บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม0%

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม ผู้เขียน:
กลุ่ม: ห้องสมุดหลักศรัทธา
หน้าต่างๆ: 450

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

ผู้เขียน: ดร.มุฮัมมัด ซะอีดีย์ เมฮร์
กลุ่ม:

หน้าต่างๆ: 450
ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 298386
ดาวน์โหลด: 3202

รายละเอียด:

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม
ค้นหาในหนังสือ
  • เริ่มต้น
  • ก่อนหน้านี้
  • 450 /
  • ถัดไป
  • สุดท้าย
  •  
  • ดาวน์โหลด HTML
  • ดาวน์โหลด Word
  • ดาวน์โหลด PDF
  • ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 298386 / ดาวน์โหลด: 3202
ขนาด ขนาด ขนาด
บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

บทเรียนเทววิทยาอิสลาม

ผู้เขียน:
ภาษาไทย

จะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี มิได้เป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งกันเหมือนกับปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องของความเป็นเอกานุภาพในคุณลักษณะ และในกิริยา การกระทำ และมีความแตกต่างกันระหว่างสำนักคิดอัชอะรีย์และมุอฺตะซิละฮ์

ความแตกต่างในสำนักคิดทั้งหลายของอิสลามเกี่ยวกับความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี ก็คือ การกำหนดในสิ่งที่ต้องทำการเคารพภักดี ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างพวกวะฮาบีย์กับสำนักคิดอื่นในอิสลาม

พวกวะฮาบีย์ได้ให้ความหมายของการเคารพภักดีมีความหมายกว้างออกไปอีก และได้รวมถึงการกระทำของบรรดามุสลิมทั้งหลายด้วย เช่น การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ,การได้รับการอนุเคราะห์จากท่านศาสดามุฮัมมัด และบรรดาวงศ์วานผู้บริสุทธิ์ และการให้เกียรติและการเข้าไปเยี่ยมเยียนหลุมฝังศพของพวกเขา โดยพวกวะฮาบีย์ได้บอกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า

จะเห็นได้ว่า ตามทัศนะของพวกวะฮาบีย์นั้นมีความขัดแย้งกับอัล กุรอาน และประวัติศาสตร์ และการที่ไม่เข้าใจในความหมายที่แท้จริงของ การเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ทำให้พวกเขาได้ปฏิเสธการกระทำที่ได้กล่าวไปข้างต้น และด้วยกับเหตุผลทั้งหลายที่สามารถใช้ในการพิสูจน์ว่า การกระทำต่างๆเหล่านั้นไม่ถือว่า เป็นการตั้งภาคี ซึ่งมีดังต่อไปนี้

๑.ถ้าหากว่ามนุษย์มีความเชื่อว่า บุคคลที่พวกเขาร้องขอความช่วยเหลือนั้น เป็นพระเจ้าแล้วละก็ ถือว่าเป็นการตั้งภาคีอย่างแน่นอน และการกระทำของเขา ก็เป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วย

๑๖๑

๒.แต่หากว่า การกระทำของเขาในฐานะที่เขาเป็นบ่าวผู้ใกล้ชิดกับพระเจ้า,มีเกียรติ และมีตำแหน่งที่สูงส่ง และเขาได้รับอนุมัติจากพระเจ้า ให้เป็นผู้ช่วยเหลือต่อมนุษย์ และเป็นผู้ให้การอนุเคราะห์ให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ดังนั้น เมื่อเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของการเคารพภักดี การกระทำดังกล่าวก็ไม่ถือว่า เป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่ทว่า เป็นการแสดงความเป็นบ่าวที่แท้จริงต่อพระเจ้า และการก้มกราบของมวลเทวทูตต่อท่านศาสดาอาดัม ,การก้มกราบของท่านศาสดายะกูบต่อท่านศาสดายูซุฟและการขอผ่านสื่อต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และการไปเยี่ยมเยีอนสุสานที่ฝังศพของเขา อีกทั้งการกระทำที่คล้ายคลึงกันนี้ ก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติและการนอบน้อม ซึ่งการกระทำดังกล่าวมิได้ขัดแย้งกับความเป็นเอกานุภาพของอิสลามและมิได้เป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์ ส่วนการสักการะบูชาพวกเจว็ด,การบูชาดวงดาว,การบูชาสิงสาราสัตว์,การบูชาต้นไม้ และการบูชาสิ่งที่มนุษย์ได้ประดิษสร้างขึ้นมา การกระทำทั้งหมดนั้นเป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความขัดแย้งกับความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดีอย่างแท้จริง

๑๖๒

   ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเอกานุภาพในการเป็นพระเจ้ากับการเคารพภักดี

    ถ้าหากว่ามองดูอย่างผิวเผิน ในความเป็นเอกานุภาพในการเป็นพระเจ้าและการเคารพภักดี จะเห็นได้ว่า ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ถ้าหากได้สังเกตุอย่างละเอียด จะเห็นในความแตกต่างของความเป็นหลักการทั้งสองอย่างชัดเจน

ความเป็นเอกานุภาพในการเป็นพระเจ้า เป็นประเภทหนึ่งในความเป็นเอกานุภาพในทฤษฎีความศรัทธา ส่วนความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี เป็นประเภทหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในด้านการปฏิบัติ ดังนั้น ความเป็นเอกานุภาพในการเป็นพระเจ้า จึงมีความสัมพันธ์กับหลักความเชื่อ และความศรัทธาของมนุษย์ ส่วนความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี ก็มีความสัมพันธ์กับหลักการปฏิบัติ

ความหมายของความเป็นเอกานุภาพในการเป็นพระเจ้า หมายถึง ความเชื่อในความเป็นเอกะและเป็นหนึ่งเดียวของพระผู้เป็นเจ้าในความเป็นพระเจ้าของพระองค์ และความหมายของความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี หมายถึง การปฏิบัติตามพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว เพราะฉะนั้นทั้งสองหลักการจึงมีความสัมพันธ์ต่อกันและอยู่คู่กัน และถ้าหากว่า เมื่อมนุษย์คนใดก็ตามที่ไม่มีความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการเป็นพระเจ้า ก็จะไม่มีความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี และการปฏิบัติตามพระเจ้าองค์เดียว ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

๑๖๓

   ความเป็นเอกานุภาพในด้านการปฏิบัติในอัล กุรอานและวจนะ

    อัล กุรอานได้กล่าวเน้นย้ำในความสำคัญในความเป็นเอกานุภาพในด้านการปฏิบัติ และกล่าวว่า ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัตินั้นอยู่คู่กับความเป็นเอกานุภาพในทฤษฎีความศรัทธา และได้อธิบายในความหมายของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติไปแล้วว่า มีขอบเขตที่ครอบคลุมในทุกประเภทของความเป็นเอกานุภาพ และประเภทที่สำคัญของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ คือ ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี ซึ่งมีหลายระดับขั้นด้วยกัน และได้นำมาเพียงบางส่วนจากโองการของอัล กุรอานที่กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี

๑.การเคารพภักดีต่อพระเจ้าเป็นเป้าหมายหลักในการแต่งตั้งบรรดาศาสนทูตทั้งหลาย

“และโดยแน่นอน เราได้ส่งศาสนทูตมาในทุกประชาชาติ (โดยบัญชาว่า) พวกท่านจงเคารพภักดีอัลลอฮ์(พระเจ้าเพียงองค์เดียว) และจงออกห่างจากพวกเจว็ด”

(บทอัลนะห์ลฺ โองการที่ ๓๖ )

จากโองการนี้ แสดงให้เห็นว่า บรรดาศาสดาทั้งหลายได้เชิญชวนประชาชาติมาสู่ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี

และอีกโองการหนึ่ง กล่าวถึงความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี

๑๖๔

“ข้าไม่ได้ให้สัญญากับพวกเจ้าดอกหรือ โอ้ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย! ว่าพวกเจ้าอย่าได้เคารพบูชามารร้าย แท้จริงมันนั้นเป็นศัตรูตัวฉกาจของพวกเจ้า และให้พวกเจ้าจงเคารพภักดีต่อข้า นี่คือแนวทางอันเที่ยงตรง”

(บทยาซีน โองการที่ ๖๐-๖๑)

 จากโองการนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าได้ให้สัญญากับมนุษย์ไว้แล้วว่า ให้พวกเขาทำการเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ในโองการนี้ บรรดานักอรรถาธิบายอัล กุรอานได้ให้ความเห็นด้วยกันหลายทัศนะ นักอรรถาธิบายอัล กุรอานบางคนกล่าวว่า โองการนี้ ถูกประทานลงมาในวันที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทำการสัญญากับมนุษย์ในโลกก่อนการถือกำเนิดของมนุษย์ (อาลัมมุนซัร)

และบางคนกล่าวว่า ความหมายของการทำสัญญาของพระเจ้า คือ การเชิญชวนของบรรดาศาสดาทั้งหลายให้รู้จักในความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี

และบางคนได้กล่าวอีกว่า การทำสัญญาของพระเจ้า คือ การสั่งเสียของพระเจ้าต่อท่านศาสดาอาดัมและลูกหลานของเขา

จะอย่างไรก็ตาม โองการนี้ แสดงให้เห็นถึง แนวทางที่เที่ยงตรง คือ การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า หลังจากที่พระองค์ได้ทำสัญญากับมนุษย์ว่า พวกเจ้าทั้งหลายจงเคารพภักดีต่อข้า เพราะข้าคือ พระเจ้าเพียงองค์เดียว และยังมีโองการอื่นๆอีกมากมายที่กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี

๑๖๕

   ชาวคัมภีร์กับการเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว

    อัล กุรอานได้กล่าวถึง ชาวคัมภีร์กับการเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว 

“และพวกเขามิได้ถูกบัญชาให้กระทำอื่นใดนอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ เป็นผู้มีเจตนาบริสุทธิ์ในการภักดีต่อพระองค์ เป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงและดำรงการละหมาดนมาซ และจ่ายทานซะกาต และนั่นแหละคือศาสนาอันเที่ยงธรรม”  ( บทอัลบัยยินะฮ์ โองการที่ ๕)

โองการนี้กล่าวถึง การเชิญชวนบรรดาชาวคัมภีร์ให้ทำการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว และการออกห่างจากการตั้งภาคี ถือว่าเป็นเป้าหมายหลักของบรรดาศาสนทูตแห่งคัมภีร์   

การอธิบายในความหมายของคำว่า ศาสนาอันเที่ยงธรรม หมายถึง การรู้จักในศาสนา ต้องรู้จักในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวและการเคารพภักดีต่อพระองค์เท่านั้น

   ความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดีกับความเป็นเอกานุภาพในการบริหาร

    ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า สิ่งที่ควรค่าแด่การเคารพภักดี (มะอ์บูด)  ต้องมีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ที่สุด เช่น การบริหารกิจการงาน ถือว่าเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่มีความสำคัญ และสิ่งที่มนุษย์จะทำการเคารพภักดี ต้องมีความสามารถบริหารกิจการงานต่างๆได้

ดังนั้น ความเป็นเอกานุภาพในการบริหาร จึงเป็นพื้นฐานหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี ด้วยเหตุนี้ การเคารพภักดีในพระเจ้าองค์เดียว เพราะว่า พระองค์เป็นผู้บริหารกิจการงาน

๑๖๖

อัล กุรอานได้กล่าวเน้นย้ำในความสัมพันธ์ของทั้งสองหลักการ เช่น โองการที่กล่าวถึง คำพูดของท่านศาสดาอีซา ที่กล่าวเชิญชวนมนุษย์ให้ทำการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว

อัล กุรอานกล่าวว่า

 “และแท้จริงอัลลอฮ์ ทรงเป็นพระผู้อภิบาลของฉัน และของพวกท่านทั้งหลาย ดังนั้นจงทำการเคารพภักดีต่อพระองค์ นี่คือ แนวทางอันเที่ยงตรง”(บทมัรยัม โองการที่ ๓๖)

จากโองการนี้ แสดงให้เห็นว่า คำสอนของท่านศาสดาอีซา คือ การเชิญชวนให้มนุษย์ทำการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว หลังจากที่ยอมรับในความเป็นผู้อภิบาลของพระองค์

   การตั้งภาคีที่ซ่อนในการเคารพภักดี

    การตั้งภาคีที่ซ่อนในการเคารพภักดี เป็นประเภทหนึ่งของการตั้งภาคี ซึ่งถูกกล่าวไว้ในอัล กุรอาน

“และส่วนใหญ่ของพวกเขาจะไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ เว้นแต่พวกเขาเป็นผู้ตั้งภาคี”

( บทยูซุฟ โองการที่๑๐๖)

โองการนี้ ได้กล่าวถึง กลุ่มชนหนึ่งที่พวกเขาเป็นผู้ศรัทธาและเป็นผู้ตั้งภาคีในเวลาเดียวกัน และการตั้งภาคีของพวกเขามิได้เปิดเผยให้เห็น เป็นการตั้งภาคีในรูปแบบที่ซ่อนเร้นที่แฝงเร้นอยู่ในการกระทำของเขา เพราะว่าไม่มีการตั้งภาคีที่จะอยู่ควบคู่กับความศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างเปิดเผยอย่างแน่นอน โองการดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงระดับขั้นของการตั้งภาคี ประเภทหนึ่ง คือ การตั้งภาคีในการเคารพภักดีที่ซ่อนเร้นในการกระทำของมนุษย์ชอบ และไม่เป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า

๑๖๗

ศัพท์วิชาการท้ายบท

เตาฮีด อิบาดีย์ หมายถึง ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี

อิบาดะฮ์ หมายถึง การเคารพภักดีต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียว

   สรุปสาระสำคัญ

๑.ความเป็นเอกานุภาพในทฤษฎีความศรัทธา หมายถึง การมีความเชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว ในอาตมัน,คุณลักษณะ,กิริยา การกระทำและยังมีผลต่อการปฏิบัติอีกด้วย

ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ หมายถึง ผลของความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพต่อการปฏิบัติของมนุษย์

๒.ความเป็นเอกานุภาพในทฤษฎีความศรัทธา เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์รู้จักถึงพระเจ้า มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ยังมีผลต่อความเป็นเอกานุภาพในด้านการปฏิบัติอีกด้วย

๓.ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี เป็นประเภทหนึ่งที่สำคัญของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ หมายถึง การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว และการออกห่างจากการเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นใด

๔.คำว่า อิบาดะฮ์ในภาษา หมายถึง การนอบน้อม,การแสดงออกถึงความต่ำต้อยของมนุษย์ต่อพระเจ้า และการเคารพภักดี

๑๖๘

๕.ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี เป็นหลักการที่สำคัญที่บรรดามุสลิมมีความเห็นตรงกัน  แต่มีความแตกต่างกันในการกำหนดตัวของสิ่งควรค่าแด่การเคารพภักดี (มะอ์บูด) เช่น พวกวะฮาบีย์มีความเชื่อว่า การขอความช่วยเหลือ,การอนุเคราะห์,การเยี่ยมสุสานฝังศพของท่านศาสดามุฮัมมัดและบรรดาวงศ์วานของท่าน เป็นการเคารพภักดีและเป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่า ไม่มีความเชื่อในความเป็นพระเจ้าหรือพระผู้อภิบาลของท่านศาสดาและวงศ์วานของท่าน ก็ไม่ถือว่า เป็นการตั้งภาคีในการเคารพภักดี แต่การกระทำดังกล่าว การขอความช่วยเหลือ, การอนุเคราะห์ และการเยี่ยมสุสานของพวกเขา ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบ และไม่เป็นการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า

๖.ความเป็นเอกานุภาพในการเป็นพระเจ้า และในการเคารพภักดีมีความสัมพันธ์ต่อกันและกัน โดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่มีความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว เมื่อนั้นจะต้องทำการเคารพภักดีต่อพระองค์ด้วย

๑๖๙

   บทที่ ๘

   ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ ตอนที่ สอง

    จากบทที่แล้ว ได้อธิบายและตรวจสอบถึงความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี (เตาฮีดอิบาดัต) ผ่านไปแล้ว ซึ่งก็เป็นอีกประเภทหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ(เตาฮีด อะมะลีย์)  

   ความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ (เตาฮีด อิสติอานะฮ์)

    การช่วยเหลือ ในภาษาอาหรับ มาจากคำว่า อิสติอานะฮ์ รากศัพท์ในบาบ อิฟติอาล

ความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ(เตาฮีด อิสติอานะฮ์) หมายถึง เมื่อมนุษย์ร้องขอความช่วยเหลือ จะต้องร้องขอจากพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น และในทุกกิจการของเขาอีกด้วย

ความสำคัญของหลักเอกภาพในการช่วยเหลือ โดยในอัล กุรอานได้เน้นย้ำถึงความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรดามุสลิมได้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำทุกวัน นั่นคือ เวลานมาซ (นมัสการพระเจ้า) พวกเขาได้กล่าวอย่างเสมอว่า

 “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ

(บทอัลฟาติฮะห์ โองการที่๕)

๑๗๐

ได้มีคำถามเกิดขึ้นว่า อะไรคือ พื้นฐานของความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่แท้จิรงที่ทำให้เราต้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพียงองค์เดียวด้วย?

สำหรับคำตอบของคำถามนี้ ก็คือ จะเห็นได้ว่า ประเภทหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในทฤษฎี คือ ความเป็นเอกานุภาพในการกระทำ เป็นพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญทางสติปัญญาของความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์มีความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการกระทำ และเชื่อว่า ทุกการกระทำในโลกนั้น อยู่ภายใต้อำนาจของพระเจ้า และไม่มีการกระทำใดที่เกิดขึ้นแล้ว มิได้อยู่ในอำนาจของพระองค์ ส่วนการกระทำของมนุษย์ เป็นการกระทำที่มิได้มีความเป็นอิสระเสรีในตัวเอง ดังนั้น สาเหตุที่ทำให้มนุษย์ต้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ก็เพราะว่า พระองค์ เป็นเจ้าของที่แท้จริง และเป็นผู้ปกครอง และเป็นผู้ให้ความคุ้มครองในทุกสรรพสิ่ง  ด้วยเหตุนี้ ความเป็นเอกานุภาพในการขอความช่วยเหลือ คือ ผลของความเป็นเอกานุภาพในการกระทำและยังมีประเด็นอื่นอีก ในความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ นั่นก็คือ การขอความช่วยเหลือจากสิ่งอื่น เช่น การขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ด้วยกัน ในสภาพที่มิได้มีความเชื่อว่า สิ่งนั้นเป็นพระเจ้า ก็ถือว่า การกระทำนั้น ไม่เป็นที่ต้องห้ามในศาสนา

บางคนอาจจะคิดว่า ด้วยกับพื้นฐานทางสติปัญญาของความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น การขอความช่วยเหลือจากสิ่งอื่นที่มิใช่พระเจ้า จึงถือว่า เป็นการตั้งภาคี และเป็นสิ่งที่มีความขัดแย้งกับศาสนาอย่างแท้จริง

๑๗๑

ฉะนั้น ทัศนะนี้ ถือว่า เป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่า หากได้สมมุติว่า การขอความช่วยเหลือจากสิ่งที่มิใช่พระเจ้า โดยที่มีความเชื่อว่าสิ่งนั้นมีความเป็นอิสระเสรีในตัวเอง และไม่ต้องรับการอนุมัติจากพระเจ้า การกระทำเช่นนี้ เป็นการกระทำที่มีความขัดแย้งกับความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่ทว่า การขอความช่วยเหลือจากสิ่งอื่นที่สิ่งนั้นมิใช่พระเจ้า เช่น การขอความช่วยเหลือจากบรรดาศาสดาหรือบรรดาผู้นำที่บริสุทธิ์ที่พระเจ้าได้แต่งตั้ง โดยที่มีความเชื่อว่า การขอความช่วยเหลือจากพวกเขาเหล่านั้นขึ้นอยู่กับการอนุมัติของพระองค์ ดังนั้น การกระทำเช่นนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นการตั้งภาคี แต่เป็นการกระทำที่น่ายกย่อง เหมือนดั่งคนป่วยที่เขาต้องไปหาแพทย์ เพื่อรักษาอาการป่วยจากโรคร้าย โดยการใช้ยารักษาโรค เพราะฉะนั้น ยารักษาโรคและแพทย์ เป็นเสมือนกับสื่อที่พระเจ้าได้ประทานมาเพื่อรักษาอาการป่วย โดยขึ้นอยู่กับการอนุมัติของพระองค์ และแน่นอนที่สุด การช่วยเหลือของแพทย์ ถือว่าเป็นการกระทำที่ดีและมิได้เป็นการตั้งภาคี หรือมีความคัดค้านกับความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ และเช่นเดียวกัน การขอผ่านสื่อ(ตะวัซซุล)ต่อท่านศาสดามุฮัมมัดและบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์โดยที่มีความเชื่อว่าพวกเขาเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับพระเจ้า และพวกเขายังมีตำแหน่งที่สูงส่ง ณ พระพักตร์ของพระองค์ อีกทั้งยังได้รับการอนุมัติจากพระเจ้าในการขจัดปัญหาต่างๆและความต้องการทั้งหลายของมนุษย์ และยังกล่าวได้อีกว่า การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่มิใช่พระเจ้า ในกรณี ที่มีความเชื่อว่าสิ่งนั้นมิได้เป็นพระเจ้า หรือมีอำนาจเทียบเท่าพระเจ้า เป็นการกระทำที่ถูกต้องและมิได้มีความขัดแย้งกับหลักการของศาสนาหรือความเป็นเอกานุภาพในการช่วยเหลือ แต่ในกรณี ที่มีความเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นพระเจ้า ถือว่า เป็นการกระทำที่เป็นการตั้งภาคีต่อพระองค์

๑๗๒

   ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม(เตาฮีด อิฏออะฮ์)

    ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม เป็นอีกประเภทหนึ่งในความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดีและก็เป็นอีกประเภทหนึ่งในความเป็นเอกานุภาพในการวางกฏและระเบียบ และการปกครองซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ หมายถึง มนุษย์ต้องปฏิบัติตามพระเจ้าเพียงองค์เดียวและไม่ปฏิบัติตามสิ่งใด และเมื่อใดก็ตามที่เขามีความเชื่อว่า ไม่มีผู้ใดเป็นผู้วางกฏและระเบียบ นอกจาก พระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น เมื่อนั้นเขาจะต้องปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์เพียงอย่างเดียว แต่การที่มนุษย์ได้ปฏิบัติตามสิ่งอื่นที่มิใช่พระเจ้า และมิได้มีความเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นพระเจ้า การกระทำของเขา ก็ถือว่ามิได้มีความขัดแย้งกับหลักความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม ส่วนการปฏิบัติตามของเขา ในกรณีที่มีความเชื่อว่า สิ่งนั้นเป็นพระเจ้า การกระทำของเขา แน่นอนที่สุด ได้มีความขัดแย้งกับหลักความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวอย่างชัดเจน ว่า

 “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย สูเจ้าจงปฏิบัติตามอัลลอฮ์และปฏิบัติตามศาสนทูตของพระองค์และผู้ปกครองในหมู่สูเจ้า” (บทอัลนิซา โองการที่ ๕๙ )

ดังนั้น การปฏิบัติตามบรรดาศาสนทูตของพระเจ้าและบรรดาผู้นำของพระองค์และการปฏิบัติตามบิดามารดา ถือว่า การกระทำเหล่านั้น เป็นการกระทำที่ชอบและถูกต้องตามหลักของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม แต่มีเงื่อนไขว่า การกระทำนั้นจะต้องไม่มีความขัดแย้งกับหลักการของศาสนา

๑๗๓

   ความเป็นเอกานุภาพในการให้ความรัก

(เตาฮีด ฟีย์ มะฮับบะฮ์)

    ความเป็นเอกานุภาพในการให้ความรัก(เตาฮีด ฟีย์ มะฮับบะฮ์)  เป็นอีกประเภทหนึ่งของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ

การให้ความรัก เป็นสภาวะที่อยู่ภายในของมนุษย์ ที่สามารถรู้สึกสัมผัสได้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นต้องอธิบายในความหมายของการให้ความรัก

ความเป็นเอกานุภาพในการให้ความรัก หมายถึง ผู้ที่ถูกให้ความรักอย่างแท้จริง คือ พระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น มีความหมายว่า มนุษย์จะต้องให้ความรักในพระเจ้าเพียงองค์เดียว ดังนั้น การจำกัดในความรักของมนุษย์ที่มีต่อพระเจ้า มิได้หมายความว่า การปฏิเสธการให้ความรักในสิ่งอื่น เพราะว่า ความรักเป็นคุณลักษณะที่สวยงามของพระเจ้า และในความเป็นจริง การให้ความรักในสิ่งทั้งหลาย คือ การให้ความรักในพระองค์ ดังนั้น มีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วความรักที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร? และการให้ความรักที่แท้จริงต่อพระเจ้านั้น เป็นเช่นไร?

สำหรับคำตอบของคำถามนี้ จะต้องมาพิจารณาในพื้นฐานทางสติปัญญาของความเป็นเอกานุภาพในการให้ความรักว่า มีเป้าหมายและจุดมุ่งหมายอะไร ในความเป็นจริงของการให้ความรัก มีเหตุผลอยู่มากมายที่กล่าวถึง การให้ความรักต่อพระเจ้า

๑๗๔

เพราะฉะนั้น กล่าวได้ว่า  การให้ความรักต่อพระองค์ จึงเป็นการให้ความรักที่สูงสุดและยิ่งใหญ่ที่สุด หมายถึง การแสดงความรักต่อผู้ที่ถูกให้ความรัก(มะฮฺบูบ) และนี่คือ ความหมายของ การให้ความรักต่อพระเจ้า เพราะว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วนั้น ชอบความสวยงามและความสมบูรณ์ ในขณะที่ พระองค์ทรงมีทั้งคุณลักษณะอันสวยงาม อีกทั้งยังมีความสมบูรณ์แบบที่สุดในคุณลักษณะเหล่านั้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ต้องมนุษย์มีความรักในพระองค์ ยกตัวอย่าง เช่น ในขณะที่ได้ยินบุคคลหนึ่งพูดถึงบุคลิกภาพของคนหนึ่งว่า เขามีมารยาทที่สวยงาม และควรค่าแก่การยกย่องและน่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินเช่นนั้น ก็เกิดความรักขึ้นในจิตใจต่อบุคคลนั้น แม้ว่าจะไม่เคยเห็นบุคคลนั้นมาก่อนก็ตาม ฉะนั้น ความรักนั้น เกิดขึ้นจากการรับรู้ในการมีมารยาทที่สวยงามของชายคนนั้น จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ความสวยงาม เป็นบ่อเกิดแห่งความรัก  และความรักที่แท้จริง คือ การให้ความรักต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น เพราะการให้ความรักต่อพระองค์ เป็นการให้ความรักต่อสิ่งที่สวยงาม และมีความสมบูรณ์แบบที่สุด และไม่มีการให้ความรักใดที่สวยงามเท่าการให้ความรักต่อพระองค์ ดังนั้น เมื่อมนุษย์มีความรักในพระเจ้าแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ต้องมีความรักในสิ่งอื่น ที่นอกเหนือจากพระองค์ และในบางครั้งมีความคิดหนึ่งเกิดขึ้นในสติปัญญาว่า การให้ความรักต่อพระเจ้าอยู่เหนือความเป็นอิสระเสรีของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถกล่าวว่า มีความจำเป็นหรือไม่มีความจำเป็นในการให้ความรักหรือไม่ให้ความรักต่อสิ่งหนึ่ง สามารถตอบได้ว่า พื้นฐานทางสติปัญญาของการให้ความรัก ก็คือ การรู้จักต่อพระเจ้า

๑๗๕

โดยกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การพิจารณาในการมีอยู่ของคุณลักษณะที่สมบูรณ์แบบที่สุดของพระเจ้า และสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลายที่มีขอบเขตจำกัด และไม่มีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ จึงเป็นแนวทางไปสู่ระดับขั้นของความเป็นเอกานุภาพในการให้ความรัก ซึ่งก็เป็นแนวทางอันเดียวกับที่ศาสนาแห่งฟากฟ้านำมาเสนอ

   ความเป็นเอกานุภาพในการมอบหมายกิจการงาน

    ความเป็นเอกานุภาพในการมอบหมายกิจการงาน ก็เป็นอีกประเภทหนึ่งในความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ หมายถึง มนุษย์จะต้องมอบหมายการงานของเขาให้กับพระเจ้าเพียงองค์เดียว เพราะว่าพระองค์เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารการงานทั้งหลาย

การมอบหมายการงาน ในภาษาอาหรับ ใช้คำว่า ตะวักกุล หมายถึง การมอบหมายการงานหนึ่งการงานใด ดังนั้น จากความหมายของตะวักกุล จะเห็นได้ว่า พระเจ้า คือ สิ่งที่มนุษย์ต้องมอบหมายการงานของเขาต่อพระองค์ ในอิสลามจึงมีความเชื่อว่า พระเจ้า คือ ผู้ทรงกรรมสิทธิ์ในทุกสิ่งทุกอย่าง ความประสงค์และพลังอำนาจสูงสุดนั้น เป็นของพระองค์ ไม่มีสิ่งใดในโลกที่เหมือนกับพระองค์ ดังนั้น ความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในอิสลาม โดยเฉพาะในความเป็นเอกานุภาพในการกระทำ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งพื้นฐานทางสติปัญญาของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ และเป็นพื้นฐานทางสติปัญญาของความเป็นเอกานุภาพในการมอบหมายการงานด้วยเช่นเดียวกัน

๑๗๖

 และสิ่งหนึ่งที่สำคัญในความเป็นเอกานุภาพในการมอบหมายการงาน ก็คือ มิได้หมายความว่า มนุษย์ได้ละทิ้ง จากการขวนขวาย และความเพียรพยายามในการงานของมนุษย์ แต่หมายความว่า การมอบหมายการงานต่อพระเจ้า เพื่อที่จะมีความหวังในการประสบความสำเร็จของการงาน เพราะว่า พระเจ้า คือ ปฐมของเหตุทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ความหมายของความเป็นเอกานุภาพในการมอบหมายการงาน ก็คือ การเพียรพยายามอุตสาหะ และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ และพยายามทำการงานนั้นให้ดีที่สุด และนำไปสู่เป้าหมายที่สูงสุด โดยมีความเชื่อว่า ความประสงค์ และอำนาจเป็นของพระเจ้าเพียงองค์เดียวและในช่วงท้าย ได้อธิบายในประเภทต่างๆของความเป็นเอกานุภาพก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว ซึ่งจะมาอธิบายในประเด็นความเป็นสัญชาตดั้งเดิมของมนุษย์กับความเป็นเอกานุภาพ มาดูกันว่า มีความสอดคล้องต่อกันใช่หรือไม่?

ความเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของความเป็นเอกานุภาพ

    มีคำถามเกิดขึ้นว่า การมีความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพ เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ หรือว่า มิได้เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์เลย? และยังมีคำถามเกิดขึ้นอีกว่า การมีความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี ที่รวมถึงการปฏิบัติของมนุษย์ เป็นสัญขาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ด้วยหรือ?

ความเชื่อในความเป็นเอกานุภาพ ไม่ว่าในประเภทใดก็ตาม ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ, ความเป็นเอกานุภาพในการเคารพภักดี ล้วนเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ ด้วยกับเหตุผลทางสติปัญญา และเหตุผลจากการรายงาน(นักลีย์)

๑๗๗

วิธีการที่ใช้ในการพิสูจน์ถึงความเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของความเป็นเอกานุภาพในทฤษฎี ซึ่งได้อธิบายไปแล้วในประเด็น การรู้จักพระเจ้า ว่า เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ ก็คือ เป็นแนวทางหนึ่งในการรู้จักพระองค์ โดยมีความหมายว่า มนุษย์ทุกคนรู้จักพระเจ้าได้ด้วยกับจิตใต้สำนึกของเขา ที่เรียกว่า

 “ความรู้โดยตรงต่อการรู้จักถึงผู้สร้าง” หมายถึง เป็นความรู้หนึ่งที่เป็นพื้นฐานของความรู้ทั่วไปในการรู้จักพระเจ้า และเป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้สื่อหรือเหตุผลอ้างอิง แต่ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับผู้รู้ในสิ่งที่จะรู้ สรุปได้ว่า จากการอธิบายในความหมายของ การรู้จักพระเจ้าว่า เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ หมายถึง มนุษย์รู้จักพระองค์ได้ด้วยกับจิตใต้สำนึกของเขา กล่าวอีกนัยหนึ่ง  การรู้จักสิ่งที่รู้ต่อผู้รู้โดยตรง ด้วยเหตุนี้ มนุษย์รู้จักพระเจ้าในความเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์ และไม่สามารถที่จะคิดว่า พระองค์มีจำนวนสองหรือมากกว่าได้ และเช่นเดียวกัน หากยอมรับในความเป็นสัญชาตดั้งเดิมในการรู้จักพระเจ้า ก็ต้องยอมรับในความเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์ด้วย  ดังนั้น ความเป็นเอกานุภาพ ก็เป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์  ไม่ว่าในทฤษฎี หรือในการปฏิบัติ เมื่อเวลาที่มนุษย์ประสบกับปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อนั้นเขาจะนึกถึงพระเจ้า และร้องขอความคุ้มครองและการช่วยเหลือจากพระองค์ เป็นการกระทำที่ยอมรับว่า ในจิตใต้สำนึกของเขานั้น มีความรู้สึกว่า มีพระเจ้า ผู้ที่ให้ความคุ้มครองและดูแล อีกทั้งให้ความช่วยเหลือ ซึ่งการกระทำทั้งหมด บ่งบอกถึง ความหมายของความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติ

๑๗๘

   ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตามในทัศนะของอัล กุรอาน

    บางส่วนของโองการอัล กุรอานได้กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม

เช่น ในโองการนี้ กล่าวว่า

“พวกเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่พวกเจ้าจากพระเจ้าของพวกเจ้าเถิด และอย่าปฏิบัติตามบรรดาผู้คุ้มครองใดๆ อื่นจากพระองค์ และส่วนน้อยจากพวกเจ้าเท่านั้นแหละที่จะรำลึก” (บทอัลอะอ์รอฟ โองการที่ ๓ )

โองการนี้ในอัล กุรอาน เริ่มต้นด้วยการเชิญชวนมนุษย์ทุกคนให้ปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกประทานลงมาจากพระเจ้า หลังจากนั้นก็ได้เน้นให้เห็นถึง การมิให้ปฏิบัติตามสิ่งอื่นที่มิใช่พระเจ้า และก็มิให้ยึดถือเอาสิ่งอื่นมาเป็นผู้ปกครอง (วะลีย์) นอกจากพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งโองการนี้ได้กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตามไว้อย่างชัดเจน

และอีกโองการที่กล่าวถึง ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม โดยกล่าวว่า  พระเจ้าจะลงโทษต่อผู้ที่ปฏิบัติตามบรรดาผู้รู้และนักปราชญ์โดยไม่มีเหตุและผล

๑๗๙

อัล กุรอานได้กล่าวว่า

“พวกเขาได้ยึดเอาบรรดานักปราชญ์ของพวกเขา และบรรดาบาทหลวงของพวกเขาเป็นพระเจ้าอื่นนอกจากอัลลอฮ์ และยึดเอาอัล-มะซีห์(พระเยซู)บุตรของมัรยัมเป็นพระเจ้าด้วย ทั้งๆที่พวกเขามิได้ถูกสั่งนอกจากเพื่อการเคารพภักดีผู้ที่สมควรได้รับการเคารพภักดี แต่เพียงองค์เดียว ซึ่งไม่มีผู้ใดควรได้รับการเคารพภักดีนอกจากพระองค์เท่านั้น พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากสิ่งที่พวกเขาให้มีภาคีขึ้น” (บทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ ๓๑ )

โองการนี้กล่าวถึง กลุ่มชนหนึ่งที่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของบรรดาผู้รู้ของพวกเขาโดยที่ไม่รู้ว่า คำสอนของพวกเขานั้นตรงกับหลักการของพระเจ้าหรือไม่ หมายความว่า พวกเขายอมรับในความเป็นพระเจ้าของบรรดานักปราขญ์เหล่านั้น และการไม่อนุญาตให้ทำการเคารพภักดีในสิ่งอื่นทีมิใช่พระเจ้า และให้ทำการเคารพภักดีต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น และให้ออกห่างจากการตั้งภาคีทั้งมวล ดังนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า โองการนี้ กล่าวถึง การปฏิบัติตามสิ่งอื่นที่มิได้เป็นพระเจ้า และมีความขัดแย้งกับความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม และเป็นสาเหตุให้เกิดการตั้งภาคีในการปฏิบัติตาม และเช่นกัน ในวจนะก็ได้กล่าวเน้นย้ำถึง ความเป็นเอกานุภาพในการปฏิบัติตาม

๑๘๐