เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ทำไมต้องเราต้องมารำลึก กัรบะลาอ์ และอาชูรอ? ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


ทำไมต้องเราต้องมารำลึก กัรบะลาอ์ และอาชูรอ? ตอนที่ 2

และหากถามว่า ถ้าหากทุกๆ การปฏิบัติของมนุษย์เมื่อปฏิบัติเพื่อพระองค์แล้ว จะส่งผลอะไรแก่มนุษย์บ้าง?


ก่อนจะเข้าสู่คำตอบคำถามข้างต้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกๆ การปฏิบัติของมนุษย์จะมีผลสะท้อนของการปฏิบัตินั้นๆ ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของมนุษย์ว่าปฏิบัติเพื่อสิ่งใด ผลสะท้อนที่จะติดตามมาก็จะมีผลลัพธ์สัมพันธ์กับสิ่งนั้นๆ และอีกประการขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคนในการปฏิบัติอีกด้วย แน่นอนความสามารถของมนุษย์ทุกคนนั้นมีไม่เท่ากัน


ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้มีผลสะท้อนที่ไม่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างดวงไฟดวงหนึ่งมีขนาดกำลังไฟแค่ 150 วัตต์ ผลสะท้อนของมันก็มีแสงสว่างออกมาแค่กำลังไฟ 150 วัตต์ ต่างจากดวงไฟที่มีขนาดกำลังไฟ 300 วัตต์ อย่างแน่นอน แต่หากเรานำดวงไฟซึ่งมีขนาดกำลังไฟ 150 วัตต์ไปรวมกับดวงไฟที่มีขนาดกำลังไฟ 300 วัตต์ ผลสะท้อนที่ออกมาก็จะมีความสว่างมากยิ่งขึ้น ชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของความสัมพันธ์สิ่งเล็กหนึ่งกับสิ่งที่ใหญ่กว่า จะยิ่งเพิ่มความยิ่งใหญ่ขึ้น


ดังนั้นการปฏิบัติใดก็ตามหากมีการสัมพันธ์ไปยังอีกสิ่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง ผลสะท้อนที่จะติดตามมา คือความยิ่งใหญ่และสูงส่งของการปฏิบัตินั้นตามไปด้วยเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ตัวอย่างเช่น ความสามารถของนักยกน้ำหนัก ย่อมจะสามารถยกสิ่งที่มีน้ำหนักมากได้อย่างสบาย ต่างจากคนธรรมดาที่ไม่มีความสามารถจะยกสิงที่มีน้ำหนักได้อย่างสบายเหมือนนักยกน้ำหนัก


มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่เป็นของตัวเองทุกคน ทว่ามนุษย์ทุกคนมีขอบเขตที่ถูกจำกัดไว้ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าทุกการปฏิบัติของมนุษย์บนโลกนี้ย่อมมีผลสะท้อนที่มีขอบเขตจำกัดเช่นเดียวกัน เว้นเสียแต่ว่า การปฏิบัตินั้นของมนุษย์จะมีความสัมพันธ์ไปยังอีกสิ่งหนึ่งที่ไร้ขอบเขตเท่านั้น ผลลัพธ์ของการปฏิบัติจึงจะไร้ขอบเขตตามไปด้วย
และเรามีความเชื่อว่าพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) คือพระผู้ทรงไม่มีขีดจำกัดสำหรับพระองค์ พระองค์คือพระผู้ทรงไม่มีที่สิ้นสุด และเมื่อมนุษย์คนใดก็ตามที่เขาได้ปฏิบัติสิ่งใดก็ตามเพื่อพระองค์พระผู้ทรงไม่มีที่สิ้นสุดสำหรับพระองค์ แน่นอนยิ่งผลสะท้อนที่ออกมาจากการปฏิบัตินั้นก็จะไม่มีที่สิ้นสุดตามไปด้วย


และนั่นคือคำตอบของคำถามที่ว่า ถ้าหากทุกๆ การปฏิบัติของมนุษย์เมื่อปฏิบัติเพื่อพระองค์แล้ว จะส่งผลอะไรแก่มนุษย์บ้าง?
ดังนั้นคำตักเตือนหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงตักเตือนแก่มนุษย์ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่พระองค์ทรงตรัสว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ฉันขอเตือนพวกท่านเพียงข้อเดียวว่า พวกท่านจงยืนขึ้นเพื่ออัลลอฮ์ (ครั้งละ) สองคนและคนเดียว” เป็นคำตักเตือนที่สูงส่งยิ่งในการพัฒนาตนเองสำหรับมนุษย์ทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่ได้น้อมรับคำตักเตือนนี้ของพระองค์ และยืนหยัดเพื่อพระองค์


การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ) และบรรดาเหล่าวีรชนผู้กล้าหาญในแผ่นดินกัรบะลาอ์ คือการยืนหยัดต่อสู้เพื่อพระองค์ วีรกรรมของท่านอิมามฮูเซน (อ) ในวันอาชูรอคือการปกป้องศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง ดังนั้นการรำลึกถึงวีรกรรมที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อพระผู้เป็นเจ้าก็ย่อมมีผลสะท้อนที่ยิ่งใหญ่สำหรับผู้เข้าร่วมรำลึกอย่างแน่นอน และนี่ก็คือคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ทำไมการรำลึกถึงเหตุการณ์ในกัรบะลาอ์จึงยังคงไม่ลบเลือนไปจากมวลผู้ศรัทธา


ณ ตรงนี้ก็จะมีคำถามแย้งขึ้นมาอีกว่า แล้วการต่อสู้ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และการต่อสู้ของท่านอิมามอะลี (อ) ในสงครามต่างๆ ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อพระองค์ดอกหรือ? ไฉนจึงไม่มีการรำลึกในทุกๆ ปีอย่างยิ่งใหญ่เฉกเช่นสงครามที่กัรบะลาอ์?


คำตอบคือ แน่นอนยิ่งการต่อสู้ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และการต่อสู้ในสงครามต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ) คือการยืนหยัดต่อสู้เพื่อพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้นอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ แต่ทว่าสงครามต่างๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) กับสงครามต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ) นั้นมีความแตกต่างๆ กันอย่างลิบลับ กับสงครามในกัรบะลาอ์ ในกรณีของผู้ที่ร่วมในขบวนการการต่อสู้


บรรดาผู้ที่เข้าร่วมรบในสงครามต่างๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และบรรดาผู้ที่เข้าร่วมรบในสงครามต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ) พวกเขาทุกคนเข้าร่วมรบกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และท่านอิมามอะลี (อ) เพื่อพระผู้เป็นเจ้าทุกคนหรือเปล่า? นี่คือคำถาม แน่นอนไม่ทุกคน เพราะบางคนเข้าร่วมสงครามเพื่อหวังในทรัพย์สิน บางคนเข้าร่วมเพื่อเอาหน้า บางคนเข้าร่วมเพื่อให้ได้ถูกตราชื่อว่าเคยร่วมสมรภูมิรบกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) เท่านั้น


แน่นอนสงครามบะดัร สงครามอุฮุด สงครามซิฟฟีน และสงครามอื่นๆ ที่ถูกนำทัพโดยท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และท่านอิมามอะลี คือการยืนหยัดเพื่ออัลลอฮ์ (ซ.บ) เพียงพระองค์เดียว แต่ประเด็นอยู่ที่ผู้ร่วมรบ ผู้ร่วมขบวนการต่างหาก ในบางสงครามของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ท่าน (ศ) ออกคำสั่งว่าให้ยึดที่มั่นเอาไว้อย่าไปไหน สุดท้ายเขาก็ละทิ้งที่มั่นไปเพื่อยึดทรัพย์สินสงคราม บางสงครามของท่านอิมามอะลี (อ) ท่านอิมาม (อ) ออกคำสั่งว่า ไม่ต้องไปสนใจอัลกุรอานที่พวกเขาชูขึ้นที่ปลายหอก ฉันนี่แหละคืออัลกุรอานที่มีชีวิต พวกเขาต่างกล่าวว่า อิมามอะลี (อ) ไม่เอาอัลกุรอาน


เหล่านั้นคือสิ่งที่คุณลักษณะของผู้ร่วมในขบวนการต่อสู้ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และท่านอิมามอะลี (อ) พวกเขาไม่ได้ยอมรับในวิลายัต (อำนาจการปกครองของพระผู้เป็นเจ้า) ที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และท่านอิมามอะลี (อ) มี ถ้าหากพวกเขายอมรับ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนคำสั่งอย่างเด็ดขาด


มีสาวกคนหนึ่งของท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) กล่าวว่า “พวกท่านจงยืนขึ้นเพื่ออัลลอฮ์” ในโองการข้างต้นหมายถึงอะไร? ท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) กล่าวว่า “การยอมรับในวิลายัต (อำนาจการปกครองจากพระผู้เป็นเจ้า) ของเรา อะฮ์ลุลบัยต์ (อ)”


บทความโดยมัรฮูม เชคมาลิกี ภักดี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม