เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนจากอิมามฮาดีย์ (อ.)

1 ทัศนะต่างๆ 05.0 / 5

บทเรียนจากอิมามฮาดีย์ (อ.)


เนื่องจากวันที่สาม ของเดือนเราะญับ เป็นวันคล้ายวันครบรอบการเป็นชะฮาดัตของอิมามที่สิบของโลกชีอะฮ์ อิมามอะลี บินมุฮัมมัด อัลฮาดีย์ (อ.) เราจะขออธิบายฮะดีษอันทรงคุณค่าของท่านอิมาม ผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้


อิมามฮาดีย์ ได้กล่าวว่า 


الدّنیا سُوقٌ رَبِحَ فيها قَومٌ وَ خَسِرَ آخَرونَ

โลกนี้คือ ตลาดซึ่งกลุ่มชนหนึ่งจะได้รับผลกำไรและอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับความขาดทุน (ที่มา ตุฮัฟฟุลอุกูล)


อิมามฮาดีย์ (อ.) ได้เปรียบเทียบโลกนี้เสมือนดั่งตลาดและสถานที่ค้าขาย ซึ่งผู้อาศัยในมันไม่ได้นอกเหนือจากสองกลุ่มนี้ด้วยกัน


กลุ่มหนึ่ง พวกเขาได้รับผลกำไร แต่อีกกลุ่มหนึ่ง พวกเขาได้รับความเสียหายและความขาดทุน ในริวายะฮ์ที่สวยงามนี้ มีความละเอียดและประเด็นปลีกย่อยที่เราจะกล่าวถึงบางส่วนดังนี้


อิมามฮาดีย์ ไม่ได้กล่าวว่า โลกนี้เปรียบเสมือนตลาด แต่เนื่องจากความคล้ายคลึงอย่างเข้มข้น ระหว่างมุชับบะฮ์ (โลกนี้)  และมุชับบะฮ์ บิฮ์ (ตลาด) อักษรตัชบีฮ์ จึงถูกตัดออกไป และใช้เรียกว่า เป็นการเปรียบเทียบที่ได้รับการเน้นย้ำ 


โลกคือ ตลาด กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า บุคคลใด บุคคลหนึ่ง ไม่ว่าเขาจะต้องการหรือไม่ก็ตาม เขาล้วนต้องเกี่ยวข้องกับการค้าขายในช่วงเวลาของชีวิตของเขาทั้งสิ้น และทุกพฤติกรรม แม้แต่ความคิดของเขา ถือเป็นการค้าขายที่เต็มไปด้วยผลกำไรหรือขาดทุน


โดยปกติแล้ว นักการตลาดจะมีอยู่ 3 กลุ่ม นอกจากนักธุรกิจที่ได้ผลกำไรและขาดทุนแล้ว ยังมีกลุ่มที่ขายสินค้าในราคาเดียวกับที่ซื้อมาอีกด้วย หลังจากทำธุรกรรมดังกล่าวแล้ว คนกลุ่มนี้จะบอกว่า พวกเขาไม่ได้รับผลกำไรหรือขาดทุน แต่ทว่าตลาดโลกก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี 2 สภาพนี้ และไม่มีทางเลือกที่สามสำหรับเรื่องนี้ คือ มนุษย์ทั้งหลายจะออกไปพร้อมกับเงินเต็มมือ หรือออกไปด้วยความเสียใจและเสียดาย


ในริวายะฮ์นี้ อิมามฮาดีย์ (อ.) กล่าวถึงผู้ที่ได้รับกำไรจากตลาดโลกอย่างชัดเจน โดยใช้คำว่า กลุ่มชน  แต่ ในทางตรงกันข้าม อิมามกล่าวถึงผู้ที่ประสบความขาดทุนว่า กลุ่มอื่นๆ ราวกับว่า อิมามไม่ถือว่าพวกเขานั้นสมควรได้รับการกล่าวถึง ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้มาหลายปี แต่แทนที่จะกระทำความดี กลับจากโลกนี้ไปพร้อมกับภาระความสูญเสียและถูกไฟนรก ไม่สมควรจะได้รับความสนใจ แต่สมควรที่ได้รับความโกรธและการตำหนิเสียมากกว่า  


ในฮะดีษได้กล่าวถึงกลุ่มผู้ได้รับผลกำไรและผู้ขาดทุน ทั้งสองกลุ่มโดยไม่มีรายละเอียดใดๆ และด้วยคำสองคำ คือ กลุ่มชน และ กลุ่มอื่นๆ บางทีการไม่เปิดเผยตัวตนนี้อาจหมายถึง ความจริงที่ว่าในบรรดาผู้คนที่ไม่เปิดเผยตัวตนที่เราเห็นทุกเช้าและเย็นตามท้องถนนและตรอกซอกซอย อาจมีผู้ที่ทำการค้าขายเพื่อแสวงหาผลกำไรกับพระผู้สร้าง ผู้ทรงเมตตาของพวกเขาในตลาดโลก ดังนั้น จึงไม่มีใครสมควรที่จะถูกดูถูกเหยียดหยาม


การเปรียบเทียบต่างๆ เช่น ตลาด การค้าขาย การพาณิชย์ ผลกำไรและขาดทุนในโลกนี้และโลกหน้า มีพื้นฐานมาจากอัลกุรอาน และการค้นหารากฐานของทัศนะดังกล่าวในคัมภีร์แห่งวิวรณ์ อัลกุรอานได้กล่าวถึงคำว่า การค้าขาย สามครั้งในบริบทนี้ บางครั้งกล่าวถึง การค้าที่ไร้กำไรของผู้ที่หลงผิด : 


فَما رَبِحَت تِجارَتُهُم

“ดังนั้น การค้าขายของพวกเขาจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา” (อัลบะเกาะเราะฮ์: 16) บางครั้งกล่าวถึงการค้าที่ได้รับผลกำไรและไม่ขาดทุน :


تِجارَة لَن تَبُور

 “การค้าที่ไม่มีวันล้มเหลว” (ฟาฏิร: 29) และบางครั้งเรียกร้องให้ผู้ศรัทธาทำการค้าที่จะช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากการลงโทษอันแสนเจ็บปวด : 


یا أیّها الّذینَ آمَنُوا هَلْ أدُلُکُم عًلی تِجارة تُنجيكُم مِن عَذابٍ أليم

“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ฉันจะชี้แนะพวกเจ้าให้ไปสู่การค้าที่จะช่วยให้พวกเจ้ารอดพ้นจากการลงโทษอันเจ็บปวดหรือไม่?” (อัลศ็อฟ: 10)


นอกจากนี้ ในเรื่องนี้ คำว่า شِراء (การซื้อและขาย) และคำที่มาจากคำนี้ถูกกล่าวถึง 23 ครั้งในอัลกุรอาน ตัวอย่างเช่น 


إنّ اللهَ اشْتَرى مِنَ المُؤمِنينَ أنفُسَهُم وَ أموالَهُم بِأنّ لَهُمُ الجَنة

“แท้จริง อัลลอฮ์ทรงซื้อตัวของพวกเขาและทรัพย์สินของพวกเขาจากบรรดาผู้ศรัทธา เพื่อที่พวกเขาจะได้รับสวรรค์” (อัตเตาบะฮ์ :111) หรือในโองการลัยละตุลมะบีต :


وَ مِنَ الناسِ مَن يَشرى نَفسَهُ ابْتِغاءَ مَرضاتِ الله
 

“และจากบางส่วนของมนุษย์นั้น ผู้ที่ซื้อตัวของเขาเพื่อแสวงหาความพอพระทัยของอัลลอฮ์” (อัลบะเกาะเราะฮ์ : 207)


ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ความคล้ายคลึงกันระหว่างการค้าขายและตลาด กับสถานภาพของมนุษย์ในโลกนี้ เพราะเมื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด เข้ามาในโลกนี้ เขามีทุนอย่างมากมายที่เขาจะสูญเสียไปทีละอย่างในชีวิตของเขา ทุนเหล่านี้ได้แก่ อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกาย พลังของร่างกาย สติปัญญา ความมีชีวิตชีวาของวัยหนุ่ม สุขภาพ สถานะทางสังคม ทรัพย์สินและความมั่งคั่ง เกียรติยศและชื่อเสียง และทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของเขาในชีวิตทางโลกที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วนี้ ด้วยคำอธิบายว่า ทุนสุดท้ายของมนุษย์คนหนึ่งคือ ชีวิตของเขา และถ้าเขาสูญเสียความโปรดปรานทั้งหมดไป เขาก็ยังคงทำการค้าขายต่อไป ตราบเท่าที่หัวใจของเขายังเต้นอยู่และสติสัมปชัญญะของเขายังคงอยู่
แม้ว่า ในตอนแรก มนุษย์คนหนึ่งจะถือว่า เป็นเจ้าของทุนของเขา แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาไม่ได้เป็นเจ้าของอะไรเลย ทุนแต่ละทุนจะถูกวางไว้กับเขาเป็นการฝากชั่วคราว และหลังจากนั้นไม่นาน ทุกสิ่งที่ถือว่า เป็นทรัพย์สินของเขาจะถูกยึดคืนไปจากเขา


บุคคลที่อยู่บนขอบของความว่างเปล่าสองอย่างในสนามแห่งชีวิต มีทางเลือกที่จะผลาญทุนของเขาและด้วยความช่วยเหลือของทุนเดียวกันนี้ จะทำให้เกิดความน่ารังเกียจ การลงโทษ และความอัปยศอดสูมาสู่ตัวเองทั้งในโลกนี้และโลกหน้า หรือจะแลกเปลี่ยนทรัพย์สินของเขากับอัลลอฮ์และบรรลุสู่ความสะดวกสบายชั่วนิรันดร์ ช่วงชีวิตอันสั้นเป็นสถานที่สำหรับการค้าขายที่ได้รับผลกำไรหรือความขาดทุนที่น่าเศร้า


ลักษณะของผู้ที่ได้รับผลกำไรในตลาดนี้ มีอะไรบ้าง ?


ในซูเราะฮ์อัลอัศร์ อัลลอฮ์ทรงแนะนำมนุษย์ทุกคนว่า พวกเขาอยู่ในความขาดทุน ยกเว้นผู้ที่มีลักษณะทั้งสี่ประการ: พวกเขามีศรัทธา กระทำความงามความดี พวกเขาไม่เฉยเมยในการใช้ชีวิตทางสังคมและตักเตือนให้กันและกันด้วยสัจธรรม (ตะวาเศา บิลฮัก) การสั่งสอนกระทำความดีและการห้ามปรามมิให้กระทำความชั่ว เป็นตัวอย่างของการตักเตือนด้วยสัจธรรม และลักษณะประการที่สี่ของพวกเขา คือ พวกเขาจะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันในความยากลำบากของเส้นทางแห่งศรัทธาและตักเตือนกันและกันด้วยความอดทนอดกลั้น (ตะวาเศา บิศศอบร์ ) ลักษณะสองประการสุดท้ายบ่งชี้ถึงความสำคัญอย่างยิ่งของผู้ศรัทธาในการใช้ชีวิตร่วมกันและหลีกเลี่ยงการปลีกวิเวก พวกเขามีความรับผิดชอบต่อกันและกันและผู้ศรัทธาทุกคนควรที่จะปลูกฝังความเข้มแข็งในตัวผู้อื่น เพื่อนำสังคมออกจากความซบเซาและความเฉื่อยชาและมีการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุขและความกระตือรือร้น


แต่จุดสูงสุดและความภาคภูมิใจของการค้าที่ได้รับผลกำไรนั้น เป็นของบรรดานักต่อสู้ที่ทุนคือ การดำรงอยู่ของพวกเขาและไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน นอกจากการพบกับสัจธรรม บรรดาชะฮีดนั้นเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการค้าขายนี้ ซึ่งไม่ได้รับเพียงทุนเท่านั้น พวกเขายัวได้รับผลกำไรทั้งหมด และมั่นใจว่า พระผู้สร้าง ผู้ทรงเมตตานั้นทรงเป็นผู้ซื้อวิญญาณและเลือดอันบริสุทธิ์ของพวกเขา และเพื่อตอบแทนสิ่งที่เขาได้รับ พระองค์จะประทานชีวิตนิรันดร์ให้พวกเขาในสถานที่ที่น่าอัศจรรย์และเหนือจินตนาการว่า พวกเขาจะได้รับปัจจัยยังชีพ ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขา บรรดาชะฮีดคือ หัวหน้าของโลกนี้และโลกหน้า และเพื่อตอบแทนการเสียสละอันรุ่งโรจน์ของพวกเขา พวกเขาจึงเข้าร่วมกลุ่มของซัยยิดุชชุฮะดา (อ.)


ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับบรรดาชะฮีด ก็คือ ไม่เหมือนพ่อค้าคนอื่นๆ พวกเขาไม่ได้ประโยชน์จากการค้าขายดังกล่าวเท่านั้น แต่การญิฮาดและการพลีชีพของพวกเขายังมอบบะรอกัตมากมายให้กับประเทศต่างๆ อีกด้วย ชะฮีด คือสถานที่ประทานความเมตตาของพระเจ้าลงมา 


เป็นความจริงหรือไม่ที่หากอิสลามแห่งอิหร่านสามารถผ่านพ้นคลื่นสงครามที่น่าสะพรึงกลัวและมืดมน แผนการสมรู้ร่วมคิด และการก่อฟิตนะฮ์ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมาได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องขอบคุณเลือดอันบริสุทธิ์ที่ถูกหลั่งที่โคนต้นไม้แห่งการปฏิวัติอิสลาม


บทความโดย ซัยยิดอะบุลฮะซัน มูซาวี เฏาะบาเฏาะบาอี


แปลและเรียบเรียง เชคญะมาลุดดีน ปาทาน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม