เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

จริยวัตรของท่านศาสนทูตในคัมภีร์อัลกุรอาน ตอนที่ 5

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

จริยวัตรของท่านศาสนทูตในคัมภีร์อัลกุรอาน ตอนที่ 5

 

    การมีอุปนิสัยใจคอที่นิ่มนวลของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ)

     

ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เป็นศาสนทูตที่มีอุปนิสัยใจคอที่นิ่มนวลและแสดงออกถึงความอ่อนน้อมต่อประชาชน อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงพรรณนาถึงคุณลักษณะของท่านว่า เป็นศาสนทูตที่มีความอ่อนน้อมและมีจิตใจเมตตา ความรุนแรง ความหยาบกระด้าง และกริยาท่าที่ที่ไม่ดีงามนั้นไม่มีในตัวท่าน ความมีมารยาทอันนิ่มนวลดังกล่าวนี้ถือเป็นความเมตตา (เราะฮ์มัต) หนึ่งจากพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงมอบให้แก่ท่าน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า

 

 فَبِمَا رَحْمَةٍ مِّنَ اللَّهِ لِنتَ لَهُمْ وَلَوْ كُنتَ فَظًّا غَلِيظَ الْقَلْبِ لَا

نفَضُّوا مِنْ حَوْلِكَ فَاعْفُ عَنْهُمْ وَاسْتَغْفِرْ لَهُمْ وَشَاوِرْهُمْ فِي الْأَمْرِ فَإِذَا عَزَمْتَ فَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُتَوَكِّلِينَ

          “เนื่องจากพระเมตตาจากอัลลอฮ์นั่นเองที่เจ้ามีความสุภาพอ่อนโยนต่อพวกเขา และหากเจ้าเป็นผู้หยาบคายและมีหัวใจแข็งกระด้างแล้ว แน่นอนยิ่งพวกเขาต้องแยกตัวออกไปจากรอบๆ เจ้าแล้ว ดังนั้นจงให้อภัยแก่พวกเขาเถิด และจงขออภัยโทษให้แก่พวกเขาด้วย และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้วก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้มอบหมายทั้งหลาย”

 

(อัลกรุอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 159)

 

       ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้บรรยายคุณลักษณะของท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) โดยอ้างคำพูดจากบิดาของท่านว่า : ท่านจะยิ้มแย้มและมีมารยาทที่นิ่มนวลอยู่ตลอดเวลา ไม่มีนิสัยหยาบกระด้าง การด่าทอไม่เคยปรากฏจากท่าน ท่านไม่เคยกล่าวตำหนิใครและจะไม่สรรเสริญยกย่องผู้ใดโดยไม่จำเป็น และท่านจะเบี่ยงเบนสายตาออกจากสิ่งที่ท่านไม่ชอบ

 

       ในหนังสือ “ซุนนะนุนนะบี” ได้รายงานโดยอ้างอิงจากหนังสือ “มะการิมุลอัคลาค” ของท่านฏ็อบริซี ว่า : ท่านศาสนทูตไม่เคยคิดแก้แค้นผู้ใด ในทางตรงกันข้าม ท่านจะให้อภัยต่อบรรดาผู้ที่ประทุษร้ายต่อท่าน ท่านเป็นศาสดาที่มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อมวลมุสลิม

 

                                      لَقَدْ جَاءَكُمْ رَسُولٌ مِّنْ أَنفُسِكُمْ عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُم بِالْمُؤْمِنِينَ رَءُوفٌ رَّحِيمٌ

          “แท้จริงมีศาสนทูตผู้หนึ่งจากพวกเจ้าได้มายังพวกเจ้า เขามีความทุกข์ใจในสิ่งที่พวกเจ้าประสพกับความทุกข์ยาก เป็นห่วงเป็นใยต่อพวกเจ้า อีกทั้งเป็นผู้มีความกรุณาและมีเมตตาจิตต่อบรรดาผู้ศรัทธา”

 

 (อัลกุรอานบทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 128)

 

      ไม่มีคำบรรยายใดที่สูงส่งไปกว่านี้อีกแล้วจากพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อบ่าวคนหนึ่งของพระองค์ ทุกๆ ความสวยงามของมารยาทที่จินตนาการได้นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงพรรณนาออกมาแด่ศาสนทูต (ซ็อลฯ) ด้วยสำนวนถ้อยคำที่แสนสั้น และพระองค์ได้ทรงสรรเสริญยกย่องท่านในฐานะผู้มีอุปนิสัยใจคอที่งดงาม มีคุณลักษณะและบุคลิกภาพอันยิ่งใหญ่ โดยทรงตรัสว่า

 

وَإِنَّكَ لَعَلَىٰ خُلُقٍ عَظِيمٍ

          “และแท้จริงเจ้าตั้งมั่นอยู่บนจริยธรรมอันยิ่งใหญ่”

 

(อัลกุรอานบท อัลกอลัม โองการที่ 4)

 

      ในโองการหนึ่งจากคัมภีร์อัลกุรอาน อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงกล่าวถึงท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ในฐานะความเมตตาหนึ่ง

 

وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ

          “และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเป็นความเมตตาแก่สากลโลก”

 

(อัลกุรอานบทอัลอัมบิยาอ์ โองการที่107)

 

      เจตนารมณ์ในการส่งท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ลงมา คือการนำสาส์นแห่งความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งมายังมนุษยชาติ ท่านมาเพื่อทำให้ตาน้ำแห่งความเมตตาได้ไหลริน และทำให้โลกทั้งผองได้ดื่มด่ำไปด้วยพระเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ในโลกอันสูงส่ง (อาลัม มะละกูต) ห้องเรียนของท่านคือห้องเรียนสุดท้ายในการแผ่ขยายความเมตตา (เราะฮ์มัต) และความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ของพระผู้เป็นเจ้าแก่ปวงบ่าวของพระองค์


เขียนโดย : รูยอคอน  ซอเดฮ์


แปล : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ


ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม