มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ(5)

มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ(5)


โดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

 

คุณลักษณะบุคลากรของอัลลอฮ์(ซบ.)

 

เหตุผลสำคัญที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ.) ทรงประทานศาสดาลงมาชี้นำมวลมนุษย์ และที่พระองค์ส่งศาสดาทุกท่านลงมานั้น มีเงื่อนไขหลักๆที่เราจะต้องรู้ ดังต่อไปนี้

 

เงื่อนไขแรก : บุคลากรของอัลลอฮ์(ซบ.) คือ ผู้บริสุทธิ์ “มะอ์ซูม”

 

การเป็นศาสดา หรือ การเป็นบุคลากรของอัลลอฮ์(ซบ.) คือ ผู้บริสุทธิ์ หมายความว่า เขาต้องเป็น “มะอ์ซูม” (ความบริสุทธิ์) ตั้งแต่แรก ซึ่งหากไม่มีเงื่อนไขนี้ แม้นบุคคลนั้น จะเก่งขนาดไหน หากไม่ใช่มะอ์ซูม ก็จะเป็นนบีไม่ได้ และเพื่อเน้นว่าในสายธารของเรา หากไม่ใช่มะอ์ซูมเป็นนบีไม่ได้ นัยยะ คือ บุคลากรที่เป็นตัวแทนของอัลลอฮ์ (ซบ.) จะต้องเป็นมะอ์ซูม และไม่ใช่เพียงนบีเท่านั้น ทว่าวะซีย์ก็ต้องเป็นมะอ์ซูมเช่นกัน

 

เพราะเหตุใดทั้งนบี ทั้งวะซีย์ จำเป็นต้องมีเงื่อนไข “อิศมัต”

 

เหตุผลประการหนึ่ง ที่นบีและวะซีย์ถูกส่งลงมาเพื่อเป็นแบบอย่าง ด้วยเหตุผลนี้ บุคคลที่เป็นแบบอย่างจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนอกจากไม่มีบาปแล้ว จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีที่ติอีกด้วย เพราะหากบุคลากรของพระองค์มีที่ติแล้วไซร้ การปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์ก็จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งบางทัศนะว่า นบีเป็นเรื่องของวะฮ์ยู บางความเชื่อที่ตลกๆ ก็ว่า นบีเพิ่งเป็นมะอ์ซูม ในช่วงที่ได้รับวะฮ์ยูเท่านั้น

 

ส่วนในสายธารของเรา ยืนยันว่า ปฐมบทของการเป็นนบี จะต้องเป็นมะอ์ซูมมาตั้งแต่กำเนิด ตั้งแต่ดาวดึงส์แล้ว เพราะหากไม่ใช่มะอ์ซูม ผลที่จะตามมา ก็คือ จะเกิดปัญหาเรื่องการปฏิบัติตาม หมายความว่า การปฏิบัติตามแบบสมบูรณ์ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น เมื่อการปฏิบัติตามที่ไม่สมบูรณ์เกิดขึ้น เป้าหมายของการส่งบรรดาศาสดาก็จะไม่สมบูรณ์

 

ด้วยกับเงื่อนไขนี้ ศาสดาทั้งหมด จึงถูกส่งลงมา เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับมวลมนุษยชาติ แบบอย่างเบื้องต้นในการดำเนินชีวิต และอีกมากมาย

 

สถานภาพของศาสดา

 

แบบอย่างของการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น ขึ้นอยู่กับสถานภาพฐานันดรของศาสดา สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องรู้เพิ่มเติมมีรายละเอียดดังนี้

 

ฐานันดรของบรรดาศาสดานั้นต่างกัน
นบีเหมือนกันแต่นบีไม่เหมือนกัน

 “นบีเหมือนกัน" ในที่นี้ หมายถึง ท่านเป็นบุคลากรของอัลลอฮ์ (ซบ.) ทว่าขอบเขตของการทำงานนั้น ไม่เหมือนกัน เช่น ศาสดาบางคนถูกส่งมาในขอบเขตที่จำกัดสำหรับประชาชาติหนึ่ง หรือสำหรับชนเผ่าหนึ่ง


ตัวอย่าง : ซูเราะฮ์ฮูด โองการที่ 61

 

وَإِلَىٰ ثَمُودَ أَخَاهُمْ صَالِحًا ۚ قَالَ يَا قَوْمِ اعْبُدُوا اللَّهَ مَا لَكُم مِّنْ إِلَٰهٍ غَيْرُهُ ۖ هُوَ أَنشَأَكُم مِّنَ الْأَرْضِ وَاسْتَعْمَرَكُمْ فِيهَا فَاسْتَغْفِرُوهُ ثُمَّ تُوبُوا إِلَيْهِ ۚ إِنَّ رَبِّي قَرِيبٌ مُّجِيب

 

ความหมาย : และสำหรับษะมูด เราได้ส่งพี่น้องคนหนึ่งของพวกเขา คือ ศอลิห์ เขากล่าวว่า “โอ้กลุ่มชนของฉันเอ๋ย! พวกท่านจงเคารพอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์เถิด พวกท่านไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ พระองค์ทรงบังเกิดพวกท่าน และพำนักอยู่ในนั้น ดังนั้น พวกท่านจงขออภัยต่อพระองค์ และจงกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์ แท้จริงพระผู้อภิบาลของฉันทรงอยู่ใกล้ในการตอบรับอย่างเสมอ

 


ซูเราะฮ์อัลอะอ์รอฟ โองการที่ 65

 

وَإِلَىٰ عَادٍ أَخَاهُمْ هُودًا ۗ قَالَ يَا قَوْمِ اعْبُدُوا اللَّهَ مَا لَكُم مِّنْ إِلَٰهٍ غَيْرُهُ ۚ أَفَلَا تَتَّقُونَ

 

“และยังเผ่าชนอาดนั้น เราได้ส่งฮูด ซึ่งเป็นพี่น้องของพวกเขาไป เขากล่าวว่า โอ้เผ่าชนของฉัน! จงเคารพสักการะต่ออัลลอฮ์เถิด ไม่มีผู้ที่ควรได้รับการเคารพสักการะใด ๆ สำหรับพวกท่านอีกแล้ว นอกจากพระองค์ แล้วพวกท่านจะไม่ยำเกรงดอกหรือ”

 

คำอธิบาย : ดังประวัติของท่านนบีแต่ละท่านที่พอยกมาเป็นอุทาหรณ์ว่า เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ.) ได้ทรงจำกัดขอบเขตของศาสดาบางท่านหรือ ส่งศาสดาจำนวนหนึ่งให้มีภารกิจที่จำเพาะ สำหรับประชาชาติหนึ่ง หรือสำหรับตระกูลหนึ่งเพียงเท่านั้น เช่น พระองค์ทรงตรัสว่า

 

ในหมู่เผ่าซะมูด เราได้ส่งศอลิห์ยังพวกเขา
ท่านศาสดาฮูดได้ถูกส่งไปยังเผ่าอาด
ท่านนบีลูฏก็จะมีภารกิจในประชาชาติของท่าน
ทว่า บรรดาศาสดาบางท่านนั้น มีภารกิจที่กว้างไกลกว่า โดย อัลลอฮ์(ซบ.) ทรงตรัสดังนี้

 

ซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 253

 

تِلْكَ الرُّسُلُ فَضَّلْنَا بَعْضَهُمْ عَلَىٰ بَعْضٍ ۘ مِّنْهُم مَّن كَلَّمَ اللَّهُ ۖ وَرَفَعَ بَعْضَهُمْ دَرَجَاتٍ ۚ وَآتَيْنَا عِيسَى ابْنَ مَرْيَمَ الْبَيِّنَاتِ وَأَيَّدْنَاهُ بِرُوحِ الْقُدُسِ ۗ وَلَوْ شَاءَ اللَّهُ مَا اقْتَتَلَ الَّذِينَ مِن بَعْدِهِم مِّن بَعْدِ مَا جَاءَتْهُمُ الْبَيِّنَاتُ وَلَٰكِنِ اخْتَلَفُوا فَمِنْهُم مَّنْ آمَنَ وَمِنْهُم مَّن كَفَرَ ۚ وَلَوْ شَاءَ اللَّهُ مَا اقْتَتَلُوا وَلَٰكِنَّ اللَّهَ يَفْعَلُ مَا يُرِيدُ

 

“บรรดารอซูลเหล่านั้น เราได้ให้บางคนในหมู่พวกเขาดีเด่นกว่าอีกบางคน ในหมู่พวกเขานั้น มีผู้ที่อัลลอฮ์ทรงตรัสด้วย และได้ทรงยกบางคนในหมู่พวกเขาขึ้นหลายขั้น และเราได้ให้บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งแก่อีซาบุตรของมัรยัม และเราได้สนับสนุนเขาด้วยวิญญาณแห่งความบริสุทธิ์ และหากอัลลอฮ์ทรงประสงค์แล้ว บรรดาชนหลังจากพวกเขา ก็คงไม่ฆ่าฟันกัน หลังจากนั้นได้มีบรรดาหลักฐานอันชัดเจนมายังพวกเขา แต่ทว่าพวกเขายังขัดแย้งกัน แล้วในหมู่พวกเขานั้นมีผู้ที่ศรัทธา และในหมู่พวกเขานั้น มีผู้ที่ปฏิเสธศรัทธา และหากว่าอัลลอฮ์ทรงประสงค์แล้ว พวกเขาก็คงไม่ฆ่าฟันกัน แต่ทว่าอัลลอฮ์นั้นทรงกระทำตามที่พระองค์ทรงประสงค์”

 

จากประโยค “"ละก็อด ฟัฎฎ็อลนา บะดุฮุม อะลาบะอ์ดิน


ในบรรดาศาสดาทั้งหมด ก่อนท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)จะลงมา พระองค์ทรงยกศาสดาจำนวนหนึ่งให้มีความประเสริฐ มีฟะฎีลัตมากกว่าศาสดาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งสูงที่สุดก่อนท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) คือ ศาสดาอิบรอฮีม(อ) ที่เป็นนบีที่ถูกเทิดเกียรติมากที่สุด

 

เห็นได้ว่า มีศาสดาที่มีคุณลักษณะพิเศษมากกว่าศาสดาจำเพาะ สำหรับประชาชาติหนึ่ง ก็คือ ท่านนบีอิบรอฮีม (อ)

 

สาระศึกษา : อัลลอฮ์(ซบ.)ทรงตรัสว่า “ในแบบฉบับของอิบรอฮีม ก็ยังเป็นแบบอย่างที่ดีของมวลมนุษยชาติ”


ซึ่งหากศึกษาในคัมภีร์อัลกรุอาน จะพบว่า หลังจากท่านนบีอิบรอฮีม(อ) ทุกศาสดาที่ตามมานั้น ล้วนอ้างอิงไปยังท่านนบีอิบรอฮีม(อ)ทั้งหมด บ้างเรียกศาสดาแห่งอิบรอฮีม บ้างเรียกลูกหลานแห่งอิบรอฮีม รวมทั้งนบีจากบนีอิสรออีลและจากที่ไม่ใช่จากบนีอิสรออีล นบีอีซา นบีมูซา นบีสุลัยมาน นบีอัยยุบ นบียะฮ์ยา นบีซาการียา นบีต่างๆทั้งหมด ตั้งแต่นบีมูซา รวมทั้งท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ)ก็อ้างเป็นบุคคลที่ได้รับการสืบทอดศาสนาของอิบรอฮีม

 

นี่คือ ความยิ่งใหญ่สูงสุดอันหนึ่งของท่านนบีอิบรอฮีม(อ) เป็นการชี้ว่า หลังจากท่าน


นบีอิบรอฮีม(อ)บรรดาศาสดาที่มาตามหลัง ทั้งหมดได้อ้างศาสนากลับไปยังท่านนบีอิบรอฮีม(อ)

 

นัยยะ คือ ทุกศาสนาที่ตามมาหลังจากท่านนบีอิบรอฮีม(อ) แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ก็เรียกศาสนานี้ว่า ศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ศัพท์วิชาการเรียกว่า“ดีนนุซซะมาวี” ศาสนาแห่งฟากฟ้า ศาสนาที่มาจาก เอกองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)นั่นเอง

 

ไม่เพียงเท่านั้น แบบอย่างของท่านนบีอิบรอฮีม(อ) ยังเป็นแบบอย่างที่อัลลอฮ์(ซบ.)ยอมรับมากที่สุด มากกว่าแบบอย่างของศาสดาที่เคยมีมาในประชาชาติของเขา ไม่ว่าศาสดานั้นจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ทว่านบีอิบรอฮีม(อ) เป็นแบบอย่างที่อัลลอฮ์(ซบ.)ยอมรับมากที่สุด

 

จริงอยู่ที่ นบีมูซา(อ) ก็เป็นศาสดาที่ยิ่งใหญ่ หรือบรรดานบีท่านอื่นๆนั้นเช่นกัน ท่านก็เป็นเพียงแบบฉบับในยุคของท่านเอง และไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นต้นแบบของมนุษยชาติ ทั้งๆที่ในอดีตเป็นต้นแบบของบรรดาอุมมัตในยุคของท่าน

 

ทว่าสำหรับท่านนบีอิบรอฮีม(อ) แม้แต่เมื่อถึงการปรากฏตัวของท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) นบีผู้ที่เป็น”ซัยยิดุลอัมบิยาอิวัลมุรซาลีน” (ท่านนบีมูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) เป็นนบีที่เป็นประมุขของนบีและรอซูลทุกองค์ นบีที่เป็นนายของนบีทุกองค์)

 

ในขณะที่นบีบางคนถูกส่งลงมาเพื่อยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง เพื่อประชาชาติหนึ่งหรือกลุ่มชนหนึ่งหรือเผ่าพันธุ์หนึ่งหรือตระกูลหนึ่ง ทว่าสำหรับท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) ในอัลกุรอาน
ซูเราะฮ์อัซซะบาอ์ โองการที่ 28

 

وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا كَافَّةً لِّلنَّاسِ بَشِيرًا وَنَذِيرًا وَلَٰكِنَّ أَكْثَرَ النَّاسِ لَا يَعْلَمُونَ

 

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่อการใด เว้นแต่เป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือนแก่มนุษยชาติทั้งหลาย แต่ว่าส่วนมากของมนุษย์นั้นไม่รู้”

 

คำอธิบาย : ท่านนบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) คือ นบีที่เป็น “ซัยยิดุลอัมบิยาอิวัลมุรซาลีน” เพราะบริบทของท่าน เป็นนบีที่เป็นประมุขของนบีและรอซูลทุกองค์ นบีที่เป็นนายของนบีทุกองค์ นบีที่ใหญ่กว่าทุกๆองค์ ซึ่งถ้าภาษาชาวบ้าน เรียกว่า นบีที่เป็นลูกพี่ของทุกนบี อีกทั้งขอบเขตการทำงานที่อัลลอฮ์ (ซบ) กำหนดมายังท่านนั้นยิ่งใหญ่และกว้างไกลมากที่สุด

 

และอีกโองการหนึ่ง ซูเราะฮ์อัลอัมบียาอ์ โองการที่ 107


وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ

 

“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย”


คำอธิบาย : เป็นที่เข้าใจดีว่า ถ้าอยากจะรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)อายะฮ์นี้ดีที่สุด เพราะนบีบางองค์เป็นเราะฮมัตของษะมูด นบีบางองค์เป็นเราะฮ์มัตของพวกอาด

 

ทว่านบีมูฮัมมัด(ศ็อลฯ) นั้น ท่านเป็น “เราะฮ์มะตัลลิลอาละมีน” หมายความว่า ท่านไม่ได้เป็นนบีที่ถูกจำกัดไว้แต่เพียงโลกนี้ ทว่า ความเราะฮ์มัตของท่านนบีมูฮัมมัด (ศ็อลฯ) นั้น ครอบคลุมทั้งสากลจักรวาลนั่นเอง

 

‎السلام عليك يا ابا عبد الله
‎اللهم صل علی محمد وآل محمد جل فرجهم

 

เรียบเรียงโดย Wanyamilah S