โองการอัลกุรอานที่กล่าวถึงอิมามัต ตอนที่ 3

โองการอัลกุรอานที่กล่าวถึงอิมามัต ตอนที่ 3


วิเคราะห์อายะฮ์ตับลีฆ

 

ถ้าหากไม่คิดถึงสาเหตุที่ลงโองการและฮะดีษต่าง ๆ ที่กล่าวถึง เพี่ยงแค่พิจารณาถึงสาระและมาตรฐานของโองการและโองการหลังจากนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน จะทำให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองเกี่ยวกับผู้นำผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้อย่างชัดเจน

 

โองการข้างต้นพร้อมกับการอธิบายในมุมมองต่าง ๆ ที่ได้กล่าวอธิบายไว้ถ้าใคร่ครวญอย่างละเอียดจะเห็นประเด็นสำคัญ ๓ ประการดังนี้

 

๑. ปัญหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในอิสลาม ถึงขนาดที่อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงมีบัญชาให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ประกาศสิ่งนั้นออกไป ถ้าไม่ประกาศพระองค์จะยกเลิกการเผยแพร่ที่ท่านได้กระทำมาตลอด ๒๓ ปี ซึ่งเท่ากับว่าท่านไม่เคยประกาศสารของพระองค์ อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า สิ่งนี้มีความสำคัญเท่าเทียมกับนบูวัต เนื่องจากถ้าท่านศาสดาไม่ประกาศออกไป เท่ากับการเป็นศาสดาของท่านไม่สมบูรณ์หรือถูกยกเลิกดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า ถ้าเจ้ามิได้ปฏิบัติ ดังนั้น เจ้าก็มิได้ประกาศสารของพระองค์

 

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญประการนั้นต้องไม่ใช่คำสั่งธรรมดาทั่วไปอย่างแน่นอน เนื่องจากพระองค์กำชับว่า ถ้าไม่ทำเท่ากับไม่เคยประกาศสารมาเลย ซึ่งคำพูดนี้ชัดเจนมากไม่ต้องการคำอธิบายแต่อย่างใด ขณะที่โองการก็ยกความสำคัญของประเด็นดังกล่าวเทียบเท่ากับริซาละฮ์

 

๒. ประเด็นสำคัญดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับนมาซ ศีลอด ฮัจญ์ ญิฮาด ซะกาต และสิ่งคล้ายคลึงกันอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าโองการดังกล่าวอยู่ในซูเราะฮ์มาอิดะฮ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าซูเราะฮ์มาอิดะฮ์เป็นซูเราะฮ์สุดท้ายที่ถูกประทานลงมาให้แก่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) หมายถึงในช่วงบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่าน น้่นหมายความว่า ท่านได้สอนสั่งเกี่ยวกับหลักการอิสลามเรียบร้อยก่อนหน้านั้นแล้ว

 

๓. คำอธิบายของโองการบ่งบอกว่าเป็นภาระกิจที่ลำบากใจและหนักหนาสาหัสยิ่งนัก เนื่องจากด้านหนึ่งเป็นสาเหตุนำพาให้ชีวิตของท่านศาดาไม่ปลอดภัย และตกอยู่ในอันตราย ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮ์ (ซบ.) จึงรับปากท่านศาสดาว่า พระองค์จะปกป้องท่านศาสดาเอง พระองค์ตรัสว่า อัลลอฮ์ทรงคุ้มครองเจ้าจากมวลมนุษย์

 

ท้ายสุดของโองการสำทับอีกว่า  แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงชี้นำพวกปฏิเสธทั้งหลาย

 

แน่นอนคำอธิบายนี้แสดงให้เห็นว่า ต้องมีบุคคลไม่มากก็น้อย ปฏิเสธและต้องแสดงความขัดแย้งออกมาอย่างแน่นอน ฉะนั้น สิ่งสำคัญ ๓ ประการที่กล่าวมาทำให้เห็นว่าสิ่งที่โองการต้องการประกาศมิสามารถเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากการประกาศแต่งตั้งให้ท่านอะลีเป็นเคาะลิฟะฮ์และเป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

 

แน่นอนว่าในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่านคงจะไม่มีสิ่งใดสำคัญเกินไปกว่า การแต่งตั้งตัวแทนอย่างแน่นอน ยิ่งปัญหาเรื่องหลักการปฏิบัติในอิสลามด้วยแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้เด็ดขาด เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต ถ้าจนถึงเวลานั้นยังไม่ได้ประกาศหลักการอิสลามแล้ว มุสลิมจะปฏิบัติตัวกันอย่างไร และอิบาดะฮ์ที่ได้กระทำมาก่อนหน้านั้นจะเป็นเช่นไร สำคัญไปกว่านั้นสิ่งนี้ต้องเท่าเทียมกับริซาละฮ์ของท่านศาสดาด้วย เนื่องจากถ้าไม่ประกาศริซาละฮ์ของท่านต้องถูกยกเลิก

 

ฉะนั้น ทุกตัฟซีรที่อธิบายโองการดังกล่าวที่นอกเหนือไปจากการแต่งตั้งท่านอะลีแล้ว ถือว่าไม่ถูกต้องทั้งสิ้น และไม่มีความเหมาะสมกับโองการด้วย

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์อิสลามิคซอร์ซ