เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การชี้นำ (ฮิดายะฮฺ)ในอิสลามตามทัศนะของอัลกุรอาน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5
การชี้นำ (ฮิดายะฮฺ)ในอิสลามตามทัศนะของอัลกุรอาน

ฮิดายะฮฺ หมายถึง การชี้นำ ซึ่งมีสองลักษณะ คือ การชี้นำทางที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายปลายทาง โดยจะเรียกการชี้นำลักษณะนี้ว่า “อิรออะตุฏฏอรีก” (การบอกทาง) และอีกลักษณะหนึ่งคือ การนำพาผู้ถามทางให้ไปถึงจุดมุ่งหมายปลายทางด้วยตนเอง ซึ่งจะเรียกลักษณะนี้ว่า “อีศอล อิลัลมัฏลูบ) (การนำพาสู่จุดมุ่งหมาย) ในสำนวนเชิงวิชาการจะเรียกการ “ฮิดายะฮฺ” สำหรับสิ่งหนึ่งที่มีความสมบูรณ์ที่มีความเป็นระบบระเบียบที่จำเพาะและถูกต้อง หรืออาจจะกล่าวอีกได้ว่า เป็นความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิ่งที่มีอยู่กับอนาคตที่สมบูรณ์ของสิ่งนั้น ๆ

 คำว่า “ฮิดายะฮฺ” (การชี้นำ) มีคำตรงข้ามอยู่สองคำคือ คำว่า “ฎอลาละฮฺ” (การหลงทาง) และ “ฆอวายะฮฺ”  (การหลงผิด)  คำว่า “ฮิดายะฮฺ” (การชี้นำ)ที่ตรงข้ามกับคำว่า “ฎอลาละฮฺ” เกี่ยวข้องกับเรื่องของหนทาง และจะเรียกผู้ที่รู้จักทางที่ถูกต้องแล้วเดินไปตามทางนั้น ว่า “มุฮ์ตะดี” (ผู้ที่ได้พบหนทาง) และจะเรียกผู้ที่ไม่รู้จักทางและเดินไปในทางที่ไม่ถูกต้องว่า “ฎอล” (ผู้หลงทาง) ส่วนคำว่า “ฮิดายะฮฺ”ที่ตรงข้ามกับคำว่า “ฆอวายะฮฺ”  (การหลงผิด) นั้นให้ความหมายของการมีเป้าหมายและจุดมุ่งหมาย “ฆ็อยย์”และ “ฆอวี” คือผู้ที่ไร้จุดมุ่งหมาย

สิ่งที่น่าสังเกตคือ บางครั้งแต่ละคำที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอาจจะถูกนำมาใช้ร่วมกันหรือบางครั้งอาจจะถูกนำมาใช้ในอีกความหมายหนึ่ง กล่าวคือ บางครั้งคำว่า “ฆอวายะฮฺ” (การหลงผิด) อาจถูกนำมาใช้สำหรับความหมายของ “ฎอลาละฮฺ” (การหลงทาง) ได้เมื่อมีประโยคอื่นมาสนับสนุน

 ตามพื้นฐานของการแบ่งข้างต้น จะเรียกผู้ที่มีเป้าหมายและรู้จักเป้าหมายนั้น แต่ไม่รู้ทางที่จะให้ไปถึงเป้าหมายนั้นว่า “ฎอล”(ผู้หลงทาง) และจะเรียกผู้ที่ไม่รู้เป้าหมายว่า “ฆอวี” (ผู้หลงผิด)

 ดังนั้น “ฮิดายะฮฺ” หมายถึง การรู้จักเป้าหมายพร้อมทั้งรู้ทางและเดินไปตามทางนั้น

 “ฮิดายะฮฺ” ในโองการที่ว่า  اهْدِنَا الصِّرَاطَ الْمُسْتَقِيمَ  “ขอพระองค์ทรงชี้นำเราสู่ทางอันเที่ยงตรง” (ซูเราะฮฺฟาติหะฮ์ โองการที่ 6) ด้านหนึ่งเป็นการชี้นำที่ตรงข้ามกับ “ฎอลาละฮฺ” (การหลงทาง) “และมิใช่ทางของพวกที่หลงทาง” และอีกด้านหนึ่งเป็นการชี้นำสู่ “ศิรอฏ” (หนทาง) ดังนั้นการชี้นำในประเภทแรกให้ความหมายของการพบหนทาง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องยึดมั่นและยืนหยัดเป็นพิเศษซึ่งจะกล่าวต่อไป และการชี้นำในประเภทที่สองนั้นให้ความหมายของการมีเป้าหมายและจุดมุ่งหมาย


การชี้นำสำหรับทุกสรรพสิ่ง

 “ฮิดายะตุลอาม”การชี้นำทั่วไป หมายถึงระหว่างปฐมเหตุกับจุดหมายปลายทางนั้นมีความเป็นระบบที่พิเศษคอยกำกับอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดเลยที่จะไม่ได้รับการชี้นำ เพราะไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่ไร้ซึ่งจุดหมาย ด้วยเหตุนี้หากเป็นหนทางที่เที่ยงตรง ก็จะพบกับจุดหมายปลายที่ดีงาม เพราะระหว่างหนทางที่เที่ยงตรงกับจุดจบที่ดี (สวรรค์) นั้นเป็นสิ่งที่คู่กันอย่างเหนียวแน่น และหากเป็นหนทางที่หลงทางและไม่ใช่หนทางที่เที่ยงตรงแล้วไซร้ บั้นปลายของมันก็คือความเลวร้าย (นรก)

فَاهْدُوهُمْ إِلَى صِرَاطِ الْجَحِيمِ  

“แล้วจงแนะนำทางแก่พวกเขาไปสู่ทางแห่งนรก” (ซูเราะฮฺ ศอฟฟาต โองการที่ 23)

  وَيَهْدِيهِ إِلَى عَذَابِ السَّعِيرِ

 “มันจะทำให้เขาหลงทางและจะนำเขาไปสู่การลงโทษที่มีเปวลุกโชน” (ซูเราะฮฺ หัจญ์ โองการที่ 4 ) เหมือนกับบาปและการลงโทษที่ย่อมมีความเหมาะสมคู่ควรซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ทุก ๆ การงานย่อมมีหนทางที่จะนำพามนุษย์สู่นรก (ญะฮันนัม)

 ด้วยเหตุนี้ในขณะที่ชัยฏอนเป็นผู้ที่จะทำให้หลงทาง ก็เป็น“ผู้นำสู่หนทางแห่งนรก” เช่นกัน กล่าวคือ การ “ฮิดายะตุลอาม” ไม่ใช่เป็นการชี้นำเฉพาะ (ฮิดายะตุลคอส) ที่จะพาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปสู่ความสมบูรณ์เท่านั้น และเป็นคำที่ให้ความหมายที่ตรงข้ามกับคำว่า “ฎอลาละฮฺ” นั่นเอง

การใช้คำว่า “ฮิดายะฮฺ” ด้วยคำสันธาน “อะลา”

 คำว่า “ฮิดายะฮฺ” และคำต่าง ๆ ที่แตกออกมาจากคำนี้ กุรอานได้ใช้ควบคู่กับคำสันธานว่า “อะลา” ซึ่งมีความหมายที่บ่งชี้ถึงการเหนือกว่า เช่น

إِنْ كَانَ عَلَى الْهُدَى           

  “หากบ่าวผู้นั้นอยู่บนแนวทางที่ถูกต้อง” (ซูเราะฮฺ อะลัก โองการที่ 11)

أُولَئِكَ عَلَى هُدًى مِنْ رَبِّهِمْ

 “ชนเหล่านี้ คือ ผู้ที่ (ตั้ง) อยู่บนทางนำ” (ซูเราะฮฺ บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 5)

أَفَمَنْ شَرَحَ اللَّهُ صَدْرَهُ لِلإسْلامِ فَهُوَ عَلَى نُورٍ مِنْ رَبِّهِ

“ผู้ใดที่อัลลฮฺทรงเปิดใจของเขาสู่อิสลาม ดังนั้นเขาอยู่บนแสงสว่างจากพระผู้อภิบาลของเขา”

(ซูเราะฮฺ ซุมัร โองการที่ 22)

ส่วนคำว่า “ฎอลาละฮฺ” และคำที่แตกออกมาจากคำนี้จะใช้กับคำสันธาน “ฟี” ซึ่งบ่งชี้ถึงการตำหนิ เช่น

وَإِنَّا أَوْ إِيَّاكُمْ لَعَلَى هُدًى أَوْ فِي ضَلالٍ مُبِينٍ

“และแท้จริงไม่เราก็พวกท่าน แน่นอนที่อยู่บนแนวทางที่ถูกต้อง หรืออยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง”

(ซูเราะฮฺ สะบะอ์ โองการที่ 24)

وَالَّذِينَ كَذَّبُوا بِآيَاتِنَا صُمٌّ وَبُكْمٌ فِي الظُّلُمَاتِ

     “และบรรดาผู้ที่ปฏิเสธโองการทั้งหลายของเรานั้น คือผู้ที่หูหนวก และเป็นใบ้ ซึ่งอยู่ในบรรดาความมืดมน” (ซูเราะฮฺ อันอาม โองการที่ 39)

  คำว่า “ซุลุมาต” นั้นเหมาะสมกับคำว่า “ฎอลาละฮฺ” และหากใช้กับคำสันธาน “อะลา” ก็ยังคงให้ความหมายของการตำหนิเช่นเดิม เพราะความมืดมนจะปกคลุมเหนือมนุษย์ที่หลงทางและทำบาป

وَإِذَا أَظْلَمَ عَلَيْهِمْ

“และเมื่อความมืดได้ปกคลุมพวกเขา” (ซูเราะฮฺ บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 20)

 ดังนั้น พวกที่ทำบาปได้จมและตกอยู่ภายใต้ความมืดมนและการหลงทาง ไม่ใช่พวกเขาจะอยู่เหนือการหลงทาง ซึ่งแตกต่าง ๆ จากคำว่า “ฮิดายะฮฺ” ที่เหล่าผู้ศรัทธาจะเป็นผู้ที่ควบคุมและอยู่บนทางนำ

      หรือจะกล่าวอีกได้ว่า  อัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งการชี้นำเหล่าผู้ยำเกรง และความยำเกรงก็คือรากฐานและแบบฉบับของศรัทธาชน

أَفَمَنْ أَسَّسَ بُنْيَانَهُ عَلَى تَقْوَى مِنَ اللَّهِ

 “ผู้ที่วางรากฐานอาคารของเขาบนความยำเกรงต่ออัลลฮฺ” (ซูเราะฮฺ เตาบะฮฺ โองการที่ 109) บรรดาผู้เกรงนั้นยืนหยัดอยู่บนรากฐานของความยำเกรง ซึ่งความยำเกรงนี้คือแหล่งที่มาของการได้รับทางนำ ดังนั้นพวกเขาคือผู้ที่ยืนหยัดอยู่บนรากฐานของการได้รับทางนำ

أُولَئِكَ عَلَى هُدًى مِنْ رَبِّهِمْ

 “ชนเหล่านั้นอยู่บนแนวทางที่ถูกต้องจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา” (ซูเราะฮฺ ลุกมาน โองการที่ 5)

     เพราะแสงได้ทำให้สิ่งต่าง ๆ ได้รับความสว่าง และความมืดทำให้สิ่งต่าง ๆ ต้องตกอยู่ภายใต้ความมืดมิดฉันใด แสงแห่งทางนำก็จะทำให้มนุษย์อิ่มเอมและมีความผาสุกฉันนั้น

يَرْفَعِ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا مِنْكُمْ وَالَّذِينَ أُوتُوا الْعِلْمَ دَرَجَاتٍ

        “เพราะอัลลฮฺจะทรงยกย่องเทิดเกียรติแก่บรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และฐานันดรแก่บรรดาผู้ได้รับความรู้หลายชั้น” (ซูเราะฮฺ มุญาดะละฮฺ โองการที่ 11) และความมืดมนของการหลงทางจะทำลายและทำให้เขาตกต่ำในที่สุด

            وَلا تَطْغَوْا فِيهِ فَيَحِلَّ عَلَيْكُمْ غَضَبِي وَمَنْ يَحْلِلْ عَلَيْهِ غَضَبِي فَقَدْ هَوَى

“และพวกเจ้าอย่าได้ฝ่าฝืน มิฉะนั้น ความกริ้วของข้าจะเกิดขึ้นแก่พวกเจ้า และผู้ใดที่ความกริ้วของข้าจะเกิดขึ้นแก่เขาแน่นอนเขาจะประสบความพินาศ” (ซูเราะฮฺ ฏอฮา โองการที่ 81)

การนำทางถูกนำเสนอก่อนการหลงทาง

      การนำเสนอ ฮิดายะฮฺก่อนฎอลาละฮฺ บ่งบอกถึง ความเมตตาของพระองค์ที่มาก่อนความกริ้วของพระองค์

 مَنِ اهْتَدَى فَإِنَّمَا يَهْتَدِي لِنَفْسِهِ وَمَنْ ضَلَّ فَإِنَّمَا يَضِلُّ عَلَيْهَا

       ผู้ใดได้พบแนวทางที่ถูกต้อง แท้จริงเขาจะอยู่ในทางนั้นเพื่อตัวเขาเอง และผู้ใดหลงทาง ความจริง เขาก็หลงบนทางที่ผิด” (ซูเราะฮฺ อิสรออ์ โองการที่ 15)

فَمَنِ اهْتَدَى فَلِنَفْسِهِ وَمَنْ ضَلَّ فَإِنَّمَا يَضِلُّ عَلَيْهَا

“ดังนั้นผู้ใดพบแนวทางที่ถูกต้องก็จะได้แก่ตัวของเขาเองและผู้ใดหลงทาง เขาก็จะหลงอยู่บนทางที่ผิด” (ซูเราะฮฺ ซุมัร โองการที่ 41)

مَنْ يَهْدِ اللَّهُ فَهُوَ الْمُهْتَدِي وَمَنْ يُضْلِلْ فَأُولَئِكَ هُمُ الْخَاسِرُونَ

 “ผู้ที่อัลลฮฺทรงนำทางนั้น เขาก็เป็นผู้รับทางนำ และผู้ที่พระองค์ทรงปล่อยให้หลงผิดนั้น ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ขาดทุน” (ซูเราะฮฺ อะอ์รอฟ โองการที่ 178)

            แต่ทว่าการนำคำขึ้นก่อนนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  ฉะนั้นบางครั้งจึงพบว่าจะนำคำว่า “ฎอลาละฮฺ” ขึ้นก่อนคำว่า “ฮิดายะฮฺ” เนื่องจากเพื่อความความเหมาะสมของเนื้อหานั้น ๆ เช่น

يُضِلُّ بِهِ كَثِيرًا وَيَهْدِي بِهِ كَثِيرًا وَمَا يُضِلُّ بِهِ إِلا الْفَاسِقِينَ

“และทรงนำทางที่ถูกต้องแก่คนมากมายด้วยอุทาหรณ์นั้น และพระองค์จะไม่ทรงให้ใครหลงทางด้วยอุทาหรณ์นั้นนอกจากผู้ที่ฝ่าฝืนเท่านั้น” (ซูเราะฮฺ บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 26)

        เนื่องจากผู้หลงทางเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนจนเป็นเหตุให้หลงทางด้วยการปฏิเสธอัลลฮฺ (ซบ.)  จึงได้กล่าวเรื่องการหลงทางก่อนเรื่องการได้รับทางนำ เป็นต้น

การชี้นำ (ฮิดายะฮฺ) หนทางในการรู้จักแก่นแท้ของการชี้นำ(ฮิดายะฮฺ)
       หนทางที่ดีที่สุดในการรู้จักทุกสรรพสิ่ง นั้นก็คือการคิดใคร่ครวญในแก่นแท้ของสิ่งนั้น ๆ  เพราะหากเราวิเคราะห์พร้อมกับเข้าถึงปัจจัยในการดำรงอยู่ภายในและภายนอกของสิ่งนั้น จะทำให้รู้ถึงคุณลักษณะของความเป็นแก่นแท้ของมันได้อย่างชัดแจ้ง แต่หากเรารู้จักสิ่งนั้นจากร่องรอย ด้วยกับสิ่งรอบข้างหรือสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งนั้น ๆ ก็จะเกิดช่องว่างสำหรับการรู้จักต่อสิ่งนั้นและย่อมไม่สามารถเข้าถึงความสมบูรณ์อย่างชัดแจ้งได้   ซึ่งย่อมจะไม่เหมือนกับการรู้จักสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยกับเหตุของความเป็นแก่นแท้ของสิ่งนั้นๆ

เรารู้จักวิถีทางนี้ด้วยกับคำกล่าวของท่านอิมามอาลี (อ.) ที่ท่านกล่าวว่า “จงรู้จักอัลลฮฺ ด้วยอัลลฮฺ และจงรู้จักท่านศาสนทูตด้วยสาส์น และจงรู้จักผู้ปกครองที่ชอบธรรมด้วยกับการเชิญชวนในการทำความดี ความยุติธรรมและคุณธรรมเถิด” เพราะคุณสมบัติของพวกเขาเผยปรากฏจากประโยคหนึ่งในอัลกุรอานที่ว่า

 إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإحْسَانِ

  “แท้จริงอัลลฮฺทรงบัญชาให้มีความเที่ยงธรรมและคุณธรรม”  (ซูเราะฮฺ นะหล์ โองการที่ 90)

 หนทางที่ดีที่สุดในการทำความรู้จักทุกสรรพสิ่งนั้นคือการเข้าถึงยังแก่นแท้ของสิ่งนั้น ๆ  เหมือนดังที่บรรดาพี่น้องของท่านศาสดายูซุฟ (อ.) เมื่อเห็นท่านศาสดายูซุฟ (อ.) จึงรู้ได้ว่าเขาคือท่านศาสดายูซุฟ (อ.)

 قَالُوا أَئِنَّكَ لأنْتَ يُوسُفُ قَالَ أَنَا يُوسُف

 “พวกเขาได้กล่าวว่า ท่านนี่หรือคือยูซุฟ เขาตอบว่า ฉันคือยูซุฟ” (ซูเราะฮฺยูซุฟ โองการที่ 90)

       พวกเขารู้จักท่านศาสดายูซุฟ (อ.) เมื่อครั้งที่ได้เห็นท่าน และได้รู้จักท่านศาสดายูซุฟ (อ.) ด้วยตัวของท่านศาสดายูซุฟ (อ.)

 มันศูร บิน ฮาซิม กล่าวแก่ท่านอิมามศอดิก (อ.) :  ฉันได้ถกถียงกับผู้คนกลุ่มหนึ่ง โดยได้กล่าวแก่พวกเขาว่า แท้จริงอัลลฮฺ (ซบ.) นั้นสูงส่งเกินกว่าที่จะรู้จักพระองค์ได้ด้วยกับสิ่งที่ถูกสร้างของพระองค์  แต่ปวงบ่าวของพระองค์สามารถรู้จักอัลลฮฺ (ซบ.) ได้ด้วยกับการรู้จักพระองค์เอง ท่านอิมามกล่าวว่า:  “ขออัลลฮ์ (ซบ.) ทรงเมตตาท่าน” ซึ่งเคล็ดลับของการรู้จักในลักษณะเช่นนี้ก็คือ หากรู้จักถึงแก่นแท้ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ในการรู้จักสิ่งนั้นก็จะไม่มีสิ่งคลุมเครือใด ๆ หลงเหลืออีกเลย

 ใช่แล้ว หากสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุ   วิถีทางที่ดีที่สุดในการรู้จักสิ่งนั้นก็คือการรู้จักสาเหตุที่มาของมัน เพราะการรู้ถึงสาเหตุก็จะทำให้รู้ถึงผลที่เกิดขึ้น  และแน่นอนยิ่งที่ว่าจะไม่มีวิถีทางใดที่จะรู้ถึงผลได้อย่างแท้จริงนอกจากรู้จักถึงเหตุของสิ่งนั้น

อีกประการหนึ่ง การรู้จักสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามนั้น ไม่ถือว่าเป็นการรู้จักที่แท้จริง และถือว่าการยกเหตุผลอ้างถึงนั้นไม่ค่อยมีผลแต่อย่างใด ซึ่งการรู้จักสิ่งต่าง ๆ ด้วยกับสิ่งตรงข้ามนั้นเป็นเพียงการตอบโต้อธิบายเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งนิ่งเงียบเท่านั้น แต่ไม่ถือว่าเป็นการตอบโต้ด้วยเหตุและผลอย่างแท้จริง  กล่าวคือการรู้จักสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยวิถีทางของการตอบโต้อธิบายเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งนิ่งเงียบนั้น  เป็นเพียงการรู้จักด้านตรงข้ามเท่านั้นซึ่งขอบเขตของการรู้จักในลักษณะนี้ไม่สามารถจะเข้าถึงการรู้จักที่แท้จริงได้

 ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากประเด็นดังกล่าว ทำให้รู้ได้ว่า  การรู้จักด้วยวิถีทางของการตอบโต้อธิบายเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งนิ่งเงียบนั้น ด้านตรงข้ามต้องเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง   เพราะสามารถที่จะรู้จักสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ได้ด้วยกับอีกสิ่งหนึ่งที่มีอยู่ หรือสามารถทำให้รู้ถึงการไม่มีอยู่ของมันก็ได้  ซึ่งถ้าหากสิ่งตรงข้ามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ก็จำเป็นที่จะต้องรู้จักสิ่งนั้นด้วยสิ่งที่มีอยู่ เพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่ไม่สามารถจะถูกรู้จักได้โดยปราศจากการรู้จักสิ่งที่มีอยู่   ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะนำสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมาเป็นบรรทัดฐานในการรู้จักสิ่งที่มีอยู่ได้ เพราะความหมายของสิ่งที่ไม่มีอยู่นั้นคือความเป็นสูญ (ฉะนั้นจะนำสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมารับรู้ถึงสิ่งที่มีอยู่จริงได้อย่างไรกัน)

ด้วยเหตุนี้ การรู้ถึงการได้รับทางนำ (ฮิดายะฮฺ) ด้วยกับการหลงทาง(ฎอลาละฮฺ) จึงไม่จำเป็น เพราะการหลงทางนั้นเพราะไม่ได้รับทางนำ แต่ในทางกลับกันเราสามารถรู้จักการหลงทางได้ด้วยกับการรู้จักการชี้นำ (ฮิดายะฮฺ)

 ฉะนั้นวิถีทางที่ดีที่สุดในการรู้จักสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นก็คือรู้ถึงเหตุและปัจจัยในการดำรงอยู่ของสิ่งนั้น แต่หากการมีอยู่ของสิ่งนั้นไม่แยกออกจากเหตุหรือปัจจัยในการดำรงอยู่ ก็ต้องมุ่งพิจารณาไปที่แก่นแท้ (ซาต) ของสิ่งนั้น

การชี้นำ (ฮิดายะฮฺ) ก็เหมือนกับเรื่องของความรู้และการดำรงอยู่ ซึ่งมีความหมายที่ชัดเจนและมีนัยซ่อนเร้นอยู่ กล่าวคือ การรู้จักการชี้นำ (ฮิดายะฮฺ) ก็เหมือนกับการการรู้จักเรื่องความรู้และการดำรงอยู่  ซึ่งในขณะที่มันมีความชัดเจนอยู่ในตัว แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความสลับซับซ้อนเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ เรื่องของการรู้จักความรู้และการดำรงอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนที่สุดของอภิปรัชญา
 (ฮิกมะตุลมุตะอะลียะฮฺ)

สำหรับการรู้จักการชี้นำ (ฮิดายะฮฺ) มีสองหนทางดังนี้ :

1. รู้จักด้วยหนทางของเหตุที่จะนำไปสู่การชี้นำ (ฮิดายะฮฺ)

2. รู้จักด้วยหนทางของการคิดใคร่ครวญในแก่นแท้ของการชี้นำ (ฮิดายะฮฺ)

 หนทางแรกนั้นลึกซึ้งและมีคุณค่ายิ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกประตูหนึ่งที่จะต้องนำเสนอและแน่นอนย่อมไม่สามารถที่จะนำมาบรรจุไว้ในบทความนี้ได้ทั้งหมด แม้ว่าจะสอดแทรกเกี่ยวกับประเด็นนี้ไปบ้างก็ตาม ฉะนั้นจึงใคร่ขอนำเสนอหนทางที่สองเลย

ขอบคุณเว็บไซต์อัชชีอะฮ์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม