เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนหลักความศรัทธา สัญชาติญาณของการรู้จักพระเจ้า

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


บทเรียนหลักความศรัทธา สัญชาติญาณของการรู้จักพระเจ้า

 

    ดังที่ทราบกันดีว่ารากฐานของศาสนานั้นอยู่ที่ ความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้าผู้ทรงรังสรรค์โลกและจักรวาล ประเด็นหลักของแตกต่างกันระหว่างโลกทัศน์แห่งพระผู้เป็นเจ้ากับโลกทัศน์แห่งวัตถุนิยมก็ คือ การมีอยู่และไม่มีอยู่ของพระเจ้า

 

      ด้วยเหตุนี้ ปัญหาแรกของบรรดาผู้แสวงหาความจริงต้องอธิบายและต้องหาคำตอบที่ถูกต้องที่สุด คือ พระเจ้ามีอยู่จริงหรือไม่ ซึ่งคำตอบสำหรับถามเหล่านี้ ดังที่กล่าวไปแล้วในบทก่อนหน้านี้ว่าต้องนำเอาสติปัญญามาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อจะได้รับคำตอบที่แน่นอนบางครั้งอาจเป็นคำตอบในแง่บวกและบางครั้งอาจเป็นคำตอบในแง่ลบ

 

      กรณีที่เป็นคำตอบในแง่บวก ลำดับต่อไปก็จะถึงคราวของการพิจารณาปัญหารายละเอียดปลีกย่อย กล่าวคือ ความเป็นเอกะของพระเจ้า ความยุติธรรม และคุณลักษณะอื่น ๆ ของพระองค์ แต่ถ้าสมมุติว่าคำตอบเป็นไปในแง่ลบ ก็เท่ากับว่าคำกล่าวอ้างของพวกวัตถุนิยมเป็นความจริง ไม่จำเป็นต้องพิจารณาหรือวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาศาสนาอีกต่อไป

 

การรู้จักแบบปรากฏขึ้นเองกับการเรียนรู้

 

      เกี่ยวกับพระเจ้าสามารถพิจารณาถึงการมีอยู่ของพระองค์ได้ด้วยการรู้จัก 2 ประเภท คือ ประเภทแรก การรู้จักแบบ อัชฌัตติกญาณ (อัดชัดติกญาน) (รู้เอง) ประการที่สอง การรู้จักแบบ ความรู้เชิงประจักษ์

 

      จุดประสงค์ของการรู้จักพระเจ้าแบบอัชฌัตติกญาณหรือรู้เอง หมายถึง การรู้จักพระองค์ได้ปรากฏขึ้นในจิตใจโดยที่มนุษย์ไม่ต้องใช้สื่อความเข้าใจทางปัญญา จิตเกิดความรู้แจ่มแจ้งชัดเจนโดยตรง ไม่ต้องอาศัยการอ้างเหตุผลหรือความรู้อันเป็นสื่อกลาง

 

      เป็นที่ชัดเจนว่าถ้าบุคคลหนึ่งรู้แจ้งเห็นจริงในพระเจ้า ในลักษณะที่ว่าจิตใจของเขาเข้าถึงพระองค์ในระดับสูง แน่นอน สำหรับเขาไม่จำเป็นต้องมีข้อพิสูจน์หรือเหตุผลทางปัญญาอันใดอีก แต่ดังที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ความรู้ชนิดนี้ (การรู้แจ้งเห็นจริงหรือรู้เอง) สำหรับบุคคลธรรมทั่วไปแล้ว จะเกิดขึ้นหลังจากได้ผ่านขบวนการขัดเกลาจิตใจ และผ่านขั้นตอนการยกระดับจิตใจไปแล้วจึงจะเป็นไปได้ ถึงแม้ว่าขั้นตอนที่อ่อนแอที่สุดของความรู้นี้จะปรากฏในบุคคลทั่วไปก็ตาม แต่เนื่องจากว่าขั้นตอนนี้มิได้อยู่เคียงคู่กับความรู้ ดังนั้น จึงไม่เพียงพอต่อการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโลกทัศน์ของพระเจ้า

 

       หมายเหตุ แน่นอนว่า ในโลกนี้มีกลุ่มชนที่ได้รับการยกเว้นพิเศษซึ่งพวกเขามีความรู้แบบอัชฌัตติกญาณ รู้เอง โดยที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพวกเขาเป็นบุคคลที่มีสัมผัสพิเศษ บรรลุญาณเข้าถึงพระเจ้า เช่น ความเชื่อของเราที่มีต่อบรรดาศาสดา หรืออิมามผู้บริสุทธิ์ ในลักษณะที่ว่าบรรดาท่านเหล่านั้นมีความรู้ชนิดนี้ตั้งแต่เด็ก หรือแม้แต่บางท่านได้รับความรู้นี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาด้วยซ้ำไป

 

      จุดประสงค์ของการรู้จักแบบความรู้ประจักษ์ หมายถึงการรู้ได้หรือประจักษ์ได้โดยประสบการณ์ โดยที่มนุษย์ใช้สื่อความเข้าใจทั้งหมด เช่น พระองค์คือผู้สร้าง ผู้มั่งคั่ง ทรงรอบรู้ ทรงพลานุภาพ และ ฯลฯ หรือใช้ความเข้าใจทางปัญญาเกี่ยวกับพระเจ้าที่ได้เกิดกับตน หลังจากนั้นได้ศรัทธาตามที่ตนเข้าใจว่าโลกนี้นั้นมีการมีอยู่ประเภทนี้อยู่ (พระผู้ทรงสร้างโลก) หลังจากนั้นได้นำเอาความรู้ประจักษ์อื่นเข้ามาเสริม จนกระทั่งระบบความศรัทธาทีมีความสัมพันธ์กัน (โลกทัศน์แห่งพระเจ้า) ได้ปรากฏแก่ตน

 

      สิ่งที่ได้รับมาโดยผ่านขบวนการกลั่นกรองของปัญญาและเหตุผลในเชิงปรัชญาแล้วเรียกว่า ความรู้ประจักษ์ และเมื่อความรู้เชิงประจักษ์ได้เกิดขึ้นกับตน บุคคลนั้นก็สามารถพัฒนาความรู้นี้ไปสู่ขั้นของการรู้เองได้

 

การรู้จักแบบธรรมชาติ

 

      คำเทศนาของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) จำนวนมากมาย หรือแม้แต่นักรหัสยะ หรือนักปราชญ์ที่ว่า การรู้จักพระเจ้าเป็นธรรมชาติ หรือกล่าวว่า การรู้จักพระเจ้าเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ ดังนั้น เพื่อความกระจ่างชัดในประโยคดังกล่าวจึงขออธิบายคำว่า ธรรมชาติ ให้เข้าใจเสียก่อนว่า

 

      คำว่า ฟิฏเราะฮ์  เป็นคำภาษาอาหรับหมายถึง การสร้างสรรค์ หรือประเภทของการสร้าง ส่วนภารกิจที่อยู่ในขบวนการนี้เรียกว่า ฟิฎรีย์ (หมายถึงการนำเอาภารกิจไปสัมพันธ์กับฟิฏเราะฮ์ ) หมายถึงการสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นเฉพาะเจาะจงสำหรับสิ่งเหล่านั้น จากจุดนี้จึงสามารถแยกคุณลักษณ์อันจำเพาะสำหรับสิ่งเหล่านั้นได้ 3 ประการ ดังนี้

 

1. ธรรมชาติและสัญชาติญาณทุกประเภทจากทุกสรรพสิ่งมีอยู่ในตัวของทุกคน แต่จะมีมากหรือน้อยแข็งแรงหรืออ่อนแอแตกต่างกันออกไป

 

2. การสร้างสรรค์ ได้อยู่เคียงคู่กับประวัติศาสตร์มาอย่างช้านาน มิได้หมายถึงว่าการสร้างสรรค์มีอยู่ในบางช่วงของประวัติศาสตร์ หรือมีอยู่เฉพาะเจาะจงในช่วงใดช่วงหนึ่ง หรือเจาะจงพิเศษในที่หนึ่ง ส่วนในอีกที่หนึ่งก็มีอีกลักษณะหนึ่ง อัลกุรอาน กล่าวว่า

 

فِطْرَتَ اللَّـهِ الَّتِي فَطَرَ النَّاسَ عَلَيْهَا ۚ لَا تَبْدِيلَ لِخَلْقِ اللَّـهِ ۚ

 

ธรรมชาติดั้งเดิม(สัญชาติญาณดั้งเดิม)ของอัลลอฮ์  คือ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการสร้างของอัลลอฮ์  (อัลกุรอาน บทอัรรูม โองการที่ 30)

 

3. การสร้างสรรค์ เป็นภารกิจอันเป็นธรรมชาติที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการสร้างสรรพสิ่ง โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้หรือมีแบบอย่างในการสร้าง ขณะที่การลอกเรียนแบบจำเป็นต้องมีการเรียนรู้

 

ส่วนธรรมชาติของมนุษย์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท กล่าวคือ

 

1. การรู้จักต่างๆ อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนโดยไม่ต้องเรียนรู้ พวกเขาก็สามารถรู้ได้เอง

2. อารมณ์ต้องการทางธรรมชาติ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนเช่นกัน

 

     ด้วยเหตุนี้ ถ้าการรู้จักพระเจ้าของมนุษย์ทุกคนเป็นสิ่งตายตัวที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์ ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้แต่อย่างใด ซึ่งเรียกสิ่งนั้นว่า การรู้จักพระเจ้าโดยสัญชาติญาณ และถ้าเจตนารมณ์ของเขามุ่งไปยังพระเจ้า การเคารพภักดีต่อพระองค์มีอยู่ในมนุษย์โดยกำเนิด เรียกว่า การเคารพภักดีพระเจ้าโดยสัญชาติญาณ

 

     ดังที่กล่าวไปแล้วว่า นักปราชญ์และนักวิชาการศาสนากล่าวว่า วิสัยทัศน์เกี่ยวกับศาสนาและพระเจ้าเป็นคุณสมบัติพิเศษด้านจิตวิทยาของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่าผัสสะแห่งศาสนาหรือความรักในศาสนา บัดนี้ จะขออธิบายเสริมว่า การรู้จักพระเจ้าก็เช่นกันเป็นภาวะเฉพาะเจาะจงอยู่ในสัญชาติญาณของมนุษย์ เพียงแต่ว่าสัญชาติญาณในการเคารพภักดีพระเจ้า มิใช่วิสัยทัศน์ที่ล่วงรู้ ทำนองเดียวกันสัญชาติญาณในการรู้จักพระเจ้า ก็มิได้เป็นการรู้จักที่ล่วงรู้ ในลักษณะที่ว่าบุคคลทั่วไปถ้าไม่ใช้สติปัญญาในการใคร่ครวญพิจารณาก็สามารถรู้จักพระเจ้าได้

 

    แต่ประเด็นหนึ่งที่ไม่สามารถลืมเลือนได้ คือ มนุษย์ทุกคนมีความรู้ประจักษ์ในระดับอ่อนอยู่ในตัวทุกคน ถ้าใคร่ครวญพิจารณาเพียงเล็กน้อยก็สามารถยอมรับพระเจ้าได้ หรือค่อยๆ พัฒนาความรู้ประจักษ์ขั้นอ่อนแอของตนไปสู่ความรู้แจ้ง

 

    สรุปสิ่งที่กล่าวมาสัญชาติญาณของการรู้จักพระเจ้าหมายถึง จิตใจของมนุษย์รู้จักและมีความผูกพันอยู่กับพระเจ้า และในก้นบึ้งของจิตวิญญาณนั้นมีการสั่งสมธาตุแท้ของการรู้จักพระองค์อยู่ ซึ่งพร้อมที่จะพัฒนาให้เจริญเติบและเปล่งบานออกไปได้ตลอดเวลา แต่ธาตุแท้ของการรู้จักดังกล่าวที่มีอยู่ในบุคคลทั่ว ไปมิได้หมายความว่าไม่ต้องการเหตุผล หรือการคิดใคร่ครวญ และการพิสูจน์ด้วยสติปัญญา

 

ผู้เขียน : อายะตุลลอฮ์ มิซบาฮ์ยัซดีย์

แปล :  เชค ดร.มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม