เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนอัลกุรอานจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 113-114 บทอัตเตาบะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนอัลกุรอานจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 113-114 บทอัตเตาบะฮ์

 

กลุ่มโองการนี้กล่าวถึงความไม่เหมาะสมในการวิงวอนขออภัยโทษสำหรับบรรดาพวกตั้งภาคีเทียบเคียงทั้งหลาย ขณะเดียวกันได้กล่าวถึงการขออภัยโทษของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่มีต่ออาซัร และสาเหตุของมัน โองการกล่าวว่า

 

 

ما كانَ لِلنَّبِيِّ وَ الَّذينَ آمَنُوا أَنْ يَسْتَغْفِرُوا لِلْمُشْرِكينَ وَ لَوْ كانُوا أُولي قُرْبى مِنْ بَعْدِ ما تَبَيَّنَ لَهُمْ أَنَّهُمْ أَصْحابُ الْجَحيمِ

 

 

คำแปล :

 

113. ไม่บังควรแก่ศาสดาและบรรดาผู้ศรัทธาที่จะขออภัยโทษให้แก่บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียงเคียง ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นญาติใกล้ชิดกันก็ตาม ทั้งนี้หลังจากเป็นที่ประจักษ์แก่พวกเขาแล้วว่าพวกเหล่านั้นเป็นชาวนรกแน่นอน

 

 

وَ ما كانَ اسْتِغْفارُ إِبْراهيمَ لاِبيهِ إِلاّ عَنْ مَوْعِدَة وَعَدَها إِيّاهُ فَلَمّا تَبَيَّنَ لَهُ أَنَّهُ عَدُوٌّ لِلّهِ تَبَرَّأَ مِنْهُ إِنَّ إِبْراهيمَ لاَ وّاهٌ حَليمٌ

 

114. และการขออภัยโทษของอิบรอฮีมให้แก่บิดาของเขา (คุณลุงอาซัร) เนื่องจากเป็นสัญญาที่เขาได้ให้ไว้แก่บิดาของเขาเท่านั้น แต่เมื่อได้เป็นที่ประจักษ์แก่เขาแล้ว ว่าบิดาของเขาเป็นศัตรูของอัลลอฮฺ เขาก็ปลีกตัวออกจากบิดาของเขา แท้จริงอิบรอฮีม เป็นผู้อ่อนโยน และเป็นผู้มีขันติอดทนยิ่ง

 

สาเหตุแห่งการประทานลงมา :

 

มีคำกล่าวเกี่ยวกับสาเหตุแห่งการประทานลงมาของโองการข้างต้นว่า มีมุสลิมกลุ่มหนึ่งได้ขอร้องท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า พวกเขาสามารถวิงวอนขออภัยโทษให้แก่บิดามารดรที่ล่วงลับไปแล้ว ในสภาพของผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าได้หรือไม่

 

โองการข้างต้นก็ได้ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นการเตือนสติว่า ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์วิงวอนขอการอภัยโทษให้แก่บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงได้อย่างเด็ดขาด[1]

 

คำอธิบาย :

 

ความจำเป็นในการทำตนเป็นคนแปลกหน้าสำหรับศัตรู

 

1. การขออภัยโทษสำหรับบรรดาพวกตั้งภาคีเทียงเคียงพระเจ้าเป็นสิ่งไม่อนุญาตให้กระทำ เนื่องจากด้านหนึ่งการวิงวอนขออภัยโทษเท่ากับเป็นการเปิดเผยตัวเองว่ามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องและเป็นมิตรกับพวกเขา ซึ่งกรณีนี้อัลกุรอานได้ห้ามปรามเอาไว้ โดยกล่าวว่า”ไม่บังควรแก่ศาสดาและบรรดาผู้ศรัทธาที่จะขออภัยโทษให้แก่บรรดาผู้ตั้งภาคีเทียงเคียง” อีกด้านหนึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่มีประโยชน์อันใดทั้งสิ้น เนื่องบรรดาพวกตั้งภาคีไม่มีศักยภาพเพียงพอต่อการวิงวอนขออภัยโทษให้พวกเขา

 

2. โองการนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าบุคคลเยี่ยงท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และบรรดาอัครสาวกของท่าน วางตนไว้บนศาสนาและความเชื่ออันมั่นคง ซึ่งโดยหลักการแล้วถ้าเกิดความขัดแย้งกันขึ้นบนพื้นฐานของความเชื่อ โดยการนำเอาญาติและครอบครัวมามีบทบาทแล้วละก็ ท่านจะถือเอาความเชื่อศรัทธาเป็นสิ่งสำคัญที่มาก่อนญาติพี่น้อง

 

โองการถัดมาบรรดามุสลิมต่างตระหนักและคุ้นเคยกับอัลกุรอานเป็นอย่างดี โองการหนึ่งของพระคัมภีร์แห่งฟากฟ้าซึ่งต่างได้อ่านและได้ยินเป็นประจำว่า :อิบรอฮีม ได้วิงวอนขออภัยโทษให้แก่ลุงของเขา อาซัร ซึ่งอาจมีคำถามเกิดขึ้นในใจของพวกเขาได้ว่า อาซัร มิได้เป็นผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงดอกหรือ ?

 

ถ้าการการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้าม แล้วทำไมศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าจึงได้กระทำ

 

ด้วยเหตุนี้ โองการที่สองจึงได้ตอบข้อสงสัยดังกล่าว โดยกล่าวว่า “และการขออภัยโทษของอิบรอฮีมให้แก่บิดาของเขา (คุณลุงอาซัร) เนื่องจากเป็นสัญญาที่เขาได้ให้ไว้แก่บิดาของเขาเท่านั้น แต่เมื่อได้เป็นที่ประจักษ์แก่เขาแล้ว ว่าบิดาของเขาเป็นศัตรูของอัลลอฮฺ เขาก็ปลีกตัวออกจากบิดาของเขา”

 

1. บทอัตเตาบะฮ์ ได้ถูกประทานลงมาในช่วงบั้นปลายสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวคือประมาณปี ฮ.ศ.ที่ 9 ซึ่งโองการข้างต้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบทนี้ อีกด้านหนึ่งบรรดามุสลิม ได้อ่านโองการในบทมัรยัม โองการที่ 47  บทชุอ์อะรอ โองการที่ 86  และบทมุมตะฮินนะฮ์ โองการที่ 3 ว่า ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้วิงวอนขออภัยโทษให้แก่ อาซัร ขณะที่อาซัรนั้นเป็นผู้ตั้งภาคีเทียบเคียง (มุชริก) คนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ดังกล่าวไปแล้วว่า คำถามจึงเกิดขึ้นในใจตลอดเวลาว่า ถ้าการขออภัยโทษให้ผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงเป็นสิ่งไม่อนุญาตแล้วละก็ ท่านศาสดาอิบรอฮีมกระทำเช่นนั้นได้อย่างไร ซึ่งโองการได้ตอบคำถามในลักษณะว่า สถานภาพของบิดาของพวกท่านกับอาซัรนั้นแตกต่างกัน

 

2. จากโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ได้รอคอยอย่างมีความหวังว่า สัญญาแห่งการขออภัยที่ให้ไว้แก่อาซัร อาจเป็นสาเหตุโน้มนำให้เขาเชื่อและนับถือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวก็เป็นไปได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การขออภัยโทษของท่านคือ “การวอนขอให้พระเจ้าทรงยกโทษความผิดที่ผ่านมาของเขาและชี้นำทางเขา” แต่เมื่ออาซัรได้จากโลกนี้ไปในสภาพของผู้ตั้งภาคี ท่านศาสดาอิบรอฮีม ก็ไม่ได้ขออภัยให้เขาอีกเลย

 

 3. โองการข้างต้นบนพื้นฐานของการอรรถาธิบายเข้าใจได้ว่า บรรดามุสลิมสามารถวิงวอนขออภัยให้แก่มิตรสหาย เพื่อน หรือเครือญาติที่เป็นผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าได้ ตราบที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ หรือวิงวอนของการชี้นำทางจากพระเจ้า แต่หลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้วในสภาพของผู้ตั้งภาคีเทียบเคียง การขออภัยโทษก็จะไม่คงเหลือสำหรับพวกเขาอีกต่อไป ดังนั้น โองการก่อนหน้านี้จึงได้เตือนสติบรรดามุสลิม ที่ได้วิงวอนขออภัยโทษสำหรับบรรพบุรุษของพวกเขาที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ถูกปฏิเสธและถูกห้ามเอาไว้

 

4 "อาซัร" ในกุรอานถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นบิดาของอิบรอฮีม ซึ่งในความเป็นจริงอาจเป็นพ่อแม่หรือเป็นลุงของเขาก็ได้ แต่ในวัฒนธรรมอาหรับ บางครั้งพ่อแม่และลุงผู้ปกครองจะเรียกว่าเป็น พ่อ ด้วยเหมือนกัน โปรดพิจารณารายละเอียดของอัลกุรอาน โองการที่ 74 บทอัลอันอาม

 

5. คำว่า "เอาวาฮุ"ตามรากหลักของคำแล้วหมายถึง "ความเสียใจ" และยังหมายถึงผู้ที่ทำงานอีกทั้งได้วิงวอน (ดุอาอ์) อย่างมากมาย หรือสำนึกผิดเจียมเนื้อเจียมตัวมีความอ่อนโยน หรืออาจหมายถึง ความเมตตา การกลับตัวกลับใจ หรือความเชื่อศรัทธา แน่นอน ไม่เป็นที่สงสัยว่า ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) คือผู้อธิษฐาน (ดุอาอ์) เสมอ เป็นผู้เจียมเนื้อเจียมตัว  สุภาพอ่อนโยนมีเมตตากรุณา มีความเชื่อมั่นและมีความอดทนสูง

 

6. จากโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า บรรดาศาสดาแห่งพระเจ้ามีความซื่อสัตย์และยึดมั่นคำมั่นสัญญาแม้แต่กับบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้าก็ตาม ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่สำหรับมวลผู้ศรัทธาทั้งหลาย

 

7. จากโองการข้างต้นเข้าใจได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ความจริงได้กลายเป็นความสงสัยคลางแคลง หรือเกิดการเข้าใจผิดในภารกิจบางอย่างของหมู่มวลมิตรแห่งพระเจ้า จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องขจัดความเข้าใจผิดเหล่านั้น ด้วยคำอธิบายที่ถูกต้อง

 

บทเรียนจากโองการ :

 

1. หลักของการเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์ต้องอยู่ภายใต้คำสอนของศาสนา อีกทั้งความสัมพันธ์ทางเครือญาติก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขดังกล่าวด้วย

 

2. จงอย่าขออภัยโทษให้แก่บรรดาผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่บังเกิดประโยชน์ เพราะพวกเขาคือชาวนรกโดยแท้จริง

 

3. บรรดาศาสนทูตของพระเจ้า จะยึดถือเรื่องความเชื่อและศาสนาว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

 

4. จำเป็นต้องขจัดความสงสัยต่างๆที่เกิดกับศาสนทูตให้หมดไป ด้วยคำอธิบายที่เหมาะสม

 

5. จงซื่อสัตย์ต่อคำมั่นสัญญา แม้ว่าท่านจะให้สัญญากับพวกตั้งภาคีก็ตาม

 

6. ถ้าหากความเป็นศัตรูของบุคคลหนึ่งที่มี่พระเจ้าเป็นที่เปิดเผยชัดเจน จำเป็นต้องหลีกห่างจากเขาทันที

 

อ้างอิง

 

[1]บิฮารุลอันวาร เล่มที่ 22 หน้า 42 มัจญ์มะอุลบะยาน ตอนอธิบายโองการดังกล่าว

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม