เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 101 บทอัตเตาบะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์  โองการที่ 101 บทอัตเตาบะฮ์

 

โองการนี้ กล่าวถึง กลุ่มชนผู้สับปลับทั้งในและนอกเมืองมะดีนะฮ์ และกล่าวถึงการลงโทษอันแสนสาหัสแก่พวกเขา โองการกล่าวว่า

 

 

 وَمِمَّنْ حَوْلَكُم مِنَ الأَعْرَابِ مُنَافِقُونَ وَمِنْ أَهْلِ الْمَدِينَةِ مَرَدُوا عَلَى النِّفَاقِ لَاتَعْلَمُهُمْ نَحْنُ نَعْلَمُهُمْ سَنُعَذِّبُهُم مَرَّتَيْنِ ثُمَّ يُرَدُّونَ إِلَى عَذَابٍ عَظِيمٍ‏

 

คำแปล :

 

101. และส่วนหนึ่งจากผู้ที่พำนักอยู่รอบ ๆ สูเจ้าที่เป็นอาหรับชนบทนั้น เป็นพวกสับปลับ และในหมู่ชาวมะดีนะฮ์เช่นกันมีผู้ดื้อรั้นในความสับปลับ เจ้าไม่รู้จักธาตุแท้ของพวกเขาหรอก แต่เรารู้จักพวกเขาดี เราจะลงโทษพวกเขาสองครั้งในไม่ช้านี้ (ลงโทษทางโลกกับลงโทษขณะเสียชีวิต) หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกส่งไปสู่การลงโทษอันยิ่งใหญ่ต่อไป

 

คำอธิบาย :

 

ผู้สับปลับชาวมะดีนะฮ์

 

อัลกุรอาน กล่าววิพากษ์ในเชิงเรียกร้องให้พิจารณาการกระทำของบรรดาผู้สับปลับ (มุนาฟิกีน) และกลุ่มชนทั้งหลายของพวกเขาโดยกล่าวว่า “และส่วนหนึ่งจากผู้ที่พำนักอยู่รอบ ๆ สูเจ้าที่เป็นอาหรับชนบทนั้น เป็นพวกสับปลับ”

 

หมายความว่า สูเจ้าไม่เพียงแต่เอาใจใส่พฤติกรรมของผู้สับปลับที่อยู่ในเมืองเท่านั้น ทว่าจะต้องตั้งสติอยู่ตลอดเวลาและจะต้องระวังพวกสับปลับที่อยู่นอกเมืองด้วย สูเจ้าต้องระวังพฤติกรรมและกิจกรรมที่อันตรายยิ่งของพวกเขาเสมอ

 

1. จากโองการเข้าใจได้ว่าพวกสับปลับนั้น ตัดขาดจากสัจธรรมนานานแล้ว พวกเขามีความชำนาญในกิจกรรมของตนอีกทั้งมีการฝึกฝนอยู่เสมอ จุดประสงค์ของคำว่า «مَرَدُوا» มาจากรากศัพท์ของคำว่า «مرد»،หมายถึงความเลยเถิด ความระหกระเหิน และความแปลกหน้า ซึ่งตามรากศัพท์เดิมหมายถึง ความเปลือยเปล่าหมดจด หรือโสด ดังนั้น เด็กหนุ่มที่ใบหน้าของเขาหนวดเครายังไม่ขึ้นนั้นเรียกว่า «أمرد»หมายถึง ผู้ที่มีใบหน้าเกลี้ยงเกลาหมดจด

 

นักตัฟซีรบางคนและนักอักษรศาสตร์กล่าวว่า คำๆ นี้หมายถึง การฝึกฝน เช่น ตาจญ์อุรูซ และกอมูซ กล่าวว่า การฝึกฝน เป็นหนึ่งในความหมายของคำๆ นี้

 

2. โองการได้กล่าวถึง กลุ่มมุนาฟิกีน ทั้งในและนอกเมืองมะดีนะฮฺ พร้อมกับได้เรียกร้องให้บรรดามุสลิมระวังบุคคลทั้ง 2 กลุ่มนี้ไว้ให้ดี และอย่าได้เผอเรอกลุ่มผู้สับปลับที่อยู่นอกเมืองเด็ดขาด ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่ากลุ่มผู้สับปลับในเมืองนั้นมีความช่ำชองและมีความชำนาญในงานของพวกเขา ที่สำคัญมีอันตรายมากกว่ากลุ่มสับปลับนอกเมือง

 

3. จุดประสงค์ที่กล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่รูจักธาตุแท้ของพวกสับปลับ เป็นการรู้จักโดยความรู้ทั่วไปแบบสามัญชน มิเช่นนั้นแล้วจะแปลกอะไร ถ้าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะรู้จักพวกเขาโดยผ่านขบวนการของวะฮ์ยู หรือการแจ้งข่าวอย่างลับให้รู้จักพวกสับปลับเหล่านั้นว่าเป็นใคร

 

4. จุดประสงค์ของ “การลงโทษอันยิ่งใหญ่” หมายถึงการลงโทษในวันแห่งการฟื้นคืนชีพเพื่อรับการตัดสิน แต่ส่วนการลงโทษ 2 ครั้ง ตามที่โองการได้ระบุเอาไว้ บรรดานักตัฟซีรได้กล่าวว่าอาจเป็นไปได้ในสองลักษณะ กล่าวคือ ตามการตีความแรก จุดประสงค์คือ ความลำบากทางสังคมที่บรรดาพวกสับปลับจะได้รับบนโลกนี้ และการลงโทษที่พวกเขาจะได้รับขณะเสียชีวิต แต่ถ้าตามการตีความที่สอง จุดประสงค์หมายถึงการ ความเสียใจหรือความคับแค้นใจภายในของพวกสับปลับ เนื่องจากบรรดามุสลิมได้รับชัยชนะเหนือพวกเขา

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. สูเจ้าต้องระวังพวกสับปลับทั้งในและนอกเมือง

2. ผู้สับปลับในเมืองมีอันตรายมากยิ่งกว่าผู้สับปลับภายนอกเมือง

3. ผู้สับปลับจะได้รับโทษทัณฑ์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม