ซิยาเราะฮ์กุโบรนบี

ซิยาเราะฮ์กุโบรนบี0%

ซิยาเราะฮ์กุโบรนบี ผู้เขียน:
กลุ่ม: กรณีศึกษา
หน้าต่างๆ: 3

ซิยาเราะฮ์กุโบรนบี

ผู้เขียน: แปล: เชค อบูนัสรีน
กลุ่ม:

หน้าต่างๆ: 3
ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 12147
ดาวน์โหลด: 267

รายละเอียด:

ค้นหาในหนังสือ
  • เริ่มต้น
  • ก่อนหน้านี้
  • 3 /
  • ถัดไป
  • สุดท้าย
  •  
  • ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม: 12147 / ดาวน์โหลด: 267
ขนาด ขนาด ขนาด
ซิยาเราะฮ์กุโบรนบี

ซิยาเราะฮ์กุโบรนบี

ผู้เขียน:
ภาษาไทย
วิถีเศาะหาบะฮฺ กับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) วิถีเศาะหาบะฮฺ กับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ)
แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน



วิถีเศาะหาบะฮฺและเหล่าบรรพชนอิสลาม เมื่อพิจารณาถึงวิถีของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ตาบิอีน และชนยุคหลังจากนั้น เราจะพบว่าพวกเขาเหล่านี้ล้วนต่างได้เคยไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺของท่านนบี (ศ) ด้วยกันทั้งสิ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ อัซซะฮฺรอ (สลามุลลอฮฺ อลัยฮา) “อิบนุอะสากิรฺ” และคนอื่น ๆ ได้รายงานจากสายรายของเขาจากท่านอิมามอะลี (อ) ว่า “หลังจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ถูกฝังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (สลามุลลอฮฺ อลัยฮา) ได้มาหยุดที่กุโบรฺของท่าน (ศ) แล้วเธอ (ส) ได้กอบดินจากกุโบรฺขึ้นมาป้ายที่ดวงตาทั้งสองของเธอพร้อมกับร้องไห้และขับลำนำขึ้นว่า

“อันใดเล่าทำให้บุคคลดมกลิ่นอายดินอะหฺมัด
ทั้งที่ไม่เคยเชยชมดมกลิ่นใดในช่วงเวลายาวนาน
มุศีบัต (ความทุกข์ทรมาน) ได้หลั่งพรั่งพรูสู่ฉัน
มาตรว่าหลั่งลงมายามทิวา จะแปรเปลี่ยนไปสู่ยามราตรีกาล”(วะฟาอุลวะฟาอ์ เล่ม 4 หน้า 1405 และ อิรฺชาดุสสารีย์ เล่ม 2 หน้า 390)

2. ญาบิรฺ อิบนุอับดิลลาฮฺ อันศอรีย์ “บัยฮะกีย์” รายงานจาก “อบีมุหัมมัด อิบนุมุนกะดิรฺ” จากสายรายงานของตนว่า “ฉันได้เห็นท่านญาบิรฺกำลังนั่งอยู่เคียงข้างกุโบรฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) พร้อมกับกล่าวขึ้นว่า “น้ำตาได้ไหลหลั่งพรั่งพรู ณ สถานที่แห่งนี้ ฉันเคยได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) กล่าวว่า “ในระหว่างกุโบรฺ (สุสาน) ของฉัน กับมิมบัรฺ (แท่นเทศนา) ของฉัน จะมีสวนหนึ่งจากสรวงสวรรค์อยู่”(ชะอฺบุลอีมาน เล่ม 3 หน้า 491)

3. อบูอัยยูบ อันศอรีย์ “หากิม นีชาบูรีย์” รายงานจาก “ดาวูด อิบนุอบีศอลิหฺ” จากสายรายงานของตนว่า “วันหนึ่ง ในขณะที่“มัรฺวาน” กำลังเข้าไปที่กุโบรฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) นั้น เขาได้เห็นชายคนหนึ่งกำลังแนบใบหน้าบนกุโบรฺ มัรฺวานจึงเข้าไปจับที่ต้นคอของชายผู้นั้นพร้อมกับกล่าวขึ้นว่า “รู้ไหมว่าเจ้ากำลังทำอะไรลงไป ?” ทันใดนั้น เขาได้เห็นว่าที่แท้ชายผู้นั้นคือ “อบูอัยยูบ อันศอรีย์” นั่นเอง อบูอัยยูบได้กล่าวขึ้นว่า “ฉันไม่ได้มาที่นี้เพราะหิน และไม่ได้มาเพราะอิฐแต่อย่างใด แท้จริง ที่ฉันมาที่นี้ก็เนื่องจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) (อยู่ที่นี่) มิได้มาเพราะว่ามีหิน ฉันเคยได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายจงอย่าร้องไห้ให้กับศาสนา เมื่อผู้ดำเนินรอยตามมีคุณสมบัติที่คู่ควร แต่จงร้องไห้ให้กับศาสนา เมื่อผู้ดำเนินรอยตามมิได้มีคุณสมบัติที่คู่ควร” (มุสตัดร็อก หากิม เล่ม 4 หน้า 515 และ มัจญ์มุอุซซะวาอิด เล่ม 5 หน้า 245)

4. อาหรับเบดูอิน “อิมามอะลี (อ)” กล่าวว่า “ภายหลังจากที่เราได้ฝังมัยยิตของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ผ่านไปเป็นเวลา 3 วัน ได้มีอาหรับเบดูอินคนหนึ่งเข้ามายังเราพร้อมกับล้มลงเกลือกกลั้วบนกุโบรฺของท่าน (ศ) และกอบดินบนกุโบรฺโปรยบนศีรษะของตนพร้อมกับกล่าวขึ้นว่า “โอ้ เราะสูลุลลอฮฺ สิ่งที่ท่านกล่าว เราเคยได้ยิน ท่านได้รับมาจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮฺ ส่วนเราได้รับมาจากท่าน (ศ) และหนึ่งในโองการที่ถูกประทานมายังท่าน (ศ) ก็คือ “ถ้าพวกเขาอธรรมต่อตนเอง...........” แท้จริง ฉันได้สร้างความอธรรมต่อตัวฉันเอง และฉันมาหาท่านเพื่อร้องขอต่อท่านให้ทูลขอการอภัยโทษให้แก่ฉัน และแล้วได้มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาจากกุโบรฺว่า “แท้จริง เจ้าได้รับการอภัยโทษแล้ว”(วะฟาอุลวะฟาอ์ เล่ม 4 หน้า 1361 และ ตัฟสีรฺนัสฟีย์ เล่ม 1 หน้า 234)

จากหะดีษข้างต้น ให้ผลลัพท์แก่เราท่านทั้งหลายดังนี้คือ

ก. ศาสนบัญญัติที่อนุมัติให้ซิยาเราะฮฺกุโบรฺ
ข. ศาสนบัญญัติที่อนุมัติให้ “ชัดดิริหาล” หรือการออกเดินทางโดยมีเจตนาว่าจะไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ
ค. ศาสนบัญญัติที่อนุมัติให้ “ตะวัสสุล” หรือขอความช่วยเหลือโดยผ่านสื่อดวงวิญญาณของเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺ
ง. ศาสนบัญญัติที่อนุมัติให้ “อิสติฆอษะฮฺ” หรือขอความช่วยเหลือโดยผ่านดวงวิญญาณของเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺ

5. บิลาล หะบะชีย์ ภายหลังจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้วะฟาตแล้ว “บิลาล อิบนุเราะบาหฺ หะบะชีย์” ได้อพยพจากนครมะดีนะฮฺไปอยู่ที่ชาม (ซีเรีย) คืนหนึ่ง เขาได้ฝันเห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ซึ่ง “อิบนุอะสากิรฺ” ได้รายงานด้วยสายรายงานของเขาจาก “อบูดัรฺดาอ์” ว่า “แท้จริง บิลาลได้ฝันเห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ว่าท่านกล่าวกับเขาว่า “เหตุใดเจ้าจึงกระด้างกระเดื่องกับฉันถึงขนาดนี้เล่า โอ้ บิลาล ? ยังไม่ถึงเวลาที่เจ้าจะไปซิยาเราะฮฺฉันอีกหรือ โอ้ บิลาล ? หลังจากนั้น บิลาลได้ตื่นขึ้นมาด้วยใบหน้าที่เศร้าหมองและความกลัว และได้ขี่พาหนะเพื่อมุ่งหน้าไปยังนครมะดีนะฮฺทันที เขาได้มุ่งตรงไปยังกุโบรฺของท่านนบี (ศ) และเริ่มร้องไห้พร้อมกับแนบใบหน้าไปบนกุโบรฺของท่าน (ศ) เมื่ออิมามหะสัน (อ) และอิมามหุสัยน์ (อ) ได้มายังกุโบรฺ ทั้งสองได้กล่าวกับบิลาลว่า “เราทั้งสองปรารถนาที่จะได้ยินเสียงอะซานที่ท่านเคยอะซานให้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ฟังมาก่อน” บิลาลได้ตอบรับคำขอของทั้งสองด้วยการขึ้นไปบนดาดฟ้าของมัสญิดและยืน ณ สถานที่ที่เขาเคยยืนอยู่เสมอ ๆ เมื่อครั้งอดีต เมื่อเขาอะซานถึงประโยค “อัลลอฮุอักบัรฺ” ประหนึ่งว่านครมะดีนะฮฺจะสั่นสะเทือน เมื่อถึงประโยค “อัชฮะดุอันลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” ทำให้เสียงของชาวมะดีนะฮฺดังขึ้นกว่าเดิม และเมื่อเขากล่าวประโยค “อัชฮะดุอันนะมุหัมมะดัรฺเราะสูลัลลอฮฺ” ทำให้บรรดาสตรีทั้งหลายต่างวิ่งออกมาจากหลังม่าน ประชาชนต่างพากันกล่าวอย่างอึงคะนึงว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ถูกสถาปนามาเป็นคำรบสองหรืออย่างไร ?” ภายหลังจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้วะฟาตไปแล้ว พวกเขาไม่เคยเห็นประชาชนทั้งหญิงและชายต่างพากันร้องไห้มากมายเหมือนกับวันนั้นมาก่อน”

เมื่อพิจารณาจากหะดีษข้างต้นซึ่งมีสะนัดหรือสายรายงานที่เศาะหี๊หฺแล้ว พอจะสรุปได้ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) นั่นเองที่เป็นผู้อนุมัติให้ “ชัดดิริหาล” หรือออกเดินทางโดยมีเจตนาจะไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺด้วยตัวของท่านเอง

นอกจากนี้ ยังมีหะดีษเศาะหี๊หฺที่มีสายรายงานมุตะวาติรฺที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้วจนะเกี่ยวกับการฝันเห็นท่านอีกด้วยว่า “บุคคลใดที่ฝันเห็นฉัน โดยสารัตถะแล้ว เขาได้เห็นฉันจริง ๆ เพราะชัยฏอนจะไม่มีวันจำแลงเป็นฉันได้”(อัลมัจญ์มูอฺ นะวะวีย์ เล่ม 6 หน้า 211)

6. อับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัรฺ “อับดุรฺร็อซซาก” ได้บันทึกหะดีษที่เศาะหี๊หฺในบาบ “การสลามแก่กุโบรฺท่านนบี (ศ)” ว่า “แท้จริง ภายหลังจาก “อับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัรฺ” กลับจากการเดินทางทุกครั้ง เขาจะไปยังกุโบรฺของท่านนบี (ศ) และกล่าวให้สลามว่า “อัสลามุอลัยกะ ยา เราะสูลัลลอฮฺ” (ขอความสันติพึงมีแด่ท่าน โอ้ ศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ)”(อัลมุศ็อนนิฟ เล่ม 3 หน้า 576 หะดีษที่ 6725, อัลมัจญ์มูอฺ นะวะวีย์ เล่ม 8 หน้า 272 และ วะฟาอุลวะฟาอ์ เล่ม 4 หน้า 1358)

7. อัยยูบ สัคติยานีย์ “สัมฮูดีย์ รายงานจาก “อับดุลลอฮฺ อิบนุมุบาร็อก” ว่า “ฉันได้ยิน “อบูหะนีฟะฮฺ” กล่าวว่า “ขณะที่ฉันอยู่ในนครมะดีนะฮฺ อบูอัยยูบ สัคติยานีย์ ได้เดินทางมาที่นั่น ฉันจึงกล่าวกับตัวเองว่าจะรอดูซิว่าเขาเข้ามาเพื่อทำอะไร เขาได้มุ่งตรงไปยัง (กุโบรฺ) ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) แล้วเขาได้ร้องไห้ (อย่างแท้จริง) มิใช่แค่นร้องออกมา และยืนด้วยท่าทางที่สำรวมยิ่ง”(วะฟาอุลวะฟาอ์ เล่ม 4 หน้า 1377)

ริวายะฮฺดังกล่าวชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงข้ออนุมัติให้ “ชัดดิริหาล” หรือออกเดินทางโดยเจตนาที่จะไปซิยาเราะฮฺ (กุโบรฺ) ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ทั้งนี้เนื่องจากสัคติยานีย์มิได้เป็นชาวนครมะดีนะฮฺนั่นเอง

8. การส่งตัวแทนให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) “หาติม อิบนุวัรฺดาน” กล่าวว่า “อุมัรฺ อิบนุอับดิลอะซีซ” (ผู้ปกครองแห่งราชวงศ์อับบาสียะฮฺ) มักจะมอบหมายตัวแทนจากเมืองชาม (ซีเรีย) ให้เดินทางไปยังนครมะดีนะฮฺเพื่อให้กล่าวสลามท่านนบี (ศ) แทนเขาเสมอ ๆ”(อัชชะฟาอ์ กอฎีย์ อะยาฎ เล่ม 2 หน้า 85, ชะอฺบุลอีมาน บัยฮะกีย์ เล่ม 3 หน้า 492 และ อัลมะวาฮิบุลละดุนนียะฮฺ เล่ม 3 หน้า 406)



อะฮฺลุสสุนนะฮฺเชื่อว่าการซิยาเราะฮฺกุโบรฺเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) เป็นมุสตะหับ นอกเหนือจากพวกวะฮะบีย์แล้ว อุละมาอ์อะฮฺลุสสุนนะฮฺเชื่อว่าเป็นที่อนุมัติให้ซิยาเราะฮฺกุโบรฺได้ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาถือว่ามุสตะหับให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) ด้วย ซึ่งเราจะขอนำเสนอทัศนะบางส่วนดังต่อไปนี้

1. “อบุลหะสัน มาวัรฺดีย์” กล่าวว่า “เมื่ออมีรุลหัจญ์กลับจากการประกอบพิธีหัจญ์ (ที่นครมักกะฮฺ) เขาจะนำหุจญาจเดินทางไปยังนครมะดีนะฮฺเพื่อซิยาเราะฮฺกุโบรฺเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) เพื่อให้หุจญาจได้รับมรรคผลร่วมกันทั้งจากการทำหัจญ์ที่บัยตุลลอฮฺ (อัลหะรอม) อัซซะวะญัลละฮฺ และการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ทั้งนี้เพื่อเทิดเกียรติและทดแทนบุญคุณท่าน”(อัลอะหฺกามุสสุลฏอนียะฮฺ เล่ม 2 หน้า 109)

2. “อบูอิสห๊าก อิบรอฮีม อิบนุมุหัมมัด ชีรอซีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 476) กล่าวว่า “การซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) เป็นมุสตะหับ”(อัลมุฮัซซับ เล่ม 1 หน้า 233)

3. “กอฎีย์อะยาฎ มาลิกีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 544) กล่าวว่า “การซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) ถือเป็นสุนนะฮฺที่ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์ และมีฟะฎีละฮฺหรือความประเสริฐที่ส่งเสริมให้กระทำ”(ชัรฺหุชชะฟาอ์ เคาะฟาญีย์ เล่ม 3 หน้า 515)

4. “อิบนุเกาะดามะฮฺ มุก็อดดะสีย์ หันบะลีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 620) กล่าวว่า “การซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) เป็นมุสตะหับ”(ชัรฺห์มุคตะศ็อริลค็อรฺกีย์ ฟีฟุรูฆิลหะนาบิละฮฺ เล่ม 6 หน้า 588)

5. “มุหฺยิดดีน นะวะวีย์ ชาฟิอีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 677) กล่าวว่า “ภายหลังจากการประกอบพิธีหัจญ์แล้ว สุนนะฮฺหรือมุสตะหับให้ดื่มน้ำซัมซัมและไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ)”(อัลมินฮาจญ์ เล่ม 1 หน้า 511)

6. “เชคตะกียุดดีน สับกีย์ ชาฟิอีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 756) กล่าวไว้ในหนังสือ “ชะฟาอุสสิกอม” ว่า “การเดินทางโดยมีเจตนาจะไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ถือเป็นการแสวงหาสื่อเพื่อความใกล้ชิดอัลลอฮฺ”(ชะฟาอุสสิกอม หน้า 100 - 117)

โดยเขาได้อ้างอิงโองการจากคัมภีร์อัลกุรฺอานและริวายาตต่าง ๆ มาประกอบด้วย

7. “สัยยิดนูรุดดีน สัมฮูดีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 911) ได้พิสูจน์ไว้อย่างรอบด้านในหนังสือ “วะฟาอุลวะฟาอ์” ว่าการเดินทางไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺเป็นสุนนะฮฺหรือมุสตะหับ โดยกล่าวว่าการมีเจตนาไปซิยาเราะฮฺ ก็คือการแสวงหาสื่อเพื่อความใกล้ชิดอัลลอฮฺนั่นเอง”(วะฟาอุลวะฟาอ์ เล่ม 4 หน้า 1362)

8. “หาฟิซ อบุลอับบาส กิสฏิลานีย์ มิศรีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 923) กล่าวว่า “พึงรู้ไว้เถิดว่า การซิยาเราะฮฺกุโบรฺอันทรงเกียรติของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ถือเป็นการแสวงหาสื่อเพื่อความใกล้ชิดอัลลอฮฺ, เป็นความหวังอันเรืองรองในการเคารพภักดี และเป็นวิถีทางที่จะทำให้ฐานภาพสูงส่ง และใครก็ตามที่มีความเชื่อนอกเหนือไปจากนี้ โดยสารัตถะ เขาได้ออกนอกวิถีอิสลาม และเป็นผู้ต่อต้านอัลลอฮฺ, เราะสูลของพระองค์ และมติอันเป็นเอกฉันท์ของอุละมาอ์ชั้นแนวหน้าทั้งหลาย”(อัลมะวาฮิบุลละดุนนียะฮฺ เล่ม 4 หน้า 570)

9. “เชคมุหัมมัด เคาะฏีบ ชัรฺบีนีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 977) กล่าวว่า “...ส่วนการซิยาเราะฮฺท่านนบี (ศ) ถือเป็นการแสวงหาสื่อเพื่อความใกล้ชิดอัลลอฮฺที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทั้งชายและหญิง”(มุฆนิลมุหฺตาจญ์ เล่ม 1 หน้า 365)

10. “ซัยนุดดีน อับดุลเราะอูฟ มนาวีย์ (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 1031) กล่าวว่า “การซิยาเราะฮฺกุโบรฺอันทรงเกียรติของท่านนบี (ศ) ถือเป็นการเสริมสร้างความสมบูรณ์ให้กับการประกอบพิธีหัจญ์ ยิ่งไปกว่านั้น ชาวศูฟีย์ยังถือว่า การซิยาเราะฮฺกุโบรฺของท่าน (ศ) เป็นสิ่งวาญิบ และพวกเขายังมีทัศนะว่า การฮิจญ์เราะฮฺหรือเดินทางไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺของท่าน (ศ) เสมือนหนึ่งการฮิจญ์เราะฮฺติดตามท่านไปในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั่นเอง”(ชัรฺหุญามิอุศเศาะฆีรฺ เล่ม 6 หน้า 140)

11. “เชคอับดุรฺเราะหฺมาน เชคซอเดะฮฺ” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 1078) กล่าวว่า “สุนนะฮฺหรือมุสตะหับที่ประเสริฐที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น อะมัลที่มีฐานภาพเกือบจะถึงระดับวาญิบก็คือ การซิยาเราะฮฺกุโบรฺนบีของเรา (ศ) และสัยยิดินา (หัวหน้าของเรา) มุหัมมัด (ศ)”(มัจญ์มะอุลอันฮัรฺ ฟีชัรฺหิ มุลตะกิลอับหัรฺ เล่ม 1 หน้า 157)

12. “มุหัมมัด อิบนุอับดิลบากีย์ ซัรฺกอนีย์ มาลิกีย์ มิศรีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 1122) กล่าวว่า “การซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) ในยุคสมัยของเศาะหาบะฮฺผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย ถือเป็นสิ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่พวกเขา เมื่อครั้งที่อุมัรฺ อิบนุลค็อฏฏอบ ได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับประชาชนชาวบัยตุลมุก็อดดัส นั้น “กะอฺบุลอะหฺบารฺ” ได้มาพบเขา และได้เข้ารับอิสลาม ซึ่งสร้างความชื่นชมยินใดแก่อุมัรฺยิ่งนัก และได้กล่าวกับกะอฺบุลอะหฺบารฺว่า “ท่านสนใจที่จะร่วมเดินทางไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) ที่นครมะดีนะฮฺกับฉันไหม ? เพื่อท่านจะได้รับมรรคผลจากการซิยาเราะฮฺกุโบรฺของเขา ?” เขาจึงตอบว่า “ตกลง”(ชัรฺหุลมะวาฮิบ เล่ม 8 หน้า 299)

13. “เชคมุหัมมัด อิบนุอะลี เชากานีย์” (เสียชีวิตในปีฮิจญ์เราะฮฺที่ 1250) กล่าวว่า “นักปราชญ์มีทัศนะที่หลากหลายเกี่ยวกับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺนบี (ศ) โดยญุมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่าเป็นสุนนะฮฺหรือมุสตะหับ ในขณะที่บางส่วนของมัซฮับมาลิกีย์และซอฮิรียะฮฺมีทัศนะว่าเป็นวาญิบ และมัซฮับหะนะฟีย์กล่าวว่า “เกือบจะถึงขั้นวาญิบ” แต่อิบนุตัยมียะฮฺ หันบะลีย์ ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนาม “ชัยคุลอิสลาม” กลับมีทัศนะว่ามิได้เป็นศาสนบัญญัติแต่อย่างใด”(นัยลุลเอาฏอรฺ เล่ม 5 หน้า 107)

14. “ญะซีรีย์” กล่าวว่า “การซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) เป็นสุนนะฮฺที่ประเสริฐที่สุด”(อัลฟิกฮฺ อะลัลมะซาฮิบิลอัรฺบะอะฮฺ เล่ม 1 หน้า 711)




วิถีเศาะหาบะฮฺ กับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ)

มุสตะหับในการซิยาเราะฮฺกุโบรฺบรรดาอิมามมะอฺศูมีน (อลัยฮิมุสลาม)
อะฮฺลุลบัยต์ (อลัยฮิมุสลาม) ได้กำชับให้ชาวชีอะฮฺไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺของพวกท่าน ดังที่เราจะขอหยิบยกหะดีษบางส่วนมานำเสนอดังต่อไปนี้

1. “เชคฏูสีย์” รายงานว่า ท่านอิมามอะลี อัรฺริฎอ (อลัยฮิสลาม) กล่าวว่า “แท้จริง อิมามมะอฺศูมทุกคนมีพันธสัญญาเหนือชีอะฮฺและผู้ดำเนินรอยตามพวกเขา และการปฏิบัติตามพันธสัญญาที่ดีที่สุดประการหนึ่งก็คือการซิยาเราะฮฺกุโบรฺของพวกเขานั่นเอง” (ตะฮฺซีบุลอะหฺกาม เล่ม 6 หน้า 78 และ 79 หะดีษที่ 3)

2. “มุหัมมัด อิบนุมุสลิม” รายงานว่า ท่านอิมามมุหัมมัด อัลบากิรฺ (อลัยฮิสลาม) กล่าวว่า “จงเตือนชีอะฮฺของเราให้ซิยาเราะฮฺหุสัยน์ อิบนุอะลี (อลัยฮิมัสสลาม) เถิด เพราะวาญิบสำหรับผู้ศรัทธาทุกคนที่จะต้องจำนนว่า หุสัยน์ (อ) คืออิมามที่ถูกสถาปนามาจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงเกริกเกียรติ เกรียงไกร”(บิหารุลอันวารฺ เล่ม 98 หน้า 3 และ อะมาลีย์ เชคศุดูก หน้า 126)

3. “อะลี อิบนุมัยมูน” กล่าวว่าฉันได้ยินท่านอิมามญะอฺฟัรฺ อัศศอดิก (อลัยฮิสลาม) กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าบุคคลหนึ่งในหมู่พวกท่านจะประกอบพิธีหัจญ์ถึงหนึ่งพันครั้งก็ตาม แต่ถ้าเขาไม่ได้ซิยาเราะฮฺกุโบรฺอิมามหุสัยน์ (อลัยฮิสลาม) เท่ากับเขาได้ละเลยหน้าที่ที่พึงมีต่ออัลลอฮฺ” มีผู้ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? อิมาม (อ) จึงกล่าวว่า “วาญิบที่มุสลิมทุกคนจะต้องสนองสิทธิหุสัยน์ (อ)”(บิหารุลอันวารฺ เล่ม 98 หน้า 5)

การซิยาเราะฮฺกุโบรฺ กับข้ออนุมัติให้เดินทางโดยมีเจตนาจะไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ
ก่อนหน้านี้ เราได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าอุละมาอ์สำนักคิดวะฮะบีย์ในยุคหลังมีทัศนะและความเชื่อว่าการออกเดินทางโดยมีเจตนาที่จะไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺนั้น ไม่เป็นสิ่งที่อนุมัติหรือถือเป็นบิดอะฮฺที่เพิ่มเข้ามาในหลักการศาสนา ถึงแม้จะเป็นกุโบรฺของท่านนบี (ศ) ก็ตาม (ในขณะที่อิบนุตัยมียะฮฺถือว่าการซิยาเราะฮฺกุโบรฺทั้งหมดเป็นสิ่งต้องห้ามหรือหะรอมอย่างสิ้นเชิง)

ต่อไปนี้ เราจะเสนอหลักฐานและข้อพิสูจน์ว่าศาสนบัญญัติแห่งอิสลามอนุมัติให้ออกเดินทางโดยมีเจตนาที่จะไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ)

1. อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสว่า “ถ้าหากพวกที่สร้างความอธรรมต่อตนเองได้มาหาเจ้า...” ซึ่งคำว่า “มะญีอ์” ให้ความหมายถึงการเดินทางทั้งใกล้และไกล (สูเราะฮฺอันนิสาอ์ 4 : 64)

2. หะดีษที่ท่านนบี (ศ) กล่าวว่า “บุคคลใดซิยาเราะฮฺกุโบรฺของฉัน....” คำว่า “ซิยาเราะฮฺ” ให้ความหมายโดยรวมของการเดินทางทั้งใกล้และไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ริวายะฮฺที่มีสายรายงานเศาะหี๊หฺซึ่งรายงานโดย “อิบนุสสะกัน” ที่กล่าวว่า “บุคคลใดมายังฉันเพื่อการซิยาเราะฮฺ” นั้น โดยนัยแล้วให้ความหมายรวมถึงการออกเดินทางด้วยเช่นกัน

3. ในบางหะดีษหรือบางริวายะฮฺได้ให้ความหมายที่ชัดเจนหรืออย่างน้อยก็เป็นการชี้ให้เห็นถึงข้ออนุมัติหรือส่งเสริม (อิสติหฺบาบ) ให้ซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ถึงแม้จะเป็น “ชัดดิริหาล” หรือการเตรียมตัวออกเดินทางโดยมีเจตนาที่จะไปซิยาเราะฮฺก็ตาม

“มุสลิม” และนักบันทึกหะดีษคนอื่น ๆ ได้รายงานด้วยสะนัดที่เศาะหี๊หฺจาก “บุรัยดะฮฺ อัสละมีย์” ว่า ท่านนบี (ศ) ได้วจนะว่า “ในอดีต ฉันเคยสั่งห้ามพวกท่านมิให้ซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ทว่า บัดนี้ มุหัมมัด (ศ) ได้รับอนุมัติให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺมารดาของเขาแล้ว ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปซิยาเราะฮฺด้วยเถิด เพราะจะทำให้พวกท่านได้รำลึกถึงวันอาคิเราะฮฺ”(เศาะหี๊หฺมุสลิม เล่ม 2 หน้า 366 หะดีษที่ 107 กิตาบุลญะนาอิซ และ เศาะหี๊หฺติรฺมิซีย์ เล่ม 3 หน้า 370)

จากวจนะของท่านนบี (ศ) ที่ว่า “มุหัมมัด (ศ) ได้รับอนุมัติให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺมารดาของเขาแล้ว ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงไปซิยาเราะฮฺด้วยเถิด” ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งโดยมีเจตนาที่จะไปซิยาเราะฮฺนั้น ไม่ขัดกับศาสนบัญญัติแต่อย่างใด

“สัมอานีย์” รายงานจากท่านอิมามอะลี (อ) ว่า “ภายหลังจากญะนาซะฮฺท่านนบี (ศ) ถูกฝังผ่านไปได้ 3 วัน ได้มีอาหรับเบดูอินคนหนึ่งเดินทางเข้ามาในนครมะดีนะฮฺ และมุ่งตรงไปยังกุโบรฺของท่านนบี (ศ) เมื่อไปถึงที่นั่น เขาได้ล้มลงเกลือกกลิ้งไปบนกุโบรฺของท่าน (ศ) และกอบดินบนกุโบรฺใส่ศีรษะของตนพร้อมกับกล่าวว่า “โอ้ ศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ศ) ท่านได้กล่าว และเราก็ได้ยินในสิ่งที่ท่านกล่าว ท่านได้รับโองการทั้งหลายจากอัลลอฮฺ และเราได้รับโองการเหล่านั้นจากท่าน หนึ่งในโองการที่ถูกประทานลงมายังท่านก็คือ “ถ้าหากพวกที่สร้างความอธรรมต่อตนเองได้มาหาเจ้า......” (บัดนี้) ฉันได้สร้างความอธรรมต่อตัวฉันเอง ดังนั้น ฉันจึงได้มาหาท่าน (ศ) เพื่อให้ท่านขอการอภัยโทษให้กับฉันด้วย” (วะฟาอุลวะฟาอ์ สัมฮูดีย์ เล่ม 2 หน้า 612)

เรื่องราวที่บิลาลฝันเห็นท่านนบี (ศ) และการออกเดินทางจากเมืองชามสู่นครมะดีนะฮฺเพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถือเป็นพยานหลักฐานได้เป็นอย่างดีถึงข้ออนุมัติให้ “ชัดดิริหาล” เพื่อซิยาเราะฮฺกุโบรฺ (อุสดุลฆอบะฮฺ เล่ม 1 หน้า 307 และ 308, มุคตะศ็อรฺตารีคดะมิชก์ เล่ม 4 หน้า 118 และ ตะฮฺซีบุลกะมาล เล่ม 4 หน้า 289)

“สับกีย์” รายงานว่า “อุมัรฺ อิบนุอับดิลอะซีซ” จะส่งตัวแทนของตนจากเมืองชามให้เดินทางไปยังนครมะดีนะฮฺเสมอ ๆ เพื่อให้นำสลามของเขาไปบอกกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) แล้วเดินทางกลับ (เมืองชาม)” (ชะฟาอุสสิกอม หน้า 55)

“เคาะฏีบ บัฆดาดีย์” รายงานจาก “อบีอะลี เคาะลาล ชัยค์หะนาบิละฮฺ” ว่าเขาได้กล่าวว่า “ในสมัยของตน ไม่มีอุปสรรคปัญหาสำคัญใดที่อุบัติขึ้นกับฉัน นอกจากฉันจะต้องออกเดินทางเพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ “มูสา อิบนุญะอฺฟัรฺ (อลัยฮิสลาม)” และหลังจากที่ฉันได้ตะวัสสุลผ่านท่านแล้ว อัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่ง ทรงประทานตามที่ฉันปรารถนา”(ตารีคบัฆดาด เล่ม 1 หน้า 120)

รายงานของ “อบูบักรฺ มุหัมมัด อิบนุมุอัมมิล” ดังที่เราได้กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ ถือเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ถึงข้ออนุมัติให้ “ชัดดิริหาล” หรือการออกเดินทางเพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺได้เป็นอย่างดีเช่นกัน (ตะฮฺซีบุตตะฮฺซีบ เล่ม 7 หน้า 339)

“ฏ็อลหะฮฺ อิบนุอุบัยดิลลาฮฺ” กล่าวว่า “เราได้ออกเดินทางกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) เพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺบรรดาชุฮะดาอ์แห่งอุหุด” (สุนันอบีดาวูด เล่ม 2 หน้า 218 หะดีษที่ 357)

“ท่านหญิงอาอิชะฮฺ” กล่าวว่า “ทุกค่ำคืนที่เป็นคิวของฉัน ในช่วงสุดท้ายของคืน ท่านนบี (ศ) จะออกไปซิยาเราะฮฺที่กุโบรฺบากีอฺเสมอ” (มุสตัดร็อกหากิม เล่ม 1 หน้า 533)

จากริวายะฮฺดังกล่าวข้างต้น และริวายะฮฺอื่น ๆ จึงถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าไม่เพียงแต่ “ชัดดิริหาล” จะได้รับการอนุมัติให้ปฏิบัติได้เท่านั้น แต่ยังถือเป็นการส่งเสริมให้กระทำหรือ “มุสตะหับ” อีกด้วย

4. เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาถึงวิถีชีวิตของมุสลิมในอดีต เราจะประจักษ์ถึงวัตรปฏิ บัติที่เป็นเอกฉันท์ (อิจญ์มาอฺมุสลิมีน) ว่าพวกเขาได้ออกเดินทางเพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺของบรรดาเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

5. ในตำราเศาะหี๊หฺของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ มีบันทึกหะดีษท่านนบี (ศ) เอาไว้อย่างมากมายที่กล่าวในทำนองว่า “บุคคลใดที่ก้าวเท้าไปยังมัสญิด ทุกย่างก้าวของเขาจะได้รับการเทิดฐานภาพให้สูงส่ง และเขาจะได้รับการอภัยโทษในความผิดบาป”(โปรดดู “เศาะหี๊หฺมุสลิม”)

และษะวาบหรือมรรคผลดังกล่าวจะเป็นไปไม่ได้นอกจากจะต้องผ่านขั้นตอนของการเริ่มต้นหรือมุก็อดดิมะฮฺในการออกเดินทางไปยังมัสญิด ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า “ชัดดิริหาล” หรือการออกเดินทางเพื่อไปซิยาเราะฮฺเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺ ถือเป็นมุก็อดดิมะฮฺหรือจุดเริ่มต้นเพื่อให้ได้รับซึ่งมรรคผลหรือมุสตะหับด้วยเช่นกัน

อะไรคือหลักฐานที่พวกวะฮะบีย์ใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่าการซิยาเราะฮฺกุโบรฺเป็นสิ่งต้องห้าม ?
หลักฐานสำคัญที่พวกวะฮะบีย์หยิบยกขึ้นมาเป็นข้อพิสูจน์ว่าการซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ไม่ว่าจะเป็นกุโบรฺของเอาลิยาอ์หรือกุโบรฺของท่านนบี (ศ) ก็ตามว่าถือเป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามก็คือริวายะฮฺที่“อบูฮุร็อยเราะฮฺ” รายงานว่า ท่านนบี (ศ) ได้วจนะว่า “ชัดดิริหาล” เป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นการเดินทางไปยังสามมัสญิดนี้เท่านั้นคือ มัสญิดุนนบี มัสญิดุลหะรอม มัสญิดุลอักศอ”(เศาะหี๊หฺบุคอรีย์ เล่ม 2 หน้า 136 กิตาบุศเศาะลาฮฺ และ เศาะหี๊หฺมุสลิม เล่ม 4 หน้า 126 กิตาบุลหัจญ์)

คำตอบ ณ ที่นี้ก็คือ มีข้อสันนิษฐาน 2 ประการต่อ“มุสตัษนา มินฮฺ” ในหะดีษข้างต้น

ข้อสันนิษฐานประการแรก “มุสตัษนา มินฮฺ” ในที่นี้คือ “มัสญิดุน มินัลมะสาญิด” (มัสญิดหนึ่งจากมัสญิดทั้งหลาย) กล่าวคือตัวบทหะดีษจะเป็นดังนี้คือ “จงอย่า “ชัดดิริหาล” ไปยังมัสญิดหนึ่งจากมัสญิดทั้งหลาย ยกเว้นเพียงสามมัสญิดเท่านั้น”

ข้อสันนิษฐานประการที่สอง “มุสตัษนา มินฮฺ” ในที่นี้คือ “มะกาน มินัลอัมกะนะฮฺ” (สถานที่หนึ่งจากสถานที่ทั้งหลาย) มีนัยว่า “จงอย่า “ชัดดิริหาล” ไปยังสถานที่หนึ่งจากสถานที่ทั้งหลาย ยกเว้นเพียงสามมัสญิดเท่านั้น”

ดังนั้น ตามข้อสันนิษฐานแรก ไม่อาจจะนำมาเป็นหลักฐานว่า “ชัดดิริหาล” หรือการไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺของท่านนบี (ศ) ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามหรือหะรอมได้ ทั้งนี้เนื่องจากกุโบรฺท่านนบี (ศ) มิใช่มัสญิดแต่อย่างใดนั่นเอง

ส่วนข้อสันนิษฐานที่สอง เป็นไปไม่ได้ที่จะตีความริวายะฮฺโดยรวม ๆ เพราะจะมีผลทำให้การเดินทางทุกชนิดกลายเป็นสิ่งต้องห้ามไปโดยปริยายนั่นเอง ถึงแม้ว่าการเดินทางเหล่านั้นจะมิได้มีเจตนาเพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺก็ตาม ซึ่งไม่มีใครที่ถือปฏิบัติเช่นนั้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ข้อห้าม “ชัดดิริหาล” เพื่อการออกเดินทางไปซิยาเราะฮฺมัสญิดอื่น ๆ นอกเหนือจากมัสญิดทั้งสามดังกล่าว จึงหาใช่ข้อห้ามที่เป็นหะรอม (นะฮฺย์ตะหฺรีมีย์) แต่อย่างใดไม่ แต่เป็นข้อห้ามเชิงชี้นำ (นะฮฺย์อิรฺชาดีย์) ต่างหาก เพราะโดยทั่วไป ทุก ๆ เมืองต่างก็มีมัสญิดอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องเดินทางไปซิยาเราะฮฺมัสญิดที่เมืองอื่น ๆ ซึ่งต่างกับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺที่มีมรรคผลและความจำเริญอย่างมากมาย ซึ่งเราจะได้กล่าวในบทที่ว่าด้วยเรื่องนี้

นอกจากนี้ “ฆ็อซซาลีย์” ยังมีทัศนะเช่นกันว่า “การเดินทางโดยมีเจตนาเพื่อการอิบาดะฮฺ ถือเป็นมุสตะหับ” ตัวอย่างเช่น การเดินทางเพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺอันบิยาอ์ เศาะหาบะฮฺ ตาบิอีน เอาลิยาอ์ และอุละมาอ์ ดังนั้น กล่าวโดยรวมแล้ว บุคคลที่ผู้คนแสวงหาความจำเริญในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถที่จะซิยาเราะฮฺหลังจากเขาได้ล่วงลับไปแล้วเพื่อแสวงหาความจำเริญได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น “ชัดดิริหาล” โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาความจำเริญจึงถือเป็นสิ่งอนุมัติในอิสลาม และไม่ถือว่าขัดแย้งแต่อย่างใดทั้งสิ้นกับหะดีษที่ท่านนบี (ศ) ได้วจนะไว้ว่า “จงอย่า “ชัดดิริหาล” ยกเว้นเพื่อสามมัสญิดเท่านั้น” ทั้งนี้เนื่องจากหะดีษนี้กล่าวถึงมัสญิดทั้งหลาย ซึ่งแต่ละมัสญิดเหล่านั้นต่างก็มีฟะฎีละฮฺหรือความประเสริฐเท่าเทียมกัน ไม่มีมัสญิดหนึ่งมัสญิดใดที่มีความเหนือกว่าในแง่ของการเดินทางเพื่อไปซิยาเราะฮฺหรือเยี่ยมเยียนแต่อย่างใด ยกเว้นเฉพาะสามมัสญิดเท่านั้นที่มีฐานภาพเฉพาะแตกต่างกว่ามัสญิดทั้งหลายซึ่งการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมเยียนทั้งสามมัสญิดนี้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินทางเพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺแต่อย่างใดด้วย (อิหฺยาอุลอุลูม ฆ็อซซาลีย์ เล่ม 2 หน้า 247 กิตาบอาดาบุสสิฟัรฺ)

ตอบโต้ทัศนะอิบนุตัยมียะฮฺ
ในประเด็นดังกล่าวนี้ “อิบนุตัยมียะฮฺ” เสมือนจงใจบิดพริ้วความเป็นจริงอย่างแนบเนียน เพราะแทนที่เขาจะยึด “อัลมะสาญิด” มาเป็น “มุสตัษนามินฮฺ” ตามหลักไวยกรณ์อาหรับ แต่กลับนำหะดีษดังกล่าวไป “กิยาส” หรืออุปมานกับการห้าม “ชัดดิริหาล” โดยมีเจตนาเพื่อไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺอันบิยาอ์ เอาลิยาอ์ และศอลิหีนแทน ดังที่เขากล่าวว่า “ถ้าหากการเดินทางไปยังบรรดาบ้านของอัลลอฮฺ (มะสาญิด) ที่มิใช่สามบ้าน (มัสญิดทั้งสาม) เป็นสิ่งที่ขัดกับศาสนบัญญัติตามทัศนะของอิมามทั้งสี่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ท่านนบี (ศ) ยังได้สั่งห้ามอีกด้วยแล้ว ดังนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรกันที่จะอนุมัติให้เดินทางไปยังบ้านของสิ่งถูกสร้าง (หมายถึงผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว) ซึ่งกุโบรฺของพวกเขาได้ถูกทำให้เป็นมัสญิด เจว็ด และการเฉลิมฉลองไปเสียแล้ว”(อัลฟะตาวา อิบนุตัยมียะฮฺ)

คำตอบ
ประการแรก มีหลักฐานและข้อพิสูจน์ใดหรือที่บ่งชี้ว่าอิสลามมีข้อห้ามมิให้เดินทางไปซิยาเราะฮฺบ้านของอัลลอฮฺหรือมัสญิดทั้งหลายนอกจากมัสญิดทั้งสาม ซึ่งเราได้กล่าวไปแล้วว่าข้อห้ามตามริวายะฮฺข้างต้นนั้นถือเป็นข้อเตือนสติ (นะฮฺย์ตันซีฮีย์ หรืออิรฺชาดีย์) มิใช่ข้อห้ามในเชิงบัญญัติ(นะฮฺย์ตะหฺรีมีย์ หรือเมาละวีย์)แต่อย่างใด

ประการที่สอง อิบนุตัยมียะฮฺได้อ้างทัศนะของอิมามแห่งมัซฮับทั้งสี่ว่าพวกเขาถือเป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามในการกระทำดังกล่าว ในขณะที่เราไม่พบหลักฐานแม้แต่ชิ้นเดียวว่าท่านทั้งสี่มีทัศนะดังกล่าวจริงตามคำอ้างของเขา

ประการที่สาม สมมุติว่าเราให้การยอมรับว่า ศาสนบัญญัติไม่อนุมัติให้เดินทางไปซิยาเราะฮฺมัสญิดทั้งหลายนอกจากมัสญิดทั้งสามจริง ก็ไม่อาจจะหยิบยกมาเป็นหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่จะลบล้างให้การเดินทางไปยังบ้านของนบีซึ่งกุรอานได้กล่าวว่า “ในบ้านทั้งหลาย อัลลอฮฺทรงอนุมัติให้เทิดเกียรติและให้พระนามของพระองค์ถูกรำลึกอยู่ในสถานที่เหล่านั้นเสมอ ๆ” ว่าเป็นสิ่งหะรอมต้องห้าม ทั้งนี้ก็เพราะการที่พระองค์ทรงอนุมัติให้ทำการรำลึกพระองค์ในบ้านอันจำเริญเหล่านั้น ย่อมขัดกับความคิดที่ว่าพระองค์ทรงยับยั้งบ่าวมิให้เดินทางสู่สถานที่ดังกล่าว นอกจากนี้ การพิสูจน์ข้อห้ามด้วยเหตุผลดังกล่าวยังถือว่าเป็น “การอุปมานทั้งที่มิอาจเปรียบเทียบกันได้” หรือ “กิยาสมะอัลฟาริก” อีกด้วย เพราะถึงแม้ว่าบ้านของอัลลอฮฺที่นอกเหนือจากมัสญิดทั้งสามจะมีฐานภาพเท่าเทียมกันในด้านมรรคผลของการไปนมาซก็ตาม แต่ย่อมมีความแตกต่างกับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) และเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺที่มีมรรคผลอื่น ๆ ติดตามมาอย่างมากมาย เช่น การขอตะวัสสุลและอิสติฆอษะฮฺผ่านดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์และจำเริญของพวกเขาซึ่งมีหลักฐานและข้อพิสูจน์ว่าเป็นที่อนุมัติตามศาสนบัญญัติ

ประการที่สี่ “อิบนุตัยมียะฮฺ” กล่าวว่า “บรรดามุสลิมต่างยึดเอากุโบรฺอันบิยาอ์มาเป็น “เจว็ด” ของตน” คำถามก็คือใครกันหรือที่มีเจตนาเช่นนั้น ? และนี่มิใช่อื่นใด นอกจากเป็นการบิดเบือนและใส่ร้ายป้ายสีพี่น้องของตนเองอย่างน่าละอายใจที่สุด ดังที่เราได้พิสูจน์ผ่านมาแล้วในประเด็นเกี่ยวกับการอิสติฆอษะฮฺดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของเอาลิยาอ์แห่งอัลลอฮฺ

อุละมาอ์อะฮฺลุสสุนนะฮฺ กับการโต้ตอบอิบนุตัยมียะฮฺ
จากกรณีที่อิบนุตัยมียะฮฺเป็นหัวขบวนและเป็นตัวจุดชนวนคัดค้าน “ชัดดิริหาล” เพื่อการไปซิยาเราะฮฺเอาลิยาอ์ ซึ่งขัดแย้งกับทัศนะและวัตรปฏิบัติของมุสลิมเกือบทั้งหมดนี้เอง ด้วยเหตุนี้อุละมาอ์จำนวนมากจึงลุกขึ้นมาตอบโต้ทัศนะของเขา ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (อิบนุหัจญ์รฺ อัสเกาะลานีย์)

2. หาฟิซ ซะฮะบีย์
ในหนังสือ “สิยัรอะอฺลามุนนุบะลาอ์” “ซะฮะบีย์” ได้กล่าวตอบโต้อิบนุตัยมียะฮฺกรณีที่เขาถือว่าการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) เป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามดังนี้ว่า “สำหรับผู้ที่ได้ยืนเคียงข้างห้องอันจำเริญของท่านนบี (ศ) ด้วยความรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าและยอมจำนนพร้อมกับกล่าวสลามหรือขอความสันติแด่ท่านนบี (ศ) นั้น ช่างโชคดีเสียนี่กระไรสำหรับบุคคลผู้นั้น (เพราะ) เขาได้ซิยาเราะฮฺด้วยสภาพที่ดีที่สุด และได้สำแดงความรักที่งดงามที่สุดออกมา และโดยแน่นอนยิ่ง เขาได้ให้การเคารพภักดีพระองค์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้ซิยาเราะฮฺจะได้รับทั้งรางวัลจากการซิยาเราะฮฺและรางวัลจากการกล่าวสลามแด่ท่านนบี (ศ) นั่นเอง และบุคคลใดกล่าวขอความสันติแด่ท่านนบี (ศ) หนึ่งครั้ง อัลลอฮฺจะทรงประทานสิบความสันติแก่เขา แต่สำหรับผู้ที่ซิยาเราะฮฺท่านนบี (ศ) โดยปราศจากมารยาทที่ดีงามในการซิยาเราะฮฺ หรือได้สัจญ์ดะฮฺ (กราบ) บนกุโบรฺ หรือปฏิบัติสิ่งที่มิได้รับการอนุมัติตามศาสนบัญญัติ เท่ากับเขาได้ปฏิบัติอะมัลที่ดีควบคู่กับอะมัลที่เลว ซึ่งจำเป็นต้องให้การศึกษาแก่เขาด้วยความรักความเมตตา ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ! การที่มุสลิมคนหนึ่งกู่ก้องร้องตะโกนก็ดี จูบที่ผนังกำแพงก็ดี หรือร้องห่มร้องไห้อย่างหนักก็ดี เขามิได้กระทำลงไปเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อสำแดงความรักต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์เท่านั้น และ “ความรักที่มีต่อท่านนบี (ศ)” คือมาตรวัดหรือบรรทัดฐานที่จะจำแนกระหว่างชาวสวรรค์กับชาวนรกนั่นเอง ดังนั้น การซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) จึงถือเป็นอะมัลที่ประเสริฐที่จะมีผลทำให้ได้ใกล้ชิดอัลลอฮฺ และสมมุติว่าเรายอมรับว่าการตระเตรียมสัมภาระเพื่อเดินทางไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺอันบิยาอ์และเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺเป็นการกระทำที่ไม่มีอยู่ในศาสนบัญญัติตามหลักฐานและข้อพิสูจน์จากหะดีษที่กล่าวอย่างกว้าง ๆ ว่า “จงอย่า “ชัดดิริหาล” ยกเว้นเพื่อการเดินทางไปยังสามมัสญิดเท่านั้น” เราขอกล่าวว่า “การตระเตรียมสัมภาระเพื่อเดินทางไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) ก็คือการตระเตรียมสัมภาระเพื่อเดินทางไปซิยาเราะฮฺมัสญิดของท่าน (ศ) นั่นเอง ดังนั้น อันดับแรก ผู้ซิยาเราะฮฺจะเริ่มต้นแสดงความเคารพมัสญิดท่านนบี (ศ) หลังจากนั้นเขาจึงแสดงความเคารพผู้เป็นเจ้าของมัสญิด ขออัลลอฮฺทรงโปรดประทานปัจจัยยังชีพแก่เราและท่านทั้งหลายจากการซิยาเราะฮฺนี้ด้วยเทอญ อามีน”(สิยัรุอะอฺลามุนนุบะลาอ์ เล่ม 4 หน้า 484)

นอกจากนี้ “ชัยค์ชุอีบ อัรฺนาอูฏ” ได้อธิบายเพิ่มเติมทัศนะของซะฮะบีย์ว่า “เจตนารมณ์ของผู้เขียน (ซะฮะบีย์) ณ ที่นี้ ก็เพื่อที่จะโต้แย้งอิบนุตัยมียะฮฺผู้เป็นอาจารย์ของท่านที่มีความเชื่อว่าไม่เป็นที่อนุมัติให้ออกเดินทางโดยมีเจตนาที่จะไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) นั่นเอง”(สิยัรอะอฺลามุนนุบะลาอ์ เล่ม 4 หน้า 485)

ตอบโต้อิบนุตัยมียะฮฺเกี่ยวกับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺ
อุละมาอ์ร่วมสมัยกับอิบนุตัยมียะฮฺ ตลอดจนผู้อาวุโสในกลุ่มชนของเขาต่างออกมาคัดค้านและตอบโต้แนวความคิดอันบิดเบือนเกี่ยวกับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) ด้วยการเขียนหนังสือหรือตำราออกมาอย่างมากมาย เช่น

1. “ชะฟาอุสสิกอม ฟีซิยาเราะติค็อยริลอะนาม” โดย ตะกียุดดีน สุบกีย์
2. “อัดดุรฺเราะตุลมีฎียะฮฺ ฟิดร็อดดิ อะลา อิบนิตัยมียะฮฺ” โดย ตะกียุดดีน สุบกีย์
3. “อัลมะกอละตุลมัรฺฎียะฮฺ” โดย กอฎีลเกาะฎอต มาลิกียะฮฺ ตะกียุดดีน อบีอับดิลลาฮฺ อัคนาอีย์
4. “นัจญ์มุลมุฮฺตะดีย์ วะ ร็อจญ์มุลมุกตะดีย์” โดย ฟัครฺ อิบนุมุอัลลิม กุรฺชีย์
5. “ดัฟอุชชุบฮะฮฺ” โดย ตะกียุดดีน เศาะนีย์
6. “อัตตุหฺฟะตุลมุคตาเราะฮฺ ฟิดร็อดดิ อะลา มุนกิริซซิยาเราะฮฺ” โดย ตาญุดดีน ฟากิฮานีย์
7. “อัลเญาฮะรุลมะนัซซ็อม ฟิซิยาเราะติลก็อบริชชะรีฟินนะบะวิลมุกัรฺร็อม” โดย อิบนุหัจญ์รฺ มักกีย์


จำแนกระหว่างซิยาเราะฮฺที่อนุมัติ กับซิยาเราะฮฺบิดอะฮฺ
“ชัยค์บินบาซ” มุฟตีย์วะฮะบีย์แห่งราชสำนักซาอุดีฯ กล่าวว่า “ในความเป็นจริงแล้ว การซิยาเราะฮฺแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทแรก ถือเป็นที่อนุมัติ ในกรณีที่บุคคลหนึ่งไปซิยาเราะฮฺเพื่อขอดุอาอ์ให้แก่ชาวกุโบรฺที่เป็นญาติมิตรของเขา หรือการซิยาเราะฮฺจะทำให้เขาได้หวลรำลึกถึงอาคิเราะฮฺ

ประเภทที่สอง ถือเป็นบิดอะฮฺ ในกรณีที่บุคคลหนึ่งไปยังกุโบรฺเพื่อที่จะอ่านคัมภีร์อัลกุรฺอาน หรือนมาซ หรือทำกุรฺบานที่กุโบรฺ ถือว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นบิดอะฮฺและเป็นสื่อที่จะนำไปสู่การทำชิริก (ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ)

ประเภทที่สาม ถือเป็นการกระทำชิริกอักบัรฺ (การตั้งภาคีขั้นร้ายแรง) ในกรณีของการเชือดสัตว์พลีเพื่อถวายแก่ผู้ตาย หรือเพื่อแสวงความใกล้ชิดกับผู้ตาย หรือการเรียกผู้ตาย และการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้ตาย (ซึ่งเป็นสิ่งอื่น) นอกจากอัลลอฮฺในการไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ การกระทำดังกล่าวถือเป็นชิริกที่ยิ่งใหญ่ ขออัลลอฮฺทรงโปรดปกป้องเราให้พ้นจากการกระทำดังกล่าวด้วยเทอญ ด้วยเหตุนี้ จึงถือเป็นวาญิบที่จะต้องหลีกเลี่ยงจากการซิยาเราะฮฺที่เป็นบิดอะฮฺ และไม่มีข้อแตกต่างในระหว่างท่านนบี (ศ) หรือกัลยาณชน (ศอลิหีน) หรือใครก็ตาม ในการที่บุคคลหนึ่งจะเรียกร้อง (ในขณะซิยาเราะฮฺ) และถือว่าการกระทำต่อไปนี้อยู่ในจำพวกเดียวกับการการทำของพวกญาฮิลียะฮฺที่ เช่น การเรียกร้อง (ดะอาอ์) หรือขอความช่วยเหลือ (อิสติฆอษะฮฺ) จากท่านนบี (ศ) หรือการอยู่เคียงข้างกุโบรฺ (อิมาม) หุสัยน์ หรือบรรพชน (บะดะวีย์) หรือชัยค์อับดุลกอดิรฺ อัลญีลานีย์ หรือใครก็ตาม”(มัจญ์มูอฺฟะตาวา วะมะกอลาตมุตะเนาวิอะฮฺ บินบาซ เล่ม 4 หน้า 344)

คำตอบโต้
ประการแรก เราได้พิสูจน์มาก่อนหน้านี้แล้วว่าการอ่านคัมภีร์อัลกุรฺอานและการนมาซเคียงข้างกุโบรฺเอาลิยาอ์ของอัลลอฮฺถือเป็นข้ออนุมัติในอิสลาม ยิ่งไปกว่านั้น ยังถือเป็นอะมัลที่ประเสริฐอีกด้วย

ประการที่สอง ไม่มีมุสลิมคนใดที่มีความเชื่อว่าการเชือดกุรฺบานของเขาเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับผู้ตาย เพราะพวกเขาตระหนักดีว่าการพลีสัตว์นั้นจะต้องเป็นไปเพื่ออัลลอฮฺ ผู้ทรงเอกะเท่านั้น เพียงแต่พวกเขาหวังว่าษะวาบหรือมรรคผลจากอะมัลดังกล่าวจะส่งผลถึงวิญญาณของผู้ตายโดยผ่านการตะวัสสุล ทั้งนี้เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ผู้ทรงสูงส่งนั่นเอง

ประการที่สาม เราได้กล่าวอย่างคร่าว ๆ มาแล้วว่า การอิสติฆอษะฮฺหรือขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺโดยผ่านวิญญาณเอาลิยาอ์ของพระองค์นั้นไม่ถือเป็นชิริกอย่างแน่นอน ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมิใช่เป็นการร้องขอจากเอาลิยาอ์โดยตรง...............

“ชัยค์มุหัมมัด ซาฮิด เกาษะรีย์” อุละมาอ์จากมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัรฺแห่งอียิปต์กล่าวว่า “แท้จริง การที่อิบนุตัยมียะฮฺเพียรพยายามที่จะห้ามมิให้ประชาชนไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) นั้น ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนถึงความอคติและความอาฆาตพยาบาทซึ่งซุกซ่อนภายในจิตใจของเขาที่มีต่อท่านนบี (ศ) เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะจินตนาการไปได้อย่างไรกันว่าถือเป็นการทำชิริกหรือตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺสำหรับมุสลิมที่ไปซิยาเราะฮฺและขอตะวัสสุลจากอัลลอฮฺผ่านท่านนบี (ศ) ? มวลมุสลิมเชื่อว่าท่าน (ศ) มีสิทธิเหนือพวกเขา เชื่อว่าท่านคือบ่าวและศาสนทูตของอัลลอฮฺ และพวกเขาต่างรำลึกถึงท่าน (ศ) อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันด้วยการกล่าวนามชื่อของท่านในนมาซซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างน้อยที่สุดก็ 25 ครั้งในแต่ละวัน โดยปกติทั่วไปแล้ว ถ้าหากประชาชนกระทำบิดอะฮฺหรือประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาในศาสนา ผู้รู้หรืออุละมาอ์จะต้องตักเตือนและห้ามปราม และชี้นำพวกเขาให้กลับไปสู่แบบฉบับหรือสุนนะฮฺในการซิยาเราะฮฺหรืออะมัลอื่นที่นอกเหนือจากนี้ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังไม่มีอุละมาอ์ท่านใดที่ฟัตวาว่า การซิยาเราะฮฺและการตะวัสสุลของประชาชนเป็นการกระทำที่ชิริกหรือตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ใช่เลย บุคคลแรกที่กล่าวหาประชาชนที่กระทำสิ่งดังกล่าวว่าเป็นชิริกก็คือ “อิบนุตัยมียะฮฺ” นั่นเอง ยิ่งไปกว่านั้น เขายังนำเสนอหลักฐานและข้อพิสูจน์ว่าทรัพย์สินและเลือดของมุสลิมเหล่านี้เป็นที่หะลาล (อนุมัติ) ที่จะยึดและเข่นฆ่าสังหารได้อีกด้วย ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีพวกที่รับแนวความคิด (ที่ผิดเพี้ยน) ของอิบนุตัยมียะฮฺมาสานต่อในสังคมมุสลิม”(ตักมิละตุสสัยฟิศเศาะกีล หน้า 156)




วิถีเศาะหาบะฮฺ กับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ)

สตรีกับการซิยาเราะฮฺกุโบรฺ
พวกวะฮะบีย์ถือว่าไม่เป็นที่อนุมัติให้สตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังถือว่าเป็นที่หะรอมต้องห้ามอีกด้วย ! ส่วนสำหรับผู้ชายนั้น ถ้ามิใช่ “ชัดดิริหาล” หรือการออกเดินทางที่มีเจตนาจะไปซิยาเราะฮฺแล้ว พวกเขาถือว่าเป็นที่อนุมัติ

พวกวะฮะบีย์มีความเชื่อว่า “เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่ศาสนาอนุมัติให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ แต่ต้องหมายถึงกุโบรฺที่อยู่ในเมืองของตนเท่านั้น กล่าวคือ จะต้องมิใช่ลักษณะของการจัดเตรียมสัมภาระเพื่อการเดินทางไปซิยาเราะฮฺเพียงเพื่อจะเป็นบทเรียนหรืออุทาหรณ์สอนใจจาการซิยาเราะฮฺนั้น”(ลิลญันนะติดดาอิมะฮฺ เล่ม 1 หน้า 288)

“ชัยค์บินบาซ” กล่าวว่า “ไม่เป็นที่อนุมัติให้สตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ทั้งนี้เนื่องจากท่านนบี (ศ) ได้เคยสาปแช่งสตรีกลุ่มหนึ่งที่ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ อีกประการหนึ่งก็คือเนื่องจากสตรีชอบสร้างฟิตนะฮฺ และขีดความอดทนของพวกนางมีอย่างจำกัดนั่นเอง ดังนั้น จึงถือเป็นความโปรดปรานและพระมหากรุณาธิคุณของอัลลอฮฺที่พระองค์ทรงห้าม (หะรอม) มิให้สตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ทั้งนี้เพื่อที่จะสกัดกั้นมิให้พวกนางเข้าไปสร้างฟิตนะฮฺ หรือสกัดกั้นมิให้บุคคลอื่นเข้าไปสร้างฟิตนะฮฺกับพวกนาง”(มัจญ์มูอฺฟะตาวา บินบาซ เล่ม 2 หน้า 757)

นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า “มีหลักฐานเป็นที่ชัดเจนว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้เคยสาปแช่งสตรีกลุ่มหนึ่งที่ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ โดยมีหะดีษที่รายงานจาก“อิบนุอับบาส”, “อบูฮุร็อยเราะฮฺ” และ “หัสสาน อิบนุษาบิต อันศอรีย์” และจากหะดีษดังกล่าวนี้เองที่อุละมาอ์นำมาใช้เป็นข้อวินิจฉัยว่าการซิยาเราะฮฺกุโบรฺสำหรับสตรีเป็นสิ่งต้องห้าม ด้วยเหตุผลที่ว่าการสาปแช่งจะทำได้เฉพาะในกรณีมีการกระทำสิ่งหะรอมต้องห้ามเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังบ่งชี้ว่าการซิยาเราะฮฺถือเป็นการกระทำบาปที่ร้ายแรงอย่างมหันต์ ดังนั้น ที่ถูกต้องก็คือการซิยาเราะฮฺกุโบรฺของสตรีถือเป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามอย่างชัดเจน หาใช่แค่เพียงมักโรฮฺหรือสิ่งที่น่ารังเกียจเท่านั้น และสาเหตุที่แท้จริงของคำสั่งห้ามดังกล่าวซึ่งอัลลอฮฺเท่านั้นคือผู้ทรงรอบรู้ (วัลลอฮุอะอฺลัม) ก็คือโดยปกติแล้วสตรีจะมีขีดความอดทนที่จำกัด บางครั้งพวกนางจะร้องไห้คร่ำครวญ (แบบตีโพยตีพาย) หรือกระทำที่คล้ายคลึงกันนี้ที่ไม่สอดคล้องกับความอดทนซึ่งวาญิบที่มนุษย์จะต้องมีความอดทน และสตรีจะสร้างฟิตนะฮฺ

ด้วยเหตุนี้ การซิยาเราะฮฺกุโบรฺของพวกนาง และการติดตามญะนาซะฮฺ (แห่ศพไปยังกุโบรฺ) ของพวกนาง บางครั้งจะมีผลทำให้พวกนางถูกล่อลวงจากพวกผู้ชายได้ หรือบางทีอาจเป็นไปได้ว่าพวกผู้ชายอาจจะถูกล่อลวง (ยั่วยวน) จากพวกนางได้เช่นกัน ในขณะที่บทบัญญัติอิสลามถูกประทานลงมาเพื่อปกป้องและปิดกั้นหนทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียและการสร้างฟิตนะฮฺอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งถือเป็นความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อปวงบ่าวของพระองค์ นอกจากนี้ ยังมีหะดีษที่ชัดเจนจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ยังได้วจนะไว้อย่างชัดเจนในหะดีษบทหนึ่งว่า “ฉันไม่ปรารถนาให้ฟิตนะฮฺที่จะเกิดจากเหล่าสตรีมีความเสียหายร้ายแรงกว่าพวกบุรุษภายหลังจากฉัน” ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างเอกฉันท์ถึงความเศาะหี๊หฺของหะดีษบทนี้... ส่วนกรณีที่ฟุเกาะฮาอ์ (นักกฎหมายอิสลาม) อ้างว่าการซิยาเราะฮฺกุโบรฺท่านนบี (ศ) และกุโบรฺของเศาะหาบะฮฺทั้งสองของท่านถือเป็นข้อยกเว้นนั้น เป็นข้ออ้างที่ปราศจากหลักฐานและที่มาอย่างสิ้นเชิง ที่ถูกต้องก็คือข้อห้ามดังกล่าวครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้งกุโบรฺของท่านนบี (ศ) และเศาะหาบะฮฺทั้งสองด้วยเช่นกัน ซึ่งมีหลักฐานที่เชื่อถือได้” (มัจญ์มูอฺฟะตาวา บินบาซ เล่ม 2 หน้า 753 และ 754)

หลักฐานและช้อพิสูจน์ถึงการอนุมัติให้ซิยาเราะฮฺกุโบรฺ
หะดีษแรก เป็นหะดีษที่รายงานโดย “อับดุลลอฮฺ อิบนุอบีมลีกะฮฺ” ซึ่งเราได้กล่าวไปแล้วในคำตอบโต้ที่ห้าว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺรายงานว่าท่านนบี (ศ) ได้อนุมัติให้สตรีสามารถไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺได้ภายหลังจากที่ท่านเคยสั่งห้ามาก่อนหน้านั้น และด้วยเหตุนี้เองที่นางได้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺอับดุรฺเราะหฺมาน พี่ชายของนาง นอกจากนี้ท่านหญิงอาอิชะฮฺยังได้อาศัยหะดีษดังกล่าวเป็นคำตอบให้กับผู้ที่ถามนางเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว(มุสตัดร็อกหากิม เล่ม 1 หน้า 376 กิตาบุลญะนาอิซ) นอกจากนี้ ยังมีอุละมาอ์ท่านอื่นที่ถือว่าหะดีษดังกล่าวคือหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงข้ออนุมัติให้สตรีสามารถไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺได้ เช่น “เชากานีย์” ในหนังสือ “นัยลุลเอาฏอรฺ”(นัยลุลเอาฏอรฺ เล่ม 4 หน้า 164)เป็นต้น

หะดีษที่สอง หะดีษที่ “บัยฮะกีย์”(สุนันบัยฮะกีย์ เล่ม 4 หน้า 78 กิตาบุลญะนาอิซ) รายงานจาก “อนัส อิบนุมาลิก” ว่า “โดยแน่นอนยิ่ง เราได้พบหะดีษที่พิสูจน์ได้จากอนัส อิบนุมาลิก ว่าแท้จริง ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้เดินทางสตรีนางหนึ่งซึ่งกำลังร้องไห้อยู่ที่กุโบรฺ แล้วท่านนบี (ศ) ได้กล่าวกับนางว่า “จงสำรวมตนต่ออัลลอฮฺเถิด และจงอดทนเถิด”(อิอานะตุฎฎอลิบีน เล่ม 2 หน้า 142)

จากกรณีที่บัยฮะกีย์กล่าวว่า “โดยแน่นอนยิ่ง เราได้พบหะดีษที่พิสูจน์ได้จากอนัส อิบนุมาลิก” นี้เอง ถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงความถูกต้องของสะนัดหรือสายรายงานของหะดีษ ทั้งนี้เนื่องจากประโยคที่ว่า “เป็นที่พิสูจน์แล้วว่ามาจากอนัส อิบนุมาลิก” ถือเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าเป็นหะดีษที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากอนัส อิบนุมาลิก ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้เดินผ่านสตรีนางหนึ่งที่กำลังร้องไห้อยู่ที่กุโบรฺแห่งหนึ่ง แล้วท่านได้กล่าวกับนางว่า “จงสำรวมตนต่ออัลลอฮฺเถิด และจงอดทนเถิด” โดยมิได้บ่งบอกว่าท่านได้ห้ามปรามนางและสั่งให้นางออกจากกุโบรฺแต่อย่างใด

นอกจากนี้ “บักรีย์ ดิมยาฏีย์” ยังอาศัยหะดีษดังกล่าวเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่ามิได้มีคำสั่งห้ามสตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺโดยกล่าวว่า “หะดีษนี้ได้ถูกยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์”

นอกจากนี้ “มุหัมมัด อิบนุชัรฺบีนีย์ ชาฟิอีย์” ยังได้อาศัยหะดีษข้างต้นเพื่อพิสูจน์ถึงสิ่งดังกล่าวด้วยเช่นกัน

หะดีษที่สาม มุสลิมบันทึกในเศาะหี๊หฺของเขาว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺรายงานว่าอัลลออฺได้บัญชาให้ญิบเราะอีลกล่าวกับศาสนทูตของพระองค์ว่า “แท้จริง พระผู้อภิบาลของท่านได้บัญชาใช้ให้ท่านไปยังกุโบรฺบะกีอฺเพื่อขออภัยโทษให้แก่พวกเขา นางจึงกล่าวว่า ฉันจึงถามท่านว่า ”จะให้ฉันกล่าวกับพวกเขาอย่างไร (ในการไปซิยาเราะฮฺ) โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ท่าน (ศ) จึงกล่าวว่า “จงกล่าวว่า “ศานติพึงมีแด่ชาวกุโบรฺทั้งมุอ์มินีนและมุสลิมีนด้วยเทอญ.....”(เศาะหี๊หฺมุสลิม บิชัรฺหินะวะวีย์ หน้า 7 กิตาบุลญะนาอิซ)

หะดีษข้างต้นบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าอัลลอฮฺทรงบัญชาใช้ให้เราะสูลของพระองค์ไปยังกุโบรฺบะกีอฺเพื่อขออภัยโทษให้แก่พวกเขา แล้วท่านหญิงอาอิชะฮฺจึงได้ถามท่าน (ศ) ว่า “จะให้ฉันกล่าวกับพวกเขาอย่างไรหรือ ?” ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) จึงได้สอนวิธีการซิยาเราะฮฺและการให้สลามแก่ชาวกุโบรฺบากีอฺให้แก่นาง ซึ่งหะดีษนี้ยังบงชี้ถึงข้ออนุมัติให้สตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺเอาไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย

“นะวะวีย์” ผู้อรรถาธิบายตำราเศาะหี๊หฺมุสลิม กล่าวว่า “หะดีษนี้ถือเป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ว่าเป็นที่อนุมัติให้สตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวมีความขัดแย้งกันในระหว่างอัศหาบของเราในสามประเด็นด้วยกันคือ กลุ่มหนึ่งถือว่าเป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามเนื่องจากมีหะดีษที่กล่าวว่า “ขออัลลอฮฺทรงสาปแช่งผู้ที่ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ” กลุ่มที่สองถือว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจหรือมักโรฮฺ และกลุ่มที่สามถือว่าเป็นที่อนุญาติ โดยกลุ่มนี้ได้ยึดหะดีษดังกล่าวข้างต้นมาเป็นข้อพิสูจน์ถึงการอนุมัติ” อิบนุหัจญ์ริ อัสกิลานีย์ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ถือว่าหะดีษดังกล่าวได้บ่งบอกถึงข้ออนุมัติให้สตรีสามารถไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺได้ โดยเขากล่าวว่า “หลักฐานและข้อพิสูจน์ที่บ่งบอกว่าอนุมัติให้สตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺได้ก็คือหะดีษที่มุสลิมรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮฺนั่นเอง” หลังจากนั้นเขาจึงกล่าวหะดีษข้างต้นนี้ (ตัลคีศุลหะบีรฺ เล่ม 2 หน้า 137)

นอกจากนี้ “บักรีย์ ชาฟิอีย์” ยังได้หยิบยกหลักฐานและข้อพิสูจน์ถึงการอนุมัติให้สตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺโดยไม่ถือเป็นสิ่งหะรอมต้องห้ามสำหรับพวกนางอีกด้วย (อิอานะตุฏฏอลิบีน เล่ม 2 หน้า 142)

นอกจากนี้ “มุหัมมัด อิบนุชัรฺบีนีย์ ชาฟิอีย์” ในหนังสือ “มุฆนิลมุหฺตาจญ์”(มุฆนิลมุหฺตาจญ์ เล่ม 1 หน้า 365) และ “อิบนุหะญัรฺ อัสกิลานีย์” ในหนังสือ “สุบุลุสสลาม”(สุบุลุสสลาม เล่ม 2 หน้า 579 และ 585) ยังได้นำหะดีษดังกล่าวนี้มาเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ถึงข้ออนุมัติให้สตรีไปซิยาเราะฮฺได้ด้วยเช่นกัน

หะดีษที่สี่ “หากิม” ได้รายงานด้วยสะนัดหรือสายรายงานจาก “ญะอฺฟัรฺ อิบนุมุหัมมัด (อิมามญะอฺฟัรฺ อัศศอดิก)” ซึ่งท่านได้รายงานจากบิดาของท่าน และบิดาของท่านได้รายงานมาจาก “อะลี อิบนุลหุสัยน์ (อิมามซัยนุลอาบิดีน)” ซึ่งท่านได้รายงานจากบิดาของท่าน (อลัยฮิมุสลาม) ว่า “แท้จริง ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บุตรีของท่านนบี (ศ) ได้เคยไปซิยาเราะฮฺท่านหัมซะฮฺ ผู้เป็นลุงของนางในทุก ๆ วันศุกร์ โดยนางจะนมาซและร้องไห้อยู่เคียงข้างหลุมฝังศพนั้น”(มุสตัดร็อกหากิม เล่ม 1 หน้า 377 กิตาบุลญะนาอิซ และ สุนันบัยฮะกีย์ เล่ม 4 หน้า 78 กิตาบุลญะนาอิซ)

นอกจากนี้ ในหนังสือ “ตัลคีศุลหะบีรฺ” ยังได้นำหะดีษนี้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ถึงข้ออนุมัติให้สตรีไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺอีกด้วย (ตัลคีศุลหะบีรฺ เล่ม 2 หน้า 137)

อย่างไรก็ตาม “อิบนุหะญัรฺ อิสกิลานีย์” กลับถือว่านี่เป็นหะดีษมุรฺสัล (หะดีษที่มีสายรายงานไม่ต่อเนื่อง) ทั้งนี้เนื่องจากอะลี อิบนุลหุสัยน์ มิได้อยู่ในยุคของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บินติมุหัมมัด (ศ) นั่นเอง (สุบุลุสสลาม เล่ม 2 หน้า 579 และ 580)

คำตอบในที่นี้ก็คือ “หากิมรายงานหะดีษนี้จาก “อะลี อิบนุลหุสัยน์” จากบิดาของท่าน ซึ่งถือเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “หุสัยน์ อิบนุอะลี” คือบุตรชายของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (ส) และท่านมีชีวิตอยู่ร่วมสมัยกับมารดาของท่าน ดังนั้น จึงถือว่าเป็นหะดีษ “มุสนัด” หาใช่ “มุรฺสัล” ดังที่อิบนุหะญัรฺ อัสกิลานีย์ กล่าวแต่อย่างใดไม่

หะดีษที่ห้า หะดีษที่ “มุสลิม” รายงานจาก “อุมมุอะฏียะฮฺ” ว่า “นางได้กล่าวว่า “เรา (สตรีทั้งหลาย) ถูกสั่งห้ามมิให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ แต่มิได้เป็นคำสั่งห้ามขั้นเด็ดขาด (หรือถือเป็นสิ่งหะรอม กล่าวคือมิได้ถือเป็นคำสั่งห้ามอย่างสิ้นเชิง แต่ยังมีข้ออนุมัติอยูด้วย) (อัลมุฆนิลมุหฺตาจญ์ เล่ม 2 หน้า 430 และ อัชชัรฺหุลกะบีรฺ เล่ม 2 หน้า 427)

การยึดถือหะดีษที่กล่าวโดยภาพรวม (อุมูมตะอฺลีลฟิรฺริวายาต)
หะดีษที่กล่าวอย่างกว้าง ๆ ถึงสุนัตหรือมุสตะหับในการไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺนั้นมีนัยที่ครอบคลุมทั้งชายและหญิง มิได้เจาะจงเฉพาะผู้ชายแต่อย่างใด ดังที่เราจะนำเสนอตัวอย่างบางส่วนต่อไปนี้

1. ท่านนบี (ศ) ได้วจนะว่า “ฉันเคยสั่งห้ามท่านทั้งหลายมิให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ (ทว่า บัดนี้) ขอให้ท่านทั้งหลายไปซิยาเราะฮฺเถิด เพราะในนั้น (ซิยาเราะฮฺกุโบรฺ) มีอุทาหรณ์สอนใจ” (มุสตัดร็อกหากิม เล่ม 1 หน้า 375 – 377 กิตาบุลญะนาอิซ)

2. “จงไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺกันเถิด เพราะจะทำให้พวกท่านมีความสันโดษในโลกดุนยา และทำให้รำลึกถึงโลกอาคิเราะฮฺ” (อ้างแล้ว)
3. “จงไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺกันเถิด เพราะจะทำให้พวกท่านได้รำลึกถึงอาคิเราะฮฺ” (อ้างแล้ว)
4. “จงไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺกันเถิด เพราะจะทำให้พวกท่านได้รำลึกถึงความตาย” (อ้างแล้ว)
5. “จงไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺกันเถิด เพราะการซิยาเราะฮฺพวกเขาจะช่วยเพิ่มพูนความดีงามแก่ท่านทั้งหลาย”(อ้างแล้ว)
6. “(ในอดีต) ฉันเคยสั่งห้ามท่านทั้งหลายมิให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ (บัดนี้) พึงรู้ไว้เถิดว่า พวกท่านจงไปซิยาเราะฮฺกันเถิด เพราะจะทำให้หัวใจสงบมั่น ดวงตามีน้ำตาไหลหลั่ง และทำให้หวลรำลึกถึงอาคิเราะฮฺ แต่จงอย่ากล่าวถ้อยคำที่ไร้สาระ (ในขณะซิยาเราะฮฺ)”(อ้างแล้ว)

7. ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) วจนะว่า “(ในอดีต) ฉันเคยสั่งห้ามท่านทั้งหลายมิให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ (แต่บัดนี้) บุคคลใดที่ปรารถนาจะไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺ ก็จงไปเถิด เพราะมันจะทำให้หัวใจสงบมั่น ดวงตามีน้ำตาไหลหลั่ง และทำให้หวลรำลึกถึงอาคิเราะฮฺ”(อ้างแล้ว)

8. “อบูซัรฺ” กล่าวว่า “ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้กล่าวกับฉันว่า “จงไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺเถิด เพราะจะทำให้ท่านรำลึกถึงอาคิเราะฮฺ” (อ้างแล้ว หน้า 376 – 377 กิตาบุลญะนาอิซ)

สิ่งที่หะดีษดังกล่าวข้างต้นบ่งชี้ถึง “อิสติหฺบาบ” หรือสุนัตให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺนั้น เป็นการกล่าวอย่างกว้าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งชายและหญิง มิได้เจาะจงเฉพาะผู้ชายแต่อย่างใด และมาตรว่าคำสั่งใช้ให้ไปซิยาเราะฮฺกุโบรฺมีวิทยปัญญาซ่อนเร้นอยู่ วิทยปัญญานั้นก็หาได้เจาะจงเฉพาะผู้ชายเท่านั้น และเมื่อใดก็ตามที่คำสั่งใช้มีหิกมะฮฺหรือวิทยปัญญาอยู่ หุก่มหรือบทบัญญัติย่อมมีอยู่ด้วยเช่นกัน และไม่มีข้อแตกต่างระหว่างหิกมะฮฺกับอิลละฮฺ (เหตุผลหรือที่มา)