เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความพยายามในการสกัดกั้นการเผยแพร่ความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

ความพยายามในการสกัดกั้นการเผยแพร่ความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

อิมามอะลี (อ.) ผู้ถือกำเนิดในกะอ์บะฮ์

      คุณลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) เมื่อเทียบกับบรรดาซอฮาบะฮ์ (สาวก) คนอื่นๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือการที่ท่านมีความประเสริฐและคุณงามความดีต่างๆ มากมาย โดยที่แม้แต่บรรดานักวิชาการส่วนใหญ่ของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์เองก็ยอมรับในประเด็นนี้ ตัวอย่างเช่น ฮากิม นัยซาบูรี ได้เขียนโดยอ้างคำพูดของอะห์มัด อิบนิฮันบัลซึ่งกล่าวว่า :

 

 ما جاء لاحد من أصحاب رسول الله (صلى الله عليه وآله)، من الفضائل ما جاء لعلي بن أبي طالب (رضي الله عنه)

"ไม่มีความประเสริฐของซอฮาบะฮ์ (สาวก) คนใดของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่ (ถูกรายงาน) มาเหมือนกับสิ่งที่ (ถูกรายงาน) มาสำหรับท่านอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.)" (1)

      

หรือในอีกตัวอย่างหนึ่งจากฮากิม ฮัซกานี ได้เขียนโดยอ้างคำพูดของอะห์มัด อิบนิฮันบัลเช่นเดียวกันที่กล่าวว่า :

 

ما روي لأحد من أصحاب رسول الله (صلى الله عليه وآله وسلم) من الفضائل الصحاح ما روي لعلي بن أبي طالب

 

"ไม่มีความประเสริฐที่ถูกต้อง (ซอเฮี๊ยะฮ์) ถูกรายงานไว้สำหรับซอฮาบะฮ์ (สาวก) คนใดของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เหมือนกับสิ่งที่ถูกรายงานไว้สำหรับท่านอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.)" (2)

 

     ท่ามกลางความประเสริฐทั้งหมดของท่านอิมามอะลี (อ.) ที่มีรายงานไว้ในหนังสืออ้างอิงทั้งหลายนั้น ประการหนึ่งซึ่งนับว่าเป็นความประเสริฐที่สำคัญและน่ามหัศจรรย์มากที่สุดซึ่งไม่อาจมองข้ามไปได้โดยง่าย นั่นก็คือ การถือกำเนิดของท่านในอาคารกะอ์บะฮ์ และสิ่งนี้ก็เป็นที่รับรู้กันดีสำหรับทุกคน ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาพิจารณาดูตัวอย่างบางส่วนของคำรายงาน (ริวายะฮ์) ในแหล่งอ้างอิงของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์

 

การถือกำเนิดของอิมามอะลี (อ.) ในกะอ์บะฮ์ในหนังสืออ้างอิงของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์

 

1.ฮากิม นัยซาบูรี ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "อัลมุสตัดร็อก" ของตนว่า :

 

فقد تواترت الأخبار أن فاطمة بنت أسد ولدت أمیر المؤمنین علی بن أبی طالب کرم الله وجهه فی جوف الکعبة

 

"แน่นอนมีคำรายงานต่างๆ ที่มุตะวาติร (ถูกรายงานมาอย่างต่อเนื่องในแต่ละยุคซึ่งก่อให้เกิดความมั่นใจได้) ว่า ฟาฏิมะฮ์ บินติอะซัดได้ให้กำเนิดท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี บินอะบีฏอลิบ (ขออัลลอฮ์ทรงทำให้ใบหน้าของท่านมีเกียรติ) ในใจกลางอาคารกะอ์บะฮ์" (3)

 

2.ซิบฏ์ อิบนิเญาซี ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “ตัซกิร่อตุลค่อวาศ” ว่า :

 

وروی أن فاطمة بنت أسد کانت تطوف بالبیت وهی حامل بعلی (ع) فضربها الطلق ففتح لها باب الکعبة فدخلت فوضتعه فیها

 

"และมีรายงานว่า ฟาฏิมะฮ์ บินติอะซัต ขณะที่กำลังทำการฏอวาฟ (เดินเวียนรอบ) กะอ์บะฮ์ในสภาพที่นางตั้งครรภ์อะลี (อ.) นั้น นางได้เจ็บครรภ์ แล้วประตูกะอ์บะฮ์ก็ได้ถูกเปิดให้แก่นาง นางจึงได้เข้าไปและให้กำเนิดท่านอะลีในนั้น" (4)

 

3.มัสอูดี สังกัดมัสฮับชาฟิอี ได้เขียนเกี่ยวกับการถือกำเนิดของท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า :

 

وکان مولده فی الکَعبة .

"สถานที่ถือกำเนิดของท่านอะลี (อ.) คือในอาคารกะอ์บะฮ์" (5)

 

4.กันญี ชาฟิอี ได้เขียนไว้ในหนังสือ "กิฟายะตุฏฏอลิบ" ว่า :

 

ولد أمیر المؤمنین علی بن أبی طالب بمکة فی بیت الله الحرام لیلة الجمعة لثلاث عشرة لیلة خلت من رجب سنة ثلاثین من عام الفیل ولم یولد قبله ولا بعده مولود فی بیت الله الحرام سواه إکراما له بذلک ، وإجلالا لمحله فی التعظیم

 

"ท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ถือกำเนิดที่มักกะฮ์ในบัยตุลลอฮิลฮะรอม ในคืนวันศุกร์ที่สิบสามของเดือนรอญับ หลังจากปีช้างสามสิบปี และไม่มีผู้ใดทั้งก่อนหน้าและหลังจากท่านถือกำเนิดในบัยตุลลอฮิลฮะรอมเลยนอกจากท่าน ทั้งนี้เป็นการให้เกียรติท่านด้วยสิ่งนั้นและเป็นการยกย่องเชิดชูความยิ่งใหญ่เนื่องจากสถานที่ (กำเนิด) ของท่าน" (6)

 

      ดังนั้นเรื่องราวการถือกำเนิดของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ในอาคารกะอ์บะฮ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงหนึ่งที่ได้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงแต่ชีอะฮ์เท่านั้นที่เชื่อมั่นในเรื่องนี้ ทว่าพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์เองก็ยอมรับในเรื่องนี้เช่นกัน ดังที่มีการอธิบายรายละเอียดของเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “อัลฆอดีร”

 

การสกัดกั้นการเผยแพร่ความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

      ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติน้อยนักที่จะพบเห็นบุคคลที่มีสถานภาพอันสูงส่งอย่างเช่นท่านอิมามอะลี (อ.) ที่ทั้งมิตรและศัตรูต่างพยายามที่จะอำพรางและปิดบังความประเสริฐของท่าน แต่กระนั้นก็ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) และการกล่าวถึงความดีงามและความประเสริฐต่างๆ ของท่านก็ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างมากมาย

 

      ศัตรูที่มีความเกลียดชังและความเป็นปฏิปักษ์ต่อท่านอยู่ในหัวใจนั้น พวกเขาจะใช้ความอุตสาห์พยายามในการปกปิดสถานภาพของท่านอันเกิดจากความประสงค์ร้าย และมิตรที่มีความรักต่อท่านอย่างเปี่ยมล้นหัวใจ เนื่องจากความหวั่นกลัวต่อการถูกทำร้ายและการประหัตประหารจากฝ่ายผู้ปกครอง ก็ไม่มีหนทางอื่นใดนอกจากต้องปิดปากเงียบและไม่แสดงความรักและความเสน่หาต่อท่านออกมาให้ใครเห็นและจะไม่พูดสิ่งใดเกี่ยวกับท่าน

 

      ความพยายามต่างๆ อย่างไร้ความเป็นสุภาพบุรุษของบนีอุมัยยะฮ์ในการที่จะลบร่องรอยผลงานและความประเสริฐต่างๆ ของครอบครัวท่านอิมามอะลี (อ.) นั้นเป็นเรื่องที่ไม่อาจลืมเลือนได้ เพียงพอแล้วสำหรับคนที่สงสัยว่ารักท่านอิมามอะลี (อ.) และบุคคลสองคนที่อยู่ในสายของระบอบปกครองอันอัปยศในช่วงเวลานั้นได้ยืนยันถึงความเป็นมิตรและความรักของเขาที่มีต่อท่านอิมามอะลี (อ.) เขาผู้นั้นก็จะถูกตัดชื่อออกจากรายชื่อของเจ้าหน้าที่ของรัฐและสิทธิต่างๆ ของพวกเขาจะถูกตัดออกจากกองคลัง (บัยตุลมาล)

 

       มุอาวิยะฮ์ได้กล่าวในหนังสือเวียนฉบับหนึ่งของเขาที่ส่งถึงบรรดาผู้ปกครองหัวเมืองและผู้บัญชาการของตนเช่นนี้ว่า :

 

انْظُرُوْا إِلَى مَن قَامَتْ عليهِ الْبَيِّنَةُ أنَّهُ يُحِبُّ عَلِيًّا وَ أهْلَ بَيْتِهِ فَامْحُوْهُ مِنَ الدِّيوَانِ وَ أسْقِطُوا عَطَاءَهُ وَ رِزْقَهُ

 

“จงพิจารณาดูบุคคลที่หากมีพยานยืนยันว่า เขารักอะลีและอะฮ์ลุลบัยติ์ (ครอบครัว) ของเขา ดังนั้นก็จงถอดชื่อเขาออกจากรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและจงทำให้เขาหมดสิทธิ์จากการได้รับสิทธิประโยชน์และปัจจัยดำรงชีพของเขา” (7)

 

       ในหนังสือเวียนอีกฉบับหนึ่งเขาคิดก้าวไกลไปกว่านั้น โดยได้ออกคำสั่งด้วยการเน้นย้ำว่า :

 

مَنْ اتَّهَمْتُمُوْهُ بِمُوَالاَةِ هَؤُلاَءِ القَوْمِ فَنَكِّلُوْا بِهِ وَ اهْدِمُوْا دَارَهُ

 

“บุคคลใดก็ตามที่พวกเจ้าสงสัยว่าเขาเป็นมิตรกับกลุ่มคนเหล่านั้น (หมายถึงครอบครัวของท่านอะลี)  พวกเจ้าก็จงลงโทษทรมานเขาและจงทำลายบ้านเรือนของเขา” (8)

 

       ผลจากคำสั่งนี้ ทำให้ชาวอิรักและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวกูฟะฮ์ได้ตกอยู่ในสภาพของการถูกกดดันถึงขั้นที่ว่า ไม่มีชีอะฮ์คนใดกล้าที่จะเปิดเผยความลับของตัวเองแม้แต่กับมิตรสหายของตน เนื่องจากหวั่นกลัวต่อสายลับของมุอาวิยะฮ์ นอกจากกับบุคคลที่สาบานว่าจะไม่เปิดเผยความลับของเขาแก่ใคร (9)

 

       ท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) ได้กล่าวว่า :  

 

وَكَانَ عِظَمُ ذَلِكَ وَكِبْرُهُ زَمَنَ مُعَاوِيَةَ بَعْدَ مَوْتِ الحَسَنِ عَلَيْهِ السَّلاَمُ فَقُتِلَتْ شِيعَتُنَا بِكُلِّ بَلْدَةٍ وَقُطِّعَتِ الاَيْدِي‌ وَالاَرْجُلُ علی الظِّنَّةِ. وَكَانَ مَنْ يُذْكَرُ بِحُبِّنَا وَالانْقِطَاعِ إلینَا سُجِنَ أَوْ نُهِبَ مَالُهُ أَوْ هُدِمَتْ دَارُهُ. ثمَّ لَمْ يَزَلِ البَلاَءُ يَشْتَدُّ وَيَزْدَادُ إلی‌ زَمَانِ عُبَيْدِاللَهِ بْنِ زِيادٍ قَاتِلِ الحُسَيْنِ عَلَيْهِ السَّلاَمُ.ثُمَّ جَاءَ الْحَجَّاجُ فَقَتَلَهُمْ كُلَّ قَتْلَةٍ وَ أَخَذَهُمْ بِكُلِّ ظِنَّةٍ وَ تُهَمَةٍ حَتَّى إِنَّ الرَّجُلَ لَيُقَالُ لَهُ زِنْدِيقٌ أَوْ كَافِرٌ أَحَبُّ إِلَيْهِ مِنْ أَنْ يُقَالَ شِيعَةُ عَلِيٍّ عَلَيْهِ السَّلاَمُ

 

“ความเลวร้ายและความหนักหน่วงของสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ในยุคของมุอาวิยะฮ์ ภายหลังจากการเสียชีวิตของท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) โดยที่ชีอะฮ์ของเราในทุกเมืองได้ถูกฆ่าและถูกตัดมือตัดเท้าเพียงแค่ถูกสงสัย และใครก็ตามที่ถูกกล่าวว่ามีความรักต่อเราและมีใจจดจ่ออยู่กับเรา เขาจะถูกจำคุกหรือทรัพย์สินของเขาจะถูกแย่งชิงหรือบ้านเรือนของเขาจะถูกทำลาย ต่อจากนั้นการทดสอบ (บะลาอ์) ก็ยังคงรุนแรงและเพิ่มมากขึ้นจนถึงสมัยของอุบัยดิลาฮ์ อิบนิซิยาด ผู้สังหารท่านอิมามฮุเซน (อ.) ต่อจากนั้นฮัจญาจ (บินยูซุฟ) ได้มา (สู่อำนาจ)  เขาก็ได้เข่นฆ่าพวกเขา (ชาวชีอะฮ์) ด้วยทุกวิธีการและจับกุมพวกเขาด้วยทุกข้อสงสัยและคำกล่าวหา จนกระทั่งว่า ผู้คนจะถูกกล่าวแก่เขาว่าเป็น “ซินดีก” (ผู้ปฏิเสธพระเจ้า) หรือเป็น “กาฟิร” (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) ย่อมเป็นที่ชอบสำหรับเขายิ่งกว่าการที่เขาจะถูกกล่าวถึงว่าเป็น “ชีอะฮ์” ของอะลี (อ.)” (10)

 

       อัซกาฟี ได้เขียนไว้ในหนังสือ “นักฎุ อุษมานียะฮ์” ว่า : รัฐบาลอะมาวียะฮ์ และอับบาซียะฮ์มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อความประเสริฐต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ.) และเพื่อที่จะสกัดกั้นการเผยแพร่ความประเสริฐต่างๆ ของท่าน พวกเขาจะเรียกบรรดานักวิชาการศาสนา นักรายงานฮะดีษและผู้พิพากษาเข้าพบ และออกคำสั่งแก่พวกเขาว่าจะต้องไม่พูดและรายงานสิ่งใดเกี่ยวกับความประเสริฐของอิมามอะลี (อ.) ด้วยเหตุนี้เองนักรายงานฮะดีษกลุ่มหนึ่งจึงต้องพูดถึงความประเสริฐและความดีงามของท่านอิมามอะลี (อ.) โดยไม่เอ่ยถึงชื่อของท่านโดยตรง แต่จะกล่าวว่า : "ชายคนหนึ่งจากกุเรชทำเช่นนั้นทำเช่นนี้!" (11)

 

       อิบนุอบิลหะดีดได้เขียนว่า :

 

و کتب معاویة إلى عماله فی جمیع الآفاق ألا یجیزوا لأحد من شیعة علی و أهل بیته شهادة                   

“มุอาวิยะฮ์ได้เขียนถึงบรรดาผู้แทนทางการเมืองของตนในหัวเมืองต่างๆ ของแผ่นดินอิสลามเป็นครั้งที่สามว่า พวกเขาจะต้องไม่ยอมรับการเป็นพยาน (ชะฮาดะฮ์) ของบรรดาชีอะฮ์ของอะลีในทุกเรื่อง!” (12)

 

       แต่แม้จะมีการเข้มงวดและการกดดันต่างๆ สักเพียงใด ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ ดังนั้นมุอาวิยะฮ์จึงเขียนจดหมายเวียนไปถึงผู้ปกครองหัวเมืองทั้งหลายของตนเป็นครั้งที่สี่ว่า :

 

انظروا من قبلکم من شیعة عثمان و محبیه و أهل ولایته و الذین یروون فضائله

و مناقبه فادنوا مجالسهم و قربوهم و أکرموهم و اکتبوا لی بکل ما یروی کل رجل منهم و اسمه و اسم أبیه و عشیرته

 

“จงพิจารณาดูชีอะฮ์ (พวกพ้อง) ของอุษมาน ผู้ที่รักเขา ผู้ที่ยอมรับในอำนาจปกครอง (วิลายะฮ์) ของเขาและบรรดาผู้ที่รายงานความประเสริฐและคุณงามความดีของเขาที่อยู่ ณ พวกเจ้า จงเข้าร่วมในที่ชุมนุม (มัจญ์ลิส) ของพวกเขา จงเข้าใกล้ชิดพวกเขาและให้เกียรติพวกเขาและจงเขียนทุกสิ่งที่ทุกคนจากพวกเขารายงานไว้ รวมทั้งชื่อของเขา ชื่อบิดาของพวกเขาและเครือญาติใกล้ชิดของพวกเขาส่งไปให้ฉัน (เพื่อฉันจะตอบแทนรางวัลแก่พวกเขา)” (13)

 

      คำมั่นสัญญาดังกล่าวนี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้ในทุกเมืองมีการอุปโลกน์ฮะดีษเกี่ยวกับความประเสริฐของอุษมานกันอย่างคึกคัก และบรรดานักรายงานฮะดีษได้แสวงหาความมั่งคั่งด้วยกับการปลอมแปลงฮะดีษเกี่ยวกับความประเสริฐของคอลิฟะฮ์ที่สาม  สิ่งดังกล่าวดำเนินไปจนกระทั่งถึงขั้นที่ตัวมุอาวิยะฮ์เอง รู้สึกไม่สบายใจต่อการเผยแพร่ความประเสริฐที่ไร้มูลฐานของความเป็นจริงและน่าสะอิดสะเอียนนี้ จนต้องออกคำสั่งให้หยุดการรายงานเกี่ยวกับความประเสริฐของอุษมานและให้เปลี่ยนมารายงานความประเสริฐของคอลีฟะฮ์ที่หนึ่งและที่สองรวมทั้งซอฮาบะฮ์คนอื่นๆ แทน  และหากนักรายงานฮะดีษคนใดได้รายงานเกี่ยวกับความประเสริฐของอบูตุร๊อบ (อิมามอะลี) พวกเขาก็จะอุปโลกน์และเผยแพร่ฮะดีษปลอมที่คล้ายกันนั้นให้กับซอฮาบะฮ์คนอื่นๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในทันที เนื่องจากการกระทำเช่นนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าในการทำลายหลักฐานและการสกัดกั้นชีอะฮ์ของอะลี” (14)

 

       มัรวาน บินหะกัม เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่กล่าวว่า การปกป้องอุษมานที่อะลีได้กระทำนั้นไม่มีใครได้กระทำอย่างอะลี  แต่กระนั้นก็ตามเขาได้ทำการสาปแช่งอิมามอะลี (อ.) เมื่อมีคนประท้วงคัดค้านเขาว่าเมื่อท่านมีความเชื่อเกี่ยวกับท่านอะลีเช่นนี้แล้ว แล้วทำไมท่านจึงพูดประณามสาปแช่งท่าน  เขากล่าวตอบว่า : อำนาจการปกครองของเราไม่อาจมั่นคงนอกจากด้วยการประนามสาปแช่งอะลี

 

      เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

قال مروان: ما كان في القوم أدفع عن صاحبنا من صاحبكم - يعني عليا عن عثمان

فقلت : ما بالكم تسبونه على المنابر؟

قال : لا يستقيم الأمر إلا بذلك

“มัรวานได้กล่าวว่า : “ในหมู่ประชาชนไม่มีใครที่ให้การปกป้องหัวหน้าของเรา (หมายถึงอุษมาน) มากไปกว่าหัวหน้าของพวกท่าน (หมายถึงท่านอะลี)”

ดังนั้นฉันจึงกล่าวว่า : “แล้วเหตุใดพวกท่านจึงด่าประณามท่านบนมิมบัร (ธรรมาสน์) ทั้งหลาย?”

เขากล่าวว่า : “อำนาจการปกครองของเราไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้ นอกเสียจากด้วยการกระทำเช่นนี้”  (15)

 

       บางคนแม้จะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ ความยิ่งใหญ่และอดีตอันโชติช่วงของท่านอิมามอะลี (อ.) แต่เพื่อที่จะรักษาตำแหน่งและสถานภาพของตนเอาไว้ เขาก็พร้อมที่จะด่าประณามสาปแช่งท่านอิมามอะลี (อ.) และลูกหลานของท่าน

 

       อุมัร บินอับดุลอะซีซ กล่าวว่า : “พ่อของฉันขณะที่กล่าวคุฏบะฮ์ (คำปราศรัย) ท่านยังคงดำเนินคำปราศรัยของตนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อมาถึงช่วงของการกล่าวถึงอะลีและการสาปแช่งเขา (ตามคำสั่งของรัฐบาลเมืองชาม) ท่านได้พูดติดๆ ขัดๆ และสีหน้าของท่านเหลืองซีด และสภาพของท่านเปลี่ยนไป ฉันได้ถามท่านเกี่ยวกับสาเหตุของสิ่งนั้น ท่านกล่าวว่า :

 

أ و قد فطنت لذلك- إن هؤلاء لو يعلمون من علي ما يعلمه أبوك- ما تبعنا منهم رجل

“เจ้าสงสัยในสิ่งนั้น (ความประเสริฐของอะลี) หรือ?  แท้จริงหากคนเหล่านั้นรู้เกี่ยวกับอะลีในสิ่งที่พ่อของเจ้ารู้แล้ว จะไม่มีคนใดจากพวกเขาปฏิบัติตามเรา” (16)

 

      เหตุผลที่พวกเขาต้องด่าประณามและสาปแช่งอิมามอะลี (อ.) ก็เพื่อรักษาสถานะและอำนาจของอาลิมัรวาน (วงศ์วานของมัรวาน) เอาไว้

 

      หัวใจของลูกหลานบนีอุมัยยะฮ์นั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นศัตรูต่อท่านอิมามอะลี (อ.) เมื่ออิบนุอับบาสได้เตือนมุอาวิยะฮ์ว่าให้ยุติการกระทำเช่นนี้เสียเถิด เขากล่าวว่า :

 

ما كنت لأفعل حتى يربو عليه الصغير ويهرم فيه الكبير

 "ฉันจะทำเช่นนี้จนกว่าลูกหลานของเราจะเติบโตขึ้นด้วยกับความคิดเช่นนี้และพวกผู้ใหญ่ของเราก็แก่ชราลงในสภาพเช่นนี้!" (17)

 

      การสาปแช่งและการด่าทอท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ดำเนินต่อเนื่องถึงหกสิบปี (บางทัศนะกล่าวว่า 80 ปี) บนมิมบัร (ธรรมาสน์) , ในที่ประชุม (มัจญ์ลิส) , ในบทเรียนและการรายงานฮะดีษต่างๆ ในท่ามกลางบรรดานักเทศนา (คอฏีบ) และนักรายงานฮะดีษในราชสำนักของมุอาวียะฮ์ และมีผลถึงขั้นที่กล่าวกันว่า วันหนึ่งฮัจญาจ บินยูซุฟ ได้แสดงความรุนแรงและพูดขู่ตะคอกชายคนหนึ่งจากเผ่า “บนีอิซัด” เขาได้หันมายังฮัจญาและกล่าวว่า :  "โอ้อะมีร (ผู้นำ) เอ๋ย! ท่านอย่าพูดคุยกับเราด้วยท่าทีเช่นนี้เลย เราคือกลุ่มชนที่มีคุณงามความดีต่างๆ  ฮัจญาจได้ถามถึงคุณงามความดีของเขา เขากล่าวตอบว่า : หนึ่งในคุณงามความดีของเราก็คือ ถ้าใครต้องการที่จะแต่งงานกับผู้หญิงของเรา เราจะถามเขาก่อนว่า เขารักอบูตุร๊อบ (อิมามอะลี) หรือไม่! ถ้าหากเขาผู้นั้นมีความรักผูกพันต่ออบูตุร๊อบแม้เพียงเล็กน้อย เราจะไม่ผูกญาติกับเขาอย่างเด็ดขาด ความเกลียดชังและความเป็นศัตรูที่เรามีต่อครอบครัวของอะลีมีมากถึงขั้นที่ว่า ในเผ่าของเราไม่มีใครที่มีชื่อว่าฮะซัน หรือฮุเซน หรือมีลูกสาวที่ชื่อฟาฏิมะฮ์ และหากมีใครกล่าวกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดจากเผ่าของเราว่า จงเกลียดชังอะลี เขาก็จะเกลียดชังลูกหลานของอะลีด้วยในทันที” (18)

 

     ด้วยผลของการยืนกรานของบนีอุมัยยะฮ์ในการปิดบังความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) และการปฏิเสธคุณงามความดีต่างๆ ของท่าน ทำให้การด่าประณามและการสาปแช่งท่านอิมามอะลี (อ.) ซึมซับอยู่ในหัวใจของคนชราและคนหนุ่มถึงขั้นที่พวกเขาถือว่ามันคือมุสตะฮับ (ซุนนะฮ์) และบางคนถือว่าเป็นหน้าที่บังคับทางด้านจริยธรรม เมื่ออุมัร บินอับดุลอะซีซได้ขึ้นสู่อำนาจการปกครอง วันหนึ่งเขาได้ตัดสินใจที่จะยุติการด่าประณามท่านอิมามอะลี (อ.) ประชาชนที่ถูกปลูกฝังความคิดเกลียดชังต่อท่านอิมามอะลี (อ.) โดยบนีอุมัยยะฮ์ก็ได้กล่าวว่า : «ترك السنة» “เขา (อุมัร บินอับดุลอะซีซ) ได้ละทิ้งซุนนะฮ์ (แบบฉบับแห่งอิสลาม) แล้ว” (19)

 

     แต่กระนั้นก็ตาม หน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามได้เป็นสักขีพยานว่าแผนการต่างๆ ที่ไร้ความเป็นสุภาพบุรุษของบนีอุมัยยะฮ์ได้ล้มเหลวและความพยายามอย่างต่อเนื่องอย่างไม่หยุดหย่อนของพวกเขาได้ให้ผลในทางกลับกัน และความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.) และลูกหลานของท่านได้ฉายแสงเปล่งประกายมากขึ้นทุกวัน การยืนกรานและการปฏิเสธของศัตรูไม่เพียงแต่ไม่สามารถทำให้สถานภาพและความรักที่มีต่อท่านอิมามอะลี (อ.) ลดน้อยลงไปจากหัวใจทั้งหลายที่ตื่นอยู่ได้เลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับท่านอิมามอะลี (อ.) มากยิ่งขึ้น และได้ตัดสินเกี่ยวกับบุคลิกภาพและสถานะภาพของท่านโดยออกห่างจากเรื่องราวต่างๆ จนกระทั่งว่าอิบนุอามิรซึ่งเป็นหลานของอับดุลลอฮ์ อิบนิซุเบรซึ่งเป็นศัตรูของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ได้กล่าวสั่งเสียต่อลูกชายของตนว่า :

 

لا تذكر يا بني عليا إلا بخير ، فإن بني أمية لعنوه على منابرهم ثمانين سنة ، فلم يزده الله بذلك إلا رفعة

“โอ้ลูกรักของพ่อ! อย่าได้กล่าวถึงอะลีนอกเสียจากความดีงาม เพราะแท้จริงบนีอุมัยยะฮ์ได้ทำการสาปแช่งท่านบนมิมบัร (ธรรมาสน์) ของพวกเขาเป็นเวลาถึงแปดสิบปี แต่อัลลอฮ์ก็มิได้ทรงเพิ่มพูนสิ่งใดแก่ท่านด้วยสิ่งนั้นนอกจากการยกเกียรติ” (20)

 

      วันนี้เราก็ได้เห็นถึงความจริงข้อนี้ ที่ว่า ยิ่งผู้ที่มีทิฐิและมีอคติต่อท่านอิมามอะลี (อ.) และอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.)ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พยายามที่จะลบหลู่และทำลายเกียรติของท่านมากเพียงใด แต่ผลลัพธ์ของการกระทำของพวกเขากลับกลายเป็นตรงกันข้าม โดยที่ผู้คนทั้งหลายที่มีหัวใจเป็นธรรมก็จะได้จะหันมาศึกษาตรวจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และท้ายที่สุดก็ต้องยอมจำนนในเกียรติและความประเสริฐของท่านเหล่านั้น

 

เชิงอรรถ :

 

1.มุสตัดร็อก อะลัซซอฮีฮัยน์, ฮากิม นัยซาบูรี, เล่ม 3, หน้า 107

2.ชะวาฮิดุตตันซีล ลิกอวาอิดิตตัฟฎีล, ฮากิม ฮัซกานี, เล่ม 1, หน้า 27

3.มุสตัดร็อก อะลัซซอฮีฮัยน์, ฮากิม นัยซาบูรี, เล่ม 3, หน้า 550

4.ตัซกิร่อตุ้ลคอวาศ, ซิบฏ์ อิบนิเญาซี, หน้า 20

5.มุรูญุซซะฮับ, อัลมัสอูดี, เล่ม 1, หน้า 313

6.กิฟายะตุฏฏอลิบ ฟีมะนากิบ อะลี บินอบีฏอลิบ, กันญี ชาฟิอี, หน้า 407

7.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 11, หน้า 44

8.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 11, หน้า 45

9.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 11, หน้า 45

10.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 11, หน้า 43-44

11.ฟุรูฆ วิลายัต, ญะฟัร ซุบฮานี, หน้า 34

12.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, เล่ม 11, หน้า 44

13.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 11, หน้า 44

14.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 3, หน้า 15

15.ตารีคุ้ลอิสลาม, ซะฮะบี, เล่ม 3, หน้า 460; ตารีคดิมิชก์, เล่ม 42, หน้า 438; อันซาบุลอัชร๊อฟ, บะลาซุรี, เล่ม 2, หน้า 407

16.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 13, หน้า 221

17.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 13, หน้า 221

18.ฟัรหะตุลฆุรอ, ซัยยิดอิบนิฏอวูซ, พิมพ์ที่นะญัฟ, หน้า 13 – 14

19.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 13, หน้า 221

20.ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนิอบิลหะดีด , เล่ม 13, หน้า 221

 

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม