แนวทางในการรักษาเกียรติของผู้อื่น

แนวทางในการรักษาเกียรติของผู้อื่น

 

    มนุษย์ คือ สิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ที่มีคุณค่าและมีเกียรติถึงขั้นที่ว่า แม้แต่บรรดาศาสดายังปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยการให้เกียรติ ในที่นี้อาจมีคำถามว่า แนวทางต่างๆ ในการรักษาเกียรติของผู้อื่นนั้น มีอะไรบ้าง?

 

แนวทางในการรักษาเกียรติของผู้อื่น มีดังต่อไปนี้

 

1.จะต้องไม่ทำการเยาะเย้ยและถากถางผู้อื่น


บ่อเกิดของการเยาะเย้ยถากถางผู้อื่นนั้น ก็คือ ความรู้สึกลำพองตน ความหลงตัวเอง และมองว่าตนเองนั้นเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งเป็นปัจจัยของสงครามในการหลั่งเลือดจำนวนมากในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ


ความหลงตัวเองและมองว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากค่านิยมต่างๆ ทางด้านภายนอกและด้านวัตถุ ตัวอย่างเช่น การที่คนเราคิดว่าตัวเองร่ำรวยกว่าผู้อื่น สวยงามกว่าผู้อื่น หรือมาจากวงศ์ตระกูลที่มีชื่อเสียงมากกว่าผู้อื่น และบางครั้งอาจจะมีความคิดว่า ในด้านของความรู้ การอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า) และเรื่องของจิตวิญญาณนั้น ตนเองมีความเหนือกว่ากลุ่มชนอื่นๆ จนเป็นเหตุทำให้เราเย้ยหยันและดูถูกดูแคลนผู้อื่น ในขณะที่บรรทัดฐานของคุณค่าในทัศนะของพระผู้เป็นเจ้านั้นคือ “ตักวา” (ความยำเกรงและความสำรวมตน) ต่อพระองค์ และสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการมีเจตนาและหัวใจที่สะอาดบริสุทธิ์ การมีความอ่อนน้อมถ่อมตน การมีจริยธรรมและมารยาทที่งดงาม
ไม่มีใครสามารถจะกล่าวได้ว่า “ฉันเหนือกว่าคนนั้นคนนี้ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า” ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง การดูถูกเหยียดหยามผู้อื่นและการถือว่าตนเองเหนือกว่าผู้อื่น คือหนึ่งในพฤติกรรมที่เลวร้ายที่สุด และเป็นข้อบกพร่องทางด้านจริยธรรมที่น่าเกลียดที่สุด พระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงชอบที่ปวงบ่าวของพระองค์จะทำลายเกียรติผู้อื่นโดยการเยาะเย้ยถากถาง และด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงทรงตรัสต่อปวงผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า

 

یا أَیُّهَا الَّذینَ آمَنُوا لا یَسْخَرْ قَوْمٌ مِنْ قَوْمٍ عَسى أَنْ یَكُونُوا خَیْراً مِنْهُمْ وَ لا نِساءٌ مِنْ نِساءٍ عَسى أَنْ یَكُنَّ خَیْراً مِنْهُنَّ

 

“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย! ชนกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยชนอีกกลุ่มหนึ่ง บางทีพวกเขา อาจจะดีกว่าชนกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ย และสตรีกลุ่มหนึ่งอย่าได้เยาะเย้ยสตรีอีกกลุ่มหนึ่ง บางที่พวกนางอาจจะดีกว่าสตรีกลุ่มที่ถูกเยาะเย้ย” (1)

 

2.อย่าเรียกขานผู้อื่นด้วยชื่อที่ไม่ดี


 คนจำนวนมากเป็นผู้เลยเถิด ไม่ระมัดระวังตนเอง ทั้งในอดีตที่ผ่านมาและปัจจุบัน โดยชอบที่จะขนานนามและให้ฉายาผู้อื่นด้วยฉายานามที่น่าเกลียด พวกเขาจะเหยียดหยามทำลายเกียรติและสถานภาพของบุคคลเหล่านั้นด้วยวิธีการเช่นนี้ หรือบางครั้งอาจใช้เป็นวิธีการในการแก้แค้นพวกเขา หรือบางที หากมีบุคคลหนึ่งในอดีต เคยกระทำในสิ่งที่ไม่ดี แต่ต่อมาเขาก็สำนึกผิดและกลับเนื้อกลับตัวและกลายเป็นผู้ที่บริสุทธิ์และเป็นคนดีแล้ว แต่กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ยังเรียกขานบุคคลผู้นั้นด้วยฉายานามหนึ่งที่เปิดเผยถึงสภาพที่ไม่ดีงามในอดีตของบุคคลผู้นั้นอยู่อีก พระผู้เป็นเจ้าทรงห้ามการกระทำที่น่าเกลียดนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

وَ لا تَلْمِزُوا أَنْفُسَكُمْ وَ لا تَنابَزُوا بِالْأَلْقابِ بِئْسَ الاِسْمُ الْفُسُوقُ بَعْدَ الْإیمانِ وَ مَنْ لَمْ یَتُبْ فَأُولئِكَ هُمُ الظَّالِمُون

 

“และพวกเจ้าอย่าได้ตำหนิประณามกันเอง และอย่าได้เรียกขานกันด้วยฉายา (ที่ไม่ชอบ) การเรียกขาน (บุคคลด้วย) ชื่อที่น่าเกลียด ภายหลังจากความมีศรัทธานั้น ช่างเลวทรามยิ่งนัก และผู้ใดที่ไม่สำนึกผิด แน่นอนพวกเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม” (2)

 

แหล่งอ้างอิง :

 

[1] อัลกุรอาน บทอัลฮุญูรอต โองการที่ 11

[2] อัลกุรอาน บทอัลฮุญูรอต โองการที่ 11

 

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ