เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เทววิทยาอิสลาม บทที่ 7

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เทววิทยาอิสลาม บทที่ 7

สำนักคิดทางเทววิทยาอิสลาม

 

เมื่อศึกษาถึงสังคมมุสลิมในแง่มุมของนิติศาสตร์ และหลักฏิบัติศาสนกิจ ไม่ว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อปลีกย่อยของศาสนาหรือประเด็นปัญหาเชิงปฏิบัติพิธีกรรม

จะพบว่า มีกลุ่มและสำนักคิดหลายสำนักมีวิธีการปฎิบัติที่แตกต่างกัน เพราะเหตุนี้มุสลิมจึงถูกแบ่งออกเป็น มัซฮับ-นิกาย ต่างๆมากมาย เช่น

ชีอะฮ์สิบสองอิมาม

กลุ่มซัยดียะฮ์

สำนักคิดฮานาฟี

สำนักคิดชาฟีอี

สำนักคิดมาลิกี

สำนักคิดฮัมบาลี

ทุกนิกายเหล่านั้นมีทัศนะทางศาสนบัญญัติ(ฟิกฮ์)ที่เป็นเอกลักษณ์โดยเฉพาะ

ส่วนในด้านหลักความเชื่อและสิ่งที่เกี่ยวพันธ์กับหลักความเชื่อความศรัทธาก็เช่นกัน

ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มสำนักคิด ซึ่งทุกสำนักคิดเหล่านั้นมีพื้นฐานและหลักความเชื่อโดยเฉพาะของพวกเขาเอง

 

สำนักคิดทางเทววิทยาอิสลามที่สำคัญมีดังนี้

สำนักคิดชีอะฮ์

สำนักคิดมุอ์ตะซิละฮ์

สำนักคิดอะชาอิเราะฮ์

สำนักคิด มุรญิอะฮ์ และสำนักคิดอื่นๆ

 

ณ ที่นี้อาจจะมีคำถามหนึ่ง ที่น่ารันทดและขมขื่นยิ่งเกิดขึ้นสำหรับผู้อ่าน

นั่นคือว่า ทำไมมุสลิมจึงมีความแตกต่างในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาทางเทววิทยาและในปัญหาทางด้านนิติศาสตร์ ?

ทำไมจึงมีการแบ่งเป็นกลุ่มเป็นนิกาย เป็นสำนักคิดต่างๆ ?

ทำไมพวกมุสลิมได้สูญเสียความเป็นเอกภาพทางด้านหลักความเชื่อและปัญหาด้านศาสนบัญญัติ ?

ซึ่งความคัดแย้งกันทางด้านหลักความเชื่อ จนเป็นเหตุให้มุสลิมขาดความเป็นเอกภาพ

ส่วนความแตกต่างทางด้านบทบัญญัติ(ฟิกฮ์)เป็นเหตุให้พิธีกรรมของมุสลิมไม่อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ?

คำถามนี้ถือว่า ถูกต้อง แต่ก่อนสิ่งอื่นใดนั้น จำเป็นที่จะต้องชี้แจงสองประเด็น

 

ประเด็นแรก

 

ความขัดแย้งในระหว่างมุสลิมที่เกี่ยวกับปัญหาด้านความเชื่อและปัญหาด้านบทบัญญัติ(ฟิกฮ์) ไม่ได้ถึงขนาดที่ว่า เป็นเหตุให้พื้นฐานโครงสร้างแห่งเอกภาพทางด้านความเชื่อและวิถีปฏิบัติของพวกเขา ต้องสั่นคลอนไปทั้งหมด

 

ยังมีความเชื่อและการปฏิบัติอีกมากมายอันเป็นความเชื่อร่วมกันและพิธีกรรมที่ปฏิบัติเหมือนกันในระหว่างนิกายและสำนักคิดเหล่านั้น

ซึ่งเป็นหลักประกันและยืนยันได้ว่า การเกิดนิกายขึ้นในอิสลามหรือการมีสำนักทางเทววิทยานั้น ไม่ได้ทำลายโครงสร้างของอิสลามเลย

เพียงแต่ความขัดแย้งหรือความแตกต่างนั้นทำให้ศัตรูอิสลามนำมาสร้างวาทกรรมเพื่อทำลายประชาคมมุสลิม

 

ประเด็นที่สอง

 

ความขัดแย้งทางความคิดและทัศนะอันหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมมุสลิมทั่วไปที่มีเอกภาพและความคิดตรงกันทั้งหมด โดยพื้นฐานทางกระบวนการคิดถือเป็นสิ่งจำเป็น

ตราบใดที่พื้นฐานและรากเง้าของความขัดแย้งอยู่บนหลักการใช้เหตุผลไม่ใช่สิ่งอื่น

ในทางกลับกัน แท้จริงแล้วมันคือสิ่งมีคุณค่าด้วยซ้ำ หมายถึงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อน การถกเถียง การโต้ตอบ การค้นคว้าและการพัฒนา

ใช่แล้ว หากความขัดแย้งเกิดมาจากความอคติ และการเข้าข้างฝ่ายตนอย่างไร้เหตุผล

และปราศจากพื้นฐานทางตรรกะ ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง และเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่ม แทนที่จะเป็นการเกื้อหนุนให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขกลับเป็นการสนับสนุนให้แต่ละฝ่ายเกิดการเหยียดหยามใส่ร้ายป้ายสีและทะเลาะต่อกัน แน่นอนสิ่งนี้คือความเสื่อมเสียและมิใช่สิ่งพึงประสงค์

ในสำนักคิดชีอะฮ์ สำหรับเหล่าชีอะฮ์ชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมุจตะฮิดที่มีชีวิตอยู่

 

ส่วนบรรดามุจตะฮิดต้องคิดและวินิจฉัยความปัญหาต่างๆอย่างมีอิสระ และไม่ติดยึดอยู่เพียงแค่ทัศนะของผู้ทรงคุณวุฒิและปฎิบัติตามผู้อาวุโสโดยขาดเหตุผล

การวินิฉัยความและการมีเสรีภาพทางความคิดเป็นเหตุให้เกิดความแตกต่างทางความคิดและมีทัศนะทางวิชาการที่แตกต่างกันโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

แต่ทว่า ความขัดแย้งและทัศนะต่างๆเหล่านี้ กลับทำให้มีชีวิตชีวาและเกิดพลังการขับเคลื่อนไปข้างหน้าของนิติศาสตร์อิสลามตามแนวทางชีอะฮ์สิบสองอิมาม

ดังนั้นความขัดแย้งโดยตัวของมันเอง ไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายและประณามกันเลย

ความขัดแย้งที่ต้องถูกประณามคือ ความขัดแย้งที่เกิดมาจากจิตใจที่ประสงค์ร้ายต่อกัน และมีเป้าหมายอื่นแอบแฝง

หรือเกิดขึ้นมาจากประเด็นปัญหาที่แยกฐานทางเดินอันเป็นพื้นฐานของมุสลิมให้ออกจากกันต่างหาก เช่น

ปัญหาเรื่อง อิมามผู้นำภายหลังจากศาสดามุฮัมมัด(ศ) ไม่ได้ถือว่าเป็นปัญหาความขัดแย้งในสำนักคิดของอิสลามหรือมองว่าเป็นปัญหาปลีกย่อย

การที่เราจะศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนาทางความคิดของสังคมมุสลิมเพื่อจะได้รู้ว่า

อะไรคือข้อเท็จจริงของความขัดแย้ง? และมีเป้าประสงค์อันเกิดมาจากความไม่หวังดี และประสงค์ร้าย มีเป้าหมายอื่นแอบแฝงอยู่ ?

อะไรคือความมีอคติและรักในพวกพ้อง ? และจะได้รู้ว่าอะไรคือความขัดแย้งที่เป็นเรื่องธรรมดาและธรรมชาติของการวิวัฒนาการของสังคม ?

หรือเป็นสิ่งจำเป็นโดยธรรมชาติตามแนวทางกระบวนการใช้ความคิดเชิงเหตุผลของมุสลิม ?

และเช่นเดียวกัน การที่จะรู้ว่า ปัญหาทางด้านหลักศรัทธาทั้งหมดถือเป็นปัญหาพื้นฐานหรือว่าปัญหาเชิงปฎิบัติทางศาสนกิจ ตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม

ทั้งหมดถือว่า มิได้เป็นปัญหาพื้นฐาน ใช่หรือไม่ อย่างไร?

หรือว่า อาจเป็นไปได้ ในบางแง่มุมปัญหาปัญหาทางเทววิทยา ไม่ได้เป็นปัญหาพื้นฐานและบางแง่มุมปัญหาทางนิติศาสตร์คือพื้นฐาน

ปัญหาเหล่านี้อยู่นอกเหนือบทเรียนของเราในบทนี้ แต่ทว่านั่นคือสิ่งที่เราควรนำมาขบคิดเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ไม่ประณามกันและกัน

ก่อนที่เราจะพูดถึงสำนักคิดต่างๆทางเทววิทยาอิสลาม ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องชี้แจงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลกอิสลาม

นั่นคือ มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งมีทัศนะต่อต้านพื้นฐานการคิดแบบเทววิทยา หมายถึง การพิภาษและถกเถียงเชิงเหตุผลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาพื้นฐานด้านหลักศรัทธาของอิสลาม

และถือว่า เป็นเรื่องอุตริกรรมทางศาสนาขึ้นมาใหม่อีกทั้งไม่เป็นที่อนุมัติตามหลักศาสนา

 

คนกลุ่มนี้ถูกรู้จักในนามกลุ่มแนวคิดพวกจารีตนิยม หรือสำนักคิดอะฮ์ลุลฮะดีษ โดยการนำของท่าน “อะหมัด บิน ฮัมบัล” ผู้นำของสำนักคิดฮัมบาลี เป็นผู้อยู่ชั้นแนวหน้าของสำนักคิดนี้

 

ส่วนสำนักคิดมุอ์ตะซิละฮ์ สำนักคิดอะชาอิเราะฮ์ และสำนักคิดชีอะฮ์นั้นถือว่าการวิพากษ์วิจารณ์ การใช้ตรรกะในการอ้างอิง และการสนทนาทางศาสนาในสำนักต่อกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจและศึกษาต่อกันนั้นเป็นเรื่องสร้างสรรค์ ควรจะกระทำและอนุญาตให้กระทำได้ แต่มิใช่ถกกันเพื่อเอาชนะ

 

บทความโดย เชคญะวาด สว่างวรรณ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม