หลักปฏิบัติในอิสลาม

หลักปฏิบัติในอิสลาม0%

หลักปฏิบัติในอิสลาม ผู้เขียน:
นักค้นคว้าวิจัย: ซัยยิดมุรตะฏอ อัสกะรี
ผู้แปล: ซัยยิดมุรตะฏอ อัสกะรี
กลุ่ม: ห้องสมุดศาสนบัญญัติ

หลักปฏิบัติในอิสลาม

ผู้เขียน: มุฮัมมัด ฮุเซน ฟัลลอฮ์ ซอเดะฮ์
นักค้นคว้าวิจัย: ซัยยิดมุรตะฏอ อัสกะรี
ผู้แปล: ซัยยิดมุรตะฏอ อัสกะรี
กลุ่ม:

ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 20548
ดาวน์โหลด: 4213

รายละเอียด:

หลักปฏิบัติในอิสลาม
ค้นหาในหนังสือ
  • เริ่มต้น
  • ก่อนหน้านี้
  • 185 /
  • ถัดไป
  • สุดท้าย
  •  
  • ดาวน์โหลด HTML
  • ดาวน์โหลด Word
  • ดาวน์โหลด PDF
  • ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 20548 / ดาวน์โหลด: 4213
ขนาด ขนาด ขนาด
หลักปฏิบัติในอิสลาม

หลักปฏิบัติในอิสลาม

ผู้เขียน:
ภาษาไทย



๓. แสงแดด   

แสงแดดสามารถทำความสะอาดสิ่งของที่เปื้อนนะญิซเหล่านี้ให้สะอาดได้

- พื้นดิน

- อาคารและอุปกรณ์ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาคาร เช่น หน้าต่าง ประตู

- ต้นไม้และพืชต่าง ๆ



เงื่อนไขการทำความสะอาดของแสงแดด

๑. สิ่งของที่เปื้อนนะญิซต้องเปียกในลักษณะที่ว่าถ้ามีสิ่งอื่นไปโดนจะเปียกไปด้วย

๒. ต้องแห้งด้วยแสงแดดที่ส่องลงไปโดน ดังนั้น ถ้ายังชื้นอยู่ถือว่าไม่สะอาด

๓. จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางแสงแดดขณะส่อง เช่น เมฆ หรือผ้าม่าน นอกเสียจากเป็นกลุ่มเมฆที่ไม่หนาทึบ หรือผ้าม่านบาง ๆ ซึ่งไม่สามารถกีดขวางแสงแดด

๔. เฉพาะแสงแดดเท่านั้นที่ทำให้แห้ง เช่น ลมไม่ได้ช่วยพัดให้แห้ง

๕. ขณะแสงแดดส่องต้องไม่มีนะญิซติดค้างอยู่ ดังนั้น ต้องขจัดนะญิซก่อนที่แสงแดดจะส่อง

๖. ด้านนอกกับด้านในของฝาผนังหรือพื้นต้องแห้งพร้อม ๆ กัน ดังนั้น ถ้าวันนี้ด้านนอกแห้ง และวันรุ่งขึ้นด้านในเพิ่งจะแห้ง เฉพาะด้านนอกเท่านั้นที่สะอาด



สองสามประเด็นสำคัญ

๑. ถ้าพื้นดินและสิ่งอื่น ๆ ที่คล้ายกันเปื้อนนะญิซ แต่ไม่เปียกให้เอาน้ำหรือสิ่งอื่นราดเล็กน้อยให้พื้นเปียก หลังจากแสงแดดส่องจนแห้งแล้ว ถือว่าสะอาด

๒. ก้อนกรวด ดิน โคลน และหินตราบที่ยังอยู่บนพื้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นดิน แสงแดดสามารถสะอาดได้ แต่ถ้าแยกจากพื้นดินแล้วแสงแดดไม่สามารถทำความสะอาดได้ เช่นเดียวกันตะปู ไม้ และสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ตราบที่ยังอยู่บนฝาผนังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฝาผนัง และอยู่ในกฎของอาคาร แต่ถ้าแยกออกเมื่อใดกฎก็จะหมดสภาพลง และแสงแดดไม่สามารถทำความสะอาดได้อีกต่อไป



๔. การแปรสภาพ 

๑. ถ้าสิ่งที่เปื้อนนะญิซ ได้เปลี่ยนรูปลักษณ์ออกมาในสภาพกลายที่สะอาด (ไม่เข้าใจ) ถือว่าสะอาด ซึ่งเรียกว่า การแปรสภาพ เช่น

- ซากศพเปลี่ยนสภาพเป็นดิน

- เมล็ดที่เปื้อนนะญิซงอกกลายเป็นต้นขึ้นมา

- ไม้ที่เปื้อนนะญิซกลายเป็นถ่านหรือขี้เถ้า

- เชื้อเพลิงที่เผาไหม้กลายเป็นควัน

- ของเหลวที่นะญิซระเหยกลายเป็นไอ

- เหล้ากลายเป็นน้ำส้มสายชู

 ๒. ถ้าสิ่งที่นะญิซไม่ได้กลายสภาพ เพียงแค่เปลี่ยนรูปทรงอย่างเดียว ไม่ถือว่าสะอาด เช่น

- เมล็ดข้าวสาลีที่เปื้อนนะญิซนำมาโม่เป็นแป้ง

- องุ่นที่เปื้อนนะญิซนำมาทำเป็นน้ำส้มสายชู

๓. สิ่งเปื้อนนะญิซ แต่ไม่รู้ว่าได้กลายสภาพไปแล้วหรือยัง เป็นนะญิซ

๕. การย้าย

๑. การย้าย หมายถึงบางส่วนจากร่างกายของสัตว์ที่มีเลือดไหลพุ่ง ย้ายไปอยู่ในร่างกายของสัตว์ที่ไม่มีเลือดไหลพุ่ง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างไปแล้ว ถือว่าสะอาด ทำนองเดียวกันถ้าย้ายไปอยู่ในร่างของสัตว์ที่ยังมีชีวิตและไม่ได้เป็นนะญิซแต่กำเนิด (นะยะซุลอัยนฺ) ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของร่างไปแล้ว เช่น

- หรือเลือดของคนย้ายไปอยู่ในยุง ริ้น หรือแมลงที่กินเลือด

- อวัยวะบางส่วนของสัตว์ (เช่นดวงตา) ถูกตัดขาดและไปอยู่ในร่างกายมนุษย์

- ตัดเนื้อบางส่วนของร่างกายไปเสริมอีกที่หนึ่ง

๒. ถ้ายุงได้เกาะอยู่บนตัวและได้ตบยุงตายพร้อมกับมีเลือดออกมา แต่ที่ไม่รู้ว่าเป็นเลือดของตนที่ยุงกินเข้าไป หรือเป็นเลือดของยุง ถือว่าสะอาด แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเลือดของยุงหรือว่าเลือดของตน เป็นนะญิซ

๓. ถ้ารู้ว่าเป็นเลือดของยุง แต่ไม่รู้ว่าเป็นเลือดที่กินไปจากตนหรือว่ามีอยู่ก่อนแล้ว ถือว่าสะอาด หรือถ้ารู้ว่ากินไปจากตนแต่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุงไปแล้ว แต่ถ้าสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุงหรือไม่ ถือว่า เป็นนะญิซ



๖. การเข้ารับอิสลาม 

๑. ถ้าผู้ปฏิเสธกล่าว ชะฮะดะตัยนฺ ถือเป็นมุสลิมและร่างกายทั้งหมด (ตลอดจนเหงื่อและน้ำลาย) ถือว่าสะอาด คำกล่าว ชะฮะดะตัยนฺคือ อัชฮะดุอันลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ วะอัชฮะดุอันนะมุฮัมมะดัรเราะซูลุลลอฮฺ  

๒. ถ้ากาฟิร กล่าวชะฮะดะตัยนฺ โดยไม่รู้ว่าจิตใจของเขายอมรับอิสลามจริงหรือไม่ ถือว่าร่างกายเขาสะอาด แต่ถ้ารู้แน่ชัดภายหลังว่าจิตใจของเขาไม่ได้ยอมรับ อิฮฺติยาฏวาญิบ ให้ออกห่างจากเขา

๔. ถ้าร่างกายของกาฟิรนะญิซเพราะเปื้อนนะญิซอื่น เช่น อาจเป็นแผลและมีเลือดไหลออกมา ฉะนั้น นะญิซดังกล่าวไม่สามารถใช้อิสลามทำความสะอาดได้

๕. ถ้าเสื้อผ้าที่สวมใส่ก่อนที่จะรับอิสลามเปียกชื้นเหงื่อของการฟิร ถือว่าไม่สะอาดเพราะการเข้ารับอิสลาม ทว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่ขณะเข้ารับอิสลามนะญิซเพราะเปียกเหงื่อบนร่างกาย อิฮฺติยาฏวาญิบ ให้หลีกเลี่ยง



๗.  การตาม  

๑. การตาม หมายถึงสิ่งที่เปื้อนนะญิซสะอาดเพราะความสะอาดของสิ่งอื่น

๒. ประเด็นต่อไปนี้สิ่งที่เปื้อนนะญิซจะสะอาดเพราะการตาม

- ถ้าเหล้าเปลี่ยนเป็นน้ำส้มภาชนะที่ใส่เหล้าต้มจะสะอาดตามไปด้วย แม้แต่บริเวณรอยเดือดขณะต้มเหล้า หรือฝาด้านหลังที่เปื้อนนะญิซ

- หลังจากอาบน้ำมัยยิตครบ ๓ น้ำแล้ว อุปกรณ์เครื่องใช้ที่ใช้ในการอาบน้ำมัยยิต เตียงรอง มือของคนอาบน้ำ ผ้าที่ใช้ปิดร่างมัยยิต ถือว่าสะอาดตามไปด้วย  

- ผู้ที่ทำความสะอาดสิ่งเปื้อนนะญิซ ถ้าได้ราดน้ำไปบนของสิ่งนั้นและมือพร้อมกัน ถือว่ามือของเขาสะอาดตามไปด้วย โดยไม่ต้องล้างใหม่อีกครั้ง

- หลังจากบิดผ้าหรือสิ่งที่คล้ายคลึงกันแล้ว น้ำที่ตกค้างอยู่ในผ้าเล็กน้อย ถือว่าสะอาด

- ถ้าล้างภาชนะหรือสิ่งที่คล้ายคลึงกันด้วยน้ำน้อย หยดน้ำที่ยังคงเหลืออยู่บนภาชนะ ถือว่าสะอาด       

 

๘. การสลายตัวของนะญิซ 

มีอยู่ ๒ กรณี ถ้านะญิซถูกขจัดออกหมดแล้ว สิ่งที่เปื้อนนะญิซ ถือว่าสะอาดโดยไม่ต้องใช้น้ำล้างอีก ได้แก่

๑. ตัวสัตว์ เช่น ปากไก่ที่เปื้อนนะญิซ ถ้านะญิซสลายตัวไปปากไก่จะสะอาดโดยไม่ต้องใช้น้ำล้างอีก

๒. ภายในร่างกายของมนุษย์ เช่น ภายในปาก จมูก และหู

ด้วยเหตุนี้ ถ้ามีเลือดออกตามไรฟัน หรือรับประทานอาหารนะญิซเข้าไปถ้าในปากไม่มีอาหารนะญิซหรือเลือดอยู่ หรือมีเพียงเล็กน้อยเมื่อผสมกับน้ำลายแล้วเจือจางหายไป ถือว่าไม่เป็นนะยิส        

 ๙. การกักขังสัตว์ที่กินนะญิซ (อิสติบรออฺ)

การอิสติบรออฺฮัยวาน หมายถึงการกักขังสัตว์ที่กินนะญิซเข้าไป ในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่านะญิซได้กลายสภาพไปแล้ว และช่วงระหว่างการทำอิสติบรออฺนั้นเนื้อสัตว์ฮะรอม ไม่อนุญาตให้รับประทานจนกว่าจะครบกำหนด

 ๑. ปัสสาวะและอุจจาระของสัตว์ที่เคยชินกับการกินนะญิซ เป็นนะญิซ ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์เนื้อฮะลาลก็ตาม

๒. ถ้าต้องการให้ปัสสาวะและอุจจาระของสัตว์ประเภทนี้สะอาด ต้องทำอิสติบรออฺ หมายถึงงดเว้นไม่ให้สัตว์กินนะญิซ โดยให้อาหารที่สะอาดแก่สัตว์

๓. สำหรับการอิสติบรออฺสัตว์ อิฮฺติยาฏวาญิบ ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

- ถ้าเป็นอูฐ ต้องกักไว้ ๔๐ วัน

- ถ้าเป็นวัว ต้องกักไว้ ๒๐ วัน

- ถ้าเป็นแพะ แกะ ต้องกักไว้ ๑๐ วัน

- ถ้าเป็นนกเป็ดน้ำ ต้องกักไว้ ๕ วัน

- ถ้าเป็นไก่บ้าน ต้องกักไว้ ๓ วัน

๑๐. การหายตัวไปของมุสลิม*

*อายะตุลลอฮฺ อะลี คอเมเนอี ถ้ามั่นใจว่าร่างกายเสื้อผ้า หรือของใช้อย่างใดอย่างหนึ่งของมุสลิมนะญิซ และระยะเวลาหนึ่งไม่เห็นเขา มาพบเขาอีกทีหนึ่งเขาได้ใช้สิ่งของที่เคยเปื้อนนะญิซ เช่น นะมาซกับเสื้อตัวนั้น ดังนั้น ของใช้ของเขาจะสะอาดขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของรู้เรื่องนะญิซก่อนหน้านั้น และรู้เรื่องบทบัญญัติของสิ่งที่เปื้อนนะญิซ

  ถ้าร่างกาย เสื้อผ้า และของใช้ส่วนตัวประเภทอื่น ๆ เปื้อนนะญิซ  (เช่น ถ้วยจาน พรม เป็นต้น) ต่อมามุสลิมคนนั้นได้หายตัวไป ถ้าคิดว่าเขาได้ทำความสะอาดสิ่งเหล่านั้นเรียบแล้ว ถือว่าสะอาดและไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง



บทบัญญัติเกี่ยวกับการขับถ่าย

หนึ่งในปัญหาเรื่องการขับถ่าย คือ การทำความสะอาดช่องทวารหนักและเบา ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่า เรื่องการขับถ่ายทั้งหมดถูกนำมาวางไว้ในตอนท้ายของเรื่องการทำความสะอาด และเรื่องการขับถ่ายมีบัญญัติที่เฉพาะเจาะจง กล่าวคือ

วาญิบ ต้องปกปิดอวัยวะให้มิดชิดจากสายตาของบุคคลอื่น แม้จะเป็นเด็กที่สามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ  ได้ หรือคนวิกลจริตก็ตาม (ยกเว้นสามีภรรยา)    

ฮะรอม ถ้าหันหน้าหรือหันหลังตรงกับกิบละฮฺ



มุซตะฮับ สิ่งที่ดีควรปฏิบัติในขณะขับถ่ายได้แก่

๑- นั่งในสถานที่ ๆ ไม่มีใครเห็นได้

๒- เวลาเข้าห้องน้ำให้ก้าวเท้าซ้ายเข้า

๓- เวลาออกจากห้องน้ำให้ก้าวเท้าขวาออก

๔- ขณะที่นั่งถ่ายควรมีสิ่งปิดศีรษะ

๕. ให้นั่งทิ้งน้ำหนักตัวไปทางเท้าข้างซ้าย



มักรูฮฺ สิ่งที่น่ารังเกียจในขณะขับถ่ายได้แก่

๑. นั่งถ่ายนาน ๆ

๒. นั่งหันหน้าตรงกับดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์

๓. นั่งหันโต้ลม

๔. พูดคุย ยกเว้นในกรณีจำเป็น หรือกล่าวซิกรฺ (สรรเสริญ)

๕. ทำความสะอาดด้วยมือขวา

๖. กินหรือดื่มในขณะขับถ่าย

๗. ยืนปัสสาวะ



สถานที่ ฮะรอมสำหรับการขับถ่าย

๑.ตามตรอกซอยที่เป็นทางตัน ซึ่งเจ้าของไม่อนุญาต

๒.สถานที่ส่วนบุคคล ที่เจ้าของไม่อนุญาต

๓. สถานที่ วะกัฟ (อุทิศ) ให้เฉพาะบางกลุ่มชน

๔.บนหลุมฝังศพของมุอฺมิน (ผู้ศรัทธา) โดยมีเจตนาลบหลู่ 



สถานที่มักรูฮฺ (น่าเกลียด) สำหรับการขับถ่าย

๑. ตามทางเดิน ถนนหนทาง ตรอกซอยและประตูทางเข้าบ้าน

๒.ใต้ต้นไม้ที่ให้ผล

๓.ในแม่น้ำลำคลอง

๔. บนพื้นแข็ง ๆ

๕.ตามรังหรือที่อยู่อาศัยของสัตว์ ๆ   เช่น รังปลวก รังมดและอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน

อิฮฺติยาฏวาญิบ ขณะขับถ่ายต้องไม่จับเด็กนั่งหันหน้าหรือหันหลังให้ตรงกับกิบละฮฺ แต่ถ้าเด็กนั่งเอง ไม่เป็นที่วาญิบต้องห้ามปรามหรือขัดขวางแต่อย่างใด



การทำความสะอาดช่องทวารเบาและหนัก

๑.ไม่สามารถใช้สิ่งอื่น (ก้อนหิน กรวด ผ้า หรือกระดาษ) ทำความสะอาดช่องทวารเบาได้นอกจากน้ำเท่านั้น

๒. การทำความสะอาดช่องทวารเบา หลังจากขจัดปัสสาวะหมดแล้ว ให้ล้างด้วยน้ำครั้งเดียว ก็พอ*

*อายะตุลลอฮฺ อะลี คอเมเนอี ช่องทวารเบา อิฮฺติยาฎให้ล้างด้วยน้ำ ๒ ครั้ง จึงจะสะอาด (อิซติฟตาอาต คำถามที่ ๑๐)

๓. การทำความสะอาดช่องทวารหนัก

- ทำความสะอาดด้วยน้ำ

- ทำความสะอาดด้วยสิ่งอื่นนอกจากน้ำยังเป็นที่สงสัยอยู่ (แต่อิฮฺติยาฏวาญิบ ถือว่าไม่สะอาด) แต่ในสภาพเช่นนั้น (หลังจากขจัดนะญิซออกไปแล้ว และก่อนทำความสะอาดด้วยน้ำ) สามารถนมาซได้*

*อายะตุลลอ ฮะลี คอเมเนอี การทำความสะอาดช่องทวารหนักสามารถทำได้ ๒ วิธี กล่าวคือใช้น้ำล้างจนเกลี้ยงและหลังจากนั้นไม่จำเป็นต้องใช้น้ำล้างอีก หรือใช้ก้อนหิน ๓ ก้อน หรือผ้าที่สะอาดหรือสิ่งที่คล้ายคลึงกันเช็ดนะญิซออกไป แต่ถ้าใช้หิน ๓ ก้อนแล้วยังไม่สะอาด ให้ใช้ก้อนต่อไปได้เช็ดจนกว่าจะสะอาด



หมวดที่ ๓ ปฐมบทของนมาซ



วุฎูอฺ

ผู้ทำนมาซก่อนที่จะนมาซต้องวุฏูอฺ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเคารพภักดีที่ยิ่งใหญ่  และบางกรณีต้องฆุซุลด้วย หมายถึง การชำระล้างร่างกายส่วนต่างๆตามหลักการของศาสนา และทุกครั้งถ้าไม่สามารถทำวุฎูอฺหรือฆุซุลได้ ต้องทำ ตะยัมมุม เพื่อเป็นการทดแทน ซึ่งจะกล่าวรายละเอียดในโอกาสต่อไป



วุฏูอฺอย่างไร

 วุฏูอฺ อันดับแรกต้องล้างหน้า หลังจากนั้นให้ล้างแขนขวาและแขนซ้าย และให้ใช้น้ำที่ติดมืออยู่นั้นเช็ด (มัซฮฺ) ศีรษะและหลังเท้าขวาและซ้ายตามลำดับ  เพื่อความกระจ่างโปรดพิจารณาขั้นตอนต่อไปนี้



ขั้นตอนของวุฎูอฺ 

๑. การล้าง

- ล้างหน้า จากด้านบนลงสู่ด้านล่างเริ่มจากไรผมจนถึงปลายคาง (ตามความยาวของหน้า) ส่วนความกว้างของใบหน้า อยู่ระหว่างปลายนิ้วหัวแม่มือกับปลายนิ้วกลาง

- ล้างแขนขวา จากข้อศอกจนถึงปลายนิ้ว

- ล้างแขนซ้าย ทำเหมือนแขนขวา

๒. เช็ด (มัซฮฺ)

-  เช็ดศีรษะ ส่วนบนของศีรษะจากไรผมจนถึงกระหม่อม

- เช็ดเท้าขวา

- เช็ดเท้าซ้าย จากปลายนิ้วเท้าจนถึงโหนกบนหลังเท้า*

*อายะตุลลอฮฺ อะลี คอเมเนอี จากปลายนิ้วเท้าจนถึงข้อเท้า



คำอธิบายขั้นตอนวุฏูอฺ

การล้าง

๑.ขอบเขตวาญิบที่ต้องล้างหน้าและแขนทั้งสองดังที่ได้กล่าวผ่านมาแล้ว แต่เพื่อความมั่นใจว่าได้ล้างส่วนที่เป็นวาญิบทั่วทั้งหมด ให้ล้างเกินขอบเขตที่กำหนดไว้เล็กน้อย (เช่นเวลาล้างแขนให้เริ่มเหนือข้อศอกเล็กน้อย)

๒.อิฮฺติยาฏวาญิบ การล้างหน้าและแขนทั้งสองให้ล้างจากด้านบนลงสู่ด้านล้าง ถ้าล้างจากด้านล่างสู่ด้านบน วุฏูอฺโมฆะ (บาฏิล)

๓. ถ้าใบหน้าหรือมือทั้งสองของบุคคลหนึ่งเล็กกว่าปกติทั่วไป หรือเป็นคนศีรษะล้าน ให้ทำเหมือนกับคนปกติทั่วไป

๔. ถ้าหน้าและแขนทั้งสองผิดปกติจากคนทั่วไป แต่มีความเหมาะสมกับตนเอง ดังนั้น เวลาวุฎูอฺ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจคนทั่วไปให้ทำดังที่ได้อธิบายไว้ในขั้นตอนของวุฎูอฺ

๕. ถ้ามองเห็นผิวหน้าตามไรขน (หนวดเคราหรือคิ้ว) ต้องให้น้ำโดนผิวหน้าด้วย แต่ถ้ามองไม่เห็นผิวหน้าให้ล้างหนวดเคราก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องให้น้ำโดนผิวหน้า

๖. ถ้าสงสัยว่ามองเห็นผิวหน้าจากไรขนหรือไม่ อิฮฺติยาฏวาญิบให้ล้างขน และต้องให้น้ำซึมไปถึงผิวหน้าด้วย

๗. การล้างในรูจมูก ปาก มุมปาก และขอบตา ซึ่งเวลาปิดมันแล้วมองไม่เห็น ไม่เป็นวาญิบต้องล้าง แต่เพื่อความมั่นใจว่า ได้ล้างทุกส่วนทั่วตามที่กำหนดไว้ วาญิบต้องล้างบริเวณดังกล่าวด้วย

๘. ถ้าผิวหนังหรือเนื้อส่วนที่เป็นอวัยวะต้องวุฎูอฺถูกตัดขาดไป ถ้าหากขาดหมดสิ้นต้องล้างบริเวณด้านล่างตรงรอยที่ขาดหายไปด้วย แต่ถ้าขาดไม่หมดต้องล้างด้วย และเหลือแค่ไหนก็ล้างเท่านั้น

๙. รอยผุพองที่เกิดจากไฟหรือน้ำร้อนรวกถ้ายังติดอยู่เวลาวุฎูอฺ ต้องล้างด้วย (เพียงแค่ลูบผ่านเท่านั้น) ถึงแม้ว่าหนังที่ติดอยู่จะเป็นรูและบางส่วนหลุดแล้ว และบางส่วนยังติดอยู่ให้ล้างเฉพาะส่วนที่หนังเปิดออกมาก็พอ ไม่จำเป็นต้องดึงหนังที่เหลือออกและราดน้ำเข้าไปใต้ผิวหนัง แต่ถ้าผิวหนังที่พองนั้นปิด ๆ เปิด ๆ จำเป็นต้องราดน้ำเข้าไปให้ถึงข้างใต้

๑๐. การล้างซ้ำขณะวุฏูอฺ ล้างครั้งแรกเป็นวาญิบ ล้างครั้งที่สองอนุญาต ล้างครั้งที่สามบิดอะฮฺและฮะรอม*

*อายะตุลลอฮฺ อะลี คอเมเนอี การล้างหน้าและมือทั้งสองครั้งแรกเป็นวาญิบ ครั้งที่สอง อนุญาต มากกว่านี้ไม่อนุญาต ส่วนการนับว่าเป็นครั้งแรกหรือครั้งที่สองนั้นขึ้นอยู่กับเนียต (ตั้งเจตนา) ของผู้ทำวุฏูอฺ หมายถึงสามารถเนียตว่าเป็นครั้งแรกแต่อาจจะรดน้ำหลายครั้งได้

๑๑. การล้างอวัยวะวุฎูอฺถึง ๓ ครั้ง โดยเนียตวุฏูอฺ นอกจากจะฮะรอมและบิดอะฮฺแล้ว บางครั้งยังเป็นเหตุทำให้วุฏูอฺบาฏิล (โมฆะ) เนื่องจากใช้น้ำที่เหลือจากการล้างครั้งที่สามเช็ดศีรษะ ซึ่งการเช็ดต้องใช้น้ำที่เหลือจากวุฎูอฺเท่านั้น



การเช็ดศีรษะ

๑. บริเวณที่เช็ดศีรษะคือ ๑ใน ๔ ส่วนของศีรษะ หมายถึงส่วนเหนือของศีรษะหรือตรงบริเวณกระหม่อมนั่นเอง

๒.ขอบเขตของวาญิบในการเช็ด ไม่ว่าจำนวนเท่าใดถือว่าใช้ได้ แค่เพียงคนเห็นแล้วกล่าวว่าเขาได้เช็ดศีรษะ

๓. ขนาดมุซตะฮับในการเช็ด คือ ให้กว้างเท่ากับสามนิ้วมือเรียงติดกัน ยาวเท่ากับหนึ่งนิ้ว

๔. อนุญาตให้ใช้มือซ้ายเช็ดศีรษะด้วยได้*

*อายะตุลลอฮฺคอะลีคอเมเนอี การเช็ดศีรษะและเท้าให้ใช้น้ำที่มือที่เหลือจากการล้าง และอิฮฺติยาฏให้เช็ดศีรษะด้วยมือขวา แต่ไม่จำเป็นต้องลูบจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง

๕.การเช็ดศีรษะไม่จำเป็นต้องโดนหนังศีรษะ ทว่าเช็ดลงบนผมก็ถือว่าถูกต้อง เว้นเสียแต่ว่ามีผมยาวจนเกินไปหมายถึง เมื่อหวีผมจะยาวลงมาปิดใบหน้าลักษณะเช่นนี้เวลาเช็ดจำเป็นต้องโดนหนังศีรษะด้วย

๖.การเช็ดบนผมส่วนอื่นของศีรษะไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าผมจะรวมกันบริเวณที่ต้องเช็ดก็ตาม*

 

อายะตุลลอฮฺอะลีคอเมเนอี การเช็ดลงบนผมเทียมที่ไม่อาจถอดออกได้ ไม่เป็นไร (อิสติฟตาอาต เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๕ คำถามที่ ๑๐๕, หน้ที่ ๔๑ คำถามที่ ๑๓๑)



การเช็ดเท้า

๑.บริเวณที่เช็ด คือหลังเท้า

๒.ขอบเขตของวาญิบที่ต้องเช็ด คือ ตั้งแต่ปลายนิ้วเท้าจนถึงโหนกหลังเท้า* ส่วนความกว้างเท่าใดก็ได้ ถือว่าใช้ได้ แม้จะมีขนาดเท่ากับหนึ่งนิ้วมือก็ตาม

*อายะตุลลอฮฺอะลีคอเมเนอี ตั้งแต่ปลายนิ้วเท้าจนถึงข้อเท้า (อิสติฟตาอาต คำถามที่ ๑๓)

๓. ขอบเขตที่เป็นมุซตะฮับ คือ ทั่วทั้งหลังเท้า

๔.จำเป็นต้องลูบเท้าขวาก่อนเท้าซ้าย แต่ไม่จำเป็นว่าเท้าขวาต้องลูบด้วยมือขวา และเท้าซ้ายต้องลูบด้วยมือซ้าย



ปัญหาร่วมระหว่างการเช็ดศีรษะและเท้า

๑. การเช็ด ต้องลากมือเช็ดไปบนศีรษะหรือหลังเท้า ไม่ใช่เอาศีรษะหรือหลังเท้าเช็ดไปบนฝ่ามือ วุฏูอฺบาฏิล แต่ขณะที่เช็ด ศีรษะหรือเท้าขยับเล็กน้อยไม่เป็นไร

๒. หากฝ่ามือไม่มีความเปียกชื้นหลงเหลืออยู่ ไม่อนุญาตให้ใช้น้ำใหม่ แต่ให้ลูบน้ำจากอวัยวะส่วนที่ได้ล้างผ่านมา เพื่อเช็ดศีรษะหรือเท้าทั้งสอง

๓. ความเปียกของฝ่ามือ ต้องมีปริมาณพอที่จะมองเห็นร่องรอยเมื่อเช็ดศีรษะหรือหลังเท้า

๔.บริเวณที่เช็ด (ศีรษะและหลังเท้าทั้งสอง) ต้องแห้ง ดังนั้น ถ้าบริเวณดังกล่าวเปียกต้องเช็ดให้แห้งก่อน หรือถ้าชื้นเล็กน้อยโดยที่ไม่มีผลต่อน้ำที่ฝ่ามือที่จะเช็ดลงไป ไม่เป็นไร

๕.จะต้องไม่มีสิ่งกีดขวางขณะเช็ด เช่น ถุงเท้า หมวกและอื่น ๆ ถึงแม้สิ่งนั้นจะบางมากและน้ำสามารถผ่านไปถึงผิวหนังได้ก็ตาม (ยกเว้นในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้)

๖.บริเวณที่จะเช็ดต้องสะอาด ฉะนั้น ถ้าเปื้อนนะญิซและไม่สามารถใช้น้ำล้างได้ ต้องตะยัมมุม



วุฎูอฺอิรติมาซียฺ

๑. วุฎูอฺอิรติมาซียฺ หมายถึงบุคคลนั้นได้เอาหน้าและมือจุ่มลงในน้ำโดยเนียติวุฏูอฺ หรือเอาอวัยวะเหล่านั้นจุ่มลงในน้ำเมื่อเอาขึ้นมาแล้วเนียตวุฏูอฺ

๒. อิฮฺติยาฏวาญิบ วุฎูอฺอิรติมาซียฺขณะจุ่มอวัยวะลงในน้ำต้องจุ่มจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง ดังนั้น วุฏูอฺอิรติมาซียฺต้องทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

- เนียตวุฎูอฺแล้ว ให้เอาหน้าจุ่มลงในน้ำโดยเอาหน้าผากลงก่อน และเอาแขนขวาและซ้ายจุ่มลงในน้ำให้เริ่มจากข้อศอกโดยเนียตวุฎูอฺ เมื่อนำแขนขึ้นจากน้ำแล้วให้เนียตวุฎูอฺอีก เนื่องจากน้ำที่ติดอยู่ที่ฝ่ามือต้องใช้เช็ดศีรษะและหลังเท้า ซึ่งการเช็ดต้องใช้น้ำที่เหลือจากวุฎูอฺเท่านั้น

- ไม่ได้เนียตวุฎูอฺ แล้วเอาหน้าและแขนทั้งสองข้างจุ่มลงในน้ำ แต่ได้เนียตวุฏูอฺขณะที่จะเอาหน้าขึ้นจากน้ำ ซึ่งต้องเอาหน้าผากขึ้นก่อน ส่วนแขนให้เอาข้อศอกขึ้นก่อน