การถือศีลอดที่ถูกยอมรับ

การถือศีลอดที่ถูกยอมรับ

 

    "ความถูกต้อง" (เซียะห์ฮะฮ์) และ "การยอมรับ" (กอบูล) คือ คำสองคำที่ถูกนำมาใช้งานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอิบาดะฮ์ (การนมัสการและการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) มากที่สุด

 

       ความถูกต้องของอะมัล (การกระทำ) จะถูกกล่าวถึงสำหรับการอิบาดะฮ์ที่มีเงื่อนไขต่างๆ ที่จำเป็นที่ได้ถูกกำหนดไว้โดยบทบัญญัติของศาสนา และผลของการมีเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องกระทำใหม่หรือกระทำชดเชย (กอฎออ์)

 

       ส่วนคำว่า "การยอมรับ" หรือการเป็นที่ยอมรับของอะมัล (การกระทำ) จะถูกกล่าวถึงสำหรับการอิบาดะฮ์ที่นอกเหนือจากมีเงื่อนไขต่างๆ ของความถูกต้อง (ชัรฏุซเซียะห์หะฮ์) แล้ว ยังจะต้องประกอบด้วยมารยาทต่างๆ ที่จำเป็นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่เรียกว่า "เงื่อนไขต่างๆ ของการถูกยอมรับ" (ชัรฏุลกอบูล) โดยพระผู้เป็นเจ้า และถ้าหากมารยาทเหล่านี้ไม่ถูกระวังรักษา การอิบาดะฮ์ดังกล่าวก็จะไม่มีคุณค่าและความดีงามใดๆ ณ พระผู้เป็นเจ้า

 

       ตัวอย่างเช่น การที่บุคคลผู้หนึ่งได้ระวังรักษาเงื่อนไขต่างๆ ทางด้านภายนอกทั้งหมดของวุฎูอ์ (น้ำนมาซ) และการนมาซ แต่ทว่าในขณะทำการนมาซนั้นเขากลับไม่มีจิตมุ่งตรงต่อพระผู้เป็นเจ้า บุคคลเช่นนี้การนมาซของเขาถูกต้องและไม่จำเป็นต้องกระทำใหม่หรือทำชดเชย (กอฎออ์) แต่เนื่องจากขาดการมีจิตมุ่งตรง (ฮุฎูรุลก็อลบ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากมารยาท (อาดาบ) ของการนมาซ ดังนั้นนมาซของเขาจะไม่ถูกยอมรับจากพระองค์ ดั่งเช่นที่ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้กล่าวไว้ว่า

 

إِنَّ الْعَبْدَ لَا يُقْبَلُ مِنْ صَلَاتِهِ إِلَّا مَا أَقْبَلَ عَلَيْهِ مِنْهَا بِقَلْبِه

 

"แท้จริงบ่าวจะไม่ถูกยอมรับการนมาซของเขา นอกจากเท่าที่เขาได้มุ่งหัวใจของเขาสู่พระองค์ในการนมาซนั้น" (1)

 

       การถือศีลอดก็เป็นส่วนหนึ่งจากอิบาดะฮ์ (การนมัสการและการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ที่ความถูกต้อง (เซียห์หะฮ์) ของมันถูกวางเงื่อนไขอยู่การไม่กระทำในสิ่งที่จะทำให้ศีลอดอดเป็นโมฆะ ที่เรียกว่า "มุบฏิลาต" ที่มีปรากฏอยู่ในตำราเกี่ยวกับศาสนบัญญัติว่าด้วยเรื่องของการถือศีลอด และการถูกยอมรับ (กอบูล) ของมันนั้นวางเงื่อนไขอยู่บนการระวังรักษา "ตักวา" และการหลีกเลี่ยงจากการกระทำบาป ดังเช่นที่ในคำสอนต่างๆ ของศาสนาอิสลาม ได้ชี้ถึงประเด็นนี้ไว้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

      1.ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 

خَمسُ خِصَال يُفَطِّرُنَّ الصَّائِمَ وَ يُنَقِضُّنَّ اَلوُضُوءَ: اَلكِذب وَ اَلغِيبَة وَ الَنّميمَة وَ النَّظَرُ بِشَهوَة وَ اليَمينُ الكَاذِبَة

 

"ห้า คุณประการที่จะทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ และจะทำลายวุฎูอ์ (น้ำนมาซ) อย่างแน่นอน นั่นก็คือ การพูดโกหก การนินทา การให้ร้ายป้ายสี การมองด้วยอารมณ์ใคร่ และการสาบานเท็จ" (2)

 

      การมีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่น่าตำหนิเหล่านี้จะทำลายผลทางด้านจิตวิญญาณของการถือศีลอดและวุฎูอ์ (น้ำนมาซ) ลง และจะทำลายผลรางวัลตอบแทนของมันให้หมดไป

 

      2.ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้กล่าวว่า

 

اجْتَنِبُوا الْغِيبَةَ غِيبَةَ الْمُؤْمِنِ وَ احْذَرُوا النَّمِيمَةَ فَإِنَّهُمَا يُفَطِّرَانِ الصَّائِم

 

"ท่านทั้งหลายจงหลีกเลี่ยงจากการนินทาผู้ศรัทธา และจงระมัดระวังจากการให้ร้ายป้ายสี (ผู้อื่น) เพราะทั้งสองนี้จะทำลายผลรางวัลชองผู้ถือศีลอด" (3)

 

      3.ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในคำอธิบายโดยรวมว่า

 

إِذَا صُمْتَ فَلْيَصُمْ سَمْعُكَ وَ بَصَرُكَ وَ شَعْرُكَ وَ جِلْدُك

 

"เมื่อท่านถือศีลอด ดังนั้น หูของท่าน สายตาของท่าน ขนของท่านและผิวกายของท่านก็จงถือศีลอด (จากความผิดบาปและการละเมิดฝ่าฝืนทั้งมวล) ด้วยเถิด" (4)

 

       ดังนั้นการถูกยอมรับ คุณค่าและความดีงามของการถือศีลอดนั้น วางเงื่อนไขอยู่ในการที่ว่า เราจะต้องไม่กระทำบาป หากมิฉะนั้นแล้วเราจะไม่ได้รับสิ่งใดตอบแทน นอกจากการแบกรับความหิวและความกระหายเพียงเท่านั้น

 

เชิงอรรถ :

 

(1) บิฮารุลอันวาร อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี เล่มที่ 46 หน้าที่ 66

(2) นะฮ์ญุลฟะซอฮะฮ์ อบุลกอซิม พอยันเดฮ์ หน้าที่ 461

(3) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 72 หน้าที่ 257

(4) อัลกาฟี เชคกุลัยนี เล่มที่ 4 หน้าที่ 87

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ