อรรถาธิบายนมาซ

อรรถาธิบายนมาซ0%

อรรถาธิบายนมาซ ผู้เขียน:
กลุ่ม: ตำราจริยศาสตร์
หน้าต่างๆ: 14

อรรถาธิบายนมาซ

ผู้เขียน: เชค มุฮ์ซิน กิรออะตี
กลุ่ม:

หน้าต่างๆ: 14
ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 55674
ดาวน์โหลด: 389

รายละเอียด:

อรรถาธิบายนมาซ
ค้นหาในหนังสือ
  • เริ่มต้น
  • ก่อนหน้านี้
  • 14 /
  • ถัดไป
  • สุดท้าย
  •  
  • ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 55674 / ดาวน์โหลด: 389
ขนาด ขนาด ขนาด
อรรถาธิบายนมาซ

อรรถาธิบายนมาซ

ผู้เขียน:
ภาษาไทย
อรรถาธิบายนมาซ อรรถาธิบายนมาซ
ผู้ประพันธ์: ฮุจญะตุลอิสลาม เชค มุฮฺซิน กิรออะตี



หมวดที่ ๑ อิบาดะฮฺกับอุบูดียะฮฺ
๑. อิบาดะฮฺหมายถึงอะไร
อิบาดะฮฺ คือ เป้าหมายในการสร้างมนุษย์ อัล-กุรอานกล่าวว่า
“ข้ามิได้บันดาลมนุษย์และญินขึ้นมาเพื่อการใดนอกจากเพื่อให้พวกเขาทำ การอิบาดะฮฺ” (อัซ-ซาริยาต : ๕๖)

ภารกิจต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้ปฏิบัติเป็นประจำ ถ้ามีเจตนาเพื่อมุ่งหวังความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้าถือว่า เป็นอิบาดะฮฺไม่ว่าภารกิจนั้นจะเป็น การทำมาหากิน การศึกษาหาความรู้ การสมรส การรับใช้สังคมและการประกอบอาชีพส่วนตัว ดังนั้น การงานใดก็ตามที่มีแนวทางความคิดเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า “การย้อมด้วยสีสันของอัลลอฮฺ” ถือว่าเป็นอิบาดะฮฺทั้งสิ้น

ในบางครั้งภารกิจของคนเราได้กระทำไปเพราะความเคยชิน หรือไม่ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ภารกิจที่เป็นความเคยชินบางที่ก็มีค่าอย่างเช่น การออกกำลังกาย แต่บางทีก็ไม่มีค่า เช่น การสูบบุหรี่ เป็นต้น แต่ถ้าสิ่งนั้นเป็นธรรมชาติ หมายถึง บนพื้นฐานธรรมชาติดั้งเดิมที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานให้กับมนุษย์ทุกคน สิ่งนั้นย่อมมีค่าเสมอ

ความเป็นพิเศษของธรรมชาติที่เหนือความเคยชิน คือ เวลา สถานที่ เพศ วัยและเชื้อชาติ และธรรมชาติบางอย่างมนุษย์ทุกคนสามารถครอบครองมันได้ บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างเช่น ความรักที่มีต่อครอบครัว บุตรและธิดา ซึ่งความรักประเภทนี้ไม่ขึ้นกับเวลาหรือสายตระกูลที่เฉพาะเจาะจง เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมรักในสายเลือดของตน ๑* แต่ความรักที่มีต่อสิ่งอื่นเช่น เสื้อผ้าและอาหาร ถือว่าเป็นความเคยชินและมีความแตกต่างกันทั้งสถานที่และเวลา ซึ่งในบางพื้นที่อาจมีบางสิ่งบางอย่างเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น แต่สิ่งเดียวกันนี้เมื่ออยู่ที่อื่นไม่ถือว่าเป็นประเพณี

อิบาดะฮฺและการเคารพภักดีเช่นกันถือว่าเป็นธรรมชาติดั่งเดิมของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าอิบาดะฮฺนั้นเป็นของเก่าแก่ที่สุด สวยที่งามที่สุดและเป็นโค่งร่างที่แข็งแรงที่สุดบนร่างกายมนุษย์ เมื่อเทียบกับสถานที่ประกอบอิบาดะฮฺ มัสญิดต่าง ๆ โบสถ์และวัด

แน่นอนรูปแบบของการแสดงความเคารพภักดี ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมากมาย หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่มนุษย์ทำการเคารพสักการะ ซึ่งอาจเป็น ก้อนหิน ดวงอาทิตย์ เทวรูปต่าง จนถึงพระผู้เป็นเจ้าผู้มีความเกรียงไกร และอีกประหนึ่ง คือ วิธีการแสดงการเคารพสักการะ ซึ่งมีทั้งการเต้นรำ การบูชยันต์ จนถึงคำพรรณนาที่ลึกซึ้งดื่มด่ำในวิญญาณของหมู่บรรดาเอาลิยาอฺผู้เป็นมวล มิตรแห่งผู้พระผู้เป็นเจ้า

เป้าหมายของบรรดาศาสดา (อ.) มิใช่สร้างวิญญาณแห่งการเคารพภักดีให้กับมนุษย์ แต่ท่านมาเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง สิ่งที่มนุษย์ต้องเคารพสักการะ และรูปแบบของมัน

งบประมาณจำนวนมากมายที่มนุษย์ได้ทุ่มเทให้กับการสร้างและตบแต่งโบสถ์ วัดวาอาราม หรือ มัสญิด ให้ความสำคัญต่อธงประจำชาติ,มาตุภูมิ ทำการสรรเสริญต่อ ความสำเร็จสมบูรณ์ของบุคคลหรือสรรพสิ่ง ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นภาพปรากฏและความชัดเจนในการแสดงความเคารพ ภักดีของจิตวิญญาณที่มีอยู่ในตัวษย์

บรรดาพวกที่ไม่เคารพสักการะต่อพระผู้เป็นเจ้าบางครั้งอาจจะบูชาเงินตรา ตำแหน่ง ภรรยา บุตรธิดา หลักฐานสำคัญทางการศึกษา ศาสนา และรวมไปถึงแนวทางและวิถีการส่วนตัว พวกเขาจะทุ่มเทอย่างเต็มกำลัง ความสามารถที่มีอยู่ในตัวจนกระทั่งชีวิตจะหาไม่ หรือในบางครั้งพวกเขาจะเสียสละชีวิตเพื่อเทพเจ้าของตน สรุปก็คือ จิตวิญญาณในการเคารพภักดี ถือเป็นรากเหง้าของธรรมชาติที่ลุ่มลึกอยู่ในตัวมนุษย์จะหลงลืมมันก็ตาม ดุจดังเช่นอารมณ์ความรู้สึกของทารกที่มีต่อมารดา แม้ว่าเด็กน้อยจะไม่รู้ว่าความเร้นลับของความรู้สึกนั้นคืออะไรแต่มันก็แฝง อยู่ในตัวเขาตลอดมา

อัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้ทรงปรีชาญาณได้มอบอารมณ์ความรู้สึกให้กับมนุษย์พร้อมทั้งได้สร้างสื่อภาย นอกเพื่อให้มนุษย์มีความรู้สึกพึงพอใจกับมัน ฉะนั้นคราใดที่เขารู้สึกกระหายพระองค์ได้สร้างน้ำ เมื่อเขารู้สึกหิวพระองค์ได้ร้างอาหาร และเมื่อเขามีความรู้สึกทางเพศ พระองค์ได้สร้างภรรยาแก่เขา และเมื่อพระองค์ให้พลังในการสูดดมกับเขา พระองค์ก็สร้างสิ่งที่เขาจะสูดดมขึ้นมาด้วย

และหนึ่งในความรู้สึกที่ลุ่มลึกในตัวมนุษย์ อันเป็นความรู้สึกที่ไม่มีขอบเขต คือความรักที่มีต่อความสมบูรณ์ การดำรงอยู่ และความสัมพันธ์ที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า การเคารพสักการะต่อพระองค์คือ สิ่งที่จะทำให้ความรู้สึกทางธรรมชาติของมนุษย์สมบูรณ์ นมาซและอิบาดะฮฺอื่น ๆ คือสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้าเป็นการแสดงความคุ้นเคยกับ ความรักที่แท้จริง และเป็นการพึ่งพิงไปยังพระผู้ทรงอำนาจที่ไร้ขอบเขต

๒.รากแก้วแห่งการเคารพภักดี
ใครก็ตามที่รู้จักพระผู้เป็นเจ้าจากคุณสมบัติที่สมบูรณ์ต่างๆ เขายังจะบังอาจไม่ยอมจำนนต่ออำนาจของพระองค์อีกกระนั้นหรือ... อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความยิ่งใหญ่และเดชานุภาพของพระองค์ไว้อย่างมากมาย ดังเช่นเรื่องราวของท่านหญิงมัรยัม อัล-กุรอานกล่าว “อัลลอฮฺได้ประทานบุตรให้กับท่านหญิงมัรยัมโดยปราศจากสวามี” อัลลอฮฺได้แยกแม้น้ำไนล์ออกเพื่อให้ท่านนบีมูซา (อ.) กับพลพรรคเดินผ่าน และให้ฟิรอาวน์กับกองทหารจมน้ำตายในนั้น พระองค์ได้จัดการให้เหล่าบรรดาศาสดาทั้งหลายมีชัยชนะเหนืออำนาจต่างๆในยุค สมัยของตนด้วยมือเปล่า”

อัล-กุรอานยังกล่าวอีกว่า “พระองค์ได้ทรงบันดาลมนุษย์ทั้งหลายจากดินที่ไร้ชีวิต ดังนั้นชีวิต ความตาย เกียรติยศ และความตกต่ำ อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์”

ผู้ที่มีความรู้สึกว่าตนอ่อนแอ ไร้ความสามารถ โง่เขลา อยู่ในขอบเขตจำกัด ตกอยู่ในอันตรายหรือตกอยู่ในเหตุการณ์ทีไม่คาดฝัน หรือพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่เขากับไม่รู้ สึกว่าต้องการผู้ให้การช่วยเหลือหรือต้องยอมรับความจริง

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงความอ่อนแอของมนุษย์ว่า “โอ้มนุษย์เมื่อเจ้าคลอดออกมา สูเจ้าไม่รู้อะไรเลย สูเจ้าไม่รู้เหตุการณ์ข้างหน้า สูเจ้านั้นอ่อนแอ และเมื่อสูเจ้าแข็งแรงขึ้นและมีความรู้ สูเจ้าก็ยังอ่อนแอเหมือนเดิม”

สูเจ้านั้นอยู่ท่ามกลางภยันตรายต่างๆ มากมาย เช่น ถ้าโลกหมุนรอบตัวเองช้าลง กลางวันหรือกลางคือไม่มีการเปลี่ยนแปลง สูเจ้าจะอยู่ได้อย่างไร แล้วใครกันเล่าที่รักษาความเร็วของการหมุนของโลกให้มีความสมดุลย์ คอยให้การเปลี่ยนแปลงระหว่างกลางวันกับกลางคืน

ถ้าน้ำดื่มของได้พวกท่านได้เหือดหายไป แล้วจะมีใครอีกเล่าที่จะนำน้ำอันอุดมสมบูรณ์มาให้สูเจ้า”

หากเราประสงค์ เราจะบันดาลให้น้ำดื่มของสูเจ้าเค็มและขม (อัล-วากิอะฮฺ /๗๐)
หากเราปรารถนา เราจะบันดาลให้ต้นไม้แห้งเหี่ยวตลอดเวลา (อัล-วากิอะฮฺ / ๖๕)
หากเราปรารถนา เราจะให้ธรณีสูบพวกเขา หรือไม่ก็ให้มีวัตถุตกลงมาจากฟากฟ้า (สะมาอฺ / ๙)

สิ่งทั้งหมดเหล่านี้และอื่น ๆ อีกมากมายที่อัล-กุรอานได้กล่าวถึง เพื่อเตือนสำทับให้กับมนุษย์ตื่นจากการหลับใหลและความหลงลืม ขจัดความโง่เขลาเบาปัญญา ความอวดดี และความดื้อดึงต่าง ๆ ให้หมดไปจากตนเอง โดยหันมาสู่การเคารพภักดีต่อพระองค์ และยอมจำนนตอพระผู้อภิบาล ผู้ทรงบันดาลสูเจ้ามาจากดิน

๓.ความลึกซึ้งในการเคารพภักดี
การเคารพภักดี เป็นการกระทำอย่างหนึ่งที่เราเห็นความอ่อนน้อมแต่ภายนอก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีความลึกซึ้งอีกมากมาย

การเคารพภักดีเป็นแรงปรารถนาของจิตวิญญาณ การรู้จัก สมาธิที่มุ่งมั่น ความศักดิ์สิทธิ์ การสรรเสริญ ความปรารถนา และความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าคู่ควรแก่การเคารพภักดี และเป็นผู้มีความสมบูรณ์แบบ ไร้ขอบเขต

แน่นอนการเคารพภักดี เป็นการกระทำที่ดูภายนอกว่าง่าย แต่ถ้าปราศจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่ถือว่าการกระทำนั้นเป็นอิบาดะฮฺ การเคารพภักดีนั้นหมายถึง การตัดขาดจากกิเลศและอบายมุขทั้งหลาย เป็นการขับเคลื่อนจิตวิญญาณให้ไปสู่ความสูงส่ง เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยตาใจ การเคารพภักดีเป็นตัวสนับสนุนความรักของมนุษย์ที่ในบางครั้งจะแสดงออกด้วย การกล่าวสรรเสริญสดุดี ขอบคุณ แสดงความจำนนต่อพระองค์

การไม่เห็นความแตกต่างเมื่อพิจารณาถึงอิบาดะฮฺ

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “โอ้มนุษย์เอ๋ย พึงสังวรไว้เถิดว่าอายุขัยของเราผ่านพ้นมาถึงขนาดนี้แล้ว (ขณะที่มนุษย์มีความสามารถทุกอย่าง การเรียนรู้ การพัฒนา สิ่งอำนวยความสะดวก สติปัญญา มีความรู้และมีพจนารถจากอัลลอฮฺ (ซบ.) แต่ยังเอาดีไม่ได้ ยังเหมือนกับสัตว์ที่เดินย่ำอยู่บนทุ่งหญ้าที่เอาแต่กินและนอนอย่างมีความสุข

แน่นอนอารยธรรม เทคโนโลยี และการวิวัฒนาการทางวัตถุเป็นผลทำให้สภาพชีวิตการเป็นอยู่ของมนุษย์สะดวก สบายขึ้น แต่ทว่าความสมบูรณ์ขอมนุษย์ขึ้นอยู่กับการไขว่คว้าความสะดวกสบายทางวัตถุเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ สมมติว่าเป็นเช่นนี้จริง บรรดาปศุสัตว์ทั้งหลายย่อมมีคุณภาพชีวิตดีกว่ามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นด้าน อาหารการดิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการหาความสุขทางเพศ ถือว่ามีความก้าวหน้ากว่ามนุษย์เพราะสัตว์กินอยู่แบบง่าย ๆสะดวกสบายไม่ต้องเรื่องมากเหมือนมนุษย์ ไม่ต้องปรุงอาหารให้เสียเวลา

ส่วนเครื่องนุ่งห่มไม่ต้องตัดเย็บและซักรีดเหมือนมนุษย์ การหาความสุขทางเพศไม่มีขอบเขตจำกัดและไม่ต้องประสบปัญหากับโรคติดต่อทางเพศเหมือนที่มนุษย์ประสบอยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยสัตว์ใช้วัสดุทางธรรมชาติและใช้แรงงานของตนเอง ไม่ต้องพึ่งเครื่องไม้เครื่องมือให้ยุ่งยาก มีการออกแบบในการสร้างโดยไม่ต้องอาศัยสถาปนิกหรือวิศวกรแต่อย่างไร ฉะนั้นการวิวัฒนาการทางวัตถุ และเทคโนโลยี เป็นเหตุให้มนุษย์พัฒนาไปด้วยหรือเปล่า หรือเป็นเหตุทำให้เกิดความเสื่อมทรามกับสังคมและปัจเจกบุคคล และความสะดวกสบายได้นำพาความสงบมาสู่สังคมมนุษย์หรือไม่

ถึงแม้ว่าโลกจะวิวัฒนาการไปมากแค่ไหน แต่ถ้าสังคมมนุษย์ยังปราศจากผู้นำที่เที่ยงธรรม ที่บริสุทธิ์ และยุติธรรมถือว่ามนุษย์ยังถูกกดขี่อยู่วันยังค่ำ และยิ่งถ้าจิตใจของมนุษย์ปราศจากความเชื่อมั่นและกลิ่นอายของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นการดูถูกความเป็นมนุษย์ของตนอย่างรุนแรง

๔.ขอบข่ายของอิบาดะฮฺขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของพระผู้เป็นเจ้า
การอิบาดะฮฺ ของมนุษย์ แม้ว่าจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งความแตกต่างเหล่านั้นจะมีอยู่สิ่งหนึ่งคงที่และไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย นั้นคือ ความพึงพอใจของพระองค์ แม้ว่าในบางครั้ง กาลเวลา สถานที่ สังคม และบุคคล จะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการกำหนดขอบเขต เช่นเมื่อเดินทางไกล ไม่อนุญาตให้ถือศีลอด และต้องทำนมาซย่อ หมายถึง นมาซ ที่มี ๔ ระกะอัต ให้ทำแค่ ๒ ระกะอัต หรือในบางครั้งความป่วยไข้ จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงรูปแบบของอิบาดะฮฺเช่น ถ้าไม่สามารถโดนน้ำได้ให้ทำตะยำมุมแทน หรือไม่สามารถยืนปฏิบัตินมาซได้ให้นั่งปฏิบัติ ถ้านั่งไม่ได้ให้นอนปฏิบัติ ถ้านอนแล้วยังลำบากอยู่อีกให้ใช้สัญลักษณ์แทน เพราะไม่ว่าท่านจะใช้อริยาบทอย่างไร (ตามที่อิสลามบัญญัติไว้) ก็ถือว่าเป็นนมาซทั้งสิ้น โดยมีเป้าหมายในการปฏิบัติเพื่อแสวงหาความโปรดปราน ความใกล้ชิด และปฏิบัติไปตามบัญชาของพระองค์ อัล-กุรอานกล่าวว่า

“สูเจ้าจงดำรงนมาซเพื่อระลึกถึงข้า” (ซูเราะฮฺอัฏฏอฮา /๑๔)

๕.วิญญาณของอิบาดะฮฺ
มนุษย์นั้นมีองค์ประกอบอยู่ ๒ อย่างคือ สังขารกับวิญญาณ ซึ่งทั้งสองนั้นต้องการการเจริญเติบโตและการเจริญเติบโตต้องอาศัยอาหารเป็น หลัก หลักการแพทย์กล่าว อาหารที่ดีที่สุด คืออาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายในการสร้างพลังงานและกล้ามเนื้อเพื่อให้ ร่างกายแข็งแรง ดังนั้นเมื่อสังขารต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโตวิญญาณก็ต้องการด้วยเช่น กันซึ่งอาหารของวิญญาณคืออิบาดะฮฺ อิบาดะฮฺที่ดีที่สุด คืออิบาดะฮฺที่ให้ความอิ่มเอิบกับวิญญาณ มีการปฏิบัติด้วยความนอบน้อม และมีสมาธิมั่นคง การรับประทานอาหารมากมิได้เป็นประโยชน์กับร่างกาย สิ่งที่ร่างการต้องการคือ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านญาบีร อันศอรีย์ว่า “แท้จริงแล้วศาสนาของอัลลอฮฺ มีความแข็งแรงมั่นคง แฝงเร้นด้วยปรัชญา ดังนั้นเจ้าจงรีบดำเนินไปพร้อมกับมัน ครั้นเมื่อวิญญาณของสูเจ้ายังไม่พร้อม จงอย่าบังคับตัวเองเพราะอิบาดะฮฺมันจะโกรธเจ้า” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๑ หน้า ๒๑๒)

อีกหะดีษหนึ่งท่านศาสดากล่าวว่า
“ช่างเป็นความผาสุกอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รักในอิบาดะฮฺและหวงแหนมัน”
(บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๑ หน้า ๒๑๒)

การรู้จักประมาณในอิบาดะฮฺ
เมื่อวิญญาณของอิบาดะฮฺถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา บุคคลนั้นควรรู้จักประมาณในการปฏิบัติ ดังที่เราพบว่า หนังสือหะดีษจำนวนมากมาย ได้รวบรวมหะดีษไว้ภายใต้หัวข้อว่า
“ความจำกัดในอิบาดะฮฺ” (อุศูลกาฟีย์เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๘๖ )

คนที่มีร่างกายสมบูรณ์ครบสามสิบสอง หมายถึงคนที่ร่างกายและอวัยวะทุกส่วนมีความเหมาะสมพอดิบพอดีกันไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป แต่ถ้ามีอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดไม่สมบูรณ์หรือผิดปรกติธรรมชาติ จะเรียกว่าเป็นคนพิการ จิตวิญญาณก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีการฟูมฟักในลักษณะที่มีความเหมาะสมและสัมพันธ์กัน ได้มีข่าวมาถึงท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า
“มีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ทอดทิ้งภรรยาและครอบครัวไปเพื่อปฏิบัติอิบาดะฮฺ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)ได้กล่าวว่า สิ่งนี้มิใช่แบบฉบับของฉัน เพราะฉันใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาและครอบครัวภายในบ้านหลังเดียวกัน และใครก็ตามที่มิได้ปฏิบัติเช่นนี้มิใช่พวกของฉัน” (อุศูลกาฟีย์ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๔๙๖)

ท่านอิมามศอดิก (อ.) ได้เล่าเรื่องมุสลิมคนหนึ่งที่มีเพื่อนบ้านเป็นคริสต์เตียน ต่อมาเพื่อนบ้านของเขารับอิสลาม มุสลิมคนนี้ปลุกเพื่อนบ้านมุอัลลัฟ(มุสลิมใหม่)เพื่อไปนมาซที่มัสญิดทุกวัน อีกทั้งกำชับให้ทำเขานมาซตะฮัจญุดก่อนถึงเวลาศุบฮฺ และเมื่อนมาซศุบฮฺเสร็จ เขาก็จะบอกให้อ่านดุอาอฺจนกว่าตะวันจะขึ้น และเมื่อถึงเวลาซุฮฺริ ก็ให้อ่านอัล-กุรอาน ซึ่งตลอดทั้งวันเขามิได้ทำอย่างอื่นเลย นอกจากนมาซ อ่านอัล-กุรอานและดุอาอฺ
เมื่อคริสเตียนที่เป็นมุสลิมใหม่กลับถึงบ้าน เขาตัดสินใจเลิกเป็นมุสลิม และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาไม่เดินผ่านมัสญิดอีกเลย” (ซีรีย์ ดัรซีรีย์ นะบะวีย์ หน้าที่ ๒๑๓)

แน่นอนการปฏิบัติอิบาดะฮฺที่ไม่รู้จักประมาณโดยเคร่งเครียดอยู่กับอิบาดะฮฺตลอดเวลานั้น มิใช่แบบฉบับของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ซึ่งการปฏิบัติเช่นนี้มิได้สร้างผลดีให้กับอิสลามแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม จะสร้างความเบื่อหน่าย และทำให้ผู้คนเหินห่างออกจากอิสลาม

ท่านชะฮีด มุรตะฎอ มุเฏาะฮฺฮะรีย์ เล่าว่า อัมริอาค์ มีบุตรชาย ๒ คน คนหนึ่ง เป็นคนดีมีอีมาน ส่วนอีกคนเป็นคนไม่ดี (ซึ่งต่อมาคนที่มีอีมานได้เป็นผู้สนับสนุนท่านอิมามอะลี (อ.) ส่วนอีกคนได้สนับสนุนมุอาวิยะฮฺ)ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)ได้กล่าวกับคนที่มีอีมานว่า “ฉันได้ยินว่าเจ้านั้นปฏิบัติอิบาดะฮฺตลอดทั้งคืน ส่วนตอนกลางวันถือศีลอดใช่ไหม ตอบว่า ใช่ครับ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จึงกล่าวว่า การปฏิบัติเช่นนี้มิใช่แบบฉบับของฉัน” (เฏาะฮาเราะฮฺ รูหฺ หน้าที่ ๑๒๒)

ริวายะฮฺ ได้กล่าวว่า
“จิตวิญญาณของมนุษย์มีสองลักษณะคือ ยอมจำนนและดื้อดึง” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๒๘ หน้าที่ ๓๕๗) ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เห็นว่าจิตมีความสมัครใจ เราก็ควรใช้ประโยชน์ตรงนั้น แต่เมื่อจิตใจไม่พร้อมก็จงอย่าฝืนใจปฎิบัติ เพราะจะทำให้แหนงหน่ายและมีอคติในที่สุด

อิสลามได้แนะนำว่า จงแบ่งเวลาของท่านออกเป็น ๔ ส่วน สิ่งหนึ่งในสี่นั้น ควรเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อนหาความสุข เพราะถ้าปฏิบัติได้เช่นนี้จะเป็นเหตุทำให้มีความสุขกับการปฏิบัติ อมั้ลอื่น ๆ ต่อไป (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๔ หน้าที่ ๔๑)

แต่การหาความสุขควรอยู่บนพื้นฐานของขนบธรรมเนียมและจารีตอิสลาม โดยไม่เบียดเบียนหรือสร้างความทุกข์ให้กับผู้อื่น ดังเช่น อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องราวของพวกยะฮูดีไว้ว่า ในวันหยุดพักผ่อนพวกเขาจะไปจับปลา และทำการล่วงละเมิดต่าง ๆ “ขอสาบานแท้จริงสูเจ้ารู้ดีถึงผู้ล่วงละเมิดในหมู่พวกเจ้าในวันเสาร์ (มีบัญญัติห้ามมิให้จับปลา) ดังนั้นเราจึงสาปพวกเขาว่า สูเจ้าจงกลายเป็นสิ่งที่มีแต่ความอัปยศเถิด” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๔๖)

ฉะนั้น การพักผ่อนหาความสุขเพื่อรักษาความสดชื่นในการปฏิบัติอิบบาดะฮฺ ถือว่าจำเป็นและเป็นหนึ่งในหลักการของการอิบาดะฮฺที่รู้จักประมาณ

การบริหารในอิบาดะฮฺ
การบริหารมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ปัญหาของสังคม, เศรษฐกิจ และการเมืองเท่านั้น หากแต่ทว่ามันครอบคลุมไปถึงเรื่องอิบาดะฮฺด้วย สิ่งจำเป็นที่หลักการบริหารกล่าวไว้ เช่น การวางแผนงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว, การจัดหาบุคคลที่เหมาะสมมาบริหาร การวางกฎเกณฑ์ และการควบคุม อิบาดะฮฺก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีหลักการและปฏิบัติไปตามนั้น เพื่อการเติบโตและสมบูรณ์

นมาซเป็นหนึ่งในการอิบาดะฮฺที่มีแผนงานระยะยาวโดยเริ่มจากตักบีเราะตุ้ลอิหฺรอมจนถึงสลาม มีการกำหนดไว้อย่างแน่นอนถึงจำนวนเราะกะอัต รุกูอฺ สุญูด เวลาที่ปฏิบัติ และทิศทางที่ต้องหันหน้าไปสู่ขณะปฏิบัติ

แต่เฉพาะแผนงานเพียงอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอ เพราะเมื่อถึงขั้นตอนของการปฏิบัติ สิ่งที่จำเป็นคือ การเลือกเฟ้น อิมามผู้นำนมาซ การจัดระเบียบ การเชิญชวนประชาชนด้วยมารยาทที่ดีงามไปสู่มัสญิด รวมไปถึงการจัดเตรียมสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่มาปฏิบัติ นมาซเพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมาะสมในฐานะที่เป็นสถานที่ปฏิบัติอิบาดะฮฺ

อิบาดะฮฺเปรียบเสมือนสถานีอนามัยที่เปิด ๒๔ ชั่วโมง
ใครก็ตามที่มีความปรารถนาติดต่อกับพระผู้เป็นเจ้าเขาสามารถทำได้ตลอดเวลา โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องจองเวลาล่วงหน้า และไม่ต้องการสื่อกลาง แม้ว่าบางทีอาจมีการกำหนดเวลาที่ตายตัวเอาไว้เฉพาะ เช่น ในตอนเช้าก่อนรุ่งอรุณ ตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดินของวันศุกร์ หลังจากคุฎบะฮฺนมาซวันศุกร์ ขณะฝนตก ค่ำคืนก็อดรฺ และค่ำวันศุกร์ ช่วงเวลาเหล่านี้บ่งบอกถึงความประเสริฐของมัน แต่มิได้กำหนดดุอาอฺที่เฉพาะเจาะจงที่ต้องอ่านในช่วงนี้

อิบาดะฮฺนั้นเปรียบเสมือนยาที่ใช้บำบัดความหลงลืมและความพลั้งเผลอต่าง ๆ

อัล-กุร อานกล่าวว่า
“สูเจ้าจงดำรงการมนาซเพื่อระลึกถึงข้าเถิด” (อัฎฎอฮา/๑๔)

อีกโองการกล่าวว่า
“การระลึกถึงอัลลอฮฺ ทำให้จิตใจสงบ” (อัรเราะดุ/๒๘)

๖. อิบาดะฮฺทำให้เกิดความสงบ
ท่านคงเคยพบเห็นบรรดาฏอฆูตผู้มีอำนาจ เศรษฐี และนักวิชาการด้านเทคโนโลยีมาบ้างแล้ว จิตใจของคนพวกนั้นเคยสงบกับใครบ้างไหม สังคมตะวันตกในปัจจุบัน ดังที่เราได้เห็นกันอยู่ว่าพวกเขามีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดีกันเพื่อชีวิตของดุนยา ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมที่มีการดำรงอิบาดะฮฺและภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) จะสังเกตเห็นว่ามวลมิตรของพระองค์มีความสงบมั่นและไม่เคยวิตกหรือหวาดกลัวสิ่งอื่นใดในยามที่ต้องเผชิญกับ ภยันตราย หรือยามที่อยู่ในภาวะคับขัน ดังเช่นตัวอย่างของท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) หลังจากที่ได้ถูกเนรเทศไปอยู่ต่างประเทศนาน ๑๕ ปี จึงได้เดินทางกลับมายังมาตุภูมิอีกครั้ง ขณะที่ท่านอยู่ในเครื่องบิน นักข่าวได้สัมภาษณ์ ท่านว่า “ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อได้กลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง” ตอบว่า “ฉันรู้สึกเฉย ๆ”

ขณะที่ชาวอิหร่านจำนวนหลายสิบล้านคนกำลังเป็นห่วงท่าน แต่ท่านอิมามกับรู้สึก เฉย ๆ มีแต่ความสงบนิ่ง และยังคงดำรงเศาะละตุ้ลลัยนฺ บนเครื่องบินเหมือนปรกติ ซึ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่าความสงบของท่านเป็นผลที่เกิดมาจากการระลึก และการปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างต่อเนื่อง

อีกเหตุการณ์หนึ่งบุตรชายของท่าน ซัยยิดอะหฺมัด เล่าว่า ขณะที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่กรุงปารีสได้มีนักข่าวจำนวนมากมายมาทำข่าว และขอสัมภาษณ์ท่านอิมาม (รฎ.) ขณะที่ท่านให้สัมภาษณ์อยู่นั้น ท่านได้หันมาหาฉัน และถามว่า อะหฺมัด ซุฮรฺแล้วหรือยัง ฉันตอบว่า ถึงแล้ว หลังจากนั้นท่านอิมามได้หยุดให้สัมภาษณ์ และลงจากเก้าอี้ทันที สร้างความมึนงงให้กับบรรดานักข่าวว่า เกิดอะไรขึ้น ฉันบอกพวกเขาว่า ไม่มีอะไรหรอก ท่านไปนมาซ (เพราะท่านอิมามจะนมาซตรงเวลา)

สิ่งที่ท่านอิมามปฏิบัตินั้นเป็นบทเรียนที่ได้มาจากท่านอิมามริฎอ (อ.) มีอยู่ครั้งหนึ่งได้มีพวกศอบิอีน (นามของพวกเขาปรากฏอยู่ในอัล-กุรอาน) ซึ่งเป็นกลุ่มนักปราชญ์ที่มีความจองหอง และดื้อรั้นที่สุด ทุกครั้งที่พวกเขาได้บริพาษกับท่านอิมาม (อ.) จะแสดงความอวดดี และไม่ยอมรับเหตุผล แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกเขาจำนนด้วยเหตุผล จึงกล่าวกับท่านอิมามว่า พวกเราขอยอมจำนน ซึ่งในขณะนั้นเสียงอะซานได้ดังขึ้น ท่านอิมาม (อ.) ได้ออกจากห้องไป บรรดาสาวกของท่านต่างท้วงติงว่าทำไมไม่อยู่ต่อ พวกเขายอมจำนนท่านแล้ว ถ้าท่านอยู่ต่อ พวกเขาคงยอมรับอิสลามทั้งหมด ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า นมาซตรงเวลาสำคัญกว่าการบริพาษ ถ้าพวกเขาจะยอมรับความจริงหลังจากนมาซก็ยอมรับได้ เมื่อพวกศอบิอีนได้เห็นความเคร่งครัด และความมั่นคงของท่านอิมามทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจในการยอมรับอิสลามมากยิ่งขึ้น (บิฮะรุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๑๗๕)


โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

๗. อิบาดะฮฺกับการได้รับความอนุเคราะห์
อิบาดะฮฺ เป็นสื่อในการเรียกร้องความเมตตาและการอนุเคราะห์จากพระผู้เป็นเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า “จงนมัสการองค์พระผู้อภิบาลของเจ้ากระทั่งความมั่นใจจะประสบแก่เจ้า” (อัล-หิจรฺ/๙๙)

ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้ทำอิบาดะฮฺและวิงวอนอยู่บนเขา ฏูรฺ เป็นเวลานาน ๔๐ วัน ๔๐ คืน เพื่อรอรับคัมภีร์เตารอต ส่วนท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ทำอิบาดะฮฺอยู่ที่ถ้ำฮิรอ เป็นเวลานานเพื่อรอรับวะฮีย์จากพระองค์ ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “ใครก็ตามปฏิบัติอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจนาน ๔๐ วัน พระองค์จะประทานฮิกมะฮฺให้ปรากฎที่จิตใจของเขาและถ่ายทอดมาทางลิ้น” (บิฮะรุ้ลอันวาร เล่มที่ ๕๓ หน้าที่ ๓๒๖)

ใช่แล้ว การปฏิบัติอิบาดะฮฺด้วยความบริสุทธิ์ใจ เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรการศึกษาเพียง ๔๐ วัน และผลิตนักศึกษาเฉพาะนักปราชญ์เท่านั้น ซึ่งพวกเขาได้รับความรู้โดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้าและจะถ่ายทอดให้ผู้อื่น

๘.ปรัชญาของอิบาดะฮฺในอัล-กุรอาน
ดังที่ทราบกันดี อีมาน (ความศรัทธา)คือพลังที่ดึงดูดมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติอิบาดะฮฺ ส่วนอิบาดะฮฺคือผลสะท้อนและภาพลักษณ์ของอีมานในใจผู้ศรัทธา หากจะเปรียบก็เหมือนกับต้นไม้ที่มีรากของมันคอยดูดซับน้ำและอาหารส่งไปเลี้ยงลำต้นและใบ ส่วนใบของมันคอยกรองแสง และความร้อนลำเลียงไปสู่ราก แน่นอนหากใครปฏิบัติอิบาดะฮฺมากกว่า ดีกว่า เขาจะรู้จักสิ่งที่เขาอิบาดะฮฺ (อัลลอฮฺ) มากยิ่งขึ้น

ปรัชญาของอิบาดะฮฺในอัล-กุรอาน
อัล-กุรอานกล่าวถึงปรัชญาในการระลึกถึงอัลลอฮฺว่า “จงดำรงนมาซเพื่อการระลึกถึงข้า” (ฎอฮา/๑๔) การระลึกถึงอัลลอฮฺทำให้เกิดความสงบแก่จิตใจ “การระลึกถึงอัลลอฮฺได้สร้างความสงบแก่จิตใจ” (อัรเราะดฺ/๒๘) ความสงบของจิตใจคือความสำเร็จในการกลับไปพบกับพระผู้อภิบาล “โอ้ดวงจิตที่สงบ จงกลับคืนสู่พระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด” (อัล-ฟัจรฺ/๒๗-๒๘)

บางโองการกล่าวว่า แท้จริงอิบาดะฮฺ คือ การขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า “จงนมัสการต่อพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงบันดาลเจ้ามา” (อันนิซาฮฺ/๑๗)
“ดังนั้นพวกเขาจงนมัสการพระผู้อภิบาลแห่งบ้านหลังนี้ (กะอฺบะฮฺ) พระผู้ซึ่งประทานอาหารแก่พวกเขาให้พ้นจากความหิวโหย และทรงประทานความปลอดภัยแก่พวกเขาให้ปราศจากความหวาดกลัว” (กุรอยชฺ/๓-๔)
บางโองการกล่าวถึงการอบรมของนมาซว่า “แท้จริงนมาซจะยับยั้งความอนาจารและสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย” (อัล-อังกะบูต/๔๕)

เป็นความจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัตินมาซทุกคนที่ต้องใส่ใจต่อกฎบัญญัติทั้งหลายของอิสลามเพื่อรักษานมาซและให้เป็นที่ยอมรับ ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) การรักษากฎระเบียบให้มั่นคงเท่ากับเป็นการเตรียมพร้อมตัวเองให้ออกห่างจากความผิดบาปและสิ่งไม่ดีทั้งหลาย เหมือนกับคนสวมใส่เสื้อผ้าสีขาว โดยปกติแล้วเขาจะไม่นั่งลงบนพื้นสกปรกเด็ดขาด

อัล-กุรอานยังกล่าวแนะนำเกี่ยวกับนมาซอีกว่า “จงดำรงนมาซในสองช่วงของวัน (ศุบฮฺกับซุฮรฺ) และช่วงพลบค่ำ แท้จริงความดีทั้งหลายจะขจัดความเลวร้ายทั้งปวง” (ฮูด/๑๑๔)

ฉะนั้น แท้จริงแล้วจะพบว่า นมาซคือ การขออภัยโทษในความผิดบาปที่เป็นรูปธรรมซึ่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งทรงเปิดโอกาส และให้ความหวังต่อผู้กระทำความผิดทั้งหลายว่า หากพวกเขาปรารถนาที่จะกลับตัวกลับใจ ก็จะดำรงนมาซและอิบาดะฮฺเถิด เพราะสิ่งนี้จะขจัดความชั่วร้ายและความผิดบาปให้พ้นไปจากพวกเขา

๙. นมาซในทัศนะของท่านอิมามอะลี (อ.)
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวถึงนมาซไว้ในนะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งต่อมาทางเราได้มีการจัดทำเป็นหนังสือแยกเล่มต่างหาก ภายใต้ชื่อว่า “นมาซในนะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ” ซึ่งในตรงนี้จะขอกล่าวเฉพาะปรัชญาของการระลึกถึงอัลลอฮฺ (ซบ.)ที่เน้นความสำคัญไว้ที่นมาซ

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงกำหนดการระลึกมาเพื่อการขัดเกลาจิตวิญญาณ เพื่อให้พวกหูทวนลม หูตึง ได้ยินได้ฟัง และให้พวกแสร้งทำตาบอดได้เห็น (หูหนวกตาบอดทั้งหลาย) (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่/๒๒๒)

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “แน่นอนมวลมะลาอิกะฮฺต่างห้อมล้อมพวกเขา(ผู้นมาซ) พระองค์ทรงประทานความสงบและเปิดประตูแห่งฟากฟ้ารอรับพวกเขา และพระองค์ได้ทรงตระเตรียมสถานที่อันทรงเกียรติไว้แก่พวกเขาอีก

คุฏบะฮฺบทอื่นท่านอิมามกล่าวว่า “นมาซจะชำระล้างความผิดบาปประหนึ่งใบไม้ที่ร่วงหล่นจากต้น และจะทำให้มนุษย์เป็นอิสระจากพันธนาการของความผิดบาป” (คุฏบะฮฺที่/๑๙๙)

ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้อุปมานมาซไว้ดังนี้ว่า “นมาซเหมือนกับตาน้ำที่มนุษย์ลงไปอาบชำระล้างร่างกายวันละ ๕ เวลา เขาจะยังมีความสกปรกตกค้างอยู่อีกกระนั้นหรือ?”
ในคุฏบะฮฺที่ ๑๙๖ ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวถึงเรื่องกิริยามารยาทที่ไม่ดี เช่น ความหยิ่ง จองหอง ความอวดดี การกดขี่ และความอิจฉาริษยา หลังจากนั้นท่านได้กล่าวถึง นมาซ การถือศีลอด ซะกาต และประโยชน์ต่างๆที่มนุษย์จะได้รับ ท่านกล่าวว่า “นมาซอำนวยความสงบให้แก่มนุษย์ เสริมความยำเกรงให้กับสายตา สร้างความสำนึกให้กับวิญญาณ สร้างความอ่อนน้อมให้กับจิตใจ ขจัดความหยิ่งจองหองและความอวดดี และเมื่อเกิดความหวาดกลัว หรือตกอยู่ท่ามกลางภยันตราย การระลึกถึงพระองค์จะทำให้เกิดความคุ้นเคยและทำให้จิตใจมีความสุขุม

แน่นอนคำกล่าวของท่านอิมาม (อ.) มิได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากนมาซ แต่ทว่ามีบางคนหรือบางกลุ่มชนเท่านั้นที่พวกเขาไม่ยอมแลกนมาซของเขากับสิ่งมีค่าใดๆบนโลกนี้

๑๐.อานิสงค์และบะรอกัตของการนมัสการ
๑ ความรู้สึกภาคภูมิใจ

อิมามซัยนุ้ลอาบิดีน (อ.) ได้กล่าวพรรณนา(มุนาญาต)ไว้ว่า “โอ้ข้าฯแต่พระองค์ เพียงพอแล้วสำหรับเกียรติยศข้าฯ ที่ข้าฯได้เป็นบ่าวของ พระองค์” (บิฮารุ้ลอันวารเล่มที่ ๗๗ หน้าที่ ๔๐๒)
ยังจะมีเกียรติยศใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่บ่าวได้มีโอกาสสนทนากับพระผู้สร้าง พระองค์ทรงสดับฟังคำพูดของมนุษย์และทรงตอบรับ
บนโลกมนุษย์ที่หาค่ามิได้ใบนี้ ถ้าหากมนุษย์ได้มีโอกาสได้สนทนากับผู้เปี่ยมด้วยบารมี หรือนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง จะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตนเองมีเกียรติอย่างยิ่ง จะเป็นเกียรติเพียงใดหากคู่สนทนาของเราเป็นอัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้ทรงสร้าง ผู้ทรงอภิบาลสากลจักรวาล

๒.ความรู้สึกในพลัง

เด็ก ๆ นั้น ตราบเท่าที่ยังอยู่ในการดูแลของบิดา มารดา จะทำให้เขามีความรู้สึกว่าตนเองมีพลังและแข็งแรง แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาอยู่คนเดียวตามลำพัง เขาจะมีความรู้สึกหวาดกลัว และเกรงว่าอาจจะมีคนมากลั่นแกล้งและทำร้ายเขาได้ แต่ถ้ามนุษย์มีความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺ (ซบ.)ตลอดเวลา ความรู้สึกดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะเขาตระหนักตนเสมอว่าอยู่ภายใต้การคุ้มครองของพระผู้ทรงเดชานุภาพที่สุดในสากลจักรวาล และจะทำให้เขารู้สึกว่าตนนั้นมีพลังพอที่จะต่อต้านกับอำนาจต่างๆได้อย่างไม่เกรงกลัว

๓. ความรู้สึกในอำนาจ

อิสลามกล่าวว่า อำนาจนั้นเป็นของพระผู้เป็นเจ้า อำนาจทั้งหลายล้วนมาจากพระองค์ เช่นเดียวกันกับพลังที่มาจากพระองค์ ดังนั้นอัล-กุรอานจึงได้กล่าวประณามคนที่ขออำนาจจากผู้อื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺ อัล-กุรอานกล่าวว่า “เจ้าปรารถนาอำนาจจากผู้อื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺหรือ” (อันนิซาอฺ/๑๓๙)

แน่นอนการสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียวซึ่ง เป็นอำนาจที่ไร้ขอบเขตจำกัดย่อมทำให้เราพลอยมีอำนาจไปด้วย ดังเช่นคำว่า “อัลลอฮฺอักบัรฺ” จะให้พลังกับผู้กล่าวและมองดูว่าบรรดาผู้กดขี่ทั้งหลายและฏอฆูตพร่องอำนาจลงทันที

ดังนั้นเราจะเห็นว่า อัล-กุรอานได้สำทับแก่เราว่า ในภาวะคับขันและประสบกับอุปสรรคปัญหา เจ้าจงดำรงนมาซ “เจ้าจงขอความช่วยเหลือด้วยความขันติ และนมาซ” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๔๕)
บรรดามวลมิตรแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) จะใช้นมาซเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจขั้นสุดท้ายเสมอดังเช่นเหตุการณ์ในแผ่นดิน กัรบะลา เมื่อตอนบายของวันที่ ๙ มุฮัรรอม กองทัพของยะซีดได้เคลื่อนพลมายังที่พักของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ท่านอิมามได้กล่าวกับพวกเขาว่า ขอให้เลื่อนเวลาสู้รบออกไปอีก ๑ คืน เพราะฉันรักและปรารถนาที่จะปฏิบัตินมาซ โดยเฉพาะคืนนี้ฉันต้องการทำอิบาดะฮฺจนถึงเช้า

บ่าวที่เป็นกัลยาณชนของอัลลอฮฺ (ซบ.) มิใช่นมาซที่เป็นวาญิบอย่างเดียวที่พวกเขารักและหวงแหน ทว่านมาซที่เป็นมุสตะฮับด้วยเช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนมาซมุสตะฮับนั้นเป็นเครื่องหมายของคนที่รักนมาซ เพราะในบางครั้งอาจเป็นไปได้ว่า คนที่ทำนมาซเนื่องจากมีความเกรงกลัวต่อการลงโทษแต่นมาซมุสตะฮับ มิใช่ความหวาดกลัวแต่เป็นความรักที่มีต่อพระองค์และนมาซ

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรักย่อมมีความปรารถนาที่จะพูดคุยและอยู่ ใกล้ชิดกับคนรักของตนตลอดเวลา ไม่ยอมที่จะพรากจากกัน ฉะนั้นเป็นไปได้อย่างไรที่มุสลิมคนหนึ่งกล่าวอ้าวว่า ตนรักอัลลอฮฺ (ซบ.) อย่างมากแต่ไม่มีอารมณ์ที่จะสนทนาด้วย
แน่นอนการที่เขาไม่ยอมนมาซหรือไม่เคยใส่ใจต่อนมาซนาฟิละฮฺเลยนั้น มิใช่ว่าเขาจะไม่มีเหตุผล ริวายะฮฺได้กล่าวว่าสาเหตุที่เขาเป็นเช่นนั้นเพราะ การกระทำความผิดบาปในตอนกลางวันมันได้กลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นมิให้เขาผู้ นั้นได้มีโอกาสปฏิบัตินมาซ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๓ หน้าที่ ๑๒๒)

อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่ปฏิบัตินมาซนาฟิละฮฺเท่ากับเราไม่มีเกียรติ แล้วเราจะขอเกียรติจากพระองค์เพื่อการใด คนเราเมื่อรักความสะอาด ตัวเองต้องสะอาดด้วย

ริวายะฮฺ กล่าวว่า “นมาซนาฟิละฮฺ คือ สิ่งที่จะมาต่อเติมความบกพร่องของนมาซวาญิบ (ตับสีรฺอะฏีบุ้ลบัยยอน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๖๑)
ได้มีคนหนึ่งถามท่านอิมาม (อ.) ว่า “ขณะปฏิบัตินมาซ จิตใจของฉันไม่มีสมาธิเลย ฉันจึงไม่เคยได้รับบะระกัตของนมาซจะให้ฉันทำอย่างไรดี” ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “ท่านจงทำนมาซนาฟิละฮฺซิ เพราะจะได้ช่วยต่อเติมความบกพร่องและส่วนที่ขาดหายไปของนมาซวาญิบ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้นมาซวาญิบถูกตอบรับอีกต่างหาก”

และด้วยกับบะระกัตของนมาซนาฟิละฮฺนี้เองบรรดามวลมิตรของพระผู้เป็นเจ้า นอกจากจะเคร่งครัดต่อนมาซวาญิบแล้ว พวกเขายังให้ความกระตือรือร้นต่อนมาซนี้อย่างมาก อีกทั้งได้ออกห่างจากอุปสรรคนานาประการที่คอยรบกวนและแทรกแซงวิถีทางพัฒนา จิตวิญญาณให้สูงส่งของพวกเขา อาทิเช่น รับประทานอาหารมาก , พูดมาก, นอนมาก, รับประทานสิ่งที่เป็นหะราม ทำในสิ่งไร้สาระที่เป็นเหตุให้ลุ่มหลงดุนยา และการกระทำอื่นที่เป็นเหตุทำให้เขาเบื่อหน่ายต่อการปฏิบัติอิบาดะฮฺและนมาซ

อัล-กุรอานกล่าวว่า
“แท้จริงแล้ว (นมาซ) เป็นภารกิจที่หนักอึ้ง (สำหรับพวกกลับกลอก) ยกเว้นบรรดาพวกที่มีความอ่อนน้อม” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๔๕)

๔.ตัวการในการอบรม

แม้ว่านมาซจะเป็นความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณโดยมีเป้าหมายเพื่อการระลึกถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) แต่อิสลามปรารถนาที่จะทำการอบรมจิตวิญญาณให้อยู่ในกรอบตามแบบฉบับของพระองค์ ด้วยเหตุนี้จึงพบว่ามีการกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขมากมายเกี่ยวกับนมาซ อาทิเช่น ความถูกต้องของนมาซ เงื่อนไขที่ตอบรับ และเงื่อนไขที่สมบูรณ์

ส่วนร่างกายและเสื้อผ้าต้องสะอาดปราศจากการเปรอะเปื้อนนะญิส ต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ อ่านออกเสียงถูกต้อง เสื้อผ้าและสถานที่ต้องได้รับอนุญาต สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับร่างกายมิใช่จิตวิญญาณ

ขณะที่อิสลามได้กำหนดอิบาดะฮฺไว้บนเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อให้ประชาชาติ เป็นผู้มีความสะอาดและดูแลรักษามัน ตลอดจนต้องเป็นผู้รักความเสรีภาพและพึงรักษาสิทธิของคนอื่น
อิสลามได้สอนว่า เงื่อนไขในการตอบรับนมาซคือ สำรวมจิตใจให้มีสมาธิมั่นคง การยอมรับอิมามผู้บริสุทธิ์ จ่ายคุมส์ และบริจาคซะกาตแก่คนยากจนที่มีสิทธิในซะกาซนั้น ส่วนการปฏิบัตินมาซให้ตรงเวลา ปฏิบัติในมัสญิดเป็นรูปญะมาอัต สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ฉีดน้ำหอม แปรงฟัน และรักษาระเบียบของแถวญะมาอัต เหล่านี้เป็นเงื่อนไขที่สมบูรณ์ของนมาซ ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงกฎเกณฑ์ จะพบว่าในความเป็นจริงแล้ว กฎเหล่านี้คือ แผนการในการอบรมมนุษย์ให้ไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

ขณะปฏิบัตินมาซ ท่านจะยืนหันหน้าไปทางไหนก็พบอัลลอฮฺ (ซบ.) ทั้งนั้น เพราะอัล-กุรอานยืนยันว่า “ไม่ว่าเจ้าจะหันหน้าไปทางไหนก็จะพบกับอัลลอฮฺ” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๑๑๕)

แต่เพื่อเป็นการประกาศต่อชาวโลกถึงความเป็นเอกภาพและการมีน้ำหนึ่งใจ เดียวกันของประชาชาติอิสลามและการดำเนินชีวิตให้ไปในทางทิศเดียวกัน จึงกำหนดว่า มุสลิมทุกคนต้องหันหน้าไปทางกิบละฮฺ อันเป็นสถานตั้งวิหารกะอฺบะฮฺ และทำไมต้องเป็นอัล-กะอฺบะฮฺด้วย

· เพราะกะอฺบะฮฺ คือ สถานที่แรกที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาชาติประกอบอิบาดะฮฺ อัล-กุรอานกล่าวว่า “บ้านหลังแรกที่ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อมวลมนุษย์ ได้แก่ อัล-กะอฺบะฮฺ เป็นบ้านที่จำเริญ” (อาลิอิมรอน/๑๖)
· ผู้ก่อตั้งกะอฺบะฮฺ และซ่อมแซม คือ บรรดาศาสดาทั้งหลาย ดังนั้น การหันหน้าไปทางกะอฺบะฮฺเท่ากับเป็นการร่วมมือและประสานใจกันทางมัซฮับ (ศาสนา) นับตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
· กะอฺบะฮฺ คือ สัญลักษณ์ของความเป็นเสรีภาพและปลอดภัย เพราะในยุคแรกของอิสลามมุสลิมทำนมาซโดยหันหน้าไปทาง บัยตุ้ลมุก็อดดิส บรรดายะฮูดีและนัศรอนีต่างพากันพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามว่า พวกมุสลิมไม่มีกิบละฮฺเป็นของตัวเอง เวลาประกอบอิบาดะฮฺต้องหันหน้ามาทางกิบละฮฺของเรา ทำให้มองดูว่า บรรดามุสลิมไม่มีเสรีภาพเป็นของตนเอง อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงประทานโองการมาว่า “เจ้าจงผินหน้าไปทางมัสญิดุ้ลหะรอมเถิด และไม่ว่าพวกเจ้าจะอยู่ ณ ที่ใดพวกเจ้าก็จงผินหน้าไปทางนั้น ทั้งนี้เพื่อพวกเขาจะได้ไม่มีข้อโต้แย้งแก่พวกเจ้า” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๑๕๐)
ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่า กะอฺบะฮฺ คือสัญลักษณ์ของเสรีภาพและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและทั้งหมดที่กล่าวมาล้วน เป็นบทเรียนที่อยู่ในแผนของนมาซทั้งสิ้น

๕.การบำบัดจิต

ปัจจุบันจะพบว่าสถิติของคนเป็นโรคจิต มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างหน้าเป็นห่วง บรรดาจิตแพทย์ทั้งหลายต่างวิเคราะห์ ถึงสาเหตุและวิธีรักษา กระนั้นก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งมันได้เพราะจิตมนุษย์ฟุ้งซ่านตลอดเวลา สิ่งจำเป็นคือ การแสงหาวิธีการดับจิตและทำอย่างไรจึงจะสามารพควบคุมจิตได้ อิสลามจึงได้แนะนำ นมาซให้กับมนุษย์เพราะในความเป็นจริงแล้ว นมาซก็คือการนำจิตวิญญาณเข้าเฝ้าอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นการดับความฟุ้งซ่านและรักษาสัมมาสมาธิให้กับตน

ท่านอิมามซัยนุ้ลอาดีน (อ.) ได้กล่าวไว้ใน มะนาญาตซากิรฺ เกี่ยวกับจิตที่ฟุ้งซ่านที่พรรณนาถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) ว่า “ข้าแต่พระองค์ ข้าฯ ขอฟ้องต่อพระองค์ว่าจิตของข้าฯ ชอบทำตามอารมณ์และหนีความจริงเสมอ”

ความมหัศจรรย์ของบรรดาศาสดา (ศ็อลฯ) คือการแสดงภาระกิจที่เหนือธรรมชาติ โดยได้รับอนุญาตจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ดังนั้น การที่กล่าวว่า “การเคารพภักดีที่บริสุทธิ์ใจ คือพลังที่แข็งแรงซึ่งได้มาจากพระผู้อภิบาล” หมายถึง อำนาจที่มีอยู่เพื่อสรรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นผลมาจากการเคารพภักดีที่มีต่อ พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

หะดีษกล่าวว่า“อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสว่า มนุษย์สามารถใกล้ชิดกับข้าได้ด้วยกับการปฏิบัติ อมั้ลที่เป็นมุสตะฮับ และนมาซนาฟิละฮฺต่าง ๆ และกลายเป็นที่รักของข้าในที่สุด และถ้าเขาไปถึงยังตำแหน่งดังกล่าว ข้าจะเป็น ตา เป็นหูเป็นลิ้น และเป็นแขนขาให้กับการเคลื่อนไหวของเขาจึงเป็นการเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมาย เพื่อข้า” เหมือนกับตำแหน่งของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่อัล-กุรอานกล่าวว่า “แท้จริงการนมาซของฉัน อิบาดะฮฺของฉัน ชีวิตของฉัน และความตายของฉัน ล้วนเพื่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก” (อัล-อินอาม/๑๖๒) “ในสภาพเช่นนี้เมื่อใดที่เขาดุอาอฺของเขา และเมื่อใดที่เขาเรียกร้องหรือวิงวอนข้าจะตอบรับเขา” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๒๒)

๑๑. ภาพลักษณ์ของนมาซ

ไม่ว่าจะเขียนหรืออธิบายด้วยปากเปล่าถึงนมาซมากเพียงใดก็ตาม ดูเหมือว่าเรายังมิได้พูดถึงสิทธิที่แท้จริงของนมาซเลย และเป็นไปได้อย่างไร แค่เพียงคำพูดหรือบทความเพียงสองสามประโยคจะสามารถอธิบายเป้าหมายที่แท้จริง ของนมาซอันเป็นเสาหลักของศาสนา, ธงชัยของอิสลาม, ของกำนัลของบรรดาศาสดา (อ.) และเป็นมาตรฐานของการตอบรับอมั้ลอื่น ๆ ของมนุษย์ ให้เข้าใจได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ตรงนี้ต้องยอมรับว่ามนุษย์อาจอธิบายวัตถุประสงค์บางประการ และความหมายคร่าว ๆ ของนมาซได้แต่มิใช่ทั้งหมดอาทิเช่น
· นมาซคือกิจวัตรประจำวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น, เพราะเมื่อมนุษย์ตื่นขึ้นในตอนเช้า คำพูดแรกที่เป็นวาญิบสำหรับเขาคือ นมาซ และเมื่อพลบค่ำคำพูดสุดท้ายที่เป็นวาญิบก็เป็นนมาซอีกเช่นกัน ดังนั้นการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของมนุษย์ จึงเริ่มต้นด้วยการระลึกถึงพระองค์และเป็นไปเพื่อพระองค์

· จะอยู่ระหว่างเดินทางหรือพำนึกอยู่กับที่, อยู่บนพื้นดิน หรืออยู่ในอากาศ เป็นยาจก หรือเป็นเศรษฐีต้องทำนมาซเหมือนกันทุกคน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดและเป็นใครก็ตามต้องเคารพภักดีเฉพาะพระองค์เท่านั้นมิใช่ สิ่งอื่น

· นมาซคือวิสัยทัศน์และอุดมคติของมุสลิมเพราะในนั้นได้อธิบายความเชื่อศรัทธา แนวความคิด, ความปรารถนาและแบบอย่างอันดีงามไว้

· นมาซให้การสนับสนุนที่มั่นคงต่อคุณค่าและเกียรติยศที่สูงส่ง ขณะเดียวกันนมาซปฏิเสธการทำลายและขายคุณค่าของตนเองและสังคม เพราะเมือวัสดุชั้นหนึ่งไม่ได้มาตรฐาน อาคารจะคงทนอยู่ได้อย่างไร

· อะซานนมาซคือภาพสะท้อนของความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า และความเป็นเอกภาพของมุสลิม เมื่ออะซานได้ถูกประกาศขึ้นความต่างของสีผิว เชื้อชาติ และวรรณะได้ถูกสลัดทิ้งทันที เพราะอะซานได้เรียกให้ทุกคนมาสู่นมาซยืนอยู่ในแถวเดียวกันหลังอิมามที่มี ความยุติธรรม

· อิมามญะมาอัตต้องเอาใจใส่คนที่อ่อนที่สุดของสังคม ซึ่งเป็นการเตือนสำทับว่าการตัดสินใจในกิจการของสังคมต้องไม่ลืมชนชั้นที่ อ่อนแอ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ยินเสียงเด็กร้องขณะที่ท่านทำนมาซอยู่ ท่านได้รีบทำจนเสร็จเพราะว่าหากมารดาของเด็กร่วมนมาซอยู่ด้วยจะได้รีบไปดูแล ลูกของเธอ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๘ หน้าที่ ๔๑/๙๓

· คำสั่งแรกที่พระองค์ไปบัญชาออกมาหลังจากการสร้างมนุษย์ คือ การสุญูด เพราะพระองค์ได้สั่งให้มวลมะลาอิกะฮฺ สุญูดท่านศาสดาอาดัม (อ.) ตรัสว่า “พวกเจ้าสุญูดอาดัมเถิด”

· สถานที่แรกของโลกที่โผล่ขึ้นจากน้ำหลังจากน้ำได้ถ่วมโลกและกลายเป็นสถานที่ อิบาดะฮฺ คือ มักกะฮฺ

· ภารกิจแรกของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) หลังจากอพยพไปยังมะดีนะฮฺ คือ การสร้างมัสญิด

· นมาซเป็นอมั้ลที่ทำการเชิญชวนไปสู่ความดีและห้ามปรามความชั่วในเวลาเดียวกัน ทุกๆวันเราจึงได้ยินว่า “จงเร่งรีบสู่การนมาซ” “จงเร่งรับสู่การกระทำที่ดีที่สุด” อีกด้านหนึ่งนมาซเป็นอะมั้ลที่หักห้ามมนุษย์ออกจากความชั่วทั้งหลาย อัล-กุรอานกล่าวว่า “แท้จริงนมาซจะยับยั้งความชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย” (อัล-อังกะบูต/๔๖)

· นมาซเป็นการเคลื่อนไหวบนความปรารถนาแห่งความรู้จักพระผู้เป็นเจ้า การปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์และเพื่อพระองค์ ด้วยเหตุนี้ อัล-กุรอานจึงห้ามว่า “สูเจ้าอย่าปฏิบัตินมาซขณะมึนเมา” หรือ “เกียจคร้าน” (อัน-นิสาอฺ ๔๓/๑๔๒) เพราะต้องการให้มนุษย์มีสมาธิที่สุดขณะปฏิบัติ

· นมาซเป็นการประชาสัมพันธ์ เพราะบัญญัติของอิสลามกล่าวว่า ต้องมีการจัดนมาซญุมอะฮฺทุก ๆ สัปดาห์ ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งของนมาซญุมอะฮฺ คือ ต้องกล่าวคุฏบะฮฺ (คำเทศนา) ก่อนนมาซ ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า “คุฎบะฮฺนมาซญุมอะฮฺจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในทุก ๆ เรื่อง” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๔๙ หน้าที่ ๒๐๑)

· นมาซคือการดับตัวตนเพื่อไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า “ใครก็ตามได้ออกจากบ้านเรือนของตนโดยมุ่งอพยพไปสู่อัลลอฮฺและศาสนทูตของ พระองค์ ต่อมาความตายได้มาสู่เขา แน่นอนรางวัลของเขาได้ถูกจัดเตรียมไว้แล้ว ณ อัลลอฮฺ” (อัน-นิสาอฺ/๑๐๐)

ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) กล่าวว่า “ความหมายหนึ่งของโองการ คือ การอพยพออกจากจิตของตนเพื่อไปพบกับอัลลอฮฺ (ซบ.) หมายถึง การออกห่างจากการถืออัตตาตัวตน เห็นแก่ตัวและการถือตนเป็นใหญ่ไปสู่การภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ความปรารถนาในพระองค์ และเพื่อพระองค์ซึ่งถือว่าเป็นการอพยพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” (อัสรอรุส-เศาะลาฮฺ หน้าที่ ๑๒)

· นมาซอยู่ในฐานะของนามที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ (ซบ.) ทว่ามันคือนามของพระองค์

· นมาซเป็นคำอธิบายถึงเกียรติยศของอัลลอฮฺ และความต่ำต้อยของมนุษย์

· นมาซเป็นธงชัยของอิสลาม หะดีษกล่าวว่า “ธงชัยของอิสลามคือ นมาซ (กันซุ้ลอุมาล หะดีษที่ ๑๘๘๗๐)

ธง คือสัญลักษณ์ของประเทศ นมาซ คือสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิม ธงชาติย่อมได้รับการเคารพเสมอ ถ้าหากใครดูถูกธงชาติ เท่ากับได้ดูถูกประชาชนของประเทศนั้น ดังนั้นการไม่สนใจต่อนมาซเท่ากับว่า มิได้สนใจคำสอนของศาสนาทั้งหมด ตราบใดที่ธงชาติยังชูอยู่บนยอดเสาแสดงว่าประเทศนั้นยังมีอำนาจทางการเมือง และการปกครองอยู่ นมาซก็เช่นกัน ตราบที่ยังมีผู้ปฏิบัตินั้นหมายถึงว่า อิสลามยังมีชีวิตอยู่

๑๒. นมาซกับอัล-กุรอาน

มีหลายที่ด้วยกันที่นมาซกับอัล-กุรอานถูกกล่าวพร้อมกัน อาทิเช่นกล่าวว่า “จงอัล-เชิญมหาคัมภีร์อัล-กุรอานและจงดำรงนมาซ” (อัล-ฟาฏิร/๒๙)
บางโองการกล่าวว่า “พวกเขาได้ยึดมั่นในคัมภีร์และดำรงนมาซ” (อัล-อะอฺรอฟ / ๑๗๐)
ในบางครั้งทั้งนมาซและอัล-กุรอานถูกอธิบายด้วยคำ ๆ เดียวกันคือ อัซ-ซิกรฺ อัล-กุรอานกล่าวว่า “แท้จริงเราได้ประทานอัซ-ซิกรฺลงมา (อัล-กุรอาน) (อัล-หิจรฺ/๙)
และอัซ-ซิกรฺถูกอธิบายว่าเป็นปรัชญาของนมาซ อัล-กุรอานกล่าวว่า “จงดำรงนมาซเพื่อระลึกถึงข้า” (อัซ-ซิกรี) (ฏอฮา / ๑๔)

นอกเหนือไปจากนี้ ในบางครั้งอัล-กุรอานใช้คำว่า “กุรอาน- แทนที่นมาซ เช่นโองการที่ ๗๘ ซูเราะฮฺ อัล-อิสรอ กล่าวว่า “แท้จริง กุรอานในยามรุ่งอรุณย่อมได้รับการยืนยัน” จุดประสงค์ของอัล-กุรอานในยามรุ่งอรุณ หมายถึง นมาซศุบฮฺ นั่นเอง

การอ่านอัล-กุรอาน ซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺและซูเราะฮฺ – เป็นหนึ่งในวาญิบของนมาซ ขณะที่นมาซถูกกล่าวไว้มากมายทั้งในซูเราะฮฺที่ยาวที่สุด (อัล-บะกอเราะฮฺ) และซูเราะฮฺที่สั้นที่สุด (อัล-เกาษัร)

นมาซกับการกิศอศ(ชำระโทษ)
มิใช่ศาสนาอิสลามเพียงอย่างเดียวที่กล่าวถึงเรื่องการชำระโทษ แต่เกือบทุกศาสนาได้กล่าวถึงสิ่งนี้เอาไว้ เช่นถ้ามีใครสักคนตัดหูของคนคนหนึ่งขาด เขาจะต้องถูกลงโทษโดยการตัดหูให้ขาดไปเช่นกัน หรือทำฟันของคนอื่นหัก เขาต้องถูกลงโทษด้วยประการเดียวกัน การทำเช่นนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทางสังคม หรือขโมยต้องถูกลงโทษตัดนิ้วมือสี่นิ้ว โดยเหลือฝ่ามือเอาไว้เพื่อทำสุญูด อัล –กุรอานกล่าวว่า “บริเวณลงสัจญะดะฮฺเป็นของอัลลอฮฺ” (อัล-ญิน /๑๘)

เพราะขณะลงสุญูดฮฺต้องให้ฝ่ามือแนบกับพื้น ด้วยเหตุนี้จะเห็นแม้แต่การลงโทษขโมยยังจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องนมาซและการสุญูด โดยมีคำสั่งว่าต้องเหลือฝ่ามือเอาไว้เพื่อสิทธิในการปฏิบัติอิบาดะฮฺแม้ว่า คนผู้นั้นจะเป็นขโมยก็ตาม




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

๑๓. อิบาดะฮฺกับวิลายะฮฺ
อิบาดะฮฺมีคุณค่าต่อเมื่อมิใช่อิบาดะฮฺเพียงเปลือกนอก แต่ต้องเป็นอิบาดะฮฺที่มีมารยาทธรรมเนียมและเปี่ยมด้วยความนอบน้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตั้งบนพื้นฐานของการรู้จักผู้นำ

อิมามอะลี (อ.) ต้องเผชิญกับกลุ่มชนที่สุดโต่งในวิถีศาสนา ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า หน้าผากของพวกเขาด้านหนาอันเป็นผลมาจากการทำสัจญะดะฮฺมาก คนกลุ่มนี้รู้จักกันในนามของพวกมาริกีน และพวกคอวาริจญ์ ซึ่งต่อมาพวกเขาได้เป็นปรปักษ์และจับดาบขึ้นต่อสู้กับท่านอิมาม (อ.) ริวายะฮฺได้กล่าวไว้เช่นกันว่า “เมื่อท่านอิมามมะฮฺดี (อ.)ปรากฏกาย จะมีบางกลุ่มที่เคลื่อนตัวจากมัสญิดเพื่อทำการต่อต้านท่าน

โปรดอย่าได้คิดว่าเหล่าทหารของยะซีด (ขออัลลอฮฺสาปแช่งเขา)ที่รุมสังหารท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.)ในแผ่นดินกัรบะลาเป็นผู้ละทิ้งนมาซ ตรงกันข้าม พวกเขามีความเคร่งครัดต่อนมาซญะมาอัตอย่างยิ่ง มุอาวิยะฮฺและยะซีดเองก็เคยนำนมาซญะมาอัตมาแล้วทั้งสิ้น

แน่นอนว่าอิบาดะฮฺที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเขลา ย่อมทำให้คนๆหนึ่งเห็นการสังหารท่านนักอิบาดะฮฺที่เคร่งครัดที่สุดอย่างท่านอลี (อ)กลายเป็นอิบาดะฮฺที่ยิ่งใหญ่ ถึงขั้นเหนียตอิบาดะฮฺในค่ำลัยละตุ้ลก็อดรฺก่อนลงมือสังหารท่านอิมามอะลี(อ.)

มิใช่นมาซเพียงอย่างเดียวที่ต้องรู้จักว่าใครคือผู้นำที่ถูกต้อง และเป็นวาญิบต้องปฏิบัติตามเขา อิบาดะฮฺอื่นๆก็เช่นเดียวกัน ริวายะฮฺกล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้กำหนดให้หัจญ์เป็นวาญิบสำหรับมุสลิม เพื่อให้ประชาชนได้มารวมตัวกัน ที่กะอฺบะฮฺ และ ณ สถานที่แห่งนี้พวกเขาจะได้มีโองการติดต่อและเยี่ยม คารวะ อิมามของพวกเขา แต่ ณ วันนี้ผู้เดินทางไปแสวงบุญจำนวนนับล้านคนปราศจากผู้นำที่แท้จริงจึงทำให้ขาดความเป็นปึกแผ่น และแม้จะมีศูนย์รวมจิตใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวและมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงถูกยิวเพียงหยิบมือเล่นงานอยู่เรื่อยไป

แน่นอนว่าอิสลามประกอบขึ้นจากองคาพยพที่มิอาจแยกออกจากกันได้ ดังนั้นนมาซที่ปราศจากวิลายะฮฺ และนมาซที่ปราศจากการบริจาคซะกาต เป็นนมาซที่ไม่ถูกยอมรับ ส่วนการบริจาคที่ปราศจากนมาซก็ไม่ถูกยอมรับเช่นกัน คำสั่งของอิสลามเปรียบเหมือนอวัยวะของร่างกายที่ไม่อาจรับหน้าแทนกันและกันได้ เช่น ตาไม่อาจทำหน้าที่แทนหูและหูก็ไม่อาจทำหน้าที่แทนมือ อิสลามก็เช่นกัน นมาซไม่อาจแทนที่การบริจาคซะกาตได้และทั้งสองก็ไม่อาจแทนที่การญิฮาด (ต่อสู้บนวิถีทางของพระผู้เป็นเจ้า ) ได้เหมือนกัน เพราะทั้งหมดเหล่านี้เมื่อรวมกันแล้วคือ อิสลาม ซึ่งไม่อาจขาดอย่าหนึ่งอย่างใดไปได้

นมาซกับประเด็นผู้นำ
แน่นอนหากนมาซถูกปฏิบัติโดยผู้นำที่ถูกต้อง อำนาจของบรรดาฏอฆูต และพวกฉ้อฉลทั้งหลายจะถูกสั่นคลอน ดังเช่น ครั้งหนึ่งท่านอิมามริฎอ (อ.)ได้มีโอกาสนำนมาซอีด เพียงขึ้นตอนแรกเริ่มอันยิ่งใหญ่ก่อนพิธีนมาซก็ทำให้บัลลังก์ทรราชบนีอับบาสสั่นสะเทือน พวกเขาเข้าใจทันที่ว่าถ้าหากปล่อยให้ท่านอิมาม (อ.) นำนมาซจนจบราชวงศ์และการปกครองของเขาก็จะจบสิ้นได้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้มะอฺมูนจึงได้ออกคำสั่งให้นำตัวท่านอิมามกลับกลางทาง เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับราชวงศ์ของเขา

ฉะนั้นเหตุผลที่ว่า นมาซของมุสลิมทุกวันนี้ ไม่ส่งผลสะท้อนใดๆทั้งสิ้น เป็นเพราะว่า พวกเขาได้ปฏิบัติตามอัล-กุรอานเพียงครึ่งเดียวส่วนอีกครั้งได้ทอดทิ้งและหลง ลืม อัล-กุรอานกล่าวว่า “พวกเจ้าจงดำรงนมาซ จงจ่ายซะกาต และจงภักดีต่อรอซูล” (อัน – นูร /๕๖)

ทุกวันนี้จะสังเกตเห็นว่า มุสลิมบางคนทำนมาซแต่ไม่จ่ายซะกาต บางคนทำทั้งสองอย่างแต่ยอมรับอำนาจของกาฟิร อีกความหมายหนึ่งก็คือ มีอีมานต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) แต่ไม่ยอมปฏิเสธพวกฏอฆูต ซึ่งอีมานประเภทนี้ถือว่าเป็นอิมานที่ไม่สมบูรณ์

ขณะที่อัลลอฮฺ (ซ.บ) ตรัสว่า “ดังนั้นผู้ใดปฏิเสธฏอฆูตและมีศรัทธาต่ออัลลอฮฺ เท่ากับเขาได้ยึดมั่นต่อสายเชือกที่มั่นคง” (อัล-บะกอเราะฮฺ /๒๕๖)

อัล-กุรอานต้องการบอกว่า การปฏิเสธฏอฆูต กับการมีอีมานต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ถือเป็นความจำเป็นแต่หน้าเสียดายที่ว่า วันนี้บรรดามุสลิมได้ลืมการประณามและสาปแช่งบรรดาผู้ปฏิเสธและมารร้ายไปจนหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้ อัล-กุรอานจึงกล่าวกับพวกที่ยอมจำนนต่อบรรดาผู้อธรรมว่าพวกเขา"นึก"ว่าพวกเขามีอีมาน

อัล-กุรอานกล่าวว่า
“เจ้าไม่สังเกตดอกหรือว่า บรรดาพวกที่อ้างตัวว่า พวกเขามีความศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานมายังเจ้า และสิ่งที่ถูกประทานมาก่อนหน้าเจ้า พวกเขามีความปรารถนาที่จะมอบหมายการตัดสิน (ในข้อพิพาท) แก่มารร้ายทั้งที่พวกเขาถูกบัญชาให้ปฏิเสธมัน” (อัน-นิ สาอฺ / ๖๐)

๑๔. ระดับชั้นของอิบาดะฮฺ
ถ้าถามเด็กๆว่าเพราะเหตุใดจึงรักบิดามารดา พวกเขาจะตอบว่า เพราะท่านทั้งสองซื้อขนม,เสื้อผ้า,และรองเท้าให้ แต่ถ้าถามวัยรุ่นว่าทำไมจึงรักบิดามารดา พวกเขาจะตอบว่า เพราะท่านทั้งสองมีบุญคุณให้การเลี้ยงดูเป็นแบบอย่างในการอบรมสั่งสอน และเป็นห่วงเป็นใย

ยิ่งพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากเท่าใด ความผูกพันธ์ต่อบุพการีก็ยิ่งน่าประทับใจมากขึ้น พวกเขาจะไม่คิดถึงรองเท้าและขนมอีก บุตรหลายคนถือว่าการรับใช้บิดามารดาคือหนทางสู่ความสำเร็จและไม่สนใจสิ่งตอบแทนอันเป็นวัตถุ

การปฏิบัติอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺก็เหมือนกัน มนุษย์แต่ละคนทำอิบาดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต่างกัน อิบาดะฮฺจึงมีระดับขั้นที่แตกต่าง อาทิเช่น

๑. กลุ่มชนที่ทำอิบาดะฮฺ เพราะต้องการขอบคุณในนิอฺมัตของพระองค์ ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า “ดังนั้นพวกเขาพึงทำอิบาดะฮฺต่อพระผู้อภิบาลแห่งบ้านหลังนี้ ผู้ซึ่งได้ประทานอาหารแก่พวกเขาเพื่อขจัดความหิวโหย และประทานความปลอดภัยเพื่อขจัดความหวาดกลัว”(อัล-กุรอยซ์ / ๓)
อิบาดะฮฺประเภทนี้จึงเรียกว่า เป็นอิบาดะฮฺแห่งการขอบคุณ ซึ่งเหมือนกับเด็กที่รักบิดามารดาของตนเพราะท่านทั้งสองซื้อขนมและรองเท้าให้

๒. กลุ่มชนที่สองทำอิบาดะฮฺเพราะคุณประโยชน์และบะรอกัตของอิบาดะฮฺ พวกเขาได้พิจารณาไปที่คุณประโยชน์ที่มีต่อจิตวิญญาณของนมาซ ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า “แท้จริงการนมาซจะยับยั้งความชั่วร้ายและสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย” (อัล-อังกะบูต / ๔๕)
อิบาดะฮฺประเภทนี้เรียกว่า เป็นอิบาดะฮฺแห่งความเจริญเติบโต เหมือนกับความรักของเด็กวัยรุ่นที่มีต่อบิดามารดา ในฐานะที่ท่านทั้งสองให้การอบรมเลี้ยงดู และคอยดูแลมิให้พวกเขาต้องหลงทางออกไป จึงแสดงความเคารพต่อท่าน

๓.เป็นอิบาดะฮฺที่สูงกว่าสองประเภทแรก ดังเช่นที่พระองค์ได้ตรัสกับท่าน นบีมูซา (อ.) ว่า “เจ้าจงดำรงนมาซเพื่อระลึกถึงข้า” ฏอฮา / ๑๔
ท่านนบีมูซา (อ.) มิได้ดำรงนมาซ เพราะอาหารและน้ำที่พระองค์ประทานให้ มิใช่เพราะท่านมีความปรารถนาที่จะออกห่างจากความชั่วและสิ่งต้องห้าม เพราะในความเป็นจริงท่านนั้นห่างไกลจากทั้งสองอยู่แล้วและในฐานะที่ท่านเป็นศาสดา ทว่าท่านดำรงนมาซเพราะความผูกพันและปรารถนาที่จะระลึกถึงพระองค์ ดังนั้นเหตุผลที่ดีที่สุด ในการปฏิบัติอิบาดะฮฺของบรรดาเอาลิยาอฺ (มวลมิตรแห่งอัลลอฮฺ) คือความรักและผูกพันธ์นั่นเอง

แน่นอนเด็กที่เข้าร่วมในงานเลี้ยงต่างๆมักนั่งใกล้กับผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้มีชื่อเสียง เพื่อจะได้ลิ้มรสอาหารดีๆเหมือนกับผู้ใหญ่ แต่บางคนมิได้มีความคิดเช่นนี้ พวกเขามีความปรารถนาที่จะได้ประโยชน์จากความรู้ และจริยธรรมที่สูงส่งในตัวของนักปราชญ์ต่างหาก มิได้คิดถึงเรื่องวัตถุ และอาหารการกินแต่อย่างใด สำหรับพวกเขาแล้วแค่เพียงรู้จักมักคุ้นกับนักปราชญ์เท่านั้นก็ถือว่ามี เกียรติและคุณค่ามากมาย

๔. ระดับที่สี่เป็นอิบาดะฮฺที่ดีและสูงส่งที่สุด พวกเขามิได้ประกอบอิบาดะฮฺเพราะความผูกพันธ์ การเติบโตและการขอบคุณ ทว่าเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์เท่านั้น

อัล-กุรอานกล่าวว่ามีอยู่สี่โองการเมื่ออ่านแล้วเป็นวาญิบต้องสัจญะดะ ฮฺทันที ซึ่งหนึ่งในโองการเหล่านั้นให้สัจญะดะฮฺ เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ อัล-กุรอานกล่าวว่า “เจ้าจงสุญูด และจงแสวงหาความใกล้ชิดเถิด” (อัล-อะลัก/โองการสุดท้าย)

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “อิบาดะฮฺที่ดีที่สุดคือ อิบาดะฮฺที่มิได้ทำเพราะความหวาดกลัวต่อไปไฟนรกหรือเพื่อหวังผลผลรางวัลเป็น การตอบแทน แต่ทำเพราะต้องการแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์”

๑๕. ภาพลักษณ์ของอิบาดะฮฺ
- อิบาดะฮฺและการแสดงความเคารพภักดีนั่นเองที่ได้นำท่านศาสดา (ศ็อลฯ)ขึ้นอิสรอมิอฺรอจญ์ อัล-กุรอานกล่าวว่า
“มหาบริสุทธิ์ยิ่ง (แด่อัลลอฮฺ) ผู้ซึ่งนำบ่าวของพระองค์ เดินทางในยามค่ำคืน จากมัสญิดอัลหะรอม จนถึงมัสญิดอัลอักศอ ” (ซูเราะฮฺบะนีอิสรออีล : ๑)

- อิบาดะฮฺ เป็นสื่อที่ทำให้มวลมะลาอิกะฮฺถูกส่งลงมา อัล-กุรอานกล่าวว่า “เราได้ประทานแก่บ่าวของเรา” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๒๓) หมายความว่า เราได้ประทานวะฮีย์โดยผ่านมะลาอิกะฮฺญิบรออีล แก่บ่าวของเราคือท่านมุฮัมมัด

- อิบาดะฮฺเป็นเหตุทำให้ดุอาอฺของมนุษย์เราถูกตอบรับ เพราะเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า นมาซคือข้อสัญญาของอัลลอฮฺ (ซบ.) ดังนั้นใครที่ทำนมาซหรือซื่อสัตย์ต่อสัญญาของอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะซื่อสัตย์กับสัญญาของเขา อัลกุรอานกล่าวว่า “เจ้าจงปฏิบัติตามสัญญาของข้าอย่างเคร่งครัด และเจ้าจะปฏิบัติตามสัญญาของเจ้า”

- มนุษย์ที่ปราศจากอิบาดะฮฺ ตกต่ำยิ่งกว่า ก้อนหินและก้อนกรวด ก้อนทราย และบรรดาปศุสัตว์ทั้งหลาย อัลกุรอานกล่าวว่า “และแท้จริงแล้วหินบางก้อนจะล่วงหล่นลงมาเพราะความหวาดกลัวต่ออัลลอฮฺ” อัล-บะกอเราะฮฺ / ๔๖ แต่หน้าเสียดายที่ว่ามนุษย์บางคน แม้ว่าจะอยู่ ณ พระพักตร์ของพระองค์ก็จะไม่ยอมก้มคาราวะ เพราะศักดิ์ศรีจอมปลอม และความจองหอง มันค้ำคออยู่

- อิบาดะฮฺเป็นเครื่องหมายของความตั้งใจและเป็นบุคลิกภาพหนึ่งของมนุษย์ ขณะที่มนุษย์เป็นผู้มีอารมณ์ มีกิเลส และมีความต้องการในทางลบอยู่ตลอดเวลา แต่มนุษย์สามารถควบคุมสิ่งเหล่านั้นพร้อมทั้งมีความตั้งใจจริงยังพระองค์ ถือว่า เป็นผู้ประสบความสำเร็จ ริวายะฮฺได้กล่าวยกย่องคนพวกนี้ว่า มีความประเสริฐกว่ามะลาอิกะฮฺ แม้ว่า มลาอิกะฮฺจะปฏิบัติอิบาดะฮฺตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่นั้นเป็นอิบาดะฮฺของบ่าวผู้ที่ไม่มีอารมณ์ใฝ่ต่ำ จึงไม่มีความปรารถนาไม่มีกิเลสและไม่มีความโกรธ ต่างไปจากอิบาดะฮฺของมนุษย์ผู้มีอารมณ์ใฝ่ต่ำ

- อิบาดะฮฺจะส่งเสริมให้บ่าวผู้ต่ำต้อยไร้ชื่อเสียงบนหน้าแผ่นดิน เป็นผู้มีชื่อเสียงในปรโลกหน้า

- อิบาดะฮฺเป็นสื่อนำพามนุษย์ที่เป็นอณูที่เล็กนิดเดียวไปเชื่อมต่อกับศูนย์ พลังงานที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาล

- อิบาดะฮฺเป็นการดูแลจากเบื้องบน ยังสรรพสิ่งทั้งหลาย

- อิบาดะฮฺเป็นการเปล่งบานของความสามารถต่างๆ ความรักและสัมมาสติที่ซ่อนอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน
- อิบาดะฮฺเป็นอัญมณีที่มีค่าสุดประมาณ ซึ่งมนุษย์ได้รับมาด้วยกับการเลือกสรรและความปรารถนาของตนเอง ต่างไปจากเกียรติยศของวงศ์ตระกูล หรือความสามารถพิเศษที่อยู่ด้านในที่มนุษย์มิได้รับมาด้วยกับการเลือกสรรและ ความปรารถนา

- อิบาดะฮฺเป็นสัญญาใหม่ระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮฺ (ซบ.) และเป็นการชำระล้างชีวิตด้านในของมนุษย์

- อิบาดะฮฺเป็นอุปสรรคของกุนาฮ์ความผิด และเป็นตัวชำระล้างผลของความผิดบาปเพราะการระลึกถึงอัลลอฮฺเป็นการป้องกันมิ ให้มีการสร้างความผิด มิใช่เป็นผู้รู้ในความผิดบาป

- อิบาดะฮฺเป็นการต่อเติมความสมบูรณ์ให้กับจิตวิญญาณ ด้วยกับการระลึกถึงพระองค์แต่ถ้ามนุษย์เติมความสมบูรณ์ด้วยกับการระลึกถึง สิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์ เท่ากับเป็นการอธรรมความเป็นมนุษย์ของตนเอง

- อิบาดะฮฺเป็นการให้เกียรติกับพื้นที่ เช่น มัสญิด วิหารกะอฺบะฮฺ และสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งห้ามเข้าไปยังสถานที่เหล่านั้น ในสภาพที่ร่างกายสกปรกมีมลทินจากการร่วมหลับนอนกับภรรยา และร่วมไปถึงสตรีที่มีรอบเดือน

- อิบาดะฮฺเป็นการแสดงความเคารพ ภักดต่อพระผู้เป็นเจ้าซึ่งตัวของมันถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าแม้ว่า ดุอาอฺและคำวิงวอนของเราจะไม่ถูกยอมรับก็ตาม

- อิบาดะฮฺถูกแนะนำให้กับมนุษย์ทั้งในสภาพที่เขามีความสุขและมีความทุกข์ เช่นครั้งที่พระองค์สัญญากับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า พระองค์จะประทานเกาษัรให้ท่านนั้นทรงแนะนำว่า และเจ้าจงนมาซ อัล-กุรอานกล่าวว่า
“แท้จริงเราได้ประทานเกาษัรฺให้กับเจ้า ดังนั้น เจ้าจงดำรงนมาซเพื่อพระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด” (ซูเราะฮฺอัล-เกาษัรฺ )

และเมื่อมนุษย์ได้เผชิญกับอุปสรรคปัญหาและเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝันต่าง ๆ พระองค์แนะนำไว้เช่นกัน อัล-กุรอานกล่าวว่า “เจ้าจงแสวงหาความช่วยเหลือด้วยกับความอดทนและนมาซ” (อัล-บะกอเราะฮฺ : ๔๕)

๑๖. นมาซต่างๆที่กระทำในยามประสบปัญหา
อิสลามได้แนะนำว่า เมื่อใดก็ตามที่มีอุปสรรคปัญหา หรือมีความปรารถนาบางสิ่งบางอย่าง ให้ปฏิบัตินมาซที่เฉพาะเจาะจงเอาไว้เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น และหนึ่งในนมาซนั้นคือ นมาซญะอฺฟัรฎอยยารฺ

ญะอฺฟัรฎอยยารฺ คือนามของพี่ชายของท่านอิมามอะลี (อ.) ผู้ซึ่งได้เป็นหัวหน้าอพยพไปยังอบิสสิเนีย และสามารถเอาชนะใจของกษัตริย์นะญาชีย์และเหล่าข้าราชบริพารจำนวนมากมายด้วยเหตุผลและมารยาทที่ดีงามทำให้พวกเขาเข้ารับอิสลาม และเป็นผู้วางรากฐานอิสลามในทวีปแอฟริกา

ท่านญะอฺฟัร ได้ถูกฟันแขนขาดทั้งสองข้างในสงครามเมาตะฮฺและอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ตอบแทนรางวัลให้ด้วยปีกสองข้างในสวรรค์ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกท่านว่า ญะฮฺฟัรฎอยยารฺ

ขณะที่ท่านญะอฺฟัรได้เดินนทางกลับจากอบิสสิเนีย ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านว่า “เจ้าปรารถนาให้ฉันมอบรางวัลที่มีค่ายิ่งให้แก่เจ้าหรือไม่ ซึ่งประชาชนส่วนมากคิดว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) คงจะมอบแก้วแหวนเงินทองหรืออัญมณีที่มีค่าอื่น ๆ ให้กับท่านญะอฺฟัรเป็นแน่ จึงแห่กันเข้ามาเพื่อดูของรางวัลของท่านศาสดา แต่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กับกล่าวกับท่านญะอฺฟัรว่า “ฉันขอมอบนมาซเป็นรางวัลให้กับเจ้า หากเจ้าปฏิบัติทุกวัน เจ้าจะได้รับรางวัลจากโลกนี้ หรือได้รับสิ่งที่ประเสริฐกว่า และถ้าเจ้าปฏิวัติทุกวันศุกร์ หรือทุกเดือน หรือทุกปี อัลลอฮฺ (ซบ.) จะลบล้างความผิดของเจ้าระหว่างนมาซดังกล่าวสองครั้ง(แม้ระยะเวลาจะนานนับปีก็ตาม)” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๔๒๑)

ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “ทุกครั้งที่มีอุปสรรคปัญหาหรือมีความปรารถนาบางสิ่งบางอย่าง หลังจากนมาซญะอฺฟัรแล้วให้ขอดุอาอฺ อิชาอัลลอฮฺ ดุอาอฺของท่านจะถูกตอบรับ

นมาซดังกล่าวได้รับรายงานที่เชื่อถือได้ทั้งจากซุนนีและชีอะฮฺ ซึ่งได้รับฉายาว่า “อิกซีรอะอฺซัม” และ “กิบรีตอะหฺมัรฺ” (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๙๑ บาบฟัฎลุ เศาะลาต ฎอยยารฺ)

นมาซญะอฺฟัร เป็นหนึ่งในนมาซมุสตะฮับต่างๆ ที่ช่วยขจัดอุปสรรคปัญหาและยังมีนมาซมุสตะฮับประเภทอื่นอีกมากมาย ประมาณ ๓๕๐ นมาซ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้ถูกรวบรวมเป็นรูปเล่มแล้ว พร้อมทั้งชื่อและวิธีการปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญ และการให้ความกระตือรือร้นเกี่ยวกับนมาซ

วิธีการปฏิบัตินมาซ ญะอฺฟัรฏอยยาร นมาซญะอฺฟัร ฏอยยาร มี ๔ ระกะอัต (ให้ทำทีละ ๒ ระกะอัต) สองระกะอัตแรก หลังจาก ซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺ ให้อ่าน “ซูเราะฮฺ อัซซิ้ลซะละฮฺ” ส่วนระกะอัตที่สองให้อ่าน “ซูเราะฮฺ อัลอาดิยาต”

สองระกะอัตหลัง หลังจากซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺให้อ่าน อิซาญาอะนัศรุ้ลลอฮฺ ส่วนระกะอัตที่สองให้อ่าน“ซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีต”
และเมื่ออ่านซูเราะฮฺจบทุกระกะอัต ก่อนทำรุกูอฺให้อ่านตัสบีหาต อัรบะอะฮฺ
مرّةسُبْحانَ اللهِ وَاَلْحَمْدُ للهِ وَلا اِلـهَ إلاّ اللهُ وَاَللهُ اَكْبَرُ
(ซุบฮานั้นลลอฮิ วั้ลฮัมดุลิ้ลลาฮิ วะลาอิลาฮะอิ้ลลั้ลลอฮุ วั้ลลอฮุอักบัร) ๑๕ ครั้ง ขณะที่ทำรุกูอฺให้อ่านตัสบีฮาต ๑๐ ครั้ง เมื่อเงยขึ้นจากรุกูอฺยืนตรงก่อนลง สุญูด ให้อ่าน ๑๐ ครั้ง ขณะที่สุญูดให้อ่าน ๑๐ ครั้งเมื่อเงยหน้าขึ้นจากสุญูดครั้งที่หนึ่งให้อ่าน ๑๐ครั้ง สุญูดครั้งที่สองให้อ่าน ๑๐ ครั้งเมื่อเงยขึ้นให้อ่าน ๑๐ ครั้ง หลังจากนั้นให้ยืนขึ้นเพื่อทำระกะอัตต่อไป และให้ทำเช่นนี้ ๔ ระกะอัต ซึ่งตลอดทั้งนมาซเท่ากับได้อ่านตัสบีฮาตทั้งหมด ๓๐๐ ครั้งพอดี

หลังจากสุญูด ครั้งที่สองในระกะอัตที่ ๔ เมื่ออ่านตัสบีฮาตจบให้อ่านต่อว่า
سُبْحانَ مَنْ لَبِسَ الْعِزَّ وَالْوَقارَ سُبْحانَ مَنْ تَعَطَّفَ بِالَْمجْدِ وَتَكَرَّمَ بِهِ سُبْحانَ مَنْ لا يَنْبَغِي التَّسْبيحُ إلاّ لَهُ سُبْحانَ مَنْ اَحْصى كُلِّ شَىْء عِلْمُهُ سُبْحانَ ذِي الْمَنِّ وَالنِّعَمِ سُبْحانَ ذِي الْقُدْرَةِ وَالْكَرَمِ

اَللّـهُمَّ اِنّي أَسْأَلُكَ بِمَعاقِدِ الْعِزِّ مِنْ عَرْشِكَ وَمُنْتَهَى الرَّحْمَةِ مِنْ كِتابِكَ وَاسْمِكَ الاَْعْظَمِ وَكَلِماتِكَ التّامَّةِ الَّتى تَمَّتْ صِدْقاً وَعَدْلاً صَلِّ عَلى مُحَمَّد وَاَهْلِ بَيْتِهِ وَافْعَلْ بى كَذا وَكَذا

“ซุบฮานะ มันละบิซั้ล อิซซะ วั้ลวะกอรอ ซุบฮานะมันตะอัฏเฏาะฟะบิ้ลมัจดิวะตะกัรระมะบิฮี ซุบฮานะ มันลายันบะฆี อัตตัสบีฮฺ อิ้ลลาละฮู ซุบฮานะมันอะหฺซอ กุ้ลละชัยอิน อิ้ลมุฮู ซุบฮานะซิ้ลมันนิวันนิอฺมะฮฺ ซุบฮานะซิ้ลกุดระติวั้ลกะรัม อัลลอฮุมมะอินนีอัสอะลุกะ บิมะอากิดิ้ล อิซซิ มิน อัรฺชิกะ วะมุนตะฮัรฺ ระหฺมะติ มินกิตาบิกะ วัสมิกั้ลอะอฺซอม วะกะลิมาติกัตตามมะติ้ลละตี ตัมมัต ศิดกอน วะอัดลัน ศ็อลลิอะลามุฮัมมะดิว วะอะฮฺลิบัยติฮี วัฟอั้ลบี กะซาวะกะซา (แทนที่คำว่า กะซาวะกะซา ให้ดุอาอฺ ตามที่ตนปรารถนา ) หลังจากนั้นจึงเงยหน้าขึ้น แล้วทำนาซต่อให้เสร็จ

ท่านมุฟัฎฎอล บินอุมัร ได้รายงานว่า เห็นท่าน อิมามศอดิก (อ.) ทำนมาซญะอฺฟัรฏอยยาร เสร็จแล้วท่านได้ยกมือขึ้นและอ่านดุอาอฺว่า يا رَبِّ يا رَبِّ “ยา ร็อบบี ยาร็อบบี” จนหมดอึดใจ หลังจากนั้นจึงอ่าน يا ربّاهُ يا ربّاهُ ยาร็อบบาฮุ ยาร็อบบาฮุ”

จนหมดอึดใจเช่นกัน และอ่าน رَبِّ رَبِّ “ร็อบบิ ร็อบบิ” และ يا اَللّهُ يا اَللّهُ “ยาอัลลอฮุ”

และ يا حَيُّ يا حَيُّ ยาฮัยยุ ยาฮัยยุ “ และ يا رَحيمُ يا رَحيمُ “ยาระฮีมุ ยาระฮีมุ” และ يا رَحْمنُ يا رَحْمنُ “ยาเราะหฺมาน ยาเราะหฺมาน” ๗ ครั้ง يا اَرْحَمَ الرّاحِمينَ “ยาอัรหะ มัรรอฮิมีน๗ ครั้ง หลังจากนั้นอ่านว่า

اَللّـهُمَّ اِنّي اَفْتَتِحُ الْقَوْلَ بِحَمْدِكَ وَاَنْطِقُ بِالثَّناءِ عَلَيْكَ وَاُمَجِّدُكَ وَلاغايَةَ لِمَدْحِكَ وَاُثْني عَلَيْكَ وَمَنْ يَبْلُغُ غايَةَ ثَنائِكَ وَاَمَدَ مَجْدِكَ

وَاَنّى لِخَليقَتِكَ كُنْهُ مَعْرِفَةِ مَجْدِكَ وَاَيَّ زَمَن لَمْ تَكُنْ مَمْدُوحاً بِفَضْلِكَ مَوْصُوفاً بِمَجْدِكَ عَوّاداً عَلَى الْمُذْنِبينَ بِحِلْمِكَ تَخَلَّفَ سُكّانُ اَرْضِكَ عَنْ طاعَتِكَ فَكُنْتَ عَلَيْهِمْ عَطُوفاً بِجُودِكَ جَواداً بِفَضْلِكَ عَوّاداً بِكَرَمِكَ يا لا اِلـهَ إلاّ اَنْتَ الْمَنّانُ ذُوالْجَلالِ وَالاِْكْرامِ

“อัล ลอฮุมมะอินนี อัฟตะติหุ้ลเกาละบิฮัมดิกะ วะอันติกุ บิษษะนาอิอะลัยกะ วะอุมัจญิดุกะวะลาฆอญะตะลิมัดฮิกะ วะอุษนีอะลัยกะ วะมันยับลุฆุ ฆอยะตะษะนาอิกะ วะอะมะดะ มัจดิกะ วะอันนี ลิเคาะลี เกาะติกะ กุนฮุมะอฺริฟะติมัจดิกะ วะอัยยิซะมะนิน ลัมตะกุน มัมดูฮัน บิฟัฏลิกะ เมาซูฟัน มิมัจดิกะ เอาวาดัน อะลั้ลมุซนิบีนะ บิฮิ้ลมิกะ ตะคั้ลละฟะ ซุกกานุ อัรฏิกะ อันฏออะติกะ ฟะกุนตะ อะลัยฮิม อะฏูฟัน บิญูดิกะ ญะวาดันบิฟัฎลิกะ เอาวาดัน บิกะระมิกะ ยาลาอิลาฮะ อิ้ลลาอันตั้ลมันนานุ ซุ้ลญะลาลิวั้ลอิกรอม

ความศักดิ์สิทธิของนมาซ
ความศักดิ์สิทธิของนมาซนั้น ประจักษ์ได้จากการที่พิธีสำคัญต่างๆ เช่น การสาบาน หรือ การเป็นพยาน ต้องทำหลังจากนมาซเท่านั้น

อัล-กุรอานซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ / ๑๐๖ กล่าวว่า
เมื่อใดที่มุสลิมคนหนึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางและล้มป่วยลงกระทั่งใกล้จะเสียชีวิต ให้เขาแต่งตั้งมุสลิม ๒ คนเป็นพยานต่อพินัยกรรมของตน แต่พิธีกล่าวคำยืนยันของพยานต้องทำหลังจากนมาซ หมายความว่า พยานสองคนนั้นต้องทำนมาซก่อน หลังจากนั้นจึงสาบานและคำให้การยืนยันว่า ผู้ตายได้เขียนพินัยกรรมหรือสั่งเสียอะไรไว้ก่อนตายในระหว่างเดินทาง

ในปัจจุบันพิธีสาบานตนมักจะกระทำเบื้องหน้าอัล-กุรอาน โดยเอามือแตะขวาไว้ที่อัล-กุรอาน หลังจากนั้นจึงกล่าวคำสาบานตน ขณะที่อัล-กุรอานกล่าวเพิ่มว่า พิธีการสาบานต้องทำหลังจากการทำนมาซแล้วเท่านั้น




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

๑๗. ความพร้อมสรรพของนมาซ
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบันดาลจักรวาลพร้อมทั้งกฎระเบียบมาคอยควบคุม ทรงประทานหลักคำสอน คำสนทนาธรรมที่ประเสริฐและสมบูรณ์ที่สุดมาให้ ทรงจัดโปรแกรมที่มีความเป็นระเบียบและสอดคล้องกับสภาพชีวิตของมนุษย์ เช่น พระองค์ได้สร้างน้ำนมให้กับมารดาซึ่งภายในน้ำนมนั้นประกอบด้วยวิตามิน และธาตุอาหารต่าง ๆ มากมายที่มีความสอดคล้องและเพียงพอสำหรับทารกโดยไม่ต้องพึ่งอาหารอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงโครงร่างและการสร้างมนุษย์จะพบว่าสิ่งที่มีอยู่ใน ธรรมชาติจะถูกพบในตัวมนุษย์เช่นกัน

· ในธรรมชาตินั้นมีเสียงฟ้าร้อง ส่วนในมนุษย์มีเสียงร้องตะโกน
· ในธรรมชาตินั้นมีการเจริญงอกงามของพืชและพงไพร ส่วนในมนุษย์มีการงอกเงยของขนและผม
· ในธรรมชาตินั้นมีแม่น้ำลำคลอง ส่วนในมนุษย์มีเส้นเลือดต่าง ๆ ทั้งใหญ่และเล็ก
· ในธรรมชาตินั้นมีน้ำทั้งจืดและเค็ม ส่วนในมนุษย์มีน้ำตาที่เค็ม ส่วนน้ำลายในปากนั้นจืด
· ในธรรมชาติมีแร่ธาตุจำนวนมากมาย ส่วนในมนุษย์มีความสามารถและพรสวรรค์ซ่อนอยู่

ท่านอิมามอลีได้เอ่ยเป็นบทกวีไว้ว่า "ท่านคิดหรือว่าท่านเป็นเพียงจุลธาตุ ในขณะที่โลกอันกว้างใหญ่ไพศาลถูกบรรจุไว้ในตัวท่าน"

นมาซเช่นกัน ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า เพราะพระองค์ทรงรวบรวมคุณค่าที่ดีงามทั้งหลายไว้ในนมาซ ด้วยเหตุนี้ยังมีความสมบูรณ์ใดอีกที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์แต่ไม่อาจพบได้ในนมาซ

การระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า เป็นหนึ่งในสิ่งที่มีค่าและเป็นวิธีการเดียวที่สามารถทำให้จิตเกิดสัมมาสติ ขณะที่นมาซคือการระลึกถึงพระองค์เราจึงกล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ”

การระลึกถึงวันแห่งการ ตัดสิน จะทำให้เป็นผู้รู้จักและยับยั้งตนเองจากความผิดบาปทั้งหลาย ขณะที่นมาซคือ การรำลึกถึงวันแห่งการตัดสิน (เยามิดดีน)

การดำเนินชีวิตอยู่บน แนวทางของบรรดาศาสดา (อ.) ผู้พลีชีพในแนวทางอัลลอฮฺ และบรรดากัลยาณชน ถือเป็นแนวทางที่เที่ยงตรงและเป็นความสำเร็จของชีวิต ขณะที่นมาซเราวิงวอนต่อพระองค์ว่า “ขอทรงโปรดประทางแนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์โปรดปรานพวกเขาแก่เราเถิด”

บนวิถีการดำเนินชีวิต ของมนุษย์สิ่งที่เขาไม่ปรารถนา คือการกดขี่ การออกนอกลู่นอกทางไปจากแนวทางที่เที่ยงธรรม และการหลงทางไปจากความจริง ในนมาซนั้น สิ่งที่เราปรารถนา คือ “ขอพระองค์โปรดนำเราออกห่างจากกลุ่มชนที่ทรงโกรธกริ้วและหลงผิด”

ความยุติธรรมถือเป็น มงกุฎของความดีงามทั้งหลาย ขณะที่อิมามญะมาอัตนำนมาซต้องเป็นผู้มีความยุติธรรม

การปฏิบัตินมาซตามอิมามญะมาอัต ถือเป็นฐานรากที่มั่นคงของสังคม ที่มีประโยชน์มากกว่าความสันโดษ และการชอบปฏิบัติคนเดียว เพราะเป็นพื้นฐานให้กับการเลือกปฏิบัติตามผู้นำที่มีความยุติธรรม

การยืนหันหน้าไปทาง กิบละฮฺเป็นการรำลึกถึงคุณค่าที่มีประโยชน์เป็นอนันต์ เพราะ มักกะฮฺคือสถานที่ทรมานท่านบิล้าล เป็นสถานที่เชือดพลีท่านศาสดาอิสมาอีลเป็นสถานที่ประสูติของท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นสถานที่ปรากฏตัวของท่านอิมามมะฮฺดี (อ.) เป็นสถานที่ทำการทดสอบท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และเป็นสถานที่ปฏิบัติอิบาดะฮฺของบรรดาศาสดาทั้งหลายและบรรดามวลมิตรแห่งอัลลอฮฺ

นมาซคือพลังที่ขับ เคลื่อนคนในทุก ๆ ยามรุ่งอรุณ ตอนบ่ายและตอนค่ำและทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นการยืน การนั่ง และการเดินไปยังมัสญิด หรือสถานที่นมาซ ทั้งหมดเป็นการขยับเขยือนตัวเอง มิให้นิ่งและหยุดอยู่กับที่ ทว่ามนุษย์ต้องขวนขวายพยายามต่อสู้ เคลื่อนไหวตลอดเวลาโดยมีทิศาทางอยู่ที่อัลลอฮฺ (ซบ.)

นมาซเป็นการกระทำที่ทำ ให้จิตวิญญาณของมนุษย์เกิดความอ่อนน้อม มีการตั้งสติระลึกชอบโดยพิจารณาเห็นจิตในจิต และเป็นการปลุกเร้าให้เกิดปัญญาญาณ อีกทั้งเป็นการปลดเปลื้องตนเองออกจากความหยิ่งยโสและการอวดดี เพราะทุก ๆ วัน มนุษย์จะนำอวัยวะส่วนที่สูงที่สุดของร่างกายก้มกราบลงแนบกับดิน ขณะที่การสัจญะดะฮฺลงบนดินนั้นดีกว่าหิน เพราะอย่างน้อยสุดเป็นการเตือนสำทับมนุษย์ว่า เจ้ามาจากดินและเจ้าต้องกลับคืนสู่ดิน

ริวายะฮฺได้กล่าวว่าจงสุญูดลงบนดินที่สะอาด เพราะแนวทางของความสกปรกโสโครกไม่อาจกำเนิดแนวทางที่สะอาดได้

การร้องไห้เพราะความยำเกรงที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่มีค่า ขณะที่อัล-กุรอานกล่าวสรรเสริญการร้องไห้ในสัจญะดะฮฺ “และพวกเขาลงสัจญะดะฮฺและร่ำไห้” (ซูเราะฮฺมัรยัม/๕๘)

นมาซคือแนวทางของพระผู้เป็นเจ้าที่รับใช้มนุษย์ตั้งแต่กำเนิดจนถึงหลุมฝังศพ เพราะ ทารกเมื่อคลอดออกมา เป็นมุสตะฮับให้ทำการอะซานทางหูข้างขวาและทำอิกอมะฮฺทาง หูข้างซ้าย เท่ากับเป็นการแนะนำนมาซแก่ทารกนั้น และเมื่อเขาอำลาจากโลกไป จงทำนมาซมัยยิตให้กับเขาก่อนจะนำร่างของเขาไปฝัง

ตลอดอายุไขต้องอยู่ร่วม กับอิบาดะฮฺและการภักดี อัล-กุรอานกล่าวว่า.. “ จงนมัสการพระผู้อภิบาลของเจ้า กระทั่งความมั่นใจจะประสบแก่เจ้า” (ซูเราะฮฺอัล-หิจรฺ/๙๙)

นมาซ เป็นความสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพราะการรู้จักเวลานมาซทั้งนมาซศุบฮฺและนมาซซุฮรฺ ต้องพิจารณาที่ดวงอาทิตย์ การค้นหากิบละฮฺต้องอาศัยดวงดาว การทำนมาซมุสตะฮับในวันที่มีความสิริมงคล ตอ้งสังเกตการโคจรของดวงเดือน เมื่อต้องการทำวุฎู่และฆุสลฺ ตอ้งอาศัยน้ำ และเมื่อต้องการทำตะยัมมุมหรือสัจญะดะฮฺ ต้องมีดิน และยังจะมีพระเจ้าอื่นใดอีกหรือที่สามารถกำหนดการเคารพภักดีให้กับมนุษย์ได้ ลงตัวไปกว่าอัลลอฮฺพระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกร

วาญิบ (ข้อบังคับ) อื่นๆของศาสนาสามารถพบได้ในนมาซ

ผู้ปฏิบัตินมาซเหมือนกับคนถือศีลอดที่ไม่อาจรับประทานและดื่มได้
ผู้ปฏิบัตินมาซเหมือนกับคนประกอบพิธีหัจญ์ที่มีกะฮฺบะฮฺและกิบละฮฺเป็นศูนย์กลาง
ผู้ปฏิบัตินมาซเหมือนกับคนเดินทางไปญิฮาด (ต่อสู้บนแนวทางของพระผู้เป็นเจ้า) ทว่าการญิฮาดที่ยิ่งใหญ่คือการต่อสู้กับจิตใจของตัวเอง

นมาซนำพาสู่ความดีและห้ามปรามความชั่ว
การอพยพถือเป็นสิ่งที่ มีคุณค่าที่สุดทางศาสนา ขณะที่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ปรารถนาที่จะทำนมาซ ท่านจึงยอมอพยพโดยนำเอาครอบครัวของท่านร่วมเดินทางไปยังมักกะฮฺด้วย อัล-กุรอานกล่าวว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของเราแท้จริงข้าฯ ให้ที่พำนักแก่ครอบครัวของข้าฯ ณ หุบเขาที่มีแต่ความแห้งแล้วปราศจากพืชพันธ์ใกล้กับบ้านของพระองค์ (บัยติลลาฮฺ) โอ้พระผู้อภิบาลของเรา เพื่อพวกเขาจะได้ดำรงนมาซ” (ซูเราะฮฺอิบรอฮีม/๓๗)

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) มิได้กล่าวว่า เพื่อการประกอบพิธีหัจญ์ ฉันจึงยอมอพยพ แต่ท่านกล่าวว่า “เป้าหมายในการอพพยของฉันเพื่อการดำรงนมาซ” ฉะนั้น สิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้คืออัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานคุณค่า ของความดีทั้งหมดให้เป็นของนมาซ เพื่อนมาซและโดยนมาซ

ถ้าความสะอาดและเครื่อง ประดับถูกวัดว่าเป็นของมีค่า อิสลามแนะนำว่า “พวกเจ้าจงแต่งองค์ด้วยเครื่องประดับของพวกเจ้าเมื่อไปมัสญิด” (ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ/๓๑)

ในความหมายหนึ่งของ โองการคือ ให้สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด และประพรมน้ำหอม เมื่อไปมัสญิด ดังเช่นที่อิสลามได้แนะนำว่า สตรีควรสวมใส่เครื่องประดับของนาง ขณะปฏิบัตินมาซ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๐ หน้า ๑๘๘)

แม้กระทั่งเรื่องแปรง ฟันได้ถูกแนะนำไว้เช่นกันว่า “ควรแปรงฟันก่อนนมาซ เพราะนมาซนั้นจะมีคุณค่ามากกว่านมาซที่ไม่ได้แปรงฟันถึง ๗๐ เท่า” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๓ หน้าที่ ๑๓๓)

ริวายะฮฺกล่าวอีกว่า “ก่อนไปมัสญิดไม่ควรรับประทานหัวหอมและกระเทียม”
(ริซาละตุ้ลอะหฺกามของ ท่านอิมามคัยนี (รฎ.) ข้อที่ ๙๑๕) เพราะว่ากลิ่นของมันจะสร้างความรำคาญและรบกวนผู้อื่น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ผู้คนเบื่อหน่ายมัสญิด

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นก็คือนมาซตามเป้าประสงค์ของอิสลาม ลองเทียบดูกับนมาซของเราที่บางครั้งก็ทำ บางครั้งก็ไม่ทำ บางครั้งทำแบบมีสมาธิ แต่หลายต่อหลายครั้งที่ปราศจากสมาธิ ไม่ตามญะมาอะอฺหรือไม่ก็ทำขณะเวลานมาซเกือบจะหมด

มัสญิดซึ่งสมัยหนึ่ง ท่านศาสดาอิบรอฮีมอิสมาอีล และอิสหาก เคยเป็นผู้รับใช้ อัล-กุรอานกล่าวว่า “และเราได้สัญญาแก่อิบรอฮีม กับอิสมาอีลว่า เจ้าทั้งสองจงชำระบ้านของข้าให้สะอาดสำหรับผู้มาเวียน” (ซูเราะฮฺอัล-บะกอเราะฮฺ : ๑๒๕)

มารดาของท่านหญิงมัรยัมได้นะซัร (บนบานต่ออัลลอฮฺ) ว่าขอให้บุตรีของท่านเป็นผู้รับใช้มัสญิดอัล-กุรอานกล่าวว่า “เมื่อภริยาของอิมรอนได้กล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ ข้าฯขอบนต่อพระองค์ว่า บุตรที่อยู่ในครรภ์ของข้านี้ขอถวายกับพระองค์ ขอพระองค์โปรดรับจากข้าฯด้วย (ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน/๓๕)

แต่น่าเสียใจในสมัยนี้ คนรับใช้มัสญิดนั้นส่วนมากเป็นคนว่างงาน หรือไม่ก็เป็นคนแก่ คนไม่สบาย คนจน คนไร้การศึกษา และเป็นคนไม่มีมารยาท เป็นเพราะเหตุใดหรือที่ผู้คนไม่ค่อยใส่ใจต่อมัสญิด ขณะที่หะดีษกล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺ มีสามสิ่งที่จะทำการร้องเรียนมนุษย์ต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้รู้ที่ประชาชนไม่ยอมใช้ประโยชน์จากเขา อัล-กุรอานที่ถูกเก็บรักษาไว้ตามบ้านเรือนแต่ไม่ถูกนำออกมาอ่าน และมัสญิดที่ผู้คนไม่ให้ความสนใจ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๐)

หมวดที่ ๒ เนียตบริสุทธิ์

เนียต
เนียต หมายถึง การตั้งใจหรือตั้งเจตนา และรู้ตลอดเวลาว่า เรากำลังทำอะไร พูดอะไร และเพื่อสิ่งใดที่เราจะทำ เนียตคือรุ่กุ่นข้อแรกของนมาซ คุณค่าของการกระทำ ขึ้นอยู่กับเนียตและวิสียทัศน์ที่จะกระทำสิ่งนั้น เหมือนกับคนขับรถที่หยุดรอ สัญญาณไฟ บางคนหยุดเพราะต้องการปฏิบัติตามกฎจราจรและต้องการรักษากฎระเบียบ แต่บางคนหยุดเพราะกลัวตำรวจและกลัวเสียค่าปรับ ทั้งสองจึงมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด อิบาดะฮฺก็เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นมาซซึ่งถือว่า เนียตนั้นเป็นหัวใจสำคัญ ฉะนั้นการงานใดก็ตาม ถ้าปราศจากเนียต แม้ว่างานนั้นจะดีและมีการปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ถือว่าไม่มีคุณค่าเลย ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “อันที่จริงแล้วการกระทำขึ้นอยู่กับเนียต” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที ๗๐ หน้าที่ ๒๑๐) เนียตที่บริสุทธิ์ หมายถึง การตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นเพียงเพื่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว และเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากพระองค์ โดยมิได้รอคอยหรือมุ่งหวังผลตอบแทน หรือคำขอบคุณจากผู้ใด (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้า ๒๑๐)

ขนมปังชิ้นเล็กๆที่อะหฺลุลบัยตฺ (อ.)มอบให้เด็กกำพร้า,เชลยศึกและผู้ยากไร้ในช่วงเวลาสามวันนั้นมิได้มีมูลค่ามากมายนัก แต่เพราะบุคคลเหล่านั้นมอบด้วยจิตอันบริสุทธิเพื่อพระองค์ พระองค์จึงเถลิงเกียรติพวกเขาด้วยซูเราะฮ์หนึ่งซูเราะฮ์ “อันที่จริงเราได้ให้อาหารแก่พวกท่านโดยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ และเรามิได้ปรารถนาผลตอบแทน หรือคำขอบคุณใดๆ จากพวกท่าน (ซูเราะฮฺอัล – อินซาน ๙)

ประวัติศาสตร์ได้สอนว่า หากผู้ใดถูกฆ่าตายในสนามรบจะได้รับเกียรติว่าเป็นชะฮีด ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งประชาชนทั้งหมดเรียกผู้ที่ถูกฆ่าตายคนหนึ่งว่าเป็นชะ ฮีด แต่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ไม่ยอมรับ ท่านกล่าวว่า "เขาพลีชีพบนหนทางของลา ประชาชนต่างพกกันแปลกใจ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จึงกล่าวว่า เพราะเป้าหมายในการไปรบของเขามิใช่เพื่ออัลลอฮฺ เขาเห็นว่า ศัตรูขี่ลาที่มีลักษณะเด่นน่าครอบครอง จึงพูดกับตัวเองว่า ฉันต้องฆ่าศัตรูเพื่อยึดเอาลามาเป็นของฉัน แต่เขาไม่ประสบความสำเร็จและถูกศัตรูฆ่าตาย ดังนั้น เท่ากับเขา ถูกฆ่าตายบนวิถีทางของลาตัวหนึ่ง” (มะฮัจญะตุ้ลบัยฏอ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๔)

การทำให้เนียตบริสุทธิ์ เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง เพราะในบางครั้งมนุษย์ได้ซ่อนสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากอัลลอฮฺในจิตใจ โดยที่ตัวเองไม่รู้ ริวายะฮฺกล่าวว่า “การโอ้อวดและการการทำชิริก (ตั้งภาคี)ประจักษ์ได้ยากยิ่งกว่ามดดำที่เดินในตอนกลางคืนบนแผ่นหินสีดำ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๒ หน้าที่ ๙๓)ผู้คนจำนวนมากมายที่คิดว่าตนได้เนียตเพื่อ แสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ (กุรบะตัน) แต่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจึงรู้ว่า สิ่งที่ตนทำมิได้มีความบริสุทธิ์ใจแม้แต่นิดเดียว

ท่านชะฮีดมุเฏาะฮะรีย์ ได้ให้นิยามของเนียตว่า “คือการรู้ตัวเองตลอดเวลา” ริวายะฮฺกล่าวว่า “เนียตของมุอฺมินนั้นดีกว่าการกระทำของตัวเอง” บิฮารุ้ลอันวารเล่มที่๗๐ หน้าที่ ๒๑๐)

ถ้าหากเราจะทำการเปรียบเทียบระหว่างสังขารกับจิตวิญญาณ แน่นอนจิตวิญญาณย่อมมีความสำคัญมากกว่า ซึ่งความเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์นั้นขึ้นอยู่กับจิตวิญญาณ แต่ถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างการกระทำกับเนียต แน่นอนเนียตมีความสำคัญมากกว่า เพราะ เนียตคือ วิญญาณ ของการกระทำ

เนียตนั้นมีความสำคัญถึงขั้นที่ว่า ถ้าหากมนุษย์ไม่สามารถปฏิบัติคุณงามความดีได้ แต่ถ้าเขามีเนียตว่า จะกระทำในสิ่งนั้น เพียงแค่นี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) ก็ตอบแทนผลรางวัลให้แล้ว

เนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด
กุรบะตัน หมายถึงการแสวงความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจุดประสงค์ของความใกล้ชิดมิได้หมายถึง ใกล้ชิดทางสรีระ แต่เป็นความใกล้ชิดของจิตวิญญาณอันเป็นนามธรรม ฉะนั้นเวลาเราพูดว่านาย ก. มีความใกล้ชิดผู้ใหญ่คนหนึ่ง มิได้หมายถึง สรีระหรือตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เพราะมิเช่นนั้น คนรับใช้ส่วนตัวย่อมมีความใกล้ชิดมากกว่า ดังนั้นการแสวงหาความพึงพอพระทัย มิได้หมายความว่า การงานของเราไปก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากพระองค์และทำให้พระองค์ต้องปรับเปลี่ยนสภาวะ(เป็นความพอใจ) แต่หมายถึงจิตวิญญาณได้พัฒนาและก้าวไปอีกก้าวหนึ่งที่ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นแหล่งที่มาของมวลสรรพสิ่งทั้ง หลาย และได้พบกับพระองค์ด้วยกับตาใจ

ดังทราบกันดีว่าในหมู่มนุษย์ และมวลสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นก้อนหินหรือ พืชพันธ์ย่อมมีความแตกต่างในเชิงอัตลักษณ์ และระดับขั้นของมนุษย์ในการใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ (ซบ.) ก็มีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการเป็นมนุษย์ของคนๆนั้น เพราะบางครั้งมนุษย์สามารถพัฒนาตนเองให้ใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ (ซบ.)กระทั่งขึ้นดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ (ตัวแทน)ของพระองค์บนหน้าแผ่นดิน

อิบาดะฮฺที่กระทำโดยมีเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ จะเพิ่มนูรรัศมี ให้กับมนุษย์และต่อเติมความสมบูรณ์ให้กับเขา ซึ่งอิบาดะฮฺส่วนมากจะเป็นเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมาซมุสตะฮับต่างๆนั้นถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษย์ดังหะดีษของมะอฺซูม (อ.) ที่กล่าวว่า “มนุษย์สามารถสร้างความใกล้ชิดกับฉันได้ด้วยการปฏิบัตินมาซนาฟิละฮฺ” (บิฮารุ้ลอัลวาร เล่มที่ ๗๕ หน้าที่ ๑๕๕)

เป็นไปได้ที่ว่า คนเราปฏิบัตินมาซวาญิบเพราะกลัวการลงโทษ หรือกลัวว่าพระองค์จะไม่พอพระทัย แต่สำหรับนมาซนาฟิละฮฺแล้วมิได้มีเจตนาอย่างอื่นแอบแฝงอยู่นอกจากความรักที่มีต่อพระองค์และนมาซ

ระดับฐานันดรแห่งความใกล้ชิด
คำว่าระดับฐานันดรต่างๆ(ดะรอญาต) ถูกกล่าวไว้หลายครั้งในอัล-กุรอาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ คำๆนี้ถูกอธิบายไว้หลายวาระที่แตกต่างกัน และแต่ละวาระนั้นมีประเด็นให้ขบคิดมากมายเช่นบางครั้งพระองค์ตรัสถึงคนบางกลุ่มว่า “พวกเขาได้รับหลายฐานันดร” (อัล อัน-ฟาล/๔)

กับอีกบางกลุ่มทรงตรัสว่า “พวกเขาคือฐานันดรทั้งหลาย” (อาลิรอน / ๑๖๓)

เหมือนกันในบางครั้งมีผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งใหญ่โตให้เกียรติมาร่วมงาน แม้สมมุติบุคคลสำคัญเหล่านี้เลือกจะไม่นั่งในสถานที่พิเศษ แต่สถานที่ๆพวกเขานั่งจะกลายเป็นสถานที่อันทรงเกียรติทันที ทั้งนี้เพราะพวกเขาคือแหล่งกำเนิดของเกียรติยศ มิใช่ได้รับเกียรติยศจากตำแหน่งหรือสถานที่แต่อย่างใด

ฐานันดรเหล่านี้ (ฐานันดรที่ได้มาจากการแสดงเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงของมนุษย์เท่านั้น แม้แต่ในหมู่มวลมะลาอิกะฮฺทั้งหลายก็มีฐานันดรนี้เช่นกัน อัล-กุรอานได้กล่าวถึงมหาเทพญิบรออีลว่า “(ญิบรออีล)ได้รับความเคารพเชื่อฟังและมีความซื่อสัตย์เป็นที่สุด” (ซูเราะฮฺ อัตตักวีร/๒๑)ชี้ให้เห็นว่าญิบรออีลมีฐานันดรภาพสูงส่งในหมู่มลาอิกะฮฺ

ฉะนั้นจะสังเกตเห็นว่า ฐานันดรของมนุษย์ ในการภักดีกับพระผู้เป็นเจ้ามีความแตกต่างกันซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้

๑. บางครั้งมนุษย์เป็นผู้เชื่อฟัง แต่อาจมิได้เกิดจากความพอใจหรือความยินดี
๒. บางครั้งมนุษย์เป็นมากกว่าเพียงผู้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม นั่นคือ เขาเป็นนักรัก และการเคารพภักดีของเขาเกิดขึ้นบนพื้นฐานแห่งรักและความถวิลหา
๓. และบางครั้งก็มิใช่ทั้งความรักหรือความหลงใหล แต่เป็นการรู้จัก (มะอฺริฟะฮฺ) ที่สมบูรณ์ ซึ่งเมื่อถึงตำแหน่งนี้เขาจะไม่เห็นสิ่งใดเลยนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า.. “ฉันมองไม่เห็นสิ่งใดเลย นอกจากประจักษ์ถึงอัลลอฮฺ (ซบ.)พร้อมกับสิ่งนั้น และก่อนและหลังสิ่งนั้น”

จงเรียกร้องพระองค์เพื่อพระองค์
เล่ากันว่า “ซุลฎอน มะหฺมูด” ได้ทำการทดสอบบรรดาทหารองค์รักษ์ของตนว่าพวกเขาจะมีความซื่อสัตย์แค่ไหน จึงได้มีบัญชาให้จัดกองคาราวานขึ้นเพื่อขนย้ายทรัพย์สินและของมีค่าอื่น ๆ ซึ่งภายในนั้นมีหีบใบหนึ่งบรรจุแก้วแหวนเงินทองและเพชรนิลจินดาจำนวนมากมาย บรรทุกอยู่บนหลังอูฐโดยมิได้ปิดล๊อก เมื่อกองคาราวานเดินทางมาถึงทางลาดชัน กษัตริย์ได้หยุดอูฐกะทันหัน ทำให้อูฐเสียหลัก และหีบที่บรรจุของมีค่าอยู่นั้นได้หล่นลงมา ทำให้สิ่งมีค่าเหล่านั้นกระจัดกระจายไปทั่ว กษัตริย์ได้รับสั่งว่า ใครเก็บของสิ่งใดได้ก็เอาไป ทำให้พวกทหารทิ้งขบวนแห่กันมาเก็บทรัพย์สินเหล่านั้น แต่ทหารองค์รักษ์ชื่ออะยาสยังคงติดตามกษัตริย์ไปเหมือนเดิม โดยไม่สนใจต่อทรัพย์สิน กษัตริย์ได้รับสั่งถามว่า “ทำไมเจ้าจึงไม่ไปเก็บเพชรนิลจินดาเหล่านั้นล่ะ” พวกเขาตอบว่า “พวกเรามีทรัพย์ที่ล้ำค่าคือพระองค์อยู่แล้ว และทำไมจะต้องลำบากไปเก็บทรัพย์สินอย่างอื่นอีก”

อัล-กุรอานได้กล่าวตำหนิกลุ่มชนที่เรียกร้องพระองค์ เมื่อยามที่พวกเขาประสบกับปัญหาเท่านั้น แต่ยามที่พวกเขามีความสุข พวกเขากลับหลงลืมพระองค์ อัล-กุรอานกล่าวว่า “ เมื่อพวกเขาโดยสารอยู่ในเรือ พวกเขาวอนขอต่อ อัลลอฮฺ ด้วยจิตที่บริสุทธิ์และนอบน้อม ครั้นเมื่อพระองค์บันดาลความปลอดภัยแก่พวกเขาโดยให้ไปถึงฝั่งพลันพวกเขาก็ ตั้งภาคีกับพระองค์ทันที” (ซูเราะฮฺ อัล-อังกะบูต/๖๕)

• ฉะนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามถ้ามนุษย์ทำเพื่อตนเอง เรียกว่าเป็นคนหลงอัตตาและเห็นแก่ตัว
• ถ้าทำเพื่อประชาชน เท่ากับเป็นการสักการะวัตถุและเทวรูป
• ถ้าทำเพื่ออัลลอฮฺและประชาชน เท่ากับเป็นการเคารพในสองรูปแบบ
• แต่ถ้างานของตนและของคนอื่น ทำเพื่ออัลลอฮฺ เท่ากับเป็นเคารพบูชาอัลลอฮฺ
ในดุอาอฺ เรามักจะอ่านเสอมว่า “โอ้ข้าแต่พระองค์ ข้าฯมิได้ทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์เพราะกลัวการลงโทษของพระองค์ และมิใช่เพราะอาหารที่ทรงจัดเตรียมไว้ในสรวงสวรรค์ แต่เป็นเพราะว่า ข้าฯพบว่าพระองค์คือผู้ทรงสูงส่งควรค่าต่อการเคารพภักดี ดังนั้นข้า ฯ จึงเคารพภักดีต่อพระองค์” (บิฮารุ้ลอันวารเล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๑๘๖)

อีกหะดีษหนึ่งกล่าวว่าผู้คนที่ทำ อิบาดะฮฺ ต่อพระองค์นั้น แบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ
“แท้จริงคนบางกลุ่มทำ อิบาดะฮฺ เพราะคาดหวังในผลกำไร อิบาดะฮฺเช่นนั้นจึงเป็นอิบาดะฮฺของพ่อค้า บางกลุ่มทำอิบาดะฮฺ เพราะนิอฺมัตและความโปรดปรานของพระองค์ และนั้นเป็นอิบาดะฮฺของพวกทาสและบางกลุ่มทำอิบาดะฮฺ เพราะปรารถนาขอบคุณพระองค์ อิบาดะฮฺเช่นนี้คือ อิบาดะฮฺ ของผู้มีความเป็นอิสระ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๑๔)

โดยธรรมชาติแล้วคนที่มีความรักต่อวัตถุหรือเพศตรงข้าม มักจะนำเอาคนและสิ่งของที่ตนรักมาเป็นของตนหรือเก็บรักษาไว้ใกล้ๆกับของตน แตกต่างกับคนที่มีความรักต่อวัตถุหรือจริยธรรมด้านใน มักจะมอบตนหรือยอมพลีตนเองเพื่อคนรักเสมอ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รำพันไว้ในดุอาอฺกุเมลว่า “โอข้าแต่พระองค์ ขอทรงโปรดทำให้จิตใจของข้าฯ เปี่ยมล้นไปด้วยความรักที่มีต่อพระองค์”

หนทางไปสู่ความใกล้ชิด
การไปถึงยังความใกล้ชิดและเนียตกรุบะตัน (เพื่อแสดงหาความใกล้ชิด) มีอยู่ ๒ แนวทาง

๑. การรู้จักความยิ่งใหญ่และฐานะของพระองค์
๒. การรู้จักความไร้แก่นสารและความไม่แน่นอนของสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์
อัล-กุรอานได้อรรถธิบายถึงนิอฺมัตความโปรดปรานและความเมตตาการุณย์ทั้งหลาย ของพระองค์ แก่ปวงประชาชาติเพื่อมนุษย์จะได้สำนึกและรักในพระองค์ ดังนั้น การกล่าวถึงคุณสมบัติของพระองค์ การสร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย การช่วยเหลือทั้งด้านวัตถุปัจจัย และด้านจริยธรรม ตลอดจนนิอฺมัตอื่น ๆ ทั้งใหญ่และเล็ก อีกจำนวนมากมายที่ไม่อาจคำนวณนับได้เพียงเพื่อให้มนุษย์ได้รู้จักและเพิ่ม พูนความรักที่มีต่อพระองค์

อีกด้านหนึ่งโองการอัล-กุรอานได้กล่าวถึงความอ่อนแอและการไร้แก่นสารของสิ่ง อื่นที่นอกเหนือจากพระองค์ เช่นกล่าวว่า สรรพสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์ ไม่มีอำนาจและไม่มีเกียรติยศ มาตรว่าทั้งหมดเหล่านั้น ได้ร่วมกันและช่วยกันสร้างแมลงวันสักตัว พวกเขาก็ไม่อาจทำได้ นอกเหนือจากพระองค์แล้วยังมีใครสามารถตอบสนองคำเรียกร้องของผู้เดือดร้อนได้ และสมควรแล้วหรือที่เราจะนำเอาสรรพสิ่งอื่นมาเทียบเคียงกับพระองค์ และมอบให้สรรพสิ่งเหล่านั้นเท่าเทียมกับพระองค์

เรื่องเล่า

มีนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกอิสลามคนหนึ่ง นามว่า ท่านอายะตุ้ลลอฮฺ อัลอุซมา บุรูญิรดีย์ ท่านได้จัดพิธีกรรมรำลึกถึงท่าน อิมามฮุซัยนฺ (อ.) ที่บ้านของท่าน แต่ในขณะนั้นท่านป่วย จึงได้นอนพักในห้องส่วนตัวของท่าน ขณะนอนพักอยู่นั้นได้มีผู้ร่วมงานคนหนึ่งตะโกนขั้นว่า “เพื่อสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงของท่านอิมามซะมาน และอายะตุ้ลลอฮฺ บุรูญิจดีย์ ให้เศาะละวาต”

ทันใดนั้นท่านอายะตุ้ลลอฮฺ ได้ใช้ไม้เท้าเคาะไปที่ประตู คนใกล้ชิดของท่านได้เข้ามาหา และถามว่า ท่านต้องการสิ่งใดหรือ ท่านมิได้ตอบอะไรแต่กล่าวว่า ทำไมจึงเอาชื่อของฉันไปกล่าวเคียงคู่กับนามของท่านอิมามซะมาน ฉันไม่มีเกียรติพอที่พวกท่านจะนำเอาชื่อของฉันไปกล่าวพร้อมกับนามของท่านอิมามและเศาะละวาตให้กับนามทั้งสองพร้อม ๆ กัน

ขณะที่ฐานะของท่านบุรุญิรดี ในตอนนั้น คือ ตัวแทนของท่านอิมาม (อ.) แต่ท่านกับไม่พร้อมที่จะให้เอ่ยนามของท่านพร้อมกับนามของท่านอิมาม (อ.) ในทางกลับกันพวกเราต่างหาก ที่มักเอ่ยชื่อของมนุษย์ผู้อ่อนแอและมากด้วยตัณหาไปกล่าวพร้อมกับพระนามของพระผู้เป็นเจ้า




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

เรื่องเล่า
ท่านบะหฺลูล ได้เห็นคนกลุ่มหนึ่ง กำลังก่อสร้างมัสญิด และพวกเขาพูดว่า “เราได้ทำเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” เมื่อท่านบะหฺลูลเห็นดังนั้นจึงได้เดินเข้าไปและเขียนจารึกว่า “ผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง คือ บะหฺลูล" หลังจากนั้นได้นำไปติดไว้ที่ประตูทางเข้า เมื่อข่าวรู้ไปถึงฮารูนรอซีด เขาจึงได้สั่งให้บะหฺลูลเข้าพบเป็นการด่วนและถามว่า “ทำไมจึงเขียนว่า ท่านคือผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็รู้ดีว่าใครคือผู้อุปถัมภ์”

ท่านบะหฺลูลได้ตอบว่า ถ้าท่านทำเพื่ออัลลอฮฺจริง จะแปลกอะไรกับการที่จะเขียนชื่อใครลงไป เพราะอย่างไรเสียอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทราบดี และทรงตอบแทนผลรางวัลให้อย่างไม่ผิดตัว ท่านบะหฺลูลต้องการบอกกับฮะรูนรอซีดว่า แท้จริงแล้ว การงานของเขามิได้มีเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เขาต้องการสร้างชื่อเสียงเพื่อให้คนอื่นชื่นชม อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงอุปมาการงานของพวกมุนาฟิกีนว่าเป็นเพียงภาพลวงตา อัล-กุรอานกล่าวว่า “และบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย ผลงานของพวกเขาเปรียบประดุจดังภาพลวงตา ที่ปรากฏ ณ ทุ่งกว้าง โดยผู้กระหายคิดว่าเป็นน้ำ” (ซูเราะฮฺอันนูร :๓๙)

เรื่องเล่า
ครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้านั่งอยู่บนเครื่องบิน และเครื่องบินได้เตรียมพร้อมที่จะบิน ทันใดนั้นกัปตันได้ประกาศว่า ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านลงจากเครื่องบินก่อน เที่ยวบินนี้ จะทำการบินล่าช้าไปกว่าเดิม ข้าพเจ้าได้ถามว่า เป็นเพราะอะไรหรือ ทำไมจึงบินล่าช้าออกไป ได้รับคำตอบว่า ในเครื่องมีแมลงสาบตัวหนึ่ง ข้าพเจ้าพูดด้วยความประหลาดใจว่า แค่แมลงสาบตัวเดียวนี่นะ ถึงกับต้องเลื่อนเที่ยวบินเชียวหรือ พนักงานตอบว่าา ใช่ครับ เพราะเจ้าแมลงสาบตัวนี้อาจจะไปกัดกินสายไฟเส้นใดเส้นหนึ่งให้ขาดได้ และเป็นเหตุให้ระบบควบคุมต้องสูญเสีย ถึงตอนนั้นพวกเราคงได้พบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างแน่นอน

คุณงามความดีมากมายเท่าใดแล้วที่ควรจะส่งเสริมให้มนุษย์โบยบินสู่พระองค์ แต่เมื่อจิตใจเกิดจุดบอดแห่งราคะ นอกจากเขาจะไม่สามารถโบยบินต่อไปได้ ทว่าจะทำให้เขาร่วงลงสู่เหวลึกอีกด้วย

การตั้งเจตนาก่อนทำย่อมเพิ่มพูนคุณค่า
สมมติว่ามีคน ๆหนึ่งฆ่าคนตายโดยเจตนาประทุษร้าย ต่อมาทราบว่า คนที่ถูกฆ่าเป็นคนร้ายต้องโทษประหารเช่นกัน ในกรณีนี้ แม้ว่าการกระทำของฆาตรกรจะมีประโยชน์ต่อสังคม ทว่าประชาชนจะไม่สรรเสริญฆาตรกรอย่างแน่นอน เพราะว่าเบื้องแรกเขามีเจตนาฆ่าคนดี มิได้มีเจตนาฆ่าคนชั่วบนหน้าแผ่นดิน

ดังนั้นประโยชน์ของการกระทำเพียงอย่างเดียวถือว่า ไม่เพียงพอที่จะทำให้งานนั้นกลายเป็นงานที่ดีได้ (อมั้ลศอลิหฺ) ทว่าจะต้องมีเนียตและมีเจตนาที่บริสุทธิ์ด้วย

อัล-กุรอานพยายามเน้นให้เห็นว่า ภารกิจทุกอย่างต้องมีเจตนาเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด (กุรบะตัน)
ไม่ว่าจะเป็นการจ่าย คุมสฺ หรือซะกาตหรือการบริจาคทรัพย์สินส่วนอื่น ตลอดจนการทำสงครามเพื่อปกป้องศาสนา ดังนั้นถ้าสังเกตกุรอานจะพบว่าอัล-กุรอานได้กล่าวถึงภารกิจเหล่านี้ว่า..

“บนแนวทางของอัลลอฮฺ” (บะกอเราะฮฺ : ๑๙๐)
“บนความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ” (อินซาน : ๙)
“เพื่อหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ” (บะกอเราะฮฺ : ๒๐๗)

สิงเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญของการ เนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ ฉะนั้น ใครก็ตามที่ได้อุทิศทรัพย์สินเพื่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หอพักนักศึกษา มัสญิด หรือทำงานบริการด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ไม่ได้เนียตเพื่ออัลลอฮฺ ถือว่าเขาได้กดขี่ตัวเอง เพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลยจากการกระทำของเขา แม้ว่าประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นก็ตาม

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงอมั้ลศอลิหฺ (การงานที่ดี) พร้อมกับอีมานว่า “บรรดาผู้ซึ่งมีศรัทธาและปฏิบัติการงานที่ดี (อมั้ลศอลิหฺ)” หรือกล่าวว่า “ผู้ที่ปฏิบัติอมั้ลศอลิหฺทั้งบุรุษและสตรี เขาคือ มุอฺมิม (ผู้ศรัทธา)”

สรุปได้ว่า การงานที่ดีเพียงอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอ ทว่า ผู้กระทำต้องดีด้วย

สองข้อเตือนใจ ๑. ท่านบิล้าล หะบะชีย์ หรือที่รู้จักกันในนามของคนอะซาน (มุอัซซิน) ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ท่านบิล้าลจะมีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ ออกเสียงตัว ชีน (ช) เป็นตัว ซีน (ส) ซึ่งประชาชนถือว่านั่นเป็นข้อบกพร่องประการหนึ่งของท่านบิล้าล ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับพวกเขาว่า “ซีน ของบิล้าลคือ ชีน ณ.เอกองค์อัลลอฮฺ” (มุสตัดร๊อกวะสาอิ้ล หะดีษที่ ๔๖๙๖)

แม้ว่าดูภายนอกจะพบว่ามีความบกพร่อง แต่เป็นเพราะว่า มีเนียตที่ดี เพื่อแสดงหาความใกล้ชิด และความโปรดปรานจากพระองค์ การกระทำนั้นจึงได้รับผลรางวัล

๒. อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มักตูม เป็นหนึ่งในเศาะฮาบะฮฺของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และเป็นคนตาบอด วันหนึ่งเขาได้เข้ามาในวงสนทนาที่ท่านศาสดากับชนอีกกลุ่มกำลังสนทนากันอยู่ แต่เนื่องด้วยเขาเป็นคนตาบอดมองไม่เห็นใคร เมื่อเดินเข้ามาจึงส่งเสียงดังกลบเสียงทั้งหมด บางคนที่นั่งอยู่ในกลุ่มได้หันไปมองด้วยความโกรธเคือง
แม้ว่าจะมิใช่เหตุการสำคัญแต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ประทานอัล-กุรอานลงมาเตือนว่า
“เขามีสีหน้าที่บึ้งตึงและผินหลังให้ เมื่อชายตาบอดได้เข้ามาหา และเจ้ารู้ไหมบางที่เขาอาจเป็นผู้ปลดเปลื้องมลทิน” (๘๐ / ๑-๓)

ฉะนั้น จะเห็นว่า รูปแบบของการกระทำ มิได้ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วจะมีประโยชน์หรือว่าเป็นอันตราย หมายถึงถ้ามีประโยชน์กับคนอื่น ถือว่าเป็นอมั้ลศอลิหฺ และถ้าเป็นอันตรายไม่ถือว่าเป็นอมั้ลศอลิหฺ ทว่า เขาต้องพิจารณาที่ตัวเองด้วยว่า เขามีจุดประสงค์อะไรในการกระทำ และการงานที่ไม่ให้คุณหรือให้โทษกับคนอื่นเป็นอย่างไร

แบบฉบับของบรรดาศาสดา (อ.) ถือว่า จริยธรรมนั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง มิใช่ว่าได้รับการตีค่าจากสิ่งอื่น ตรงข้ามกับหลักจริยธรรมในมุมมองวัตถุนิยมที่เชื่อว่าจริยธรรมมีไว้เพื่อเพิ่มผลผลิตและดึงดูดรายได้ทางเศรษฐกิจ

ซูเราะฮฺ อะบะสะ ถูกประทานลงมาในลักษณะของการท้วงติงถึงการกระทำดังกล่าวว่า ทำไมเจ้าต้องมองคนตาบอดที่เดินเข้ามาด้วยสีหน้าบึ้งตึงด้วย และแม้ว่าคนตาบอดเขาจะไม่เห็นมารยาทของเจ้าก็ตาม แต่การแสดงมารยาทเช่นนั้นกับมุอฺมิน ถือว่าเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ

อย่างไรก็ตาม การเนียตเพื่อพระผู้เป็นเจ้า นั้นหมายถึง ภารกิจทั้งหมดของเราที่ทำมีเป้าหมายเพื่อ อัลลอฮฺ (ซบ.) มิใช่คนอื่นหรือเพื่อสิ่งอื่น ดังนั้น การเนียตเพื่อแสดงหาความใกล้ชิด คือการกระทำทั้งหมดเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอานได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้ศรัทธาที่แท้จริงว่า “พวกเขาออกต่อสู้ดิ้นรนบนแนวทางของอัลลอฮฺและพวกเขาไม่หวั่นกลัวต่อคำตำหนิ ของผู้ตำหนิตนใด” (๕ / ๕๔)

อีกความหมายหนึ่ง ของการเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดคือ การพูดความจริงหรือพูดในสิ่งที่เป็นสัจธรรม โดยไม่เกรงกลัวผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) พระองค์ได้ตรัสถึงบรรดาผู้ประกาศสัจธรรมของพระองค์ว่า “บรรดาผู้ประกาศสารธรรมของอัลลอฮฺ พวกเขามีความเกรงกลัวต่อพระองค์ และมิเกรงกลัวผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากอัลลอฮฺ” (๓๓ / ๓๙)

สัญลักษณ์ของการมีเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดคือ ความบริสุทธิ์ใจและหนึ่งในสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ใจคือ การที่เราไม่ให้ความแตกต่าง ในเรื่องของขนาดหรือจำนวนเขตพื้นที่ ประเภทของงานและเงื่อนไขของมัน เพียงแต่หวังในความพึงพอใจของพระองค์เท่านั้น ไม่คำนึงว่าประชาชนจะเข้าใจหรือไม่ จะมีผู้ให้การสนับสนุนหรือเปล่า และจะมีผลประโยชน์ตอบแทนให้หรือไม่มีก็ตาม

ผลของการมีเนียตบริสุทธิ์ อัล-กุรอานและริวายะฮฺจำนวนมากได้กล่าวถึงผลและบาระกัตของการมีเนียตบริสุทธิ์เช่น

๑. หะดีษกล่าวว่า “ใครก็ตามมีเนียตดี ริซกีของเขาจะเพิ่มพูน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙๙)
จุดประสงค์ของหะดีษอาจหมายถึงว่า การมีเนียตดีและประพฤติดีกับคนอื่น ย่อมเป็นที่รักใคร่และเอ็นดูของคน ซึ่งจะส่งผลให้หน้าที่การงานของเราดีไปด้วย

๒. หะดีษกล่าวว่า “ การมีเนียตดีเป็นการเพิ่มพูนเตาฟีก (ความสำเร็จ) ให้กับตนเอง” (ฆุรอรุ้ลหะกัม) ขณะที่ความเมตตาของพระองค์ ขึ้นอยู่กับเนียตที่ดี ดั้งนั้น ถ้ามีเนียตที่ดีและบริสุทธิ์ มากเท่าไร ความเมตตาของพระองค์ ก็จะทวีคูณขึ้นมากเท่านั้นตามลำดับ

๓. “การมีเนียตดีจะทำให้อายุยืน” ริวายะฮฺกล่าวว่า “ หากใครได้ไปทำหัจญ์ เมื่อกลับมาจากหัจญ์ ได้เนียตว่า ฉันจะไปทำหัจญ์อีกในปีหน้า อัลลอฮฺ (ซบ.) จะเพิ่มอายุให้กับเขา เนื่องจากเขามีความหวังและเนียตที่ดี” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๗)

๔. การมีเนียตดีสิ่งที่บกพร่องจะได้รับการตอบแทน ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ถ้าคนทำความผิดบาป ได้ทำการสารภาพผิด โดยมีเนียตที่ดี อัลลอฮฺ (ซบ.) จะอภัยและไม่เอาโทษความผิด และหากเรามีอุปสรรค์ปัญหาในภารกิจการงาน พระองค์จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น” (นะญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๑๗๘)

๕. อัลลอฮฺ (ซบ.) จะตอบแทนผลรางวัลให้กับเนียตที่ดี แม้ว่าจะยังมิได้ปฏิบัติ ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “ถ้าหากว่ามุอฺมิน ได้พูดว่า ถ้าอัลลอฮฺ (ซบ.)ประทานปัจจัยแก่ฉัน ๆ จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งหากเขามีเจตนาที่จะปฏิบัติดังเจตนาจริงๆ อัลลอฮฺ (ซบ.) จะตอบแทนผลรางวัลให้กับเรา” (วะซาอิ้ลุชชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๐) ถ้าเขามีความหวังอยากจะเป็นชะฮีต และวอนขอการเป็นชะฮีตนั้นจากอัลลอฮฺ (ซบ.) พระองค์จะเพิ่มพูนตำแหน่งชะฮีตให้กับเขา มาตรว่าเขาจะตายบนเตียงนอนก็ตาม (บิฮารุ้ลวันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๒๐๑)

ด้วยเหตุนี้หากเราจะพิจารณาถึง ความเมตตาของพระองค์ จะพบว่า มันมีมากมายเป็นล้นพ้นจนไม่อาจคำนวณนับได้ แค่เรามีเนียตดีพระองค์ก็ทรงตอบแทนความดีนั้น แต่ถ้าเนียตไม่ดี เช่น ต้องการทำความผิดบาป พระองค์จะไม่เอาผิด แต่จะประวิงการลงบันทึกจนกว่าเราจะทำผิดจริง และหลังจากทำผิด ถ้าเราสำนึกตัว และยอมสารภาพผิดกับพระองค์ ๆ ทรงยกโทษความผิดนั้นให้กับเรา (วาซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๐)

๖. เนียตที่ดีสามารถทำให้วัตถุปัจจัยในชีวิตประจำวันเป็นตัวสร้างสรรค์ความ ในขณะเดียวกัน จริยธรรมที่ดีที่สุดเช่น การสัจญะดะฮฺหรือการร้องไห้ที่กระทำเพื่อโอ้อวด กลับดึงมนุษย์ออกห่างจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ริวายะฮฺกล่าวว่า “ร่างกายมั่นคงด้วยจิตวิญญาณ ศาสนามั่นคงด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๘ หน้าที่ ๓๑๒)
จิตใจที่สะอาดกับเนียตที่ดี ถือเป็นอัญมณีที่มีค่าที่สุด ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) และยิ่งเนียตดีเท่าไร อัญมณีย่อมมีค่าสูงไปตามลำดับ (ฆุรอรุ้ลหิกัม)

เนียต การตัดสินใจ และความปราถนา มีความจริงจังสูงเท่ากับเป็นการเพิ่มพลังให้กับร่างกาย ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ (ซบ.) จะรวมประชาชนขึ้นตามพื้นฐานของเนียตของเขา” (กิศอรุ้ลญุมัล)

ใครก็ตามที่เป้าหมายของเขาคือ การปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ประเภทของงานและการบรรลุเป้าหมายจึงถือว่าไม่สำคัญ อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَمَنْ يُقَاتِلْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَيُقْتَلْ أَوْ يَغْلِبْ فَسَوْفَ نُؤْتِيهِ أَجْرًا عَظِيمًا
“และใครต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) ถ้าเขาถูกฆ่าตายหรือพ่ายแพ้ แน่นอน เราจะให้รางวัลอันยิ่งใหญ่แก่เขา” (อัลนิสาอฺ / ๗๔)

สิ่งที่สำคัญคือการต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) ฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะปราชัยหรือได้รับชัยชนะถือว่าไม่มีผลอันใดต่อรางวัลของพระองค์ อัล-กุรอานยังกล่าวอีกว่า

وَمَنْ يَخْرُجْ مِنْ بَيْتِهِ مُهَاجِرًا إِلَى اللَّهِ وَرَسُولِهِ ثُمَّ يُدْرِكْهُ الْمَوْتُ فَقَدْ وَقَعَ أَجْرُهُ عَلَى اللَّه
“และผู้ใดได้ออกไปจากบ้านเรือนของเขา โดยมุ่งอพยพไปสู่อัลลอฮฺ (ซบ.) และศาสนฑูตของพระองค์ หลังจากนั้นความตายได้มาสู่เขา แน่นอน รางวัลของเขาปรากฎอยู่ ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) (อันนิสาอฺ/๑๐๐)

จากโองการสามารถเข้าใจได้ว่า ใครก็ตามที่ได้เดินทางออกจากบ้านของตนโดยมีเป้าหมายเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) แม้ว่าเขาจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถือว่าเขาได้รับรางวัลแล้ว เพราะสิ่งสำคัญคือเนียตของการกระทำ มิใช่การกระทำ อีกนัยหนึ่ง การก้าวเดินไปบนหนทางมีความสำคัญมากกว่า การไปถึงเป้าหมาย

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวกับท่านอบูซัร ว่า “ท่านจงตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีเสมอ แม้ว่าท่านจะไม่มีเตาฟีก ได้กระทำมันก็ตาม เพราะการตัดสินใจเช่นนั้นจะทำให้ท่านหลุดพ้นจากจุดของความหลงลืม” (วาซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๙)

อีกหะดีษกล่าวว่า “ กิจการงานใดก็ตามที่มีเนียตเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ถือว่ามีความยิ่งใหญ่แม้ว่างานนั้นจะเล็กก็ตาม” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๘๗)

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ งาน ถ้าเนียตไม่ดีต่อให้งาน ดีแค่ไหน ก็ไร้ความหมาย ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “ประชาชาติของฉันจำนวนมากมายได้นอนตายอยู่บนเตียงนอน มีจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ที่เขาตายในสนามรบ แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงล่วงรู้ถึงเนียตของพวกเขา” (มะฮัจญะตุ้ลบัยฏอ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๓)

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวในสงครามตะบูกว่า “ส่วนผู้ที่อยู่ในนครมะดีนะฮฺ แต่มีความหวังและปราถนาที่จะมาร่วมกับเราในสนามรบ ถือว่าเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการรบ เพราะเนียตของเขา (มะฮัจญะตุ้ลบัยฏอ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๔)

ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่เข้านอนโดยมีเนียตว่า จะตื่นขึ้นเพื่อปฏิบัติเศาะลาตุ้ลลัยน์ แต่เขามิได้ตื่น ฉะนั้น ถือว่าการนอนหลับของเขาเป็นเศาะดะเกาะฮฺ ส่วนลมหายใจของเขาเป็นการตัสบีห์ และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบันทึกผลบุญของเศาะลาตุ้นลัยน์ให้กับเขา” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๒๐๖)

“ถือว่ามิใช่สิ่งไร้สาระ หรือปราศจากเหตุผล การที่อิสลามได้แนะนำว่า แม้เรื่องการนอนหรือเรื่องการกินก็จำเป็นต้องมีเนียตเพื่อพระผู้เป็นเจ้า เช่นกัน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ)

“ถ้าเรารักใครสักคนเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) และคิดว่าเขาเป็นคนดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเขามิใช่คนดี ท่านก็จะไม่เปลืองตัวเปลืองใจแต่อย่างใด เพราะท่านมิได้รักเขาเพื่อเขา แต่ท่านรักเขาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” (มะฮัจญะตุ้ลบัยฎอ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๓๗๔)

ความพิเศษของเนียตต่อการกระทำ
ความแตกต่างระหว่างเนียต(เจตนา)และการกระทำก็คือ ในบางครั้งการงานที่ทำไปอาจจะมีสิ่งแปลกปลอมแอบแฝงอยู่ เช่น โอ้อวด (ริยาอฺ)แต่ทว่าเนียตคือการตั้งเจตนาขึ้นในจิตวิญญาณ ซึ่งไม่มีผลปรากฏภายนอกให้ผู้คนได้เห็น ฉะนั้นจึงปราศจากการโอ้อวดและเสแสร้ง ความพิเศษของเนียตอีกอย่างก็คือ สามารถเกิดได้ขึ้นทุกที่ทุกเวลา ไม่มีเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง ต่างจากการกระทำซึ่งต้องการเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง ต้องการเวลา สถานที่และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

มีริวายะฮฺประเภทหนึ่งเรียกว่า ริวายะฮฺ มันบะลัฆฺ ริวายะฮฺประเภทนี้กล่าวว่า ใครก็ตามได้ยินริวายะฮฺที่กล่าวว่าการกระทำบางอย่างมีผลบุญมากมาย หากเขาปฏิบัติตามริวายะฮ์นั้น อัลลอฮฺ (ซบ.)จะทรงตอบแทนผลบุญนั้นแม้ว่าริวายะฮฺดังกล่าวไม่ถูกต้องก็ตาม เพราะเขาได้ปฏิบัติตามหะดีษโดยมีเจตนา (เนียต)ที่ดี

ตำแหน่งของเนียต
๑. บางครั้งเป็นเพราะความหวาดกลัว หรือมุ่งหวังในพระเมตตาของพระองค์ มนุษย์จึงได้ปฏิบัติอะมั้ล อัล-กุรอานกล่าวว่า وَادْعُوهُ خَوْفًا وَطَمَعًا “และพวกเจ้าจงวอนขอพระองค์ด้วยความหวาดกลัว และความมุ่งหวัง” (อัล – อะอฺรอฟ ๕๖)

وَيَدْعُونَنَا رَغَبًا وَرَهَبًا
“พวกเขาได้วอนขอต่อเราด้วยความพิศมัยและหวาดกลัว” (อัมบิยาอฺ ๙๐)

๒. บางครั้งมนุษย์ได้ปฏิบัติอะมั้ล เพื่อเป็นการขอบคุณในความเมตตของพระองค์ ไม่ว่าจะมีผลรางวัล หรือการลงโทษหรือไม่ก็ตาม ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “มาตรว่าพระองค์มิได้ทรงสัญญาการลงโทษต่อการกระทำความผิดไว้ก็ตามมันก็ เป็นวาญิบสำหรับมนุษย์ที่ต้องไม่อกตัญญูในการขอบคุณต่อความโปรดปรานของ พระองค์” (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ ฮิกมะฮฺ ๒๙๐)

๓. บางครั้งมนุษย์ได้ปฏิบัติอะมั้ล โดยมิได้มุ่งหวังสิ่งตอบแทน หรือมีความหวังในสรวงสวรรค์ หรือหวาดกลัวต่อไฟนรก เพียงแค่ตระหนักว่า พระองค์นั้นคู่ควรต่อการแสดงความเคารพภักดี เขาจึงปฏิบัติ

๔. และในบางครั้งเป็นเพราะว่า ความรักที่มีต่อพระองค์ เขาจึงยอมปฏิบัติอมั้ลทุกอย่าง ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ความรักของฉันที่มีต่อความตาย และการได้กลับไปพบกับอัลลอฮฺ (ซบ.) มีความคุ้นเคยมากกว่าเด็กทารกที่มีความผูกพันอยู่กับเต้านมของมารดาเสียอีก” (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๕)

ท่านกอซิม บุตรชายของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้กล่าวที่กัรบะลาว่า “การตายบนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) สำหรับฉันแล้วมีความหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง”

อิทธิพลของเนียตต่อการลงโทษ
อิสลามได้แยกบทลงโทษสำหรับคนที่กระทำความผิดโดยเจตนากับไม่เจตนา ไว้ต่างหากดังนี้
การฆ่าคนอื่นตายตายโดยเจตนา และมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า การสอบสวนและบทลงโทษ ย่อมต่างไปจากบทลงโทษของคนที่ฆ่าผู้อื่นตายโดยมิได้เจตนา อัล-กุรอาน กล่าวว่า “ผู้ศรัทธาคนหนึ่งไม่มีสิทธิ์สำหรับผู้ศรัทธาอีกคนหนึ่งได้ นอกเสียจากว่าทำความผิด และใครสังหารผู้ศรัทธาอย่างผิดพลาด (เป็นวาญิบ) ต้องปลดปล่อยทาสผู้ศรัทธาอีกคนหนึ่งให้เป็นอิสระ และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของเขา นอกเสียจากกว่า พวกเขาจะยกโทษให้ แต่ถ้าผู้ถูกสังหารเคยเป็นกลุ่มชนที่เคยเป็นศัตรูกับพวกเจ้า และเป็นผู้ศรัทธา ก็ให้ปล่อยทาสผู้ศรัทธาคนหนึ่งให้เป็นอิสระ และถ้าหากเขามาจากกลุ่มชนที่เคยมีสัญญากันระหว่างพวกเจ้ากับพวกเขา ก็ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวของเขา และปล่อยทาสผู้ศรัทธาคนหนึ่งให้เป็นอิสระ ฉะนั้น ผู้ใดมิอาจปฏิบัติได้ ให้ถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลาสองเดือน อันเป็นการลุกโทษ (เตาบะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” (อันนิสาอฺ ๙๒)

ส่วนคนที่ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา เขาจะถูกลงโทษประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกัน ซึ่งยังมีบทลงโทษอื่น ๆ อีกมากมายที่แตกต่างกันระหว่างการมีเจตนา กับไม่ได้มีเจตนา แต่ยกตัวอย่างมาพอสังเขปเพื่อให้รู้ว่า แท้จริงแล้ว เนียต (ตั้งเจตนา) นั้นมีอิทธิต่อการกระทำ และบทลงโทษมากน้อยเพียงใด

การรู้จัก คือปฐมบทของเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด
ดีที่สุดของการแสวงหาความใกล้ชิด คือ เนียตที่สะอาดบริสุทธิ์ และการรู้จักในอาตมัน(ซาต)ของพระองค์อัลลอฮฺ อัล – กุรอาน กล่าวว่า ان القوة لله جميعا “แท้จริงพลัง ทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)” (อัล บะกอเราะฮฺ ๑๖๕)

فَاجْعَلْ أَفْئِدَةً مِنْ النَّاسِ تَهْوِي إِلَيْهِم
َْ“ขอพระองค์ทรงดล บันดาลให้จิตของมนุษย์มีความอ่อนโยนรักใคร่พวกเขาด้วยเถิด” (อิบรอฮีม ๓๗)

-มุนาญาตชะอฺบานี ได้รำพันว่า “พวกเรารู้ว่าผลประโยชน์ และความเสื่อมเสียของเรามิได้อยู่ในมือของคนอื่น”

-ถ้าหากเรารู้ว่า การงานที่ทำเพื่อพระองค์ บางครั้งมีผลบุญมากมายเป็นสองเท่า บางครั้งสิบเท่า และบางครั้งมากถึงเจ็ดสิบเท่า เราก็คงไม่กระทำมันเพื่อคนอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์"

“จงรู้ไว้เถิดว่า ความสูงส่งทางสังคม มิได้ได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตน เพราะควันดำก็ลอยสู่เบื้องบนเหมือนกัน”
“จงรู้ไว้เถิดว่าการจ้องมอง ความสนใจ และคำสรรเสริญเยินยอของผู้คนมิได้มีค่าอันใดต่อเรา เพราะมาตรว่า มีช้างตัวหนึ่งเดินอยู่บนถนน ผู้คนก็จ้องมองเหมือนกัน”
“คนที่ประสบความสำเร็จ คือ คนที่อาศัยประสบการณ์ เอาใจใส่ต่อคำโจทย์ขาน เสียงวิพากษ์วิจารณ์และออกห่างจากการโอ้อวดต่าง ๆ”
“จงรู้ไว้เถิดว่า วันหนึ่งที่รออยู่ข้างหน้า ไม่มีใครสนใจและไม่สามารถช่วยเหลือกันและกันได้ ยกเว้น มวลผู้ศรัทธาที่มีจิตใจนอบน้อมและสงบมั่น”
ดังนั้น เมื่อทราบดีว่า เนียตที่ไม่ดีได้ทำลายคุณค่าการงานของเราไปมากมายแค่ไหน ก็จงกลับตัวกลับใจและสร้างเจตนาใหม่ เพื่อการงานที่บริสุทธิ์ และเพื่อความใกล้ชิดกับพระองค์

ผลของการมีเนีตยที่ไม่ดี
หากจะเปรียบเทียบเนียตที่ไม่ดี ก็คงจะไม่แตกต่างอะไรไปจากสนิม เพราะมันคือส่วนเกินของความสะอาดบริสุทธิ์ และทำลายคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

๑. ทำให้ดุอาอฺไม่ถูกตอบรับ ท่านอิมามสัจญาด (อ.)กล่าวว่า “เนียตที่ไม่ดีคือสาเหตุที่ทำให้ดุอาอฺไม่ถูกตอบรับ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๓๗๕)
เนียตที่ไม่ได้มีเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) นอกจากจะทำให้อะมั้ล และการงานต่าง ๆ มิได้ถูกย้อมสีด้วยสีของอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้วยังทำให้ประสบกับอันตรายต่างๆ อีกมาก

อิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “ถ้าใครต้องการขอยืมเงินของคนอื่นโดยมีเจตนาว่าจะไม่ใช้คืน เขาอยู่ในฐานะของขโมย” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๘๖)
การแต่งงานโดยเจ้าบ่าวมีเจตนาว่าจะไม่จ่ายมะฮัรฺให้กับเจ้าสาวของตน ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เขาอยู่ในฐานะของคนทำซินา (ผิดประเวณี) (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒)

๒. ริซกีเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “มาตรว่ามุอฺมินคนหนึ่งมีเจตนาว่าจะกระทำความผิด อัลลอฮฺ (ซบ.) จะไม่ประทานริซกีให้กับเขา”
ตัวอย่างของหะดีษนี้ดูได้จากเรื่องราวของ เรือกสวนหนึ่งที่อัล – กุรอานกล่าวไว้ในซูเราะฮฺ กอลัม โองการที่ ๑๖ – ๓๐ ว่า “มีชาวสวนกลุ่มหนึ่งได้เจตนาไปเก็บผลไม้ในตอนเช้าตรู่ เพื่อมิให้คนจนได้พบพวกเขา และพวกเขาจะได้ไม่ต้องแบ่งปันผลไม้ให้ เมื่อถึงตอนเช้าตรู่ พวกเขาได้เดินทางไปสวนของพวกเขา และพบว่าสวนนั้นได้แปรสภาพไปประดุจดังสวนที่ถูกเก็บผลผลิตไปแล้ว ขั้นแรกพวกเขาคิดว่า พวกเขาหลงทางมา เผอิญว่าในหมู่ของพวกเขามีคนที่มีสติอยู่บ้างได้พูดว่า “ฉันมิได้เตือนพวกท่านหรือว่า อย่าคิดและตั้งเจตนาเช่นนี้ ซึ่งพวกท่านมีเจตนาไม่เผื่อแผ่แก่คนยากจน ดังนั้น อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงได้ห้ามพวกท่านมิให้ได้รับผลผลิต

จากเรื่องราวของอัล – กุรอานทำให้รู้ว่า ในบางครั้งอัลลอฮฺ (ซบ.) จะลงโทษหรือกำราบมนุษย์ บนพื้นฐานของเจตนาที่ตั้งเอาไว้ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม

๓. เป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “เนียตที่ไม่ดีเป็นสาเหตุให้เกิดควาทุกข์ทรมาน” (ฆอรฺรอรุ้ลหะกัม หะดีษ ที่ ๑๖๑๐)
๔. เป็นสาเหตุให้ชีวิตการเป็นอยู่ไม่มีบะรอกัต
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงนำบะรอกัตออกจากชีวิตของคนที่มีเนียตไม่ดี โดยเขาไม่อาจใช้ประโยชน์จาก นิอฺมัตที่ดีของพระผู้เป็นเจ้าได้” (ฆุรอรุ้ลหะกัม หะดีษที่ ๑๖๑๕)

ได้มีคนกล่าวว่า “ มีคนกล่าวกับคนหนึ่งว่า เป็นเพราะการงานที่ดี เป็นสาเหตุทำให้ดุอาอฺของท่านสามต้นจะถูกตอบรับ เขาดีใจมากและพูดว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์ โปรดทำให้ภรรยาของข้าฯ เป็นคนที่สวยงามที่สุด และภรรยาของเขาก็กลายเป็นคนสวยงาม แต่ทว่าชีวิตของเขาได้แปรเปลี่ยนไป และมีแต่ความขมขื่นตลอดเวลา เนื่องจากว่า ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนมีแต่คนคอยจ้องมองภรรยาของเขา”

เขาจึงได้ขอดุอาอฺบทที่สองว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์ โปรดทำให้ภรรยาของข้า ฯ เป็นคนที่น่าเกียดและขี้เหร่ที่สุด” ดุอาอฺของเขาได้ถูกตอบรับ ทว่าเขาไม่อาจอดทนต่อสภาพชีวิตดังกล่าวได้ หลังจากนั้นเขาได้ขอดุอาอฺบทที่สามว่า “โอ้ ข้า ฯ แต่พระองค์โปรดทำให้ภรรยาของข้าฯเหมือนดังเดิม” ดุอาอฺของเขาถูกตอบรับ และภรรยาของเขาได้กลับมามีหน้าตาเหมือนเดิมเหมือนตอนแรก จะเห็นว่าชายผู้นี้ได้รับโอกาสทองในการขอดุอาอฺถึงสามครั้ง แต่โอกาสทองดังกล่าวมิได้บันดาลความจำเริญในชีวิตเขาแม้แต่น้อย และนี่คือความหมายของการถูกถอดถอนความจำเริญจากชีวิตของคนๆหนึ่ง ที่เขามิอาจได้รับประโยชน์ใดๆจากสิทธิพิเศษที่ได้รับ




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

หมวดที่ ๓ ตักบีรฺรอตุ้ลอิหฺรอม
ผู้เดินทางไปประกอบพิธีหัจญ์ณ บัยตุ้ลลอฮฺ นั้น ประโยคแรกที่เป็นวาญิบต้องกล่าวคือ "ลับบัยกะ" ซึ่งหลังจากกล่าวประโยคนี้แล้ว เท่ากับเป็นการเริ่มเข้าสู่พิธีหัจญ์ และสิ่งที่ต้องระวังต่อมาคือ ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่ต้องห้าม ๒๔ ประเภท ซึ่งถ้ากระทำถือว่าเป็นหะราม และต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺ (ซึ่งรายละเอียดมีกล่าวไว้ในขั้นตอนพิธีการประกอบหัจญ์)

นมาซเช่นกัน เริ่มต้นด้วยกับการกล่าวว่า (الله اكبر ) อัลลอฮุอักบัรฺ (อัลลอฮฺทรงเกรียงไกร) เมื่อกล่าวคำนี้แล้ว ภารกิจบางประเภทถือเป็นหะรอม(ต้องห้าม)สำหรับเขาทันที เช่น การกิน การดื่ม การพูดคุย การหัวเราะ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเรียกตักบีรฺแรกของนมาซว่า ตักบีรอตุ้ลอิหฺรอม หมายถึงหลังจากตักบีรฺนี้แล้ว อริยาบทต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากนามซถือเป็นหะรอม

บรรฮุจญาต (ผู้แสวงบุญทั้งหลาย)ในระหว่างทางไม่ว่าเขาจะหยุดและนั่งพักที่ไหน เขาจะกล่าว "ลับบัยกะ” ซ้ำเสมอ ซึ่งถือว่าเป็นมุสตะฮับ (สิ่งที่ดีงาม) นมาซเช่นกัน ไม่ว่าท่านจะก้ม ยืน นั่ง หรือลุกขึ้น เป็นมุสตะฮับให้กล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัรฺ”

الله اكبر อัลลอฮุอักบัรฺคือ คำพูดแรกที่เป็นวาญิบในตอนเช้าตรู่

الله اكبر อัลลอฮุอักบัรฺคือ คำพูดแรกที่ทารกแรกเกิดทุกคนต้องสำเนียกฟัง (เป็นมุสตะฮับให้อะซานที่หูขวาและอิกอมะฮฺที่หูข้างซ้าย) และเป็นคำพูดสุดท้ายที่คนตายทุกคนต้องฟัง (นมาซมัยยิต) หลังจากนั้นจึงนำเอาร่างไปฝัง

الله اكبر อัลลอฮุอักบัรฺเป็นคำพูดเดียวที่เป็นทั้งวาญิบและมุสตะฮับที่ต้องกล่าวใน นมาซ

الله اكبر อัลลอฮุอักบัรฺถือเป็นระหัสยะของมุสลิมทุกคนที่ต้องกล่าว (อะซาน)

الله اكبر อัลลอฮุอักบัรฺเป็นคำกล่าว ( ذكر ) ที่กล่าวมากที่สุดในนมาซ โดยกล่าวตั้งแต่เริ่มนมาซ กล่าวในนมาซ และกล่าวซิกรฺหลังนมาซ ซึ่งเมื่อนับจำนวนดูแล้วจะพบว่า มุสลิมคนหนึ่งเขาต้องกล่าวอัลลอฮุอักบัรฺ (الله اكبر) เฉพาะในนมาซที่เป็นวาญิบประจำวัน ประมาณ ๓๖๐ ครั้งด้วยกัน กล่าวคือ

๑. อะซานสำหรับนมาซ ๕ เวลา แต่ละอะซานต้องกล่าวตักบีร ๖ ครั้งด้วยกัน (๖*๕) = ๓๐
๒.อิกอมะฮฺสำหรับนมาซ ๕ เวลา แต่ละอิกอมะฮฺต้องกล่าวตักบีรฺ ๔ ครั้ง (๔*๕)= ๒๐
๓. ก่อนทำตักบีรอตุ้ลอิหฺรอมทุกนมาซ เป็นมุสตะฮับให้ยกมือตักบีรฺ ๖ ครั้ง (๖*๕)=๓๐
๔. ตักบีรอตุ้ลอิหฺรอมทุกนมาซ ๕ ครั้ง ๕
๕. ก่อนทำรุกูอฺทุกระกะอัตของนมาซให้ทำตักบีรฺ รวมทั้งสิ้น ๑๗ ครั้ง
๖. นมาซทุกระกะอัตจะมีสองสัจญะดะฮฺ และทุก ๆ สัจญะดะฮฺให้ทำตักบีรฺ ๒ ครั้ง ก่อนและหลังสัจญะดะฮฺ (๔*๑๗)= ๖๘
๗. นมาซทุก ๆ นมาซเป็นมุสตะฮับให้อ่านกุนูต ๑ ครั้ง และก่อนกุนูตให้ทำตักบีรฺเท่ากับ ๕ ครั้ง
๘. ก่อนจบนมาซทั้งห้าเวลา ให้ทำตักบีรฺ ๓ ครั้ง (๓*๕) = ๑๕
๙. หลังนมาซทั้งห้าเวลา ให้ทำตัสบีห์ซะฮฺรอ โดยอ่านอัลลอฮุอักบัรฺ ๓๔ ครั้ง (๕×๓๔) = ๑๗๐

อนึ่ง ถ้ารวมตักบีรฺหลังกุนูต ของนมาซประจำวันอีก ๕ ครั้งจะเท่ากับ ๓๖๕ ครั้งพอดี
แต่น่าเสียดายว่า จนถึงบัดนี้ เรายังมิได้กล่าวตักบีรฺ ด้วยความจริงใจสักครั้งเดียว ถ้ามุสลิมทุกคนพร้อมใจกันกล่าวอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر )(อัลลอฮฺทรงมหาใหญ่) ด้วยความจริงใจ ด้วยอีมาน และด้วยความตั้งใจที่สมบูรณ์ วันละ ๓๖๕ ครั้งทุกวัน แล้วยังจะมีอำนาจใดยิ่งใหญ่เกินอิสลามอีกเล่า เป็นที่แน่นอนเสียเหลือเกินว่า อาวุธที่ร้ายแรงที่สุด คือพลังอีมานของผู้ศรัทธาและเสียงเปล่งร้องว่าอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر) และเสียงนี้เมื่อมันดังก้องพร้อมกันทั่วทุกมุมโลก อำนาจของฏอฆูตทั้งหลายจะพังพินาศลงทันที เพราะเป็นการประกาศว่า ไม่มีอำนาจอื่นใด ยิ่งใหญ่เกินกว่าอำนาจของอัลลอฮฺ (ซบ.) และไม่มีคำพูดใดเป็นสัจธรรมยิ่งไปกว่าคำว่า อัลลอฮุอกบัรฺ(الله اكبر)

ตักบีรฺในนมาซต่าง ๆ
-นมาซอีด ฟิฎรฺ และอีดกุรบานถือว่าการตักบีรฺ คือสัญลักษณ์ของนมาซ
-นมาซอายาต (เมื่อเกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง) ทุก ๆ ระกะอัตจะมี ๕ รุกูอฺ และทุก ๆ รุกูอฺต้องเริ่มต้นด้วยตักบีรฺ
นมาซมัยยิต มี ๕ ตักบีรฺ เช่นกัน (*บางมัซฮับมี ๔ ตักบีรฺ)

จะกล่าวตักบีรฺอย่างไรในนมาซ
อิสลามจะเน้นย้ำถึงมารยาทของการปฏิบัติในทุกกิจการงาน แม้กระทั่งการกล่าวอัลลอฮุอักบัรฺ (الله اكبر) เช่นกันได้มีมารยาทของการกล่าวประโยคนี้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนอาทิเช่น

๑. ขณะที่กล่าวอัลลอฮุอักบัรฺในยกฝ่ามือทั้งสองเสมอที่ติ่งหู (แบบมือออก) และเมื่อฝ่ามือทั้งสองเสมอติ่งหูเสียงตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ ต้องจบพอดี
ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า “การยกมือขึ้นขณะตักบีรฺมีผลต่อการสำรวมจิตใจ และการตั้งใจไปยังอัลลอฮฺ (ซบ.) (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๗๒๗)

๒. ขณะกล่าวตักบีรฺ มือที่แบออกควรให้นิ้วมือประชิดติดกันและยกขึ้นสูง
๓. ฝ่ามือต้องแบตรงกับกิบละฮฺ
ริวายะฮฺกล่าวว่า “การยกมือขึ้นสูงขณะทำการตักบีรฺ ถือเป็นเครื่องประดับของนมาซ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๔ หน้าที่ ๓๕๑)

ความหมายของตักบีรฺ
الله اكبر อัลลอฮุอักบัรฺหมายถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประเสริฐกว่าและดีกว่ามวลสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งที่อยู่ในจินตนาการและความรู้สึก
الله اكبر อัลลอฮุอักบัรฺหมายถึง อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประเสริฐกว่าและดีกว่าทุกคำพูดที่มาอรรถธิบายคุณลักษณะและคุณสมบัติของ พระองค์
ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “เมื่อท่านได้กล่าวตักบีรฺ จงรู้ไว้เถิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเล็กหมด ยกเว้นพระองค์” (สิรฺรุสเศาะลาฮฺ หน้าที่ ๗๘)

และเมื่อปากของเราได้เปล่งเสียงตักบีรฺออกมาว่าอัลลอฮุอักบัรฺالله اكبر แต่จิตใจของเรากับผูกพันอยู่กับสิ่งอื่น ถือว่าเป็นการโกหกและหลอกลวง และด้วยเหตุนี้พระองค์จึงนำเอาความหวานชื่นในการระลึกถึงพระองค์ออกไปจากเขา

ตักบีรฺกับวัฒนธรรมอิสลาม
การตักบีรฺ الله اكبر มิได้ถูกกล่าวเฉพาะเวลานมาซเท่านั้น แต่ทว่ามีมากมายหลายสถานภาพที่ต้องกล่าวตักบีรฺ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าในยุคแรกเริ่มอิสลาม บางครั้งบรรดามุสลิมได้กล่าวตักบีรฺอย่างมีความสุข และบางครั้งก็แฝงไว้ด้วยความขมขื่นสุดที่จะบรรยาย ซึ่งจะขอกล่าวถึงบางสถานการณ์ดังต่อไปนี้

๑. ในสงครามคอนดัก ขณะที่บรรดามุสลิมกำลังขุดสนามเพลาะอยู่นั้น ได้ขุดไปโดนหินขนาดใหญ่ ทำให้เครื่องมือบางอย่างแตกและหักลง ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้เดินเข้ามาและช่วยทุบหินก้อนนั้นจนแตก บรรดามุสลิมต่างพากันตักบีรฺว่าอัลลอฮุอักบัรฺ (الله اكبر) ขณะนั้นเองท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า “ฉันได้มองเห็นการล่มสลายของปราสาทราชวังแห่งกรุงโรม และอิหร่าน จากประกายไฟที่กระเด็นออกมาจากก้อนหินนั้น” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๙๐)

๒.ท่านอิมามอะลี (อ.) ขณะทำสงครามศิฟฟีน คราใดที่ท่านได้ฆ่าศัตรูตายท่านจะตักบีรฺเสียงดังว่า อัลลอฮุอักบัรฺ ซึ่งบรรดามุสลิมได้เฝ้านับจำนวนเสียงตักบีรฺของท่านทำให้รู้ว่าท่านได้ฆ่า ทหารฝ่ายศัตรูไปเป็นจำนวนเท่าไร (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๓๒ หน้าที่ ๖๐)

๓. ค่ำคืนที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ถูกนำตัวไปส่งที่บ้านของท่านอิมามอะลี (อ.) (ในฐานะเจ้าสาว) ได้มีมะลาอิกะฮฺ จำนวน ๗๐,๐๐๐ องค์ ลงมาและส่งเสียงตักบีรฺไปตลอดทาง” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๔๓ หน้าที่ ๑๐๔)

๔. ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวตักบีรฺแก่ ญินาซะฮฺ ของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บินติอะสัดมารดาของท่านอิมามอะลี (อ.) จำนวน ๔๐ ครั้ง และกล่าวแก่ญินาซะฮฺ ของท่านฮัมซะฮฺ ผู้ซึ่งเป็นลุงสุดที่รักของท่าน จำนวน ๗๐ ครั้ง (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๓๕ หน้าที่ ๗๐ และเล่มที่ ๒๐ หน้า ๖๓)

๕. เป็นมุสตะฮับให้กล่าวตักบีรฺ ขณะขว้างเสาหินในพิธีหัจญ์

๖. การทำตัสบีห์ ท่านหญิงซะฮฺรอ นั้นมีผลบุญเท่ากับการทำนมาซมุสตะฮับ ๑,๐๐๐ ระกะอัต และในตัสบีห์นั้นให้กล่าวตักบีรฺ ๓๔ ครั้ง (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๔๘)

๗.ขณะที่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้ถือกำเนิดขึ้นมา คำแรกที่ท่านกล่าวคืออัลลอฮุอักบัรฺ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๕ หน้า ๒๗๓)

๘. เมื่อกองทัพมุสลิมได้ยึดมักกะฮฺคืนจากมุชริกีนได้ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้เดินเข้ามาในมัสญิด อัลหะรอมและได้ชี้ไปที่หินดำ (ญิจรุ้ลอัสวัด) พร้อมกับตักบีรฺว่าอัลลอฮุอักบัรฺ (الله اكبر) หลังจากนั้นบรรดามุสลิมได้ทำการตักบีรฺตาม ทำให้บรรดามุชริกีนเกิดความหวาดกลัวอย่างหนัก (ตับสีรนิมูเนะฮฺ เล่มที่ ๒๗ หน้าที่ ๔๐๗)

๙. ริวายะฮฺกล่าวว่า คราใดที่ท่านพบกับความประหลาดใจ หรือตกใจอย่างแรงจงกล่าวว่า อัลลลอฮุอักบัรฺ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๙๒ หน้าที่ ๑๒๗)

๑๐ในสงครามอุฮุด ทหารฝ่ายศัตรูได้มาร้องตะโกนท้าทาย แบบดูถูกเหยียดหยาม ให้ฝ่ายมุสลิมส่งนักรบไปต่อสู้กับเขา ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) จึงได้ส่งท่านอิมามอะลี (อ.) ออกไปซึ่งขณะที่ท่านอิมาม (อ.) ได้ฟันศัตรู ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กับบรรดาทหารมุสลิมได้ส่งเสียงตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر) พร้อมกัน (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๒๐ หน้าที่ ๑๒๖)

๑๑. ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า เมื่อใดที่ท่านเห็นดวงจันทร์ของเดือนใหม่ หรือ ส่องกระจก หรือประสบกับปัญหา ให้กล่าวตักบีรฺอัลลลอฮุอักบัรฺ ( الله اكبر ) ๓ ครั้ง (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๙๒ หน้าที่ ๑๔๕)

๑๒. ท่านซัยดฺ บุตรของท่านอิมามสัจญาด (อ.) ได้ลุกขึ้นต่อต้านราชวงศ์ บนีอุมัยยะฮฺ ซึ่ง คำขวัญที่ท่านใช้คืออัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر ) (กิตาบ ซัยดฺ บินอะลี หน้าที่ ๑๘๖)

๑๓. ในสงครามบะดัร ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้รอฟังข่าวว่าเมื่อไหร่แม่ทัพของฝ่ายศัตรูนามว่า นูฟิล จะถูกสังหาร ทันทีที่ท่านได้รับข่าวว่า ท่านอิมามอะลี ได้สังหาร นูฟิล แล้ว ท่านได้ตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر )(บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๙ หน้าที่ ๒๘๑)

๑๔. ขณะที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้มาสู่ขอท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า รอเดี๋ยวให้ฉันบอกฟาฏิมะฮฺ ก่อน เพื่อเธอจะได้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้แจ้งเรื่องราวให้เธอทราบถึงเจตนารมณ์ของท่านอิมามอะลี (อ.) แต่เธอมิได้กล่าวตอบ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) จึงกล่าวว่าอัลลอฮุอักบัร (الله اكبر) การนิ่งเงียบของเธอ คือ การตอบตกลง (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๔๓ หน้า ๙๓)

๑๕. การทำสงครามกับพวก คอวาริจญ์ เมื่อแม่ทัพของพวกเขาถูกสังหาร ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ตักบีรฺ และลงสัจญะดะฮฺ และประชาชนทั้งหมดได้ทำการตักบีรฺตาม (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๔๑ หน้าที่ ๓๔๑)

๑๖. ได้มีพวกยะฮูดีกลุ่มหนึ่งเข้ารับอิสลามและพูดกับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ว่า บรรดาศาสดาก่อนหน้าท่านต่างมีตัวแทนทั้งสิ้น และตัวแทนของท่านล่ะเป็นใคร ขณะนั้นอายะฮฺ วิลายะฮฺ ได้ถูกประทานลงมาว่า “อันที่จริงผู้ปกครองของพวกท่านคือ อัลลอฮฺ (ซบ.) และศาสดาของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธาซึ่งดำรงนมาซ และจ่ายซะกาตในขณะทำการรุกูอฺ” (มาอิดะฮฺ/ ๕๕) ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวกับพวกเขาว่า พวกท่านจงไปมัสญิดซิและพวกท่านจะได้รู้ว่าตัวแทนของฉันเป็นใคร เมื่อพวกเขาได้มาถึงมัสญิด จึงพบว่าท่านอิมามอะลี (อ.) กำลังทำรุกูอฺและได้บริจาคแหวนที่กำลังสวมใส่ให้กับขอทานคนหนึ่ง ซึ่งขอทานคนนั้นดีใจมาก ในช่วงนั้นท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر) (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๓๕ หน้าที่ ๑๘๓)

๑๗. ท่านอิมามอะลี (อ.) ขณะทำการพิพากษาเมื่อท่านรู้ตัวคนผิดท่านจะตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر ) (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มี่ ๔๐ หน้าที่ ๒๖๐)

๑๘. การกล่าวตักบีรฺ الله اكبر ขณะเข้าสู่หะรัม (สถานฝังศพ) ของบรรดาอิมามมะอฺศูม (อ.) ได้ถูกแนะนำไว้อย่างมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนอ่านซิยารัต ญามิอะฮฺ กะบีรฺ ให้กล่าวตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر )๑๐๐ ครั้ง ท่านมัรฮูม อัลลามะฮฺ มัจลิส ได้กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะต้องการมิให้พวกท่านมีความคิดเลยเถิดเกี่ยวกับอิมาม (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๙๙)

๑๙. ท่านมัยษัม ตัมมารฺ ได้ปกป้องบรรดาอหฺลุลบัยตฺ (อ.) จนเป็นเหตุทำให้ อิบนุซิยาด สั่งแขวนคอท่านและแทงด้วยหอก ในช่วงวินาทีสุดท้ายก่อนเป็นชะฮาดัต ท่านได้กล่าวตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر ) และเลือดได้ไหลออกมาจากปากของท่าน (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๑๒๕)

๒๐. ขณะที่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เสด็จมิอฺรอจญ์ ทุกชั้นฟ้าที่ผ่านไปท่านกล่าวตักบีรฺ الله اكبر (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๖ หน้าที่ ๒๐๗)

๒๑. ขณะที่มะลาอิกะฮฺ ญิบรออีล อยู่กับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เดินทางเข้ามา ญิบรออีลได้กล่าวกับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ว่า โอ้ มุฮัมมัด ฉันขอสาบานกับพระผู้อภิบาลผู้ทรงแต่งตั้งให้ท่านให้เป็นศาสดาว่า บรรดาชาวฟ้าทั้งหลายต่างรู้ว่าอะลีคนนี้ดีกว่าชาวดินเสียอีก ทุกครั้งในสงครามที่เขากล่าวตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر ) พวกเราเหล่าบรรดามาลาอิกะฮฺ ก็กล่าวพร้อมกับเขาด้วย (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๓๙ หน้าที่ ๙๘)

๒๒. ในสงครามคัยบัร เมื่อกองทัพมุสลิมได้บุกเข้าไปจนถึงใจกลางกองทัพของฝ่ายศัตรู และได้ส่งเสียงตักบีรฺอัลลอฮุอักบัรฺ( الله اكبر ) พร้อมกัน ทำให้กองทัพของยะฮูดีวิ่งหนีกันแตกกระเจิง (พียอมบะรี วะฮุกูมัต หน้าที่ ๑๔๖






โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

หมวดที่ ๔ ซูเราะฮฺฮัมด์
หลังจากทำตักบีรอตุ้ลอิหฺรอมแล้ว ต้องอ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ มิฉะนั้นแล้วจะถือว่านมาซบาฏิล (เสีย) หะดีษกล่าวว่า “ถือว่ามิได้ทำนมาซ นอกจากต้องอ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ”(มุสตัดร๊อกวะซาอิล หะดีษที่ ๔๓๖๕)

อีกชื่อหนึ่งของซูเราะฮฺนี้ คือ ฟาติหะตุ้ลกิตาบ (ปฐมบทของคัมภัร์) เพราะอัล – กุรอานได้เริ่มต้นด้วยซูเราะฮฺนี้ และซูเราะฮ์ดังกล่าวมีอยู่ทั้งสิ้น ๗ โองการ ซึ่งจำนวนเจ็ดในอิสลามยังมีความหมายอื่นอีกมากมาย เช่น เจ็ดชั้นฟ้า จำนวนวันในรอบสัปดาห์ จำนวนรอบของการเฏาะวาฟ (การเดินเวียนรอบอัล-กะอฺบะฮฺ) จำนวนเที่ยวของการเดินสะอีย์ (การเดินไปมา) ระหว่างเขาเศาะฟากับมัรวะฮฺ และจำนวนของการขว้างเสาหินในพิธีหัจญ์ ซึ่งเปรียบเสมือนการขว้างมารร้ายด้วยเช่นกัน

ท่านญาบีรฺ บิน อับดุลลอฮฺ อันศอรีย์ รายงานว่าท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “ซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ คือ ซูเราะฮฺที่ดีที่สุดของอัล -กุรอาน (ตับสีรฺ กันซุ้ลดะกออิด)

ซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ เป็นซูเราะฮฺเดียวของอัล -กุรอาน ที่มุสลิมทุกคนต้องอ่านทุกวัน วันละ ๑๐ ครั้ง (ในนมาซวาญิบประจำวัน)
ความสำคัญและความประเสริฐของซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ นั้นมีมากมาย ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “ท่านอย่าประหลาดใจหากอ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ ๗๐ ครั้ง ให้กับคนตายแล้วเขาได้ฟื้นขึ้นมา” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๙๒ หน้าที่ ๒๕๗)

การตั้งชื่อซูเราะฮฺนี้ว่า “ฟาติหะตุ้ลกิตาบ” (ปฐมบทของคัมภีร์) เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า โองการทั้งหมดของอัล-กุรอานได้รับการรวบรวมเป็นรูปเล่มในสมัยของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) และถูกกำหนดให้เป็นปฐมบทของคัมภีร์ตามคำสั่งของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เนื้อหาสาระโดยรวมของซูเราะฮฺกล่าวถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) พร้อมทั้งคุณลักษณะของพระองค์ การฟื้นคืนชีพ (มะอาด) การรู้จักแนวทางแห่งสัจธรรม และความปรารถนาในการก้าวเดินไปบนแนวทางดังกล่าว โองการต่าง ๆ ของซูเราะฮฺยังแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะสืบทอดแนวทางของมวลมิตรที่ เป็นที่รักของพระองค์ และการแสดงความเกลียดชังต่อผู้หลงผิดและผู้ถูกกริ้ว

ซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ คือที่มาของการเยียวยารักษา (ชะฟาอฺ) ทั้งโรคภัยทางร่างกายและความป่วยไข้ทางจิตวิญญาณ

บทเรียนทางจริยธรรมจากซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ
-ในการอ่านซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ มนุษย์จะตัดความมุ่งหวังของตนเองออกจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ(ซ.บ.) ด้วยกับคำว่าبِاِسْمِ اللَّهِ (ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ)

- การอ่าน رَبِّ الْعَالَمِينَ “พระผู้อภิบาลสรรพสิ่งทั้งมวล” และ مَالِكِ يَوْمِ الدِّينِ “ผู้ทรงสิทธิในวันตอบแทน” มนุษย์จะตระหนักถึงความเป็นบ่าวและละทิ้งความทนงตนและความยะโส

- ด้วยกับคำว่า الْعَالَمِينَ “สรรพสิ่งทั้งมวล” มนุษย์จะสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นระหว่างเขากับสรรพสิ่งทั้งมวล
- ด้วยกับคำว่า الرَّحْمَانِ الرَّحِيمِ “ผู้ทรงกรุณาปรานียิ่ง ผู้ทรงเมตตาเสมอ” มนุษย์ได้ถือว่าตนเองอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งความเมตตาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เสมอ
- ด้วยกับคำว่า مَالِكِ يَوْمِ الدِّينِ “ผู้ทรงสิทธิในวันตอบแทน” ความหลับไหลและการไม่ใส่ใจของมนุษย์ต่ออนาคตของตนเองจะถูกทำลายลง”
- ด้วยกับการกล่าว إِيَّاكَ نَعْبُدُ “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี” การโอ้อวดและการแสวงหาชื่อเสียงจะถูกขจัดออกไปจากมนุษย์
- ด้วยกับคำว่า إِيَّاكَ نَسْتَعِينُ “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ” มนุษย์จะไม่หวาดกลัวต่ออำนาจอื่นใด
- ด้วยกับคำว่า اهْدِنَا “โปรดชี้นำทางพวกเรา” มนุษย์ได้แสดงความปรารถนาที่จะก้าวเดินบนแนวทางแห่งสัจธรรมและแนวทางอัน เที่ยงตรง
- صِرَاطَ الَّذِينَ أَنْعَمْتَ عَلَيْهِمْ “แนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ประทานความโปรดปรานแก่พวก เขา” คือเครื่องหมายของความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันของบรรดาผู้ปฏิบัติตาม สัจธรรม

- คำว่า أَنْعَمْتَ “ทรงประทานความโปรดปราน” นั้นชี้ให้เห็นว่าการจัดแบ่งความโปรดปราน (นิอฺมะฮฺ) ทั้งหลายนั้นอยู่ในอำนาจของพระองค์ ฉะนั้น มนุษย์จะต้องขจัดความอิจฉาริษยาออกไป เพราะผู้อิจฉา คือ ผู้ไม่พอใจต่อการจัดแบ่งปัจจัยยังชีพของพระองค์

- غَيْرِ الْمَغْضُوبِ عَلَيْهِمْ “มิใช่แนวทางของผู้ถูกกริ้ว” และ لَا الضَّالِّينَ “มิใช่แนวทางของผู้หลงผิด” คือสัญลักษณ์ของความเกลียดชัง และการปลีกตัวออกจากความเท็จและผู้ปฏิบัติตามความเท็จทั้งหลาย

بسم الله الرحمن الرحيم
“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตายิ่งเสมอ”

ท่ามกลางกลุ่มชนและประชาชาติต่าง ๆ ถือเป็นประเพณีในการเริ่มงานต่าง ๆ ที่สำคัญของตน ด้วยนามของบุคคลสำคัญ หรือผู้อาวุโสที่ได้รับความเคารพนับถือและเป็นที่รักในหมู่พวกเขา เพื่อให้งานนั้นประสบความสำเร็จหรือให้มีความสำคัญยิ่งขึ้น แน่นอนที่สุดประเพณีดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ถูกต้องและเป็น เท็จ กล่าวคือบางกลุ่มชนเริ่มต้นงานของตนด้วยกับนามของเทวรูป และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อของตน และบางกลุ่มชนได้เริ่มต้นงานของตนด้วยกับ พระนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) และด้วยกับมือของมวลมิตรผู้เป็นที่รักของพระองค์ เช่น ในสงครามคอนดัก ผู้ที่ลงมือขุดสนามเพลาะเป็นคนแรกคือท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ)

ตัวอย่างการเริ่มต้นงานด้วย بسم الله الرحمن الرحيم
- คัมภีร์อัล -กุรอานเริ่มต้นด้วย بسم الله الرحمن الرحيم
- คัมภีร์อื่น ๆ ของอัลลอฮฺ (ซบ.) ก็เริ่มต้นด้วย بسم الله الرحمن الرحيم เช่นกัน
- ภารกิจของศาสดาทุกท่านเริ่มต้นด้วย بسم الله الرحمن الرحيم
- เมื่อเรือของท่านศาสดานูห์ (อ.) เริ่มเคลื่อนตัวท่ามกลางพายุฝนและคลื่น ท่านศาสดานูห์ (อ.) ได้สั่งสหายของท่านว่า “จงขึ้นเรือซึ่งการเคลื่อนและหยุดของเรือนี้ด้วยกับพระนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) (ฮูด/๔๑)

بسم الله الرحمن الرحيم (ยก อัล-กุรอานผิด)
- ท่านศาสดาสุลัยมาน (อ.) ได้ทำการเชิญชวนราชินี แห่งเมืองสะบาอฺ ให้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ท่านได้ส่งสาส์นด้วยถ้อยคำของ بسم الله الرحمن الرحيم นัมลฺ /๓๐)

- ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) เริ่มต้นการเผยแผ่สาส์นของท่านด้วยกับพระนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) اقْرَأْ بِاسْمِ رَبِّكَ) จงอ่านด้วยนามของพระผู้อภิบาลของเจ้า”
- การกล่าว بِسْمِ اللّهِ ในการเริ่มงานต่าง ๆ เช่น รับประทานอาหาร แต่งงาน ขับขี่ยานพาหนะ การเดินทาง การเรียน การสอน การอ่านหนังสือ และภารกิจที่เป็นกิจวัตรประจำวันทั้งหลาย ซึ่งได้รับการแนะนำไว้อย่างมาก และแม้กระทั่งว่า สัตว์ที่ถูกเชือดโดยมิได้กล่าวนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) อิสลามได้มีคำสั่งว่า ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์นั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะทำอะไร ควรมีเป้าหมายและดีที่สุดของเป้าหมายคือ อัลลอฮฺ (ซบ.)

ทำไมต้องเริ่มงานต่าง ๆ ด้วย بِسْمِ اللّهِ
หากสังเกตจะพบว่าผลิตภัณฑ์ ของโรงงานทุกประเภท จะต้องมีตราหรือเครื่องหมายของโรงงานนั้น ๆ ปรากฎอยู่ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะเป็นชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ก็ตาม หรือแม้แต่ธงประจำชาติของทุกประเทศที่ติดอยู่ตามสำนักงานต่าง ๆ หรือตามสถานที่สำคัญ

เครื่องหมายเหล่านี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป้าหมายและทิศทางในการผลิต และเป็นสัญลักษณ์ของประเทศนั้น ๆ และเพื่อป้องกันมิให้อุดมการณ์ของพวกเขาถูกเปลี่ยนแปลงไป และมันจะอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดไป
พระนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) และการระลึกถึงพระองค์ก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นสัญลักษณ์ของมุสลิม ได้มีรายงานหะดีษบทหนึ่งกล่าวว่า “จงอย่าลืม بِسْمِ اللّهِ ” แม้ในการเขียนกลอนสักวรรคหนึ่งก็ตาม” และในหะดีษอีกหลายบทได้ระบุถึงผลบุญของผู้สอน بِسْمِ اللّهِ ให้กับ เด็ก ๆ เป็นครั้งแรก

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเริ่มต้นงานด้วย بِسْمِ اللّهِ ว่า “بِسْمِ اللّهِ คือ ที่มาของความจำเริญ (บะรอกะฮฺ) ส่วนการละทิ้งเป็นสาเหตุของการไม่สัมฤทธิ์ผลของกิจการงาน”

بِسْمِ اللّهِ คือ โองการของอัล – กุรอานใช่หรือไม่
ตามทัศนะของอหฺลุลบัยตฺ (อ.) ซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนหน้าผู้นำสำนักคิดต่าง ๆ ประมาณ ๑๐๐ ปี และเป็นผู้พลีชีพในหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) อีกทั้งเป็นกลุ่มชนที่อัล-กุรอาน กล่าวถึงความบริสุทธิ์จากบาป ความผิดพลาด และความหลงลืม ไว้อย่างชัดเจนได้กล่าวว่า بِسْمِ اللّهِ เป็นอายะฮฺหนึ่งของอัล-กุรอาน

อนึ่ง อหฺลุลบัยตฺ คือ สายตระกูลของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) ที่ได้รับการเลือกสรรจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ให้เป็นผู้นำประชาชาติหลังจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) บุคคลเหล่านี้ได้แก่ ท่านอิมามอะลี (อ.) อิมามฮะซัน (อ.) อิมามฮุซัยนฺ (อ.) และผู้สืบสายตระกูลของท่านอิมามฮุซัยนฺอีก ๙ ท่าน ซึ่งคนสุดท้ายคือ ท่านอิมามมะอฺดี (อฺ)

ท่านฟัครุร-รอซี นักอรรถธิบายอัล-กุรอานที่มีชื่อเสียงของอหฺลุซซุนนะฮฺ ได้นำเสนอหลักฐานไว้ ๑๖ ประการ ในตับสีรฺของท่าน (ตับสีรฺ อัลกะบีรฺ) ซึ่งยืนยันว่า บิสมิ้ลลาฯ. .. เป็นส่วนหนึ่งของอัล – กุรอาน

ท่านอาลูซี เป็นนักปราชญ์ท่านหนึ่งของอะฮฺลุซซุนนะฮฺ และเป็นผู้เขียนตับสีรฺ รูฮุล-มะอานี ได้ยืนยันทัศนะดังกล่าวว่า بِسْمِ اللّهِ คือส่วนหนึ่งของอัล- กุรอาน

มุสนัดอะหฺมัด ได้บันทึกไว้ว่า بِسْمِ اللّهِ เป็นส่วนหนึ่งของซูเราะฮฺ (มุสนัดอะหฺมัด เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๗๗ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๘๕)
- มีบางคนถือว่าبِسْمِ اللّهِ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของซูเราะฮฺและได้ละทิ้งการอ่าน بِسْمِ اللّهِ ในนมาซ ทำให้ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง เช่นครั้งหนึ่ง มุอาวิยะฮฺ ได้นำนมาซและไม่ได้อ่าน บิสมิ้ลลาฮฺ.. ประชาชนได้พากันทักท้วงว่า .... “ท่านได้ขโมยนมาซหรือว่าหลงลืม” (มุสตัดร๊อกฮากิม เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๓๓)

- ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ.) ได้กล่าวถึงบุคคลที่ไม่ถือบิ้สมิ้ลลาฮฺ เป็นส่วนหนึ่งของซูเราะฮฺ และได้ละทิ้งการอ่าน بِسْمِ اللّهِ ในนมาซว่า “พวกเขาได้ขโมยอายะฮฺที่ประเสริฐที่สุดออกไปจากคัมภีร์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)” (ตับสีรฺบุรฮาน เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๒ หะดีษที่ ๑๕)

- บรรดาอิมามมะอฺศูม (อ.) ทั้งหมดได้ยืนกรานการอ่าน บิสมิ้ลลาฮฺِ ในนมาซด้วยเสียงดัง
- สุนันบัยฮะกีย์ ได้บันทึกหะดีษบทหนึ่งซึ่งตอนหนึ่งของหะดีษมีใจความว่า “ทำไมบางคนจึงไม่ถือว่า บิสมิ้ลลาฮฺ เป็นส่วนหนึ่งของซูเราะฮฺ” (สุนันบัยฮะกีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๐)
กุรฏุบบีย์ได้รายงานจากท่านอิมาม ญะอฺฟัร ศอดิก (อ.) ซึ่งท่านอิมามกล่าวว่า “بِسْمِ اللّهِ คือ มงกุฏของซูเราะฮฺ” ยกเว้นซูเราะฮฺเตาบะฮฺที่ไม่มี بِسْمِ اللّهِ ท่านอิมามอะลี (อ.) อธิบายว่าเนื่องจาก بِسْم ِاللّهِ เป็นถ้อยคำ ที่ยังความปลอดภัย ส่วนการ “บะรออะฮฺ” เป็นการประกาศความเกลียดชัง และความเป็นศัตรูกับผู้ปฏิเสธ และผู้ตั้งภาคีทั้งหลาย ไม่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความเมตตา (มัจญมะอุ้ลบะยาน เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๒ ฟัครุร – รอซี เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๑๖)

بِسْم ِاللّهِ คือเครื่องหมายบ่งชี้ สีของอัลลอฮฺ (ซบ.)(ศิบเฆาะตุ้ลลอฮฺ)หมายถึง ผู้ศรัทธาในอัลลอฮฺ (ซบ.) จะได้รับการย้อมด้วยกับสีของพระองค์ ซึ่งหมายถึง แนวทางอันบริสุทธิ์ของอิสลาม กล่าวคือ อิสลามจะชำระขัดเกลาจิตใจ สติปัญญาและความคิดของเขาให้สะอาดบริสุทธิ์จากมนทิน และความเท็จทั้งมวล อีกทั้ง بِسْمِ اللّهِ ยัง เป็นเครื่องกำหนดทิศทางความศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวของมนุษย์ (เตาฮีด)

بِسْمِ اللّهِ คือ สัญลักษณ์ของการยอมรับความเป็นเอกะของอัลลอฮฺ (ซบ.)ส่วนสรรพสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ถือเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิเสธ เช่นกันการกล่าวนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) ควบคู่กับนามของบุคคลอื่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของการตั้งภาคี (แม้กระทั่งเริ่มต้นนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) ควบคู่กับนามของท่านศาสดามุฮัมมัด ก็ถือว่าไม่อนุญาต) อัล – กุรอานกล่าวว่า "พระนามแห่งองค์พระผู้อภิบาลของเจ้านั้นสะอาดบริสุทธิ์"

بِسْمِ اللّهِ คือ สัญลักษณ์ของความเป็นนิรันดร์ เพราะสิ่งใดก็ตามไม่มีสีของอัลลอฮฺ (ซบ.) ล้วนมลายสิ้น อัล-กุรอาน กล่าวว่า “كل شيء هالك الاوجه الله” ทุกสรรพสิ่งพินาศสิ้น ยกเว้น ซาตอันบริสุทธิ์ของพระองค์” (อัล- เกาะศอด์ /๘๘)

بِسْمِ اللّهِ คือ รหัสที่เผยให้เห็นว่า เนื้อหาของซูเราะฮฺได้ถูกประทานลงมาจากผู้เป็นต้นกำเนิดของสัจธรรมและความ เมตตา เป็นระหัสของความรัก และความไว้วางใจในพระองค์ เป็นสัญลักษณ์ของการถอนตัวจากความยโสโอหัง และการแสดงความไร้ความสามารถ ณ พระองค์ เป็นสัญลักษณ์ในการขับไล่มารร้ายชัยฎอน และบุคคลใดที่อยู่กับอัลลอฮฺ (ซบ.) ซัยฎอนมารร้ายและอำนาจทั้งหลายจะไม่มีอิทธิพลต่อเขา

بِسْمِ اللّهِ ยังเป็นหลักประกันของความบริสุทธิ์ใจในกิจการงานต่าง ๆ และย้ำเตือนเราเสมอว่า “โอ้ อัลลอฮฺ (ซบ.) ข้าพระองค์ไม่เคยลืมเลือนพระองค์ แรงบันดาลใจและเป้าหมายของข้าพเจ้า ฯ คือพระองค์ มิใช่ประชาชนหรือผู้ปกครองที่อธรรม หรือความศิวิไลของโลก และมิใช่อารมณ์ใฝ่ต่ำแห่งตน การขอความช่วยเหลือของข้าพเจ้า ฯ เฉพาะจากพระองค์เท่านั้น ข้าพเจ้าตระหนักดีว่า การสร้างสรรค์ การชี้นำ และการย้อนกลับคืนของสรรพสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหลายนั้น ล้วนเกิดขึ้นด้วยกับการแสวงหาความช่วยเหลือจากพระองค์ทั้งสิ้น”

بِسْمِ اللّهِ ยังเผย ให้เห็นว่า การเริ่มต้นทุกกิจการงาน ต้องการความหวังและกำลังใจ ซึ่งที่มาของความหวัง และกำลังใจทั้งมวลคือ อัลลอฮฺ (ซบ.) ด้วยเหตุนี้คำว่า ... (ผู้ทรงกรุณาปรานี) (ผู้ทรงเมตตายิ่ง) จึงนำมาใช้หลังคำว่า الله ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องสร้างกำลังใจและความหวัง โดยการรำลึกถึงพระองค์ และกล่าวว่า بِسْمِ اللّهِ เพราะการเริ่มต้นทุกภารกิจการงาน ด้วยถ้อยคำที่มีความเมตตานั้น แสดงให้เห็นว่า รากฐานของทุกกิจการงานวางอยู่บนพื้นฐานของความเมตตา และเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า การแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้เป็นต้นกำเนิดของความเมตตานั้นเหมาะสมและคู่ ควรยิ่ง คำว่า อัลลอฮฺ (الله)
ที่มาของคำว่า الله บางทัศนะกล่าวว่า คำว่า الله มาจากคำว่าاَلِهَ(อะลิฮะ) หมายถึง عَبَدَ (การเคารพภักดี) ส่วน الله นั้นเป็น مَعْبود(หมายถึง ผู้ที่ถูกทำการเคารพภักดี) ซึ่งแท้จริงแล้วพระองค์เท่านั้นที่คู่ควรต่อการเคารพภักดี

บางทัศนะกล่าวว่า คำว่า الله นั้นมาจากคำว่าوَلِهَ “การมีความรักอย่างรุนแรง” ด้วยเหตุนี้ คำว่า อัลลอฮฺ จึงหมายถึง ซาต (อาตมัน) ที่บริสุทธิ์ของพระองค์ ที่มีพลังดึงดูดทำให้ทุกสิ่งมีความรักและต้องการยังพระองค์อย่างรุนแรง

แต่ในบางครั้ง ต้องเข้าใจด้วยว่าการบัญญัติศัพท์หรือการแปลความหมายของคำบางคำ เช่น คำว่า الله ออกมาเพื่อสื่อให้เกิดมีความเข้าใจเท่านั้นเอง ซึ่งคำเหล่านั้นไม่อาจสื่อความหมายที่สมบูรณ์ของคำว่า الله ได้อย่างเด็ดขาด อัล-กุรอานได้กล่าว ถึงพระนามต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ (ซบ.) ไว้ถึง ๙๙ พระนาม ซึ่งในหมู่พระนามเหล่านั้น الله เป็นพระนามที่สมบูรณ์ที่สุด เมื่อพิจารณาถึงพระนามต่างๆของพระองค์จะทราบว่าแต่ละพระนามบ่งบอกถึงคุณลักษณะของพระองค์ด้วย มิได้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ทางวจนภาษาเพื่อใช้เรียกขานเท่านั้น ตรงข้ามกับชื่อของคนทั่วไปที่บางครั้งอาจเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ทว่าไม่ตรงกับลักษณะนิสัยหรือคุณสมบัติของเขา เช่นกรณีคนที่ชอบโกหกพกลม แต่กลับชื่อศอดิก (ผู้มีสัจจะ)

แต่บางครั้ง นามนอกจากจะเป็นนามชื่อของบุคคลแล้ว นามนั้นยังบ่งชี้ถึงคุณสมบัติและบุคลิกที่สมบูรณ์ของคนๆนั้น เช่นชื่อ ศอดิกสำหรับคนที่มีสัจจะ มีความซื่อตรงและไว้ใจได้

อัล-กุรอานกล่าวว่า “นามชื่อที่ดีที่สุดสำหรับอัลลอฮฺ” (อัล-อะอฺรอฟ/๑๘๐)
ริวายะฮฺได้กล่าวถึงนามชื่อของพระองค์ไว้ ๙๙ นาม และแนะนำว่าพระนามเหล่านั้นเป็นนามที่ดีที่สุด และกำชับว่าใครก็ตาม ได้เอ่ยเรียกพระองค์ด้วยกับนามต่าง ๆ เหล่านั้น จะทำให้ดุอาอฺของเขาถูกตอบรับ (ตับสีรฺนิมูเนะฮ์ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๒๗)

นอกเหนือจากนี้แล้ว ดุอาอฺบางต้น เช่น ดุอาอฺญูชันกะบีรฺ ได้เอ่ยเรียกพระองค์ด้วยซิฟาตและพระนามต่าง ๆ ถึง ๑,๐๐๐ พระนาม
คำว่า رحمن และ رحيم หมายถึง ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตายิ่ง คำทั้งสองจะถูกใช้ติดกับอัลลอฮฺ (ซบ.) เสมอ เป็นเพราะว่า มนุษย์ต้องเริ่มต้นกิจของเขาด้วยความหวังในเมตตาของพระองค์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ความหวังทั้งมวลได้กำเนิดขึ้นมาจากความเมตตาของพระองค์

การเริ่มต้นภารกิจ ด้วยกับคำที่มีความเมตตา เป็นการแสดงให้เห็นว่าทุกภารกิจการงานวางอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาการุณย์ ของพระองค์ และเป็นความเหมาะสมยิ่งที่มนุษย์จะแสวงหาความช่วยเหลือจากความเมตตาของ พระองค์

رحمن คือพระนามที่เฉพาะสำหรับพระองค์ เฉพาะความเมตตาของพระองค์เท่านั้นที่ทรงกว้างไกล และแผ่ปกคลุมไปทั่วทุกสรรพสิ่ง ส่วนบุคคลอื่นอาจจะไม่มีความเมตตา หรือมีแต่ไม่กว้างไกล และนอกเหนือไปจากนั้น ถ้าเขาได้เมตตาต่อคนอื่น ก็เพื่อมุ่งหวังสิ่งตอบแทนทั้งในโลกนี้หรือโลกหน้า




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

الحمد لله ربّ العالمین(การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (ซบ.)
คำว่า ฮัมดฺ มะดะห์ ชุกรฺ แม้ว่าดูภายนอกจะมีความหมายคล้ายคลึงกัน (การสรรเสริญ การกล่าวชื่นชม และการขอบคุณ)แต่คำทั้งสามจะใช้ไม่เหมือนกัน เช่นคำว่า มะดะห์ หมายถึง การกล่าวชื่นชม หรือ สรรเสริญเยินยอ ฉะนั้นไม่ว่าจะสรรเสริญต่อความถูกต้อง ความมดเท็จ สรรเสริญคนดี ทำไปเพราะถูกบังคับหรือสมัครใจ มีความหวาดกลัวหรือมุ่งหวังสิ่งตอบแทน จึงไม่มีความแตกต่างกัน

คำว่า ชุกรฺ หมายถึง การขอบคุณซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว มนุษย์จะขอบคุณต่อความโปรดปราน และความเอื้ออารีย์ที่เขาได้รับจากบุคคลอื่น

คำว่า ฮัมดฺ หมายถึง การสรรเสริญ ซึ่งคำ ๆ นี้นอกจากจะให้ความหมายของการสรรเสริญและการขอบคุณแล้ว ยังมีความหมายอื่นซ่อนอยู่นั้นคือ การเคารพภักดี เพราะเมื่อใดก็ตามที่การสรรเสริญ และการขอบคุณถึงขั้นของการเคารพภักดี การกระทำนั้นจะถือว่าเป็นฮัมดฺทันที ดังนั้น จะสังเกตเห็นว่า ถ้ามนุษย์ต้องการ มะดะห์ และ ชุกรฺ (กล่าวชม ขอบคุณ) ต่อบุคคลอื่นถือว่าอนุญาต แต่ถ้าจะฮัมดฺ (สรรเสริญ) ถือว่าไม่อนุญาต เพราะฮัมดฺ เป็นการสรรเสริญที่เจาะจงสำหรับอัลลอฮฺ (ซบ.) เท่านั้น อีกทั้งการแสดงความเคารพภักดี มนุษย์มิอาจแสดงได้กับคนอื่นนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) แต่เพียงผู้เดียว

แม้ว่าหลังจากการสรรเสริญ(حمدِ) แล้วจะมีคุณลักษณะอื่นติดตามมากล่าวคือ رب العالمين“ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”ِالرحمن “ผู้ทรงเมตตา” الرحيم“ผู้ทรง ปรานี“ผู้ทรงสิทธิในวันตอบแทน” ทั้งหมดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่คู่ควรต่อการสรรเสริญและเคารพภักดี อัล-กุรอานกล่าวเน้นย้ำว่า ลิ้ลลาฮฺ หมายถึง การสรรเสริญเฉพาะพระองค์เท่านั้น แม้หากพระองค์มิได้ระบุคุณลักษณะอีกสามประการดังกล่าวก็ตาม ฉะนั้น การที่เรากล่าวว่า الحمد لله จึงเป็นการแสดงออกของจิตวิญญาณ ของผู้มีศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (ซบ) และเป็นการขอบคุณที่ดีที่สุด

رب العالمين قال رب السماوات والارض ومابينهما
“พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก” หมายถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) คือพระผู้อภิบาลสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในฟากฟ้าแผ่นดินและในระหว่างทั้งสอง (อัช ชุอฺรอ/๒๓)
ท่านอิมามอะลี (อ.)ได้อธิบายคำว่า อาละมีน ในโองการดังกล่าวว่าว่าหมายถึงสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

ในบางครั้งคำว่าعَالَمِينَ หมายถึงมวลมนุษยชาติ แต่คำนี้ส่วนใหญ่ใช้ในความหมายว่า“สรรพสิ่งทั้งมวล” ดังนั้น โองการข้างต้นชี้ให้เห็นว่า พระผู้อภิบาลและผู้บริหารทุกสรรพสิ่งนั้นคือ อัลลอฮฺ (ซบ.) มิใช่เทพเจ้าตามความเชื่อผิด ๆ ของคนบางกลุ่มที่เชื่อว่า ทุกสิ่งและทุกปรากฏการณ์นั้นมีเทพเจ้าองค์หนึ่งคอยดูและบริหารอยู่

การบริหารงานของอัลลอฮฺ (ซบ.) หมายถึงอะไร
หมายถึงวิถีทางในการชี้นำของพระองค์นั่นเอง กล่าวคือ หลังจากพระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายแล้ว พระองค์ได้ทรงตระเตรียมเส้นทางของการบริบาลและการพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ให้ กับสรรพสิ่งเหล่านั้น อัล – กุรอาน กล่าวว่า

ربنا الذين اعطي كل شيء خلقه ثم هدي
“พระผู้อภิบาลของเรา คือผู้ทรงกำเนิดทุกสรรพสิ่ง หลังจากนั้นทรงชี้นำทาง” (ฏอฮา/๕๐)

พระองค์ทรงสอนให้ผึ้งรู้ว่า จะต้องดูดน้ำหวานจากดอกไม้อย่างไร และดอกอะไรสมควรเก็บเกี่ยวน้ำหวาน พระองค์สอนให้มดรู้วิธีเก็บสะสมอาหารไว้กินตอนฤดูหนาว ทรงสร้างร่างกายมนุษย์ ในลักษณะที่ว่า เมื่อใดที่ร่างกายขาดเลือด จะมีการสร้างเม็ดเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเดชานุภาพ และทรงปรีชาญาณยิ่ง ย่อมคู่ควรต่อการสรรเสริญและขอบคุณ และแน่นอนการขอบคุณและสรรเสริญอัลลอฮฺ (ซบ.)นั้นไม่มีข้อขัดแย้งแต่ประการใด กับการขอบคุณเพื่อมนุษย์ ด้วยกับเงื่อนไขที่ว่า การขอบคุณดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามคำบัญชาของอัลลอฮฺ (ซบ.) และอยู่ในวิถีทางของพระองค์ ดังนั้น ใครก็ตามที่ทำการสรรเสริญทุก ๆ ความสมบูรณ์ และความสวยงามไม่ว่าเขาจะอยู่ ณ ที่ใด และด้วยภาษาอะไร แท้จริงแล้วเขากำลังสรรเสริญผู้เป็นต้นกำเนิดของสิ่งเหล่านั้นอยู่

ด้วยเหตุนี้เมื่อเรากล่าวว่า “พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”จึงชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและถาวร ระหว่างอัลลอฮฺ (ซบ.) กับสรรพสิ่งทั้งหลาย และมวลสรรพสิ่งเหล่านั้นอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระองค์ ซึ่งการอภิบาลของพระองค์มิได้จำกัดอยู่เฉพาะสิ่งใดที่ดีอย่างเดียว

คำว่า “พระผู้อภิบาล”นั้นชี้ให้เห็นว่า อัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงเป็นทั้งเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์และอำนาจเด็ดขาด และเป็นทั้งผู้บริหารกิจการทั้งหมด ของสิ่งที่อยู่ใต้กรรมสิทธิของพระองค์ อีกนัยหนึ่งก็คือ พระองค์ทรงเป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหาร อัล-กุรอ่านกล่าวว่าله الخلق والامر تبارك الله رب العالمين

“การสร้างและการบริหารกิจการแห่งสรรพสิ่งถูกสร้าง อยู่ในอำนาจสิทธิของพระองค์ อัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลกนั้นทรงจำเริญยิ่ง”(อัล-อะอฺรอฟ /๕๔)

ตามรายงานหะดีษคำว่า َ الحمد لله“เป็นการขอบคุณอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่ดีที่สุด” และเป็นถ้อยคำที่มวลผู้ศรัทธาจะกล่าวในบทเริ่มต้นคัมภีร์ อัล-กุรอาน และในบทขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งและเกรียงไกร และเป็นถ้อยคำของชาวสวรรค์ ซึ่งพวกเขาจะกล่าวในบั้นปลายของกิจการงาน อัล-กุรอานกล่าวว่า
واخردعواهم ان الحمد لله رب العالمين
“ถ้อยคำสุดท้ายของพวกเขา คือการสรรเสริญ และการขอบคุณเป็นสิทธิแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก” (ยูนุส/ ๑๐)

الرحمن الرحيم
“(พระผู้เป็นเจ้า)ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

แม้ว่า الرحمنและ الرحيمจะมาจากรากศัพท์ของคำ ๆ เดียวกัน คือالرحمة(ความการุณย์)

แต่มีความแตกต่างกันกล่าวคือ ِ ความกรุณาปรานีของพระองค์แผ่ควบคุมเหนือมวลสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงอยู่แต่มนุษย์ ส่วนคำว่า ความเมตตาของพระองค์เปรียบเสมือนเป็นรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ที่มีค่าสุด ประมาณ ที่พระองค์ทรงประทานให้กับปวงผู้มีศรัทธาที่เป็นกัลยาณชนเท่านั้น

ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงปรานี (الرحمن ) ต่อมวลสรรพสิ่งทั้งหลาย ขณะที่พระองค์ทรงเมตตา (الرحيم) เฉพาะมวลผู้ศรัทธาเท่านั้น (มุอฺมินฺ)

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงถือเอาความเตตาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระองค์
อัล-กุรอานกล่าวว่า كتب علي نفسه الرحمة
“พระผู้อภิบาลของเจ้าได้ทรงลิขิตให้ความเมตตาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระองค์” (อัล- อันอาม / ๕๔)

และความเมตตาของพระองค์นั้นครอบคลุมเหนือทุกสรรพสิ่ง
อัล-กุรอานกล่าวว่าورحتي وسعت كل شيء
“และความเมตตาของข้าครอบคลุมทั่วทุกสรรพสิ่ง” (อัล -อะอฺรอฟ /๑๕๖)

ขณะเดียวกัน บรรดาศาสดาและคัมภีร์ที่พระองค์ประทานลงมา ถือเป็นความเมตตาด้วยเช่นกัน อัล – กุรอานกล่าวว่า رحمة للعالمين
“(ศาสดา) คือ ความเมตตาสำหรับประชาโลก” (อัล-อันบิยาอฺ / ๑๐๗)

ฉะนั้น สรุปได้ว่า การอภิบาลของอัลลอฮฺ (ซบ.) วางอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาและความกรุณาปรานี เพราะคำว่า الرحمنได้ถูกกล่าวไว้ เคียงข้างกับคำว่า رَبِّ

مالك يوم الدين“ผู้ทรงสิทธิในวันตอบแทน”
อัลลอฮฺ (ซบ.)คือผู้ทรงสิทธิที่แท้จริง มวลสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งในฟากฟ้า แผ่นดิน และระหว่างมันทั้งสอง ล้วนอยู่ภายใต้อำนาจและสิทธิของพระองค์ทั้งสิ้น ตลอดจนอำนาจการบริหารและบริบาลทั้งหลาย ล้วนอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระองค์ ซึ่งครอบคลุมอยู่เหนือทุกสรรพสิ่ง

อัล-กุรอานกล่าวว่า قل اللهم ملك الملك
“จงกล่าวเถิด โอ้ อัลลอฮฺ (ซบ.) พระองค์ คือผู้ทรงสิทธิในอำนาจการปกครองทั้งมวล” (อาลิอิมรอน /๒๖)

กรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) คือความจริงมิใช่สมมติขึ้น พระองค์คือผู้ทรงสิทธิอย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวทั้งโลกนี้และโลกหน้า แต่พระองค์มิเคยหลงไหลในสิทธิ ไม่เหมือนกับมนุษย์บางคนที่หลงไหลในสิทธิจอมปลอม จนเป็นสาเหตุทำให้เขาลืมผู้มีกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง และเมื่อถึงวันนั้น (วันแห่งการตอบแทน) มนุษย์จะเข้าใจในอำนาจและกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) ดียิ่งขึ้น และในวันนั้นพระองค์จะตรัสถามมนุษย์ว่า “อำนาจการปกครองในวันนี้เป็นของใคร”พวกเขาจะตอบว่า มันเป็นของอัลลอฮฺผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงมหิทธานุภาพ”อัล-มุอฺมิน / ๑๖)

ผู้ดำรงนมาซทุกคนจะกล่าวในนมาซทุก ๆ นมาซว่า
مالك يوم الدين“ผู้ทรงสิทธิในวันตอบแทน”นั้นเป็นการรำลึกถึงวันแห่งการสอบสวน และวันอวสารของโลกและจักรวาล เป็นการย้ำเตือนให้มนุษย์ ครุ่นคิดก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป และคำนึงถึงบัญชีอะอฺมาล (บัญชีที่บันทึกการกระทำของมนุษย์ไว้ทุกวัน) การสอบสวนและการตอบแทนไปตามการกระทำ

คำว่า (ดีน) ถูกใช้ในความหมายต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

-ประมวลข้อบัญญัติ และกฏหมายของอัลลอฮฺ (ซบ.)
อัล – กุรอานกล่าวว่า إنَّ الدين عِندَالله الإسلام
“แท้จริงดีน ณ อัลลอฮฺ คือ อิสลาม (อาลิอิมรอน/๑๙)

-การปฏิบัติตามและการจงรักภักดี
อัล – กุรอานกล่าวว่า أَلاَ لله الدّين الخالصُ
“ดีนอันบริสุทธินั้นเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” (อัซซุมัรฺ/๓)

-การสอบสวนและการตอบแทน ดังอายะฮฺที่ว่า
คำว่าِในอัล-กุรอาน หมายถึง วันกิยามะฮฺ ซึ่งเป็นวันลงโทษและตอบแทน
อัล – กุรอาน กล่าวว่าيَسئلونَ ايّانَ يَومَ الدّين
“พวกเขาจะถามว่าเมื่อใดเล่าที่วันกิยามะฮฺจะอุบัติขึ้น” (อัซ ซาริยาต/๑๒)

ثُمّ ما أَدريك ما يوم الدين يوم لا تملك النفس لنفس شيئاً و الأمر يومئذ لله
“สิ่งใดหรือที่ทำให้เจ้ารู้ว่าวันแห่งดีน (กิยามะฮฺ) คือวันอะไร เป็นวันซึ่งชีวิตหนึ่งไม่มีสิทธิที่จะยังประโยชน์ใด ๆ แก่อีกชีวิตหนึ่ง และในวันนั้น การตัดสินและการบัญชาการทั้งหมดเป็นของอัลลอฮฺ” (อัล -อินฟิฏอรฺ ๑๘ – ๑๙)

ในวันกิยามะฮฺ สื่อกลางเพื่อการเจรจาไกล่เกลี่ยและสัมพันธ์ภาพต่าง ๆ จะขาดสะบั้นลง
อัล – กุรอาน กล่าวว่า وتقطعت بهم الأسباب
“สัมพันธภาพต่าง ๆ จะขาดสะบั้นลง” (อัล-บะกอเราะฮฺ / ๑๖๖)

فلا أنساب بينهم
“สายตระกูลจะสิ้นสุดลง”(อัล-มุอฺมิน /๑๐๑)

يوم لا ينفع مال و لا بنون
“ลูกหลานและทรัพย์สมบัติจะไม่อำนวยประโยชน์ใด ๆ (อัซ-ซุอฺรอ /๘๘)

لن تنفعكم أرحامكم و لا أولادكم
“เครือญาติก็ไม่อำนวยประโยชน์ใด ๆ (อัล-มุมตะหินะฮฺ / ๓)

และในท้ายที่สุดแม้แต่ลิ้นก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้พูดเพื่อแก้ตัว สมองไม่มีโอกาสวางแผนการ ทางรอดทางเดียวที่ยังคงเหลืออยู่ คือความเมตตาของพระองค์ ผู้ทรงเกรียงไกร และเป็นผู้ทรงสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในวันกิยามะฮฺโองการเป็นเสมือนการเตือนเพื่อให้มนุษย์ได้ยั้งคิด และตั้งสติตลอดเวลา

อัล-กุรอาน กล่าวว่า
“เจ้าจงแจ้งแก่ปวงบ่าวของข้าให้รู้เถิดว่า แท้จริง ข้าเป็นผู้ให้อภัยอีกทั้งเมตตายิ่ง แต่ทว่าการลงโทษของข้าก็แสนสาหัสด้วยเช่นกัน”

การครอบครองกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.) หมายถึง การมีอำนาจอธิปไตยของพระองค์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ทรงสิทธิที่แท้จริง ย่อมมีอำนาจเด็ดขาด ต่อสิ่งที่อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของพระองค์

กุรอานกล่าวว่าقل اللهم مالك الملك
“จงกล่าวเถิด โอ้ อัลลอฮฺ (ซบ.) พระองค์ คือ ผู้ทรงสิทธิในอำนาจการปกครองทั้งมวล” (อาลิอิมรอน /๒๖)

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงคู่ควรต่อการเคารพภักดี การสรรเสริญ และการขอบคุณ เนื่องจากพระองค์คือ อัลลอฮฺ และความเอื้ออารีตลอดจนการอภิบาลของพระองค์ เนื่องจากพระองค์คือ رَبِّالْعَالَمِينَ”พระ ผู้อภิบาลแห่งสากลโลก” ความหวังและการรอคอยความเมตตาจากพระองค์ เนื่องจากพระองค์คือ الرَّحْمَانِ الرَّحِيمِ และเรายำเกรงในพลังและอำนาจของพระองค์ เพราะพระองค์คือ مَالِكِ يَوْمِ الدِّينผู้ทรง สิทธิในวันตอบแทน ดังนั้น ทุกวันนี้มนุษย์ทุกคนจึงใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัว และการมีความหวัง เพื่อเขาจะได้ไม่กลายเป็นผู้มีความเย่อหยิ่งจองหอง หรือหมดหวังในความเมตตาของพระองค์

إِيَّاكَ نَعْبُد ُوَإِيَّاكَ نَسْتَعِينُ
“เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ”

คำว่า อิยากะนะบุดุนั้นหมายถึงเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี ประโยคนี้มี ๒ นัยยะ กล่าวคือ เป็นการพิสูจน์ความเป็นบ่าวที่แสดงความเคารพภักดีเฉพาะพระองค์ผู้เป็นนาย เท่านั้น และเป็นการปฏิเสธการตั้งภาคี และการแสดงความเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นอย่างสิ้นเชิง อันเป็นการตั้งภาคีในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่จิตใจ เช่น ความปราถนาแบบไร้ขอบเขต และอารมณ์ใฝ่ต่ำ หรือการตั้งภาคีในรูปแบบของอำนาจ เช่น ผู้ปกครองที่อธรรม เราจะต้องผินหน้าไปยังพระองค์ ทำการเคารพภักดีเฉพาะพระองค์ อีกทั้งต้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์แต่เพียงผู้เดียว

ดังนั้น การมีอีมานต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เท่ากับเป็นการปฏิเสธอำนาจของผู้อธรรม และบรรดาฎอฆูตทั้งหลาย ฉะนั้น ถ้าผู้ใดมีอีมานต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) แต่ยังยอมรับในอำนาจของผู้อธรรม ถือว่าเขาเป็นมุสลิมเพียงครึ่งเดียว หรืออาจจะไม่ใช่มุสลิมเลยก็ว่าได้ เพราะการไม่ปฏิเสธในอำนาจดังกล่าวเท่ากับเขาเป็นมุสลิม ที่อยู่ในฐานะของเชลย ซึ่งการจะหลุดพ้นจากแนวทางของการตั้งภาคี ต้องกลับไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์กลางของอำนาจและต้นกำเนิดของความเป็น เอกภาพ ด้วยเหตุนี้ การที่เราอ่านโองการ اياك نعبد อิยากะนะบุดุในนมาซประหนึ่งว่า เรากำลังกล่าวแทนผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์ ลำพังข้าพระองค์เพียงคนเดียวนั้นไม่คู่ควรต่อการแสดงความเคารพภักดีต่อ พระองค์ แต่ทว่าทุกคนคือบ่าวของพระองค์ ข้าพระองค์ไม่มีคุณค่าใด ๆ ณ พระองค์ แต่ทว่าทุกคนขอความช่วยเหลือจากพระองค์”

โองการกำลังย้ำเน้นกับเราว่าเอกภาพในการแสดงความเคารพภักดี คือการไม่ผินหน้าไปหาผู้อื่น นอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่ตกเป็นทาสของตะวันออกและตะวันตก ไม่ตกเป็นทาสของทรัพย์สิน อำนาจ ตำแหน่ง ผู้ปกครองที่อธรรม เราจะยอมตนเป็นบ่าวของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว หรือแม้แต่การภักดีต่อผู้เป็นกัลยาณชน ยกเว้นการได้รับอนุญาตจากพระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า “ใครก็ตามปฏิบัติตามศาสดา เท่ากับได้ปฏิบัติตามอัลลอฮฺ” เช่นกัน การปฏิบัติตามบิดามารดา เป็นเพราะพระองค์ได้มีบัญชาแก่เราให้ปฏิบัติ และในความเป็นจริงการกระทำเช่นนี้เท่ากับได้ปฏิบัติตามพระองค์

โดยเหตุผลของสติปัญญา มนุษย์ต้องยอมรับการเป็นบ่าวต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เพราะมนุษย์รักความสมบูรณ์ และปรารถนาที่จะได้รับการพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงครอบคลุมความสมบูรณ์ทั้งมวล หากมนุษย์ต้องการความรัก และความเมตตา พระองค์คือผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ หากมนุษย์ห่วงใยต่ออนาคต พระองค์คือเจ้าของและผู้ทรงสิทธิในวันนั้น หากมนุษย์ต้องการความช่วยเหลือ อัลลอฮฺ (ซบ.) คือผู้ช่วยเหลือที่ดีที่สุด ดังนั้น ยังมีเหตุผลอื่นใดอีกเล่าที่มนุษย์ต้องหันหน้าไปหาผู้อื่นนอกจากพระองค์

اياك نعبد (อิยากะนะบุ ดุ) หมายถึง เราอยู่ร่วมกับประชาชนและสังคม แต่จิตใจของเราจะไม่ผูกพันกับผู้ใดนอกจากพระองค์ หมายถึงเราจะไม่หลบหนีไปจากสังคมและพี่น้องมุสลิม ขณะเดียวกัน เราจะไม่ลืมงานสร้างของพระองค์ เราจะไม่ยอมให้สังคมกลืนกินตัวเราจนเราต้องลืมพระผู้สร้างผู้ทรงเกรียงไกร เช่นพระองค์ ทว่าเราทราบดีว่า แนวทางไปสู่พระองค์นั้นต้องเดินทางผ่านไปทางสิ่งถูกสร้างของพระองค์

اياك نستعين (อิยากะนัสตะอีน)มาตรว่า เราได้ใช้สื่อต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงอุบัติขึ้นมา แต่เราก็ตระหนักอยู่เสมอว่า ภารกิจเหล่านั้นลุล่วงลงได้เพราะพระเมตตาของพระองค์ พระองค์คือมูลเหตุของการอุบัติและดับสลาย ความปรารถนาและเจตนารมณ์ของพระองค์ครอบคุมอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทั้งมวล และกฏเกณฑ์เหล่านั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของพระองค์

اياك نعبد (อิยากะนะบุดุ)เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่ทรงคู่ควรต่อการเคารพภักดี เรามิได้เคารพภักดีต่อพระองค์เนื่องจากคำสัญญาในรางวัลตอบแทน และมิใช่ความหวาดกลัวหรือความโลภ แต่ทว่า เนื่องจากความรักและความผูกพันที่มีต่อพระองค์ เราจึงเคารพภักดีพระองค์ ยังมีคนรักคนใดที่ใกล้ชิดและเมตตาพวกเรายิ่งไปกว่าพระองค์

اياك نعبد واياك نستعين (อิยากะนะบุดุ วะอิยากะนัสตะอีน) ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์มิได้ใช้ผู้ที่ถูกกำหนดชะตากรรมไว้โดยปราศจากอำนาจเลือก สรรใด ๆ ทั้งนี้ เนื่องจากเรากล่าวว่า نعبد (นะบุดุ)ซึ่งหมายถึง “เราทำการเคารพภักดี” นั้นหมายถึงว่า เรามีเจตนารมณ์เสรีและมีอำนาจเลือกสรร และเมื่อเรากล่าวว่า نستعين (นัสตะอีน) ซึ่งหมายถึง “เราขอความช่วยเหลือ” ชี้ให้เห็นว่า เราต้องพึ่งพระองค์ เนื่องจากการมีอยู่ของตัวเราและทุกสิ่งบนตัวล้วนเป็นประสงค์และเจตนารมณ์ของ พระองค์ทั้งสิ้น หาได้เป็นอำนาจของเราไม่

اياك نعبد واياك نستعين (อิยากะนะบุดุ วะอิยากะนัสตะอีน)เราทำการเคารพภักดี นั้นบ่งชี้ว่า นมาซควรจะทำเป็นรูปหมู่คณะ (ญะมาอะฮฺ) อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า มุสลิมเป็นพี่น้องกัน และอยู่ในระดับชั้นเดียวกัน

اياك نعبد (อิยากะนะบุดุ) ข้าพระองค์ขอยอมจำนนต่อพระองค์ ในฐานะที่พระองค์ทรงปรากฎและทรงมองเห็นอีกทั้งทรงให้การดูแลปวงบ่วงตลอดเวลา ข้าพเจ้า ฯ จึงกล่าวว่า واياك(วะอิยากะ)ข้าพระองค์ขอความช่วยเหลือยังพระองค์ และบ่าวที่พบว่าตนเองอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา ย่อมได้รับประโยชน์ก่อนผู้อื่น

และตั้งแต่เริ่มต้นซูเราะฮฺ พระองค์ทรงตรัสกับมนุษย์โดยใช้คำสรรพนามแทนตนเป็นบุรุษที่สาม แต่พอมาถึงตรงนี้พระองค์เปลี่ยนสรรพนามเป็นบุรุษที่สอง (ผู้ที่กำลังสนทนาด้วย) ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาเราทำความรู้จักพระองค์ผ่านคุณลักษณะต่างๆไปแล้ว บัดนี้เราเริ่มเข้าสู่การสนทนาโดยตรงกับพระองค์ การกล่าวคำว่า "อียากะ"(เฉพาะพระองค์เท่านั้น)ซ้ำสองครั้งก็เนื่องจากการเอ่ยเอื้อนคำสนทนาเบื้องหน้าพระผู้เป็นที่รักช่างหวานชื่นเสียจนต้องเอ่ยซ้ำอีกครั้ง

และมาตรว่าการเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ)จะเป็นหน้าที่ของเราก็ตาม แต่ทว่าในการปฏิบัตินั้น เราจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์

อัล – กุรอานกล่าวว่า وماكنا لنهتدي لولاان هداناالله
"พวกเราจะไม่ได้รับการชี้นำอย่างแน่นอน หากอัลลอฮฺ (ซบ.) มิทรงชี้นำพวกเรา”(อัล-อะอฺรอฟ /๔๓)

แม้ว่ามนุษย์จะทำการขอความช่วยเหลือยังพระองค์ แต่ถ้าในบางครั้งได้ขอผ่านสื่อและบุคคลอื่น เช่น มนุษย์ได้ใช้ความสามารถ พลัง และความคิดของตนเป็นต้น เพราะการกระทำดังกล่าวก็ด้วยกับสื่อของการเคารพภักดีที่พระองค์อนุมัติไว้ พระองค์ได้ตรัสกับมนุษย์ว่า (...) จงช่วยเหลือกันเพราะการดำรงชีพที่แท้จริง มิอาจปราศจากการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันได้ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวกับคน ๆ หนึ่งที่ดุอาอฺว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์ โปรดอย่าทำให้ข้าเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนเลย” กล่าวว่า “พูดเช่นนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง” แต่ท่านจงพูดว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์โปรดอย่าทำให้ข้าเป็นที่พึ่งพิงของคนไม่ดีเลย” เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ชีวิตจะปราศจากเพื่อนและการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ผู้ใดกล่าว อิยากะนะบุดุ (เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี) อย่างจริงใจ เขาจะไม่ยะโสโอหังและก่อกบฏกับอัลลอฮฺ (ซบ.) แต่เขาจะเป็นผู้นอบน้อมและยอมจำนนปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ อันสืบเนื่องมาจากว่า พระองค์ทรงเมตตาต่อปวงบ่าวอย่าล้นเหลือ บ่าวจึงขอแสดงความนอบน้อมถ่อมตนอย่างดีที่สุดต่อพระองค์ ดุจดังเช่นบ่าวที่จงรักภักดีต่อนาย และจะกล่าวกับนายด้วยความนอบน้อมว่า โอ้ ข้าพระองค์ ข้าพ ฯ คือบ่าวผู้ต่ำต้อย ส่วนพระองค์คือนายผู้ทรงสูงส่ง ข้าพระองค์ไม่มีใครอื่นอีกแล้วนอกจากพระองค์ ขณะที่พระองค์มีบ่าวคนอื่นอีกมากมายที่นอกเหนือจากข้า ฯ พระองค์มิทรงปรารถนาอิบาดะฮฺของข้า ฯ แต่ข้าพระองค์ปรารถนาในพระเมตตาและความช่วยเหลือของพระองค์

اهدنا الصراط المستقيم
(โอ้ อัลลอฮฺ)โปรดชี้นำเราสู่แนวทางที่เที่ยงตรง

แนวทางที่เที่ยงตรงหมายถึงอะไร?
บรรดามนุษยชาติและสรรพสิ่งทั้งหลายต่างเคลื่อนไปยังพระองค์
إنَّك كادحٌ إلي رَبِّك كَدحاَ فملاقيه
ความว่า “แท้จริงเจ้าเป็นผู้บากบั่นสู่องค์พระผู้อภิบาลของเจ้า”(อัน-อินชิกฺอกฺ /๖)

ทุกแนวทางแห่งการเคลื่อนไหว ย่อมมีอยู่แนวทางเดียวที่เป็นแนวทางที่เที่ยงตรง ส่วนแนวทางอื่นที่มีอยู่อย่างดาษดื่น ล้วนเป็นแนวทางที่เฉไฉและหลงผิด อิสลามได้กำหนดแนวทาง ผู้นำ จุดหมายปลายทาง และพาหนะในการขับเคลื่อนไว้ให้กับมนุษย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องใช้ดุลพินิจในการเลือกสรร

พระผู้อภิบาล ได้ประทานสติปัญญา และความปรารถนาในการพัฒนาตนเองไปสู่การเติบโต และความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไว้ในจิตวิญญาณ และธรรมชาติ ดั่งเดิมของมนุษย์ทุกคน อีกทั้งพระองค์ยังได้ประทานบรรดาศาสดาทั้งหลายลงมาสั่งสอน ชี้นำ และเตือนสำทับถือเรื่องดังกล่าว

والذين اهتدوا زادهم هديً
“และบรรดาผู้ได้รับการชี้นำ (อัลลอฮฺ) ทรงเพิ่มพูนสิ่งชี้นำทางแก่พวกเขา” (มุฮัมมัด/๑๗)

อัล – กุรอาน กล่าวถึงการชี้นำไว้ ๒ ประเภท
ก.การชี้นำด้วยกฎเกณฑ์ธรรมของการสร้างสรร (ฮิดายะฮฺตักวีนียะฮฺ) เช่นการชี้นำผึ้งให้รู้จักวิธีการดูดน้ำหวานจากดอกไม้ และสร้างรวงรังของมันให้เป็นรูปหกเหลี่ยม และตัวอย่างอื่น ๆ

อัล – กุรอาน กล่าวว่า قال ربنا الذي أعطي كل شيء خلقه ثم هدي
“พระผู้อภิบาลของเรา คือผู้ทรงให้กำเนิดแก่ทุกสรรพสิ่ง หลังจากนั้นพระองค์ทรงชี้นำทาง” (ฏอฮา /๕๐)

ข.การชี้นำโดยการบัญญัติกฏเกณฑ์และข้อปฏิบัติต่าง ๆ (ฮิดายะฮฺตัชรีอียะฮฺ) ซึ่งได้แก่การชี้นำของบรรดาศาสนฑูต (นบี) ของอัลลอฮฺ (ซบ.)แนวทางที่เที่ยงตรงหมายถึงอะไร

คำว่า ซิรอฏ “แนวทาง” ถูกกล่าวไว้ในอัล-กุรอานมากกว่า ๔๐ ครั้ง นั้นชี้ให้เห็นว่า การเลือกแนวทางความคิดและความเชื่อที่ถูกต้อง ถือเป็นเครื่องหมายแห่งบุคลิกภาพของมนุษย์
อนึ่ง “ซิรอฏ” ในวันกิยามะฮฺ คือชื่อของสะพานหนึ่งที่ทอดอยู่เหนื่อนรก ซึ่งมนุษย์ทุกคนจะต้องเดินข้ามสะพานดังกล่าว

ในชีวิตมนุษย์มีแนวทางหลากหลายอยู่เบื้องหน้าของเขา จึงจำเป็นที่เขาต้องใช้ดุลยพินิจอย่างละเอี่ยดถี่ถ้วนในการเลือกแนวทางใดแนว ทางหนึ่งจากแนวทางเหล่านี้
- แนวทางของอารมณ์ใฝ่ต่ำ
- แนวทางของมารร้ายชัยฎอนและการกระซิบกระซาบของมัน
- แนวทางของบรรพบุรุษอันเกิดจากการถือเผ่าพันธ์
- แนวทางของความปรารถนาของประชาชน
- แนวทางของมวลมิตรผู้เป็นที่รักของอัลลอฮฺ (ซบ.) หรือแนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) นั้นเอง




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

แนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) แนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) คือแนวทางที่ผู้ศรัทธาทั้งหลายต้องเลือก เพราะมันมีคุณสมบัติพิเศษกว่าแนวทางอื่น ๆ ทั้งปวง เช่น

-แนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นแนวทางที่มั่นคง ส่วนแนวทางอื่น ๆ พบกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
-แนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) มีอยู่แนวทางเดียวเดียว คือ แนวทางที่เที่ยงตรง ส่วนแนวทางอื่นมีอยู่อย่างดาษดื่น
-แนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นแนวทางที่มีความมั่นใจ ปราศจากภยันตราย ส่วนแนวทางอื่นมักทำให้มนุษย์ตกอยู่ในอันตราย ภวังค์และความเดือดร้อน
-แนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) มีเป้าหมาย และมนุษย์มีความมั่นใจในการก้าวเดินไปสู่มัน และเป้าหมายอันสูงส่งของแนวทาง คือความพึงพอพระทัยของพระองค์ ซึ่งถ้ามนุษย์ก้าวเดินเขาจะไม่พบกับความพ่ายแพ้เด็ดขาด

และเนื่องจากว่าทุกสรรพสิ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในแนวทางของพระองค์ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องวอนขอต่อพระองค์เสมอว่า “โอ้ อัลลอฮฺ โปรดบันดาลให้เราอยู่ในแนวทางที่พระองค์ทรงพึงพอพระทัยด้วยเถิด”

-แนวทางที่เที่ยงตรง คือแนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.)
อัล – กุรอาน กล่าวว่า إنَّ ربّي علي صراط مستقيم
“แท้จริงพระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ทรงอยู่บนแนวทางอันเที่ยงตรง”(ฮูด /๕๖)

แนวทางที่เที่ยงตรง คือแนวทางของบรรดาศาสดาทั้งหลาย
อัล-กุรอานกล่าวว่าإنَّك لمن المرسلين علي صراط مستقيم
“แท้จริงเจ้าคือหนึ่งในบรรดาผู้ถูกส่งมาเป็นศาสนฑูต ซึ่งอยู่บนแนวทางที่เที่ยงตรง (ยาซีน / ๓-๔)

-แนวทางที่เที่ยงตรง คือแนวทางแห่งการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ (ซบ.)
อัล-กุรอานกล่าวو أَن اعبدوني هذا صراط مستقيم
“และพวกเจ้าจงเคารพภักดีข้า ซึ่งแนวทางนี้ คือแนวทางที่เที่ยงตรง” (ยาซีน /๖๑)

-แนวทางที่เที่ยงตรง คือการมอบหมายไว้วางใจในอัลลอฮฺ (ซบ.)
อัล-กุรอานกล่าวว่าومن يعتصم بالله فقد هدي إلي صراط مستقيم
“และผู้ใดยึดมั่นในอัลลอฮฺ เขาย่อมได้รับการชี้นำไปสู่แนวทางที่เที่ยงตรงอย่างแน่นอน” (อาลิอิมรอน / ๑๐๑)

การดำรงอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรง คือสิ่งเดียวที่มนุษย์ต้องวอนขอจากพระองค์ ในทุก ๆ นมาซประจำวัน แม้กระทั่งศาสดา และบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ เพราะการดำรงอยู่ ในแนวทางที่เที่ยงตรงโดยปราศจากความช่วยเหลือของพระองค์ เป็นไปไม่ได้ อัล – กุรอาน กล่าวเพื่อย้ำเน้นให้พวกเรากล่าวเสมอทุกวันว่า
اياك نعبدو و اياك نستعين اهدنا الصراط المستقيم
“เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ โปรดชี้นำเราสู่แนวทางที่เที่ยงตรงด้วยเถิด” (ฟาติหะฮฺ / ๕- ๖)

แนวทางที่เที่ยงตรงต้องครอบคลุมอยู่เหนือทุกภารกิจการงานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกแนวทาง เพื่อน คู่ครอง อาชีพการงาน การศึกษา มารยาท แนวความคิด และอื่น ๆ เราต้องวอนขอให้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ทั้งนี้ ในเรื่องของความเชื่อมนุษย์คิดได้อย่างถูกต้อง แต่ประสบความผิดพลาดในเรื่องการปฏิบัติ หรือบางครั้งมนุษย์เข้าใจหลักการกว้าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่เขาไม่อาจกำหนดเป้าหมายที่ถูกต้องของหลักการได้ ดังนั้น การวอนขอให้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงจึงถือเป็นความจำเป็น แม้กระทั่งผู้ที่อยู่ในแนวทางที่ถูกต้องแล้วก็ตามถือเป็นความจำเป็น

อัล – กุรอาน กล่าวว่า و الذين اهتدوا زادهم هدي
“และบรรดาผู้ที่ได้รับการชี้นำ (อัลลอฮฺ) จะทรงเพิ่มพูนการชี้นำแก่พวกเขา (มุฮัมมัด / ๑๗)

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวอธิบายแนวทางที่เที่ยงตรงไว้ว่า มันคือทางสายกลาง
“ขวากับซ้าย คือความหลงผิด ส่วนทางสายกลาง คือแนวทางที่เที่ยงตรง” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๗ หน้าที่ ๓)

แนวทางที่เที่ยงตรง คือการหลีกเลี่ยงจากความสุดโต่งในทุกรูปแบบ กล่าวคือ มิใช่การศรัทธาที่เลยเถิดหรือปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง มิใช่การประจบสอพลอ มิใช่การมีใจกว้างอย่างไร้ขอบเขต มิใช่การตระหนี่ถี่เหนี่ยว มิใช่การใส่ใจเฉพาะโลกนี้หรือโลกหน้า มิใช่การถือสติปัญญาและความรู้สึกเป็นเกณฑ์ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความศรัทธา การกระทำ แนวความคิด และความประพฤติ ต้องดำเนินอยู่บนสายกลาง ส่วนการเคลื่อนตัวไปบนแนวทางดังกล่าว ต้องวอนขอการช่วยเหลือจากพระองค์ เพราะแนวทางนี้มันเล็กบางกว่าเส้นผม และมีความแหลมคมกว่าคมดาบ ซึ่งท่านอาจประสบอุบัติเหตุ และออกนอกแนวทางได้ตลอดเวลา ดังนั้น ผู้ที่สามารถข้ามสะพานในวันกิยามะฮฺได้ เขาต้องไม่หลงทางออกไปจากแนวทางที่เที่ยงตรงบนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ คำพูด การกระทำ และความประพฤติ

บางคนกล่าวอ้างว่า การงานทั้งหมดของมนุษย์ เป็นการกระทำของอัลลอฮฺ (ซบ)ประหนึ่งว่ามนุษย์ไม่มีเจตนารมณ์ใด ๆ ในชะตากรรมของตนเอง บางคนถือว่าตนเองสามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการได้ บางคนถือว่าผู้นำของอัลลอฮฺ คือ ประชาชนทั่วไป หรือนักไสยศาสตร์ บางคนจินตนาการว่าผู้นำเหล่านั้นคือพระเจ้า บางคนสั่งห้ามการเยี่ยมหลุมฝังศพของบรรดาอิมาม (อ.) ขณะที่บางคนแสวงหาสื่อสัมพันธ์ แม้แต่กับต้นไม้ จอมปลวก ศาลพระภูมิ บางคนถือว่าเรื่องปากท้องเป็นประเด็นหลัก บางคนมองข้ามกิจการทั้งหมดบนโลกนี้ บางคนปล่อยภรรยาของตนไปตามสถานที่ต่าง ๆ โดยปราศจากฮิญาบ (ผ้าคลุมศรีษะ) ทั้งหมดเล่านี้คือ ความเฉไฉที่ออกไปจากแนวทางที่เที่ยงตรงทั้งสิ้น

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงแนะนำว่า ดีน ที่มั่นคงของพระองค์ คือ แนวทางที่เที่ยงตรง อัล – กุรอานกล่าวว่า
صراط مستقيم دينا قيما
“แนวทางที่เที่ยงตรงคือดีนที่มั่นคง” (อัล-อันอาม / ๑๖๑)

บางโองการตรัสว่า جعلنكم امة وسطا لتكونواشهداء علي الناسَ
“เราได้กำหนดให้เจ้าเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อเจ้าทั้งหลายจะได้เป็นแบบอย่าง แก่มนุษยชาติ” (อัล- บะกอเราะฮฺ /๑๔๓)

นอกจากนี้ยังมีรายงานกล่าวว่า บรรดาอิมามผู้บริสุทธิกล่าวว่า “พวกเรา คือแนวทางที่เที่ยงตรง” หมายถึง พวกท่านคือตัวอย่างในการปฏิบัติตามแนวทางที่เที่ยงตรง ท่านจึงได้เสนอทัศนะและแนวทางในการปฏิบัติภารกิจประจำวันเอาไว้ อาทิเช่น การผักผ่อน การศึกษา การบริโภค การบริจาค การวิพากษ์วิจารณ์ การแนะนำ การตัดสินไกล่เกลี่ย และความรักต่อลูกหลาน เป็นต้น และท่านยังได้แนะนำให้เรามีดุลยภาพและความเป็นสายกลาง

อัล – กุรอานได้เน้นถึงดุลยภาพและความพอดี และห้ามความสุดโต่งในทุกิจการงาน เช่น
كلوا واشربوا ولا تسرفوا
“จงกิน จงดื่ม แต่จงอย่าฟุ่มเฟือย” (อัล-อะอฺรอฟ /๓๑)

ولا تجعل يدك مغلولة الي عنقك ولا تبسطهاكل البسط فتقعد ملومامحسورا
“จงอย่าพันธนาการมือของเจ้าไว้ที่ต้นคอ (ด้วยความตระหนี่ถี่เหนียว) และจงอย่าแบมือของเจ้าจนสุดเหยียด (ด้วยความสุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือย) อันเป็นเหตุให้เจ้าถูกตำหนิและสิ้นเนื้อประดาตัว” (บะนีอิสรออีล/๒๙)

والذين اذاانفقوالم يسرفواولم يقترواوكان بين ذلك قواما
“และบรรดาผู้ซึ่งในยามใช้จ่ายพวกเขาจะไม่สุรุ่ยสุร่าย และไม่ตระหนี่ แต่พวกเขามีดุลยภาพในระหว่างทั้งสองนั้น” (อัล-ฟุรกอน/๖๗)

ولاتجهر بصلاتك ولا تخافت بها وابتغ بين ذلك سبيلا
“จงอย่าอ่านนมาซด้วยเสียงดัง หรือค่อยจนเกินไป แต่ทว่าจงแสวงหาทางหนึ่ง (ที่มีความพอดี) ในระหว่างทั้งสอง” (บะนีอิสรออีล /๑๑๐)

อัล – กุรอานกล่าวให้ปฏิบัติตามบิดามารดา ووصيناالانسان بوالديه ทว่าในยามที่ทั้งสองห้ามปรามเจ้าจากแนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) การเชื่อฟังบุคคลทั้งสองถือว่าไม่จำเป็น
وان جهداك علي ان تشرك بي ماليس لك به علم فلا تطعهما

อิสลามแนะนำในเรื่องของการนมาซ อันเป็นสื่อสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า และแนะนำให้จ่ายซะกาต ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับสังคมและประชาชน
อัล – กุรอานกล่าวว่าواقم الصلوة وءاتواالزكوة
“จงดำรงนมาซและจ่ายซะกาต” (บะกอเราะฮฺ / ๔๓)

บางครั้งความรักจะต้องไม่เบี่ยงเบนเราออกไปจากความถูกต้อง
อัล – กุรอานกล่าวว่า
يايهاالذين امنواكونواقوامين بالقسط شهداءلله ولو علي انفسهم اولوالدين والا قربين
“โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลายจงยืนหยัดบนความยุติธรรมอย่างแท้จริง จงเป็นสักขีพยานเพื่ออัลลอฮฺ เถิด แม้ว่า (การเป็นพยานนั้น) จะให้โทษแก่ตน หรือแก่บิดามารดา หรือแก่ญาติสนิทของเจ้าก็ตาม” (อัน-นิซาอฺ/๑๓๕)

ความเป็นศัตรูจะต้องไม่ทำให้เราละทิ้งความยุติธรรม
อัล-กุรอานกล่าวว่า
.وَلَا يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَى أَلَّا تَعْدِلُوا اعْدِلُوا
“จงอย่าให้ความเป็นศัตรูที่มีกลับกลุ่มชนหนึ่ง ชักนำพวกเจ้าไปสู่การละทิ้งความยุติธรรม”(อัล-มาอิดะฮฺ /๘)

ผู้ศรัทธา คือผู้มีพลังผลักไสและพลังดึงดูดอยู่ในตัว
อัล – กุรอานกล่าวว่า اشداء علي الكفاررحماءبيهم
“พวกเขามีความแข็งกร้าวต่อผู้ปฏิเสธ และมีเมตตาในระหว่างพวกเขา” (อัล- ฟัตฺหฺ/๒๙)

ความศรัทธาที่ควบคู่กับการกระทำความดีงาม ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น
อัล – กุรอานกล่าวว่าوالذين امنوا وعملواالصلحات
“บรรดาผู้ศรัทธา และประกอบความดีงาม”(บะกอเราะฮฺ/๘๒)

น้ำตาและการวิงวอนจากอัลลอฮฺ (ซบ.)เพื่อชัยชนะเป็นสิ่งจำเป็น
อัล-กุรอานกล่าวว่า ربنا افرغ علينا صبرا
“โอ้พระผู้อภิบาลของเรา โปรดหลั่งความอดทนแก่พวกเราด้วยเถิด” (อัล- อะอฺรอฟ/๑๒๖)

แต่ในบางครั้ง ความอดทนอดกลั้น ในควาทุกข์ยากก็เป็นสิ่งจำเป็น
อัล-กุรอานกล่าวว่าكم فئة قليلة غلبت فئة كثيرة باذن الله والله مع الصابرين
“ตั้งเท่าไหร่แล้วที่ชนกลุ่มน้อยมีชัยชนะเหนือคนกลุ่มใหญ่ด้วยอนุมัติของ อัลลอฮฺ (ซบ.) และอัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงอยู่กับผู้อดทน” (บะกอเราะฮฺ /๒๔๙)

ในค่ำอาชูรอ ท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ทั้งวิงวอนและคร่ำครวญต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)ในขณะเดียวกันก็ได้เตรียมดาบและอาวุธ

ในวันอารอฟะฮฺ และค่ำวันอีดกุรบาน บรรดาหุจญาต (ผู้ประกอบพิธีหัจญ์)จะวิงวอนขอพรต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ในขณะที่วันรุ่งขึ้นพวกเขาจะต้องสัมผัสกับบรรยากาศและกลิ่นคาวเลือด ณ สถานที่เชือดพลีสัตว์

จะสังเกตเห็นว่า อิสลามมิใช่ศาสนาเพียงด้านเดียว และเน้นหนักเฉพาะแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเท่านั้น แต่ทว่าอิสลามได้ให้การชี้นำเรื่องดุลยภาพ ความพอดี และแนวทางที่ถูกต้องไว้ทุกแง่มุมของชีวิต

اهدناالصراط المستقيم صراط الذين انعمت عليهم غير المغضوب عليهم ولاالضلين
“(โอ้ อัลลอฮฺ โปรดชี้นำพวกเราสู่) แนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์ ทรงประทานความโปรดปรานแก่พวกเขา มิใช่แนวทางของบรรดาผู้ที่ถูกกริ้วและบรรดาผู้หลงผิด”

ภายหลังจากความต้องการ การชี้นำสู่แนวทางที่เที่ยงตรงแล้ว เรายังต้องวอนขอให้พระองค์ชี้นำเราสู่แนวทางของบรรดาผู้ที่พระองค์โปรดปราน ซึ่งพวกเขาล้วนอยู่ในแนวทางดังกล่าว
อัล – กุรอานกล่าวว่า
ومن يطع الله والرسول فأولئك مع الذين انعم الله عليهم من النبيين والصديقين والشهداء والصلحين
“บรรดาผู้ที่สวามิภักดิ์ต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) และต่อศาสนฑูต ย่อมจะได้อยู่ร่วมกับกลุ่มชนที่อัลลอฮฺ ทรงประทานความโปรดปรานแก่พวกเขา ได้แก่บรรดาศาสดา บรรดาผู้ที่มีความสัตย์จริง บรรดาผู้พลีชีพในหนทางของอัลลอฮฺ และบรรดากัลยาณชน” (อัน-นิซาอฺ/๖๙)

ใครคือผู้ถูกโกรธกริ้วและหลงผิด ?
อัล-กุรอานกล่าวถึงผู้คนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในฐานะของผู้ที่ถูกโกรธกริ้ว เช่น ฟิรเอานฺ กอรูน อบูละฮับ และกลุ่มชนบางกลุ่มชน เช่น พวกอาด ษะมูด และบนีอิสรออีล (ชาวยิว)เป็นต้น ซึ่งลักษณะของผุ้ถูกโกรธกริ้วและผู้ที่หลงผิด ถูกระบุไว้ในหลายโองการด้วยกัน เช่น ผู้กลับกลอก (มุนาฟิกีน) ผู้ตั้งภาคี (มุชริก) และผู้ที่มีทัศนคติไม่ดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)

อัล-กุรอานกล่าวว่า ومن يشرك بالله فقد ضل ضللابعيدا
“และผู้ใดตั้งภาคีเทียบเคียงอัลลอฮฺ เขาย่อมหลงทางอย่างห่างไกลยิ่ง”(อัน-นิซาอฺ/๑๑๖)

บางโอการกล่าวว่า
..ويعذب المنفقين والمنفقات والمشركين والمشركات الظانين بالله ظن السوء وغضب الله عليهم ولعنهم واعد لهم جهنم وسائت مصيرا

“และเพื่อการลงโทษบรรดาผู้กลับกลอกทั้งชายและหญิง และบรรดาผู้ตังภาคีทั้งชายและหญิง ซึ่งเป็นพวกที่มีทัศนคติไม่ดีต่ออัลลอฮฺ สภาพการณ์อันเลวร้าย (ที่พวกเขารอคอยที่จะให้เกิดกับรรดาผู้ศรัทธา) กลับหมุนเวียนมาประสบกับพวกเขา และอัลลอฮฺทรงกริ้วโกรธพวกเขา ทรงทำให้เขาห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์ อีกทั้งทรงตระเตรียมนรกไว้สำหรับพวกเขา และมันช่างเป็นจุดจบที่เลวร้ายยิ่ง (อัล-ฟัตหฺ/๖)

ผู้ปฏิเสธโองการต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ (ซบ.)และผู้ฆ่าสังหารบรรดาศาสนฑูต

อัล-กุรอานกล่าวว่า
وضربت عليهم الذ لة والمسكنة وبا ئوبغضب من الله ذلك بانهم كانوايكفرون بايات الله ويقتلون النبيين بغير الحق
“ความอัปยศและความขัดสนได้ถูกตีตราลงบนพวกเขา และพวกเขาต้องประสบกับความกริ้วโกรธของอัลลอฮฺอีกครั้ง ทั้งนี้ เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธโองการต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ (ซบ.) และยังฆ่าสังหารบรรดาศาสดาอย่างไร้ความชอบธรรม (อัล-บะกอเราะฮฺ/๖๑)

และยังมีพวกชาวคัมภีร์ที่ขัดขวางและต่อต้านการเชิญชวนสู่สัจธรรมดังปรากฏใน ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน/๑๐๐ -๑๑๒

พวกหนีทัพสงครามต่าง ๆ ดังปรากฏในซูเราะฮฺ อัล-อัมฟาล/๑๖ พวกที่แลกเปลี่ยนความศรัทธาด้วยกับความเท็จ ดังปรากฏในซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ/๑๐๘ บรรดาพวกที่เป็นมิตรกับศัตรูของอัลลอฮฺ (ซบ.) ดังปรากฎในซูเราะฮฺ อัล-มุมตะหินะฮฺ/๑

เหล่านี้คือตัวอย่างของบรรดาผู้ที่ถูกอัลลอฮฺ (ซบ.) กริ้วและกลายเป็นผู้หลงผิดออกไปจากแนวทางที่เที่ยงธรรม ด้วยเหตุนี้ เราต้องวอนขอจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ในทุก ๆ นมาซให้พระองค์ทรงโปรดประทานความสัมฤทธิ์ผล ในอันที่จะไม่กลายเป็นผู้มีสภาพเหมือนดังกลุ่มชนที่ประสบกับความโกรธกริ้ว ของพระองค์ อันเนื่องมาจากความศรัทธาและพฤติกรรมของพวกเขา เช่น ชาวบนีอิสรออีล (ยิว) ซึ่งเรื่องราวความเป็นมาและอารยธรรมของพวกเขาได้ถูกกล่าวไว้ในอัล -กุรอานอย่างมากมาย ซึ่งครั้งหนึ่งพวกเขาเคยมีความประเสริฐ เหนือกว่ากลุ่มชนในอดีต อัล – กุรอานกล่าวว่า
واني فضلتكم علي العلمين
“ข้าได้ประทานความเลอเลิศแก่พวกเจ้าเหนือชาวโลกทั้งหลาย” (อัล-บะกอเราะฮฺ/๔๗)

แต่ภายหลังจากความประเสริฐ พวกเขาต้องประสบกับความกริ้วโกรธของอัลลอฮฺ (ซบ.)อันเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ชั่วร้ายของพวกเขา
อัล-กุรอานกล่าวว่า
وَبَاءُوابِغَضَبٍ مِنْ اللَّهِ
“และพวกเขาหันไปประสบกับความกริ้วโกรธของอัลลอฮฺอีกครั้ง” (อัล-บะกอเราะฮฺ/ ๖๑)

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกยิวต้องถูกโกรธกริ้ว?
- อันสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมชั่วร้าย และการปฏิบัติตัวของพวกเขา อาทิเช่น นักปราชญ์และผู้รู้ชาวยิวได้ทำทำการบิดเบือนคำสั่งและกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ของคัมภีร์เตารอต

- อัล-กุรอานกล่าวว่าيحرفون الكلم عن مواضعه
“พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงถ้อยคำ (ของอัลลอฮฺ)จากที่ของมัน”(อัล-นิซาอฺ/๔๖)

- พวกเขาได้ริเริ่มก่อตั้งระบบดอกเบี้ย อันเป็นระบบที่ทำลายธุรกิจการเงินและการลงทุน และอารยธรรมของสังคม ซึ่งบรรดาพ่อค้าและผู้มั่งคั่งในหมู่พวกเขาหมกหมุ่นอยู่กับการกินดอกเบี้ย การบริโภคสิ่งต้องห้ามและความฟุ้งเฟ้อ

- อัล-กุรอานกล่าวว่าواخذهم الربوا
“และเนื่องจากการกินดอกเบี้ยของพวกเขา”(อัน-นิซาอฺ /๑๖๑)

- พวกเขาปฏิเสธคำเชิญชวนของศาสดาของพวกเขาในการเข้าสู่สนามรบ และมิหนำซ้ำยังกล่าวกับศาสดาของเขาว่า “พวกเราไม่มีอารมณ์ที่จะทำสงคราม”
- อัล-กุรอานกล่าวว่า فاذهب انت وربك فقا تلا انا ههنا قعدون
“ดังนั้น ท่าน (ศาสดามูซา (อ.)) กับพระผู้อภิบาลของท่านจงไปกันตามลำพังและสู้รบ (กับพวกเขาเถิด) ส่วนพวกเราจะนั่งอยู่ที่นี่ (อัลมาอิดะฮฺ / ๒๔)

เนื่องจากความบิดพลิ้ว และความตะลบตะแลงของพวกยิว อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงนำพวกเขาลงมาจากจุดสูงสุดของเกียรติยศ สู่ความตกต่ำและความอัปยศอดสู

ดังนั้น เราจะต้องวอนขอดุอาอฺเสมอว่า ขอพระองค์โปรดอย่าทำให้พวกเราเป็นหนึ่งในกลุ่มชนที่ถูกกริ้ว ผู้บิดเบือนโองการของพระองค์ ผู้กินดอกเบี้ย ผู้หนีการพลีชีพในหนทางสัจธรรม ผู้หลงผิด ผู้มีความเลยเถิดในศาสนา และผู้ปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของตน แต่ขอพระองค์โปรดทำให้พวกเราเป็นผู้ดำรงอยู่ในเส้นทางของบรรดาผู้ที่ได้รับ ความโปรดปราน และความเมตตาจากพระองค์ เพราะการดำรงอยู่บนหนทางดังกล่าว นอกจากจะไม่หลงทางแล้ว ยังเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือตลอดเวลา

ผู้หลงทางจึงไม่ใช่ทั้งบรรดาผู้ที่ได้รับความโปรดปราน ซึ่งอยู่ในกลุ่มชนของบรรดาศาสดา (อ.) และกัลยาณชน และมิใช่พวกที่ได้รับความกริ้วโกรธ ซึ่งได้แก่พวกที่ทำตนเป็นปฏิปักษ์กับอัลลอฮฺ (ซบ.) และท้าทายพระองค์ตลอดเวลา ทว่า พวกหลงผิดคือพวกที่เฉยเมย ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น เรียกร้องชีวิตที่สะดวกสะบาย ซึ่งคนจำพวกนี้มิต่างอะไรไปจากบรรดาปศุสัตว์ทั้งหลายที่คิดถึงเฉพาะเรื่อง ปากท้อง กิเลศและความปรารถนาของอารมณ์ใฝ่ต่ำ พวกเขามิใส่ใจต่อความจริงหรือความเท็จ สำหรับพวกเขาแล้ว ไม่แตกต่างว่าศาสดาจะเป็นผู้ปกครอง หรือบรรดาพวกอธรรมฏอฆูตทั้งหลาย สิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขาคือ การมีสภาพชีวิตการเป็นอยู่ที่ดี มีความหรูหราเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว คนพวกนี้ คือ กลุ่มชนที่หลงผิด เพราะพวกเขาไม่เคยเลือกแนวทางที่แน่นอนในการดำเนินชีวิตเลย

และในช่วงท้ายของซูเราะฮฺ ฟาติหะฮฺ มนุษย์เปิดเผยและแสดงความรักและความเป็นมิตรต่อบรรดาศาสดา (อ.) ผู้มีความสัตย์จริง ผู้พลีชีพในแนวทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) และบรรดากัลยาณชน พร้อมกันนั้นมนุษย์จะแสดงความรังเกียจ และปลีกตนออกจากผู้ที่ถูกกริ้วและผู้หลงผิดทั้งหลาย และสิ่งเหล่านี้คือความหมายของ ตะวัลลา และตะบัรฺรอ หมายถึงการให้ความรักต่อมวลมิตรของอัลลอฮฺ (ซบ.) ส่วนตะบัรฺรอ หมายถึงการเป็นศัตรูกับเหล่าศัตรูของอัลลอฮฺ (ซบ.)

การแสดงความเกลียดชังต่อบรรดาผู้ที่ถูกโกรธกริ้ว และผู้หลงผิดในทุก ๆ นมาซนั้นจะเป็นเครื่องทัดทาน และกีดกั้นสังคมอิสลามจากการยอมรับการปกครองของบุคคลดังกล่าว

อัล – กุรอานชี้แนะเรื่องนี้ว่า لا تتولوا قوما غضب الله عليهم
“จงอย่ายอมรับอำนาจปกครองของกลุ่มชนที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงโกรธกริ้วพวกเขา” (อัล-มุมตะหินะฮฺ /๑๓)

และท้ายสุดจะสังเกตเห็นว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความศรัทธาในอิสลามได้ถูกกล่าวรวมไว้ใน ซูเราะฮฺฟาติหะฮฺ อันจำเริญนี้




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
อรรถาธิบายนมาซ

หมวดที่ ๕ ซูเราะฮฺอัต-เตาฮีด
ความประเสริฐของซูเราะฮฺ อัตเตาฮีด
ในนมาซหลังจากอ่านซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺ จบต้องอ่านซูเราะฮฺใดซูเราะฮฺหนึ่งอีก ๑ ซูเราะฮฺ ยกเว้นซูเราะฮฺที่มีสัจญะดะฮฺวาญิบ และในบรรดาซูเราะฮฺเหล่านั้น อัต-เตาฮีด คือ ซูเราะฮฺที่ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงได้มีริวายะฮฺแนะนำไว้ว่า ในหนึ่งวัน นมาซระกะอัตหนึ่งควรอ่านซูเราะฮฺอัตเตาฮีด ทั้งนี้ เพื่อท่านจะได้เป็นผู้ดำรงนมาซอย่างแท้จริง

ซูเราะฮฺอัต-เตาฮีด มีความประเสริฐเท่ากับ ๑ ใน ๓ ของอัล-กุรอาน และหมายรวมไปถึง ๑ ใน ๓ ของคัมภีร์เตารอฮฺ อินญีล และซะบูรฺ และซูเราะฮฺนี้มิเพียงได้รับการแนะนำในอ่านในนมาซเท่านั้น ทว่าหลังจากนมาซก็แนะนำให้อ่านในลักษณะของการซิกรฺเช่นกัน เกี่ยวกับผลบุญของการอ่านซูเราะฮ์นี้ อ่านอัลลอฮฺ (ซบ.)จะทรงประทานความเมตตาให้กับผู้อ่านทั้งโลกนี้และโลกหน้า

มาตรว่าซูเราะฮฺอัต-เตาฮีด จะเป็นซูเราะฮฺเล็ก ๆ แต่ทว่า ความหมายของมันยิ่งใหญ่ยิ่งนัก ท่านอิมามสัจญาด (อ.) กล่าวว่า “อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงหยั่งรู้ถึงอนาคตว่า จะมีผู้มีความลุ่มลึกและมีความละเอียดอ่อน พระองค์จึงได้ประทานซูเราะฮฺนี้ และโองการแรกของซูเราะฮฺ อัล-หะดีด ลงมา”

การอ่านซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีด ซ้ำเป็นประจำ จะทำให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายของผู้อธรรม มีความประพฤติเลวร้าย และเป็นหลักประกันให้บ้านหลังนั้นรอดพ้นจากอันตรายต่าง ๆ

สะอฺด์ อิบนิ มุอาซ ผู้เป็นสหายท่านนบี และเป็นแม่ทัพของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ร่างของท่านได้ถูกฝังอยู่ที่สุสานญันนะตุ้ลบะกีย์ นครมะดีนะฮฺ ในพิธีฝังศพของท่านนั้น ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้เดินเท้าเปล่าร่วมแห่ศพไปกับเขาด้วย และท่านกล่าวว่า “ได้มีมะลาอิกะฮฺ จำนวน ๙๐,๐๐๐ องค์ ลงมาร่วมแห่ศพของสะอฺด์ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้ถามญิบรออีลว่า “ทำไมท่านและมะลาอิกะฮฺองค์อื่น ๆ ถึงได้ลงมาร่วมแห่ศพของสะอฺด์ ? ท่านญิบรออีลได้กล่าวตอบว่า “เป็นเพราะว่าเขาได้อ่านซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีดเป็นประจำ ไม่ว่าเขาจะยืน จะกิน จะนั่ง หรือขณะขี่ยานพาหนะ”

สาเหตุของการประทานซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีด สืบเนื่องมาจากว่า บรรดายะฮูดี คริสเตียน และบรรดามุชริกีน ได้สอบถามท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เกี่ยวกับอัลลอฮฺ (ซบ.) และต้องการให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) อธิบายคุณลักษณะของพระองค์ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้ตอบพวกเขาโดยการอ่านซูเราะฮฺ อัตเตาฮีด ดังนั้น ซูเราะฮฺนี้จึงเปรียบเสมือนบัตรประจำองค์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)

قل هو الله احد
“จงประกาศเถิด อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นหนึ่งเดียว”
-เตาฮีด คือ แก่นแท้ของพื้นฐานทางศาสนาทุกศาสนา ซึ่งบรรดาศาสดา (อ.) ได้ถูกประทานลงมาเพื่อถอดถอนการตั้งภาคี (ชิกรฺ) และการบูชาเทวรูปในศาสนาต่าง ๆ ออกไปพร้อมกับเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว

-เตาฮีด คือ จิตวิญญาณของการอบรมสั่งสอนของบรรดาศาสดาทั้งหลาย ฉะนั้น เตาฮีดมิได้ถูกจำกัดอยู่แค่เรื่องของความเชื่อศรัทธา แต่ทว่าเรื่องของการปฏิบัติ (...احكام) และจริยธรรม (اخلاق.) ก็มีเตาฮีดครอบคลุมอยู่ด้วยเช่นกัน
-เตาฮีด คือ พรมแดนระหว่างความศรัทธา กับ การปฏิเสธ และการบรรลุไปสู่จุดสุดยอดของอีมาน โดยปราศจากการยอมรับบนเตาฮีด ถือว่าเป็นไปไม่ได้ ริวายะฮฺกล่าวว่า ..... คือป้อมปราการของอัลลอฮฺ (ซบ.)และใครก็ตามได้เข้ามาสู่ป้อมปราการของข้า ฯ เขาจะปลอดภัยจากการลงโทษของข้า ฯ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๓)

-ซูเราะฮฺอัตเตาฮีด ถือว่าเป็นความบริสุทธิที่สุดบนความศรัทธาที่มีต่อความเป็นเอกะของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ ชื่อหนึ่งของซูเราะฮฺนี้คือ ซูเราะฮฺอิคลาศ เพราะซูเราะฮฺนี้ได้ทำการปฏิเสธความเชื่อของคริสเตียน ที่เกี่ยวกับ พระบิดา พระบุตร พระจิต ปฏิเสธการตั้งภาคีของบรรดายะฮูดี และความเชื่อแบบอนารยชนของอาหรับในยุคก่อน ที่เชื่อว่ามวลมะลาอิกะฮฺ คือบุตรีของพระผู้เป็นเจ้า

-เตาฮีด คือการทำให้ความคิด และการกระทำของตนปลอดพ้นจากการตั้งภาคี และสรรหาสิ่งอื่นใดมาเทียบเคียงกับอัลลออฺ (ซบ.) และไม่ใช่เฉพาะการตั้งภาคีทางความคิด และทางการกระทำเท่านั้น ทว่า เจตนารมณ์และเป้าหมายของเราคือ อัลลอฮฺ (ซบ.)แต่เพียงผู้เดียว

หมายถึง พระองค์เท่านั้นที่เป็นหนึ่งเดียว โดยไม่มีที่สอง ไม่มีสิ่งคล้ายคลึง และเสมอเหมือน ไม่มีส่วนประกอบและองค์เรือนร่าง
เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เป็นที่เคารพภักดี และมีอยู่ในทุกสิ่ง ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงไม่อาจเข้าใจถึง ซาต (อาตมัน) ที่แท้จริงของพระองค์ได้

- เหตุผลที่แสดงความเป็นเอกะของพระองค์ คือ หากมีพระเจ้าองค์อื่นที่นอกเหนือจากพระองค์ พระเจ้าองค์นั้นก็ต้องส่งศาสดาลงมาเหมือนกัน เพื่อแนะนำให้ประชาชนรู้จัก และจะได้ภักดีต่อพระองค์

- ยามที่ประชาชนทั้งหมดตกอยู่ในอัตราย พวกเขาจะมุ่งจิตไปยังสิ่ง ๆ หนึ่ง ซึ่งจิตทั้งหมดจะยืนยันว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ให้ความหวังกับพวกเขาเมื่อยามอยู่ในอันตราย
- ความสัมพันธ์กันระหว่างท้องฟ้าและพื้นดิน มวลสรรพสิ่งทั้งหลายกับมนุษย์ และความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อน และเป็นระบบในหมู่ของสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย สมมติว่าท่านได้จ้างคนวาดรูป ๓ คน และได้สั่งกับคนที่หนึ่งว่า ท่านจงวาดรูปหัวไก่ สั่งกับคนที่สองว่า ท่านจงวาดรูปตัวไก่ และสั่งกับคนที่สามว่า ท่านจงวาดหาง และขาไก่ และเมื่อท่านนำเอารูปภาพทั้งสามมาวางเรียงกัน ท่านจะพบว่า รูปทั้งสามนั้นไม่เข้ากันเลย บางรูปอาจจะใหญ่หรือเล็กไป บางรูปอาจจะระบายสีสวยงาม ขณะที่อีกรูปอาจจะดูเละเทะและเปรอะเปื้อนไปทั้งหมด

- ความสัมพันธ์กันระหว่างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ พื้นดิน น้ำ ลม ดิน ภูเขา ทะเลทราย ท้องทะเล และสิ่งทั้งหมดเหล่านี้กับความต้องการของมนุษย์ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการมีพระผู้สร้างองค์เดียว มนุษย์นั้นหายใจเอาอ๊อกซิเจนเข้ามาและหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป ขณะที่ต้นไม้นำเอาคาร์บอน เหล่านั้นไปฟอกเพื่อให้เปลี่ยนเป็น ออกซิเจน ยังประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และมนุษย์

- ความต้องการของทารกน้อย ๆ ถูกตอบสนองให้ด้วยกับความรักของบิดามารดา
- ความเหน็ดเหนื่อยในตอนกลางวัน ถูกขจัดให้หมดไปด้วยการการนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืน
- น้ำตาถูกสร้างให้มีรสเค็ม ส่วนน้ำลายนั้นมีรสจืดสนิท เพื่อจะใช้น้ำตาทำการชำระล้างดวงตาให้ใสสะอาด ส่วนน้ำลายช่วยในการตระเตรียมอาหารเพื่อให้เคี้ยวและย่อยสะดวกยิ่งขึ้น

- สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกันกับธรรมชาติของสรรพสิ่ง และความต้องการของมนุษย์ และยังเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า โลกนี้มีพระผู้สร้างองค์เดียว ซึ่งพระองค์นั้นทรงปรีชาญาณและทรงเดชานุภาพยิ่ง

- ในสงครามญะมัล ได้มีอาหรับทะเลทรายคนหนึ่งมาหาท่านอิมามอะลี (อ.) และถามความหมายของอัต-เตาฮีด ทำให้บรรดาทหารของท่านอิมามเกิดความไม่พอใจ และกล่าวกับชายคนนั้นว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาถามเรื่องของเตาฮีด แต่ทว่าท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อธิบายความหมายของเตาฮีดอย่างละเอียดให้ชายผู้นั้นฟัง และได้กล่าวว่า “ก็เพราะเรื่องของเตาฮีดนี้แหละที่เราต้องทำสงครามกับศัตรู”(ตัฟสีรนูรุษษะเกาะลัยนฺ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๗๐๙)

- แน่นอนประวัติศาสตร์อิสลามได้จารึกไว้ว่า การทำสงครามที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นเป็นเพราะการวางรากฐานของเตาฮีด จึงทำให้กลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ ลุกขึ้นมาต่อต้านและพาลหาเหตุก่อสงครามกับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ครั้งแล้วครั้งเล่า

الله الصمد
“อัลลอฮฺ (ซ.บ.)ทรงดำรงด้วยพระองค์เอง
หมายถึง การไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งใด ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือข้อบกพร่อง

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงดำรงด้วยพระองค์เองนั้นหมายถึงพระองค์มิใช่วัตถุธาตุและมิไช่วัตถุภาวะ เพราะสิ่งใดก็ตามที่เป็นวัตถุย่อมประสบกับความเปลี่ยนแปลงหรือความเสียหายไปตามกาลเวลา พระองค์มิได้เป็นทั้งวัตถุธาตุที่จะเอื้อต่อการมองเห็น และมิได้เป็นประหนึ่งแรงโน้มถ่วงที่แม้จะมองไม่เห็น แต่ก็เป็นภาวะอันเกี่ยวข้องกับวัตถุธาตุ

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็น صَمَدُ หมายถึง ไม่มีอำนาจใด สามารถมีอิทธิพลเหนือพระองค์ ในทางตรงกันข้าม อำนาจของพรองค์ครอบคลุมอยู่เหนือมวลทุกสรรพสิ่ง
อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็น صَمَدُ หมายถึง พระองค์ทรงเดชานุภาพและไร้ภยันตรายใดๆมากร้ำกราย เกียรติยศทั้งหลายมาจากพระองค์ พระองค์ไม่ทรงพึ่งพาสรรพสิ่งใดๆ แต่สรรพสิ่งทั้งมวลล้วนพึ่งพิงพระองค์

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็น صَمَدُ หมายถึง การมีของพระองค์สมบูรณ์ และพระองค์ให้ความสมบูรณ์แก่สรรพสิ่งอื่น ขณะที่สรรพสิ่งใดต้องการไปสู่ความสมบูรณ์ ต้องพึ่งพาและวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเมตตาของพระองค์ คำบัญชาของพระองค์ อยู่เหนือคำสั่ง และความต้องการทั้งหลาย พระองค์ไม่ทรงพักผ่อนและนอนหลับ ไม่ปรารถนาหุ้นส่วน และผู้ช่วยเหลือในการบริหารงาน เพราะพระองค์เป็น ที่ไม่ต้องการที่พึ่ง แต่เป็นที่พึ่งของมวลสรรพสิ่งอื่น

لم يلد ولم يولد
“พระองค์มิได้ให้กำเนิดและพระองค์มิได้ถูกกำเนิด”
พระองค์ คือผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย แต่มิใช่ให้กำเนิดสิ่งเหล่านั้น ภารกิจของพระองค์มิใช่การผลิต เพื่อจะได้ผลิตสิ่งที่เหมือนกับพระองค์ แต่พระองค์ได้ทรงอุบัติจากสิ่งที่ไม่มีให้มีขึ้นมา

มารดาได้คลอดบุตรออกจากครรภ์ของนาง ซึ่งทารกน้อยคนนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวกันกับนาง เหมือนนาง แต่สำหรับพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.)แล้ว ไม่มีสรรพสิ่งใดเสมอเหมือนและเทียบเคียงกับพระองค์ ฉะนั้นจึงไม่มีความหมายที่จะเชื่อว่าพระองค์ให้กำเนิดสิ่งที่คล้ายคลึงพระองค์ อัล-กุรอานกล่าวว่า
ليس كمثله شيء
“ไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค์” (อัซชูรอ /๑๑)

คำพูดที่ว่า “ไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค์” เป็นคำพูดที่ขัดแย้งกับความเชื่อของคริสเตียน อย่างสิ้นเชิง อันสืบเนื่องจากว่า พวกเขาเชื่อว่า ท่านศาสดาอีซา (อ.) เป็นบุตรของพระเจ้า และท่านศาสดานั้นคล้ายคลึงกับพระองค์ และโองการข้างต้นยังได้ปฏิเสธความเชื่อของบรรดามุชริกีน อย่างสิ้นเชิงเช่นกัน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า บรรดามะลาอิกะฮฺนั้นเป็นบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ขณะที่โองการยืนยันกับเราว่า พระผู้เป็นเจ้ามิได้ให้กำเนิดบุตรทั้งบุตรีและบุตรชาย และพระองค์ก็มิได้ถูกกำเนิดมาจากสิ่งใด เพื่อที่จะกล่าวได้ว่า ผู้ให้กำเนิดพระองค์มีมาก่อนและดีกว่าพระองค์

การมีอยู่ของพระองค์ มิได้เหมือนกับผลไม้ ที่เติบโตขึ้นมาจากการผสมเกสร หรือเหมือนกับต้นไม้ที่เกิดจากการเพาะเมล็ด หรือแตกตาหรือต่อกิ่ง หรือเมือนกับน้ำฝนที่เกิดจากการรวมตัวกันของก้อนเมฆ หรือเหมือนกับคำพูดที่ออกจากปาก หรือเหมือนกับความคิดที่ออกมาจากมันสมอง พระองค์ทรงมี แต่การมีอยู่ของพระองค์ไม่เหมือนกับการมีอยู่ของสิ่งใดทั้งหมด พระองค์มิทรงสถิตย์อยู่ในสิ่งใด และไม่มีสิ่งใดสถิตย์อยู่ในพระองค์ ความสัมพันธ์ของพระองค์กับสรรพสิ่ง มิได้เป็นเหมือนความสัมพันธ์ของบิดามารดาที่มีต่อบุตร แต่เป็นความสัมพันธ์ในฐานะของพระผู้สร้างที่มีต่อสิ่งถูกสร้าง

ولم يكن له كفوااحد
“และไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงกับพระองค์”
การมีอยู่ของพระองค์ ไม่เหมือนกับสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นความสัมบูรณ์ หรือการกระทำ พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงกับพระองค์ พระองค์มิใช่วัตถุหรืออวัตถุ จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่าพระองค์เป็นเพศชายหรือเพศหญิง พระองค์ไม่มีคู่ครอง จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าพระองค์มีบุตร พระองค์ไม่ทรงพึ่งสิ่งใด พระองค์จึงไม่มีผู้ช่วยและหุ้นส่วน

มนุษย์กล้าหาญแค่ไหนถึงได้อ้างว่า สิ่งถูกสร้างนั้นเป็นหุ้นส่วนของพระองค์ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นการอธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ได้ยัดเยียดให้กับ พระองค์ อัล- กุรอานกล่าวว่า
ان الشرك لظلم عظيم
“แท้จริงการตั้งภาคีเป็นอธรรมที่ใหญ่หลวงยิ่งนัก” (ลุกมาน /๑๓)

โอ้ ผู้ดำรงนมาซทั้งหลาย จงรู้ไว้เถิดว่า นิอฺมัตและความโปรดปรานต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ประทานให้กับท่าน ไม่มีบุคคลใดมีส่วนร่วมในการประทานนั้น ภารกิจต่าง ๆ ที่ท่านได้กระทำลงไปท่านจงอย่านำเอาคนอื่นมาเป็นเป้าหมายที่นอกเหนือไปจาก อัลลอฮฺ (ซบ.) ทำไมในความคิดของท่านจึงคิดที่จะเรียกร้องความสนใจจากคนอื่น ที่เหมือนกับท่านที่มีทั้งความอ่อนแอ และเป็นผู้มีความต้องการ จงเบี่ยงเบนความคิดไปยังอัลลออฮฺ (ซบ.) เถิด ซึ่งพระองค์ไม่เหมือนกับสิ่งใด และไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค์ พระองค์ไม่อ่อนแอ อีกทั้ง ๆ ไม่มีความต้องการในสิ่งอื่น ๆ

ในตอนท้ายสุดของซูเราะฮฺ อัต-เตาฮีด จะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของซูเราะฮฺ
พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว ทั้งในซาต(อาตมัน)และซิฟาต (คุณลักษณะ)ฉะนั้น ในการเป็น معبودية(ผู้ได้รับการเคารพภักดี)ซึ่งพระองค์นั้นคู่ควรต่อการภักดี ก็เป็นหนึ่งเดียวเช่นกัน

พระองค์ไม่ต้องการที่พึ่ง แต่สรรพสิ่งทั้งหลายต้องพึ่งพระองค์ และการปราศจากที่พึ่งนั้นเป็นหนึ่งเดียว
พระองค์ไม่ได้ผลิตสิ่งใดที่เหมือนกับพระองค์ เพื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะได้คล้ายคลึงกับพระองค์
พระองค์ทรงเป็นปฐมเหตุและทรงเป็นนิรันดร์ มิใช่สิ่งใหม่ที่เกิดมาจากสิ่งอื่น
พระองค์ไม่มีสิ่งใดละม้ายคล้ายเหมือน ไม่มีคู่ครอง ไม่มีคู่เหมือน และไม่มีหุ้นส่วน

ซูเราะฮฺอัต-เตาฮีด ได้ตัดบ่วงโซ่ของการเป็นชิริกฺ (ภาคี)ความหลงผิด การต่อเติมในศาสนาและความเชื่อแบบผิด ๆ ออกไปจากพระผู้เป็นเจ้า และได้นำเสนอความบริสุทธิ์ของการเป็นหนึ่งเดียวของพระองค์แก่มวลมนุษย์

ริวายะฮฺ กล่าวว่า “แท้จริงซูเราะฮฺอัต-เตาฮีดเป็นบทที่ได้แนะนำมนุษย์ ให้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าที่ละขั้น”ดังต่อไปนี้

การแนะนำมนุษย์ให้รู้จักพระเจ้า
-ขั้นที่หนึ่ง จงประกาศเถิดว่า พระผู้เป็นเจ้าของฉัน คือ พระองค์ ผู้ซึ่งอยู่พ้นการสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า อยู่พ้นญาณวิสัยของมนุษย์ และทรงอยู่พ้นจากการมองเห็นด้วยตาเนื้อ
ในขั้นตอนที่หนึ่งนี้ ความสนใจทั้งหมดอยู่ทีซาตของพระองค์ มิใช่ซิฟาต และเฉพาะซาตของพระองค์เท่านั้น ก็เพียงพอแล้ว สำหรับการเป็นที่รักและเคารพภักดี ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าว่า “ความบริสุทธิ์ใจที่สมบูรณ์ คือ การมุ่งจิตมั่นไปยังอัลลอฮฺ (ซบ.) โดยมิได้ใส่ใจต่อซิฟาตของพระองค์” (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฎบะฮฺ อัต-เตาฮีด)

จงเคารพภักดีต่อพระองค์ ด้วยเหตุที่พระองค์ คือ พระองค์ มิใช่เพราะพระองค์คือผู้ประทานนิอฺมัตและความโปรดปรานแก่เรา

-ขั้นที่สอง พระองค์ คือ อัลลอฮฺ (ซบ.)พระผู้เป็นเจ้าที่คู่ควรแก่การเคารพภักดีและเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่มีความ สมบูรณ์ครบทุกประการ
ในขั้นที่สองนี้ จะพบว่าทั้งซาตและซิฟาต ถูกกล่าวพร้อมกันด้วยกัน กล่าวคือ นั้นเป็นซาตที่มีคุณสมบัติที่ดีครบทุกประการ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงคู่ควรแก่การเคารพภักดี
อัล-กุรอานกล่าวว่าولله الأسماء الحسني فادعوه بها
“พระนามอันวิจิตทั้งหลายเป็นของอัลลอฮฺ (ซบ.)ดังนั้น ต้องวิงวอนขอต่อพระองค์ด้วยพระนามเหล่านั้น (อัล-อะอฺรอฟ /๑๘๐)
การรู้จักอัลลอฮฺ (ซบ.) ด้วยกับซิฟาตของพระองค์ ถือเป็นขั้นที่สอง ซึ่งคำว่า นั้น ถือเป็นศูนย์กลางที่สมบูรณ์ที่สุดของพระนามและซิฟาตเหล่านั้น

-ขั้นตอนที่สาม ٌ พระองค์ทรงเป็นเอกะที่เป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่มีสองหรือมาจากสอง
ในขั้นตอนนี้ จะอธิบายถึงความเป็นเอกะของซาตและซิฟาต ของอัลลอฮฺ (ซบ.) อิมามมะอฺศูม (อ.) ได้อธิบายว่า ทั้งซาตและซิฟาตของพระองค์ เป็นหนึ่งเดียวกันที่ไม่มีความแตกต่าง และการมีอยู่ของทั้งสองก็เป็นหนึ่งเดียวกัน มิได้หมายความว่า การมีอยู่ของซิฟาต คือ สิ่งที่เพิ่มและนอกเหนือไปจากซาตของพระองค์

พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่มีสองและสาม ซึ่งคำว่า واحدและ احدนั้นแตกต่างกัน เช่นถ้าเราพูดว่า “ไม่มีใครมาสักคน หมายถึง ไม่มีคนมาเลยแม้แต่คนเดียว ตรงนี้ คือ ความหมายของ “อะหัด” แต่ถ้าเราพูดว่า ไม่ได้มาคนเดียว หมายถึง อาจมาสองคนหรือมากกว่านั้น ตรงนี้ คือ ความหมายของ”วาหิด”(واحد) ซึ่งอัล-กุรอานกล่าวว่า احدมิได้กล่าวว่าواحدหมายถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นหนึ่งเดียว ที่ไม่มีที่สองและที่สาม

-ขั้นตอนที่สี่ อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นที่พึ่ง (ปราศจากความต้องการ)
ในขั้นตอนนี้ การปราศจากความต้องการ และไม่พึ่งพาสิ่งอื่นถือเป็นหัวใจสำคัญของซิฟาตและซาต ของพระผู้เป็นเจ้า และถือว่าเป็นซิฟาตที่มีความสำคัญมากของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งจะเห็นว่า การกล่าวว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นที่พึ่งนั้น อัล-กุรอานไม่ต้องการแค่บอกข่าวกับเรา แต่ต้องการบอกว่า คือซิฟาต ที่ถาวรของพระองค์ หมายถึงว่า ซิฟาตนี้จะไม่แยกออกจากพระองค์อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้คำว่า จึงถูกกล่าวซ้ำในประโยค เพื่อเป็นการเน้นย้ำว่าพระองค์ คือ ที่พึ่งที่แท้จริงของมวลสรรพสิ่งทั้งหลาย และทรงเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุด

พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียว และปราศจากความต้องการไปยังสรรพสิ่งอื่น ในทางตรงกันข้ามบรรดาสรรสิ่งทั้งหลายต่างหากที่มีความต้องการเพียงพระองค์

-ขั้นตอนที่ห้า
พระองค์มิได้ให้กำเนิดและมิถูกกำเนิด ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงพระองค์ หมายถึง พระองค์ทรงเป็นصمد (ที่พึ่ง) พระองค์จึงปราศจากความต้องการบุตร จึงมิได้เป็นผู้ให้กำเนิดและไม่ต้องการบิดามารดา พระองค์จึงมิได้ถูกกำเนิด และพระองค์ยังปราศจากความต้องการในคู่ครองและผู้ช่วยเหลือในการบริหารกิจการ งาน

ฉะนั้น ถ้าพระองค์ถือกำเนิดจากสิ่งอื่น พระองค์ย่อมไม่ใช่ปฐมเหตุ และหากพระองค์ให้กำเนิดสิ่งใด พระองค์ย่อมมิได้เป็นนิรันดร์ พระองค์จึงต้องสูญสลาย และถ้าพระองค์เหมือนหรือคล้ายคลึงกับสิ่งอื่น พระองค์ก็ไม่พ้นจากการมีคู่แข่งในกิจต่างๆ แต่พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบริสุทธิ์ยิ่งกว่าสิ่งเหล่านั้น

อัล-กุรอานกล่าวว่า سبحن الله عما يشركون
“พระองค์ทรงบริสุทธิ์ยิ่งนักจากสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคี” (อัฏฏูต /๔๓)




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
๑๐
อรรถาธิบายนมาซ

หมวดที่ ๖ รุกูอฺและสุญูด
รุกูอฺ ( ركوع )
หนึ่งในรุกุ่นของนมาซ คือ การรุกูอฺ ซึ่งถ้าทำน้อยหรือมากทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจถือว่านมาซเสีย ซึ่งคำว่า (ركعت) ระกะอัต ก็มาจากคำว่า ركوع เช่นกัน

ชนเผ่า บนีษะกีฟ ได้ขอต่อท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ว่า นมาซไม่ต้องทำรุกูอฺและสุญูดได้ไหม ? ซึ่งพวกเขาอ้างว่า แท้จริง การก้มโค้ง สำหรับพวกเราแล้วถือว่าเป็นสิ่งน่าเกลียด ทันใดนั้นอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ประทานโองการว่า
اِذَاقِيلَ لَهُم اِركَعُوالاَ يَركَعُونَ
“และเมื่อได้บอกกับพวกเขาว่า พวกท่านจงก้มเถิด พวกเขาก็ไม่ก้ม” (อัล-มุรฺสะลาต /๔๘)

จะสังเกตเห็นว่า ในสังคมนั้นผู้คนส่วนใหญ่เขาได้ก้มเพื่อแสดงความเคารพ ซึ่งกันและกัน ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ดังนั้น ท่านจงก้มต่อพระผู้เป็นเจ้า เพื่อแสดงความภักดี และเป็นการเทิดเกียรติในความยิ่งใหญ่ของพระองค์

ครั้นเมื่อโองการ سَبحِ اِسمِ رَبِّك الاَعلى
“ดังนั้น เจ้าจงสดุดีความบริสุทธิ์ด้วยพระนามแห่งองค์พระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงยิ่ง ใหญ่” ถูกประทานลงมา ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) จึงมีคำสั่งว่าพวกท่านจงทำรุกูอฺ และอ่านว่า

سُبحَانَ رَبَِِّىَ العَظِيمِ وَبِحَمدِهِ
“ทรงบริสุทธิ์ยิ่ง พระผู้อภิบาลของฉันผู้ทรงยิ่งใหญ่และการสรรเสริญเป็นสิทธิของพระองค์” (ญามิอุล อะหาดีษ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๙๒๒)

ริวายะฮฺ ได้กล่าวว่า การรุกูอฺ คือ สัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงมารยาท ส่วนการสุญูด คือ เครื่องหมายของความใกล้ชิดที่มีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ดังนั้น ถ้าท่านทำมารยาทไม่ดีแล้วจะแสดงความใกล้ชิดต่อพระองค์ได้อย่างไร?” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๕ หน้าที่ ๑๐๘)

รุกูอฺ คือ แนวทางที่นำไปสู่การลุกโทษ (เตาบะฮฺ) และการขออภัยโทษในความผิดบาปต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)

อัล-กุรอาน กล่าวว่า

فَاستَغفَرَ رَبَّهُ وَ خَرَّرَاكِعًاوَاَنَابَ
“ดังนั้น เขาจึงขออภัยต่อองค์พระผู้อภิบาลของเขา และทรุดกายก้มลงขอโทษ” (ซ๊อด /๒๔)

มรรคผลของรุกูอฺ
ท่านอิมามบากิรฺ (อ.) กล่าวว่า “ผู้ใดทำการรุกูอฺ ของเขาอย่างสมบูรณ์ เขาจะถูกคุ้มครองในหลุมฝังศพ”(วะซาอิ้ล ชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๒๘)

หากเราได้ก้มเพื่อเทิดเกียรติความยิ่งใหญ่ของพระองค์มากเท่าใด เราก็จะมีความแข็งแกร่งในการต่อสู้กับชัยฏอนมารร้าย ได้มากเท่านั้น

ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “การทำรุกูอฺและสุญูดนาน ๆ เท่ากับทำให้ชัยฏอนโกรธและโมโห และมันจะพูดว่า ความหายนะจงประสบแก่ฉัน ดูคนพวกนี้เขาแสดงความเคารพภักดีซิ ซึ่งเขาจะไม่ภักดีกับฉันอีกต่อไป” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๒๘)

อัลลอฮฺ (ซบ.)ได้ตรัสกับมวลมะลาอิกะฮฺว่า “เจ้าจงมองดูบ่าวของข้า ฯ ซิ พวกเขากำลังเทิดเกียรติในความยิ่งใหญ่ของข้า ฯ และพวกเขาได้ก้มต่อหน้าข้า ฯ เพื่อแสดงความเคารพ ฉะนั้น ข้า ฯ จะให้เกียติกับพวกเขา และเพิ่มพูนความแข็งแกร่ง และความยิ่งใหญ่แก่พวกเขา” (ญามิอุ้ล อะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๒๐๓)

ท่านอิมามศอดิก (อ.)กล่าวว่า “การทำรุกูอฺ และสุญูดนาน ๆ มีผลทำให้อายุยืน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๒๘)

มารยาทในการทำรุกูอฺ
ริวายะฮฺ ได้กล่าวว่า ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ขณะทำรุกูอฺ ท่านจะก้มโดยยืดแผ่นหลังเป็นเส้นตรงขนาดที่ว่า หากหยดน้ำตกลงบนหลังของท่านในขณะนั้น มันจะหยุดอยู่กับที่โดยไม่ไหลต่อไปที่ใด”(วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๔๒)

ได้มีคำแนะนำว่า ขณะรุกูอฺให้ยืดลำคอเป็นเส้นตรง เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า โอ้ อัลลอฮฺ (ซบ.) ข้าพระองค์ได้มีอีมานกับพระองค์ ฉะนั้น ข้าพระองค์พร้อมที่จะเสียสละศีรษะเพื่อแนวทางของพระองค์” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๔๒)

ผู้ชายขณะทำรุกูอฺ ให้กางข้อศอก ดุจดังเช่นนกได้กางปีกเล่นลม มิใช่งอและห่อแนบติดกับลำตัว ให้แบฝ่ามือออกโดยกุมอยู่ที่หัวเข่า ปลายเท้าต้องเสมอกัน และให้ทิ้งช่วงระยะห่างระหว่างเท้าทั้งสองประมาณ ๑ คืบ

ขณะที่ก้มทำรุกูอฺ สายตาต้องจับมองอยู่ที่ระหว่างเท้าทั้งสอง เมื่อกล่าวซิกรฺรุกูอฺจบให้กล่าวสรรเสริญ (เศาะละวาต) ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) และลูกหลาน ส่วนการซิกรฺในรุกูอฺนั้นอย่างน้อยสุดควรกล่าวซ้ำ ๓ ครั้ง

การรุกูอฺของหมู่มวลมิตรของอัลลอฮฺ (ซบ.)
ท่านอิมามศอดิก (อ.)กล่าวว่า “ท่านอิมามอะลี (อ.) ทำรุกูอฺนานถึงขนาดที่เหงื่อได้ไหลออกจากหน้าแข้งของท่าน” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๕ หน้าที่ ๑๑๐)
ท่านอิมามอะลี (อ.)กล่าวว่า “มีมะลาอิกะฮฺกลุ่มหนึ่งได้ก้มทำรุกูอฺพร้อมกันโดยไม่เงยขึ้นอีกเลย (คุฎบะฮฺแรกของนะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ)
แน่นอนในหมู่ของมะลาอิกะฮฺ ไม่มีการหิวและไม่รู้จักความเหน็ดเหนื่อย ในหมู่ของพวกอาริฟเช่นกันพวกเขารู้จักอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นอย่างดี จึงได้ทำรุกูอฺนาน ซึ่งการทำเช่นนี้เฉพาะหมู่มวลมิตรของพระองค์เท่านั้นที่จะทำได้ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ขณะนั่งอยู่ในมัสญิด ได้มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามา และตรงไปทำนมาซทันที ทว่า เขาได้ทำรุกูอฺและสุญูดไม่สมบูรณ์ โดยเขาได้ทำอย่างรีบเร่ง ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า “เขาทำรุกูอฺและสุญูดเหมือน อีกา กำลังจิกพื้นและก็บินไป ถ้าเขาได้ตายจากโลกนี้ไปด้วยการทำนมาซเช่นนี้ ถือว่าเขาไม่ได้ตายบนศาสนาของฉัน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๒๒)

สัจดะฮฺ และประวัติความเป็นมา
ภายหลังจากที่อัลลอฮฺ (ซบ.)ได้สร้างท่านนบีอาดัม (อ.) เสร็จสิ้น พระองค์ได้มีบัญชาต่อมวลมะลาอิกะฮฺว่า จงทำการสุญูดต่ออาดัม (อ.) ซึ่งมะลาอิกะฮฺทั้งหมดได้ทำการสุญูดยกเว้น อิบลีสฺมารร้าย และด้วยเหตุที่ อิบลิสฺผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง พระองค์จึงขับออกจากสวรรค์เนรมิตของพระองค์

สำหรับเรื่องราวของท่านอาดัม (อ.) กับ อิบลิสฺนั้น อัล- กุรอานได้กล่าวซ้ำไว้ในหลายที่ด้วยกัน และเป็นที่ทราบกันดีว่า การกล่าวซ้ำของอัล-กุรอาน ย่อมมีปรัชญาและเหตุผลอยู่ในตัว ซึ่งหนึ่งในปรัชญาเหล่านั้น อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ต้องการเตือนสำทับว่า “โอ้ มนุษย์เอ๋ย เพราะความสูงศักดิ์ของเจ้านั่นเอง มวลมะลาอิกะฮฺจึงได้สัจดะฮฺต่อเจ้า แล้วทำไมพวกเจ้าจึงไม่ยอมทำสัจดะฮฺต่อข้า ฯ ในฐานะข้า ฯเป็นพระผู้อภิบาลผู้ทรงสร้างพวกเจ้ามา โอ้ มนุษย์เอ๋ย อิบลิสฺ ถูกขับออกจากสวรรค์เนรมิตของข้า ฯ เพราะไม่ยอมสุญูดต่อพวกเจ้า และหากพวกเจ้าไม่ยอมสุญูดต่อข้า ฯ ลองคิดดูว่าสภาพของพวกเจ้าจะเป็นเช่นไร

อิบลิสฺไม่ยอมสุญูดต่อเจ้า และมันได้พูดว่า “ข้า ฯ ดีกว่ามนุษย์ แล้วเจ้าสามารถพูดได้ไหมว่า เจ้านั้นดีกว่าข้า ฯ ? โอ้ มนุษย์เอ๋ย เจ้านั้นไม่เคยมีชีวิตมาก่อน เจ้านั้นเป็นศูนย์ครั้นเมื่อเจ้าได้ถือกำเนิดขึ้นมา เจ้าก็มีแต่ความอ่อนแอ และไร้ซึ่งความสามารถ และในบั้นปลายสุดท้ายเจ้าก็จะจากโลกนี้ไปอย่างผู้ไร้ความสามารถเหมือนตอน แรก และทำไมเจ้าจึงแสดงความยะโสโอหัง อวดดี และอกตัญญูต่อพระผู้อภิบาลผู้ทรงสร้างเจ้ามา ?

อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตจะพบว่าคำบัญชาแรกของอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่ได้บัญชามาหลังจากได้สร้างมนุษย์แล้วคือ การสัจดะฮฺ

ความประเสริฐของการสัจดะฮฺ
สัจดะฮฺ คือ การกระทำที่ดีที่สุดของมนุษย์เมื่ออยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)

สัจดะฮฺ คือ แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับการแสวงหาความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)
อัล-กุรอานกล่าวว่า وَاسجُد
“จงทำสัจดะฮฺ “(ซูเราะฮฺ อะลัก โองการสุดท้าย ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่โองการของอัล-กุรอาน เมื่ออ่านแล้วเป็นวาญิบต้องทำสัจดะฮฺ)

สัญลักษณ์ ของสหายและผู้ช่วยเหลือที่ซื่อสัตย์ของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) คือร่องรอยของการสัจดะฮฺ ที่ปรากฏบนหน้าผากของพวกเขา
อัล-กุรอานกล่าวว่า

سِيمَاهُم فِى وُجُوهِهِم مِّن اَثَرِ السُجُودِ
“สัญลักษณ์ของพวกเขาปรากฏบนใบหน้าของพวกเขาจากร่องรอยของการสุญูด”(อัล-ฟัตฮฺ /๒๙)

สัจดะฮฺ คือ เครื่องหมายของการร่วมมือ และการประสานใจกันของมนุษย์ กับสรรสิ่งทั้งหลาย เพราะไม่ว่าสรรพสิ่งใดก็ตามทั้งในฟากฟ้าและแผ่นดิน ต่างทำการสัจดะฮฺต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)ทั้งสิ้น

อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَلِلّهِ يَسجُدُ مَا فِى السَّمَاوَاتِ وَ مَافِى الأرضِ
“และสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในฟากฟ้าและแผ่นดิน ได้ทำการสัจดะฮฺต่ออัลลอฮฺ” (อัล-นะหฺลิ /๔๙)

وَالنَّجْمُ وَالشَّجَرُ يَسْجُدَانِ
“ต้นหญ้า (พุ่มไม้) และต้นไม้ได้ทำการสัจดะฮฺ” (อัล-เราะหฺมาน /๖)

สัจดะฮฺ คือ การร่วมมือและประสานใจกับมวลมะลาอิกะฮฺ ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
“ไม่มีชั้นฟ้าใดจากบรรดาชั้นฟ้าทั้งหลายที่มวลมะลาอิกะฮฺมิได้อยู่ในท่าสุ ญูด” (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฎบะฮฺที่ ๙๑)

สัจดะฮฺ คือ ตำแหน่งสูงที่สุดของการแสดงความเคารพของบ่าวคนหนึ่ง อันเนื่องมาจากว่ามนุษย์ได้นำเอาบริเวณที่สูงที่สุดของร่างกาย ลงแนบกับดิน เพื่อเผยถึงความต่ำต้อยน้อยค่า และการไร้ความสามารถของตน ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้อภิบาล ผู้ทรงเดชานุภาพที่สุด

สัจดะฮฺ คือ ตำแหน่งที่สูงที่สุดที่เผยถึงเกียรติยศอันสูงส่งของบุรุษและสตรีบนโลกนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้มีบัญชาให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ทำการสัจดะฮฺ ซึ่งมิได้ทำเฉพาะตอนกลางวันเพียงอย่างเดียว แม้แต่ในยามก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักผ่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ ก็ต้องทำเช่นกัน

อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَمِنَ الَيلِ فَاسجُدُ لَهُ وَسَّبِحهُ لَيلاً طَوِيلاً
“และบางช่วงของกลางคืน เจ้าจงกราบนมัสการต่อพระองค์ และจงสดุดีพระพิสุทธิคุณแด่พระองค์ในเวลากลางคืนอันยาวนาน (เศาะลาตุ้ลลัยนฺ) (อัล-อินซาน / ๒๖)

อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้มีบัญชาต่อท่านหญิง มัรยัม สตรีที่บริสุทธิ์และดำรงอิบาดะฮฺว่า
يَامَريَمُ إقنُتِى لِرَبِّكَ وَاسجُدِى
“โอ้ มัรยัม จงคารวะต่อพระผู้อภิบาลของเธอ และจงกราบนมัสการ” (อาลิอิมรอน /๔๓)

สัจดะฮฺนั้นต้องทำหลังจากรุกูอฺ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สมบูรณ์และสูงส่งที่สุด และเป็นขั้นตอนเดียวที่จะสร้างให้มนุษย์มีความนอบน้อม ดังนั้น จะสังเกตเห็นว่า อัล-กุรอานมักจะกล่าวถึงสัจดะฮฺไว้เคียงข้างกับการกระทำอย่างอื่นเสมอ เช่นيايُّهَا لَّذِينَ آمَنُوا إركَعُوا وَاسجُدُوا

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงทำการรุกูอฺและสุญูด(ก้มและกราบนมัสการ) ”(อัล หัจญ์ /๗๗)
تَرَيهُم رُكَّعًا وَسُجَّدًا
“เจ้าเห็นพวกเขาทำการรุกูอฺและสุญูด”(อัล-ฟัตฮฺ /๒๙)

สัจดะฮฺ คือระหัสของอีมานที่มีต่อ (โองการ) สัญลักษณ์ต่าง ๆของอัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอานกล่าวว่า
إِنِّمَا يُوء مِنّ بِآيَاتِنَا اَلَّذِينَ اِذَاذُكِّروابِهَا خَرُّواسُجُّدًا
“อันที่จริงผู้มีศรัทธาต่อโองการต่าง ๆ ของเราจะมีเฉพาะผู้ที่เมื่อได้นำเอาโองการเหล่านั้นมาเตือนสติ พวกเขาจะทรุดกายลงทำสัจดะฮฺ”(อัส -สัจดะฮฺ /๑๕)

การสัจดะฮฺ ทั้งวันเป็นหนึ่งในเครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงบ่าวที่เป็นกัลยาณชนของอัลลอฮฺ (ซบ.)

อัลกุรอานกล่าวว่า

وَعِبَادُ الرِّحمَانِ اَلَّذِينَ يَمشُونَ عَلَىالأرضِ هَونًا وَإِذَاخَاطَبَهُمُ الجهِلُونَ قَالُواسَلاَمًا وَالَّذِينَ يَبِيتُونَ لِرَبِّهِم سُجَّدًاوَقِيمًا
“มวลข้าทาสผู้เป็นกัลยาณชน ของพระผู้ทรงเมตตา ได้แก่ผู้ที่เดินบนพื้นดินด้วยกับความนอบน้อม และเมื่อผู้โฉดได้เรียกพวกเขา (ด้วยคำพูดที่หยาบคาย) พวกเขาก็จะกล่าวให้สลาม (โดยไม่สนใจต่อการไม่ให้เกียรติ) และได้แก่ผู้ที่ทำการนมัสการพระผู้อภิบาลของพวกเขาด้วยการกราบและยืนตลอด ทั้งคืน” (อัล-ฟุรกอน / ๖๓ – ๖๔)

สัจดะฮฺ คือ เครื่องประดับของมนุษย์ ฉะนั้น จงทำให้ดีที่สุด ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “เมื่อใดที่ท่านดำรงนมาซ จงทำรุกูอฺและสุญูดให้ดีที่สุด เนื่องจากว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตอบแทนผลรางวัลให้มากถึง ๗๐๐ เท่า ทว่าพระองค์ทรงตอบแทนให้มากกว่านั้น (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๕ หน้าที่ ๑๓๙)

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “หากมนุษย์รู้ว่าเมื่อเขาทำสัจดะฮฺแล้ว จะได้รับนิอฺมัตอะไรบ้าง เขาจะไม่เงยศีรษะขึ้นจากการทำสัจดะฮฺเด็ดขาด” (ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๔๘๒)
สัจดะฮฺ เป็นการทำลายอัตตาตัวตนและความอวดดี และช่วยให้มนุษย์พ้นจากการเป็นผู้มีความยะโสโอหัง (ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๕๔๓)

การสัจดะฮฺแต่ละครั้ง ความผิดบาปของมนุษย์จะถูกลบล้าง และพระองค์จะบันทึกผลบุญที่ยิ่งใหญ่ให้กับเขา” (ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้า ๔๖๖)
ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺ ฉันสามารถจำประชาชาติของฉันได้ ด้วยกับการดูร่องรอยของการสัจดะฮฺที่ปรากฏบนหน้าผากของพวกเขา” (มุสนัดอะหฺมัด ฮันบัล เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๘๙)

“พื้นดินที่ถูกสัจดะฮฺ ในวันกิยามะฮฺจะเป็นพยานยืนยันถึงการทำอิบาดะฮฺของมนุษย์” (ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๑๘๙)
“พื้นดินที่ถูกสัจดะฮฺ จะเปล่งประกายนูรรัศมีส่องขึ้นไปบนท้องฟ้า”(มุสตัดร๊อกวะซาอิ้ล เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๘๕)

“การทำรุกูอฺ และ สุญูดนาน ๆ จะเป็นสาเหตุทำให้นิอฺมัต (ความโปรดปราน) ดำรงอยู่ต่อไป และเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์มีอายุยืน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๒๘)
การสัจดะฮฺนั้นมีความสำคัญถึงขนาดที่ว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้มีบัญชาต่อท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ว่า
وَعَهِدنَآ اِلى اِبرَاهِيمَ وَ اِسمَا عِيلَ اَن طَهِّرَابَيتِى لِلطّا ئِفِينَ وَالعَاكِفِينَ وَالرَّكَعِ السُّجُودِ
“จงทำให้บ้านของข้าสะอาดบริสุทธิ์ (เพื่อการอิบาดะฮฺ)สำหรับบรรดาผู้เดินเฏาะวาฟ บรรดาผู้นั่งสงบจิต และบรรดาผู้ที่ทำรุกูอฺและสุญูดทั้งหลาย”(อัล-บะกอเราะฮฺ / ๑๒๕)

ปรัชญาของการทำสัจดะฮฺ
ได้มีผู้ถามท่านอิมามอะลี (อ) เกี่ยวกับปรัชญาของการทำสัจดะฮฺ ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตอบว่า การทำสัจดะฮฺครั้งที่หนึ่ง หมายถึง มนุษย์นั้นถูกสร้างขึ้นมาจากดิน และเมื่อเงยศีรษะขึ้น หมายถึง มนุษย์ได้หลุดพ้นความเป็นดิน และถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก การทำสัจดะฮฺ ครั้งที่สอง หมายถึง มนุษย์ทุกคนต้องตายและกลับคืนสภาพไปสู่ดิน และเมื่อเงยศีรษะขึ้น หมายถึง ในวันกิยามะฮฺมนุษย์ทุกคนจะฟื้นคืนชีพจากหลุมฝังศพอีกครั้ง เพื่อรอการสอบสวน (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่๘๕ หน้าที่ ๑๓๙)

ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “การสัจดะฮฺนั้นทำเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ฉะนั้นจงอย่าสัจดะฮฺลงบนอาหาร และเครื่องนุ่มห่ม อันเป็นที่สนใจของประชาชน ซึ่งการสัจดะฮฺนั้นควรเป็นเหตุทำให้มนุษย์มีความมุ่งมั่นต่อพระองค์ (ซบ.) มิใช่อาหาร เครื่องนุ่งห่อม และวัตถุอันเป็นปัจจัยยังชีพทั้งหลาย” (อัล-ฟะกีฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๗๒

หะดีษนั้นกล่าวว่า “เหตุผลของการทำสัจดะฮฺสะฮฺวีย์ คือ เมื่อเราลืมการนั่งหรือยืน หรืออ่านผิดที่ อันสืบเนื่องมาจาก ซัยฏอนมารร้ายได้ทำลายสมาธิของท่าน และทำให้นมาซของท่านไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น เมื่อทำนมาซเสร็จแล้ว จงทำสัญจะดะฮฺสองครั้ง โดยให้จมูกของท่านแนบกับพื้นดิน และจงสังวรไว้เถิดว่า คราใดที่ท่านได้ทำในสิ่งไร้สาระ ก็จงก้มกราบ (สัจดะฮฺ) ณ เบื้องพระพักตร์ของพระองค์” (อัลวาฟีย์ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๙๙๒)

ท่านอิมามอะลี (อ.)กล่าวว่า “ภายนอกของการทำสัจดะฮฺ คือ การนำใบหน้าของตนวางแนบลงบนดินด้วยความบริสุทธิ์ใจ และด้วยความนอบน้อม ส่วนภายในของมัน คือ การถอดถอนจิตใจออกจากภารกิจทั้งหมดที่มีความดับสลาย ทุกความศิวิไลที่จิตมีความผูกพันกับมันเพื่อการดำรงอยู่ ทุก ๆ ความยะโสโอหังและความอวดดี ความอคติ บรรดาวงศาคณาญาติ และวัตถุเงินตราบนหน้าแผ่นดินทั้งหลาย (มุสตัดร๊อกวะซาอิ้ล เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๔๘๔)

มารยาทของการสัจดะฮฺ
ขอกล่าวบางส่วนของริวายะฮฺที่กล่าวเกี่ยวกับมารยาทของการทำสัจดะฮฺ
ซึ่งมื่อทำรุกูอฺเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การทำสัจดะฮฺ และในการทำสัจดะฮฺนั้น ควรให้ฝ่ามือทั้งสองแตะถึงพื้นก่อนหัวเข่า ขณะลงสัจดะฮฺ ฝ่ามือทั้งสองควรวางอยู่ในตำแหน่งที่เสมอกับใบหู (ถ้าเป็นผู้ชาย) ต้องไม่ปล่อยให้ข้อศอกทั้งสองแนบกับพื้น แต่ควรกางออกเหมือนกับปีกที่สยายออกไป และต้องให้หน้าผากและปลายจมูกแนบกับพื้นดิน และการนั่งระหว่างสองสัจดะฮฺ ควรนั่งให้หลังเท้าซ้ายขวาซ้อนอยู่บนฝ่าเท้าข้างซ้าย โดยทิ้งน้ำหนักตัวไปทางข้างซ้าย เพราะซ้ายนั้นคือสัญลักษณ์ของความเท็จ ส่วนขวาคือสัญลักษณ์ของความสัจจริง

การทำสัจดะฮฺนั้น นอกเหนือจากคำอ่านของสัจดะฮฺแล้ว ควรกล่าวเศาะละวาต (สดุดี) ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) และลูกหลานผู้บริสุทธิ์ (อ.) อ่านดุอาอฺ และร้องไห้เนื่องจากความหวาดกลัวต่อการสอบสวนของพระองค์ และเมื่อต้องการลุกขึ้นยืนจากการทำสัจดะฮฺ ให้ทำการตักบีรฺ โดยยกมือทั้งสองขึ้นสูง (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๕๐ – ๙๘๐)

ดินกัรบะลา
มาตรว่า การสัจดะฮฺลงบนดินทุกประเภท หินหรือแม้แต่ไม้ที่สะอาด ถือว่าถูกต้องและเป็นที่อนุญาต แต่ทว่า ดินกัรบาลา นั้นมีความพิเศษกว่าอย่างอื่น ท่านอิมามศอดิก (อ.) ไม่เคยสัจดะฮฺลงบนสิ่งอื่นนอกจากดินกัรบะลา

การสัจดะฮฺบนดินกัรบะลา จะทำให้ม่านบังตา ๗ ชนิดถูกเปิดออก ทำให้นมาซมีความสูงส่งและถูกตอบรับ และยังเป็นการปลดปล่อยนมาซออกจากโลกของวัตถุ อีกทั้งทำให้เขามีความคุ้นเคยกับการญิฮาด (ต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) เลือดและการเป็นชะฮีด (การพลีชีพบนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.)

การสัจดะฮฺ บนดินกัรบะลา หมายถึง การดำรงนมาซโดยมีวิลายะฮฺ
การสัจดะฮฺ บนดินกัรบะลา หมายถึง การดำรงนมาซ โดงมุ่งหวังชะฮาดะฮฺ
การสัจดะฮฺ บนดินกัรบะลา หมายถึง การให้ความสำคัญและความยิ่งใหญ่กับบรรดาชะฮีดในฐานะที่พวกเขาได้เสียสละ เลือดเพื่อการธำรงและปกป้องนมาซ

การสัจดะฮฺบนดินกัรบะลา เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่า ทุก ๆ วัน คือ อาชูรอ และทุกพื้นดิน คือ กัรบะลา
การสัจดะฮฺบนดินกัรบะลา เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับพวกอธรรม โดยยอมเสียสละเลือดเนื้อแต่ไม่ยอมให้อิสลามถูกเหยียดหยาม
เรือกสวนของอิมามฮุซัยนฺ (อ.) คือ สวนสวรรค์ที่ได้ตระเตรียมไว้สำหรับมวลผู้ศรัทธาทั้งหลาย

ดุอาอฺภายใต้ร่มเงาแห่งฮะรัมของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.)จะได้รับการตอบรับโดยเร็ว ส่วนการนมาซ ณ ที่นั้นเป็นที่ยินดี

การสัจดะฮฺชุกูรฺ
การทำสัจดะฮฺมิได้ถูกกำหนดไว้สำหรับนมาซเพียงอย่างเดียว ซึ่งบางกรณี และถือว่าเป็นวาญิบ ที่ผู้ศรัทธาต้องทำสัจดะฮฺ เช่นภายหลังจากอ่านโองการอัล-กุรอานที่มีสัจดะฮฺวาญิบ (มีอยู่ ๔ ที่ในอัล-กุรอาน)

และนอกเหนือจากนั้น ยังมีสัจดะฮฺ ชุกูรฺ (สัจดะฮฺขอบคุณ)ซึ่งได้รับคำแนะนำไว้อย่างมากให้ปฎิบัติ
สัจดะฮฺชุกูรฺ หมายถึง การขอบคุณต่อนิอฺมัตความโปรดปรานที่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งพระองค์ได้ประทานให้กับเราและครอบครัว และคนในสังคม

ท่านอิมามศอดิก (อ.)กล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่เราระลึกถึงนิอฺมัตของอัลลอฮฺ (ซบ.) ให้เอาใบหน้าแนบกับพื้นดินเพื่อทำสัจดะฮฺ ขอบคุณต่อพระเมตตาของพระองค์ แต่ถ้าท่านพบว่ามีผู้คนกำลังมองท่านอยู่ ให้ท่านก้มเพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพเท่านั้นถือว่าเพียงพอ (อัล-วาฟี เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๘๒๕)

ได้มีคนเห็นท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ลงจากหลังอูฐและได้ทำสัจดะฮฺ ๕ ครั้ง พร้อมทั้งกล่าวว่า “ญิบรออีล ได้มาหาฉัน และแจ้งข่าวดีแก่ฉันถึง ๕ ข่าวด้วยกัน ฉันจึงได้ทำสัจดะฮฺ ๕ ครั้ง เพื่อเป็นการขอบคุณ (มะฮัจญะตุ้ลบัยฎอ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๔๖)

ท่านอิมามอะลี (อ.)บางครั้งหมดสติไป สืบเนื่องมาจากท่านได้ทำสัจดะฮฺชุกูรฺ (ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๔๕๙)
ท่านอิมามมะฮฺดี (อ.)ได้กล่าวว่า “ซุนนะฮฺที่สำคัญที่สุด คือ การสัจดะฮฺชุกูรฺ (ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๔๕๓)
การทำสัจดะฮฺชุกูรฺ นั้นสามารถอ่านซิกรฺ และดุอาอฺใดก็ได้ถือว่าอนุญาต แต่เป็นการดีถ้ากล่าวว่า اَلحَمدُلِلّه شُكرًالِلّهหรือ . اَلحَمدُ لِلّه اَللّهُمَّ صَلِّ عَلَى مٌحَمَّد وَآلِ مُحَمدหรือระลึกถึงนิ อฺมัติที่ยิ่งใหญ่แห่งวิลายะฮฺของอหฺลุลบัยตฺ (อ.)(ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๔๖๙)

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตรัสว่า “รางวัลของผู้ที่ทำสัจดะฮฺชุกูรฺ คือ คำขอบคุณจากข้า ฯ (อัล-ฟะกีฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๓๔)
มาตรว่าการทำสัจดะฮฺชุกูรฺ ไม่มีเวลาและสถานที่ ที่เฉพาะเจาะจง แต่ทว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุด คือ หลังจากนมาซทุก ๆ นมาซ โดยให้ปฏิบัติในฐานะของอมั้ลและดุอาอฺหลังนมาซ

บะรอกัตของสัจดะฮฺชุกูรฺ
ริวายะฮฺ จำนวนมากมายกล่าวถึงบะรอกัต และมรรคผลของการทำสัจดะฮฺชุกูรฺ ซึ่งจะขอกล่าวพอสังเขปดังนี้ กรณีที่นมาซของเราไม่สมบูรณ์ และได้ทำนมาซนาฟิละฮฺแล้วแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์อีก ให้ทำสัจดะฮฺชุกูรฺเพื่อเป็นการทดแทน ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ (ซบ.) อยู่ที่การทำสัจดะฮฺชุกูรฺ ระยะห่างระหว่างมนุษย์กับมะลาอิกะฮฺถูกทำให้ลดน้อยลงได้ ด้วยกับการสัจดะฮฺชุกูรฺ ดุอาอฺที่อ่านขณะทำสัจดะฮฺชุกูรฺถูกตอบรับ และมีผลบุญเท่ากับการเศาะละวาต ๑๐ ครั้ง อีกทั้งกุนาฮฺความผิดบาปใหญ่จะได้รับการอภัยถึง ๑๐ ความผิดด้วยกัน

ความประเสริฐของการทำสัจดะฮฺชุกูรฺ ถึงขนาดที่ว่าอัลลอฮฺ (ซบ.)จะสั่งให้มะลาอิกะฮฺจดผลบุญของผู้ที่ทำสัจดะฮฺชุกูรฺทันที
การสัจดะฮฺ ของเหล่ากัลญาณมิตร(เอาลิยาอฺ)
ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “สาเหตุที่ ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้รับตำแหน่ง” เคาะลีลุ้ลลอฮฺ”เพราะท่านได้ทำสัจดะฮฺมาก และสัจดะฮฺบนดิน (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๕ หน้าที่ ๑๖๓)
ในค่ำคืนที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ต้องไปนอนแทนที่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)เพื่อปกป้องชีวิตของท่านศาสดาจากคมดาบของศัตรู ท่านได้ถามท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ว่า ถ้าฉันทำเช่นนี้แล้วชีวิตของศาสดาจะปลอดภัยไหม ? ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ตอบว่าปลอดภัย ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงได้ยิ้มด้วยความดีใจและทำการสัจดะฮฺชุกูรฺ เพื่อขอบคุณต่อเตาฟีกดังกล่าว (อัล วาฟีย์ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๘๘๒)

เมื่อมีผู้นำศีรษะของ อบูญะฮัล ผู้นำของบรรดามุชริกีน มามอบให้กับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ท่านศาสดาได้ทำการสัจดะฮฺชุกูรฺ (ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๕ หน้าที่ ๔๗๕)
ท่านอิมามสัจญาด (อ.) หลังจากนมาซเสร็จทุก ๆ นมาซ ท่านจะทำการขอบคุณด้วยการทำสัจดะฮฺชุกูรฺ และทุกครั้งที่อุปสรรคปัญหาได้หมดไป หรือทำการไกล่เกลี่ยคดีความระหว่างมุสลิมสองคนสำเร็จ ท่านจะทำการสัจดะฮฺชุกูรฺเพื่อเป็นการขอบคุณ และสัจดะฮฺแต่ละครั้งของท่านจะนานประหนึ่งท่านได้จมน้ำตายในทะเลเหงื่อ

สาระสำคัญบางประการ
๑. บริเวณที่ได้ทำสัจดะฮฺนั้นมีคุณค่ามาก ซึ่งริวายะฮฺได้กล่าวว่า หลังจากนมาซเสร็จให้เอามือแตะบริเวณที่ทำสัจดะฮฺ แล้วให้เอามาลูบหน้า ลูบตัว เพื่อให้ท่านปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ และความทุกข์ยากต่าง ๆ (สะฟีนะตุ้ลบิฮาร)

๒. จงอย่าลืมทำสัจดะฮฺชุกูรฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากนมาซมัฆริบ เพราะดุอาอฺในช่วงนั้นจะถูกตอบรับมากที่สุด (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๐๕๘)
ท่านอิมามศอดิก (อ.)กล่าวว่า “ใครก็ตามได้ทำสัจดะฮฺระหว่างอะซานกับการอิกอมะฮฺ และได้อ่านในสัจดะฮฺว่า "ฉันได้ทำสัจดะฮฺต่อพระองค์ด้วยความนอบน้อม หวาดกลัว และด้วยความต่ำต้อย" ดังนั้น อัลลอฮฺ (ซบ.) จะบรรจุความรักของพระองค์ไว้ในหัวใจของผู้ศรัทธา และบรรจุความโกรธกริ้ว ไว้ในหัวใจของมุนาฟิกีน (ผู้กลับกลอก) (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๖๓๓)

๓.การสัจดะฮฺสามารถทำได้เฉพาะต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)เท่านั้น ส่วนคนอื่นแม้แต่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ไม่อนุญาตให้ทำสัจดะฮฺเด็ดขาด (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๘๖)
ขณะที่บรรดามุสลิมในยุคแรกของอิสลาม ได้อพยพไปยังเมืองฮะบะชะฮฺ และบรรดาผู้ปฏิเสธได้ส่งคนกลุ่มหนึ่งไปยังนาญาชีย์ เพื่อเจรจาไม่ให้ต้อนรับมุสลิมที่อพยพไป และให้ขับไล่กลับมา ขณะนั้นตัวแทนของพวกกุเรช ได้ทำการกราบกษัตริย์แห่งฮะบะชะฮฺในสมัยนั้น ตามขนบธรรมเนียมของเผ่าตน แต่ตัวแทนมุสลิมซึ่งมีท่าน ญะอฺฟัร น้องชายของท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นหัวหน้าไม่ได้ทำการกราบกษัตริย์ นาญาชีย์ และกล่าวว่า “เราไม่กราบสิ่งใดหรือบุคคลใดนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.)พระผู้เป็นเจ้าของเรา (มุสนัด อะหฺมัด ฮันบัล เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๖๑)

การสัจดะฮฺของท่านศาสดา ยะอฺกูบ (อ.) และบุตรของท่านต่อหน้าท่านศาสดายูสุฟ (อ.)ถือว่าไม่ได้สัจดะฮฺ ท่านศาสดายูสุฟ (อ.)ทว่าพวกเขาได้สัจดะฮฺต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)เป็นการขอบคุณที่พระองค์ได้ส่งศาสดายูสุฟ (อ.) มา

อัล-กุรอานกล่าวว่า وَخَرُّوا لَهُ سُجَّدًا
“และพวกเขาทั้งหมดก็ทรุดกายลง เพื่อเป็นการคารวะท่านยูสุฟ”(ยูสุฟ / ๑๐๐)




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
๑๑
อรรถาธิบายนมาซ

หมวดที่ ๗ ซิกรฺตัสบีห์
อัลลอฮฺ (ซบ.)ผู้ทรงบริสุทธิ์
ผู้ปฏิบัตินมาซต้องทำการตัสบีห์ (สดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) ในรุกูอฺและสุญูด
ขณะที่โองการ فَسَبِح بِاسمِ رَبِّكَ العَظِيمِ“จงกล่าวสดุดีความบริสุทธิ์ ด้วยพระนามแห่งองค์พระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่” (อัล วากิอะฮฺ /๔๗)ได้ถูกประทานลงมา ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า “พวกท่านจงนำโองการดังกล่าวไปอ่านในรุกูอฺ”ว่า سُبحَانَ رَبِّى العَظِيمِ وَبِحَمدِهِ “ทรงบริสุทธิ์ยิ่งพระผู้อภิบาลของข้าฯ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ข้าฯ ขอสดุดีพระองค์”พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากความบกพร่องทั้งปวง และเมื่อโองการจงสดุดีพระบพิตร์ธิคุณแห่งองค์พระผู้อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง (อัล -อะอฺลา /๑) ได้ถูกประทานลงมา ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า พวกท่านจงนำโองการดังกล่าวไปอ่านในสุญูดسُبحَانَ رَبِّى الأعلَى وَبِحَمدِهِ ทรงบริสุทธิ์ยิ่งพระผู้อภิบาลของข้าฯ ผู้ทรงสูงส่ง ข้าฯ ขอสดุดีแด่พระองค์”

ตำแหน่งของการตัสบีห์
การสดุต่อพระผู้อภิบาล คือ รากฐานอันสำคัญของความเชื่อทั้งหมด และแนวความคิดที่ถูกต้องในอิสลาม
เตาฮีด หมายถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบริสุทธิ์จากการเป็นชีริกฺ (การมีส่วนร่วมและหุ้นส่วน)

อัล-กุรอานกล่าวว่า سُبحَانَ اللّهِ عَمَّا يُشرِكُونَ
“อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบริสุทธิ์ยิ่งจากสิ่งที่พวกเขาได้ตั้งภาคี” (อัตฎูรฺ /๔๓)

اَلعَدل(อัดลฺ)หมายถึง พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากการเอาเปรียบ และการอธรรมทั้งหลาย
อัล-กุรอานกล่าวว่าقَالُواسُبحَانَكَ رَبِّنَا إنَّا كُنَّا ظَلِمينَ
“องค์พระผู้อภิบาลทรงบริสุทธิ์ยิ่ง แท้จริงพวกเรา คือ ผู้ฉ้อฉล”(อัล-กอลัม /๒๙)

นุบูวัต และ อิมามะฮฺ หมายถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบริสุทธิ์จากการไร้เป้าหมาย ความเป็นระเบียบและการทอดทิ้งประชาชนให้อยู่ท่ามกลางความโดดเดี่ยว และท่ามกลางรสนิยมของตนเอง อัล – กุรอานกล่าวว่า

قَالُوا مَااَنزَلَ اللّهُ عَلى بَشَرٍمِن شَيءٍ
“พวกเขาไม่รู้จักอัลลอฮฺ (ซบ.)อย่างแท้จริง เมื่อพวกเขาได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺ (ซบ.)มิได้ประทานแก่มวลมนุษย์แต่อย่างใด” (อัล-อันอาม /๙๑)

พวกเขาเชื่อว่าอัลลอฮฺ (ซบ.)มิได้ประทานศาสดาคนใดลงมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พวกเขามิได้รู้จักอัลลอฮฺ (ซบ.)เลย
มะอาด หมายถึง อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบริสุทธิ์จากการสร้างสรรพสิ่งแบบไร้สาระ ไร้แก่นสารและเป้าหมายซึ่งสุดท้ายแล้ว พระองค์ได้ปล่อยให้โลกนี้ดับสลายไปด้วยตัวของมันเอง อัล-กุรอานกล่าวว่า

رَبَّنَا مَا خَلَقتَ هَذَا بَاطِلاً سُبحَانَكَ فَقِنَا عَذَابَ النَّار
“พระผู้อภิบาลของเรามิได้สร้างสรรพสิ่งเหล่านี้อย่างไร้สาระ มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ (อาลิอิมรอน /๑๙๑)

اَفَحَسِبتُم اَنّمَا خَلَقنَكم عَبَثًا وَ اَنَّكُم اِلَينَا لاَ تُرجَعُونَ
“และพวกเจ้าคิดหรือว่า เราบันดาลพวกเจ้ามาอย่างไร้สาระ และพวกเจ้าคิดหรือว่า พวกเจ้านั้นจะไม่กลับคืนมาสู่ฉันอีก” (อัล-มุอฺมินูน / ๑๑๕)

การตัสบีห์ (สดุดีอัลลอฮฺ)มิได้เป็นแค่จุดกำเนิดหลักการศรัทธาในอิสลามเท่านั้น แต่ทว่า เป็นเสมือนน้ำที่มาหล่อเลี้ยงทำให้จิตวิญญาณมีความสมบูรณ์

“สุบฮานั้ลลอฮฺ”คือแหล่งกำเนิดของความพึงพอพระทัย ถ้าเรายอมรับว่า พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากความบกพร่อง เราจงพอใจต่อการกำหนดของพระองค์ และยอมจำนนต่อพระประสงค์ที่เปี่ยมล้นด้วยวิทยปัญญาและความปรีชาญาณของ พระองค์

“สุบฮานั้ลลอฮฺ”คือ แหล่งที่มาของการมอบหมายไว้วางใจ พระองค์ ทรงปาศจากความต้องการ บริสุทธิ์จากความอ่อนแอ และความไร้ความสามารถทั้งปวง แล้วทำไมเราจึงไม่มอบความไว้วางใจกับพระองค์ ?

อัล-กุรอานกล่าวว่า سُبحَانَهُ هُوَالغَنِيُّ
“พระองค์ทรงบริสุทธิ์ยิ่ง พระองค์ทรงร่ำรวย”(ยูนุส /๖๘)

“สุบฮานั้ลลอฮฺ” คือ แหล่งที่มาของความรักที่มีต่อพระองค์ ซาตของพระองค์ทรงบริสุทธิ์จากความบกพร่องทั้งปวง เป็นที่รักยิ่งของมนุษย์และมวลสรรพสิ่ง

“สุบฮานั้ลลอฮฺ” คือ ปฐมบทของการสรรเสริญและสดุดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้ซึ่งปราศจากความน่ารังเกลียดทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ในตัสบีหาตอัรฺบะอะฮฺจึงกล่าว“สุบฮานั้ลลอฮฺ” ก่อนกล่าว “อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ”

“สุบฮานั้ลลอฮฺ” คือกุญแจที่ช่วยให้รอดพ้นจากการต่อเติมและการเปลี่ยนแปลงไปจากความจริงที่ เกิดขึ้นโดยน้ำมือของมนุษย์
อัล-กุรอานกล่าวว่าفَسُبحَانَ اللّهِ رَبِّ العَرشّ عَمَّا يَصِفُون
“อัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งบัลลังก์ พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากลักษณะที่พวกเขาบรรยาย”(อัล-อัมบิยาอฺ /๒๒)

และอาจเป็นเพราะสาเหตุดังกล่าว อัล-กุรอานจึงกล่าวถึงการตัสบีห์ (สดุดี) มากกว่าการซิกรฺอย่างอื่น ดังปรากฏว่า การตัสบีห์นั้นมี ๑๖ ครั้ง การอิสติฆฺฟารฺ (ขอลุกโทษ) ๘ ครั้ง ซิกรฺถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) ๕ ครั้ง และตักบีรฺ ๒ ครั้ง ซึ่งคำสั่งให้ตัสบีห์นั้นสามารถทำได้ตลอดเวลาโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อมนุษย์จะได้มุ่งมั่นระลึกอัลลอฮฺ (ซบ.)ตลอดเวลา

อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَسَبِّح بِحَمدِ رَبِّكَ قَبلَ طُلُوعٍ اََلشَّمسِ وَقَبلَ غُرُوبِهَا وَمِن ءَانَآءِ اَلَّيلِ فَسَبِّح وَاَطرَ افَ النَهَارِ
“จงสดุดีและสรรเสริญองค์พระผู้อภิบาลของเจ้า ก่อนตะวันขึ้น และก่อนตะวันตกดิน และบางช่วงของกลางคืน และจงสดุดีต่อความบริสุทธิ์ของพระองค์ในตลอดกลางวัน”(ฎัต-ฏอฮา/๑๓๐)

เมื่อเจ้าได้รับชัยชนะจงทำการตัสบีห์ (สดุดี)ต่อพระผู้เป็นเจ้าของท่าน
อัล-กุรอาน กล่าวว่าإِذَاجَآءَ نَصرُاللّهِ وَالفَتحُ وَرَاَيتَ النَّاسَ يَد خُلُونَ فِى دِينِِ اللّهِ اَفوَاجَا فَسَبِّح بِحَمدِرَبِّكَ

“เมื่อความช่วยเหลือแห่งอัลลอฮฺ (ซบ.)และชัยชนะได้ประสพแก่เจ้าแล้ว และเจ้าได้เห็นมวลมนุษย์พากันเข้ามาสู่ศาสนาของอัลลอฮฺ (ซบ.)เป็นกลุ่ม ๆ ดังนั้นเจ้าจงสดุดีและสรรเสริญองค์พระผู้อภิบาลของเจ้า” (อัน-นัศรฺ /๑-๓)

เมื่อเจ้าประสบกับอุปสรรคปัญหาจงทำการตัสบีห์ เพื่อเจ้าจะได้รอดพ้นจากอุปสรรคเหล่านั้น
อัล-กุรอานกล่าวว่า فَلَولاَ أَنَّهُ كَانَ مِنَ المُحسَبِّحِينَ لَلَبِثَ فِى بَطنِهِ أِلَى يَومِ يُبعَثُونَ
“ดังนั้นถ้าเขามิใช่ผู้หนึ่งจากบรรดาผู้ที่ทำการสดุดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) แล้ว แน่นอนเขาคงต้องอยู่ในท้องปลาจนกระทั่งถึงวันฟื้นคืนชีพ” (อัซ-ซอฟฟาต /๑๔๓ – ๑๔๔)

แน่นอนเป็นเพราะความจำกัดที่มากมายมนุษย์ จึงไม่อาจรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้ ดังนั้น เป็นการดีที่สุดที่มนุษย์จะสารภาพในความอ่อนแอของตน และพูดว่า “โอ้ อัลลอฮฺ (ซบ.) องค์พระผู้อภิบาลของข้า ฯ พระองค์ทรงสูงส่งเกินกว่าที่ความคิดและการจินตนาการทั้งหลายจะหยั่งถึง พระองค์ทรงอยู่เหนือคำบรรยายทั้งหลายที่พวกเขาได้สาธยายถึงพระองค์”

อัล-กุรอานกล่าวว่า سُبحَانَهُ وَتَعَلَى عَمّا يَقُولُونَ عُلُوًّاكَبِيرًا
“พระองค์ทรงบริสุทธิ์ยิ่งนัก และทรงสูงส่งกว่าสิ่งที่พวกเขาพูด อันเป็นความสูงส่งที่ยิ่งใหญ่” (อัล-อัสรอ/๔๓)

เพราะปวงบ่าวที่บริสุทธิ์ใจเท่านั้นที่ได้รับการชี้นำและความช่วยเหลือจาก พระองค์ตลอดเวลา และสามารถอธิบายถึงคุณลักษณะของพระองค์ได้

อัล-กุรอานกล่าวว่า

سُبْحَان َاللَّهِ عَمَّايَصِفُونَ إِلَّا عِبَادَاللَّهِ الْمُخْلَصِينَ
“อัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงบริสุทธิ์ยิ่งจากคุณลักษณะที่พวกเขาสาธยาย ยกเว้นปวงบ่าวที่ได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ของพระองค์เท่านั้น(ที่จะสามารถสาธยายได้) (อัซ-ซอฟฟาต /๑๕๙ – ๑๖๐)

ผลรางวัลของการตัสบีห์
ท่านอิมามศอดิก (อ.) ได้เล่าจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)ว่า “คราใดที่บ่าวของพระองค์ได้กล่าวว่า “สุบฮานั้ลลอฮฺ” มวลสรรพสิ่งทั้งหลายภายใต้บัลลังก์ของพระองค์จะกล่าวตามไปด้วย และพระองค์จะจดบันทึกรางวัลให้กับคนกล่าวถึง ๑๐ เท่า และเมื่อเขากล่าวว่า “อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ” อัลลอฮฺ (ซบ.)จะประทานนิอฺมัตและความโปรดปรานทางโลกให้กับเขาอย่างง่ายดายจนกว่าเขาจะได้ พบกับพระองค์ (ซบ.) และได้เข้าสู่ความโปรดปรานแห่งโลกหน้า (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๘๗)

การตัสบีห์ที่เป็นนามธรรม
ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจที่ยากและสำคัญที่สุดที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ตรัสให้บ่วงของพระองค์ปฏิบัติคือ การซิกรฺมาก ๆ (ระลึก) หลังจากนั้นท่านได้กล่าวว่า จุดประสงค์ของฉันในการซิกรฺ มิใช่แต่กล่าวว่า “สุบฮานั้ลลอฮฺ วั้ลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ วะลาอิลาฮะอิลลั้ลลอฮฺ วั้ลลอฮุอักบัรฺ” แม้ว่าการกล่าวตัสบีหาตอัรฺบะอะฮฺ จะเป็นหนึ่งในการซิกรฺเช่นกัน แต่จุดประสงค์ของฉันในการซิกรฺคือ “การระลึกถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) หมายถึง ภารกิจใดที่เป็นการภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) จงปฏิบัติมัน แต่ถ้าภารกิจนั้นมีความผิดบาปเจ้าจงละเว้น” (อัล-กาฟีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๘๐)

การทำตัสบีห์ซ้ำ
ได้มีชายคนหนึ่งเข้าไปในบ้านของท่านอิมามศอดิก (อ.) และเขาได้เห็นอิมามกำลังทำรุกูอฺอยู่ ซึ่งท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตัสบีห์ซ้ำถึง ๖๐ ครั้ง ส่วนสัจญะดะฮฺนั้นท่านได้กล่าวซ้ำถึง ๕๐๐ ครั้งด้วยกัน (อัล-วาฟีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๐๗)

การตัสบีห์ซ้ำนั้นมิได้มีอยู่แค่นมาซเท่านั้น อิบาดะฮฺอื่น เช่น หัจญ์ ก็มีการทำตัสบีห์ซ้ำเช่นกัน อย่างเช่นขณะมองไปที่หิจญะรุ้ลอัสวัด (หินดำ) หรือขณะเดินสะอีย์ (เดินไปมา) ระหว่างเศาะฟา กับ เขามัรวะฮฺ และในช่วงอื่น ๆ ของอิบาดะฮฺ ซึ่งการทำตัสบีห์ซ้ำนี้ได้รับคำแนะนำไว้อย่างมากมาย

นมาซนั้นนอกจากการอ่านซ้ำขณะทำรุกูอฺและสุญูดแล้ว ยังมีการอ่านซ้ำอีกในระกะอัตที่สามกับที่สี่ (อ่านตัสบีหาตอัรบะอะฮฺซ้ำ) ซึ่งริวายะฮฺทั้งชีอะฮฺและซุนนีย์รายงานตรงกันว่าจุดประสงค์ของคำว่า .... ในซูเราะฮฺอัล-กะฮฺฟี /๔๖ “คุณความดีที่เป็นอมตะ”นั้นหมายถึง ตัสบีหาตอัรบะอฮฺนั้นเอง (ตับสีรอัลมีซาน เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๕๔๐)

ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “คำซิกรฺ ของท่านศาสดา อิบรอฮีมในขณะสร้างกะอฺบะฮฺ คือ ตัสบีหาตอัรบะอะฮฺ

سُبحَانَ اللّهِ وَالحَمد لِلّهِ وَلاَ إِلَهَ إِلاّاللّهِ وَاللّهُ اَكبَر
“อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบริสุทธิ์ยิ่ง การสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ (ซบ.) ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ) และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงยิ่งใหญ่ (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๒๐๗)

การกล่าวซิกรฺในวิถีชีวิตผู้คน
ในอดีตกาล จะสังเกตเห็นว่า บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ของเรามักมีคำพูดที่กล่าวติดปากกันเสมอ เมื่อเวลาตกใจ เช่น ถ้ามีเหตุการณ์ที่สร้างความประหลาดใจมักจะพูดว่า “มาชาอัลลอฮฺ” หรือ “สุบฮานั้ลลอฮฺ”เมื่อต้องการเข้าบ้านตัวเองหรือบ้านคนอื่นจะพูดว่า “ยาอัลลอฮฺ” เมื่อต้องการลากันจะพูดว่า “คุดาฮาฟิซ” หรือ “ฟีอะมานิ้ลลาฮฺ” เมื่อต้องการจะลุกขึ้นจะพูดว่า “ยาอะลี” เมื่อต้องการขจัดความเหน็ดเหนื่อยจะพูดว่า “ยาอัลลอฮฺกูวะฮฺ” เมื่อต้องการตอบคำถามสารทุกข์สุกดิบจะพูดว่า “อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ” เมื่อต้องการเชิญแขกให้รับประทานอาหารจะพูดว่า “บิสมิ้ลลาฮฺ” และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ จะขอดุอาอฺให้กับเจ้าของบ้าน และทำการขอบคุณต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)และคำพูดที่คุณย่าหรือคุณยายมักจะสอนหลานเสมอคือ “สึ่งหนึ่งมี สิ่งหนึ่งไม่มี และนอกเหนือจากอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้วไม่มีสิ่งใดมี”

เป็นที่ประจักษ์ว่า การดำรงชีวิตอยู่ในบรรยากาศเช่นนี้ หรือการอบรมสั่งสอนให้อยู่ในครรลองของความปลอดภัย คือการระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่าที่ใดก็ตาม ฉะนั้น ถ้านามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ถูกกล่าวขานอยู่เสมอ แน่นอนชัยฏอนมารร้าย และสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลายจะออกห่างเรา แต่ทว่าน่าเสียดายที่ว่าปัจจุบันสังคมได้แปรเปลี่ยนไป กระแสร์สังคมกับความโง่เขลาได้ครอบงำจิตใจ จนทำให้เราลืมนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ผู้คนส่วนมากมีความนิยมชมชอบกับวัฒนธรรมของตะวันตก และคิดว่า นั่นแหละเป็นวัฒนธรรมของผู้มีการศึกษา วัฒนธรรมของผู้ที่เจริญและพัฒนาแล้ว แต่อิสลามกับคิดตรงกันข้าม อิสลามเสนอทัศนะว่า สังคมใดก็ตามถ้าปราศจากศาสนาและกลิ่นไอของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว จะเป็นสังคมที่เจริญไม่ได้ อันสืบเนื่องมาจากว่า ความเจริญของสังคมมิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุ แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจิตใจที่พัฒนาแล้ว คือจิตใจที่ผ่านการระลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า หลุดพ้นจากสภาพของการเป็นโคนตรม และหลีกหนีความเป็นเดรัจฉาน ที่เป็นหนึ่งในธาตุดั้งเดิมของมนุษย์ โดยพยายามฝึกฝนตนเองให้เจริญไปสู่การเป็นมนุษย์ที่แท้จริง อันเป็นธาตุดั่งเดิมของตัวเองเช่นเดียวกัน ดังนั้น ทางรอดเดียวที่สามารถทำให้มนุษย์รอดพ้นจากความโง่เขลา และตกเป็นทาสของอารมณ์ใฝ่ต่ำที่มีความปรารถนาแบบไม่มีที่สิ้นสุดได้ คือ การไม่หลงลืมนามอันบริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า และการกล่าวระลึกถึงอยู่ตลอดเวลา

การตัสบีห์ (สดุดี) ของมวลสรรพสิ่ง
มวลสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งในฟากฟ้าทั้งเจ็ด แผ่นดิน และที่อยู่ระหว่างมันทั้งสองต่างทำการสดุดีและสรรเสริญในความบริสุทธิ์ของพระองค์
อัล-กุรอานกล่าวว่า

يُسَبِّحُ لِلَّهِ مَافِي السَّمَاوَات ِوَمَا فِي الْأَرْض ِالْمَلِكِ الْقُدُّوس ِالْعَزِيزِالْحَكِيمِ
“สรรพสิ่งทั้งหลายในฟากฟ้าและแผ่นดิน ต่างแซ่ซ้องสดุดีพระบริสุทธิคุณแด่อัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้ทรงสิทธิปกครอง ผู้ทรงบริสุทธิ์ ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงปรีชาญาณเป็นที่สุด (อัล-ญุ่มุอะฮฺ /๑)

สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตต่างสรรเสริญและสดุดีต่อพระองค์
อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَسَخَّرْنَا مَعَ دَاوُودَ الْجِبَالَ يُسَبِّحْنَ وَالطَّيْرَ
“และเราได้อำนวยให้ภูเขาและนกทำการแซ่ซ้องสดุดี พระบริสุทธิคุณพร้อมกับดาวูด” (อัล-อัมบิยาอฺ ๑๗๙)

وَيُسَبِّحُ الرَّعدُ بِحَمدِهِ
“สายฟ้าได้ทำการสรรเสริญและสดุดีแด่พระองค์ (อัร-เราะอฺดุ /๑๓)

สรรพสิ่งเหล่านั้นได้ทำสรรเสริญพระองค์ ด้วยการรับรู้และความรู้สึก และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่มีความเข้าใจ

อัล-กุรอานกล่าวว่า كُلُّ قَد عَلِمَ صَلاَتَهُ وَتَسبِيحَهُ وَاللّهُ عَلِيمُ بِمَا يَفعَلُونَ
“และทั้งหมดรู้ถึงหน้าที่การทำนมัสการและการแซ่ซ้องสดุดีแด่พระองค์ และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเขากระทำ” (อัน-นูร /๔๑)

การตัสบีห์ ของมวลมะลาอิกะฮฺนั้นยิ่งใหญ่ยิ่งนัก ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า “ชั้นฟ้าของอัลลอฮฺ (ซบ.)มิได้แคบเพียงคืบเดียว ยกเว้นมะลาอิกะฮฺได้ทำการนมาซและตัสบีห์พระองค์” หมายถึง การตัสบีห์ของมวลมะลาอิกะฮฺนั้นได้ทำให้ชั้นฟ้าแคบลงทันที (ตับสีร กูรฏุบี เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๕๕๘๑)

ท่านอิมามศอดิก (อ.)กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่ท่านศาสดา ดาวูด (อ) ได้อ่านคัมภีร์? ซะบูรฺ จะไม่แลเห็นภูเขา ก้อนหิน และหมู่มวลวิหคเลย นอกจากสรรพสิ่งเหล่านั้นจะร่วมส่งเสียงไปพร้อมกับท่าน” (ตัฟสีร นูรุษบะเกาะลัยนฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๔๔๔)

ริวายะฮฺได้กล่าวแนะนำว่า เมื่อท่านได้ยินเสียงหมู่มวลปศุสัตว์ จงอย่าขับไล่มัน เพราะมันกำลังทำการสรรเสริญ”(ตัฟสีรนูรุษบะเกาะลัยนฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๖๘)

ได้มีฝูงนกกระจอกบินผ่านท่านอิมามสัจญาด (อ.) ไป ท่านอิมามได้หันไปหาบรรดาสหายของท่านพร้อมทั้งพูดว่า “บรรดาหมู่มวลวิหคจะทำการสรรเสริญและสดุดีพระผู้เป็นเจ้าทุก ๆ เช้า และจะทูลขอสิ่งบำรุงและอาหารจาพระองค์” (ตับสรี อัล-มีซาน เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๐๖)

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “ความตายได้บังเกิดกับบรรดาปศุสัตว์ทั้งหลาย เมื่อพวกมันไม่ทำการตัสบีห์พระองค์” (ตัฟสีร อัล-มีซาน เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๐๓)
อัล-กุรอานยืนยันว่า สรรพสิ่งทั้งหลายทำการสรรเสริญและสดุต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เพียงแต่มนุษย์ไม่เข้าใจในคำสดุดีของมัน

อัล-กุรอานกล่าวว่า وَإِن مِن شَىءٍ إِلاَّ يُسَبِّحُ بِحَمدهِ وَلَكِن لاَّتَفقَهُونَ تَسبِيحَهُم
“ไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ต่างทำการแซ่ซ้องสดุดีและสรรเสริญพระองค์ แต่ทว่าพวกเจ้าไม่เข้าใจการสดุดีของพวกมัน” (บะนีอิสรออีล / ๔๔)

จะสังเกตเห็นว่าพระองค์ตรัสอย่างตรงไปตรงมาว่า “ทว่าพวกเจ้าไม่เข้าใจการสดุดีของพวกมัน” กระนั้น ยังมีมนุษย์ที่ยะโสโอหังบางกลุ่มไม่พร้อมที่จะยอมรับความจริงข้อนี้ พวกเขาไม่กล้าหาญพอที่จะบอกว่า พวกเราไม่เข้าใจ ซึ่งพวกเขาพยายามตีความไปต่าง ๆ นานา และบางคนก็ตีความเหล่านั้นไปในเชิงของวิทยาศาสตร์

อัล-กุรอานมิได้กล่าวกับเราหรือว่า “นกฮุดฮุด รู้ว่าชนเผ่าสะบะฮฺ ทำการเคารพบูชาดวงอาทิตย์ ซึ่งนกฮุดฮูด ได้แจ้งให้ท่านศาสดาสุลัยมาน (อ.) ทราบว่า มีราชินีแห่งเมือง สะบะฮฺ และผู้คนของนางทำการเคารพสักการะดวงอาทิตย์” ซึ่งนกฮุดฮูด อยู่ที่ไหน ? และเมืองสะบะฮฺ อยู่ที่ไหน ? ความสามารถในการแบ่งแยกระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง เจ้าเมืองกับประชาชน การตั้งภาคีกับความเป็นเอกภาพ และอื่น ๆ นกฮุดฮุดทำได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้มิใช่เครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความปรีชาญาณของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเกรียงไกรดอกหรือ ? ที่พระองค์ได้มอบความรู้สึกเหล่านั้นแก่บรรดาสรรพสิ่ง และสรรพสัตว์ทั้งหลาย (เรื่องราวของนกฮุดฮูด ที่รายงานต่อท่านศาสดาสุลัยมาน (อ.) ปรากฏในซูเราะฮฺ อัล-นัมลิ /๒๒ – ๒๗)

อัล-กุรอาน ได้กล่าวกับเราถึงเรื่องราวของมดว่า

حَتّى إِذَااَتَوا عَلَى وَارَدِ النّملِ قَالَت نَملَةٌ يَأيُّهَا النَملُ ادخُلُوا مَسَكِنَكُم لاَ يَحطِمَنَّكُم سُلَيمَانَ وَ جَنُودَهَ وَ هُم لاَ يَشعُرُونَ
“จนกระทั่งพวกมันได้มาถึงยังทุ่งของมด พญามดพูดกับบรรดามดทั้งหลายว่า โอ้ มดทั้งหลาย พวกเจ้าจงเข้าไปในรูที่อยู่ของพวกเจ้าเถิด อย่าให้สุลัยมานและกองทัพของเขาเหยียบย่ำพวกท่าน โดยพวกเขาไม่รู้ตัว” (อัล-นัมลิ /๑๘)

โองการข้างต้นได้บอกกับเราถึงสิ่งต่างๆต่อไปนี้ :
การเคลื่อนไหวของมนุษย์
นามชื่อของพวกเขา (สุลัยมาน)
อาชีพการงาน (ทหาร)
การไม่ใส่ใจของพวกเขาต่อสิ่งที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของพวกเขา
การเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกันของมด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่นำพามนุษย์ไปสู่การครุ่นคิด ตรึกตรอง และการสร้างความเข้าใจต่อสรรพสิ่งถูกสร้างและผู้ทรงสร้างมัน




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
๑๒
อรรถาธิบายนมาซ

หมวดที่ ๘ กุนูต
กุนูต หมายถึง การภักดีด้วยความนอบน้อม ดังที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ตรัสกับท่านหญิงมัรยัมว่า

يَا مَريَمُ اقنِتِى لِرَبِّكَ وَاسجُدِى
“โอ้ มัรยัม จงนอบน้อมต่อพระผู้อภิบาลของเธอ” (อาลิอิมรอน /๔๓)

แต่จุดประสงค์ของคำ กุนูต ในนมาซนั้นหมายถึง ดุอาอฺที่อ่านในระกะอัตที่สองของทุก ๆ นมาซ
ท่านอิมามศอดิก (อ.) ได้อธิบายโองการ

وَتَبَتَّلْ إِلَيْهِ تَبْتِيلًا
“และเจ้าจงผูกขาด (การทำอิบาดะฮฺ) ต่อพระองค์อย่างจริงจังเถิด” (อัล-มุซัมมิล /๘) ว่าจุดประสงค์ของคำว่า หมายถึงจงยกมือขึ้นยามกุนูต” วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๙๑๒) รากศัพท์คำดังกล่าวมาจากคำว่า"ตะบัตตุ้ล"ซึ่งแปลว่าการตัดความหวังจากทุกสิ่งเว้นพระองค์

อัล – กุรอานกล่าวว่า

ادْعُوا رَبَّكُ تَضَرُّعًاوَخُفْيَةً
“พวกเจ้าจงวิงวอนต่อพระผู้อภิบาลของเจ้าอย่างถ่อมตนและปิดบัง” (อัล-อะอฺรอฟ /๕๕)

ซึ่งสัญลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกถึง ความนอบน้อมถ่อมตน เมื่ออยู่ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระองค์คือ การยกมือขึ้นและวิงวอน (ดุอาอฺ) ต่อพระองค์ (มะอานี ศุดูก หน้าที่ ๓๖๙)

แม้ว่า กุนูต ในนมาซจะเป็นมุสตะฮับ แต่ความสำคัญและความประเสริฐของกุนูตมีมาก ถึงขนาดที่ท่านอิมามริฎอ (อ.)ได้เขียนในจดหมายที่ส่งถึง มะอฺมูนว่า “กุนูต คือ ซุนนะฮฺที่เป็นวาญิบของนมาซทุก ๆ นมาซทั้งกลางวันและกลางคืน” (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๘๒ หน้าที่ ๑๙๗)

จุดประสงค์ของท่านอิมาม (อ.) ต้องการจะเน้นถึงความสำคัญของกุนูต ดังนั้นจะสังเกตเห็นว่า ถ้าเราลืมทำกุนูต เป็นมุสตะฮับหลังรุกูอฺแล้วให้ก่อฎอกุนูต (ทำกุนูตใหม่)แต่ถ้านึกขึ้นได้หลังจากสัจญะดะฮฺ เมื่อกล่าวสลามนมาซแล้วให้ก่อฎอกุนูต

มารยาทในการทำกุนูต ให้ยกมือทั้งสองที่แบออกเสมอกับใบหน้า นิ้วและฝ่ามือทั้งสองชิดติดกัน ขณะอ่านดุอาอฺให้สายตาจ้องไปที่ฝ่ามือ และอ่านดุอาอฺด้วยเสียงดังพอประมาณ (ถ้าเป็นนมาซญะมาอะฮฺ) อิมามต้องไม่ได้ยินเสียงอ่านดุอาอฺของเรา
ในการทำกุนูต ไม่มีดุอาอฺที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นผู้ทำนมาซสามารถเลือกดุอาอฺตามที่ตนปรารถนาได้ และไม่จำเป็นต้องอ่านดุอาอฺเป็นภาษาอาหรับ แต่เป็นที่แน่ชัดว่า ดุอาอฺที่ปรากฎในอัล-กุรอาน หรือดุอาอฺที่บรรดาอิมามมะอฺศูม (อ.)ได้อ่านขณะทำกุนูต ย่อมมีความประเสริฐและมีความเป็นพิเศษมากกว่าดุอาอฺที่เราจะคิดขึ้นเอง

การทำกุนูตในนมาซต่าง ๆ
จำนวนกูนูตที่ทำในแต่ละนมาซไม่เท่ากัน เช่น นมาซวาญิบประจำวันทุก ๆ นมาซจะมี ๑ กุนูต และให้ทำก่อนทำรุกูอฺในระกะอัตที่สอง นมาซญุมุอะฮฺ ๒ ระกะอัต มีสองกุนูต ซึ่งระกะอัตที่ ๑ ให้ทำก่อนทะรุกูอฺ ส่วนระกะอัตที่สองทำหลังจากรุกูอฺแล้ว นมาซอีดทั้งสอง (อีดฟิฎรฺ กับ อีดกุรบาน)มี ๙ กุนูต โดยระกะอัตที่หนึ่งให้ทำ ๕ กุนูตติดต่อกัน ก่อนรุกูอฺ ส่วนระกะอัตที่สองให้ทำ ๔ กุนูตติดต่อกันก่อนรุกูอฺเช่นกัน แต่สำหรับกุนูตสำหรับนมาซอีดทั้งสองมีดุอาอฺที่เฉพาะเจาะจง

นมาซอายาต (เป็นวาญิบขณะเกิดภัยธรรมชาติ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา หรือแผ่นดินไหว) มีสองระกะอัต แต่ละระกะอัตมี ๕ รุกูอฺ และเป็นมุสตะฮับก่อนรุกูอฺที่ ๒ – ๔ – ๖ – ๘ -๑๐ ให้ทำกุนูตก่อน แม้ว่ากุนูตเพียงครั้งเดียวก่อนรุกูอฺที่ ๑๐ จะถือว่าเพียงพอก็ตาม

นมาซวิตรฺ ซึ่งมีอยู่ ๑ ระกะอัต นมาซนี้ให้ทำหลังจากนมาซ เศาะลาตุ้ลลัยนฺ ซึ่งมีกุนูตยาวพอสมควร อันเนื่องมาจากว่ามีดุอาอฺกล่าวไว้มากมาย เช่น ให้อ่านดุอาอฺให้กับมุอฺมิน ๔๐ คน ให้อ่าน اَستَغفِرُاللّهِ رَبِّى وَ اَتُوبُ اِلَيهِ ๗๐ ครั้ง ให้อ่าน اِلَهِى اَلعَف ๓๐๐ ครั้งเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การอ่านกุนูตยาวๆในนมาซ เป็นมุสตะฮับ ท่านอบูซัร ได้ถามท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ว่า นมาซอะไรถือว่าดีที่สุด? ท่านกล่าวว่า นมาซที่อ่านกุนูตยาว ๆ และใครอ่านกุนูตยาว ๆ ในนมาซในวันกิยามะฮฺเขาจะถูกสอบสวนอย่างง่ายดาย (บิฮารุ้ลันวาร เล่มี่ท ๘๒ หน้าที่ ๒๐๐)

กุนูตของบรรดามะอฺศูม (อ.)
อิบนุมัสอูด กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ฉันเป็นมุสลิม คือ ฉันได้เห็นท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)ท่านอิมามอะลี (อ.)ท่านหญิงคอดิญะฮฺ (อ.) ทำนมาซโดยอ่านกุนูตยาว ๆ” บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๓๘ หน้าที่ ๒๘๐)

ซิยารัต อาลิยาซีน เราได้กล่าวสลามแก่ท่าน อิมามมะฮฺดี (อ.) ว่า .
“ขอความสันติจงประสบแด่ท่านขณะดำรงนมาซและอ่านกุนูต”

บรรดาอิมามมะอฺศูม (อ.) ทุกท่านจะอ่านดุอาอฺในกุนูตยาว ๆ ซึ่งดุอาอฺแต่ละบทที่ท่านเหล่านั้นได้พรรณาออกมาล้วนแต่เปี่ยมล้นไปด้วยความ หมาย และแสดงออกถึงแบบอย่างอันดีงามของชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหนังสือดอาอฺต่าง ๆ แต่น่าเสียดายที่ว่าดุอาอฺเหล่านั้นได้ถูกถอดถอนไปจากพี่น้องซุนนะฮฺ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาต่างก็ยอมรับว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) คือ เคาะลิฟะฮฺที่สี่สำหรับพวกเขา แต่ไม่ยอมปฎิบัติตามแบบอย่างอันดีงามของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดุอาอฺที่อิมามได้รำพันเอาไว้

ขณะกุนูตนั้นไม่ควรคิดถึงแต่ความต้องการของตนเองเป็นหลัก แต่ควรขอดุอาอฺให้กับพี่น้องมุสลิมคนอื่น ๆ ด้วย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.)ได้สอนว่า “ควรคิดถึงเพื่อนบ้านก่อนคนในบ้าน” เพราะอัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงสัญญาไว้ว่า ใครก็ตามที่ขอดุอาอฺให้กับคนอื่น อัลลอฮฺ (ซบ.)จะสนองฮาญะฮฺ (ความต้องการ)ของเขาด้วยเช่นกัน

กุนูต ควรขอดุอาอฺให้อัลลอฮฺ (ซบ.) ทำลายศัตรูของอิสลามและมุสลิมีน และขอให้พระองค์โปรดประทานชัยชนะให้กับอิสลามตลอดกาล
ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ขณะทำกุนูตท่านได้ทำการสาปแช่งคนบางกลุ่ม โดยท่านได้เอ่ยนามและคุณลักษณะของคนกลุ่มนั้น ท่านอิมามอะลี(อ.ก็เคยทำการสาปแช่งมุอาวิยะฮฺ และ อุมัรบินอาศ ในกุนูตขณะทำนมาซ (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๘๒ หน้าที่ ๒๐๑)

อย่างไรก็ตาม การตะวัลลาและตะบัรฺรอ (รักในผู้ที่รักต่อหมู่มวลมิตรของอัลลอฮฺ (ซบ.)และเกลียดชังต่อผู้ที่เกลียดชังหมู่มวลมิตรของอัลลอฮฺ (ซบ.)ถือว่าเป็นฐานรากที่สำคัญของศาสนา หะดีษกล่าวว่า
“ศาสนานั้นไม่มีสิ่งใดนอกจากความรักและความโกรธ” (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๖๘ หน้าที่ ๖๓)

หมวดที่ ๙ การตะชะฮุดและสลาม
การตะชะฮุด
หนึ่งในวาญิบของนมาซ คือ ตะชะฮุด ซึ่งจะทำหลังจากระกะอัตที่สอง และระกะอัตสุดท้ายของทุก ๆนมาซ ตะชะฮุดนั้นเป็นการยืนยันถึงความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า การเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) และแม้ว่า เราจะกล่าวถึงตะชะฮุดหลายครั้งแล้ว ขณะอะซาน และ อิกอมะฮฺ แต่นั้นเป็นสัญญาณของการเข้าสู่นมาซ ส่วนตะชะฮุดตรงนี้ คือสัญญาณของการออกจากนมาซ

การกล่าวซ้ำบางประโยคและบางตอนของนมาซ ถือว่าเป็นปรัชญาอย่างหนึ่ง เพราะว่ามนุษย์นั้นเป็นผู้ลืมง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลืมผู้ประทานนิอฺมัต และความโปรดปรานให้กับเขา ซึ่งประโยคเหล่านี้ถือว่าเป็นสายโซ่ที่คอยเหนี่ยวรั้งนาวาแห่งมนุษย์ให้รอดพ้นจากคลื่นทะเลที่บ้าคลั่งแห่งความหลงลืม

สัญลักษณของเตาฮีด
لاَاِلَهَ اِلاَّاللهคือ เครื่องหมายแรกของบรรดาศาสดา (ศ็อล ฯ)
لاَاِلَهَ اِلاَّ اللهคือ คำสัญญาที่เหล่าบรรดากัลยาณชน และมวลมลาอิกะฮฺได้สารภาพ ณ อาลัมซัรฺ (โลกแห่งสสาร)
อัล-กุรอานกล่าวว่าشَهِدَ اللّهُ اَنَّهُ لاَ اِلَهَ اِلاَّ هُوَ
“อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงยืนยันว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ มลาอิกะฮฺ และผู้ทรงความรู้ก็ยืนยันเช่นนั้น (อาลิอิมรอน /๑๘)

لاَاِلَه اِلاَّ اللّهคือ คำพูดที่มุสลิมทุกคนต้องฟังขณะที่เขาได้คลอดออกมา และเขาจะได้ฟังอีกเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาที่เขาตาย และมีผู้คนแห่เอาศพของเขาไปฝัง (ตัลกีน)
لاَالَهَ اِلاٍّ اللّهคือ ประโยคคำพูดที่สวยงามที่สุด ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) และเป็นอมั้ลที่หนักที่สุดบนตราชั่ง (บิฮารุ้นอันวารฺ เล่มที่ ๙๓)

لاَاِلَهَ اِلاِّ اللهคือ ป้อมปราการที่แข็งแรงและปลอดภัยของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งถ้าใครได้เข้ามาสู่ เขาจะปลอดภัยจากการลงโทษของพระองค์ หะดีษกล่าวว่า “คำพูดที่ว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ถือเป็นป้อมปราการที่ปลอดภัยของฉัน ดังนั้น ใครที่เข้ามาสู่ป้อมปราการของฉัน เขาจะปลอดภัยจากการลงโทษของฉัน”(บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๓)

لاَاِلَه اِلاَّ اللهคือ พรมแดนที่กั้นระหว่างอิสลามกับผู้ปฏิเสธ ฉะนั้น ผู้ปฏิเสธคนใดถ้ากล่าวประโยคดังกล่าว ถือว่าจะได้รับความปลอดภัยในแผ่นดินอิสลาม ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้รับคำร้องเรียนว่า มีทหารฝ่ายศัตรูได้พูดว่า แต่ทหารฝ่ายมุสลิมมิได้สนใจ และได้สังหารเขา ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) จึงได้กล่าวว่า “ใครก็ตามกล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ เขาจะได้รับความปลอดภัย แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่า เขากล่าวด้วยความจริงใจหรือไม่ก็ตาม”

ซึ่งหะดีษข้างต้นได้ระบุถึงอัล – กุรอานโองการที่ว่า

وَلَاتَقُولُوالِمَن ْأَلْقَى إِلَيْكُمْ السَّلَامَ لَسْت َمُؤْمِنًا
“อย่าได้กล่าวกับผู้กล่าว สลาม ต่อพวกเจ้าว่า พวกเจ้ามิใช่ผู้ศรัทธา”(อัน-นิสาอฺ /๙๔)

لاَاِلَهَ اِلاَّ اللهคือ คำเบิกทางของมุสลิมขณะที่เขาจะเดินข้ามศิรอต (ทาง) ในวันกิยามะฮฺ (ญามิอุ้ลอะหาดีษ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๘๘)

ในประวัติศาสตร์ ได้จารึกไว้ว่า “เมื่อ อบูญะฮัล ได้พูดกับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ว่า ท่านจะให้พวกเราละทิ้งเทวรูป ๓๖๐ รูป แล้วมานับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียวกระนั้นหรือ ? เราพร้อมที่จะกล่าวประโยค ๑๐ ประโยค แต่ไม่พร้อมที่จะกล่าวว่า “ اَشَهُد اَن لاَاِلَهَ اِلاّ الله وَحدَهُ لاَ شُرِيكَ لَهُ“ ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “ประโยคนี้เพียงประโยคเดียว จะทำให้ท่านมีเกียรติยศ มีอำนาจ และเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด”

บรรดาศาสดาทั้งหลาย ถ้าไม่ยอมรับการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) พวกเขาจะไม่ถึงยังตำแหน่งนุบุวัต
อัล-กุรอาน กล่าวว่า

وَإِذْ أَخَذَاللَّهُ مِيثَاقَ النَّبِيِّين َلَمَا آتَيْتُكُمْ مِنْ كِتَاب ٍوَحِكْمَة ٍثُمَّ جَاءَكُمْ رَسُولٌ مُصَدِّقٌ لِمَا مَعَكُمْ لَتُؤْمِنُنَّ بِهِ وَلَتَنْصُرُنَّه ُقَال َأَأَقْرَرْتُم ْوَأَخَذْتُمْ عَلَىذَلِكُمْ إِصْرِي قَالُوا أَقْرَرْنَا قَالَ فَاشْهَدُوا

“อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้สัญญาด้วยวาจากับบรรดาศาสดาว่า หากข้า ฯ ได้ประทานคัมภีร์ และวิทยปัญญาให้กับพวกเจ้าแล้ว หลังจากนั้นจะมีศาสดาคนหนึ่งมายังพวกเจ้า ซึ่งจะเป็นผู้ยืนยันความถูกต้อง ของสิ่งที่อยู่กับพวกเจ้า ขอสาบานว่าพวกเจ้าจะต้องเชื่อตามนั้น และช่วยเหลือเขา และพระองค์ตรัสว่า พวกเจ้าจะยืนยันตามนั้นและทำสัญญากับข้าตามนั้นไหม ? พวกเขาตอบว่า พวกเราขอยืนยันตามนั้น พระองค์ตรัสว่า พวกเจ้าจงเป็นพยานด้วย”(อาลิอิมรอน /๘๑)

ดังนั้น มิใช่เพียงเฉพาะพวกเราเท่านั้น ที่กล่าวว่า اَشهَدُ اَن لاَ اَلَهَ اِلاَّ الله وَحدهُ لاَ شَرِيكَ لَهُ```
ทว่าบรรดาศาสดาทั้งหลายก่อนหน้านี้ก็กล่าวยืนยันแล้วทั้งสิ้น

เตาฮีดอันบริสุทธิ
ทุกวันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ที่นมัสการต่อพระเจ้าทั่วไปก็คือ แม้ลิ้นของเขาเอ่ยคำว่า“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์”แต่ในทางปฏิบัติเขากลับถวิลหาผู้อื่นที่นอกเหนือจากพระองค์ เขาแสวงหาพลังอำนาจและเกียรติยศจากแหล่งกำเนิดอื่นๆ ภักดีและมีความผูกพันกับผู้อื่นที่มิใช่พระองค์

ในความเป็นจริง การทำชิริก (ตั้งภาคี)ถือเป็นการอธรรมที่ยิ่งใหญ่กับตนเอง และเป็นการเสียมารยาทอย่างรุนแรงกับพระองค์
อัล-กุรอาน กล่าวว่า

لَاتُشْرِكْ بِاللَّهِ إِن َّالشِّرْكَ لَظُلْم ٌعَظِيمٌ
“แท้จริงการตั้งภาคีเป็นอธรรมที่ใหญ่หลวงยิ่งนัก”(ลุกมาน /๑๓)

ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากว่า การเชื่อว่าพระองค์มีภาคี(ในการอภิบาลสากลจักรวาล)ย่อมแสดงถึงความอ่อนแอ และไร้ความสามารถในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ และเป็นการสื่อนัยยะว่าพระองค์ทรงมีผู้เทียบเคียงบารมี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายใด ๆ ณ พระองค์

ดั้งนั้น การกล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.)” จึงเป็นการปฏิเสธอำนาจจอมปลอมทั้งหลายที่มีอยู่ การไม่ยื่นมือขอความช่วยเหลือจากผู้ใดนอกจากพระองค์ และการไม่เกรงกลัวต่ออำนาจใครอื่นนอกจากพระองค์

ถ้าสังเกตดุอาอฺ อารอฟะฮฺ ของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) คุฎบะฮฺของท่านอิมามสัจญาด (อ.)ในเมืองชาม จะทำให้เราพบความจริงมากยิ่งขึ้น และทำให้เรากระจ่างว่า บรรดาเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ (ซบ.)(มวลมิตรของพระองค์)นั้นจะยืนยันถึงการมีอยู่ของอัลลอฮฺ (ซบ.)ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของพวกเขา

การตะชะฮุด ที่กล่าวว่านั้น หมายถึง “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ (พระองค์ทรงเป็นเอกะ) ไม่มีสิ่งใดร่วมปนกับพระองค์”ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง การบริหาร และการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ
อัล-กุรอานกล่าวว่า

ولم يکن له شريک فی الملک
“และไม่มีหุ้นส่วนใดในอำนาจปกครอง”(บะนีอิสรออีล / ๑๑๑)

การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)ถือว่าเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ สำหรับหมู่มวลมิตรของพระองค์ หะดีษกล่าวว่า “เพียงพอแล้วสำหรับข้า ฯ และเป็นเกียรติยศอันสูงส่งสำหรับข้าฯต่อการที่ข้า ฯ ได้เคารพภักดีต่อพระองค์"(บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๗๗ หน้าที่ ๔๐๒)

บ่าวของอัลลออฺ (ซบ.) นั้นเท่าเทียมกันกับความเป็นอิสระของมนุษย์ จากเงื่อนไขทั้งหมด จากการพึ่งพิง และการมีจิตใจโน้มเอียงไปยังสิ่งอื่น ดังนั้น อัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงมอบอำนาจให้กับมนุษย์ผู้เป็นบ่าวของพระองค์ โดยที่เขาจะรู้สึกว่าไม่เกรงกลัวอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น ดังเช่นเรื่องราวของท่านหญิง อาซียะฮฺ ภรรยาของฟิรเอานฺ ผู้ยะโส เธอคือผู้ศรัทธาคนหนึ่ง ที่มีศรัทธามั่นคงต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ทั้งที่ฟิรเอานฺ นั้นเป็นกษัตริย์ที่มีความโหดเหี้ยม แต่เธอหาได้มีความหวาดกลัวหรือหวั่นวิตกไม่ ไม่ว่าฟิรเอานฺ จะทำอย่างไร แต่เธอก็ยังคงเป็นบ่าวที่ดี ที่เชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) อย่างไม่เปลี่ยนแปลง และในที่สุดเธอได้กลายเป็นแบบอย่างที่ดีงามสำหรับมุสลิมทั่วทั้งโลก

อัล-กุรอานกล่าวว่า

ضرب الله مثلا للذين امنوا امرات فرعون
“และอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ยกอุทาหรณ์แก่มวลผู้ศรัทธาได้แก่ภรรยาของฟิรเอานฺ” (อัต-ตะฮฺรีม /๑๑)

การยืนยันการเป็นศาสดา
اَشهَدُ اَنَّ مُحَمَّدًا عَبدَهُ وَرَسُولَهُ
“ขอยืนยันว่า มุฮัมมัด คือบ่าวของพระองค์ และเป็นศาสนฑูตของพระองค์”

การเป็นบ่าว คือ ตำแหน่งที่สูงส่งที่สุดของการเป็นศาสดา ทว่า คือปฐมบทของการเป็นศาสนฑูตและนุบุวัต "عَبدَهُ وَرَسُولَهُ"

อย่างไรก็ตามการยืนยันถึงความเป็นบ่าวของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)นั้นมาก่อนการยืนยันว่าท่านเป็นศาสดา (ศ็อล ฯ)เรากล่าวว่า اَشهَدُ اَنَّ مُحَمَّدًاعَبدَهُซึ่ง ถือว่าเป็นบทเรียนและเป็นสาส์นอันยิ่งใหญ่สำหรับเราว่า บั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิต สิ่งที่จีรังสำหรับเราคือ ความเป็นบ่าวที่แท้จริง
การยืนยันการเป็นศาสดานั้นหมายถึง การปฏิเสธแนวคิดจอมปลอมของมนุษย์ และเป็นการยอมรับการเป็นศาสดาท่านสุดท้ายของท่าน ยอมรับวันแห่งการฟื้นคืนชีพ และเป็นการปฏิเสธอำนาจทั้งหลายของฏอฆูตผู้อธรรม

การยืนยันการเป็นศาสดาของท่าน มุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) คือข้อสัญญาที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ทำไว้
ความเป็นบ่าวนั้นเองที่นำพาท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ให้เสด็จมิอฺรอจญ์
อัล-กุรอานกล่าวว่า

سبحان الذی أسری بعبده
“ทรงบริสุทธิ์ยิ่งอัลลอฮฺ (ซบ.) ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์ให้เดินทาง”(บะนีอิสรออีล /๑)

วะหฺยู ของพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกประทานลงมาที่ท่าน
نَزَّلْنَاعَلَىعَبْدِنَا
“เราได้ประทานลงมายังบ่าวของเรา” (อัล-บะกอเราะฮฺ / ๒๓)

อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้เทิดเกียรติบรรดาศาสดาของพระองค์ พระองค์ได้ตรัสเกี่ยวกับศาสดานูหฺ (อ.) ว่า

انّه کان عبدا شکورا
“แท้จริงเขาเป็นบ่าวผู้กตัญญู” (อัล-อัสรอ /๓)

พระองค์กล่าวชมเชยท่านว่า
نعم العبد
"เขาช่างเป็นบ่าวที่ดี"

หนึ่งในความแตกต่างระหว่างบรรดาศาสดากับบุคคลอัจฉริยะและนักประดิษฐ์นวัตกรรมล้ำสมัยก็คือ ความเฉียบแหลมทางสติปัญญาของบุคคลอัจฉริยะและนักประดิษฐ์เกิดจากไหวพริบส่วนบุคคลบวกการฝึกฝนทุ่มเท ส่วนความมหัศจรรย์ของบรรดาศาสดา (อ.) ได้มาจากความเป็นบ่าวผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)และความการุณย์ของพระองค์ ซึ่งความเป็นบ่าวนั้น คือ แหล่งกำเนิดของตำแหน่งต่างๆ ของบรรดาศาสดา

การสารภาพและยอมรับการเป็นบ่าวของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ทำให้เรารอดพ้นจากความสุดโต่งในตำแหน่งของบรรดาเอาลิยาอฺ (มวลมิตร) ความเชื่อที่เฉไฉและความเลยเถิด และทำให้เรารู้ว่า ความสูงส่งของท่านศาสดาได้มาจากความเป็นบ่าวที่ดีของท่านนั้นเอง

แน่นอนคำยืนยันการเป็นศาสดานั้น ต้องออกมาจากจิตใจบนพื้นฐานของความศรัทธาที่แท้จริง เพราะบรรดามุนาฟิกีน (ผู้กลับกลอก) ที่อยู่กับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ล้วนเคยกล่าวยืนยันการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) มาแล้วทั้งสิ้น

อัล-กุรอานกล่าวว่า

إذا جاءَک المنافقون قالوا نشهد إنک لرسول الله و الله يعلم إنک لرسوله و الله يشهد إن المنافقين لکاذبون
“เมื่อผู้กลับกลอกได้มาหาเจ้า และพูดว่า พวกเราขอยืนยันว่า แท้จริงท่านเป็นศาสนฑูตของอัลลอฮฺ (ซบ.) อัลลอฮฺ ย่อมรู้ดีกว่าว่าท่านเป็นศาสนฑูตของพระองค์ และอัลลอฮฺ (ซบ.)ทรงเป็นสักขีพยานว่า แท้จริงพวกกลับกลอกนั้นมุสายิ่งนัก”(อัล-มุนาฟิกูน /๑)




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์
๑๓
อรรถาธิบายนมาซ

เศาะละวาต
اَللهُمَّ صَلِّ عَلَى مُحَمَّدٍ وَآ لِ مُحَمَّد
"โอ้ ข้า ฯ แต่พระองค์ขอความสดุดีพึ่งมีแด่ท่านมุฮัมมัดและลูกหลานของมุฮัมมัด”
หลังจากได้กล่าวยืนยันความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า การเป็นศาสดา เราจึงกล่าวสรรเสริญท่านศาสดา และลูกหลาน

เศาะละวาต คือเครื่องหมายที่บ่งชี้ถึงความรัก มารยาทและความซื่อสัตย์ที่มีต่อครอบครัวของท่าน ซึ่งสิ่งนี้คือรางวัลของการประกาศสาส์น
เศาะละวาต คือเครื่องขัดเกลาจิตวิญญาณให้ปราศจากคราบสนิมที่เกรอะกรัง อัล-กุรอานกล่าวว่า

قل لا أسئلکم عليه اجرا إلا الموده فی القربی
“จงประกาศเถิดว่า ฉันมิขอรางวัลใด ๆ (ต่อการประกาศสาส์น) ยกเว้นความรักที่มีลูกหลานของฉัน” (อัซ-ซูรอ /๒๓)

หะดีษกล่าวว่า “การเศาะละวาต คือ พลังที่จะมาเสริมสร้างจิตวิญญาณให้มีความเข้มแข็ง” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๒๑๖)

“การเศาะละวาต เป็นการทำลายความฝ่าฝืน (ฟาซิก) ไปจากตัวเรา” (อัล-กาฟีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๙๒)
“การเศาะละวาต เป็นพลังสำคัญที่ลบล้างความผิด” (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๙๔ หน้าที่ ๕๔)
“การเศาะละวาต เป็นเครื่องมือที่ใช้เปิดประตูสรวงสวรรค์” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๒๒๐)
“การเศาะละวาต คือ สาเหตุที่ทำให้มวลมะลาอิกะฮฺ ทำการลุกโทษและขอดุอาอฺให้กับมนุษย์” (มิรฺอาตุ้ลอุกูล เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๑๐๙)
“การเศาะละวาต คือ สิ่งที่ทำให้เราใกล้ชิดกับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ในวันกิยามะฮฺ และทำให้เราได้รับชาฟาอะฮฺ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๙๔ หน้าที่ ๖๓)
“บั้นปลายชีวิตของเราจะดีก็ต่อเมื่อคำพูดสุดท้ายของเราบนโลกคือ เศาะละวาต” (วะซาอิ้ลุชชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๒๑๖)
อัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นผู้กล่าวเศาะละวาตให้กับท่านศาสดาและลูกหลานก่อนใครทั้งหมด หลังจากนั้นจึงได้มีบัญชาให้มนุษย์เศาะละวาต
อัล-กุรอาน กล่าวว่า

ان الله و ملائکته يصلون علی النبی يا ايها الذين آمنوا صلوا عليه و سلموا تسليما
“แท้จริงอัลลอฮฺ (ซบ.) และมวลมะลาอิกะฮฺ ของพระองค์ทำการประสาทพรแก่ท่านศาสดา โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงประสาทพรแก่พวกเขา และจงแสดงความเคารพต่อพวกเขาอย่างแท้จริง (อัล-อะหฺซาบ / ๕๖)

ประเด็นสำคัญของการเศาะละวาต จากโองการข้างต้น
๑. เศาะละวาต คือ การแสดงความเคารพด้วยวจีกรรม และสำคัญไปกว่านั้น คือ การภักดีด้วยการกระทำดังประโยคที่กล่าวว่า “จงแสดงความเคารพต่อพวกเขาอย่างแท้จริง”

๒. การเศาะละวาต ของอัลลอฮฺ (ซบ.) และมะลาอิกะฮฺ นั้น ยังดำเนินอยู่ตลอดเวลา เพราะพระองค์ใช้คำว่า يُصَلُّونَ บ่งบอกถึงการกระทำที่ยังดำเนินอยู่ตลอดเวลา
๓. การเศาะละวาตของอัลลอฮฺ (ซบ.) คือ เกียรติยศ การเศาะละวาตของมะลาอิกะฮฺ คือ เมตตา และส่วนการเศาะละวาตของประชาชน คือ ดุอาอฺ
๔. ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺ (ซบ.)ได้ตรัสกับท่านศาสดา มูซา (อ.) แต่ได้ประสาทพร (เศาะละวาต) แก่ท่านมุฮัมมัด และลูกหลาน ดังที่ตรัสว่า ข้า ฯ และมะลาอิกะฮฺของข้า ฯ ขอประสาทพรแก่มุฮัมมัดและลูกหลาน”

๕. ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)กล่าวว่า “การระลึกถึงอัลลอฮฺ (ซบ.) และตัวฉัน เป็นอิบาดะฮฺ ในทำนองเดียวกัน การระลึกถึงตัวแทนของฉัน อะลี บิน อบีฎอลิบ ก็เป็นอิบาดะฮฺด้วยเช่นกัน (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๙๔ หน้าที่ ๖๙)
๖. ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “เพื่อให้ดุอาอฺของท่านถูกตอบรับ ฉะนั้น ก่อนดุอาอฺให้ท่านกล่าวเศาะละวาตก่อน” (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๙๔ หน้าที่ ๖๙)

การกล่าวเศาะละวาตนั้น มิใช่กล่าวเฉพาะเวลาที่ได้ยินนามของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)แม้แต่ขณะที่เขียนนามของท่าน ให้เศาะละวาตด้วยเช่นกัน ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “ใครก็ตามที่เศาะละวาตให้กับฉัน ขณะที่เขาเขียนชื่อของฉัน ตราบเท่าที่หนังสือนั้นยังคงมีอยู่ มะลาอิกะฮฺจะกล่าวขออภัยโทษให้กับเขา” (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๙๔ หน้าที่ ๗๑)

จะเศาะละวาตอย่างไร?
ตำราของอะหฺลุซซุนนะฮฺ ได้บันทึกไว้ว่า “ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า เมื่อท่านต้องการเศาะละวาต ให้กับฉันจงเอ่ยนามของลูกหลานของฉันด้วย (อาลิมุฮัมมัด) เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เศาะละวาตของท่านจะไม่สมบูรณ์ (คัดลอกมาจาก ตับสีรเนมูเนะฮฺ เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๔๒๐)

ตับสีร อัด-ดุรรุ้ลมันษูร เศาะฮีย์บุคคอรี เศาะฮีย์มุสลิม ติรมิซี นะซาอีย์ อบีดาวุด และอิบนิมาญะฮฺ ตำราเหล่านี้ถือว่าเป็นตำราที่ดีที่สุด และมีความสำคัญอย่ายิ่งของอะหฺลุซซุนนะฮฺ ได้บันทึกไว้ว่า “มีชายคนหนึ่งพูดกับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)ว่า “พวกเรารู้ว่าจะกล่าวสลามกับท่านแบบไหน แต่ไม่รู้ว่าควรจะกล่าวเศาะละวาตให้กับท่านอย่างไร ? ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า จงเศาะละวาตเช่นนี้ซิ

اَللهُمَّ صَلِّ عَلَى مُحَمَّدٍ وَآ لِ مُحَمَّدکما صليت علی ابراهيم و آل ابراهيم انک حميد مجيد
“โอ้ ข้า ฯ แต่พระองค์ ขอความสดุดีจงมีแด่ท่านศาสดามุฮัมมัด และลูกหลานของมุฮัมมัด ดุจดังเช่น พระองค์ได้ประสาทพรสดุดีแด่ท่าน ศาสดาอิบรอฮีมและลูกหลานของอิบรอฮีมมาแล้ว แท้จริงพระองค์ คือผู้ได้รับการสรรเสริญอย่างมากมาย” (คัดลอกมาจากตัฟสีรฺ อัล-มีซาน เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๓๖๕ เศาะฮีย์บุคคอรี เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๑๕๑ )

อิมามชาฟีอีย์ แห่งมัซฮับชาฟีอีย์ ได้พรรณากลอนไว้ว่า
يا اهل بيت رسول الله حبّکم فرض من الله فی القرآن انزله

کفاکم من عظيم القدر انکم لم يصل عليکم فلا صلوة له

“โอ้ อะหฺลุลบัยตฺของท่านศาสดา (ลูกหลาน) ความรักที่มีต่อพวกท่านเป็นข้อบังคับจากอัลลอฮฺ (ซบ.)ที่ได้รับการบันทึกในอัล-กุรอาน มันเพียงพอแล้วสำหรับการยกย่องเกียรติคุณอันสูงส่งของพวกท่าน ที่ว่าใครก็ตามไม่เศาะละวาตท่านในนมาซ ถือว่านมาซของเขาบาฏิล” (เสีย)

แน่นอนการระลึกถึงลูกหลานของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) ในนมาซทุก ๆ นมาซนั้นเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ว่า ภายหลักจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)มุสลิมทั้งหลายต้องเข้าหาอหฺลุลบัยตฺ (อ.) มิใช่บุคคลอื่น มิใช่เช่นนั้นแล้วจะมีการเอ่ยนามของท่านเหล่านั้นอย่างสม่ำเสนอในนมาซเพื่อ อะไร ?

ได้มีคน ๆ หนึ่ง ขณะเดินเวียนรอบกะอฺบะฮฺอยู่นั้น เขาได้แนบร่างกายชิดกับกะอฺบะฮฺ และได้เศาะละวาต แต่ไม่ได้เอ่ยนามของอาลิมุฮัมมัด (ลูกหลาน) ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “ นี้ถือว่าเป็นการอธรรมต่อพวกเรา” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๒๑๙)

ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ไม่ยอมกล่าวเศาะละวาตแก่ลูกหลานของฉัน ในวันกิยามะฮฺเขาจะไม่ได้รับกลิ่นอายของสวรรค์”(วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๒๑๙ )

ทำนองเดียวกัน “การประชุมใดที่มิได้มีการระลึกถึงนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) นามของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) และลูกหลาน จะเป็นสาเหตุทำให้ชีวิตของเขาต้องพบกับความยากลำบากในวันกิยามะฮฺ” (อัล-กาฟีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๙๗)

ริวายะฮฺ กล่าวว่า “เมื่อใดที่ได้เอ่ยนามของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)และบรรดาศาสดาท่านอื่น ๆ ให้กล่าวเศาะละวาต ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)และลูกหลานก่อน หลังจากนั้นจึงกล่าวสรรเสริญบรรดาศาสดาท่านอื่น ๆ” (บิฮารุ้ลอันวารฺ เล่มที่ ๙๔ หน้าที่ ๔๘)
ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “คนที่ตระหนี่ถี่เหนียวที่แท้จริง คือผู้ที่ได้ยินนามของเราแล้ว แต่ไม่ยอมกล่าวเศาะละวาต ซึ่งถือว่าเป็นผู้อกตัญญูที่สุด และเป็นผู้ปราศจากความซื่อสัตย์”(วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๑๒๒๐)

สลาม
اَلسَلامُ عَلَينَاوَعَلى عِبَادِاللهِ الصَا لحِين
หลังจากได้กล่าวเศาะละวาตแล้ว ให้ทำสลาม ๓ ครั้ง จึงจะถือว่านมาซเสร็จสมบูรณ์ สลามครั้งแรก เป็นการขอความสันติให้กับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ครั้งที่สอง ให้กับหมู่มวลมิตรของพระองค์ และครั้งที่สามให้กับมุอฺมิน

อัล-กุรอานกล่าวว่า

{يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا صَلُّوا عَلَيْهِ وَسَلِّمُوا تَسْلِيمًا}
โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงประสาทพรแก่พวกเขา และจงแสดงความเคารพต่อพวกเขาอย่างแท้จริง”.(๑).

จะสังเกตเห็นว่า โองการนั้นเมื่อสั่งให้เศาะละวาตแล้ว ต่อมาจะสั่งให้สลาม แก่ท่านศาสดาทันที ดังนั้น ในนมาซก็เช่นเดียวกัน เมื่อนมาซแล้วจะต้องให้สลามศาสดาทันทีว่า

اَلسَلامُ عَلَيكَ اَيُّهَا انَّبِى وَرَحْمَةٌ اللهِ وَبَرَكَاتُهُ
ด้วยกับการกล่าวตักบีรอตุ้ลอิหฺรอม ทำให้ต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างทางโลก เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระผู้สร้าง และเมื่อนมาซสิ้นสุดลงก่อนอื่นใดต้องกล่าวสลามแด่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) หลังจากนั้นจึงกล่าวสลามแก่บ่าวผู้เป็นกัลยาณชนของพระองค์ว่า

اَلسَلامُ عَلَينَاوَعَلى عِبَادِاللهِ الصَا لحِين
ซึ่งสลามตรงนี้หมายรวมถึงบรรดาศาสดาก่อนหน้านี้ บรรดาเอาลิยาอฺ และบรรดาอิมามมะอฺศูม (อ.)

อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงกล่าวสลาม แก่บรรดาศาสนฑูตของพระองค์

{سَلَامٌ عَلَى الْمُرْسَلِينَ}
“ขอความสันติพึงมีแด่บรรดาศาสนฑูตทั้งหลาย”(อัซซอฟฟาต /๑๘๑)

سَلَامٌ عَلَىنُوحٍ
“ขอความสันติพึงมีแด่นูห์” (อัซ-ซอฟฟาต /๗๙)

سَلَامٌ عَلَى إِبْرَاهِيمَ
“ขอความสันติพึงมีแด่อิบรอฮีม”(อัซ-ซอฟฟาต /๑๐๙)

سَلَامٌ عَلَى مُوسَى وَهَارُونَ
“ขอความสันติพึงมีแด่มูซาและฮารูน” (อัซซอฟฟาต / ๑๒๐)

การสลามนั้นเป็นการพันธนาการตัวของเราเข้ากับบ่าวผู้เป็นกัลยาณชน และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ล้ำพรมแดนของเวลาและสถานที่ โดยที่เราได้อยู่ร่วมกับบรรดาผู้สะอาดบริสุทธิ์ และผู้เป็นกัลยาณชน ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย

ในเวลานั้น เราจะได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ศรัทธาร่วมสมัย ที่เข้าร่วมนมาซญะมาอัตในแถวเดียวกัน และเราได้กล่าวสลามแก่บรรดาผู้ศรัทธาเหล่านั้น บรรดามวลมะลาอิกะฮฺที่อยู่ร่วมในนมาซ และมะลาอิกะฮฺที่จดบันทึกคุณงามความดี

เราได้เริ่มนมาซด้วยกับนามของอัลลอฮฺ (ซบ.) และสิ้นสุดด้วยกับการกล่าวสลามแก่บ่าวที่ดีที่สุดของพระองค์ และสลามท้ายนมาซนั้นได้ถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยสลามแรกนั้นมอบแด่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ติดตามด้วยมวลเหล่ากัลยาณชน บรรดาศาสดาต่าง ๆ และบรรดาหมู่มวลมิตรของพระองค์ และท้ายสุดเราได้มอบสลามแด่มวลผู้ศรัทธา และผู้ภักดีต่อพระองค์

ภาพลักษณ์ของสลาม
สลาม เป็นพระนามหนึ่งของอัลลอฮฺ (ซบ.)
สลาม เป็นการแสดงความเคารพ และเป็นคำทักทายของชาวสวรรค์
สลาม เป็นการแสดงความเคารพของมวลมะลาอิกะฮฺ เมื่อชาวสวรรค์เดินเข้ามาสู่
สลาม เป็นสารของพระผู้ทรงเมตตา

สลาม เป็นการต้อนรับลัยละตุ้ลก็อดรฺ
สลาม เป็นสิทธิประการแรกของมวลมุสลิมที่มีต่อกัน
สลาม เป็นกุญแจดอกแรกของการเริ่มต้นการสนทนา และการเขียน
สลาม เป็นใบประกันที่ให้ความปลอดภัยจากความกลัว และความชั่วร้าย
สลาม เป็นการสร้างความดีที่ง่ายที่สุด
สลาม เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน

สลาม เป็นตัวการที่สร้างความรักในหมู่ประชาชาติ
สลาม เป็นเครื่องหมายของการรอมชอม และความสันติ
สลาม เป็นของขวัญประการแรกของมุสลิมสองคนที่พบกัน
สลาม เป็นความสมบูรณ์แข็งแรงที่มุสลิมพึงปราถนาให้กันและกัน
สลาม เป็นคำเชิญชวนประชาโลกไปสู่ความสันติภาพ

สลาม เป็นพลังที่ให้ความหวังและความสุข
สลาม เป็นตัวขจัดความขัดแย้ง และความอัคติที่มีต่อกันในอดีต
สลาม เป็นสัญญาณที่ประกาศความพร้อม และคำอนุญาตเพื่อเข้าไปสู่
สลาม เป็นคำพูดที่ดีที่สุดของการปรากฎตัว และการลากลับ
สลาม เป็นคำพูดที่เบาสำหรับปลายลิ้น แต่หนักสำหรับตราชั่ง

สลาม เป็นแนวทางแห่งความสันติ ในการปรับปรุงสังคม
สลาม เป็นคำพูดที่กล่าวให้แก่คนตาย และคนเป็น
สลาม เป็นการให้เกียรติและยกย่องซึ่งกันและกัน
สลาม เป็นสาเหตุที่ทำให้อัลลอฮฺ (ซบ.) พึงพอพระทัย และสร้างแค้นให้กับชัยฎอน

สลาม เป็นสื่อที่สร้างความสุขให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ
สลาม เป็นตัวถ่ายบาปและทำให้ความดีงามเติบโต
สลาม เป็นสาส์นที่สร้างความคุ้นเคย และความเป็นเพื่อน
สลาม เป็นตัวทำลายความยะโสโอหัง
สลาม เป็นมารยาทของพระผู้เป็นเจ้า

สลาม เป็นสื่อในการต้อนรับทุก ๆความดีงามทั้งหลาย
สลาม เป็นความสมบูรณ์ ที่การละทิ้งมันคือเครื่องหมายของความตระหนี่ถี่เหนียว ความยะโสโอหัง ความโกรธ และการตัดสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ

สลาม เป็นเมฆแห่งความเมตตาที่ลอยอยู่เหนือศรีษะของมนุษย์ และพร้อมที่จะหลั่งไหลมาสู่มนุษย์ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า “อัสลามุอะลัยกุม”มิได้กล่าวว่า “อัสลามุละกุม”

ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “ฉันได้ให้สลามจนถึงบั้นปลายของชีวิต แม้แต่เด็กก็มิเคยละเว้น” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๖ หน้าที่ ๙๘)

แม้ว่าสลามจะเป็นมุสตะฮับ แต่การตอบรับนั้นเป็นวาญิบ ส่วนผู้กล่าวให้สลามก่อนจะได้รับผลบุญมากกว่าผู้ตอบรับสลามถึงสิบเท่าด้วย กัน
ริวายะฮฺกล่าวว่า “จงให้สลามแก่ผู้ที่เดินเท้า หรือเมื่อขึ้นรถโดยสาร หรือเมื่อเข้ามาสู่ที่ประชุม” (๑) (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๔ หน้าที่ ๒๗๗ )

กุรอานกล่าวว่า

{إِذَا حُيِّيتُمْ بِتَحِيَّةٍ فَحَيُّوا بِأَحْسَنَ مِنْهَا}
“และเมื่อพวกเจ้าได้รับความเคารพ ก็จงตอบรับความเคารพนั้นให้ดียิ่งกว่า” (๑) (อัน-นิสาอฺ)

และท้ายสุดของความสันติพึงมีแด่มวลผู้ศรัทธาทั้งหลายโดยถ้วนหน้ากัน





จบ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์

ทางเว็บไซต์อัลฮะซะนัยน์ได้ปรับเนื้อหาคำแปลบางส่วนเพื่อความเหมาะสมสำหรับการเผยแพร่
๑๔