พึ่งพิงของราชวงศ์ปาห์ลาวี การก่อวินาศกรรมและความพยายามที่จะโค่นล้มระบอบสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน โดยอาศัยวิธีการต่างๆ อย่างเช่น การสนับสนุน การเสริมสร้างความเข้มแข็งและการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านการปฏิวัติ เพื่อสร้างความยุ่งเหยิงในด้านความมั่นคงและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ การสร้างรัฐประหารโนเจะฮ์ (The Nojeh coup plot) การปลุกปั่นประเทศเพื่อนบ้านให้ปฏิบัติการทางทหารต่อต้านอิหร่าน และการบีบบังคับของสงครามแปดปี การสร้างมาตรการการคว่ำบาตรทางการเมืองระหว่างประเทศ และการทำลายความสัมพันธ์ของอิหร่านกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและในทั่วโลก
(ข) มาตรการการทำลายของรัฐบาลอเมริกา และการต่อต้านความเป็นของชาติของอุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่าน การสร้างอุปสรรคกีดขวางในกิจการต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ ในยุคสมัยของผู้ปกครองทรราช เพื่อจะทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านต้องพึ่งพิงอยู่กับผลผลิตต่างๆ ของต่างชาตินั้น รัฐบาลอเมริกาได้ทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านต้องพึ่งพิงอย่างรุนแรงต่อรายได้ต่างๆ ทางด้านน้ำมันดิบ และกดดันรัฐบาลของราชวงศ์ปาห์เลวีให้ดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างเช่น การปฏิรูปที่ดิน และการทำลายการพึ่งพิงตนเองทางด้านเศรษฐกิจของอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอาหาร
และภายหลังจากชัยชนะของการปฏิวัติอิสลามก็เช่นเดียวกัน อเมริกาได้สร้างการชะงักงันให้เกิดขึ้นในกระบวนการของความก้าวหน้าและการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของอิหร่าน และทำการกดดันต่างๆ อย่างมากมายต่อประชาชนของอิหร่าน ด้วยการสร้างสงครามแปดปี การทำลายโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของน้ำมันดิบและปิโตรเคมี การทำลายตลาดน้ำมัน การสร้างมาตรการการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านในเวทีระหว่างประเทศ การนำเสนอแผนต่างๆ อย่างเช่น แผนดามาโต (Alphonse D'amato) และอื่นๆ
(ค) ในด้านของวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน รัฐบาลของอเมริกาได้สร้างอุปสรรคขวากหนามในหนทางของการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าของประเทศอิหร่าน ด้วยการดึงดูดบรรดาปัญญาชนของอิหร่าน รวมทั้งการสกัดกั้นไม่ให้อิหร่านได้รับเทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเช่นที่ในขณะนี้เรากำลังเผชิญอยู่กับมัน ในกรณีของวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์
(ง) ในด้านของวัฒนธรรมก็เช่นกัน อเมริกานั้น เพื่อที่จะการครอบงำทางวัฒนธรรมและแผ่ขยายลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยของตนเอง การต่อสู้กับวัฒนธรรมอิสลามและวัฒนธรรมอื่นๆ นับจากอดีตอันยาวไกลมาจวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยการดำเนินการต่างๆ ที่หลากหลาย อย่างเช่นการใช้บรรดาลูกสมุนทางด้านแนวคิด ในเครือของตนที่อยู่ภายในประเทศอิหร่าน และการใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ในการรุกรานโจมตีอย่างกว้างขวางต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของอิสลาม และวัฒนธรรมประจำชาติของประเทศอิหร่าน เมื่อพิจารณาถึงการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้แล้ว ยังจะสามารถเชื่อได้อีกหรือว่าสหรัฐอเมริกามีความปรารถนาดีและเป็นผู้สนับสนุนปกป้องความเจริญก้าวหน้าของประเทศอิหร่าน และควรละมือจากการต่อสู้กับมัน?!
แหล่งที่มา :
(1) มุอ์ญะมุ อัลฟาซิลกุรอาน, รอฆิบ อัลอิสฟะฮานี, หน้าที่ 438
(2) อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 34
(3) ซิยาซัต คอริญี ญุมฮูรีเย่ อิสลามีเย่ อิหร่าน, มะนูชะฮัร มุฮัมมะดี, หน้าที่ 33
(4) อันดีเชฮ์ฮอเย่ ฟิกฮีเย่ ซิยาซีเย่ อิมามโคมัยนี, กาซิม กอฎีซอเดะฮ์ , หน้าที่ 609
(5) ซ่อฮีเฟเย่นูร, เล่มที่ 5, หน้าที่ 114
(6) ซ่อฮีเฟเย่นูร, เล่มที่ 5, หน้าที่ 138
(7) อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 190
(8) อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 191
(9) อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 75
(10) กอนูน อะซาซี ญุมฮูรีเย่ อิสลามีเย่ อิหร่าน, มาตราที่ 154
(11) ซ่อฮีเฟเย่นูร, เล่มที่ 14, หน้าที่ 1
แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ